02 ก.ย. 2565 | 14:00 น.
แพทย์ประจำตำบล เป็นตำแหน่งทางปกครองที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด โดยมีหน้าที่คอยดูแลด้านสาธารณสุขให้กับทุกคนมานานกว่า 100 ปี ด้วยการใช้ความรู้ทางด้านแพทย์แผนไทยที่เน้นสมุนไพรพื้นบ้านเป็นตัวยาสำคัญ
แต่ปัจจุบันที่โรคภัยไข้เจ็บทวีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมกับการแพทย์แผนปัจจุบันที่พัฒนาเพื่อก้าวตามให้ทันทั้งเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย ไปจนถึงเทคโนโลยีวัคซีนต้านไวรัสแบบ mRNA ทำให้บทบาทของแพทย์ประจำตำบลถูกหลายคนลืมเลือนไปทีละน้อย
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้ ยี่สุ่น-สมบัติ อนงค์พร แพทย์ประจำตำบล ตำบลหันทราย จังหวัดสระแก้ว กลับพิสูจน์ให้เห็นว่าความจริงแล้วแพทย์ประจำตำบล เป็นอีกกลไกหนึ่งที่มีหน้าที่สำคัญในการช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในตำบลและหมู่บ้านดีขึ้นได้ด้วยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิทยาการแพทย์แผนไทยที่ส่งต่อกันมา
แพทย์ประจำตำบลอย่างพวกเขาทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือผู้คนในช่วงวิกฤตทางด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ในรอบศตวรรษ ติดตามไปพร้อมกันได้จากบทสัมภาษณ์นี้
มีแพทย์สมุนไพรไทยเป็นไอดอล
“สมัยเด็ก ๆ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าแพทย์ประจำตำบลเป็นใคร แต่จำได้ว่าเห็นเขาดูแลรักษาเบื้องต้นให้กับชาวบ้านในตำบลหมู่บ้านด้วยยาสมุนไพร เลยซึมซับเรื่องนี้มาจนได้โอกาสมาเป็นแพทย์ประจำตำบลเอง”
หลังจากได้รับปริญญาบัตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช ด้วยความชอบด้านการแพทย์แผนไทยเป็นทุนเดิมอยู่ก่อน บวกกับบุคลิกที่เป็นคนมีความกระตือรือร้นในการลงพื้นที่ดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ยี่สุ่นได้รับความไว้วางใจจากกำนัน และผู้ใหญ่บ้านทั้ง 10 หมู่ของตำบลหันทราย อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ให้มารับหน้าที่เป็นแพทย์ประจำตำบล คอยดูแลด้านสาธารณสุขของผู้คนในตำบลหันทรายกว่า 5,000 คน
ตำแหน่งแพทย์ประจำตำบล มีบทบาทหน้าที่เป็นผู้ช่วยกำนันในการออกตรวจตราพื้นที่ ดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ถ้าพบคนเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะเป็นคนแรกที่เข้าไปดูแลเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด และทำการคัดกรองผู้ป่วยในเบื้องต้นก่อนจะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลในลำดับต่อไป ซึ่งเป็นการช่วยลดความแออัดของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาลหลักได้เป็นอย่างดี
“ตำแหน่งแพทย์ประจำตำบลไม่เกี่ยวกับวุฒิการศึกษา แต่ต้องเป็นคนที่มีจิตอาสาเพื่อจะลงพื้นที่ให้เข้าถึงทุกคนในตำบล ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่มารับตำแหน่งแพทย์นี้ เราได้ใช้สมุนไพรช่วยในการรักษา อย่างช่วยหญิงหลังคลอดที่มีปัญหาน้ำนมไม่เพียงพอ หรือปรับสมดุลให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาเบาหวานความดัน”
ตัวกลางเชื่อมคนป่วยเข้ากับการรักษา
ด้วยความที่แพทย์ประจำตำบลเป็นตำแหน่งซึ่งคัดเลือกจากคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทำให้แพทย์ประจำตำบลมีความใกล้ชิดกับประชาชน และเป็นคนแรก ๆ ที่ได้ยินเสียงความเจ็บของผู้คนในตำบลและหมู่บ้าน
การที่ได้รับรู้ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้สามารถสังเกตอาการเจ็บไข้ได้ป่วยเบื้องต้นและให้คำปรึกษาชี้แนะในด้านสุขภาพได้ ที่สำคัญการที่คลุกคลีกับคนในตำบลช่วยให้ได้รับความไว้วางใจและเปิดใจยอมรับคำแนะนำนั้นได้มากขึ้น
ที่ผ่านมาเขาได้ไปอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพแพทย์ประจำตำบล สู่การสาธารณสุขเพื่อแผ่นดิน โดยเขาได้นำเทคนิคที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้ในหมู่บ้านตำบล อย่างการทำชาข้าวเหนียวดำใบเตย ชาสมุนไพรที่ช่วยลดความดันแล้วยังมีรสอร่อยรวมทั้งใช้เป็นของฝากให้กับผู้คนในเวลาที่ออกปฏิบัติหน้าที่เยี่ยมเยียนประชาชน
“เราเจอคนในตำบลอยู่ทุกคนก็เลยจะเห็นคนป่วยเป็นคนแรก ๆ พอรู้ว่าใครป่วยก็จะใช้ศาสตร์และศิลป์ในการประเมินอาการเบื้องต้น ถ้ารักษาไม่ได้ก็จะเป็นตัวกลางประสานส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล”
