อาชา เดอ โวส (Asha De Vos) นักวิจัยทะเลหญิงกับความสำคัญของ “อึ” วาฬ

อาชา เดอ โวส (Asha De Vos) นักวิจัยทะเลหญิงกับความสำคัญของ “อึ” วาฬ

อาชา เดอ โวส (Asha De Vos) นักวิจัยทะเลหญิงกับความสำคัญของ “อึ” วาฬ

“ทำไมเราต้องให้ความสนใจกับอึวาฬ” ในโลกของมาร์เวล อินฟินิตี้ สโตน (Infinity Stones) ของธานอสสามารถลบประชากรมนุษย์ไปได้ถึงครึ่ง แต่ในโลกของมหาสมุทรแล้ว การหายไปของ “อึวาฬ” ต่างหากที่ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลวอดวายยิ่งกว่าโดนธานอสดีดนิ้ว และไม่มีใครจะเข้าใจถึงความสำคัญของอึวาฬไปกว่า อาชา เดอ โวส (Asha De Vos) นักวิจัยสาวชาวศรีลังกา ผู้เปิดประเด็นความสำคัญของอึวาฬบนเวที Ted Talk ขณะที่เด็กส่วนมากฝันอยากเป็นหมอ ครู หรือพยาบาล อาชาฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักผจญภัยตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ซึ่งความสนใจของอาชาได้แตกแขนงสู่การเป็นนักวิจัยทางทะเลเมื่อเธอตัดสินใจเข้าเรียนในสาขาชีววิทยาทางทะเล ที่มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ ประเทศสกอตแลนด์ ขณะอายุ 18 ปี จนในที่สุด อาชาก็ได้เป็นนักวิจัยทางทะเลอย่างเต็มตัว พร้อมกับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย สาขาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล “ชีววิทยาทางทะเลรวมทุกสิ่งที่ฉันชอบเข้าด้วยกัน ทั้งวิทยาศาสตร์ การผจญภัย และมหาสมุทร” ความสนใจที่อาชามีให้กับวาฬ เริ่มขึ้นระหว่างการเดินทางกับคณะสำรวจในปี 2003 เมื่อเธอได้พบกับกลุ่มวาฬสีน้ำเงินกระจุกตัวกันในน่านน้ำอุ่นที่ชายฝั่งทางใต้ของศรีลังกา สิ่งที่น่าประหลาดของการเจอวาฬสีน้ำเงินกลุ่มนี้ คือการเจอพร้อมกับ “อึ” ของพวกมัน ซึ่งผิดกับวิสัยของวาฬสีน้ำเงินที่มักจะกินและขับถ่ายในบริเวณน้ำเย็น ความสงสัยในพฤติกรรมที่ผิดแปลกของกลุ่ม “วาฬประหลาด” หรือที่อาชาเรียกพวกมันว่า Unorthodox Whale ทำให้อาชาสร้างโครงการ Sri Lanka Blue Whale Project ในปี 2008 เพื่อวิจัยกลุ่มวาฬสีน้ำเงินในศรีลังกาอย่างจริงจัง จนค้นพบว่า แทนที่เหล่าวาฬสีน้ำเงินบริเวณมหาสมุทรอินเดียเหนือจะย้ายถิ่นฐานตามนิสัยของวาฬทั่วไป พวกมันกลับอาศัยอยู่ในบริเวณเดิมแทบจะตลอดเวลา แต่การค้นพบก็มาพร้อมกับข่าวร้าย การอาศัยอยู่ในน่านน้ำที่แคบ ทำให้วาฬสีน้ำเงินจำนวนมากไม่สามารถหลบหลีกอันตรายจากมนุษย์ได้ โดยเฉพาะการถูกชนจากเรือสินค้า ซึ่งอาชาพบว่าเป็นสาเหตุการตายหลักของวาฬสีน้ำเงินในศรีลังกา ความรักที่อาชามีให้กับวาฬและท้องทะเลทำให้เธอตัดสินใจก่อตั้งองค์กร “โอเชียนสเวล” (Oceanswell) องค์กรเพื่อการอนุรักษ์และการให้ความรู้ทางทะเลในปี 2017 แล้วอึวาฬสำคัญอย่างไร? “หลาย ๆ คนคิดว่านักอนุรักษ์วาฬอย่างฉัน อนุรักษ์วาฬเพียงเพราะพวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดูสวย” อาชากล่าวในงาน Ted Talk ปี 2015 “แต่ความจริงแล้ว นี่เป็นความคิดที่อันตราย เพราะวาฬเป็นเหมือนวิศวกรของระบบนิเวศที่ช่วยรักษาสมดุลของมหาสมุทร” และหนึ่งในวิธีการรักษาสมดุลของวาฬก็คือการ "อึ" นั่นเอง วาฬส่วนมากจะหากินตามบริเวณน้ำลึก แต่เมื่อมันจะขับถ่าย