28 มิ.ย. 2566 | 13:58 น.
สำหรับปี 2023 นี้ Converse ชวนทุกคนเปิดใจใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองเป็น กับแคมเปญล่าสุด ‘Proud To Be’ สนับสนุนความภูมิใจที่หลากหลาย เข้าใจและโอบรับเรื่องราวของ LGBTQA+ ที่มีมากกว่าเรื่องเพศ
แคมเปญปีนี้ Converse ยังคงได้ร่วมงานกับ ‘เขื่อน’ ภัทรดนัย เสตสุวรรณ ศิลปินที่ผันตัวมาเป็นนักจิตวิทยาบำบัด ผู้สร้างความหมายของพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน และยังเป็นกระบอกเสียงให้กับ Queer Community เพื่อให้ทุกคนได้แสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริง
“กล้าที่จะถูกเกลียด”
‘เขื่อน’ ‘ซึ่งขับเคลื่อนและสนับสนุนความหลากหลายร่วมกับ Converse ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2021 เปิดใจว่า ช่วงปีแรก ๆ ที่ร่วมงานกับ Converse จะเป็นการพูดเรื่องปรัชญาค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะคำว่า ‘Freedom’ ซึ่งหมายถึงการเลือกที่จะเป็นโดยพร้อมรับผลกระทบ
“แต่สำหรับปี 2023 สิ่งแรกที่ตั้งขึ้นมาเลยคือ ‘meaning’ หรือ ความหมาย เขื่อนอยากทำอะไรที่มันมีความหมายมากขึ้น มันเลยสะท้อนออกมาเป็นงานเขียน การบอกเล่า และการทำอะไรที่ไม่กล้าทำ อย่างแคมเปญ Proud To Be เป็นโจทย์ที่เขื่อนตั้งขึ้นมาว่า กล้าที่จะโดนคนเกลียด”
‘เขื่อน’ ขยายความถึงโจทย์สุดท้าทายนี้ว่า การที่เราโอบกอด (embrace) ตัวเอง ไม่ได้ทำให้คนยอมรับหรือรักเราทันทีเลย แต่เราต้องกล้าที่จะให้คนไม่ชอบเราก่อน กล้าที่จะอยู่กับความรู้สึกนี้ก่อน และวันหนึ่งที่เราอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้ เราจะค่อย ๆ เจอกับคำว่า รักตัวเอง (self-love) และ การดูแลตัวเอง (self-care)
“ตอนนี้เหมือนทุกคนพยายามจะรักตัวเอง ภูมิใจในตัวเอง ทุกคนพุ่งไปทางนั้นหมด แต่อย่าลืมว่าการรักตัวเองของแต่ละคนมีหน้าตาไม่เหมือนกัน และหลาย ๆ ครั้งกว่าจะรักตัวเองได้ ต้องเข้าใจก่อนว่าตัวเองผ่านอะไรมาบ้าง สำหรับเขื่อน Proud To Be มันเริ่มจากตรงนั้นครับ”
เขื่อนยังได้เตือนถึงกับดักในการตีความเรื่อง ‘ความสำเร็จ’ หรือ ‘ความเก่ง’ ซึ่งแต่ละคนจะมีมาตรวัดที่ไม่เหมือนกัน แต่บางคนก็ตกหลุมจากการฟังเสียงคนอื่นมากเกิน จนไม่เหลือความเป็นตัวเอง
“สุดท้ายแล้ว Proud To Be มันไม่ใช่ฟีดแบ็กเชิงบวก (positive feedback) อย่างเดียวนะ มันคือการที่เราเข้าใจด้วยว่า ฟีดแบ็กเชิงลบ (negative feedback) เหล่านี้ของเรามันคืออะไร และวันที่เราสามารถอยู่ได้ทั้งกับฟีดแบ็กเชิงบวกและฟีดแบ็กเชิงลบ เขื่อนว่าวันนั้นแหละ เราเริ่มเข้าใจตัวเอง เข้าใจเสียงในหัวของเรามากขึ้น เป็นก้าวแรกที่ Proud To Be ได้มากขึ้น”
