18 ธ.ค. 2562 | 18:22 น.
ชิโอริ อิโตะ หญิงสาวชาวญี่ปุ่น ชูป้ายต่อหน้าสื่อและศาลมีความหมายว่า "ชนะคดี" มันไม่ได้หมายความเฉพาะการที่ผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมาสู้คดีการถูกคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในปี 2015 แล้วชนะคดี แล้วศาลตัดสินให้เธอได้รับเงินชดเชย 3.3 ล้านเยน แต่มันหมายถึงชัยชนะของการเน้นย้ำความสำคัญของสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ ในสังคมอนุรักษนิยมทางเพศที่ถือว่าชายเป็นใหญ่อย่างสังคมญี่ปุ่นได้อย่างทรงพลังอีกครั้งหนึ่ง "ตั้งแต่ฉันตื่นมาในเช้านี้ ฉันได้รับข้อความมากมายจากผู้คนทั่วโลก พวกเขาบอกว่าจะอยู่ข้างฉันไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่ฉันทำมันมีความหมาย" นี่คือสิ่งที่ ชิโอริ อิโตะ บอกกับทุกคน มันมีความหมายอย่างไร ต้องย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นการต่อสู้ของ ชิโอริ อิโตะ ในปี 2017 ปี 2017 ฝั่งอเมริกามีประเด็นร้อนแรงเรื่องนักแสดงฮอลลีวูดมากมาย ทั้ง Gwyneth Paltrow และ Angelina Jolie ออกมาเปิดโปงว่าถูกผู้มีอิทธิพลในวงการภาพยนตร์อย่าง Harvey Weinstein ข่มขืนหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศจนกลายเป็นข่าวใหญ่โต จนเกิดแฮชแท็ก #metoo (แคมเปญประณามการทำร้ายและคุกคามทางเพศ) แชร์กันทั่วโลก เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวแค่ไหน ช่วงปีเดียวกันนั้นเอง ที่ญี่ปุ่นก็เกิดเหตุการณ์ที่นักข่าวสาวอิสระ ชิโอริ อิโตะ ออกแถลงข่าวว่าถูกอดีตผู้สื่อข่าว TBS ประจำ Washington DC ข่มขืน แต่กลับพบกับความไม่เป็นธรรมทั้งจากตำรวจ อัยการ รวมไปถึงศาล หลังจากที่เธอต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมมาตลอดสองปี แต่ความไม่ยุติธรรมที่เธอได้รับจากกระบวนการยุติธรรมนั้น ทำให้เธอตัดสินใจแถลงข่าวด้วยชื่อจริง (ตอนแรกปิดนามสกุลไว้ เนื่องจากเธอไม่ต้องการให้ข่าวนี้กระทบไปถึงครอบครัว) และเปิดเผยใบหน้าที่แท้จริง! การออกมาแถลงข่าวพร้อมทั้งแสดงตัว เปิดเผยทั้งใบหน้าและชื่อจริงในคดีล่วงละเมิดทางเพศ (และที่หนักกว่าคือเป็นคดีข่มขืน) แบบนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสังคมรักษาหน้าตาและชื่อเสียงเหนือสิ่งอื่นใด ยิ่งชิโอริซังตัดสินใจออกมาแถลงข่าวแทนที่จะจำใจอยู่แบบเงียบ ๆ แบบเหยื่อรายอื่น ๆ ก็ยิ่งเจอกระแสโต้กลับไปมาอย่างหนักในสังคม ทั้งที่เธอเป็นผู้เสียหาย กระแสสังคมมีทั้งส่วนที่ชื่นชมที่เธอกล้าออกมาแสดงตัว ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อผู้เสียหายรายอื่นที่ได้แต่ก้มหน้ารับกรรมแล้วได้แต่หวังว่ามันจะผ่านไป ในทางกลับกันก็มีไม่น้อยที่กล่าวหาเธอด้วยอคติทางเพศแบบเดิม ๆ ว่าเธอยั่วผู้ชายเอง ผิดเองที่ไปกินเหล้ากับเขาสองต่อสอง บ้างก็ว่าสมยอม บางกระแสก็บอกว่าเธอต้องการแบล็คเมลผู้ชายซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โต บ้างก็ว่าเธอทำตัวไม่เห็นเหมือนผู้เสียหาย ทำไมถึงไม่ตีหน้าเศร้าแล้วร้องไห้บ้าง คนจะได้สงสารเธอบ้าง หนักกว่านั้นก็มีคนไปขุดคุ้ยว่าเธอเคยถ่ายแบบเซ็กซี่ (แต่สุดท้ายก็เป็นคนอื่นที่หน้าคล้ายเฉย