เดี่ยว 13 แซะผู้นำฮาเฮ ไม่มีไว้หน้า และมุมมองชีวิตที่เปลี่ยนไปของโน้ส-อุดม

เดี่ยว 13 แซะผู้นำฮาเฮ ไม่มีไว้หน้า และมุมมองชีวิตที่เปลี่ยนไปของโน้ส-อุดม

เดี่ยว 13 ของ โน้ส – อุดม แต้พานิช สะท้านทั่วเมืองหลังเผยแพร่ใน Netflix ไม่เพียงแค่แซะผู้นำฮาเฮแบบไม่ไว้หน้า จัดชุดใหญ่ไฟกะพริบ โชว์ครั้งล่าสุด ยังสะท้อนมุมมองชีวิตของเขาที่เปลี่ยนไปอีกด้วย

***บทความเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของโชว์เดี่ยว 13***

“หากพวกเรากำลังสบายจงปรบมือพลัน”

การเปิดตัวที่คุ้นชินของผู้ชมที่มีต่อโชว์ One Stand Up Comedy ‘เดี่ยวไมโครโฟน’ ของ โน้ส อุดม แต้พานิช ที่จัดมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ครั้งแรกที่จัดขึ้นเมื่อปี 2538 จวบจนปัจจุบัน เดี่ยว ได้จัดมาอย่างเป็นทางการเป็นครั้งที่ 13 แล้ว และล้วนประสบความสำเร็จในทุก ๆ ครั้งที่จัดมา

หากแต่ในช่วงหลัง ๆ แม้กราฟของเดี่ยวฯ จะอยู่ในฝั่งขาลงไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างก้าวกระโดด วัยและมุมมองของตัวอุดมที่เปลี่ยนไป จนถึงไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงของผู้ชม ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เราไม่อาจยึดโยงสิ่งใด ๆ ให้อยู่ยืนนานได้ตลอดกาล ยิ่งอายุของเดี่ยวฯ ที่ยืนทนจนถึง 27 ปี ไม่แปลกใจเลยหากจะมองว่า ‘อุดมจะอยู่ในช่วงขาลง’

ยิ่งก่อนที่จะเกิดเดี่ยว 13 อุดมต้องเจอวิบากกรรมทั้งวิกฤตโรคระบาดที่ไม่ยอมจางหายจนต้องเลื่อนการแสดง สภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจนปิดกิจการร้าน Ibery Garden ที่เชียงใหม่ และการตัดสินใจลาบวชเงียบ ๆ ที่วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ จังหวัดเชียงราย จนมีข่าวลือว่า เดี่ยว 13 อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราได้ชม

ในที่สุด เดี่ยว 13 ไม่เพียงสยบข่าวความอ่อนล้าโรยแรงของตัวอุดมเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งโชว์ที่น่าจดจำในรอบหลายๆปีของเขาเลยทีเดียว

มรณานุสติ มุมมองชีวิตที่เปลี่ยนไปของโน้ส อุดม

ในหลายครั้ง ‘ความมากและล้น’ คือจุดขายและสีสันของอุดมอยู่เสมอ ซึ่งไม่ผิดแปลกใด ๆ ของการแสดง One Stand Up Comedy ที่จะต้องมองโลกและแสดงออกในแบบ Over Acting ที่มากกว่าปกติหลาย ๆ เท่า ตัวอุดมเองใช้ทฤษฎี ‘ความเยอะ’ สะท้อนตัวตนผ่านงานศิลปะที่ไร้กรอบและไร้ทิศทางไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ จนกลายเป็นลายเซ็นประจำตัวของเขาอยู่เสมอ 

รวมไปถึงการแสดงของเขาที่มากทั้งจำนวนรอบ และความยาวในการแสดงแต่ละครั้ง ซึ่งมองว่าเป็นคืนกำไรให้กับผู้ชมที่รอคอยมาอย่างยาวนาน ซึ่งอุดมมักพูดติดตลกถึงสาเหตุในการกลับมาทำเดี่ยวในแต่ละครั้งว่า “เขาใช้เงินจากการโชว์เดี่ยวจนหมดถึงกลับมาเล่นใหม่” จึงเคยมีครั้งหนึ่งที่เขาห่างหายจากการแสดงเดี่ยวฯยาวนานเกือบ 5 ปี นั่นคือ เดี่ยวฯ ครั้งที่ 7 (เดี่ยว7, 2551) หลังจากที่เดี่ยวฯ 6 (ตูดหมึก, 2546) สร้างสถิติในการโชว์สูงที่สุดถึง 43 รอบ 

