24 ธ.ค. 2565 | 17:44 น.
- เจมส์ คาเมรอน สร้างสรรค์ผลงานยิ่งใหญ่ที่มีฉากใต้น้ำอย่าง Titanic และ Avatar ซึ่งมีภาคต่อเข้าฉายในปี 2022
- เจมส์ คาเมรอน หลงใหลเรื่องไซไฟ และยังชื่นชอบโลกใต้น้ำ ส่งอิทธิพลต่อการสร้างภาพยนตร์อมตะหลายเรื่อง
- ไม่เพียงแค่ภาพยนตร์ เจมส์ ยังมีผลงานสารคดีอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของโลกใต้มหาสมุมทร
‘Avatar: The Way of Water’ พาเหล่าผู้ชมดำดิ่งไปยังโลกใต้น้ำ สัมผัสวิถีชีวิตที่ถูกผูกเข้ากับธรรมชาติในจินตนาการอีกครั้งหนึ่ง ตามหลังจากความสำเร็จของภาคแรกเมื่อ 2009 แต่ ‘อวาตาร์’ (Avatar) ไม่ใช่เพียงเรื่องเดียวที่มาจากผลงานของ ‘เจมส์ คาเมรอน’ (James Cameron) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความน่าตื่นตาตื่นใจของโลกใต้น้ำ
ผลงานชิ้นก่อน ๆ ของเจมส์ คาเมรอน เคยพาเราดำดิ่งลงใต้ก้นมหาสมุทรมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ทั้งหมดนั่นเองก็เป็นไอเดียและแรงบันดาลใจของ เจมส์ คาเมรอน ที่มักนำมาสู่ผลงานภาพยนตร์ซึ่งมีฉากใต้น้ำ หรือเล่าเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติใต้น้ำ โดยไอเดียดังกล่าวก็มีแรงขับเคลื่อนมาจากความคลั่งไคล้โลกใต้บาดาลของตัวเจมส์ ด้วยเช่นกัน
โลกในนวนิยายไซไฟ โลกภาพยนต์ โลกในจินตนาการ ต่างเป็นสิ่งที่เจมส์ คาเมรอน สรรค์สร้างมาตลอดเส้นทางอาชีพของเขา นอกเหนือจากจินตนาการ โลกอีกหนึ่งใบที่เจมส์ เฝ้าฝันอยากไปสำรวจ คือโลกใต้น้ำ เรียกได้ว่าเจมส์ เป็นคนที่ใช้ทั้งชีวิตไล่ตามความฝันและกระตือรือล้นเหลือเกินที่จะทำให้มันเป็นจริง และแน่นอนว่า ถ้าเขาคนนี้มีฝันที่จะไปให้ถึงก้นบึ้งท้องทะเล คงไม่มีอะไรที่จะฉุดรั้งเขาจากการดำลงไปยังพื้นมหาสมุทรได้
ตั้งแต่ยังเด็กแล้วที่เขาหลงใหลในโลกใต้น้ำ สิ่งที่จุดประกายความหลงใหลเหล่านั้นคือการสำรวจร่องลึกบาดาลมาเรียนา (Mariana Trench) ของกองทัพสหรัฐฯ ที่ส่งยานสำรวจน้ำลึกชื่อ ‘ทรีเอสต์’ (Trieste) เมื่อปี 1960 เจมส์ ได้ฝึกดำน้ำตลอดมาตั้งแต่อายุได้ 16 ปี โลกใต้ทะเลให้ความรู้สึกเหมือนเจมส์ ได้หลุดไปอยู่ในพื้นที่แปลกประหลาด
เขารู้อยู่แล้วว่าเขาไม่มีทางได้เป็นนักบินอวกาศที่ได้ท่องเที่ยวไปยังดาวต่างๆ แต่เขาพบว่า ยังมีโลกอีกใบให้ได้สำรวจ เป็นโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาด จนเมื่อปี 1971เจมส์ย้ายมายังแคลิฟอร์เนียร์ในวัย 17 ปี แล้วได้เริ่มดำน้ำในท้องทะเลของจริง
เจมส์ ทุ่มสุดตัวในทุกผลงานที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจใต้ทะเล และเขาไม่ลังเลเลยที่จะตอบตกลงและบรรจงสร้างผลงานขึ้นมา แม้ว่าปัญหาใหญ่ของการลงไปถ่ายทำในสถานที่จริงคือ มันมีเพียงโอกาสเดียวเท่านั้นและหากพลาด มันจะไม่มีการถ่ายเทคที่สองอย่างแน่นอน ความคลั่งไคล้ทั้งหมดนี้เองที่ทำให้เมื่อใดที่รู้ว่าต้องลงน้ำ ต้องเก็บภาพใต้น้ำ เขามักจะไปแบบสุดทางและมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะทำให้ผู้ชมที่นั่งอยู่บนโซฟาตัวโปรดได้ชื่นชมความงดงามใต้ท้องทะเลแบบที่เขาเองได้ลงไปเห็นมาแล้วด้วยตาตัวเองผ่านสารคดีและหนังที่เขากำกับเอง
