สืบ นาคะเสถียร: หัวหน้าสืบแห่งป่าห้วยขาแข้ง กับเจตนารมณ์การรักษาผืนป่าสู่คนรุ่นหลัง

สืบ นาคะเสถียร: หัวหน้าสืบแห่งป่าห้วยขาแข้ง กับเจตนารมณ์การรักษาผืนป่าสู่คนรุ่นหลัง

หัวหน้าสืบแห่งป่าห้วยขาแข้ง กับเจตนารมณ์การรักษาผืนป่าสู่คนรุ่นหลัง

เรื่องราวจบไปในคืนนั้น หลังจากมีเสียงดังปัง สนั่น ฉันขอจากไปด้วยมือฉัน แต่ใครเล่าจะรู้ความจริงของมัน วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ข้าราชการกรมป่าไม้ตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ข้าราชการคนดังกล่าวเป็นที่รู้จักในหมู่คนใกล้ชิดว่าเป็นคนเอาจริงเอาจังกับการทำงานถึงขั้นเคร่งเครียดกับทั้งหน้าที่รับผิดชอบในการอนุรักษ์สัตว์ป่า และอนุรักษ์ป่าไม้ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง ทั้งยังประสบกับแรงกดดันจากผู้มีอิทธิพล หรือแม้แต่กับชาวบ้านในเขตพื้นที่ที่ข้าราชการคนนั้นและลูกน้องรับผิดชอบ สถานการณ์ ณ เวลานั้นไม่เพียงไม่มีใครสนใจความสำคัญของป่าห้วยขาแข้ง แต่เป็นสถานการณ์ที่คนทำงานราชการในห้วยขาแข้งมีชีวิตราวกับแขวนบนเส้นด้าย คล้อยบ่ายจนหัวค่ำ ข้าราชการคนดังกล่าวพบปะพูดคุยกับลูกน้องอย่างเป็นกันเองเช่นเคย ก่อนโบกมือลากลับเข้าบ้านพักในช่วงดึก สถานการณ์ในป่าห้วยขาแข้งยามดึกเป็นปกติเหมือนเช่นทุกวัน ทั้งเสียงลมที่พัดผ่านแนวป่า เสียงสัตว์ป่าน้อยใหญ่ และรวมถึงเสียงปืนนัดหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นของพวกลักลอบล่าสัตว์ในช่วงย่ำรุ่ง เพียงแต่ว่าในวันนั้นเสียงปืนนัดนั้นไม่ได้เกิดจากปากกระบอกปืนของพวกลักลอบล่าสัตว์ แต่กว่าที่ทุกคนจะรู้ถึงที่มาของเสียงนั้น เวลาก็ล่วงมาถึงช่วงเที่ยงของวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 ข้าราชการกรมป่าไม้ตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้จากทุกคนไปตลอดกาล วันที่ 1 กันยายนกลายเป็นวันที่ทำให้สังคมไทยระลึกถึงกิจการด้านอนุรักษ์ป่าไม้และชีวิตสัตว์ป่าที่เปลี่ยนไป เพราะมันคือวันสุดท้ายในชีวิตของ ‘หัวหน้าสืบ’   หัวหน้าสืบ วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม 2492 ณ ตำบลท่างาม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ครอบครัวนาคะเสถียรได้ต้อนรับสมาชิกใหม่แก่ครอบครัว เด็กชายแดง หรือชื่อจริง สืบยศ เป็นบุตรชายคนแรกของครอบครัวข้าราชการกรมการปกครองที่มีพื้นเพมาจากชาวนา ชีวิตในวัยเด็กของสืบยศจึงเห็นทั้งพ่อที่ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้าน เห็นแม่ที่เป็นเกษตรกรที่ทำหน้าที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ‘ข้าราชการและท้องนา’ จึงเป็นสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนของสืบยศในวัยเยาว์ที่มุ่งมั่น ตั้งใจ จริงจัง มีแบบแผน แต่ก็เข้าถึงง่าย และเป็นที่รักของคนรอบข้างขึ้นมา ไม่มีบันทึกว่าสืบยศเปลี่ยนชื่อเหลือเพียง ‘สืบ’ ตั้งแต่วัยเยาว์หรือไม่ รู้เพียงว่าสืบเริ่มเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนประจำจังหวัดปราจีนบุรีจนจบชั้น ป. 4 จากนั้นได้ย้ายไปศึกษาต่อโรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนจบชั้น ม.ศ. 5 ด้วยผลการเรียนดีมาโดยตลอด สืบมีความสนใจศิลปะ และคาดหวังที่จะสอบเข้าเรียนด้านสถาปัตยกรรม แต่ใน พ.ศ. 2511 เขาสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นรุ่นที่ 35 สืบจบการศึกษาใน พ.ศ. 2514 และเข้าทำงานที่กองสวนสาธารณะของการเคหะแห่งชาติ จนถึง พ.ศ. 2517 สืบเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจบการศึกษาในปีต่อมา พ.