19 พ.ย. 2565 | 18:48 น.
“ย.โย่ง เป็นคนเก่งมากในเรื่องกีฬา กีฬาในเมืองไทย ‘บูม’ ขึ้นมา โดยเฉพาะฟุตบอล ก็เพราะ ย.โย่ง คนนี้นี่แหละ นักกีฬาหรือคนที่ชอบกีฬา ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ และคนแก่หัวหงอกทั่วประเทศไทย รู้จัก เอกชัย นพจินดา หรือ ย.โย่ง ทุกคน ...เป็นคนอ่านข่าวกีฬาประจำทีวีช่อง 7...เปิดรายการทางวิทยุขึ้นเรียกว่าสปอร์ตเรดิโอ พูดคุยและรายงานแต่เรื่องของกีฬาตลอด 24 ชั่วโมง
โดยเฉพาะในวงการฟุตบอลทั่วโลก คุณเอกชัย นพจินดา ได้รับฉายาว่า ‘คัมภีร์ลูกหนัง’ ไม่มีใครรู้ดีในเรื่องฟุตบอลมากไปกว่า เอกชัย นพจินดา พากย์ฟุตบอลต่างประเทศ เรียกชื่อนักฟุตบอลถูกหมด ไม่มีผิดเพี้ยน นักฟุตบอลดัง ๆ ระดับโลกบางคนเอกชัยรู้กระทั่งโคตรพ่อ และโคตรแม่อย่างละเอียด”
ชัยยะ ปั้นสุวรรณ
ฟุตบอลโลก 1986 (พ.ศ.2529) นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยถ่ายทอดสดนับจากรอบ 8 ทีมสุดท้าย นอกเหนือจากชื่อเสียงของ ดิเอโก้ มาราโดน่า จะได้รับการจดจำทั้งโลก ในประเทศไทย ยังนับเป็นมหกรรมกีฬาที่ทำให้ชื่อเสียงของ ‘ย.โย่ง - เอกชัย นพจินดา’ ถูกจดจำในฐานะนักพากย์บอลอันดับหนึ่งของประเทศตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิตเมื่อจากไปก่อนวัยอันควรเมื่อ พ.ศ.2540 ด้วยอายุเพียง 44 ปี
เอกชัย นพจินดา ชาตะเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2496 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นบุตรชายคนโตของ พ.ท.ไพฑูรย์ และ พ.ท.หญิง อุไร นพจินดา มีน้องอีก 2 คน คือ นัยนา ดอกแก้ว และ น้องชาย ธราวุธ นพจินดา หรือ ‘น้องหนู’ ผู้เจริญรอยตามพี่ชายในฐานะผู้สื่อข่าวกีฬาและนักพากย์บอล
การศึกษา
เริ่มเรียนหนังสือชั้นอนุบาลที่โรงเรียนอนุบาลครูเนี้ยน ปัจจุบันเป็นโรงเรียนอนุบาลอักษรเจริญ จากนั้นเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย รุ่นที่ 44 หลังพลาดหวังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จึงเลือกเข้าทำงานเป็นนักข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์บ้านเมืองเมื่อ พ.ศ.2517
จุดกำเนิด ย.โย่ง
ที่หนังสือพิมพ์บ้านเมือง เอกชัย นพจินดา ได้นามปากกา ย.โย่ง จากการตั้งให้ของ สุรินทร์ ลีลาวัฒนะ บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์บ้านเมือง (เดิมชื่อเล่นของเอกชัยคือ ‘นิดหน่อย’) เนื่องจากเห็นรูปร่างที่สูงโปร่ง จึงนับเป็นจุดกำเนิดของ ย.โย่ง ก่อนจะกลายเป็นตำนานคัมภีร์ฟุตบอลผู้ลาลับ
