31 ม.ค. 2562 | 18:04 น.
ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หลังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาเตือนภัยเกี่ยวกับ “ผลกระกระทบด้านสุขภาพ” ที่อาจได้รับจากเจ้าฝุ่นพิษเหล่านี้ จนได้มีการสั่งปิดสถานศึกษาเป็นการชั่วคราวแล้ว อีกทั้งประเทศไทยของเรากำลังอยู่ในจุดวิกฤตสุด ๆ หลังค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของบ้านเราไต่ขึ้นไปอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกแล้ว แต่หากเรามองไปยังหัวเมืองใหญ่ของโลกอย่างกรุงนิวเดลีของอินเดีย หรือกรุงปักกิ่งของจีน จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เราเจอในทุกวันนี้ พวกเขารับมือกับมันมาก่อนเราแล้วหลายปี ใครที่เคยไปเยือนแดนภารตะ คงจะรู้ดีว่าสภาพมลพิษของที่นั่นเลวร้ายกว่าบ้านเรามาก ซึ่งรัฐบาลอินเดียก็พยายามแก้ไขปัญหาโดยการออกมาตรการต่าง ๆ เช่น การขึ้นค่าที่จอดรถหลายเท่าตัว หรือการจำกัดการขับขี่รถยนต์ในแต่ละวัน ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อหวังให้คนหันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ส่วนจีนก็ออกมาตรการลดมลพิษจากรถยนต์อย่างเข้มงวด จำกัดการใช้งานรถยนต์เก่า สั่งปรับปรุงโรงงานเก่า เน้นการใช้พลังงานสะอาดแทนพลังงานถ่านหิน แต่มาตรการหนึ่งที่ทั้งจีนและอินเดียมีเหมือนกันก็คือ ทั้งสองประเทศพยายามจะห้ามเรื่องการจุดพลุไฟและประทัดในงานเทศกาลหรือพิธีทางศาสนาต่าง ๆ เพื่อหวังลดปริมาณมลพิษที่มาจากสารเคมีในประทัดอย่างซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สิ่งนี้สร้างความลำบากใจให้กับผู้คนจำนวนมาก เพราะนั่นหมายถึงว่าพวกเขาต้องทำในสิ่งที่ขัดต่อวัฒนธรรมตัวเองที่มีมายาวนานนับพัน ๆ ปี แต่แล้ววันหนึ่ง หวาง ซินหมิง นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนจากมณฑลเหอหนาน ได้ค้นพบทางที่จะช่วยให้ชาวจีนยังสามารถสืบสานวัฒนธรรมของตัวเองต่อไปได้ และในเวลาเดียวกันมันยังเป็นมิตรต่อโลกอีกด้วย ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ “ประทัดเขียว” นั่นเอง “ประทัดเขียว” ของหวางท่ี่ว่านี้ไม่ใช่ประทัดธรรมดาทั่วไป ความพิเศษของมันคือเป็นประทัดที่ไม่ใช้ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งจุดไฟ การเกิดเสียงของมันมีหลักการง่าย ๆ คือการใช้ลมอัดเข้าไปในรูของตัวประทัด และกดปุ่มเพื่อปิดรูเอาไว้ และเพียงแค่เรากดเปิดเจ้ารูเล็ก ๆ รูนี้ ลมที่ถูกอัดอยู่ด้านในจะถูกดันออกมา พร้อมกับสร้างเสียงที่คล้ายเสียงระเบิดของประทัดจริง ๆ “สิ่งประดิษฐ์ของผมชิ้นนี้ไม่ได้ทำงานโดยใช้ระบบไฟฟ้าหรือการระเบิด” หวางให้สัมภาษณ์กับสื่อจีน นอกจากเสียงจะเหมือนกันแล้ว สิ่งประดิษฐ์ของเขาชิ้นนี้ยังสามารถสร้างควันได้เสมือนประทัดจริง ๆ หรือแม้กระทั่งเพิ่มให้มีกลิ่นหอมได้อีกด้วย “ประทัดของผมทั้งปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เขาบอก อย่างไรก็ดี หลายคนอาจมองว่ามันก็ไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเสียทีเดียวนัก เพราะประทัดเขียวที่หวางประดิษฐ์ขึ้นมีส่วนประกอบสำคัญทำมาจากพลาสติก และมีราคาสูงกว่า 150 หยวน หรือตีเป็นเงินไทยก็เกือบ 700 บาท อีกทั้งยังมีการขึ้นราคาอยู่เรื่อย ๆ ขณะที่ประทัดธรรมดามีราคาเพียง 10 หยวน หรือ 40 กว่าบาทเท่านั้น ทำให้ประทัดเขียวยังไม่เป็นที่นิยมมากนักในตลาด แต่หวางก็เชื่อว่าข้อดีของมันคือสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่เรื่อย ๆ และเชื่อด้วยว่าเจ้าสิ่งนี้มีศักยภาพมากพอที่จะประสบความสำเร็จในตลาดของจีนได้สักวันหนึ่ง การจุดประทัดหรือพลุไฟในเทศกาลตรุษจีนถือเป็นวัฒนธรรมการฉลองปีใหม่ของชาวจีนที่มีมาอย่างยาวนานนับพัน ๆ ปี ซึ่งชาวจีนเชื่อว่าการจุดประทัดจะเป็นการช่วยขับไล่ภูตผีวิญญาณร้ายไม่ให้มาก่อกวนและนำมาแต่ความโชคดี เชื่อกันว่าถ้าชาวจีนกว่าพันล้านคนหันมาใช้ประทัดเขียวของหวางมากขึ้น สิ่งนี้จะเป็นการช่วยลดมลพิษให้หลายเมืองของจีนอย่างเห็นผลได้ชัดยิ่งกว่านโยบายห้ามนั่งรถคนเดียวเสียอีก...เอิ่ม “บางครั้งการเฉลิมฉลองตามเทศกาลต่าง ๆ มักจะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสภาพแวดล้อม แต่ถ้าสิ่งประดิษฐ์ของหวางสามารถตีตลาดเป็นวงกว้างได้ สิ่งนี้จะกลายเป็นทางให้เราต่อสู้กับฝุ่นควันต่าง ๆ ได้” เฉิน อิ๋ง นักวิจัยจากสถาบันสังคมและวิทยาศาสตร์ของจีน บอก ที่มา http://www.chinadaily.com.cn/china/2015-02/07/content_19519368.htm https://blogs.wsj.com/chinarealtime/2015/02/18/green-fireworks-can-chinas-smoky-noisy-tradition-get-a-reboot/ http://www.gdkjb.com/News_Detail.aspx?code=0104&id=6050