ศ. 2518 สืบได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ เขาตัดสินใจเลือกหน่วยงานนี้ เพราะต้องการทำงานเกี่ยวกับสัตว์ป่ามากกว่างานที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ป่าไม้โดยตรง โดยต้องไปปฏิบัติราชการ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว - เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี แต่จากนั้นเพียง 2 ปี สืบได้รับทุนในระดับปริญญาโทจาก British Council ในสาขาวิชาอนุรักษวิทยา ณ มหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) ประเทศอังกฤษจนสำเร็จการศึกษาใน พ.ศ. 2524 จากนั้น สืบกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ ทำหน้าที่ฝึกอบรมพนักงานพิทักษ์ป่า จนกระทั่ง พ.ศ. 2526 สืบขอย้ายไปเป็นนักวิชาการประจำกองอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเป็นหลัก โครงการศึกษาผลกระทบสภาพแวดล้อม เพื่อพัฒนาพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษ ประจำภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่สำคัญ สืบเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สืบถ่ายทอดผลกระทบต่อป่าไม้และสัตว์ป่าว่า การอพยพสัตว์ป่าช่วยเหลือสัตว์ได้เพียงเล็กน้อย และถึงแม้จะมีสัตว์ป่าส่วนที่ถูกคืนสู่ธรรมชาติหลังโครงการ แต่ระบบนิเวศที่สัตว์ป่าเหล่านั้นเคยใช้ชีวิตอยู่ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พ.ศ. 2530 รัฐบาลมีโครงการจะสร้างเขื่อนน้ำโจน ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำแควใหญ่อันจะส่งผลให้มีน้ำท่วมป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 150,000 ไร่ สืบได้ถูกชักชวนให้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน ขบวนการที่เรียกได้ว่าเป็นการกลับมามีบทบาทของปัญญาชนอีกครั้ง ภายหลังการล่มสลายของขบวนการนักศึกษาใน ‘เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ’ สืบได้เข้าไปสำรวจป่าทุ่งใหญ่ฯ จนได้พบฝูงกระทิง 50 ตัว ถือได้ว่าเป็นกระทิงฝูงใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นในป่าประเทศไทย เขาจึงรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ จัดแสดงนิทรรศการและอภิปรายให้ความรู้แก่ผู้คนถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำโจน สืบเชื่อว่าเขาคือข้าราชการตัวน้อย ๆ ที่กำลัง ‘พูดในนามของสัตว์ป่าที่กำลังจะตาย’ จากน้ำมือของ ‘คนที่ไม่รู้เรื่องการจัดการด้านสัตว์ป่าเลย’ แม้คนคนนั้นจะมีตำแหน่งถึงอธิบดีกรมป่าไม้ก็ตาม จากรายงานเรื่อง ‘การประเมินผลงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน’ ของสืบ ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีมีมติระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจนในต้นปี 2531 “เราชนะแล้ว” คือคำประกาศชัยชนะของหัวหน้าสืบด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม   เขาช่วยตรงนี้ไว้ได้ทัน แต่ในเวลาเดียวกัน สัตว์ป่าล้มตาย...ในอีกฟากหนึ่ง ชื่อเสียงนักอนุรักษ์ของสืบเด่นชัดขึ้นหลังจากการร่วมต่อต้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน แต่คล้อยหลังเพียง 11 วัน คือในวันที่ 15 เมษายน 2531 กลับมีข่าวว่ากรมป่าไม้ อนุมัติให้บริษัทไม้อัดไทยเข้าทำไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นพื้นที่เกือบ 300,000 ไร่ สืบกับเพื่อนพ้องนักอนุรักษ์จึงจัดนิทรรศการ เวทีอภิปราย และทำประชามติในตัวเมืองจังหวัดอุทัยธานี เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของห้วยขาแข้งที่เป็นพื้นป่าที่สมบูรณ์ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังเป็นที่อยู่ของควายป่าที่มีแนวโน้มสูญพันธ์ุไปจากผืนป่าไทย สืบกล่าวว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้...