08 ต.ค. 2562 | 17:19 น.
“พวกเรามาทำแอปเปลี่ยนโลกกันเถอะ” สตาร์ทอัพส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนซึ่งมี passion ความฝัน และความเชื่อบางอย่างร่วมกันเหมือนที่ ต้อง, โอม และ สุทธิ ชายหนุ่มสามคน ถูกแรงดึงดูดอะไรสักอย่างในโลกนี้ให้มากอดคอทำแอปพลิเคชันที่จะเปลี่ยนโลกร่วมกัน จนกลายเป็นแอป Inviter ให้คนไม่รู้จักกันที่ชอบอะไรเหมือนกันได้มาเจอกัน แต่ไม่มีเรื่องโรแมนติกเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้ารู้สึกว่าไอเดียนี้คุ้น ๆ ล่ะก็...ใช่แล้ว เพราะมันคือแนวคิดเดียวกับแอป Inviter ในหนังเรื่อง App War แอปชนแอป ภาพยนตร์ไทยที่ว่าด้วยวงการสตาร์ทอัพไทย ซึ่งได้ 'อรอุ๋ง' จาก BNK48 มาร่วมแสดงนั่นเอง แต่แอป Inviter ไม่ได้ลอกไอเดียจากในหนัง ตรงข้ามแนวคิดเริ่มต้นของแอปนี่แหละ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ “จริง ๆ ผมเป็นคนเขียนบทหนัง เลยลองเอาไอเดียแอป Inviter นี้ไปเสนอค่าย การที่คนแปลกหน้าที่ชอบอะไรเหมือนกัน แล้วนัดเจอกัน แต่ตกลงว่าจะเป็นแค่เพื่อนเท่านั้น ห้ามรักกัน มันแอบโรแมนติก เหมือนยิ่งห้ามไม่ให้รักกันเท่าไหร่ก็ยิ่งรักกัน พอได้พัฒนาเป็นบทหนัง ก็เอาประสบการณ์จริงมาเป็นคาแรคเตอร์ในหนัง ตอนแรกไม่ได้คาดหวังว่าจะโปรโมทแอป แค่อยากทำหนังให้ดีที่สุด แต่พอหนังออกฉายมีคนถามเยอะเลยว่าทำไมไม่มีคนทำแอปนี้ขึ้นมา เราเลยคิดกันว่าไอเดียแอปของเราน่าจะถึงเวลาที่ต้องลงมือทำขึ้นมาจริง ๆ แล้วล่ะ” สุทธิ-สุทธิพงศ์ พรรธนาลัย Cheif Creative Officer (CCO) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Inviter เล่าถึงแนวคิดที่มาของแอป Inviter ที่ออกมาหลังภาพยนตร์เรื่อง App War ลาโรงได้ไม่นาน ซี่งหนุ่มนักเขียนบทที่พ่วงตำแหน่งผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ ยังได้ย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของแอป Inviter ว่า มาจากการที่พวกเขาอยากให้คนในยุคโซเชียลได้รู้จักกันมากกว่าแค่เพียงในโลกออนไลน์เท่านั้น “จุดเริ่มต้นประมาณ 2-3 ปี มาแล้ว เราเห็นไอเดียจากคนอังกฤษไปบาร์ เขาไม่ต้องรู้จักกันเลย แค่เดินไปคุยก็เป็นเพื่อนกันได้ เราเลยกลับมาถามกันเองว่า เราไปเจอเพื่อนใหม่ครั้งสุดท้ายตอนไหนกัน ได้ลองไปเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ส่วนใหญ่จะตอบไม่ได้ มันยากมากสำหรับตอนโต ไม่เหมือนตอนเด็ก ๆ ที่เจอคนใหม่ ๆ สังคมใหม่ ๆ อยู่ตลอด แล้วมันตื่นเต้นสนุกดีนะ ยิ่งปัจจุบันที่ทุกคนดูเหมือนติดอยู่กับสมาร์ทโฟน ติดในโลกดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ คนรอบตัวหลายคนทะเลาะกับเพื่อนเพราะสื่อสารผ่านแชทโซเชียลผิดความหมาย หรือบางคนถึงกับเป็นซึมเศร้า เราเลยอยากทำให้เกิด social impact สักอย่าง เราอยากช่วยคนไม่ได้ตั้งต้นที่ธุรกิจพอทำแล้วเลยได้แนวคิดว่า