สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กับการพัฒนาคนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กับการพัฒนาคนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กับภารกิจที่ท้าทายในการพัฒนาคนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ทุกคนก้าวทันโลกอนาคต

“การศึกษาความรู้สำคัญตรงที่ว่าต้องศึกษาเพื่อให้เกิดความฉลาดรู้ คือรู้แล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรกเมื่อจะศึกษาสิ่งใดให้รู้จริง ควรจะศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่มุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางขั้นตอน หรือเพ่งเล็งเพียงแต่เฉพาะบางแง่บางมุม

อีกประการหนึ่งซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือ ต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นด้วยความคิด จิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปกติและเที่ยงตรงเป็นกลาง” ตอนหนึ่งของ พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2523 

พระบรมราโชวาทนี้ สะท้อนถึงคุโณปการของการศึกษา ซึ่งหมายความรวมถึงการศึกษาทุกรูปแบบ และหนึ่งในการศึกษาแห่งโลกอนาคตคือ ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ หรือ ‘Lifelong Learning’ ที่เป็นการพัฒนาส่วนบุคคลทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ก่อตั้งขึ้นจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 สถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับ ‘Lifelong Learning’ การไม่หยุดเรียนรู้ เพื่อให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

ไปรู้จักกับ 6 ตัวแทนผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 44 มหาบัณฑิตระดับปริญญาโท และดุษฎีบัณฑิตระดับปริญญาเอก ผู้ผ่านการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาที่นิด้า ช่วยหล่อหลอมสร้างทักษะกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต การ Self-Directed Learning ผ่านการตั้งเป้าหมาย หาวิธีการเรียนรู้ และลงมือทำอย่างเป็นระบบ เกิดองค์ความรู้คู่การพัฒนาในหลากหลายศาสตร์

‘Passion and Education’ เรียนสิ่งที่ชอบ ต่อยอดสู่อนาคตที่ใช่

ดร.เสสินา นิ่มสุวรรณ์ ปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ นิด้า อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กับการพัฒนาคนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“ผมคือผลผลิตที่ล้มเหลวจากระบบแนะแนวของบ้านเรา เราเรียนแนะแนวสมัยมัธยมฯ เหมือนเป็นคาบว่าง ไม่รู้ว่าอยากทําอะไร ไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไร ไม่รู้ว่าเรียนจบแล้วจะทําอะไรต่อ” ดร.เสสินา นิ่มสุวรรณ์ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ เปิดบทสนทนาด้วยช่วงเวลาในวัยของการค้นหาตนเอง

แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมือง เหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 เพื่อนนักเรียนต่างพูดคุยเรื่องประเด็นการเมือง ทำให้สนใจเรียนต่อด้านกฎหมาย จึงศึกษาต่อคณะนิติศาสตร์ แต่ก็รู้สึกยังไม่ได้สนใจในสายอาชีพยอดฮิต อย่างทนายหรือผู้พิพากษา จึงตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาโทที่คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

การศึกษาที่นี่ เปิดโลกการเรียนรู้ด้านนิติศาสตร์อีกรูปแบบที่มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน ถกเถียงประเด็นต่าง ๆ กับเพื่อนร่วมชั้นและผู้สอน และเขามักจะโน้ตเนื้อหาการเรียน และนำมาสรุปประเด็นให้เพื่อน ๆ จึงค้นพบความถนัดในการสรุปความ และการถ่ายทอดความรู้แก่ผู้อื่น จนเกิดความสนใจสายงานด้านการศึกษา ต่อยอดสู่การเป็นอาจารย์ และก้าวสู่การศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในคณะนิติศาสตร์เช่นเดิม

“ตอนเรียนปริญญาโท - เอก ที่นิด้า ผมชอบกระบวนการเรียนวิชาสัมมนาปัญหากฎหมาย ที่แต่ละคนเอาหัวข้อที่สนใจมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมา ได้คิดอย่างเป็นระบบ ประยุกต์รูปแบบการเรียนการสอนไปใช้ในคลาส เน้นการมีส่วนร่วม การดีเบต นํากระบวนการเรียนรู้ให้นักศึกษาได้ซึมซับความรู้ในห้องเรียน”

เขาได้นำแนวทางการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมไปปรับใช้ในการสอนนักศึกษาของตนเอง เป็นงานที่ตอบโจทย์ ความถนัด และตรงกับความสนใจสายนิติศาสตร์ด้วย