ถ้าเรามีพื้นที่ป่าที่ดีที่สุดคือห้วยขาแข้ง แล้วเรายังไม่รักษา แม้แต่กรมป่าไม้เองก็ยังไม่สนใจรักษา ก็อย่าหวังว่าจะรักษาที่อื่นให้รอดได้” ช่วงเวลาเดียวกันนี้ สืบได้รับทุนเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่เขาเลือกเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผืนป่าขนาด 1 ล้าน 6 แสนไร่ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่าหายาก หัวหน้าสืบมีคณะทำงานคือหน่วยพิทักษ์ป่า 12 หน่วย ประกอบด้วย ข้าราชการ 12 คน เจ้าพนักงานพิทักษ์ป่า 30 คน และลูกจ้างชั่วคราว 120 คน หรือก็คือแต่ละหน่วยจะต้องรับผิดชอบพื้นที่ป่าถึงหน่วยละราว 100,000 ไร่ ด้วยงบประมาณไร่ละเพียง 80 สตางค์ต่อปี ค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวไม่เกินคนละ 1,500 บาทต่อเดือน ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีประกันชีวิต ไม่มีวิทยุสื่อสาร ไม่มีรถ มีเพียงข้าวสาร ปืนลูกซอง ตามไล่ล่านักล่าสัตว์ที่มีปืนเอ็ม 16 สืบมารับงานที่นี่ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ต้องไล่ล่าทั้งชาวบ้านที่ลักลอบล่าสัตว์ หรือนำทางนักล่าสัตว์ ที่มักเป็นกลุ่มทุนที่มีอิทธิพล และข้าราชการ สืบต้องขัดแย้งกับทั้งฝ่ายภาครัฐและฝ่ายประชาชนที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ผู้ต้องหาที่สืบจับได้มักเป็นชาวบ้านยากจนแต่ไม่เคยสามารถสาวถึงต้นตอได้ และหลายครั้งมันแลกมาด้วยชีวิตของลูกน้องของสืบ สืบพยายามขอความร่วมมือจากหน่วยราชการป่าสงวนรอบป่าห้วยขาแข้ง หรือแม้แต่กับกรมป่าไม้ แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุน มีเพียงเสียงรับคำลอย ๆ ว่า ‘ให้ทำโครงการ’ เสนอขึ้นมา แล้วทุกอย่างก็เงียบหายไป ช่วงกลางปี 2533 สืบถูกใส่ความว่าปล่อยให้มีการลักลอบตัดไม้ในป่าห้วยขาแข้ง เขาถูกเรียกตัวเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด่วน สืบชี้แจงว่าเป็นการตัดไม้นอกป่าห้วยขาแข้ง โดยมีผู้มีอิทธิพลหนุนหลัง แต่เขาถูกรัฐมนตรีต่อว่าอย่างหนักโดยไม่รับฟังสืบแม้แต่นิด สืบที่สิ้นหวังกับระบบราชการไทยจึงร่วมงานกับเพื่อนนักอนุรักษ์ เบลินดา สจ๊วต-ค็อกซ์ (Belinda Stewart-Cox) ผลักดันห้วยขาแข้งให้ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกร่วมกับป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยการขึ้นทะเบียนของยูเนสโก (UNESCO) ทุกเย็นหลังอาหาร สืบจะทุ่มเวลาเขียนรายงานทางวิชาการจนดึกดื่นแข่งกับเวลาอันน้อยลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นรายงานเรื่อง Nomination of The Thung Yai - Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary to be a U.N.E.S.C.O. World Heritage Site (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เพื่อเข้าร่วมเป็นมรดกโลกกับยูเนสโก) พร้อม ๆ กับจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นวิทยากรบรรยาย และร่วมอภิปรายในโอกาสและสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง ปลายปี 2534 ที่ประชุมพิจารณาคัดเลือกแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโกได้ประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   เมื่อคนชราต่างเล่าขาน ถึงตำนานชาติไทยในครั้งหนึ่ง เคยมีเขาอยู่ กับชุดราชการสีจางเก่า แว่นหนาพาดตา ลมหายใจสีเทา ปกปักผืนป่า...