จะทำโซเชียลมีเดียที่ทำให้คนเลิกเล่นโซเชียลมีเดีย แล้วออกไปเจอเพื่อนใหม่ โลกใหม่ ทำให้คนออกนอกจอบ้าง แต่ไม่ใช่เลิกใช้ไปเลย ขอแค่ดึงออกจากโซเชียลมีเดียสักหน่อย” นอกจากสุทธิแล้ว ผู้ร่วมก่อตั้ง Inviter ยังมีอีกสองคนคือ โอม-กิตติภูมิ ศุภมนตรี ที่รับหน้าที่ Cheif Strategy Officer (CSO) ซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่อังกฤษ และ ต้อง-อภิวัฒน์ เฟื่องฟู ซึ่งพ่วงตำแหน่ง CEO ของ Inviter ไปด้วย โดยต้องรู้จักโอมเพราะทำงานบริษัทเดียวกันมาก่อน ต่อมาโอมได้แนะนำให้ต้องรู้จักกับสุทธิ ที่เป็นเพื่อนสนิทที่มหาวิทยาลัย ซึ่ง CEO ของ Inviter ขยายความเพิ่มเติมว่า “ตอนหนังออก แอปเรายังเป็นแค่ตัวม็อกอัพที่คนไปโหลดมาเยอะมาก พอเรารู้ว่าคนชอบมัน ก็ไปเสนอนายทุนจนได้เงินมาพัฒนา หลังเปิดตัวมาประมาณช่วงต้นปี 2562 มีผู้ใช้งานต่อเดือนประมาณ 35,000 ราย มีกิจกรรมใหม่ที่มีคนสร้างเรื่อย ๆ 250 กิจกรรมต่อเดือน เราเป็นเหมือน Tinder สำหรับหาคนทำกิจกรรมมากกว่าจะหาคู่ แต่ก็เห็นมีคนตั้งกิจกรรมหาเพื่อนเพศตรงข้ามไปดูหนังและระบุอายุเหมือนกันนะ แต่เราก็ไม่ได้ตามไปดูว่าเป็นยังไง (หัวเราะ) จริง ๆ แอปเราใช้หาคู่ มันเป็นการเริ่มด้วยกิจกรรมเรียนรู้กันก่อน แล้วค่อยพัฒนากันต่อไปเอง” กิจกรรมที่ผู้ใช้งานแอป Inviter สร้างขึ้นเพื่อคัดกรองให้ผู้คนมากมายในสังคมที่หลากหลายได้มาเจอคนที่มีรสนิยมเดียวกัน มีทั้งกิจกรรมหัดเล่นลองบอร์ด ไปดำน้ำ เล่นกระดานโต้คลื่น ปีนเขา เล่นบอร์ดเกม ฟังเพลง ชมคอนเสิร์ต แต่ที่ผู้ก่อตั้งทั้งสองคนบอกว่าเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายคือ การจับกลุ่มกันไปเที่ยวต่างประเทศ “เคสแรกน่าจะเป็นไปเที่ยวญี่ปุ่น เราแทบไม่คิดเลยว่าจะมีทริปไปต่างประเทศ ถึงแม้ไอเดียของแอปส่วนหนึ่งมาจากตอนประชุมกัน แล้วผมบ่นขึ้นมาลอย ๆ ว่า ‘จะไปเที่ยวญี่ปุ่นว่ะ แต่พวกมึงไม่ไปด้วย ถ้ามีเพื่อนไปด้วยคงจะดีเนอะ’ พอทำแอปมาแล้วไม่คิดว่าจะมีคนบ้าพอไปกันจริง ๆ แต่สุดท้ายกลับเป็นหนึ่งหมวดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด” ต้อง เสริมขึ้นมาด้วยว่า “เขาจะเขียนรายละเอียดว่าแชร์คนละเท่านี้นะ เดี๋ยวออกค่ารถไปสนามบินให้ ค่าตั๋วออกเอง อีกคนก็หาโปรมาให้ ตอนแรกเราไม่เชื่อว่าเขาจะไปกันจริง ๆ จนเราต้องไปดูว่าจริงไหม เลยหาทางติดต่อไปจนรู้ว่าไปกันจริง ๆ เขาบอกว่ามันรู้สึกแปลกและตื่นเต้นดี เพราะไม่มีทางรู้เลยว่าใครมีความสามารถพิเศษอะไร บางคนถ่ายรูปได้ บางคนหาร้านอาหารอร่อย ๆ เก่ง หมวดนี้เลยได้รับการตอบรับดี คนสร้างกิจกรรมหาเพื่อนไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ” นอกจากกิจกรรมไปเที่ยวต่างประเทศ เนื่องจากผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มี passion สูง