ดร.สุรพร มุลกุณี ปริญญาเอก คณะการจัดการการท่องเที่ยว นิด้า อาจารย์ประจำสาขาการจัดการธุรกิจการบิน คณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กับการพัฒนาคนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต


จากคนที่โลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนานหลายปี ทั้งการทำอาชีพไกด์ การทำงานภาคพื้นของสายการบิน กระทั่งเกิดความรู้สึกว่าอาชีพที่ทำอยู่ไม่ได้สร้างความท้าทายอีกต่อไป เธอจึงตัดสินใจเบนเข็มสู่เส้นทางระดับบัณฑิตศึกษาด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่นิด้า

“เราอยู่ในสายงานท่องเที่ยวมาหลายปี ตอนเป็นไกด์รู้สึกว่าไม่ได้ชาเลนจ์ตัวเอง มันเป็นงานรูทีน จะเปลี่ยนแปลงแค่เมื่อทําโปรแกรมใหม่ อาจจะไม่เกิดการเรียนรู้เลย แต่ยังอยากอยู่ในแอเรียนี้อยู่ เลยตั้งคำถามว่าเราลองเรียนต่อปริญญาโทดูไหม ก็ลองหาข้อมูลแล้วชอบหลักสูตรการสอนของที่นิด้า รวมถึงบรรยากาศในการเรียนด้วย” ดร.สุรพรเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นการศึกษาที่เป็นภารกิจใหม่

การเรียนที่นิด้าทำให้ได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง ด้านงานวิชาการ การเขียนบทความ ก็ทําโครงการวิจัยกับอาจารย์ ถือเป็นความสนุกและท้าทาย จนได้เริ่มเส้นทางอาชีพใหม่กับบทบาทการเป็นอาจารย์ประจำสาขาการจัดการธุรกิจการบิน คณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และได้รับการชักชวนจากอาจารย์ให้ศึกษาในระดับปริญญาเอกต่อ โดยได้รับทุนจากทางสถาบัน

โดยการศึกษาที่คณะการจัดการการท่องเที่ยวที่นิด้า ทำให้ได้รู้จักผู้คนจากหลากหลายอุตสาหกรรม ได้บูรณาการความรู้ในแต่ละศาสตร์ร่วมกัน ทั้งภาคส่วนการบิน การโรงแรม กฎหมาย และอื่น ๆ ได้ทั้งองค์ความรู้และเกิดเครือข่าย ตลอดจนการได้เห็นทฤษฎีใหม่ หรือเรื่องราวใหม่ที่เกิดจากผลจากการวิจัยที่เป็นสถานการณ์จริงในโลกยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้การได้ศึกษาในระดับปริญญาเอก ยังทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะในทุกขั้นตอนของการทําวิจัย การทําวิทยานิพนธ์ไปจนถึงดุษฎีนิพนธ์ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อยู่ตลอด

“วิธีการเรียนที่ให้เราได้ลองทํา ลองผิด ลองถูก เป็นกระบวนการที่สอนให้คิดอย่างเป็นระบบ อาจารย์สอนให้เรารู้จักหาข้อมูล รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง ถ้ายังค้นหาคำตอบไม่ได้ แปลว่าเรายังเรียนรู้ไม่เยอะพอ สิ่งนี้เป็นข้อดีที่ได้จากนิด้า จนวันที่ได้เข้าใจกระบวนการนี้ นั่นคือที่เรียกว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ดร.สุรพรกล่าวทิ้งท้าย

การเรียนรู้ควบคู่การพัฒนา

ดร.กฤษณะ โชติรัตนกมล ปริญญาเอก คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร นิด้า อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กับการพัฒนาคนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

จังหวะชีวิตที่ต่างกัน บางคนค้นพบความชอบเมื่อได้เรียน บางคนค้นพบตัวเองตั้งแต่ในวัยเยาว์ เช่นเดียวกับ ดร.กฤษณะ โชติรัตนกมล ที่รู้ตัวเองตั้งแต่วัยมัธยมฯ ว่าอยากจะประกอบอาชีพอาจารย์จากการชอบถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่น และมองหาการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 และได้รับทุนที่นิด้า ทำให้เมื่อศึกษาจบระดับปริญญาโท ก็ได้เป็นอาจารย์ตามความตั้งใจ