แต่เดี่ยว 13 กลับลดรอบโชว์เหลือเพียง 6 รอบ ซึ่งถือเป็นจำนวนรอบที่น้อยลงมากอย่างน่าใจหาย เมื่อเทียบกับทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเดี่ยวครั้งแรก (เดี่ยวไมโครโฟน, 2538) นั้นจัดไป 3 รอบ และก้าวกระโดดเป็น 10 รอบ ในเดี่ยวครั้งที่ 2 (อุดมโชว์ห่วย, 2539) ซึ่งเห็นได้ชัดเจนถึงปัญหาสุขภาพในเดี่ยวครั้งหลัง ๆ ที่ตัวอุมดมเองมักจะสิ้นเรี่ยวแรงเสมอในระหว่างโชว์ของเขา (จากการที่ผู้เขียนได้ดูสด จะพบสภาวะ Dead Air พักดื่มน้ำบ่อยครั้งเสมอในช่วงหลัง ๆ ซึ่งไม่ได้มีการตัดต่อใส่มา) การลดจำนวนรอบเหลือเพียง 6 รอบ จึงดูน่าจะใจหายไปสักหน่อย แต่อีกด้านก็พบว่าเป็นสิ่งที่ดีที่อุดมเองได้ Concentrate (สนใจ) สิ่งที่พูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังยืนหยัดพูดอย่างยาวนานด้วยความยาวเกือบ 3 ชั่วโมงเช่นเคย

ในทุก ๆ ครั้งของการจัดแสดงเดี่ยว อุดมจะมีธีมในการเสนอเป็นแกนกลางเสมอ และในครั้งนี้ สิ่งที่อุมนำเสนอก็คือ ‘ความตาย’ 

โดยอุดมกล่าวถึงความรู้สึกหลังบวช คือการได้เจริญมรณานุสติ หรือการเตรียมใจให้พร้อมที่จะรับความตายอย่างมีสติ โดยเขาวางไว้ว่า เมื่อเขาอายุ 65 ปี (หรือในอีก 11 ปีข้างหน้า) เขาพร้อมที่จะจากโลกนี้ไปอย่างไม่รู้สึกเสียดายอะไร ซึ่งมุมมองความตายก็ต่อยอดไปถึงพิธีรีตรองต่าง ๆ ทั้งงานวันเกิด, งานแต่ง ไปจนถึงงานศพ ที่คนไทยเต็มไปด้วยพิธีรีตรองเสมอจนกลายเป็นสิ่งที่รุงรังของชีวิต ซึ่งนำไปสู่การยิงมุกพิธีรีตรองต่าง ๆ ได้อย่างน่ารักน่าชัง

เดทดินเนอร์ที่บ้านจา พนม และการงมไข่พญานาค

จากเรื่องความตาย องค์ 2 ของโชว์เดี่ยว 13 คือการเล่าเรื่องของการพาหญิงไปออกเดทที่บ้านของ จา พนม ไปจนถึงการงมหาไข่พญานาค โดยทั้ง 2 เรื่องมีจุดร่วมคือตัวละครของ ก้อง ห้วยไร้ สองแก็กชุดใหญ่นี้ยังเป็นคอมโบ้ความตลกที่เป็นไฮไลท์เช่นเดิม 

จุดเด่นประจำตัวของอุดม คือการตัวเองโยนเข้าสู่สถานการณ์ที่สุดเซอร์เรียล และชวนเหวอได้เสมอ การหยิบจับประสบการณ์ส่วนตัวมาเล่า และขยี้มุกให้ขำมากขึ้นด้วยการหยิบจับคาแรคเตอร์ส่วนตัวของเพื่อนร่วมชะตากรรม ไม่ว่าจะเป็นตัวก้อง, ปาล์มมี่ และเจ๊น้ำ รวมไปถึงการสร้างประสบการณ์ร่วมเพื่อให้คนดูรู้สึกอินตามยังเป็นความชาญฉลาดที่หาตัวจับยากอยู่เสมอสำหรับอุดม 

ซึ่งทฤษฎีมุกตลกอีกข้อ คือการสร้างสถานการณ์ไม่คาดคิดให้ผู้ฟังคาดเดาตอนจบไม่ได้ ยิ่งในยุคสมัยที่มุกตลกหาได้เกลื่อนกล่นในโลกโซเชียล การที่อุดมกวักมือเรียกคนดูเข้าสู่โลกอันแสนเหลือเชื่อของเขาก็ทำให้พบว่าอุดมพยายามที่จะแก้ปัญหามุกซ้ำซากในอินเทอร์เน็ตได้อย่างดี 