เขื่อนยังกล่าวถึงการรับมือกับคนที่ชอบให้ฟีดแบ็กหรือพลังงานด้านลบกับคนอื่นไว้อย่างน่าสนใจว่า “ก็จะมีกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจ คอยรอแซะอยู่ตลอดเวลา กลุ่มคนเหล่านี้พอเขาแซะเราเสร็จเขาก็ไปแซะคนอื่นต่อ สุดท้ายแล้วเขาไม่ได้แซะเรานะ เขาแซะความเข้าใจของเขาเอง เราแค่เป็นกระจกของสิ่งที่เขาเห็น แค่นั้นเลย มันก็เลยเป็นพื้นที่ของคำว่า กล้าที่จะถูกเกลียด”
“สุดท้ายคนที่ไม่เข้าใจเรา จะไม่มีวันหายไป มันจะมีมาเรื่อย ๆ หน้าที่ของเราคือผ่านมันไปให้ได้ ต้องรักทุกส่วนของตัวเรา รักตัวเอง ฟังเหมือนง่ายนะ แต่กระบวนการยากมาก ต้องทำไปตลอดชีวิต” เขื่อนสรุป
นอกเหนือจากเรื่องราวของ ‘เขื่อน’ เรายังมีเรื่องราวความภูมิใจของสมาชิก Converse All Star เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ทุกคนกล้าที่จะแสดงออกความเป็นตัวเอง…. ถ้าพร้อมแล้วไปรู้จักและฟังแนวคิดของพวกเขากันเลย
‘เปา’ สไตล์ลิสต์ผู้ภูมิใจในการตัดสินใจของตัวเอง
https://www.instagram.com/today.is.christmassss
สไตล์ลิสต์สุดเปรี้ยวอย่าง ‘เปา’ ไม่ได้พกมาแค่ความมั่นใจ แต่ยังเต็มไปด้วยความ ‘เคารพ’ ในการตัดสินใจของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม
เปาก็อาจเหมือนกับทุกคนที่บางครั้งก็รู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจของตัวเอง แต่สุดท้ายก็แค่ ‘ยอมรับ’ ผลของมันให้ได้
“แม้กระทั่งเรื่องงานที่เรารู้สึกว่าไม่คุ้มกับสุขภาพที่เราเสียใจ ก็ต้องกลับมายอมรับว่าเราเลือกรับเอง มีเรื่องการซื้อของ หรือการแต่งตัวที่มีทั้งคนชมและคนด่า ก็แค่ยอมรับว่าเราเลือกจะแต่งแบบนี้ เรื่องแฟนก็ไม่มีใครดีร้อยเปอร์เซนต์ แต่เราก็ตัดสินใจเลือกคนนี้เพราะเรายอมรับว่าเขามีข้อดีข้อเสียอะไร”
“ใหญ่สุดคือเรื่องเพศ เรื่องการแสดงออก บางครั้งเราก็มีอารมณ์แมน บางครั้งก็รู้สึกแฮปปี้กับความสาว ซึ่งบางคนไม่ชอบ แต่เรารู้สึกว่าเรายอมรับได้ เราจะไม่กดตัวเองลง”
เปาสรุปถึงความภูมิใจในการตัดสินใจของตัวเองว่า “จริง ๆ มันอาจเป็นแค่การใช้ชีวิตที่เราไม่อยากมานั่งเสียดายทีหลังนะ แต่สำหรับเรา เรารู้สึกว่ามันกำลังขับเคลื่อนเรา”
‘แบงค์’ นายแบบผู้ภูมิใจกับรูปร่างของตัวเอง
https://www.instagram.com/banklekborntowin/
แบงค์ เป็นคนที่ถูกล้อเลียนมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่เป็นคนรูปร่างผอมบางจึงตกเป็นเหยื่อการบูลลี่ (bully) ของคนรอบข้าง ไม่เว้นแม้กระทั่งเพื่อน ทั้งที่ตัวแบงค์เองไม่ได้รู้สึกว่าร่างกายของเขาจะเป็นปัญหาอะไร แถมยังถ่ายแบบหาเงินได้ ใส่ชุดอะไรก็เอาอยู่!