เมื่อคุณระวิ โหลทอง ได้ทำหนังสือสตาร์ ซอคเกอร์ รายสัปดาห์ ออกจำหน่าย ย.โย่ง ได้ถูกดึงมาร่วมงานด้วย ประมาณปี พ.ศ.2519 ทางหนังสือพิมพ์บ้านเมืองร่วมกับสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ได้จัดชิงรางวัลให้ผู้โชคดีเดินทางไปชมฟุตบอลที่ประเทศอังกฤษ คุณระวิ จึงออกค่าใช้จ่ายให้ ย.โย่ง เดินทางร่วมไปด้วย และได้กลับมาเขียนบทความในสตาร์ ซอคเกอร์ มีชื่อว่า ‘ย.โย่ง บุกลอนดอน’ ซึ่งได้รับความนิยมจากแฟนบอลในเมืองไทยอย่างมาก
ระวิ โหลทอง ย้อนรำลึกไว้ว่า
“ผมจำไม่ได้ว่า ย.โย่ง กับ ยอดทอง เริ่มทำสตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์ ตั้งแต่ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 หรือไม่ เพราะตอนนั้น สตาร์ซอคเกอร์ มีเรื่องเกี่ยวกับฟุตบอลเมืองไทยรวมอยู่ด้วย
แต่ที่จำได้แน่ ๆ ก็คือ คอลัมน์ ‘คัมภีร์ฟุตบอล’ ที่ผมใช้นามปากกาว่า ‘มร.ป๊อก’ ตอบอยู่ตั้งแต่เล่มแรก ต่อมาไม่ว่างจึงวาน ย.โย่ง ตอบแทน ปรากฏว่า ย.โย่ง ตอบได้ดีกว่าผมชนิดหลังมือเป็นหน้ามือ ซ้ำยังมีลูกเล่นอีกเยอะแยะ
คอลัมน์ ‘คัมภีร์ฟุตบอล’ จึงเป็นของ ย.โย่ง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และกลายเป็นฉายาของเขาสืบมาจนถึงปัจจุบัน ซ้ำยังมีคนเติมคำต่อท้ายอีกคำว่า ‘โลก’ เลยกลายเป็น ‘ย.โย่ง คัมภีร์ฟุตบอลโลก”
อำนวย เจริญผล ผู้อำนวยการสยามสปอร์ตกรุ๊ป ย้อนรำลึกไว้เช่นกันว่า
“เขามาเลือกดูหนังสือกีฬา แล้วจะขอซื้อหนังสือฟุตบอลภาษาอังกฤษที่โรงพิมพ์มีอยู่ไป บางทีก็ขอซื้อหนังสือกีฬาสยามเก่าย้อนหลังในเล่มที่มีดาราฟุตบอลอังกฤษฟุตบอลโลก 1966, ฟุตบอลโลก 1970 ในยุคนั้น
จากนั้นต่อมาก็พบเขาตอนเป็นหนุ่ม ระวิกับจุ๋งแนะนำว่า ชื่อโย่ง เป็นนักข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ต่อไปจะส่งต้นฉบับให้กีฬาสยามก็เลยจำได้ว่า ความจริงเคยพบเขาก่อนหน้านี้แล้ว ผมเป็นคนจ่ายค่าต้นฉบับทุกเรื่องของหนังสือทุกฉบับของโรงพิมพ์ เอาต้นฉบับมาก็จ่ายให้ ซึ่งก็มีเด็กหนุ่มสองคนคือโย่งกับยอดเพื่อนร่วมงานของเขาเวียนกันมาส่งต้นฉบับและรับเงิน...ผมเห็นการเติบโตของกิจการของระวิไปพร้อมกับการเติบโตของเด็กสองคนนี้ ที่เป็นกำลังของระวิมาตลอด ผมเอ็นดูเขาเหมือนลูกหลาน”
แปลบทความของคอลัมนิสต์ระดับโลก
นอกจากบทความเรื่อง ‘ย.โย่ง บุกลอนดอน’ แล้ว ยุคต้นเขายังมีผลงานการเขียนอื่น ๆ อีกมาก เช่นงานแปลนิยายลูกหนังเป็นตอน ๆ เรื่อง ‘หัวใจเปื้อนโคลน’ ลงในนิตยสาร ‘ชู้ตโกล์’ และที่โด่งดังเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านคือ คอลัมน์คัมภีร์ฟุตบอล ในหนังสือสตาร์ ซอคเกอร์ ที่ได้เขียนแทน มร.ป๊อก ซึ่งก็คือคุณระวิ โหลทอง พร้อมทั้งยังได้แปลบทความของ ไบรอัน แกรนวิลล์ มอสซอฟฟ์ คอลัมนิสต์ฟุตบอลระดับโลกอีกด้วย
