19 ม.ค. 2566 | 13:01 น.
- ‘ไอ้ไข่’ ในวันนี้เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่ได้รับความนิยม ความเลื่อมใสศรัทธาประกอบกับความเชื่อเรื่องโชคลาภ นำมาสู่สื่อร่วมสมัยอย่างภาพยนตร์เรื่อง ไอ้ไข่ พ.ศ. 2566
- ความเป็นมาของ ‘ไอ้ไข่’ มีส่วนผสมจากเรื่องราวทั้งตำนานผีในท้องถิ่น หลวงพ่อทวด และจอมขมังเวทย์ ผสมผสานจนเป็นตำนานไอ้ไข่ฉบับที่รับรู้กันในปัจจุบัน
‘ไอ้ไข่’ หรือ กุมารไข่ เป็นปรากฏการณ์ด้านความเชื่อที่เกิดกับสังคมไทยอันโด่งดังเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เรื่องราวของเด็กวัดเจดีย์ที่ผูกพันกับเกจิอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง ‘หลวงพ่อทวด’ ผสมผสานกับผู้ถ่ายทอดเรื่องราวคนแรก ๆ อย่าง ‘ขุนพันธรักษ์ราชเดช’ มือปราบจอมขมังเวทย์ที่โด่งดังแห่งเมืองนครศรีธรรมราช ย่อมช่วยส่งเสริมให้เรื่องราวของ ผี หรือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประจำวัดในท้องถิ่น กลายเป็นความเลื่อมใสศรัทธาของมหาชน
ประกอบกับปรากฏการณ์ด้านการเสี่ยงโชคหรือการขอพรด้านโชคลาภในยุคข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ ทำให้ ‘เด็กวัดเจดีย์’ กลายเป็นที่พึ่งของประชาชนอาจจะมากกว่าภาครัฐที่ดำเนินการแก้ปัญหาปากท้องอย่างล่าช้า
ความเชื่อเรื่องผีในภาคใต้
ผี เป็นความเชื่อพื้นฐานในทุกชนชาติ ภูมิภาคต่าง ๆ ย่อมมีผีที่มีลักษณะเฉพาะที่สอดคล้องกับพื้นฐานของคนสังคมบริเวณนั้น
ภาคใต้ของไทยเป็นอีกภูมิภาคที่ปรากฏการนับถือผีประเภทต่าง ๆ อย่างผีบรรพบุรุษที่มีหลากหลายชื่อเรียก เช่น ผีครูหมอ หรือ ครูหมอตายาย เป็นบรรพบุรุษที่มีวิชาความรู้ด้านต่าง ๆ
ผีตายาย เป็นผีที่ดูแลปกปักรักษาลูกหลานในบ้านเรือนซึ่งมักปรากฏการทำหิ้งสำหรับบูชาหรือไว้อัฐิบรรพบุรุษ
เปรต ได้แก่ บรรดาญาติพี่น้องรวมถึงสัมภเวสีที่ยังมีอกุศลกรรม เมื่อตายไปต้องไปสถิตในเปรตภูมิ เมื่อถึงวันสารทเดือนสิบของทุกปีจะมีการทำบุญเดือนสิบอุทิศส่วนกุศล นับเป็นประเพณีสำคัญของภาคใต้
เทวดา หรือ ทวด คือ ดวงวิญญาณของบรรพชนหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ผู้มีบุญวาสนา หรือเทวดากึ่งสัตว์ที่มีรูปร่างใหญ่โต มีลักษณะพิเศษน่ายำเกรง เช่น ทวดช้าง ทวดงู ทวดเสือ ทวดจระเข้ อีกทั้งดวงวิญญาณเหล่านี้อาจไปสิงสถิตในต้นไม้ใหญ่ และรวมทั้งในธรรมชาติ ต้นน้ำลำธาร ชาวใต้เรียกดวงวิญญาณเหล่านี้ว่า ทวด ทั้งสิ้น ซึ่งหากไหว้ดีพลีถูกก็จะดูแลลูกหลาน หากลบหลู่ก็จะถูกลงโทษ [1]
ตัวอย่างของผีบรรพบุรุษต่าง ๆ แสดงถึงความเชื่อดั้งเดิมที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิตของชาวภาคใต้และปรากฏเป็นวิถีปฏิบัติในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ประเพณีสารทเดือนสิบซึ่งเป็นการทำบุญที่เกี่ยวเนื่องกับการเซ่นไหว้ระลึกถึงบรรพชนโดยตรง หรือการละเล่นท้องถิ่นอย่างมโนราห์ก็มีพิธีโนราโรงครู เป็นการแสดงความนับถือบรรพชนครูโนรา และสืบทอดสายสกุลของผู้เล่นโนราโดยขอความคุ้มครองปกปักรักษาไม่ต่างจากผีบรรพบุรษในครัวเรือน