ไม่ใช่เพียงแค่ภาพยนตร์เท่านั้น หากไล่เรียงผลงานเกี่ยวกับสารคดี เจมส์ มีผลงานเป็นสารคดีใต้น้ำ ได้แก่ Expedition Bismarck (2002), Ghosts of the Abyss(2003), Volcanoes of the Deep Sea (2003), Aliens of the Deep (2005), The Last Mysteries of the Titanic (2005), Titanic: The Final Word With James Cameron (2012), James Cameron: Voyage to the Bottom of the Earth (2012)
เมื่อปี 2012 เจมส์ กลายเป็นคนแรกที่สามารถดำน้ำลงไปยังร่องลึกมหาสมุทรที่มีความลึก 11 กิโลเมตรได้สำเร็จ เบื้องหลังความสำเร็จนี้มาจากโปรเจกต์ที่ชื่อว่า DEEPSEA CHALLENGE ซึ่งใช้เวลานานหลายปี ต้องอาศัยการรวมทีมกันของเหล่าวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าเพื่อสร้างเรือดำน้ำรูปทรงคล้ายตอร์ปิโดที่สามารถดำดิ่งลงไปท่ามกลางความมืดมิดของท้องทะเลได้ จนเกิดเป็นเรือดำน้ำรูปแบบใหม่อย่าง DEEPSEA CHALLENGER
เจมส์ ยอมรับอย่างชัดเจนว่าเขาทำภาพยนต์เรื่อง Titanic (1997) เพื่อจะได้ลงไปสำรวจเรือไททานิกของจริงที่หลับใหลอยู่บนพื้นมหาสมุทร แน่นอนว่าเจมส์ ได้เห็นซากเรือด้วยตาของเขาเอง รวมไปถึงการบันทึกภาพ การสำรวจซากเรือขของนักประดาน้ำเพื่อนำมาใช้ในภาพยนต์ด้วย มันนำมาซึ่งความรู้สึกสูญเสียและมวลความรู้สึกเจ็บปวดที่ครอบงำเขาให้พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อสร้างภาพยนต์เรื่องนี้ออกมา
จากการลงแรงไป ทั้งหมดได้กลายเป็นวัตถุดิบในการสร้างเรือไททานิกจำลองที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 90% เมื่อเทียบกับขนาดจริง หรือแม้แต่สิ่งของอย่างเครื่องเงิน ของใช้บนเรือ เจมส์ ลงทุนเก็บทุกรายละเอียดให้เหมือนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ภาพยนตร์ของเจมส์ ที่ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในภาพยนต์ที่มีการถ่ายทำที่โหดหินที่สุดในประวัติศาสตร์โลกภาพยนตร์นั่นคือ The Abyss (1989) เหล่านักแสดงและทีมงานที่มีส่วนร่วมในเรื่องนี้ต้องผ่านการรับรองอนุญาตดำน้ำให้ได้เสียก่อน เพราะพวกเขาต้องดำน้ำเองจริง ๆ
และไม่ว่าจะเป็นซีนที่ยากเย็นขนาดไหน ก็ไม่ได้ใช้ตัวแสดงแทนแต่อย่างใด หากเป็นเหล่านักแสดงทำงานเองทั้งสิ้น ภาพยนต์ทั้งเรื่องถูกถ่ายทำใต้น้ำ นักแสดงในเรื่องใช้เวลาร่วม 11 - 12 ชั่วโมงต่อวันในฉากใต้ทะเล ลึกลงไปร่วม 40 ฟุต แต่เหล่าทีมงานต้องใช้ชีวิตในน้ำที่ลึกกว่านั้น
กิจวัตรประจำวันของทีมงานดำเนินต่อไปใต้น้ำลึก 50 ฟุต เจมส์ ใช้ชีวิต อ่านหนังสือพิมพ์รายวันในห้องที่ต้องรับแรงดันน้ำมหาศาล หนึ่งในนักแสดงถึงกับพูดว่า หนังเรื่องนี้เป็นได้หลาย ๆ สิ่ง แต่ไม่ใช่ความสนุกในการถ่ายทำอย่างแน่นอน ด้วยความรักในการดำน้ำทำให้เขาเลือกวิธีที่จะสร้างทั้งความลำบากให้กับตัวเอง และทีมงานอีกเกือบร้อยชีวิตเพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาต้องการและสมจริงที่สุด สิ่งนี้ทำให้เห็นแล้วว่า ความหลงใหลในมหาสมุทรเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างผลงานยิ่งใหญ่ออกมา