“การเรียนที่นิด้า ทำให้เกิดทักษะและประสบการณ์ทางด้านการวิจัยที่เพิ่มขึ้น อันนี้ก็ถือว่าเป็นจุดแข็งของผมเลย วิชาที่สอนที่วิทยาลัยป๋วย ก็เน้นวิชาวิจัยเป็นหลัก เราก็ไปเติมเต็มด้านการวิจัยเชิงปริมาณให้กับองค์กร เพราะการจะมองอะไรด้านเดียว อย่างการวิจัยเชิงคุณภาพ ไม่ตอบโจทย์ผู้เรียนและทางคณะ แต่ต้องมีงานทางด้านเชิงปริมาณหรือตัวเลข ซึ่งผมก็ได้ประยุกต์ความรู้จากการเรียนที่นี่”

นอกจากนี้ การศึกษาที่นิด้ายังไม่มีการตีกรอบองค์ความรู้ หรือแนวทางการศึกษาของผู้เรียน สอดรับกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ ตลอดจนการศึกษาตามอัธยาศัย
“หลักสูตรของปริญญาเอกที่นิด้า เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างแท้จริง ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น เรียนด้วย Growth Mindset นักศึกษาสามารถเรียนอะไรก็ได้ ภายใต้กระบวนทัศน์ที่เรามีคือการพัฒนาสังคม”

นอกจากนี้ จากการได้ผ่านการเรียนและการทำงานในสถาบันการศึกษามา 3 - 4 สถาบัน พบว่าที่นิด้ามีความเป็นวิชาการเข้มข้นมาก เนื่องจากอาจารย์ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเทคนิคการทําวิจัย ที่เป็นรากฐานของการคิดอย่างเป็นระบบ ที่ต้องประกอบไปด้วยทฤษฎี ผ่านการประมวลเอกสาร เพื่อนําไปสู่ข้อสรุป

“การวิจัยทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบ Self-directed Learning คือนําตัวเองไป อยากเรียนอะไร ก็ค้นคว้า อาจารย์ก็จะเป็นผู้โค้ชชิ่ง ก็จะเป็นรูปแบบการเรียนที่อยู่ในขอบเขตของการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่อยู่ในรูปแบบ Formal Education”

ดร.เอกภัทร ลักษณะคำ ปริญญาเอก คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กับการพัฒนาคนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนจากการที่ ดร.เอกภัทร ลักษณะคำ ต้องการนำองค์ความรู้วิชาการ ไปใช้ในการสอนนิสิต ทำให้ตัดสินใจศึกษาระดับปริญญาเอก ที่คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

“ปรัชญาของนิด้า เน้นเรื่องของการพัฒนา คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ จึงเน้นองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนา มีหลากหลายส่วนผสม เช่น เศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ การเงิน การธนาคาร เน้นการเอาองค์ความรู้ไปใช้ในการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ดร.เอกภัทร สนใจศึกษาด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อาจส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม กระทบกับทรัพยากร งานที่ศึกษาค้นคว้าในขณะศึกษาต่อ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการสร้างความเจริญเติบโตของประเทศ

การเลือกหัวข้อศึกษาวิจัยอาจเป็นสิ่งที่ดูยากที่สุด แต่ยังมีโจทย์ใหม่ คือจากการเป็นนักเรียนที่เรียนหลักสูตรภาษาไทยมาตลอด ตั้งแต่การศึกษาชั้นอนุบาลจนถึงระดับปริญญาโท เมื่อได้เรียนหลักสูตรนานาชาติที่นิด้า ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่เมื่อมีเพื่อนร่วมชั้นที่เป็นสังคมที่อบอุ่น กลายมาเป็นเพื่อนกันตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา

ประกอบกับสถานที่ที่เหมาะต่อการเรียนรู้ ความเงียบสงบ ห้องสมุดที่มีหนังสือมากมายเป็นแหล่งข้อมูลให้ได้ค้นคว้า อาจารย์ผู้สอนที่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้อย่างดี สามารถนำแนวทางการสอนไปปรับใช้ต่อได้ หรือตัวบุคลากรในสถาบันที่มีความเป็นมืออาชีพ เอาใจใส่ดูแล ทำให้การเรียนการทำวิจัยราบรื่นมากขึ้น