เข้าสู่วงการโทรทัศน์
จากผลงานด้านการเขียนหนังสือ ย.โย่งก็ได้เริ่มเข้าสู่วงการโทรทัศน์ ด้วยการได้รับเชิญไปร่วมบรรยายการแข่งขันฟุตบอลที่คุณมานิตย์ รักษ์สุวรรณ ผู้จัดรายการถ่ายทอดสดในสมัยนั้นเป็นผู้จัดขึ้น
เมื่อปี พ.ศ.2525 ย.โย่ง ก็ก้าวสู่การเป็นนักข่าวระดับอินเตอร์ เมื่อมีโอกาสเดินทางไปทำข่าวการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศสเปน ปี 1982 อันเป็นการเปิดทางให้กับนักข่าวรุ่นหลัง และเป็นแบบอย่างในการทำข่าวฟุตบอลในต่างประเทศ และยังทำให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่าได้รู้จักกับนักข่าวจากประเทศไทย
ร่วมบุกเบิก หนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน
นับตั้งแต่ฟุตบอลโลกที่ประเทศสเปนปี 1982 แล้วในการแข่งขันครั้งต่อ ๆ มา อย่างเช่น การแข่งขันฟุตบอลโลก หรือฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ตลอดจนกีฬาโอลิมปิกเกมส์ กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ และกีฬาซีเกมส์ ย.โย่ง ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะนักข่าวที่ติดตามทำข่าวอย่างใกล้ชิด
ครั้นถึง พ.ศ.2528 คุณระวิ โหลทอง ได้ดึง ย.โย่ง เข้ามาร่วมเป็นผู้บุกเบิกทำหนังสือพิมพ์กีฬารายวันฉบับแรกของประเทศไทย ‘สยามกีฬารายวัน’ จนประสบความสำเร็จอย่างสูงและร่วมเป็นผู้บริหารของบริษัทสยามสปอร์ต
วีรศักดิ์ นิลกลัด ฉายภาพชีวิต ย.โย่ง ระยะนั้นไว้ว่า “ช่วงฟุตบอลโลกปี 2529 หลังจากเกิดสยามกีฬารายวันได้ไม่นาน พี่โย่งงานมากขึ้นทั้งหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ โดยที่ทั้งพี่โย่ง พี่ยอด (ยอดชาย ขันธะชวนะ) พี่ณุ (พิษณุ นิลกลัด) ยังเป็นสามทหารเสือกำลังหลักของพี่วิ โดยพี่หนูถูกส่งตัวไปประจำอยู่ที่เม็กซิโกตั้งแต่ฟุตบอลโลกยังไม่เริ่ม”
เอกชัย นพจินดา เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2540 ก่อนวันครบรอบการก่อตั้งครบรอบปีที่ 12 ของหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวันที่เขานั่งเป็นบรรณาธิการเพียง 2 วัน รวมอายุ 43 ปี 8 เดือน 13 วัน
ย.โย่ง กับวงการทีวี
เอกชัย นพจินดา แจ้งเกิดเป็นที่รู้จักระดับมหาชนในวงการทีวีจากการพากย์ฟุตบอลโลกปี 1986 (พ.ศ.2529) ที่เม็กซิโก ปีนั้นประเทศไทยเริ่มถ่ายทอดสดบอลโลกนับจากรอบ 8 ทีมสุดท้าย ประเดิมด้วยนัดสุดคลาสสิก บราซิล-ฝรั่งเศส และอีกนัดสำคัญที่มาราโดน่า โชว์ฟอร์มยิงสองประตูประวัติศาสตร์ ‘หัตถ์พระเจ้า’ และ ‘เลี้ยงเดี่ยว’ ใส่ทีมชาติอังกฤษก่อนที่จะพาทีมชาติอาร์เจนติน่าคว้าถ้วยชนะเลิศ
