คริสติน่า ซานเซส ผู้พิชิตสังเวียนกระทิงและทลายกำแพงทางเพศ

คริสติน่า ซานเซส ผู้พิชิตสังเวียนกระทิงและทลายกำแพงทางเพศ

คริสติน่า ซานเซส (Cristina Sánchez) มาทาดอร์หญิงคนแรกของสเปนที่ฝ่าฟันอคติทางเพศ พิสูจน์ว่าผู้หญิงก็ยืนหยัดในสังเวียนวัวกระทิงได้อย่างสง่างาม กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงและความเท่าเทียม

KEY

POINTS

  • คริสติน่า ซานเซส เป็นมาทาดอร์หญิงคนแรกของสเปนที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ
  • เธอต้องฝ่าฟันอคติทางเพศอย่างรุนแรง แม้กระทั่งจากครอบครัวตัวเอง และมาทาดอร์ชายบางคนถึงกับปฏิเสธที่จะร่วมแสดงในงานเดียวกับเธอ
  • แม้เธอจะเกษียณตัวเองในวัยเพียง 27 ปี แต่การบุกเบิกของเธอได้สร้างแรงบันดาลใจและเปิดทางให้ผู้หญิงคนอื่น ๆ 

ในโลกของการต่อสู้วัวกระทิงที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนาน หลายคนคงมีภาพจำเป็นชายผู้หาญกล้ากวัดแกว่งผ้าสีแดงล่อวัวกระทิง น้อยคนนักที่จะนึกถึงภาพของผู้หญิงที่กำลังทำหน้าที่นี้

แต่ในโลกของมาทาดอร์ที่มีผู้ชายเป็นหลัก มีหญิงแกร่งคนหนึ่งที่กล้าท้าทายขนบเดิม ๆ และฝ่าฟันอุปสรรคมากมายเพื่อพิสูจน์ว่าผู้หญิงก็สามารถยืนหยัดในสนามสู้วัวกระทิงได้อย่างสง่างาม 

เธอคนนั้นคือ ‘คริสติน่า ซานเซส เด ปาบลอส’ (Cristina Sánchez de Pablos) หญิงชาวสเปนที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการให้เป็น ‘มาทาดอร์ เด โทรอส’ (Matador de Toros) หรือมาทาดอร์ระดับสูงในประเทศสเปน

เธอไม่เพียงแต่เผชิญหน้ากับวัวกระทิงอันดุดัน แต่ยังต้องต่อสู้กับอคติทางเพศที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งการตัดสินใจที่จะเข้าสู่อาชีพนี้ไม่ใช่เพียงแค่ความฝันส่วนตัวของเธอ แต่ยังเป็นการเปิดประตูให้กับผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่ต้องการก้าวเข้าสู่วงการที่เคยถูกสงวนให้เป็นดินแดนของผู้ชายเท่านั้น

คริสติน่า ซานเซส ผู้พิชิตสังเวียนกระทิงและทลายกำแพงทางเพศ

เส้นทางสู่สังเวียนวัวกระทิง

คริสติน่า ซานเซส เกิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1972 ในเมืองบิยาเบร์เด กรุงมาดริด ประเทศสเปน เธอเติบโตท่ามกลางกลิ่นอายของศิลปะการสู้วัวกระทิง เนื่องจากพ่อของเธอเป็นบันเดริเญอโร (Banderillero) หรือผู้ช่วยของมาทาดอร์ที่มีหน้าที่ปักธงสีสันสดใสลงบนหลังของวัวกระทิง เพื่อทำให้วัวโมโหและมีพลังในการลงสนามเพื่อต่อกรกับเหล่ามนษย์ผู้กล้าหาญมากขึ้น

การได้เห็นการต่อสู้วัวกระทิงจึงเป็นเรื่องปกติในชีวิตของเธอตั้งแต่อายุยังน้อย แม้จะไม่ค่อยเห็นเด็กผู้หญิงคนอื่นในสนามก็ตาม 

นั่นทำให้แทนที่เธอจะฝันถึงการเป็นครู พยาบาล หรืออาชีพที่สังคมคาดหวังสำหรับผู้หญิง เธอกลับหลงใหลในโลกของการต่อสู้วัวกระทิงและแน่วแน่ที่จะก้าวเข้าสู่เส้นทางนี้ 

ก่อนจะก้าวเข้าสู่อาชีพมาทาดอร์ คริสติน่าเคยทำงานในร้านเสริมสวยและโรงงานผลิตเครื่องดับเพลิง แต่งานเหล่านี้ทำให้เธอรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะเธอชอบงานที่ต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นงานที่ผู้ชายทำ

คริสติน่า ซานเซส ผู้พิชิตสังเวียนกระทิงและทลายกำแพงทางเพศ

คริสติน่าเริ่มต้นอาชีพนี้ท่ามกลางสายตาแห่งอคติ เนื่องจากวงการต่อสู้วัวกระทิงในสเปนและหลายประเทศทั่วโลกถือว่าเป็นงานของผู้ชาย แม้แต่คนในครอบครัวของเธอเองก็ยังไม่เห็นด้วยกับการที่เธอเลือกเส้นทางนี้

พ่อของเธอเห็นว่ามาทาดอร์เป็นอาชีพที่ยากลำบากแม้แต่สำหรับผู้ชาย จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับผู้หญิง แต่เธอก็ยังคงมุ่งมั่นฝึกฝนอย่างหนักด้วยความหวังว่าในวันหนึ่งเธอจะสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้หญิงก็สามารถเป็นมาทาดอร์ได้ 

เส้นทางสู่การเป็นมาทาดอร์เริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อเธออายุ 15 ปี เธอเข้าร่วมโรงเรียนสอนการต่อสู้วัวกระทิงแห่งเดียวในกรุงมาดริด (Escuela de Tauromaquia)

แม้ว่าเธอจะเป็นผู้หญิงเพียงไม่กี่คนในโรงเรียน แต่เธอแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความสามารถที่โดดเด่น ซึ่งทำให้ครูผู้สอนและเพื่อนร่วมชั้นต้องยอมรับในความสามารถของเธอ

จากนักฝึกหัดสู่มืออาชีพ

เส้นทางสู่การเป็นมาทาดอร์ที่ประสบความสำเร็จของคริสติน่านั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทาย เธอต้องเผชิญกับการต่อต้านและอคติจากทั้งผู้ชมและผู้มีอำนาจในวงการ หลายคนมองว่าผู้หญิงไม่ควรเข้ามาในโลกที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงและความรุนแรงเช่นนี้ บางครั้งเธอถูกปฏิเสธโอกาสในการแสดงเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง

เธอปรากฏตัวครั้งแรกที่ประเทศเอกวาดอร์ในการต่อสู้วัวที่ใช้วัวอายุน้อยที่เรียกว่า ‘โนวิยาดา’ (Novillada) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 1992 โดยมีปิกาดอร์ (Picador) หรือคนที่ขี่ม้าและถือหอกเพื่อแทงที่หัวของวัวเพื่อทำให้วัวอ่อนแอลงในระยะแรกของการแข่งขัน ร่วมขึ้นเวทีด้วย หลังจากที่เธอสู้วัวแบบไม่มีปิกาดอร์มาแล้ว 129 ครั้ง

ต่อมาเธอเริ่มปรากฏตัวในสนามสู้วัวของโคลอมเบีย และในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1993 เธอได้เข้าร่วมการแข่งขันที่เมืองวาลเดโมริโย ประเทศสเปน ในการต่อสู้วัวกระทิงแบบผสม (Corrida Mixta) ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างนักสู้วัวระดับโนวิเยโรและมาทาดอร์ในเวทีเดียวกัน โดยมี ลุยส์ เซเซนญา (Luis Seseña) และ ฟรานซิสโก ฮาเวียร์ มาร์ตีเนซ ปากีโร (Francisco Javier Martínez Paquiro) ร่วมแข่งขันโดยใช้วัวจากฟาร์ม เฟร์นันโด เปญา (Fernando Peña)

คริสติน่า ซานเซส ผู้พิชิตสังเวียนกระทิงและทลายกำแพงทางเพศ

วันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1995 เธอปรากฏตัวที่ มาดริดเพื่อต่อสู้กับวัวจากฟาร์ม คาร์เมน ลอเรนโซ ผลงานอันยอดเยี่ยมในมาดริดทำให้เธอได้กลับมาที่สนามนี้อีกครั้ง และได้รับโอกาสแสดงในเมืองใหญ่อื่น ๆ เช่น เซบียา และ เม็กซิโกซิตี้

ในปี 1996 คริสติน่าได้สู้วัวในโนวิยาดาทั้งหมด 21 ครั้งในสเปน

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของคริสติน่าเกิดขึ้นในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1996 เธอได้รับการแต่งตั้งในพิธี ‘อัลเทอร์เนทิวา’ (La Alternativa) ให้เป็น ‘มาทาดอร์ เด โทรอส’ อย่างเต็มตัวในงานเฟเรีย เด ซาน อิสิโดร (Feria de San Isidro) ที่เมืองนิเมส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีมาทาดอร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง คุร์โร โรเมโร (Curro Romero) เป็นผู้มอบ เธอได้สู้กับวัวกระทิงชื่อ ‘โปคาบาร์บา’ (Pocabarba) จากฟาร์มอัลคูรุเซน (Alcurrucén)

หลังจากได้รับอัลเทอร์เนทิวาแล้ว คริสติน่าสามารถเข้าร่วมการสู้วัวกระทิงแบบเต็มรูปแบบ (Corrida de Toros) และเผชิญหน้ากับวัวตัวเต็มวัยแทนที่จะเป็นวัวหนุ่มอย่างในโนวิยาดา

ฤดูกาลปี 1996 ถือเป็นปีทองของเธอ โดยเธอสามารถสู้วัวได้มากกว่า 60 ครั้ง และได้รับรางวัลตัดหูวัวมากกว่า 100 ข้าง ซึ่งเป็นเครื่องหมายของความสำเร็จในวงการสู้วัวกระทิง

การได้รับตำแหน่งนี้ทำให้คริสติน่ากลายเป็นผู้หญิงคนแรกในยุโรปที่สามารถผ่านพิธีอัลเทอร์เนทิวาได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ ไม่เพียงแค่สำหรับตัวเธอเอง แต่ยังสำหรับวงการสู้วัวกระทิงทั้งหมด

คริสติน่า ซานเซส ผู้พิชิตสังเวียนกระทิงและทลายกำแพงทางเพศ

การสร้างสรรค์ภาพลักษณ์และการเป็นที่รู้จัก

สิ่งที่ทำให้คริสติน่าโดดเด่นในฐานะมาทาดอร์ ไม่ใช่เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง แต่ยังเป็นเพราะสไตล์การต่อสู้ที่เป็นเอกลักษณ์ของเธอ 

ในขณะที่มาทาดอร์ชายมักจะเน้นความกล้าหาญและแสดงอำนาจความเป็นชาย แต่คริสติน่ากลับแสดงความแข็งแกร่ง แต่ก็ผสมผสานความอ่อนโยนเข้าด้วยกัน ด้วยการแสดงให้เห็นถึงความเคารพต่อวัวกระทิงและศิลปะการต่อสู้มากกว่าการแสดงอำนาจเหนือสัตว์

ภาพลักษณ์ของคริสติน่าในสนามมีความโดดเด่นอย่างมาก เธอสวมชุดประจำตำแหน่งของมาทาดอร์ที่เรียกว่า ‘ทราเฆ เด ลูเซส’ (Traje de Luces) หรือ ‘ชุดแห่งแสงสว่าง’ ซึ่งได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับรูปร่างของผู้หญิง โดยยังคงรักษาความสง่างามและความเป็นทางการตามประเพณี 

คริสติน่า ซานเซส ผู้พิชิตสังเวียนกระทิงและทลายกำแพงทางเพศ

ภาพของเธอในชุดสีสันสดใสท่ามกลางเวทีการต่อสู้วัวกระทิงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าในวงการนี้