ระเบิดศักยภาพ - เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ

รศ. รอ. พญ.ณัฏฐา สายเสวย ปริญญาโท คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นิด้า ผู้ช่วยคณบดี (รองคณบดีคนที่ 2), ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล, ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญา อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กับการพัฒนาคนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต


การสวมหมวกแพทย์เพียงใบเดียวอาจทำให้เข้าใจกระบวนการทำงานในมุมการแพทย์เป็นหลัก แต่เมื่อต้องสวมหมวกอีกใบในการเป็นนักบริหาร ทำให้ตัดสินใจเริ่มต้นศึกษาในศาสตร์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปใช้ในองค์กร

เนื่องจากหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบด้านการจัดการและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงได้ปรึกษาอาจารย์ที่คณะ ซึ่งแนะนำให้มาศึกษาต่อที่นิด้า เพราะเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นเหมือนพาร์ตเนอร์ในการช่วยงานศิริราชพยาบาลมายาวนาน

“การได้มาเรียนปริญญาโทที่นิด้า เป็นทางลัดในด้านการหาความรู้และประสบการณ์ เพราะได้เรียนกับคนที่เป็นกูรูในเรื่องนั้นจริง ๆ ที่ผ่านมาในการทำงานทรัพยากรมนุษย์ เราอาจตัดสินใจในลักษณะของเมตตาธรรมแบบหมอกับคนไข้ แต่พอได้เรียน จึงได้เข้าใจมุมมองในกรอบของ HR และในมุมของการเป็นผู้บริหารด้วย” รศ. รอ. พญ.ณัฏฐากล่าว

มากไปกว่าความรู้ที่ได้ คือการเกิดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ การสร้าง Ecosystem ของการเรียนรู้หลายรูปแบบ เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ออกนอกกรอบจากการลงมือทำจริง การได้เยี่ยมชมธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ การศึกษาดูงานที่มีภารกิจให้ทำเหมือนการเล่นเกม ไม่ได้จำกัดแค่ความรู้ที่เกิดจากการเขียนเปเปอร์เพียงเท่านั้น

“การเรียนระดับปริญญาโทที่นิด้า เหมือนเราได้ระเบิดศักยภาพของตัวเองออกมา อาจารย์ไม่ได้สอนแค่ตามวัตถุประสงค์การเรียน แต่มีความเป็นครูสูง ช่วยให้เราได้พัฒนาตัวเองมากกว่าที่คิดไว้ จนเมื่อเรียนจบ ก็แปลกใจมากว่า เราสามารถพัฒนาตัวเองมาได้ถึงขนาดนี้” รศ. รอ. พญ.ณัฏฐากล่าวทิ้งท้าย

ผศ. ดร.จิรนนท์ พุทธา ปริญญาเอก คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม นิด้า รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและพัฒนาและอาจารย์ประจำ สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กับการพัฒนาคนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

จากนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ที่ทำหน้าที่ตรวจวัดสุขภาพสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศไทย ที่เป็นคนชอบเรียนรู้ ต้องการพัฒนาตนเอง จึงศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและได้ทุนการศึกษาที่นิด้า จนได้ทำงานสายวิชาการคือการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

หลังเริ่มชีวิตอาจารย์ได้เพียง 1 เทอม คิดว่าต้องการองค์ความรู้เพิ่มเติมเพื่อไปปรับใช้ในการสอนนักศึกษาเพิ่ม จึงตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาเอก คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ต่อทันที

“เราเลือกจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการนโยบาย ด้านแผน ที่นิด้าตอบโจทย์ในแง่ของหลักสูตรสิ่งแวดล้อมทั้งเรื่องของวิทยาศาสตร์ และสายวิศวกรรม ซึ่งผมมุ่งมั่นเรื่องการจัดการเป็นหลัก ประกอบกับความประทับใจตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาโท ที่เราได้ความรู้ด้านการทำวิจัยมาเยอะ จุดเด่นของที่นี่คือความใกล้ชิดกับอาจารย์ผู้สอน เราสามารถเคาะประตูขอคำปรึกษาได้ รวมถึงบรรยากาศที่เหมาะกับเรียนรู้”

ทำให้การเรียนที่นิด้า ได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ แต่ไม่ได้เผชิญภาวะเครียด หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพจิต ในระหว่างเรียนก็ได้ช่วยงานวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษาไปด้วย จนเกิดความชํานาญในกระบวนการทําวิจัย เกิดการการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้งานจากอาจารย์ที่ปรึกษา