ความเชื่อเรื่องผีที่ปรากฏทำให้ไม่ยากที่จะเกิดการรับรู้จนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางความเชื่อในภูมิภาคก่อนแพร่หลายไปสู่ความเชื่อระดับมหาชนอย่าง ไอ้ไข่ แห่งวัดเจดีย์ เมืองนครศรีธรรมราช
กำเนิดไอ้ไข่: การผสานกันของตำนานและจอมขมังเวทย์
นครศรีธรรมราช ดินแดนแห่งพุทธศาสนาที่มีอายุย้อนกลับไปหลายร้อยปี นอกจากจะปรากฏหลักฐานสำคัญอย่างวัดพระบรมธาตุ ศูนย์รวมแห่งศรัทธาแล้ว ยังเป็นถิ่นกำเนิดเรื่องราวที่ผสมผสานทางความเชื่อระหว่างพุทธ พราหมณ์ และผี อันเป็นผลมาจากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งเป็นแหล่งกำเนิดผู้ทรงคุณทางไสยเวท จึงพบปรากฏการณ์ทางความเชื่อที่เป็นกระแสสังคมอย่างต่อเนื่อง เช่น การนับถือจตุคามรามเทพ ที่โด่งดังมาก่อนหน้านี้
ปรากฏการณ์ไอ้ไข่ แห่งวัดเจดีย์ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่แพร่หลายอยู่ในเวลานี้ เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นตำนานหรือเรื่องเล่าที่ผสมผสานความเชื่อในท้องถิ่นอย่างน่าสนใจ
ภูมิหลังชื่อของไอ้ไข่ มีที่มาจากชาวบ้านเห็นเด็กวิ่งเล่นในบริเวณวัด เมื่อเข้าไปดูก็ไม่พบว่ามีเด็กมาพักอาศัยแต่อย่างใดซึ่งเกิดขึ้นอยู่เสมอและเชื่อว่าเป็นวิญญาณที่สถิตอยู่ในวัดเจดีย์จึงเรียกวิญญาณนี้ว่า ไอ้ไข่ ซึ่งเป็นคำที่ชาวบ้านภาคใต้ใช้เรียกเด็กเล็ก ๆ แต่วิญญาณนี้ก็ไม่เคยทำอันตรายใด ๆ ตรงกันข้าม กลับให้คุณเพราะชาวบ้านมักจุดธูปบนบานเวลามีข้าวของหรือวัวควายหายก็จะได้คืนเสมอ
ตำนานที่มาของไอ้ไข่มีที่มาหลากหลาย ที่กล่าวกันอย่างมากคือ ไอ้ไข่เป็นศิษย์ของหลวงพ่อทวด โดยกล่าวว่า ไอ้ไข่เป็นวิญญาณเด็กติดตามหลวงพ่อทวด เมื่อหลวงพ่อทวดธุดงค์มาถึงวัดร้าง(วัดเจดีย์) ท่านเห็นว่า มีทรัพย์สินสิ่งของมีค่าฝังอยู่จึงให้วิญญาณดวงนี้ปกปักรักษาทรัพย์สินนั้น [2]
บางตำนานมีลักษณะคล้ายกันคือ ไอ้ไข่ เป็นเด็กชายที่ติดตามหลวงพ่อทวดขณะออกธุดงค์ และเมื่อท่านจะเดินทางไปอยุธยาจึงนำเด็กคนนี้มาฝากไว้กับขรัวทอง สมภารวัดเจดีย์ที่ท่านธุดงค์ผ่านมา พร้อมทั้งฝากให้เด็กผู้นี้คอยดูแลช่วยงานในวัดแบ่งเบาภาระสมภาร
ระหว่างที่เด็กชายผู้นั้นเป็นศิษย์วัดเจดีย์ประพฤติตนเป็นที่รักใคร่ของชาวบ้าน เช่น ช่วยปราบควายพยศให้ชาวบ้าน และยังเป็นเด็กที่มีวาจาสัตย์ ซึ่งเมื่อหลวงพ่อทวดเสร็จกิจธุระกลับมายังวัดเจดีย์ เด็กชายกลัวจะเสียวาจาสัตย์ที่ให้ไว้ เพราะเกรงว่าหลวงพ่อทวดจะพาตนกลับไป จากนั้นจึงเดินลงสระน้ำปลิดชีพตนเอง [3]
การที่เด็กชายผู้นี้เสียชีวิตในสระน้ำกลับไปคล้ายกับเรื่องราวอีกด้านหนึ่งของชาวบ้านที่ว่าเดิมทีไอ้ไข่เป็นลูกของชาวบ้านบริเวณนั้นแล้วตกน้ำเสียชีวิตในวัดนั้นเอง [4]
เรื่องราวของไอ้ไข่ทำให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องผีในท้องถิ่น มีที่มาจากการเป็นวิญญาณที่สถิตในพื้นที่นี้มาแต่เดิมหรือมาจากการเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติทั้งจากอุบัติเหตุและการปลิดชีพตนเอง อีกด้านหนึ่งวิญญาณของไอ้ไข่ยังมีลักษณะคล้ายกับผีบรรพบุรุษหรือ ทวด ที่คอยปกปักรักษาชาวบ้านในท้องถิ่น