ๆ) กระแสสื่อออนไลน์ยังเคยวิจารณ์เลยเถิดไปว่าเป็นเพราะเธอสวยเกินไป (!?) ไปจนถึงว่าเธอถูกจ้างจากพรรคการเมืองหนึ่งเพื่อหวังผลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (!?) แต่ประเด็นสำคัญที่สุดในช่วงเวลานั้น ที่เธอประสบทั้งจากขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม และหลังจากที่เธอออกมาเปิดเผยตัวต่อสื่อแล้ว นั่นคือ คนทั่วไปยังมองว่าผู้เสียหายเองก็มีส่วนผิดที่ถูกข่มขืนเหมือนกัน ซึ่งก็ไม่แปลกใจเลย ในสังคมญี่ปุ่น รวมไปถึงสังคมบ้านเรา หรือแม้แต่สังคมตะวันตกยังมีวัฒนธรรม victim blaming อยู่เยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศ ในกระบวนการยุติธรรม ชิโอริ อิโตะ ผ่านอะไรมาไม่น้อย หลังจากเธอบอกว่าถูกข่มขืน เธอได้เข้าแจ้งความ แต่กลับถูกตำรวจที่รับเรื่องรวมทั้งอัยการบอกว่า คดีแบบนี้มีบ่อย แต่หาหลักฐานไม่ค่อยได้ ให้ทำใจเสียดีกว่า เมื่อเธอตัดสินใจสู้ต่อจนถึงขั้นที่ตำรวจออกหมายจับ มีการวางแผนว่าจะจับกุมอดีตผู้สื่อข่าว TBS รายนั้นขณะเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น แต่สุดท้ายกลับถูก “เบื้องบน” เบรก ทำให้การถูกจับกุมเลื่อนออกไป รวมทั้งการที่ผู้ถูกกล่าวหามีอิทธิพลในวงการข่าว จึงใช้ช่องทางต่าง ๆ กีดกันไม่ให้ชิโอริซังดำเนินคดีได้ จนสุดท้ายศาลมีคำสั่งไม่สั่งฟ้องเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ เธอจึงฟ้องศาลแพ่งแทน สิ่งที่พบเจอ ทำให้ ชิโอริ อิโตะ ตัดสินใจเขียนเล่าเรื่องราวทั้งหมดไว้ในหนังสือชื่อ Black Box ที่มาของหนังสือเกิดจากตอนที่เธอไปแจ้งตำรวจและตัดสินใจฟ้องร้อง แล้วทั้งตำรวจและอัยการบอกว่าเคสของเธอมันคือ Black Box เป็นเรื่องที่เกิดในห้องปิดที่มีคนรู้กันแค่สองคนและขาดหลักฐาน จึงไม่น่าจะดำเนินคดีได้ แล้วก็เป็นไปตามที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องบอกจริง ๆ คำร้องของเธอถูกปัดตก จากโจทก์กลับตกเป็นจำเลย ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายฐานทำให้เสียชื่อเสียงซะเอง ในญี่ปุ่นช่วงเวลานั้น ชิโอริ อิโตะ จึงเป็นผู้จุดกระแส (ในญี่ปุ่น) #Metoo และส่งเมสเสจไปหาผู้หญิงญี่ปุ่นที่ตกเป็นเหยื่อทางเพศว่า มันโอเคที่จะสู้ มันโอเคที่จะยืดอกปกป้องสิทธิของตัวเอง ไม่มีอะไรต้องอาย และคนที่ควรจะถูกสังคมประณามคือผู้ที่ใช้ความรุนแรงทางเพศ ไม่ใช่เหยื่อ เธอบอกในหนังสือว่า "ฉันไม่ใช่ผู้เสียหาย A ฉันชื่อ ชิโอริ อิโตะ" เพื่อสื่อว่าเธอไม่ต้องการเป็นเหยื่อที่น่าสงสารเก็บความอับอายที่ถูกกระทำไว้คนเดียว แต่เธอเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของตัวเอง ผลที่ออกมาในปัจจุบัน คงจะสะท้อนให้เห็นว่า ป้าย “ชนะคดี” ที่เธอชูอยู่นั้น มีความหมายไปไกลมากกว่าการชนะคดี แต่มันคือชัยชนะที่มีต่ออคติทางเพศในสังคม ที่มา http://www.huffingtonpost.jp/2017/10/16/black-box-shiori-ito_a_23244676/ https://www.japantimes.co.jp/news/2019/12/18/national/crime-legal/japan-journalist-shiori-ito-wins-rape-case/?fbclid=IwAR29BZip2HjVeKDZu4pGR4uyxqByDV0TnMSP2r4nhquDF94n1W1kDwzaXrs#.Xfn2lUczY2w . เรื่อง: วีรยา เจนจิตติกุล