กรมพระกำแพงเพชรฯ ผู้พัฒนา 'รถไฟไทย' จนได้ชื่อว่าบิดาการรถไฟ ผู้ที่ ร.5 ไม่อาจหาตัวแทนได้

กรมพระกำแพงเพชรฯ ผู้พัฒนา 'รถไฟไทย' จนได้ชื่อว่าบิดาการรถไฟ ผู้ที่ ร.5 ไม่อาจหาตัวแทนได้

กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้ใช้เวลา 20 ปีทำให้กิจการรถไฟไทยล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นในเอเชีย อีกทั้งยังเป็นคนไทยคนแรกที่ยอมกระโดดขึ้นเครื่องบินไปพร้อมกับนักบินต่างชาติโดยไม่เกรงกลัว

  • ‘พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน’ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาวาด (ในสกุล กัลยาณมิตร)
  • พระองค์คือคนไทยแรกที่ขึ้นเครื่องบินไปพร้อมกับนักบินต่างชาติ ในปี พ.ศ.2454 จนนำมาสู่การจัดตั้งบริษัทเดินอากาศในเวลาต่อมา
  • ในปี พ.ศ.2460 ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการรถไฟหลวง และได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่
  • จากความสามารถของพระองค์ทำให้ ร. 5 ทรงเขียนจดหมายถึงพระองค์โดยมีใจความว่า หากขาด กรมพระกำแพงเพชรฯ กิจรถไฟนี้คงไม่เกิด เพราะหาตัวแทนไม่ได้!

 

รถไฟที่เข้ามาในสยามครั้งแรก เข้ามาได้ยังไง ใครเป็นผู้เสนอความคิดนี้ให้แก่พระเจ้าแผ่นดิน?

แล้วการใช้วิทยุสื่อสารครั้งแรกในไทยเกิดขึ้นตอนไหน?

อย่างการบินล่ะ? มีที่มาที่ไปอย่างไร

 

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผู้เขียนนึกสงสัยอยู่ตลอดเวลา คำถามแรกหลายคนคงรู้กันดีว่ารถไฟไทยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่พอพูดถึงเรื่องนี้ เราก็มักมีคำพูดติดตลกตามมาว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ไม่ได้พัฒนาไปจากร้อยปีที่แล้วเท่าไหร่นัก

ถึงจะเป็นมุกตลกที่ค่อนข้างเจ็บแสบ แต่ต้องบอกตามตรงว่า หากไม่มีการบุกเบิกในช่วงเวลานั้น เราคงไม่ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในชาติที่น่าจับตามองของเอเชีย ซึ่งช่วงเวลาแห่งความยิ่งใหญ่ในอดีตจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย หากไม่มี ‘พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน’ เจ้าเหนือหัวผู้ทรงพระปรีชาสามารถมากที่สุดพระองค์หนึ่ง

พระองค์ทรงเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ และนำความเจริญเข้ามาสู่ประเทศไทย ผลักดันให้ไทยทัดเทียมนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม การส่งวิทยุกระจายเสียง การออมสิน การโรงแรม การทหาร พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ไปจนถึงทำให้วงการภาพยนตร์ไทยมีสีสัน

อีกทั้งยังเป็นคนไทยคนแรกที่ยอมกระโดดขึ้นเครื่องบินไปพร้อมกับนักบินต่างชาติ โดยไม่เกรงกลัวภยันตราย ความห้าวหาญของพระองค์ทำให้คนไทย รู้จัก ‘เครื่องบิน’ เป็นครั้งแรก จนนำมาสู่การจัดตั้งบริษัทเดินอากาศในเวลาต่อมา

และนี่คือเรื่องราวของ ‘กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน’ ผู้ทำให้ชาวสยามมีรถไฟที่ดีที่สุดของเอเชีย จนได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่

ชีวิตต่างแดน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาวาด (ในสกุล กัลยาณมิตร) ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2424