ขณะเดียวกันตำนานนี้ยังสัมพันธ์กับหลวงพ่อทวด ที่ผู้คนในภาคใต้และทั่วสารทิศเลื่อมใส ซึ่งช่วยเสริมน่าศรัทธาให้กับผู้ที่รับฟังเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดี ที่มาของตำนานไอ้ไข่ยังเกี่ยวข้องกับ ขุนพันธรักษ์ราชเดช นายตำรวจจอมขมังเวทย์แห่งเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับฟังเรื่องราวของไอ้ไข่ผ่านปากคำของหลวงพ่อทวดจากร่างทรงเมื่อครั้งจัดสร้างเหรียญหลวงพ่อทวดปี พ.ศ.2497
เพราะท่านเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมในการจัดสร้างครั้งนั้น ทำให้ทราบว่าหลวงพ่อทวดมีลูกศิษย์เป็นเด็กวัดอยู่ทางตอนเหนือของนครศรีธรรมราช ขุนพันธรักษ์ราชเดชจึงสืบเสาะจนไปพบกับผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ ที่ต่อมาทั้งสองนับถือเป็นสหายแลกเปลี่ยนวิชากัน และด้วยผู้ใหญ่เที่ยงทำให้ท่านขุนพันธ์พบกับไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ในที่สุด และถือว่าขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นผู้สืบค้นตำนานไอ้ไข่คนแรก [5]
สำหรับผู้ใหญ่เที่ยงท่านนี้เป็นผู้สร้างรูปสลักของไอ้ไข่ที่บูชากันที่วัดเจดีย์ในปัจจุบัน จากเรื่องที่เล่ากันมาว่า ได้นิมิตเห็นเด็กเปลือยกายยืนคู่กับพระภิกษุสวมจีวรสีคล้ำ
เด็กคนนั้นกล่าวว่า ให้ช่วยแกะรูปสลักเพื่อจะได้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง พร้อมกับบอกว่า “เราคือไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” หลังจากนั้นจึงมีการแกะสลักรูปไอ้ไข่จากไม้ตะเคียนเป็นรูปเด็กอายุราว 9-10 ขวบ [6]
จากเรื่องเล่าที่กล่าวมาพบว่า ผู้ใหญ่เที่ยงมีบทบาทในการสร้างไอ้ไข่ให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านรูปสลักแต่ก็ยังเป็นที่รู้จักในท้องถิ่น ส่วนขุนพันธ์นั้นอยู่ในฐานะผู้สืบค้นเรื่องราวและมีส่วนเผยแพร่ตำนานนี้ออกสู่ภายนอก โดยมีส่วนผูกพันกับหลวงพ่อทวดทั้งจากนิมิตและร่างทรงนั่นเอง ทำให้เรื่องราวทั้งผีในท้องถิ่น หลวงพ่อทวด และจอมขมังเวทย์ ผสมผสานจนเป็นตำนานไอ้ไข่ฉบับที่รับรู้กันในปัจจุบัน
ปรากฏการณ์ความศรัทธาในปัจจุบัน
ตำนานไอ้ไข่อาจเป็นเพียงเรื่องเล่าในท้องถิ่นหากขาดซึ่งการเผยแพร่และอภินิหารต่าง ๆ ที่ช่วยต่อเติมเสริมแต่งให้เกิดความศรัทธาจากมหาชนในปัจจุบัน เรื่องเล่าของไอ้ไข่ในทางอภินิหารสันนิษฐานว่าอาจเกิดก่อนปี พ.ศ. 2526 ที่พ่อท่านเทิ่ม เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ขณะนั้นได้เริ่มสร้างเหรียญไอ้ไข่รุ่นแรก แสดงว่าความนิยมไอ้ไข่เริ่มมีในท้องถิ่นมาระยะหนึ่งแล้วพร้อมกับเรื่องเล่าถึงเด็กวัดเจดีย์ที่มาหยอกเล่นในยามค่ำคืนกับบรรดาทหารที่มาตั้งฐานปฏิบัติการภายในวัดเนื่องจากสถานการณ์ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ขณะนั้น
บ้างก็โดนตีศีรษะ ดึงแขนขา ล้มราวปืน ทำให้ไม่ได้หลับได้นอน จนชาวบ้านต้องบอกให้ทำเครื่องเซ่นไหว้ ปัญหาต่าง ๆ จึงยุติ และนี่อาจเป็นเรื่องเล่ายุคแรก ๆ ที่ไอ้ไข่แสดงอภินิหารนอกเหนือจากตำนานที่เล่าสืบมา ซึ่งบรรดาทหารเหล่านี้ก็มีส่วนในการนำเรื่องราวอภินิหารออกมาแพร่หลายด้วยเช่นกัน [7]
ความนิยมที่มหาชนมีต่อไอ้ไข่จะไม่ได้มีมากมายหากขาดอภินิหารด้านโชคลาภ หวย และลอตเตอรี่ ที่มาพร้อมกับสโลแกน “ขอได้ ไหว้รับ” ไอ้ไข่จึงเป็นความหวังของประชาชนในยุคข้าวยากหมากแพง ประสบการณ์ด้านการให้โชคลาภจากไอ้ไข่ที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับยุคที่การสื่อสารไร้พรมแดนยิ่งช่วยเร้าความศรัทธาให้มากขึ้น
บรรดาเครื่องเซ่นไหว้ทั้งของแก้บนอย่างตุ๊กตารูปไก่ชน หรือกองประทัดขนาดใหญ่ แม้แต่ชุดทหาร ปืนเด็กเล่น [8] ที่กล่าวกันว่าไอ้ไข่ชื่นชอบ อันอาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดกับทหารในข้างต้น ซึ่งปรากฏภายในวัดจำนวนมากมายเป็นข้อพิสูจน์ความศรัทธาได้อย่างดี
ความความศรัทธาที่มีมากขึ้นนำไปสู่ปัจจัยในการพัฒนาวัดจนมีความสวยงาม ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดกระแสพุทธพาณิชย์ มีการผลิตวัตถุมงคลไอ้ไข่รูปแบบต่าง ๆ ไม่เพียงเท่านั้น วัดต่างพื้นที่ยังได้จำลองรูปไอ้ไข่ไปประดิษฐานจนถึงกับต้องมีการจดลิขสิทธิ์ไอ้ไข่ทั้งรูปปั้น หนังสือประวัติความเป็นมา และวัตถุมงคล จากวัดที่เป็นต้นกำเนิด [9] อาจเป็นครั้งแรกที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้รับการจดลิขสิทธิ์ซึ่งสะท้อนกระแสเชิงพาณิชย์บนความศรัทธาอย่างเห็นได้ชัด
กระแสความศรัทธาที่มีต่อไอ้ไข่ หรือ กุมารไข่ นอกจากความเชื่ออภินิหารด้านการบันดาลโชคลาภแล้ว ที่มาหรือตำนานของไอ้ไข่ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเพราะเป็นการผสมผสานตำนานความเชื่อของสิ่งที่คนในท้องถิ่นและต่างถิ่นเลื่อมใสจนเกิดเป็นความศรัทธาและที่พึ่งของมหาชนในสภาพเศรษฐกิจและการเมืองยุคปัจจุบัน
เรื่อง: นนทพร อยู่มั่งมี
ภาพ: ภาพประกอบเนื้อหา รูปปั้นไอ้ไข่ วัดโปรยฝน จ.ปทุมธานี เมื่อ 2562 แฟ้มภาพจาก NATION PHOTO และโปสเตอร์ภาพยนตร์ ไอ้ไข่ พ.ศ. 2566
อ้างอิง:
[1] ณทรัตน์ จุฑาไชยสวัสดิ์. “ความเชื่อเรื่องวิญญาณบรรพบุรุษของคนไทยถิ่นใต้: ผี เปรต และเทวดา” วิวิธวรรณสาร ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม) 2562 (สืบค้นจาก http://so06.tci-thaijo.org วันที่ 9 มกราคม 2566)
[2] ประวัติ-วัดเจดีย์ sites.google.com (สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2566)
[3] วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) th.m.wikipedia.org (สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2566)
[4] ประวัติ-วัดเจดีย์ sites.google.com (สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2566)
[5] วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) th.m.wikipedia.org (สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2566)
[6] “ไอ้ไข่” เป็นใคร? Khaosod Online (สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2566)
[7] ประวัติ-วัดเจดีย์ sites.google.com (สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2566)
[8] คาถาและวิธีบูชาไอ้ไข่ thairath.co.th (สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2566)
[9] “ไอ้ไข่” เป็นใคร? Khaosod Online (สืบค้นเมื่อ 11 มกราคม 2566)