ตลอดมา หลังหัวหน้าสืบในวัย 40 ปีจากไปสองสัปดาห์ ข่าวครึกโครมของข้าราชการน้ำดีที่ถูกระบบราชการที่เน่าเฟะกดดันจนต้องสละชีวิตเพื่อยืนหยัดในจิตสำนึกของข้าราชการ ทำให้บรรดาข้าราชการน้อยใหญ่จากแทบทุกภาคส่วนนับร้อยคน ได้ร่วมกันมาประชุมปรึกษาหารือแนวทางการป้องกันการทำลายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้รับอนุญาตให้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 18 กันยายน 2533 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นกองทุนประเดิมต่อกองทุนของมูลนิธิฯ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้ประทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้อีกส่วนหนึ่ง ในช่วงแรก มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกำหนดขอบข่ายและทิศทางการทำงานไว้ 5 ประการคือ 1. การสนับสนุนการจัดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ตลอดจนผืนป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ 2. การปรับปรุงสวัสดิการเพื่อการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 3. งานรณรงค์ป้องกันรักษาผืนป่าอนุรักษ์และทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้การรณรงค์แนวความคิด ‘ไม่มีป่า ไม่มีน้ำ’ 4. งานประชาสัมพันธ์และปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขยายแนวร่วม และเผยแพร่งานอนุรักษ์ส่วนกว้าง 5. งานส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยสัตว์ป่า โดยจัดตั้งกองทุนสัตว์ป่าขึ้น นอกจากนั้นยังทำหน้าที่ช่วยเหลือกรมป่าไม้ โดยเฉพาะการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน ประสานงานให้ฝ่ายต่าง ๆ ร่วมกันตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกหกจังหวัด ปัจจุบันบทบาทของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรคือเป็นตัวกลางในการจัดการความขัดแย้งเรื่องคนกับป่า และส่งเสริมการช่วยกันทำงานอนุรักษ์ของฝ่ายราชการและชุมชน ปัจจุบันมูลนิธิสืบนาคะเสถียรผลักดันโมเดลการจัดการความขัดแย้งและการสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรมระหว่างเจ้าหน้าที่อนุรักษ์และชาวบ้าน โดยให้ความสำคัญต่อคุณค่าของวิถีชีวิตชุมชนและความสมดุลของระบบนิเวศ ความสิ้นหวังของสืบที่ทำให้เขาเคยกล่าวว่า “ผมกำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ผมไม่อาจจะคาดหวังจากใครได้อีกต่อไป” เมื่อเวลาผ่านถึงกาลปัจจุบันมันคงไม่เป็นจริงอีกต่อไปแล้ว แม้ปัญหาการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า และปัญหาของป่ากับคนจะยังไม่หมดสิ้นจากประเทศไทย แต่ 30 ปีที่ผ่านมา หลังการจากไปของเขา เรื่องราวของการอนุรักษ์ในประเทศไทยก็ยังถูกขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและจริงจังมากขึ้นเรื่อย ๆ และวันที่ 1 กันยายนของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงวัน(การ)จากไปของ สืบ นาคะเสถียร เรื่องราวของข้าราชการผู้ที่อาจไม่เพียงเป็นบทเรียนของกรมป่าไม้ แต่เป็นบทเรียนของระบบราชการไทยโดยรวม   เรื่อง: พิสิษฐิกุล แก้วงาม ภาพ: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร อ้างอิง: - เนื้อความในบทความนี้สรุปความจากบทความจำนวนมากที่เผยแพร่ในเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (https://www.seub.or.th/) - PPTVonline. (2560, 1 ก.ย.). ย้อนรำลึกวัน ‘สืบ นาคะเสถียร’ 27 ปีแห่งการจากไป. Retrieved  https://www.pptvhd36.com/news/.../63774. - ไททศมิตร. (2563). หัวหน้าสืบ. Retrieved  https://www.youtube.com/watch?v=NktbfV3NqCk. - ผู้จัดการออนไลน์. (2563, 17 ก.ค.). ห้วยขาแข้ง! บ้านหลังสุดท้ายของควายป่า. Retrieved https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9630000073496. - เพชร มโนปวิตร. (2563, 3 ก.ย.). คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าก็อยู่ได้. Retrieved https://ngthai.com/environment/30630/sueb-documentary-4/. - วันชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์. (2563, 1 ก.ย.). สืบ นาคะเสถียร ข้าราชการผู้ไม่ยอมก้มหัวให้กับความอยุติธรรม. Retrieved https://www.the101.world/seub-nakhasathien/.