เมื่อพระชันษาได้ 12 ปี ทรงเสด็จไปศึกษาวิชาการทหารช่างที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ อันเป็นวิชาที่สมเด็จพระราชบิดาทรงกำหนดไว้สำหรับพระองค์ที่จะมาให้รับราชการสนองคุณประเทศชาติ จากนั้นทรงศึกษาต่อวิชาวิศวกรรมที่ ตรินีตี้คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และวิชาทหารช่างที่ แชทแฮม และเสด็จศึกษาเพิ่มเติมในประเทศฝรั่งเศส หลังจากสำเร็จการศึกษาพระองค์กลับมาทรงงานและศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนได้เป็นสมาชิก M.I.C.E. (Member of the Institution of Civil Engineer) (เทียบเท่า วิศวกรรมสถาน)

ด้วยความที่พระองค์ทรงมีอุปนิสัยที่ค่อนข้างซนอยู่เป็นทุนเดิม วีรกรรมของพระองค์เป็นที่จดจารและถูกนำมาเล่าขานโดย พล.ท. พระยาเทพหัสดิน ระบุไว้ว่า

“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เมื่อยังทรงพระเยาว์เป็นผู้ที่ซนมาก แต่ซนเอาการเอางาน ไม่ใช่เหลวไหล ทรงมีความฉลาดและขยันหมั่นเพียรต่อการศึกษาอย่างที่จะหาผู้ในวัยเดียวกันเปรียบได้ด้วยยาก...”

ถึงพระองค์จะ ‘ซน’ แต่การเรียนก็ไม่เคยขาดถึงขนาดครูใหญ่ของโรงเรียนแฮร์โรว์กล่าวชมเชยในในหนังสือพิมพ์ไทม์ ฉบับประจำวันที่ 22 กันยายน 2479 ว่า พระองค์มีความสามารถ และอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อเสด็จกลับไทย ได้เข้าประจำการอยู่ในกรมเสนาธิการทหารบก นอกจากนี้ยังได้รับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนวิชาทหารช่างแก่นักเรียนนายร้อยทหารบก ต่อมาภายหลังได้ทรงรับหน้าที่จัดวางโครงการทหารช่างเพื่อจัดการระบบระเบียบต่าง ๆ ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น

หน้าที่สำคัญที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติในระหว่างที่ทรงรับราชการอยู่ในกองทัพบกสยามคือ ทรงเป็นจเรการช่างทหารบก เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 3 เป็นแม่ทัพกองทัพน้อยทหารบกที่ 2 เป็นจเรกองทัพบกและการปืนเล็กปืนกล ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งเป็นจเรการช่างทหารบก พระองค์ได้ทรงเป็นผู้นำให้มีการบินและการวิทยุโทรเลขขึ้นในประเทศเป็นพระองค์แรก

และหนึ่งในวีรกรรมสำคัญของพระองค์คือ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1911 ขณะที่นักบินชาวฝรั่งเศสขออาสาสมัครชาวสยามให้ขึ้นเครื่องบินไปพร้อมกับเขา กลับไม่มีใครอาสาสักคนเดียว เมื่อเห็นเช่นนั้น พระองค์จึงยกมืออาสาโดยไม่ลังเล ทำให้พระองค์กลายเป็นคนไทยคนแรกที่ขึ้นเครื่องบินในโอกาสที่ชาวฝรั่งเศสนำเครื่องบินมาแสดงที่สนามราชกรีฑาสโมสร

 

พระบิดาแห่งการรถไฟไทย กับที่มาของตราบุรฉัตร

ตามพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2460 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งในขณะนั้นมีพระยศเป็นนายพลโท เป็นผู้บัญชาการรถไฟหลวง หลังจากรัฐบาลสยามประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนีและออสเตรีย – ฮังการี เมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2459 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการขยับยศเพิ่มขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่ง นอกเหนือจากหน้าที่ราชการทางทหารที่ทรงปฏิบัติอยู่แล้ว

ส่วนหน้าที่ราชการใหม่ที่มอบหมายให้แก่พระองค์ คือ การรวมรถไฟสายเหนือ (ทางขนาดกว้าง) กับทางรถไฟสายใต้ (ทางขนาดแคบ) ขึ้นเป็นกรมเดียวกัน เพื่อประหยัดพระราชทรัพย์และเพื่อให้รถไฟทั้ง 2 สายประสานงานกันได้

ขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการรถไฟหลวง พระองค์ทรงนำความรู้จากการเล่าเรียนที่ต่างแดน เข้ามาช่วยบริหารกิจการรถไฟ จนก้าวล้ำนำสมัยประเทศอื่นในเอเชีย นอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการรถไฟแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน รวมถึงการลดช่องว่างระหว่างชนชั้นลง เพราะทุกครั้งที่พระองค์ลงมาตรวจงาน พระองค์ทรงฝึกฝนคนไทยด้วยการแนะนำสั่งสอนทุกอย่างด้วยพระองค์เอง

 

สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 9 พฤศจิกายน 2460

ถึง บุรฉัตร์ ทราบ

ตั้งแต่ฉันได้สนทนากับเธอเมื่อวันที่ ๗ มาแล้ว, ประกอบกับความสังเกตของฉันเองในราชการทั่วไป, รู้สึกว่าราชการกรมรถไฟเป็นราชการสำคัญและมีงานต้องทำมาก, เพราะเต็มไปด้วยความยุ่งยาก และฉันรู้สึกว่าเป็นเคราะห์ดีอย่างยิ่งที่ฉันได้เลือกตั้งให้ตัวเธอเป็นผู้บัญชาการรถไฟ และอาจจะพูดได้โดยไม่แกล้งยอเลยว่า ถ้าเป็นผู้อื่นเป็นผู้บัญชาการ การงานอาจจะยุ่งเหยิงมากจนถึงแก่เสียทีได้ทีเดียว เมื่อความจริงเป็นอยู่เช่นนี้ ฉันจึ่งได้มารู้สึกว่า (๑) การงานกรมรถไฟไม่ใช่เป็นของที่จะวานให้เธอทำเป็นชั่วคราวเสียแล้ว จะต้องคิดอ่านเป็นงานแรมปี หรือ ‘Permanent job’ ทีเดียว (๒) ฉันเห็นว่าเธอควรจะต้องให้เวลาและกำลังส่วนตัวสำหรับกิจรถไฟนี้มากกว่าอย่างอื่น เพราะหาตัวแทนเธอไม่ได้!

 

นอกจากนี้พระองค์ยังแสดงความห่วงใยสุขภาพของ กรมกระยากำแพงเพชรอัครโยธิน อีกด้วย โดยระบุในจดหมายใจมีความว่า เพื่อป้องกันไม่ให้สุขภาพของกรมกระยากำแพงเพชรอัครโยธินย่ำแย่ไปมากกว่านี้ จึงต้องขอให้พระองค์ออกจากราชการแผนกจะเรทัพบก

เนื่องจากแผนกนี้มีงานมากจนเกินไป เกรงว่าจะเกินกำลัง แม้จะมีใจความท่อนนึงระบุว่า กรมกระยากำแพงเพชรอัครโยธิน ยินดีที่จะทำงานแบบ ‘ยอมถวายชีวิต’ ก็ตาม แต่ พระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เขียนตอบกลับไปว่าไม่ต้องการชีวิต หากแต่ต้องการกำลังความสามารถมาใช้ในการพัฒนาทางรถไฟมากกว่า!

ขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟหลวงอันเป็นกรมรัฐพาณิชย์ เป็นระยะที่แสดงถึงความปรีชาสามารถของพระองค์ให้เห็นประจักษ์อย่างเด่นชัด เป็นต้นว่าทรงเป็นผู้นำให้มีพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ. 2464 ขึ้น

จากนั้นใน พ.ศ. 2471 ทรงสั่งซื้อรถจักรดีเซลมีกำลัง 180 แรงม้า สร้างโดย บริษัทสวิสส์โลโคโมติฟ แอนด์ แมชินเวอร์ค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่งผ่านกำลังด้วยการกล จำนวน 2 คัน เข้ามาใช้การเป็นรุ่นแรกในประเทศไทย และเป็นรายแรกในทวีปเอเชีย

และนี่จึงเป็นที่มาของเครื่องหมาย ‘บุรฉัตร’ อันเป็นพระนามของพระองค์ ติดอยู่ที่ด้านข้างของรถจักรดีเซลทุกคันที่ใช้การอยู่ในการรถไฟฯ เพื่อเป็นการรำลึก และเทิดพระเกียรติแห่งพระองค์สืบไป

พระองค์ได้ทรงปกครองการรถไฟมาเป็นเวลาราว 10 ปีครึ่ง จวบจนกระทั่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเลื่อนตำแหน่งเป็นเสนาบดีพระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เมื่อปี พ.ศ. 2470