การคลุกคลีกับชาวบ้าน ช่วยให้สามารถสังเกตอาการและให้คำปรึกษาชี้แนะเบื้องต้นในด้านสุขภาพ อย่างการป้องกันตัวเองในช่วงโควิด การลดความเสี่ยงเรื่องเบาหวาน ความดัน และประสานงานเบื้องต้นก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาล นอกจากงานสาธารณสุขแพทย์ประจำตำบลแล้ว แพทย์ประจำตำบลยังมีหน้าที่ตรวจตราดูเวรยามป้องกันอันตรายให้กับประชาชนในตำบลอีกทางหนึ่ง
สมุนไพรห่างไกลจากลองโควิด
สิ่งที่น่ากลัวไม่แพ้โควิด-19 คืออาการลองโควิด หรือ post COVID-19 syndrome เป็นภาวะของคนที่หายจากโควิด-19 แต่ยังต้องเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ แม้ว่าเชื้อโควิดหายจากร่างกายไปแล้ว แต่บางอาการกลับยังไม่หายไปด้วย
แต่ละคนจะมีอาการลองโควิดที่แตกต่างกันไปออกไป ไม่ว่าจะเป็นระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร หัวใจและหลอดเลือด ทำให้ผู้ที่หายป่วยบางรายยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม ซึ่งส่วนใหญ่จะดีขึ้นภายใน 12 สัปดาห์ แต่ในบางรายสามารถพบอาการที่ยังหลงเหลืออยู่ได้ยาวนานกว่านั้น ส่วนมากพบในผู้ป่วยอายุ 35 ปีขึ้นไป โดย 20% ผู้ป่วยจะเข้าข่ายนี้หลังจากรับเชื้อไปแล้ว 5 สัปดาห์
โดยการใช้ยาสมุนไพรร่วมกับภูมิปัญหาแพทย์แผนไทยอย่างการสุมยามีส่วนช่วยในเรื่องการหายใจ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการนี้ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30-50% จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง
วิทยาการแพทย์แผนไทยเข้ามาช่วยในเรื่องลองโควิด ด้วยการนำการใช้ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยอย่างการเข้ากระโจมสุมยาแบบโบราณ เพื่อสูดดมไอระเหยของสมุนไพรที่มีกลิ่นเฉพาะผ่านไอน้ำ ด้วยการใช้อุปกรณ์ที่หาได้ไม่ยากอย่างหม้อหุงข้าวหรือกาต้มน้ำ ต้มสมุนไพรพื้นบ้านที่มีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยที่หาได้ง่ายรอบบ้าน ไม่ว่าจะเป็น หอมแดง ตะไคร้ ขิง ใบโหระพา หรือผิวมะกรูด แล้วก้มหน้าอังไอน้ำในภาชนะใช้ผ้าคลุมศีรษะ ช่วยป้องกันแล้วเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชาวบ้านโดยเฉพาะบรรเทาอาการลองโควิดหลังจากที่ติดเชื้อโควิด
“การอบสมุนไพร ช่วยพื้นฟูปอดและระบบหายทำให้ช่วยให้ปอดทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาการเหนื่อยอาการหอบที่เรียกว่าอาการลองโควิด ก็จะน้อยลง การใช้สมุนไพรมันไม่สามารถที่เป็นตัวชี้วัดได้เหมือนการแพทย์แผนปัจจุบัน ว่ารักษากี่วันหาย การใช้สมุนไพรต้องใช้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แล้วใช้วิธีสังเกตว่าอาการดีขึ้น หน้าที่ของแพทย์ประจำตำบลเป็นการดูแลเยียวยาในเบื้องต้น ด้วยการใช้สมุนไพร”
เจ็บไข้ได้ป่วยเราได้ยิน
“เราทำงานในพื้นที่ตำบลและหมู่บ้านอยู่ตลอด ชาวบ้านเลยรู้จักแล้วไว้ใจทำให้เราเป็นคนแรกที่จะได้ยินเสียงขอความช่วยเหลือของพวกเขาก่อนใคร”
การทำงานของแพทย์ประจำตำบลจะทำงานร่วมกับหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขอื่น ๆ ทั้ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และ อาสาสาธารณสุข (อสม.) ในการลงพื้นที่ อย่างกรณีช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พอได้ข้อมูลว่าพื้นที่ไหนมีผู้ติดเชื้อ ก็จะเข้าไปดำเนินการในทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหญ่
ด้วยความที่เป็นตำแหน่งแพทย์ประจำตำบล เป็นตำแหน่งเดียวในตำบล ไม่เหมือนกันตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่มีหลายคน ทำให้การลงพื้นที่ของแพทย์ประจำตำบลหนึ่งคนครอบคลุมทั้งตำบล ซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก การทำงานของแพทย์ประจำตำบลเลยเป็นงานที่หนักและท้าทาย โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา
“แพทย์ประจำตำบลก็เหนื่อยท้อเหมือนคนธรรมดาทั่วไป แต่พอเราได้เห็นผลงานที่เราได้ทำ ก็รู้สึกมีความสุขที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ชีวิตของประชาชนในตำบลดีขึ้น”
ในมุมมองของยี่สุ่น ความสุขของการเป็นแพทย์ประจำตำบล ไม่ได้มาการคาดหวังเงินทองหรือสิ่งของตอบแทน แต่มาจากการได้ช่วยเหลือเป็นคนเชื่อมประสานให้กับชาวบ้านกับแพทย์หน่วยงานต่าง ๆให้ชีวิตของคนในตำบลดีขึ้น ตามเป้าหมายของนักปกครองท้องที่ซึ่งได้ตั้งปณิธานแน่วแน่ในการ ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ ให้กับประชาชน
“การทำงานของแพทย์ประจำตำบลเราจะใช้หลักคิดที่ว่า ชาวบ้านก็เป็นครอบครัวของเรา ถ้าเขาทุกข์เราทุกข์ด้วย ถ้าเขาสุขเราสุขด้วย ทำให้ถ้าเขามีชีวิตที่ดีขึ้น เราเลยมีความสุข”