10 ม.ค. 2562 | 15:30 น.
เลสลี (Lesley) และ จอห์น บราวน์ (John Brown) ใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันมานานถึง 9 ปี ทั้งสองคนอยากจะมีทายาทมาก แต่ไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะเลสลีมีปีกมดลูกผิดปกติทำให้การปฏิสนธิระหว่างไข่และอสุจิตามธรรมชาติไม่อาจเกิดขึ้นเลย ถึงอย่างนั้นทั้งคู่ก็ยังไม่หมดความหวัง พวกเขาพร้อมทำทุกวิถีทางที่จะมีทายาทโดยสายเลือดของตัวเองให้ได้ และความหวังของพวกเขาก็เปล่งประกายขึ้น เมื่อได้รับรู้ถึงงานวิจัยที่จะช่วยให้ผู้ที่อยู่ในภาวะมีลูกยากอย่างเธอมีโอกาสได้ตั้งครรภ์เช่นหญิงทั่วไป งานดังกล่าวร่วมกันพัฒนาโดย ดร.โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ดส์ (Robert Edwards) และ ดร.แพทริก สเต็ปโท (Patrick Steptoe) นักวิจัยจากสหราชอาณาจักรที่ใช้วิธีการนำไข่จากรังไข่ของผู้หญิงมาปฏิสนธิบนจานทดลอง แล้วนำตัวอ่อนที่ได้ไปฝังไว้ในมดลูกของผู้หญิง ซึ่งภายหลังเรียกกันว่าการทำ IVF (In Vitro Fertilization) แต่สมัยนั้นเรียกกันติดปากว่าการทำ "เด็กหลอดแก้ว" (test tube baby) แม้ว่าจริงๆ แล้วจะเป็นการผสมบนจานทดลองไม่ใช่หลอดแก้วก็ตาม วิธีการนี้นักวิจัยที่เกี่ยวข้องใช้เวลาในการพัฒนามานานนับสิบปี แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานวิจัยของรัฐบาล ทำให้พวกเขาต้องออกมาตั้งคลินิกวิจัยกันเอง และยังไม่เคยประสบความสำเร็จในการทดลองกับมนุษย์มาก่อน จนกระทั่งมาได้เจอกับเลสลีที่ตกลงรับการทดลองในเดือนพฤศจิกายน ปี 1977 ซึ่งตอนนั้นหมอก็ยอมรับว่าโอกาสที่วิธีการนี้จะประสบความสำเร็จมีเพียง "หนึ่งในล้าน" เลสลีได้รับสัญญาณที่ดีเมื่อคุณหมอเอ็ดเวิร์ดส์ส่งจดหมายมาถึงเธอในเดือนธันวาคม บอกว่า "ผลการตรวจตัวอย่างเลือดและปัสสาวะเบื้องต้นของคุณให้ผลที่น่าชื่นใจมากๆ มันชี้ว่าคุณอาจอยู่ในระยะต้นๆ ของการตั้งครรภ์ ดังนั้นขอให้คุณทำอะไรอย่างระมัดระวัง ห้ามเล่นสกี ปีนป่าย หรืออะไรที่ต้องใช้แรงมาก รวมถึงการช็อปปิ้งในวันคริสต์มาสด้วย!" (BBC) ต่อมาในวันที่ 25 กรกฎาคม 1978 เลสลีถูกส่งตัวเข้าห้องคลอดในโรงพยาบาล Oldham General Hospital โดยมีเจ้าหน้าตำรวจดูแลความปลอดภัย เพื่อปกปิดและป้องกันเธอจากสายตาของสื่อและบุคคลภายนอกที่ติดตามเธออย่างใกล้ชิด ซึ่งมีทั้งเสียงที่ให้กำลังใจ สงสัย และไม่พอใจกับสิ่งที่พวกเธอทำอยู่ ตอนนั้นท้องของเลสลียังไม่แก่เต็มที่ เพราะตามกำหนดครบอายุครรภ์ของเธอคือวันที่ 4 สิงหาคม แต่คืนนั้นเลสลีเริ่มมีอาการครรภ์เป็นพิษทำให้คุณหมอสเต็ปโทตัดสินใจผ่าคลอดให้กับเธอเพื่อเลี่ยงอาการแทรกซ้อนอื่นๆ หลุยส์ จอย บราวน์ (Louise Joy Brown) จึงกลายเป็นเด็กคนแรกที่เกิดขึ้นมาด้วยวิธีการ IVF หลุยส์เล่าถึงแม่ในภายหลังว่า เมื่อข่าวการเกิดของเธอตกเป็นข่าวไปทั่วโลก