ผลงานโลกใต้น้ำเรื่องล่าสุดของเขาคือ Avatar: The Way of Water ที่ไม่ใช่แค่ทะเลบนดาวในจินตนาการ แต่ผสมผสานความคลั่งไคล้โลกในอวกาศกับใต้บาดาลเข้าด้วยกัน กลายเป็นกาารสร้างระบบนิเวศทางทะเลแห่งดาวแพนโดรา ผ่านการถ่ายทอดด้วยเทคโนโลยีภาพ 3 มิติ ที่มีการออกแบบสิ่งมีชีวิตใหม่ ๆ จากจินตนาการอันไม่มีที่สิ้นสุดของเจมส์
การนำเสนอผลงานชิ้นนี้ต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปี เฉพาะแค่พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการผลิต และความหลงรักน้ำก็ทำให้เขาต้องก้าวข้ามข้อจำกัดทางเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการสร้างน้ำที่สมจริงมากเสียจนผู้คนอาจจะหลงลืมไปเสียด้วยซ้ำว่า พวกเขากำลังดูเหล่าตัวละครแหวกว่ายในน้ำทะเลที่ถูกทำขึ้นด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย
เจมส์ ต้องท้าทายทีมงานที่บอกเขาว่า วิธีการถ่ายทำแบบเดิม ๆ ก็สามารถสร้างฉากน้ำออกมาได้ดีเพียงพอแล้ว แต่แค่คำว่าดี มันไม่เพียงพอสำหรับคนที่ยอมทุ่มทั้งชีวิตให้ได้ลงไปถึงก้นบึ้งมหาสมุทรเป็นแน่ แทงค์ขนาด 900,000 แกลลอนจึงถูกสร้างขึ้น พร้อมกับพัฒนากล้องที่สามารถบันทึกภาพใต้น้ำได้อย่างที่เขาต้องการ ฝึกฝนเหล่านักแสดงของเขาให้เชี่ยวชาญการดำน้ำ การแสดงสีหน้า อารมณ์ในน้ำ รวมไปถึงการต่อสู้ที่เกิดขึ้นใต้น้ำ ทั้งหมดเพื่อความสมบูรณ์แบบของผลงานที่เจมส์ อยากได้
จากประสบการณ์ใต้ท้องทะเลร่วม 3,000 ชั่วโมง สิ่งมีชีวิตที่เขาได้เห็นรวมไปถึงการศึกษาสัตว์ทะเลที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ทำให้การสร้างสิ่งมีชีวิตบนดาวไกลโพ้นในจินตนาการอย่างแพนโดรา เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเสียเหลือเกินสำหรับเจมส์ เขาผสมผสานสิ่งมีชีวิตที่เราคุ้นเคยเข้ากับจินตนาการสุดบรรเจิดของตัวเองจนเกิดเป็นสัตว์น้ำบนดาวแพนโดรา
ตัวอย่างเช่นสัตว์น้ำคอยาวที่สามารถเคลื่อนที่ในน้ำได้อย่างคล่องแคล่วที่มีชื่อว่า ‘อิลู’ มีพื้นฐานไอเดียมาจากสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลที่สูญพันธุ์ไปแล้วในชื่อ Plesiosaurs หรือจะเป็นเจ้า Skimwings ยานรบในสงครามที่เกิดจากการรวมกันของปลาการ์กับปลานกกระจอกที่สามารถบินเหนือทะเลได้
ท้องทะเลที่เจมส์ หลงใหล มอบแรงบันดาลใจและไอเดียบรรเจิดให้เขาอย่างมหาศาล หลายต่อหลายครั้งที่เขามอบชีวิตให้กับไอเดียเหล่านั้น กลายมาเป็นผลงานที่โลกภาพยนตร์ไม่เคยนึกฝันถึงว่า เรื่องเหล่านี้จะเป็นไปได้
ความยิ่งใหญ่ของผู้กำกับมากความสามารถที่สรรค์สร้างโลกเหนือจินตนาการออกมามากมายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับรุ่นใหม่หรือผู้มีฝันอีกหลายคนเหลือเกิน
เรื่อง: ปิยวรรณ พลพุทธ (The People Junior)
อ้างอิง: