22 ม.ค. 2562 | 19:30 น.
"จงเฝ้ามองไปที่แอฟริกาที่ที่คนดำจะได้สวมมงกุฎขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อวันแห่งการปลดปล่อยใกล้เข้ามาถึง" มาร์คัส การ์วีย์ (Marcus Garvey, 1887-1940) นักการเมืองและนักปาฐกถา ผู้อพยพจากจาเมกาผู้ก่อตั้ง Universal Negro Improvement Association องค์กรคนดำที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ได้กล่าวไว้ ก่อนหน้าที่ ราสตาฟารี มาคอนเนน (Ras Tafari Makonnen) เจ้าชายจากเอธิโอเปียจะได้ขึ้นเป็น "จักรพรรดิไฮลี เซลาสซี" (Haile Selassie) ผู้ที่ชาวราสตาฟาเรียนยกให้เป็น "พระคริสต์ของคนดำ" ราส (เจ้าชาย) ตาฟารี เกิดเมื่อ 23 กรกฎาคม 1892 เป็นบุตรของเจ้าชายมาคอนเนนซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของจักรพรรดิเมนีเลกที่ 2 (Menilek II) แห่งเอธิโอเปีย เมื่อองค์จักรพรรดิเมนีเลกที่ 2 สวรรคต ลิจ ยาซุ (Lij Yasu, Lij คือพระยศในราชสำนักเอธิโอเปียแปลว่า "เด็ก" ใช้กับเด็กชาย) พระนัดดาของจักรพรรดิ คือรัชทายาทที่ได้รับเลือกให้สืบทอดบัลลังก์ต่อมา แต่ด้วยความที่พระองค์ไม่ได้รับความเลื่อมใสมากนัก อีกทั้งยังมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวมุสลิม ทำให้ชาวเอธิโอเปียที่ส่วนใหญ่เป็นคริสเตียนหันไปสนับสนุนราสตาฟารี ลิจ ยาซุ ถูกราสตาฟารีทำรัฐประหาร พระธิดาของจักรพรรดิเมนิเลกที่ 2 จึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดินีเซาดิตู โดยราสตาฟารีรับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการ เมื่อจักรพรรดินีสวรรคต ราสตาฟารีจึงได้ขึ้นครองบรรลังก์ขนานพระนามว่า จักรพรรดิไฮลี เซลาสซี (ถอดความเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า "Might of Trinity" หรือ ฤทธิ์เดชแห่งตรีเอกานุภาพ) การขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิไฮลี เซลาสซีถูกตีความว่าเป็นการกลับมาอีกครั้งของ "พระคริสต์" ในหมู่นักเชื้อชาตินิยมคนผิวดำ นำโดย เลนนาร์ด ฮาเวลล์ (Leonard Howel) ชาวจาเมกาที่ถูกเรียกว่าเป็นราสตาฟาเรียนคนแรก (The First Rasta) ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากมาร์คัส การ์วีย์เป็นอย่างมาก ขบวนการราสตาฟารี (Rastafari) ก่อตัวขึ้นในช่วงทศวรรษต้นที่ 1930s เป็นกลุ่มลัทธิความเชื่อและขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งจับเอาคัมภีร์ไบเบิลมาตีความใหม่ผสมด้วยแนวคิดเชื้อชาตินิยมของคนดำ โดยเฉพาะแนวคิดของมาร์คัส การ์วีย์ ชาวจาเมกาที่อพยพไปอยู่สหรัฐฯ ผู้ต่อสู้เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของคนผิวดำและรณรงค์ให้คนดำเดินทางไปยัง "ดินแดนแห่งพันธสัญญา" ซึ่งก็คือทวีปแอฟริกา (ไม่ใช่ปาเลสไตน์) และเป็นผู้ที่ได้ทำนายเอาไว้ว่าวันหนึ่งผู้ปลดปล่อยคนดำจะปรากฏตัวขึ้นในแอฟริกา ทำให้ชาวราสตาฟาเรียนบางส่วนยกให้การ์วีย์เป็นดั่ง "ยอห์นผู้ให้บัพติศมา" (John the Baptist ผู้ล่วงหน้ามาก่อนพระเยซู และเป็นผู้ให้บัพติศมาแก่พระเยซู) และเมื่อ ราสตาฟารี (ผู้อ้างว่าพระองค์สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์โซโลมอน) ได้ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 1930 ชาวราสตาฟาเรียนจึงเชื่อกันว่า "คำทำนาย" ถึงการกลับมาอีกครั้งของ "พระคริสต์" ตามคำนายในคัมภีร์ไบเบิลเป็นจริงแล้ว ชื่อเดิมของ จักรพรรดิไฮลี เซลาสซี จึงกลายมาเป็นชื่อของขบวนการ ชาวราสตาฟาเรียนเชื่อกันว่า พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับคิงเจมส์นั้นเป็นพระคัมภีร์ที่แปดเปื้อนด้วยอวิชชาซึ่งไปเบียดบังความจริงแท้ในพระวจนะแห่งพระเจ้า และการใช้พระคัมภีร์โดยทุจริตของคนอังกฤษก็เป็นไปเพื่อการควบคุมทาสผิวดำอย่างมีประสิทธิภาพ ชาวราสตาฟาเรียนจึงเลือกเชื่อถ้อยคำในพระคัมภีร์เป็นเรื่องๆ ไป และเชื่อว่าการจะเข้าใจพระคัมภีร์ได้อย่างแท้จริงก็ด้วยการประสานจิตกับพระเจ้าผ่านการฝึกจิตกรรมฐานและการใช้ "กัญชา" (ซึ่งได้อิทธิพลจากชาวอินเดียที่เข้าไปขายแรงงานหลังการปลดปล่อยทาสในจาเมกา คำว่า "ganja" ที่ใช้ก็มาจากภาษาฮินดี) นอกจากการใช้กัญชาแล้ว รูปลักษณ์ที่โดดเด่นอีกอย่างของชาวราสตาฟาเรียนคือการไว้หนวดเคราและผมเดร็ดล็อกซึ่งมีรากมาจากพระคัมภีร์ (เช่นเดียวกับชาวยิวและอิสลาม) ด้านการกินดื่มนั้นชาวราสตาฟาเรียนยุคแรกๆ แทบจะไม่กินเนื้อสัตว์ เนื้อหมูถือเป็นสิ่งต้องห้าม จะกินผักผลไม้เป็นหลัก ไม่ดื่มเหล้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นมและกาแฟ จะดื่มแต่เครื่องดื่มจำพวกชาสมุนไพรเท่านั้น ส่วนจักรพรรดิไฮลี เซลาสซี พระเจ้าเดินดินของชาวราสตาฟาเรียนหลังได้ขึ้นครองราชย์แล้วก็พยายามเปลี่ยนเอธิโอเปียให้ทันสมัย ปฏิรูปการปกครองด้วยการดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางโดยแม้ว่าจะมีการตั้งรัฐสภาแต่อำนาจส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในมือของพระองค์เอง พระองค์ต้องเผชิญกับวิกฤตสำคัญในปี 1935 เมื่อกองทัพฟาซิสต์ของเบนิโต มุสโสลินีแห่งอิตาลีได้เคลื่อนกำลังเข้ารุกรานเอธิโอเปีย จักรพรรดิเซลาสซีพยายามตั้งรับต่อต้านในระยะแรกก่อนต้องลี้ภัยไปอยู่อังกฤษในปีต่อมา ทำให้การ์วีย์ (ผู้ทำนายว่าพระผู้ไถ่จะปรากฏขึ้นในแอฟริกา) ออกมาประณามพระองค์ว่าขี้ขลาด แต่การที่พระองค์ใช้มาตรการทางการทูตด้วยการเรียกร้องต่อที่ประชุมองค์การสันนิบาตชาติ (องค์การระหว่างประเทศที่ถูกแทนที่ด้วยองค์การสหประชาชาติในปัจจุบัน) ให้ร่วมกันต่อต้านกำลังฟาสซิสต์ด้วยวาทะอันน่าประทับใจทำให้ภาพลักษณ์ของพระองค์โดดเด่นในเวทีโลก ชาวราสตาฟาเรียนจึงยังยึดมั่นศรัทธาในตัวพระองค์ เมื่อเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพเอธิโอเปียพลัดถิ่นในซูดานก็ได้ความช่วยเหลือจากอังกฤษ ทัพของจักรพรรดิเซลาสซีสามารถยึดกรุงอาดดิสอาบาบากลับมาได้ในปี 1941 จักรพรรดิเซลาสซีได้ครองราชย์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในปี 1960 มีความพยายามของทหารกลุ่มหนึ่งที่จะเอาพระองค์ลงจากบัลลังก์แต่ถูกปราบปรามลงได้ด้วยกำลังฝ่ายกษัตริย์นิยม จนกระทั่งถึงปี 1973 เอธิโอเปียต้องประสบกับภาวะอดอยากอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตนับแสนราย ประกอบกับปัญหาการตกงานที่เลวร้ายหนักหน่วงยิ่งขึ้น ขณะที่ดัชนีทางการเมืองของพระองค์ก็มิได้มีคะแนนนิยมดีเหมือนสมัยก่อน ทำให้เกิดการจลาจลไปทั่ว ก่อนที่พระองค์จึงถูกกองทัพยึดอำนาจและถูกกักบริเวณอยู่ในพระราชวังนับแต่เดือนกันยายน 1974 วันที่ 27 สิงหาคม 1975 หรือราวหนึ่งปีต่อมาหลังจากที่พระองค์พ้นจากอำนาจ พระองค์ก็ถูกพบเป็นศพบนเตียงนอน รัฐบาลทหารประกาศว่า การสวรรคตของพระองค์เป็นเหตุตามธรรมชาติ และพิธีศพจะมีขึ้นเป็นการส่วนตัวภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่พระองค์สวรรคต อย่างไรก็ดีภายหลังมีหลักฐานปรากฏขึ้นมาว่าพระองค์ถูกฆ่ารัดคอซึ่งรัฐบาลทหารอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารในครั้งนั้นด้วย ส่วนลัทธิราสตาฟารีที่นับถือจักรพรรดิเซลาสซีเป็นพระเจ้าได้รุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงทศวรรษที่ 70s เมื่อมันถูกเผยแพร่ไปพร้อมกับวัฒนธรรมเร็กเก ซึ่งมีศิลปินดังอย่าง "บ็อบ มาเลย์" เป็นผู้นำกระแส จนทำให้มีผู้หันมานับถือลัทธินี้มากขึ้น (หรือบ้างก็หันมาแต่งเนื้อแต่งตัวและใช้ชีวิตอย่างชาวราสตาฟาเรียน แต่ยังไม่สมาทานระบบความเชื่อ) ทำให้ราสตาฟารีกลายมาเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักในจาเมกา จากที่เคยถูกกดขี่เพราะเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านเจ้าอาณานิคม แต่เมื่อจักรพรรดิเซลาสซีสวรรคต ตามมาด้วยการเสียชีวิตของบ็อบ มาเลย์ในอีกหกปีต่อมา ความนิยมในลัทธิราสตาฟารีก็ค่อยๆ จืดจางลงไป อ้างอิง: https://www.britannica.com/biography/Haile-Selassie-I https://www.britannica.com/topic/Rastafari https://www.nytimes.com/2008/05/10/arts/design/10rast.html https://www.nytimes.com/1977/06/21/archives/two-portraits-of-rastafarians-a-cult-of-violence-or-righteousness.html https://www.nytimes.com/1974/09/13/archives/the-lion-at-sunset-haile-selassie.html http://www.bbc.co.uk/religion/religions/rastafari/customs/customs_1.shtml https://www.nytimes.com/1975/08/28/archives/haile-selassie-of-ethiopia-dies-at-83-deposed-emperor-ruled-ancient.html