ครอบครัวได้รับจดหมายเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เขียนถึงในแง่ดี แต่ก็มีไม่น้อยที่เขียนถึงด้วยความเกลียดชัง "คุณพ่อคุณแม่เคยได้พัสดุที่เลวร้ายมากจากอเมริกา ข้างในมีหลอดทดลองที่ถูกทุบแตก เลือดปลอมและตัวอ่อนปลอมอยู่ข้างใน และยังมีคำขู่ของคนส่งที่บอกว่าพวกเขาจะมาตามล่าคุณพ่อคุณแม่ด้วย" หลุยส์กล่าวกับ BBC คำว่า "เด็กหลอดแก้ว" ที่สื่อใช้ในขณะนั้นกลายเป็นคำที่สื่อถึงความหมายในแง่ลบ จากเสียงร่ำลือถึงการทำงานของนักวิจัยที่ผิดจากข้อเท็จจริง ความพยายามของมนุษย์ที่พยายามล่วงล้ำอำนาจของพระเจ้าในฐานะผู้ให้กำเนิดชีวิต (โดยเฉพาะจากคนที่อยู่ในกลุ่มความเชื่ออับราฮัม) ความกังวลถึงความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กที่เกิดมา ข้อวิจารณ์ด้านศีลธรรมโดยเฉพาะความกังวลที่ว่า ผู้หญิงจะกลายเป็น "โรงงานผลิตลูก" เพราะการตั้งครรภ์ไม่จำเป็นต้องเกิดจากความรักหรือการมีเพศสัมพันธ์อีกต่อไป แต่หลุยส์พิสูจน์ให้เห็นว่า เด็กหลอดแก้วก็เป็นเด็กที่มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจได้เหมือนเด็กที่เกิดด้วยวิธีการตามธรรมชาติ เธอใช้ชีวิตเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ และได้รู้ว่าตัวเองเกิดมาไม่เหมือนใครตั้งแต่ตอนที่เธออายุได้ 4 ขวบ เมื่อแม่ของเธอเลือกที่จะบอกความจริงกับเธอก่อนที่เธอจะได้ฟังจากเด็กคนอื่นๆ เมื่อเธอเริ่มเข้าเรียน ซึ่งเธอก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าเด็กที่เกิดตามปกติ แต่มันยังทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ หลุยส์แต่งงานในปี 2004 และมีลูกแล้วสองคนด้วยการตั้งครรภ์ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการช่วยเหลือใดๆ เวลสี มุลลินเดอร์ (Welsey Mullinder) สามีของเธอกล่าวเมื่อตอนที่เธอตั้งครรภ์ลูกคนแรกว่า "ผมรู้จักเธอในฐานะหลุยส์เท่านั้น จนกระทั่งผมได้รู้นามสกุลนั่นแหละถึงนึกขึ้นได้ว่าเธอเคยเป็นคนที่ดังมาก แต่สำหรับผมมันเป็นส่วนเล็กๆ เท่านั้น อันดับแรกเหนืออื่นใด เธอคือหลุยส์ เธอคือคนที่ใช่ ใช่มาตั้งแต่ต้น มันเป็นความสัมพันธ์ที่ดีมากครับ" (The Guardian) ปัจจุบัน การทำ IVF ได้รับการยอมรับจากสาธารณะอย่างกว้างขวาง มีเด็กที่เกิดด้วยวิธีการนี้กว่า 8 ล้านคน อัตราความสำเร็จเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าเท่าตัว (สถิติในอังกฤษเมื่อปี 2016 จากราว 10% เป็น 21% ในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 35 ปี) และแม้จะเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ แต่กว่าที่คณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลจะยอมรับในเรื่องนี้ได้ก็ต้องรอถึงปี 2010 ซึ่ง ดร.สเต็ปโทได้เสียชีวิตไปแล้ว เหลือแต่ดร.เอ็ดเวิร์ดส์ที่มีชีวิตยืนยาวพอที่จะได้รับการยอมรับจากสถาบันแห่งนี้