หลังจากนั้นปี พ.ศ.2531 ทางช่อง 7 โดยคุณชาติเชื้อ กรรณสูตร ได้โทรศัพท์ไปขอตัว ย.โย่ง จากสยามกีฬา ให้ไปร่วมงานเป็นผู้อ่านข่าวกีฬาประจำ ซึ่งก็เริ่มงานใหญ่จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศสเปน และก็เป็นการสร้างรูปแบบของการทำงานอีกรูปแบบหนึ่งของทีมงานช่อง 7 สีตลอดมา
ย.โย่ง ได้รับรางวัลผู้บรรยายกีฬาดีเด่น ของสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิง ปี พ.ศ.2530, 2531 และ 2533
ย.โย่ง กับ ฟุตบอลโลก
ด.ช.เอกชัย นับเป็นนักอ่านตัวยง โปรดปรานการ์ตูนของราช เลอสรวง หัสนิยายพลนิกรกิมหงวนของ ป.อินทรปาลิต นิยายกำลังภายในแปลหลากสำนวน จนเมื่อถึงกีฬาฟุตบอลที่หลงใหลแต่เยาว์วัย เขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวของบอลโลก 1962 จากที่ได้อ่านในห้องสมุดโรงเรียนให้เพื่อน ๆ รับฟังอย่างสนุกสนาน
แว่นเลิศชาย เพื่อนสนิทหวนรำลึกถึงเขาไว้ว่า “เล่มหนึ่งเป็นเรื่องฟุตบอลโลก 1962 ไม่มีเด็กในชั้น ป.4 คนไหนหยิบอ่าน...นอกจาก ตี๋เอกชัย (ฉายาที่เพื่อน ๆ เรียกขณะนั้น) จอมอ่านหนอนหนังสือของรุ่น”
‘ยอดทอง’ ถ่ายทอดเรื่องราวว่าเขากับ ย.โย่ง เริ่มดื่มด่ำกับบอลโลก 1966 (พ.ศ.2509) ที่อังกฤษเป็นแชมป์โลกครั้งแรกด้วยวัย 10 ขวบ ต่อมาในบอลโลก 1970 (พ.ศ.2513) ยังเป็นนักเรียนประจำ คืนไหนมีการถ่ายทอดโทรทัศน์ก็จะแอบหนีจากห้องนอนไปดูบอล
ตอนเช้าก็จ้างคนงานซื้อหนังสือพิมพ์รายวันที่มีภาพและข่าวฟุตบอลโลกมาอ่านและตัดรูปทำอัลบั้มส่วนตัว บอลโลก 1974 (พ.ศ.2517) ทั้งคู่ได้ทำงานที่หนังสือพิมพ์บ้านเมือง เริ่มแปลข่าวฟุตบอลโลกกันทุกวัน นับเป็นบอลโลกครั้งแรกของชีวิตการทำงาน
บอลโลก 1978 (พ.ศ.2521) พวกเขาได้ข้ามมาทำงานกับสยามสปอร์ตฯ แล้ว ตอนนั้นนิตยสารสตาร์ซอคเกอร์ติดตลาดเป็นที่รู้จักดี ยอดทองได้ไปทำข่าวที่อาร์เจนติน่า ส่วน ย.โย่ง ประจำการเมืองไทยรับข่าวเขียนต่อ นับเป็นยุค ‘บูม’ ฟุตบอลโลกฉบับเอ็กซ์ตร้าพิมพ์ซ้ำถึงสามสี่ครั้ง
เมื่อถึงบอลโลก 1982 (พ.ศ.2525) ย.โย่งได้สลับเดินทางไปทำข่าวเองถึงประเทศสเปน ครั้งนั้นได้ออกหนังสือพิมพ์ฟุตบอลโลกรายวันเฉพาะกิจเป็นเวลา 45 วัน
บอลโลก 1986 (พ.ศ.2529) และ 1990 (พ.ศ.2533 ) ย.โย่ง รับบทเป็นคนทีวีเต็มตัวแล้ว ในฐานะนักพากย์ฟุตบอลชื่อดัง ประกอบกับรับงานช่อง 7 จึงมีหน้าที่ประจำการติดอยู่ในแผ่นดินแม่ ทำงานแทบไม่ได้หลับได้นอน ทั้งพากย์บอล บรรณาธิการข่าวกีฬา เขียนคอลัมน์ อ่านข่าว ฯลฯ
ครั้นถึงบอลโลก 1994 (พ.ศ.2537) ที่สหรัฐอเมริกา ย.โย่ง จึงถือโอกาสปลีกตัวไปทำข่าวก่อนหน้าจะเริ่มการแข่งขันครึ่งเดือน และนับเป็นครั้งสุดท้ายที่ผู้รับชมบอลชาวไทยจะได้ยินเสียงอันคุ้นเคยของ ‘คัมภีร์ฟุตบอล’ ท่านนี้เป็นครั้งสุดท้าย เพราะก่อนการแข่งขันบอลโลก 1998 (พ.ศ.2541) ณ ฝรั่งเศส เพียง 1 ปี วงการฟุตบอลไทยจำต้องสูญเสียสื่อมวลชนผู้เชี่ยวชาญฟุตบอลต่างประเทศมากที่สุดอย่างไม่มีวันกลับด้วยวัยเพียง 44 ปี