การต่อสู้นอกสังเวียน

แม้คริสติน่าจะประสบความสำเร็จในอาชีพ แต่เธอต้องเผชิญกับอคติทางเพศอย่างรุนแรง 

ในปี 1999 เธอประกาศเกษียณตัวเองในช่วงสิ้นสุดฤดูกาลในขณะที่อายุเพียง 27 ปี โดยให้เหตุผลว่า อคติจากผู้ชายในวงการรุนแรงมากจนเธอไม่สามารถได้รับค่าตอบแทนและการจัดการที่เหมาะสม บางคนในวงการถึงกับประกาศว่าจะไม่ขึ้นแสดงในงานเดียวกันกับเธอ

ไม่ใช่แค่นั้นเธอยังต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทางร่างกายจากการฝึกซ้อม และการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในสนาม เพราะการต่อสู้กับวัวกระทิงที่มีน้ำหนักมากกว่า 500 กิโลกรัมนั้นเป็นงานที่อันตรายและท้าทายทั้งร่างกายและจิตใจ

คริสติน่า ซานเซส ผู้พิชิตสังเวียนกระทิงและทลายกำแพงทางเพศ

เธอต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรงและมีสภาพจิตใจที่มั่นคง เพื่อให้สามารถเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในทุกครั้งที่ก้าวเข้าสู่สนาม

คริสติน่าเคยให้สัมภาษณ์ว่า “คนมักจะคิดว่าฉันต้องกล้าหาญมาก เพราะฉันฆ่าวัวได้ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย ฉันเป็นคนที่อ่อนไหว และฉันก็สามารถตกใจได้ง่าย ๆ ฉันกลัวการอยู่บ้านคนเดียว และฉันก็หงุดหงิดถ้าเห็นแมงมุม”

นอกจากนี้การจะสร้างครอบครัวที่เป็นปกติยังเป็นเรื่องยากอีกด้วย เพราะอาชีพมาทาดอร์ไม่ใช่แค่การแสดงในสนาม เธอยังต้องเอาเวลาไปทุ่มเทกับการฝึกซ้อมและและการเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ เพื่อร่วมงานแสดง

แต่ถึงอย่างนั้นการที่เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับอัลเทอร์นาทีวาและเปิดตัวในฐานะมาทาดอร์สเปนก็สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงคนอื่น ๆ บางคนจากที่เคยสู้กับวัวตัวเล็ก ๆ เท่านั้น แต่ก็ก้าวไปสู่วัวตัวใหญ่และประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียง และบางคนที่ดีที่สุดได้รับการประกาศให้เป็นมาทาดอร์ เด โทรอส เต็มตัว

ในปี 2000 คริสติน่าแต่งงานกับอเล็กซานเดร ดา ซิลวา (Alexandre da Silva) บันเดริเญอโรชาวโปรตุเกส และมีบุตรชายสองคน ปัจจุบันเธอทำงานบริหารโรงแรมครอบครัวในโปรตุเกส แต่บางครั้งก็ปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์ในฐานะที่ปรึกษาด้านการสู้วัวกระทิง แสดงให้เห็นว่าเธอก็ยังไม่ได้ละทิ้งวงการนี้

คริสติน่า ซานเซส อยากให้คนจดจำเธอในฐานะมาทาดอร์ที่ยอดเยี่ยม ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องราวแปลก ๆ ในประวัติศาสตร์การสู้วัว เพราะเธอไม่เพียงแต่เป็นมาทาดอร์หญิงคนแรกที่ได้รับการยอมรับในสเปน แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงและการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในวงการที่มีข้อจำกัดทางเพศ

การเดินทางของคริสติน่าแสดงให้โลกเห็นว่า ‘เพศ’ ไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการบรรลุความสำเร็จของชีวิต หากมีความมุ่งมั่นและความเชื่อมั่นในตัวเอง แม้จะต้องผ่านอุปสรรคและความยากลำบากมากมาย

 

อ้างอิง