บางกิจกรรมเลยชวนไปปีนเขาที่เนปาล ตั้งกลุ่ม trekking รอบเทือกเขาหิมาลัย ไปจนถึงฝ่าความหนาวที่ขั้วโลก ซึ่งแต่ละกิจกรรมเป็นกิจกรรมเฉพาะทางที่แอป Inviter ดึงดูดกลุ่มคนที่มีใจรักในสิ่งเดียวกันให้มาเจอกันได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งคู่ให้ข้อมูลว่า ตอนแรกคาดการณ์ผู้ใช้งานจะกระจุกตัวในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แต่กิจกรรมกลับหนาแน่นในช่วงเย็นวันธรรมดา ซึ่งน่าจะเป็นเพราะวันหยุดสุดสัปดาห์คนให้เวลากับครอบครัว ส่วนวันธรรมดาหลังเวลาทำงานหรือเลิกเรียน เป็นช่วงเวลาสำหรับการเติมเต็มสังคมและความต้องการของผู้ใช้งานจริง ๆ ที่อาจหาไม่ได้จากกลุ่มคนรอบตัว ทำให้วันธรรมดาแอป Inviter มีทราฟฟิกที่ค่อนข้างสูง แอป Inviter เป็นแอปที่เปิดให้ใช้บริการฟรี ๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งโมเดลธุรกิจของแอปนี้อยู่ที่การจับคู่ให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้งานที่มี passion สอดคล้องได้มาเจอกันแล้วมีโอกาสเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ร่วมกัน เป็นโมเดลที่ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์ “ตอนนี้เรายังห่างไกลความสำเร็จ แม้ธุรกิจเรายังอยู่ในกลุ่มสตาร์ทอัพอีก 90 เปอร์เซ็นต์ที่ยังเสี่ยงอยู่ แต่เราก็อยากอยู่ตรงนี้ เพราะจะได้เรียนรู้และพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เทคโนโลยีถ้าเราหยุดหรือแค่ช้า อาจหมายถึงตาย เราเป็น underdog หน้าใหม่ ที่อยากไปข้างหน้า เลยต้องหาโอกาสตลอดเวลา เสี่ยงด้วยวิธีการที่ไม่มีใครเคยใช้มาก่อน” ผู้ใช้งานแอป Inviter ต่อเดือนที่มีราว 35,000 ราย อาจช่วยยืนยันว่าสิ่งที่สุทธิคิดไว้กำลังมาถูกทาง เพราะตอนแรกพวกเขาคิดกันไว้เพียงแค่ผู้ใช้งานหลักพัน สิ่งที่เหนือความคาดหมายนี้ ช่วยให้ผู้ก่อตั้งรู้สึกดีที่เป็นสะพานดิจิทัลเชื่อมโลกให้คนหลายหมื่นคนได้มารู้จักกันอย่างกิจกรรมหัดเล่นลองบอร์ด ที่มี hoster หรือคนสร้างกิจกรรม ขึ้นมาแทบทุกเดือน และทุกครั้งก็มีคนสนใจเข้าร่วมเต็มทุกครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใช้งานหน้าใหม่ ๆ ซึ่งมีความสนใจกิจกรรมนี้มาก่อน แต่ไม่มีโอกาสได้ลองเล่นจริง ๆ จนกระทั่งได้มาลองใช้แอป Inviter “ลองบอร์ดนี้มีแทบทุกเดือน เต็มตลอดเต็มไวมาก คนติดตามเยอะ เพราะ hoster เขามี passion จริง ๆ คนที่มาร่วมบางคนทำขนมมาแบ่งกัน บางคนซื้อน้ำมาแจก จนเราแปลกใจว่าพวกเขาไม่รู้จักกันมาก่อนจริง ๆ เหรอ ส่วนฝั่ง joiner มีบอกว่าใช้แล้วชีวิตดีขึ้น เวลาไปคอนเสิร์ตคนเดียวไม่เบื่อแล้ว แถมการได้เจอคนใหม่ยังได้เปลี่ยนมุมมองเหมือนกัน คนที่ชอบอะไรเหมือนกัน แต่มุมมองต่างกัน ช่วยเปิดโลกเขาได้เยอะมากขึ้น” ตอนแรกทางผู้ก่อตั้งกังวลเรื่องวัฒนธรรมคนเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่การเจอคนแปลกหน้าใหม่ ๆ เป็นเรื่องประหลาดและดูอันตราย จนอาจทำให้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่กลัวแล้วไม่มีใครยอมมาเจอกันจริง ๆ หรือเจอแล้วเกร็ง แต่ปรากฏในความเป็นจริง ทั้งคู่กลับแปลกใจที่เห็นว่าพอคนที่มีความชอบเหมือนกันได้อยู่ใกล้กัน ใช้เวลาไม่นานเกินสิบนาที เหมือนต่างมีแรงดึงดูดกันเสมอ “กลายเป็นว่าส่วนใหญ่กล้าคุยกัน การเจอคนใหม่ที่ชอบอะไรเหมือนกันมันไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอย่างที่คิด มันกลายเป็นสังคมที่เปลี่ยนความคิดเราเหมือนกันว่า จริง ๆ คนเราเหนียมอายเพราะว่ารู้สึกว่าเราแตกต่างจากคนอื่น แต่เราจะไม่มีความรู้สึกนั้นถ้าเรามีความชอบเหมือนกัน รักในสิ่งเดียวกัน ซึ่งตรงนี้เราได้เสียงจากคนใช้ว่าแปลกใจกับสิ่งนี้เหมือนกัน” แน่นอนว่าการเป็นสังคมให้คนแปลกหน้าได้มาเจอกัน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งสุทธิได้ให้ความมั่นใจว่าแอป Inviter ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ใช้งานเป็นอันดับต้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบ AI และคนจริง ๆ ในการตรวจสอบกิจกรรมที่มีคนส่งเข้ามาว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ไม่สนับสนุน อย่างเรื่อง เพศ การเมือง และความรุนแรง แล้วค่อยอนุมัติให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ “เราพยายามขยายสังคมในแอปเราอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ สร้างวัฒนธรรมของแอป เพื่อให้อยู่กันแบบมีคุณภาพมากกว่าปริมาณ เช่นเรื่องการนัดหมายแล้วยกเลิก การตรงต่อเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกัน แต่แอปให้ความสำคัญ แอปเราเลยพยายามทำระบบเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะ ทำอย่างไรให้คนซีเรียสกับเรื่องนี้จริง ๆ เราอยากให้ผู้ใช้งานให้สัญญาว่าจะไปจริง ๆ ให้เกียรติคนอื่น ๆ ด้วย เราแก้หลายวิธี ตั้งแต่การแบน แต่สุดท้ายเราใช้วิธีให้ความรู้ สร้างความเชื่อใจกัน สร้างข้อตกลงร่วมกัน จนตอนนี้เหลือคนที่ไม่ไปน้อยมาก” ในอนาคตก่อนสวมหมวกนักบินอวกาศบินไปเจอโลกใหม่ ๆ ทางแอป Inviter ได้ประกาศกฎการเยือนดินแดนใหม่ไว้อย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ใช้งานใหม่ได้ศึกษา ทั้งการที่ hoster สามารถตรวจสอบประวัติย้อนหลังของผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ ระบบเตะออกจากกิจกรรม ระบบการให้รางวัลต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่น่าเชื่อว่าทางผู้ก่อตั้งทั้งสามคนต่างเป็นสตาร์ทอัพไม่ได้มาจากสายไอที “พวกเราไม่ได้มาจากสายไอที ซึ่งสตาร์ทอัพส่วนใหญ่จากมาจากสายโปรแกรมเมอร์ ตอนแรกที่เราจะเข้าวงการมีกำแพงใหญ่มาก เราไม่รู้จักใครเลย ตอนที่เริ่มทำแอป