มันจะว่ายน้ำขึ้นมาบริเวณผิวน้ำพร้อมกับปล่อยอึออกมาในรูปของละอองขนาดยักษ์ที่แพร่กระจายเต็มทั่วทะเล อาจจะฟังดูชวนอ้วก แต่การปล่อยอึจำนวนมหาศาลของวาฬนั้นเป็นการนำธาตุอาหารจากบริเวณน้ำลึกขึ้นมาสู่ผิวน้ำ และธาตุอาหารเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของแพลงตอน ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์ทะเลหลายชนิด ฉะนั้นถ้าอึวาฬหายไป แหล่งอาหารของสัตว์ทะเลเกือบครึ่งก็จะหายไปพร้อมกันด้วย นิสัยการอพยพตามฤดูกาลของวาฬส่วนมาก ยังทำให้ธาตุอาหารจากน่านน้ำหนึ่ง กระจายไปสู่น่านน้ำอื่น ๆ ทั่วมหาสมุทร วาฬจึงไม่ได้แค่ช่วยปรับเสถียรภาพของทะเลแค่บริเวณเดียว แต่มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ทั่วทั้งมหาสมุทร นอกจากนี้ ซากของวาฬที่ตายแล้วยังเป็นอาหารให้กับสัตว์มากมาย ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกที่พึ่งพาซากสัตว์ทะเลเป็นอาหารหลัก ไปจนถึงสัตว์บกอย่างนก ที่รอกินซากของวาฬเมื่อถูกซัดเข้าชายฝั่ง ซากวาฬยังสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 190,000 ตัน ทำให้มันมีส่วนสำคัญในการเคลื่อนย้ายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศลงสู่ใต้ทะเล ซึ่งเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อน ถึงวาฬจะมีความสำคัญต่อธรรมชาติมาก แต่ดูเหมือนคนที่ให้ความสำคัญกับพวกมันจะน้อย เพราะในปัจจุบัน ประชากรของวาฬทั่วมหาสมุทรลดลงแบบน่าใจหาย “ในคริสต์ศตวรรษที่ 1600 จำนวนวาฬไรท์บริเวณอ่าวเคปคอดทางตะวันตกของอเมริกา มีเยอะจนถึงขั้นที่คุณสามารถเดินบนหลังมันเพื่อข้ามจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งได้เลย” อาชากล่าว “แต่ในปัจจุบัน พวกมันมีจำนวนแค่หลักร้อย และเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุ” ส่วนในประเทศไทยเอง ในเดือนมิถุนายน ปี 2018 ก็เกิดเหตุการณ์วาฬเกยตื้นบริเวณคลองนาทับ จังหวัดสงขลา และหนึ่งในสาเหตุการตาย คือพลาสติกหนัก 8 กิโลกรัมที่อยู่ในท้องของมัน ถ้าเปรียบโลกเป็นเครื่องจักร วาฬอาจจะเป็นแค่น็อตตัวเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับจำนวนสิ่งมีชีวิตทั้งหมด แต่ถ้าน็อตตัวหนึ่งหายไป เครื่องจักรทั้งหมดก็ไม่สามารถทำงานได้ ในตอนนี้วาฬอาจจะยังไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับหลาย ๆ คน แต่ในอนาคต เราอาจจะมาถึงจุดที่เราต้องพลิกทะเลเพื่อตามหาอึวาฬที่ยังหลงเหลืออยู่ก็เป็นได้ “กลับมาอนุรักษ์วาฬกันอีกครั้งเถอะ แต่ครั้งนี้เราไม่ได้แค่อนุรักษ์เพื่อพวกมันเท่านั้น แต่เพื่อตัวของเราเองด้วย” อาชากล่าว    ที่มา : Ted Talk อาชา เดอ โวส “ทำไมเราต้องสนใจอึของวาฬด้วย https://www.wiley.com/network/societyleaders/research-impact/women-in-research-dr-asha-de-vos http://life.dailymirror.lk/article/entertainment/In-conversation-with-Asha-De-Vos/211/16694 https://youtu.be/sio-7b4BA08 https://www.ted.com/speakers/asha_de_vos https://workpointnews.com/2018/06/02/สุดยื้อ-วาฬเกยตื้นคลอง/   เรื่อง : พัทธมน สินธุวณิชเศรษฐ์ (The People Junior)