ในอีก 4 ปีต่อมาได้ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง เป็นองค์มนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อแรกครองราชสมบัติ

นอกจากงานราชการแผ่นดินแล้ว กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ยังมีงานอดิเรกอื่นนอกจากความสนใจวิชาช่าง เช่น การถ่ายรูป พระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักถ่ายรูปที่ชำนาญพระองค์หนึ่งของเมืองไทย อีกทั้งยังทรงเคยเป็นนายกสโมสรรูปศิลปสมัครเล่น รูปที่พระองค์ทรงถ่ายไว้ เคยมีผู้นำไปลงในหนังสือรายปี ‘แอนนวล อ๊อฟ เดอ อิ๊สท์’ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านศิลปะของพระองค์

นอกจากการถ่ายรูปแล้ว พระองค์ยังสนพระทัยในการวิทยุอีกด้วย เคยปรากฏว่าพระองค์เฝ้ารับข่าวสารจากสถานีวิทยุต่างประเทศจนดึกดื่นเนือง ๆ เมื่อเวลาเสด็จไปในที่ต่าง ๆ มักจะทรงนำกล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายภาพยนตร์ เครื่อรังวิทยุติดพระองค์ไปด้วย พระองค์มีเชาวน์ในวิชาช่างประดิษฐ์อยู่มาก จึงทรงพอพระทัยในการค้นคว้าในปัญหาเครื่องกลไก และเมื่อมีวิ่งใดที่ไม่เข้าพระทัยก็พยายามหาวิถีทางให้จนเป็นที่เข้าพระทัยจนได้ อนึ่งพระองค์ยังทรงเป็นผู้นำในการใช้เครื่องจักรเครื่องกลที่มีขึ้นใหม่ก่อนผู้อื่นเสมอ

พ.ศ. 2465 พระองค์ได้ทรงจัดตั้ง ‘กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง’ หน่วยผลิตภาพยนตร์ในกรมรถไฟหลวง มีอาคารที่ทำการตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพ หัวลำโพง ทำหน้าที่เผยแผ่ข่าวและสารคดีเผยแพร่กิจการของการรถไฟไทย รวมถึงภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวสยาม

จากวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลของพระองค์ที่ทรงหยิบยกเรื่อง ‘การท่องเที่ยว’ เข้ามาโปรโมทประเทศ ทำให้ชาวต่างชาติเริ่มรู้จักประเทศไทยในแง่มุมที่หลากหลาย ชื่อเสียงของประเทศไทยจึงเริ่มเป็นที่รู้จักในระดับสากล อีกทั้งหน่วยงานนี้ได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในเวลาต่อมา

กรมกระยากำแพงเพชรอัครโยธิน สิ้นประชนม์ที่ด้วยโรคพระทัยวาย ณ โรงพยาบาลประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน รวมพระชันษาได้ 54 ปี 7 เดือน  22 วัน

ถึงช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ได้วางรากฐานปูพรมแดงให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่หนึ่งในชาติที่ทันสมัยจะเริ่มโรยราลงอย่างช้า ๆ แต่ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เหตุผลที่ประเทศไทยเป็นรูปเป็นร่างมาอย่างในทุกวันนี้ เป็นเพราะพระกรณียกิจและพระดำริที่ทรงก่ออิฐก้อนแรกเอาไว้อย่างงดงาม

และเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณอันเหลือคณานับของกรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธิน ทางราชการได้กำหนดให้วันที่ 14 กันยายน เป็นวันบุรฉัตร เพื่อให้คนไทยไม่หลงลืมเรื่องราวของพระองค์

 

อ้างอิง

  • การรถไฟแห่งประเทศไทย. http://www.railway.co.th/main/profile/burachut.html
  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระฯ, 2396-2453. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาค 12 พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. [ม.ป.ท.]:โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2479. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:137382.
  • พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู. พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เจ้าชายนักถ่ายหนังแห่งสยาม. https://www.fapot.or.th/main/information/article/view/617
  • เพื่อระฤกถึงพระคุณพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน. [ม.ป.ท.]:โรงพิมพ์กรมรถไฟ, 2479. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:168576.