แซะผู้นำไม่ไว้หน้า ด่าแบบจัดชุดใหญ่ไฟกะพริบ

การแซะรัฐบาล เป็นเรื่องที่ขาดไม่เสมอในเดี่ยวฯ ทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา จนกลายเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์บ้านเมืองและจดหมายเหตุยุคใหม่ของประเทศ แต่หลังจากการยึดอำนาจของคสช. ทำให้เดี่ยวยุคหลัง ๆ กร่อยไปพอสมควร เพราะอุดมทำได้มากที่สุดก็เพียงแค่แตะ ๆ ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดแม้ตัวตนของผู้นำสามารถจะล้อเลียนจนสามารถจัดโชว์ได้หลายชั่วโมงก็ตาม

แต่ในครั้งนี้อุดมกลับใช้เวลาที่ยาวนานเกินปกติ ออกจากเซฟโซนและจัดหนักจัดเต็มอย่างไม่เคยมีมาก่อน อาจจะปัจจัยจากการสิ้นสุดความอดทน รวมไปถึงการคาดเดาว่าน่าจะหมดวาระในอำนาจ (ซึ่งในช่วงเวลาที่โชว์นั้นมีข่าวลือถึงการยุบพรรคอยู่ค่อนข้างหนาหู) ไปจนถึงเสียงข้างมากของมหาชนที่ผลักดันให้อุดมต้องมอบช่วงเวลาเดือดดาลให้สาแก่ใจ

โดยอุดมเลือกทำแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งสมัยหน้าด้วยการเปิดเปลือยเนื้อแท้ของผู้นำ ที่นำไปสู่ความขันขื่นของผู้ฟัง ที่ทัชใจคนที่ต้องทนทุกข์กับการบริหารบ้านเมืองอันพังพินาศได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการเปรียบเปรยการบริหารบ้านเมืองไม่ต่างกับเอาพนักงานรักษาความปลอดภัยมาขับเครื่องบิน ยิ่งทำให้เห็นภาพอย่างชัดเจน

แต่ในทุกครั้งที่อุดมแซวรัฐบาล กี่ยุคกี่สมัย ไม่เคยมีครั้งไหนที่มีการต่อต้านจากผู้สนับสนุนรัฐบาลได้เท่าครั้งนี้ จากกระแสที่มีการแสดงออกเชิงต่อต้านและความผิดหวัง จนถึงการออกตัวพิทักษ์ของบุคคลที่เราก็รู้ว่าเป็นใคร แต่แรงสนับสนุนที่เห็นด้วยต่อถ้อยคำของอุดมก็ช่วยกลบกระแสลบของกลุ่มคนเพียบหยิบมือได้เป็นอย่างดี

กูสะดวกแบบนี้ บททิ้งท้ายสู่ตอนจบที่แสนประทับใจ

ในเดี่ยวทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา อุดมมักจะทิ้งท้ายด้วยมุกขยี้เพื่อให้คนจดจำไม่ต่างกับการอังกอร์ของคอนเสิร์ต แต่ในครั้งนี้ อุดมเลือกที่จะสรุปชีวิตอันเรียบง่ายของตน ผ่านวลี “กูสะดวกแบบนี้” เพื่อย้ำเตือนถึงธีมมรณานุสติ ด้วยการให้เลือกใช้ชีวิตอย่างสะดวก ไม่ยึดโยงหรือเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในยุคสมัยที่เราสามารถเห็นความดีเลิศประเสริฐศรีและความมั่งคั่งมั่งมีของผู้อื่นได้จากโลกโซเชียล การใช้ชีวิตอย่างเพียงพอและพอดี ทำให้เดี่ยว 13 เป็นการจบโชว์ได้แตกต่างแต่น่าจดจำ และทำให้เดี่ยวครั้งนี้กลายเป็นที่การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

แม้เป้าหมายของการชมโชว์ One Stand Up Comedy คือหยิบฉวยความบันเทิงด้วยการเค้นเสียงหัวเราะให้มากที่สุด แต่เดี่ยว 13 อาจจะลดหย่อนมุกตลกเพื่อแสวงหาเสียงหัวเราะน้อยลงกว่าครั้งอื่น ๆ แต่คุณค่าที่มอบให้ผู้ชมผ่านประสบการณ์และการเข้าใจชีวิตของอุดมกลับเจิดจ้าส่องสว่างกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งโชว์ครั้งนี้น่าจะยืนหยัดยืนนานแม้ผ่านกาลเวลาไปอีกกี่ปีหรือรัฐบาลเปลี่ยนไปอีกกี่สมัยก็ตาม

ภาพ: เดี่ยว 13 จาก Facebook/เดี่ยว