28 มิ.ย. 2567 | 17:46 น.
“ตอนนี้ก็กำลังคิดเรื่องทำงาน เราอยากเปิดอะไรก็ได้ที่เราอยากเปิดด้วยกัน เปิดร้านนั่นนี่ แล้วก็หาบ้าน เลี้ยงหมา เลี้ยงแมว ก็คืออยากทำงานให้มั่นคง แล้วก็สร้างครอบครัวด้วยกัน เลี้ยงสัตว์ ถ้ามีเงินมากพอก็อยากอุปการะบุตร”
‘หวาน’ และ ‘ฟ้าใส’ คบหาดูใจยาวนานถึง 7 ปี ทั้งคู่ตัดสินใจพร้อมก้าวเดินไปอีกขั้นด้วยการย้ายเข้าอยู่ด้วยกัน และกำลังมองหางานประจำเพื่อความมั่นคงต่อความฝันในลำดับถัด ๆ ไป เมื่อกล่าวเช่นนี้นับเป็นหนทางธรรมดาที่ดูเหมือนไม่ใช่แค่ ‘คู่รักแซฟฟิก’ คู่นี้ เพียงคู่เดียวที่ต้องเผชิญ ทว่าใครจะรู้เรื่องราวภายใต้ความรักหอมฟุ้งตลบอบอวลนี้ ล้วนแลกไปด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตาจากทั้งคู่
การหล่อหลอมความรักขึ้นมาเป็นรูปร่างไม่สามารถใช้เพียงแค่คำพูดหวานซึ้ง หรือรอยยิ้มสะกดใจ เพราะ ‘ความเข้าใจ’ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเฉพาะความเข้าใจเรื่อง ‘เพศสภาพ’ ราวกับสังคมไทยหยุดความคิดไว้เพียงแค่ ‘เพศชาย’ และ ‘เพศหญิง’ เท่านั้น ส่วนใครที่ถูกเบียดออกนอกกรอบก็ได้รับการติดป้าย ‘ผิดเพศ’ ราวกับเป็นโรคที่ควรได้รับการรักษา
โตมาเดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็กลับไปชอบผู้ชายอยู่ดี
สังคมตีกรอบธรรมชาติของเพศไว้แค่ผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งความจริงมนุษย์มีความหลากหลายมากเกินจะสามารถตีกรอบครอบแนวคิดไว้ได้ เพราะความอยากรู้อยากเห็นอันไม่มีที่สิ้นสุดจึงนำมาด้วยการค้นหาอันหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศ และรสนิยมทางเพศ
สิ่งแรกที่เป็นปัญหาต่อการค้นหาอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศ คือ ‘ครอบครัว’ เพราะโลกหมุนเวียนตลอดเวลา ช่องว่างระหว่างวัยเพิ่มพูนขึ้น เมื่อพวกเขาค้นพบสิ่งที่ผิดปกติแปลกออกไปจากกรอบของการรับรู้ทางสังคม จึงนำมาซึ่งคำถามของความสัมพันธ์ระหว่าง ‘หญิงรักหญิง’ เช่น ความสัมพันธ์นี้จะมั่นคงตลอดไปไหม หรือถ้าเลิกกันไปแล้วจะมีโอกาสกลับมาชอบผู้ชายเหมือนเดิมไหม
“มันไม่หายหรอก มันไม่มีทางหาย เพราะมันไม่ใช่โรค แต่มันเป็นสิ่งที่เราเลือก มันคือรสนิยม ความรู้สึกมันบอกว่าชอบคนนี้แล้วมีความสุข แล้วเราจะหายจากความสุขของตัวเองไปทำไม ในเมื่อมันไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บ
“การที่มาชอบผู้หญิง มันไม่ได้เกิดจากการอกหักจากผู้ชาย แล้วก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรด้วย เพราะเราเลือกที่จะชอบของเราเอง เรารู้ตัวว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยน ก็ตอนโตแล้วด้วยซ้ำ”