ปัทมา เปล่งวิทยา เจ้าของนามปากกา ‘ตุ๊กตุ๊ก’ เล่าเกร็ดชีวิตการทำงานในฐานะผู้สื่อข่าวของ ย.โย่ง เพียงครั้งเดียวเมื่อครั้งบอลโลก 1982 ไว้ว่า
“ฟุตบอลโลกที่สเปน การทำข่าวในช่วงนั้นเป็นการทำงานที่ลำบากติดขัดไปหมดทุกจุด เนื่องจากเราไม่ได้ Accreditation การเจาะข่าว การเข้าสนามเพื่อเก็บภาพสวย ๆ มาให้แฟน ๆ ชาวไทยจึงเป็นเรื่องที่ยากเย็นไม่น้อย...บางครั้ง...ต้องไปเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อซื้อบัตรเข้าชม
วิธีรายงานข่าวด่วนในขณะนั้นคือการโทรศัพท์ทางไกล ต้องทำงานแข่งกับเวลา เนื่องจากเวลาต่างกันถึง 6 ชั่วโมง และเป็นยุคที่การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกอย่างทุกวันนี้ยังเป็นความฝันที่เกินเอื้อมสำหรับแฟนบอลชาวไทย ด้วยงบประมาณอันน้อยนิด แต่ต้องทำงานใหญ่โตเกินตัว ทำให้ตุ๊กต้องหาห้องเช่าในบ้านของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสถานทูตไทยให้พี่โย่งอยู่
หรือบางครั้งก็ต้องฝากฝังเพื่อนฝูงเมื่อยามที่ต้องย้ายฐานตามไปดูบราซิลที่บาร์เซโลน่า...หรือแม้แต่ต้องเข้าคิวนานถึง 4-5 ชั่วโมงเพื่อรอขึ้นเครื่องบินจากบาร์เซโลน่า กลับมาดริด เพื่อดูบอลในรอบชิงชนะเลิศก็เคยผ่านกันมาแล้ว”
อนึ่ง เอกชัย นพจินดา เป็นคนไม่ชอบการพนัน ย.โย่ง เมื่อเขียนบทความวิเคราะห์บอลจะระมัดระวังหลีกเลี่ยงมิให้เนื้อหาส่อไปในทางการพนัน เขาเคยแสดงทัศนะให้เด็กนักเรียนฟังเมื่อได้รับเชิญไปบรรยายไว้ว่า เขาไม่เล่นการพนันฟุตบอล เขาไม่เคยเห็นใครได้ดีจากตรงนี้และเป็นการสร้างกิเลสที่ไม่เข้าท่า เรายังมีวิธีที่สนุกด่ำดื่มกับเกมฟุตบอลมากมาย
หนังสืออนุสรณ์งานศพ ย.โย่ง
งานพระราชทานเพลิงศพของ ย.โย่ง จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2540 ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธี
หนังสืออนุสรณ์งานศพของ ย.โย่ง นับเป็นหนึ่งในหนังสือที่บรรจุคำไว้อาลัยแทบจะทุกชนชั้นมากมายที่สุดเท่าที่พบในหนังสือประเภทนี้ นับแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เจ้าสัว สื่อสารมวลชน นักประพันธ์ มิตรรัก ทีมชาติไทย แฟนบอล ฯลฯ สมกับที่ ระวิ โหลทอง เคยกล่าวไว้ว่า
“ในอาณาจักรหนังสือกีฬาของเรา ย.โย่ง เป็นคนดีที่สุดจนเราเคยคุยกันเล่น ๆ ว่าถ้า ย.โย่ง ตาย หนังสือพิมพ์แจกในงานศพคนเขียนถึงจะสบายใจที่สุด ที่ไม่ต้องพยายามหรือเสแสร้งเขียนเรื่องที่ดีของ ย.โย่ง เพราะว่าจะแตะไปตรงไหน ก็มีสิ่งที่ดีงามไปทั้งหมด”