“สมัยก่อนแบงค์จะรู้สึกว่าการมีร่างกายเล็ก หรือใส่เสื้อผ้าไซส์เด็กมันน่าเกลียดหรือเปล่า? แต่ตอนนี้แบงค์รู้สึกว่าตัวเองโอเค อย่างน้อยไซส์แบงค์มันก็อยู่เท่านี้มาตลอด แบงค์ยังคงสภาพให้ตัวเองไปรับงานเดินแบบ ถ่ายแบบได้ อย่างน้อยร่างกายมันก็ยังทำให้เราทำมาหากินได้ หาเงินได้ นี่คือสิ่งที่แบงค์นึกถึงเวลาพูดเรื่องความภูมิใจในตัวเอง”
‘เบส’ ดีไซเนอร์ผู้ส่งต่อความมั่นใจ
https://www.instagram.com/bestshito/
‘แฟชั่น’ สำหรับเบส ไม่ใช่แค่ ‘อาชีพ’ แต่ยังเป็นการส่งต่อความมั่นใจให้กับผู้อื่นด้วย
เบสเล่าสาเหตุที่ทำให้เธออยากเพิ่มความมั่นใจให้คนอื่นว่า เวลาที่เธอใส่เสื้อสีดำ เธอมักถูกทักเสมอว่าจะไปงานศพเหรอ? หรือบางครั้งคนก็ทักกันเวลาที่ใส่ชุดซ้ำ บ้างก็ทักคนใส่เสื้อลายสก็อตว่าจะไปตัดอ้อยเหรอ? ใส่เสื้อขาวจะไปทำบุญเหรอ?
คำทักทายชวนอึดอัดเหล่านี้ล้วนเป็นการ Fashion Shaming รูปแบบหนึ่ง ซึ่งเบสมองว่าในสังคมไทยยังไม่ค่อยมีการยกมาคุยเป็นเรื่องเป็นราว และเธออยากให้ทุกคนมั่นใจกับเสื้อผ้าที่ตัวเองเลือกใส่
“หนูคิดว่าเราควรภูมิใจในความเป็นเราที่จะใส่แบบนี้ในทุก ๆ วัน ยิ่งเขาพูด เรายิ่งต้องทำให้เยอะกว่าเดิม เหมือนเราภูมิใจในความเป็นตัวเอง เหมือนชุดที่หนูออกแบบ หนูก็ภูมิใจที่ได้ทำชุดแบบนั้นออกไป”
‘จีซาเบล’ ผู้ภูมิใจกับมนุษยสัมพันธ์ของตัวเอง
https://www.instagram.com/g.sabale/
‘จีซาเบล’ อาจไม่ใช่คนที่ใครอยากวิ่งเข้าหา หากเห็นเพียงแว่บแรก แต่เมื่อได้ฟังน้ำเสียงที่สดใสและจริงใจเพียงไม่กี่ประโยค คนที่ตั้งใจจะเผ่นหนีในตอนแรก อาจหันกลับและอยากทำความรู้จักเธอให้มากขึ้น
ด้วยความที่จีซาเบลเองเจอคนตัดสินจากภายนอกมาเยอะ เธอจึงไม่ค่อยตัดสินใคร และชอบที่จะตั้งใจฟังคนอื่นเพื่อที่จะได้ถามกลับ จนทำให้บทสนทนานั้นลื่นไหล
“เบลไม่ค่อยกล้าเริ่มคุยกับใครก่อน แต่พอคุยแล้วคุยเลย ทำให้สนิทได้เลยภายในไม่กี่ประโยค”
ช่วงหลังจีซาเบลกลายเป็นที่ปรึกษาให้กับใครหลาย ๆ คน เพราะเธอชอบพูดให้กำลังใจคนที่กำลังทุกข์และพยายามทำให้คนเหล่านี้แฮปปี้ ซึ่งความมีมนุษยสัมพันธ์นี้เองที่เปิดโอกาสให้เธอได้มีเพื่อนหลากหลายรูปแบบ และเธอก็ภูมิใจกับมุมนี้ของตัวเอง
‘ปอง’ ผู้ปลดปล่อยตัวเองผ่านงานศิลปะ
https://www.instagram.com/antonepong/
‘ปอง’ มักจะโดนเปรียบเทียบเรื่องการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก เพราะสไตล์การวาดรูปที่แตกต่างจากคนอื่น บวกกับความที่เป็นเด็กติดเกม ครอบครัวจึงไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่นัก