หวานค้นพบว่าตัวเองมีแรงดึงดูดทางกายและใจกับผู้หญิง เธอจึงนิยามตัวเองด้วยความภาคภูมิใจว่า เป็น ‘เลสเบี้ยน’ (Lesbian) เลือดแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ฟ้าใสก็นิยามว่าตนเองอาจจะเป็น ‘เควียร์’ (Queer) เพราะกำลังค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งคู่อยากสร้างความตระหนักรู้ คือความรักของพวกเธอเป็นสิ่งแท้จริง มั่นคง และไม่มีวันเลิกรา เพราะความรักของพวกเธอไม่ใช่ ‘โรค’ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดปกติที่จำเป็นต้องแก้ไขหรือรักษาให้หาย
มากไปกว่านั้น พวกเธออยากประกาศแก่สังคมเพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ว่า ความรักของพวกเธอไม่มีความเป็นชายเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีใครเป็นรุก ไม่มีใครเป็นรับ ไม่มีใครเป็นผู้นำ ไม่มีใครต้องเข้มแข็ง และไม่มีใครจำเป็นต้องตัวใหญ่กว่าอีกฝ่ายเพื่อปกป้อง พวกเธอเป็นเพียงผู้หญิงรักผู้หญิงที่ผลัดแบ่งดูแล รักษา และปกป้องกันไปมาตามสถานการณ์ที่กำหนด พวกเธอไม่ต้องการให้ใครมาตีกรอบหรือกำหนดหน้าที่ความเป็นชายให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงเลือกกำหนดทุกสิ่งของความสัมพันธ์ผ่านการพูดคุย เรียนรู้ และแก้ไขไปด้วยกัน
ความฝันของหวานและฟ้าใสเรียบง่ายเกินกว่าที่ใครคาดคิด ไม่ต้องมีบ้านหลังใหญ่ราวคฤหาสน์ ไม่ต้องมีเงินทองมากมายเกินจะนับไหว พวกเธอเพียงต้องการ ‘ความเป็นครอบครัว’ เฉกเช่นคู่รักทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการประกอบธุรกิจครอบครัวด้วยกัน การแต่งงาน การสร้างบ้าน การเลี้ยงสัตว์ หรือการอุปการะบุตร
แต่การเป็นผู้หญิงรักผู้หญิงในประเทศไทย (ในอดีต) ได้ถูกลิดรอนสิทธิบางอย่างไป ทั้งกฎหมายในประเทศที่ยังไม่อนุญาตให้แต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน หรือสิทธิการเลี้ยงดูบุตรที่ยังถูกจำกัด
ดังนั้นสิ่งที่ทั้งคู่วาดฝันอาจต้องพังทลาย หรือต้องหากำลังทรัพย์อีกมากมายเพื่อสนับสนุนความฝันธรรมดา ที่ประเทศไทยในเวลานั้นไม่สามารถให้แก่พวกเธอ ทั้งที่ความจริงพวกเธอก็เป็นหนึ่งในประชาชนผู้ทรงสิทธิ แต่กลับได้รับการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม ต้องรอใครผู้ไม่รู้ในความสัมพันธ์มาอนุญาตในการดำเนินความฝัน
“ตอนแรกพวกเราคิดวางแผนจะไปต่างประเทศเพื่อจดทะเบียนสมรสกันเลยดีไหม แต่ว่าก็มีปัญหาอื่นเข้ามา เรื่องค่าครองชีพ เรื่องการเมืองอะไรพวกนี้”
ความยากลำบากของการสร้างครอบครัวเป็นที่รู้กันดีว่า ต้องเตรียมความพร้อมหลายด้าน แต่เมื่อเป็นการสร้างครอบครัวฉบับชาว LGBTQIAN+ ยิ่งยากไปกว่าเดิม ทั้งในเรื่องกฎหมาย ทรัพย์สินเงินทอง สภาพแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ การอุ้มบุญ หรือการอุปการะบุตรบุญธรรม
ไม่ใช่เพียงแค่คู่รักแซฟฟิกคู่นี้ที่กำลังเผชิญกับปัญหารากลึกของสังคมไทยในขณะนั้น แต่ยังรวมถึงคู่รัก LGBTQIAN+ มากมายด้วยเช่นกัน ถึงแม้คู่รัก LGBTQIAN+ จะมีความฝันเหมือนกับคู่รักรสนิยมรักต่างเพศ แต่สิทธิและความเท่าเทียมบางอย่างก็มิอาจเทียบเท่า ความฝันธรรมดาของคู่รัก LGBTQIAN+ จึงยากที่จะฝัน