ภริยา และ ธิดาเพียงคนเดียว คุณยุรี และ ด.ญ.ทวีพร (น้องแตงโม) นพจินดา อุทิศคำไว้อาลัยอย่างสุดซึ้งว่า
“พี่โย่งไม่เคยปฏิเสธหรือขัดใจเรา 2 คน พี่เคยพูดเสมอว่ามีสิ่งไหนที่เป็นความสุขของยุและลูก พี่จะหามาให้ได้หมด ยกเว้นดาวกับเดือนเท่านั้น และพี่ก็ทำทุกอย่างได้อย่างที่พูดอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่เคยมีสักครั้งที่พี่โย่งโกรธหรือขัดใจยุ ไม่มี ไม่มีเลยจริง ๆ”
กัลยาณมิตร 2 ท่านสำคัญที่บุกเบิกงานสื่อสารมวลชนด้านกีฬาร่วมกับ ย.โย่ง
หนึ่ง พิษณุ นิลกลัด (นามปากกา ‘เตยหอม’) เขียนคำอุทิศซาบซึ้งกินใจขนาดยาว 2 หน้าชื่อว่า ‘4 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนสิ้นใจ’ ถึงเหตุการณ์ที่เขาได้ร่วมอยู่กับ ย.โย่ง จนถึงวาระสุดท้ายที่สนามเทนนิสจนถึงโรงพยาบาลเปาโล
สอง ยอดชาย ขันธะชวนะ (นามปากกา “ยอดทอง”) เอ่ยถึงไว้ท่อนหนึ่งว่า
“นับแต่เด็กเติบโตกันมาจนกระทั่งบัดนี้ใครก็รู้ว่า ‘ยอดกับโย่ง’ มันเป็นแฝดคนละฝา จากอายุเจ็ดขวบนับแต่นั้นชะตาชีวิตเราก็ผนึกต่อกัน เป็นคู่หูกันในวันเยาว์ เติบใหญ่ขึ้นมาก็ยังทำงานคู่กันเป็นสองประสานบนถนนสายกีฬา นามปากกาของเราก็ยังคู่กัน ย.โย่ง-ยอดทอง”
ภายหลังงานศพไม่นานนัก สำนักราชเลขาธิการแจ้งเรื่องพระราชทานเครื่องราชฯ ชั้นเหรียญทอง ดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น 6 เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเป็นเกียรติยศต่อนายเอกชัยและวงศ์ตระกูล ต่อมาสหายรักที่สุดของ ย.โย่ง ‘ยอดทอง’ ยอดชาย ขันธะชวนะ ได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มสำคัญที่ฉายภาพชีวิตของ ย.โย่ง มากที่สุดในบรรณพิภพชื่อว่า ‘ย.โย่ง ในความทรงจำ’ รายได้จากการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้สมทบกองทุนมูลนิธิ เอกชัย นพจินดา
ภาพ: จากหนังสือหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ย.โย่ง เอกชัย นพจินดา 17 มีนาคม 2540
บรรณานุกรม:
15 ปีที่คิดถึง 'ย.โย่ง' เผยโฉมทายาท 'คัมภีร์ฟุตบอล' เมืองไทย ใน ไทยรัฐออนไลน์ 26 มีนาคม พ.ศ.2555
ยอดทอง (ยอดชาย ขันธะชวนะ), ย.โย่ง ในความทรงจำ, พ.ศ.2541.
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายเอกชัย นพจินดา ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร 17 มีนาคม 2540.
ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร, ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จในชีวิตและผลงานของคุณเอกชัย นพจินดาในฐานะนักสื่อสารมวลชนด้านกีฬา. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2540