“แต่มันเป็นลู่ทางพัฒนาเราให้เป็นเราจนถึงทุกวันนี้นะ เมื่อเจอมรสุมเยอะ ๆ การเปรียบเทียบเยอะ ๆ มันเหมือนเราได้ทบทวนตัวเอง หาจุดยืนให้ตัวเอง พอโตขึ้นก็มีช่องทางให้เราเอาความรู้สึกในวัยเด็กมาถ่ายทอด”
สิ่งที่ปองนำมาถ่ายทอดผ่านงานศิลปะ หนึ่งในนั้นคือความรู้สึกตอนดูหนังผู้ใหญ่ (pornography) ในวัยเด็ก
“คนจะมองว่ามันไม่ดี เรื่องมันค่อนข้างลามกนิด แต่เราสามารถแสดงออกมาให้ดูสร้างสรรค์ได้ อยากให้คนมองมุมนี้ จริง ๆ การดูหนังผู้ใหญ่ กิจกรรมทางเพศ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแสดงออก นี่คือความกล้าที่ปองอยากจะดึงออกมา”
แคมเปญ ‘Proud To Be’ ยังได้เปิดพื้นที่ให้ปองได้สร้างสรรค์ผลงาน Comics Character โดยได้ไอเดียจากความเป็น Superhero ที่มีพลังวิเศษเป็นของตัวเอง ได้แก่ The Sparkle Lovely Warrior จากการฟันฟ่าอุปสรรคด้วยดาบแห่งหัวใจ (เขื่อน), The Speaker of flowers ตัวแทนของพลังแห่งความพูด (จีซาเบล), The Independent fly girl ตัวแทนของความรักอิสระและการรักตัวเอง (เบส), The Super controller man ตัวแทนของการตัดสินใจและเลือกสิ่งที่ดีที่สุด (เปา), The Ever-strongest wing man ตัวแทนของคนที่มีรูปร่างไม่ตรงกับความชอบทั่วไป (แบงค์) และ The Unlimited machine boy ตัวแทนแห่งความหลงใหล ไม่หยุดทำในสิ่งที่ชอบ (ปอง)
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่… ประกาศอย่างกล้าหาญว่าฉันพร้อมที่จะถูกเกลียดเหมือน ‘เขื่อน’, เคารพและยอมรับในทุกการตัดสินใจของตัวเองอย่างหน้าชื่นตาบานเหมือน ‘เปา’, ภูมิใจกับรูปร่างที่ไม่ใช่พิมพ์นิยม (แต่หาเงินได้) เหมือน ‘แบงค์’, เจอคำพูดทำลายความมั่นใจแต่เลือกที่จะสู้กลับด้วยการส่งต่อความมั่นใจให้คนอื่นเหมือน ‘เบส’, เป็นที่พักใจและให้คำปรึกษาด้วยคำพูดที่ฟังแล้วสบายใจอย่าง ‘จีซาเบล’ และปลดปล่อยความอัดอั้นตั้งแต่วัยเยาว์ผ่านงานศิลปะที่ไม่มีใครเหมือนอย่าง ‘ปอง’ หรือจะเป็นคนแบบไหนก็ตามในโลกใบนี้
เราอยากให้คุณ ‘ภาคภูมิใจ’ กับเรื่องราวอันทรงพลังของตัวเอง ซึ่งเป็นเหมือนอีกเฉดสีที่แต่งแต้มให้โลกมีหลากหลายสีสัน และงดงามยิ่งกว่าเดิม
และนี่คือ 6 เรื่องราวความภูมิใจที่หลากหลายของ LGBTQA+ ที่มีมากกว่าเรื่องเพศ กับแคมเปญล่าสุด ‘Proud To Be’ ของ Converse
#ConversePride #ConverseAllStars #CreateNext