ความรู้ด้านสตาร์ทอัพก็ยังน้อย เราไม่รู้จะไปถามใคร เข้าหาก็ไม่ง่าย เราเลยคลำกันเองแล้วมาแชร์กัน กว่าจะรวมทีมกันได้ก็ใช้เวลา ต้องหาคนที่คุยกับเรารู้เรื่อง เพราะเราก็ไม่ได้คุยภาษาไอทีจ๋า ช่วงแรกลำบากหน่อย ต้องหาโปรแกรมเมอร์เก่ง ๆ ที่ใช่มาปรับแนวคิดให้ตรงกัน” และด้วยความที่ทั้งสามคนไม่ได้มาจากสายเทคโนโลยีโดยตรงนี่แหละ เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้ก่อตั้งแอป Inviter ปฏิเสธระบบการเติบโตแบบสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ ที่จะเดินสายประกวดแล้วเข้าอบรมบ่มเพาะจากนักลงทุน เพื่อเร่งอัตราการเติบโตของบริษัทให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลายเท่าตัวในเวลาอันสั้น “เราเชื่อว่าการเป็นสตาร์ทอัพไม่จำเป็นต้องทุบหม้อข้าว ต้องลาออกจากงานเดิม มันมีคนที่ทำสตาร์ทอัพพร้อมกับสิ่งอื่น ๆ ที่เราชอบไปด้วยได้ แต่การที่ไม่ได้ทำสตาร์ทอัพอย่างเดียว ไม่ได้หมายถึงเราไม่ได้ทุ่มเทนะ เราทำงานกันทั้งวัน เราเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการวางแผนแล้วรู้ตัวเองว่าเราต้องทำงานอะไร ไม่มีใครบังคับใคร เราต้องรู้ว่าทำอะไรให้เสร็จตอนไหน” สุทธิ ซึ่งทำงานด้านเขียนบทภาพยนตร์ ไปพร้อม ๆ กับดูแล Inviter บอกว่า พวกเขาเชื่อในการแบ่งเวลาทำงานที่ชอบและงานที่รัก โดยไม่ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ทำสตาร์ทอัพจะต้องเลือกทุ่มเทเวลาให้กับบริษัทสตาร์ทอัพเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะหากนักลงทุนที่เป็นคนออกเงินทุนส่วนใหญ่ต้องการเช่นนั้น “พวกเราเชื่อว่าแบ่งงาน จัดสรรเวลาได้ เรามีภาระงานอย่างอื่นอย่างครอบครัวด้วย แต่นี่เป็นความฝันที่เราอยากทำเหมือนกัน เราต้องบริหารจัดการความฝันกับชีวิตจริงของเราอย่างไร เราอาจจะทุ่มให้กับความฝัน 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แต่ว่าไม่ได้หมายความว่าเราทำตามความฝันของเราไม่ได้ จริงๆ เราเป็นคนดื้อมากที่จะพยายามพิสูจน์ว่าวิธีนี้มันเป็นไปได้ ไม่ต้องออกจากงานก็ทำได้ โชคดีได้นักลงทุนที่ยอมรับในการทำงานแบบของเรา” จริง ๆ แล้ว ผู้ก่อตั้ง Inviter ทั้ง ต้อง-อภิวัฒน์ เฟื่องฟู, โอม กิตติภูมิ ศุภมนตรี และ สุทธิ-สุทธิพงศ์ พรรธนาลัย ต่างก็มีอาชีพที่มั่นคงอยู่ใน comfort zone ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขายอมท้าทายความมั่นคงเพื่อเสี่ยงกับการทำสตาร์ทอัพที่พวกเขาไม่มีความรู้ และประสบการณ์แทบจะเป็นศูนย์ ล้มลุกคลุกคลานจนมาถึงจุดที่แอป Inviter ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งาน อาจมาจากสิ่งเหมือนกันที่ดึงดูดให้ทั้งสามคนได้มาเจอกัน นั่นคือ “พวกเราอยากทำอะไรสักอย่างให้กับประเทศ อยากเปลี่ยนโลก แล้วอยากช่วยคนจริง ๆ พอไอเดียมันเข้ากันได้ เลยมาทำด้วยกัน”