“ตอนแรกก็คิดว่าจะตั้งครรภ์ดีไหม ผสมเทียมแล้วก็เอามาใส่กับท้อง แต่พอมาคุยกัน คำตอบคือไม่เอา
“ก็เลยนั่งคิดว่าถ้าจะมีลูก เลือก Adopt ดีกว่า เพราะยังมีเด็กที่รอคอยโอกาสตลอดเวลา จะได้ช่วยเหลือเด็กที่อยากได้ครอบครัวด้วย ถ้าเลี้ยงใครสักคนก็จะดูแลให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะกว่าจะถึงตอนนั้นทุกอย่างก็คงพร้อมหมดแล้ว มีแม่เมื่อพร้อม แล้วลูกก็จะได้แม่ - แม่ด้วย”
อีกหนึ่งคำถามที่น่าสนใจคือสังคมยังมองการอุปการะบุตรบุญธรรมในแง่ลบ โดยมีความเชื่อถึงบุตรที่อุปการะมามิอาจกตัญญูเทียบเท่ากับบุตรที่เกิดจากสายเลือด ตามสำนวนสุภาษิต “เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ”
“อาจจะเป็นค่านิยมของคนสมัยก่อน
“เขาอาจจะเคยเห็นอะไรมาก็ได้ เราจะไปรู้ได้ยังไงว่าการเลี้ยงดูเด็กคนนั้นเป็นยังไงบ้าง อาจจะเลี้ยงไม่ดีก็ได้ เขาถึงไม่รักครอบครัว”
หวานและฟ้าใสแสดงความคิดเห็นเรื่องค่านิยมการอุปการะบุตรบุญธรรม ทั้งคู่เชื่อว่าบนโลกนี้ไม่มีใครชั่วร้ายมาตั้งแต่กำเนิด การตัดสินใครไม่ควรมองแค่เปลือกนอก แต่ต้องมองลึกลงไปถึงแก่นรากพื้นฐานของครอบครัว โดยมีจุดมุ่งสำคัญคือได้รับความรักเต็มที่หรือไม่ ทั้งคู่จึงวางแผนเป็นลำดับขึ้นตอนว่า การอุปการะบุตรต้องมีความพร้อมทั้งทรัพย์สินและที่อยู่ มีสถานที่กว้างขวางพอให้ลูกวิ่งเล่น สภาพแวดล้อมและสังคมรอบข้างต้องส่งเสริมต่อการเรียนรู้ ยามเจ็บไข้ต้องมีเงินสำรองเพียงพอ และต้องตอบสนองต่อความต้องการของลูกอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้ลูกต้องมีแนวคิดไม่ได้ขอให้เกิดมา
นอกเหนือไปจากนี้คือต้องสร้างการรับรู้ความสัมพันธ์แบบแม่ - แม่ในครอบครัว สอนให้ลูกเรียนรู้และเข้าใจว่าบนโลกใบนี้มีความสัมพันธ์หลากหลายมากกว่าแค่ครอบครัวอันประกอบด้วยพ่อ - แม่ การที่ครอบครัวของเรามีแม่สองคนไม่ใช่เรื่องแปลก ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการตระหนักรู้ใหม่แก่สังคมไทย และเป็นการทำลายกรอบความคิดของสังคมว่า ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบไม่จำเป็นต้องประกอบด้วยพ่อ - แม่ เสมอไป
เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ความฝันบางส่วนอาจต้องหล่นหาย เพราะกฎหมายสมรสเท่าเทียมยังไม่รองรับการเลี้ยงดูบุตรร่วมกันสำหรับคู่รัก LGBTQIAN+ รวมถึงการอุ้มบุญ หรือการใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ ดังนั้นปัญหาสำคัญคือ กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เป็นเพียงชื่อ แท้จริงยังคงไม่มีความเท่าเทียมในกลุ่มคู่รัก LGBTQIAN+ เนื้อหาสำคัญในกฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงไม่ใช่แค่การแต่งงานกับทุกเพศ หรือจัดทรัพย์สินร่วมกัน แต่สำหรับบางคู่ การเลี้ยงดูบุตรก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องการเช่นกัน
เราถามหวานและฟ้าใสถึงกฎหมายสมรสเท่าเทียม หากผ่านอย่างสมบูรณ์ พวกเธอมีแผนจะทำอะไรต่อ ทั้งสองมองหน้าแล้วตอบว่า “แน่นอนว่าต้องจดทะเบียน” จากนั้นก็หันไปยิ้มพร้อมกับหัวเราะด้วยกัน เป็นภาพที่เราไม่มีทางลืมเลยว่า ความสุขที่เราได้มาตลอดในฐานะผู้ที่นิยามตัวเองว่า ‘ตรงเพศ’ กลายเป็นเรื่องใหม่ที่คู่รัก LGBTQIAN+ ต้องเผชิญหน้าต่อสู้เพื่อไขว่คว้า
เราอาจจะได้รับสิทธิจนเคยชินและละเลยไปว่า ในประเทศไทยยังมีกลุ่มเพศหลากหลายที่ยังคงไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับกลุ่มคนรสนิยมรักต่างเพศ ดังนั้นกฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงเป็นคำตอบแรกของทุกคำถาม ที่หลายคนต่างเฝ้ารอเพื่อมองหาดอกไม้ดอกแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความหวังที่จะให้เป็น ‘ของขวัญ’ แก่คู่รัก LGBTQIAN+ หรือคนที่กำลังค้นหาตัวเองในประเทศนี้ ไม่ว่าคุณจะนิยามอัตลักษณ์ หรือเพศวิถีของตนเองว่าอะไร แต่กฎหมายจะโอบรับทุกความหลากหลายโดยไม่ละทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง สมชื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียม
“สำหรับใครที่กำลังสับสน หรือกำลังอยู่ในช่วงค้นหาตัวเอง ก็อยากจะบอกให้โอกาสตัวเองได้ลอง ไหน ๆ สมัยนี้ก็เข้าถึงสื่อง่ายอยู่แล้ว ลองเปิดใจดู สมมติคิดว่าตัวเองเป็นผู้ชายแท้มาตลอด แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดชอบแต่งหญิงขึ้นมาก็ไม่ได้หมายความว่าจะหันไปชอบผู้ชาย บางคนเป็นผู้ชายที่ชอบผู้หญิง แล้วก็ชอบแต่งหญิงไปด้วย มันก็ไปกันได้ ก็ให้โอกาสตัวเองได้ลอง อย่าตกใจกลัว อย่าต่อต้านความเป็นตัวเอง เพราะนั่นคือความทุกข์ที่สุดแล้ว เพราะเรื่องเพศมันคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต มันคือความลื่นไหล
“อยากฝากให้สังคมรับรู้ว่า ความรักก็คือความรัก และความรักมันมีเพศ แต่ถ้าเพศมันไม่เหมือนกับกรอบของสังคมที่กำหนดไว้สองเพศ เราก็อย่าไปขัดขวางเขา มันเกิดขึ้นได้กับทุกคน มันไม่ใช่โรค มันไม่ใช่ปัญหาทางจิตใจ มันคือความรู้สึกที่อยากจะเป็น ก็ปล่อยให้มันเป็นไป เพราะมันไม่เคยทำร้ายใคร”
และนี่คือทั้งหมดที่หวานกับฟ้าใสฝากเรามา เพื่อเป็นตัวแทนในการถ่ายทอดเรื่องราวความรักของคู่รักแซฟฟิกธรรมดา ที่คุณอาจจะกำลังเดินสวนทาง ณ ห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง สวนสาธารณะใกล้หมู่บ้าน หรือในสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส กับความฝันธรรมดาเหมือนคู่รักรสนิยมรักต่างเพศ ซึ่งความธรรมดาเหล่านี้กลับต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา แต่ทั้งคู่ไม่ยอมแพ้และจะยังคงสู้เพื่อสิทธิของคู่รัก LGBTQIAN+ ต่อไป ด้วยความหวังที่ประเทศไทยจะพัฒนาและโอบรับเพศหลากหลายมากขึ้น
เรื่อง : ณัฐฐาภรณ์ ศิริสลุง