“ปัจจุบันการเรียนรู้ มีทั้งรูปแบบของการเรียนเป็นคอร์สหรือว่าการเรียนในระบบ ถ้าเราอยากจะแค่พัฒนาตัวเองในเชิงของการหาความรู้ทั่วไป ก็ไปเทคคอร์สได้ แต่พอเข้ามาศึกษาในระดับปริญญาเอก จะเกิดกระบวนการคิดเชิงลึก กระบวนการแก้ปัญหา งานวิจัยเราเจออะไร เราจะแก้ปัญหาอย่างไร สิ่งที่ได้ฝึกคือการพัฒนาในเชิงองค์ความรู้ที่เอามาต่อยอดร่วมกันได้”

จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในที่สุดก็สามารถนำแนวทางการเรียนการสอนของที่นิด้าไปปรับใช้ในการสอนนักศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Project-based Learning โดยมอบโจทย์ให้นักศึกษาได้ฝึกคิด และนำวิธีการมาแลกเปลี่ยนกัน 

“ผมมองว่าอาจารย์ในยุคนี้ ที่จะเสริมสร้างการเรียนรู้ให้เด็กได้ จะไม่ใช่แค่คนที่ถ่ายทอดความรู้ได้ดี แต่ต้องมีบทบาทความเป็นโค้ช ไม่มีหน้าที่บอกว่าคำตอบของเด็กผิดหรือถูก แต่ว่าต้องมีเหตุผลที่มันรองรับคําตอบนั้น นี่คือสิ่งสําคัญในระบบการศึกษายุคใหม่ และทำให้ลูกศิษย์เก่งกว่าเรา นั่นคือการเพิ่มทักษะในการเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง หรือ Lifelong Learning ที่จะทำให้เขาได้เรียนรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโลกได้”

ทักษะแห่งโลกอนาคต

ตัวแทนทั้ง 6 ท่านศึกษาในศาสตร์ที่แตกต่างกัน และมีมุมมองต่อทักษะสำคัญที่ควรมี เพื่อการปรับตัวให้เท่าทันต่อโลกที่มีความผันผวนดังนี้
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กับการพัฒนาคนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ดร.เสสินา นิ่มสุวรรณ์
ปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ - สิ่งที่ต้องมีคือ Digital Skills และทักษะภาษาอังกฤษที่จะช่วยปลดล็อกองค์ความรู้ให้ขยายออกกว้างขึ้น นอกจากนี้ควรมีตรรกะการวิเคราะห์และการเลือกใช้ข้อมูลที่ได้จากการสืบค้นต่าง ๆ เพื่อให้นำข้อมูลไปใช้ได้อย่างถูกต้อง

ดร.สุรพร มุลกุณี ปริญญาเอก คณะการจัดการการท่องเที่ยว - ทักษะในตอนนี้ หนึ่งคนต้องมี Multiple Skills ทั้ง Soft Skills และ Hard Skills องค์กรไม่ได้ต้องการคนที่มีความรู้เฉพาะด้านอย่างเดียว แต่ต้องการคนที่มีความรู้ที่หลากหลายมากขึ้น คนหนึ่งคนต้องทําได้ตั้งแต่กระบวนการวางแผน การหาเครื่องมือ ไปจนถึงหาวิธีแก้ไขปัญหา

ดร.กฤษณะ โชติรัตนกมล ปริญญาเอก คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร - ทักษะสำคัญคือการมี Growth Mindset และการมี Self-Directed Learning คือการเรียนรู้ด้วยการนําตนเองไปสู่สิ่งที่อยากจะทำ อยากจะเป็น การเรียนไม่ใช่เพียงเพื่อให้เกิดความรู้ แต่ยังเพื่อให้เห็นภาพใหม่ มิติใหม่ ผู้คนใหม่ สังคมใหม่ หรือมุมมองใหม่ ๆ ได้

ดร.เอกภัทร ลักษณะคำ ปริญญาเอก คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ - การรู้กว้าง รู้เหมือนเป็ดบ้าง การสร้าง Connection คุยกับคนที่ต่างอาชีพต่างสายงานทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ เมื่อมี Mindset เช่นนี้น่าจะเป็นสารตั้งต้นที่ดี ที่จะได้ความรู้และประสบการณ์ชีวิต จากนั้นก็ต้องมีทักษะการ Adaptability คือนำความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มีไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ 

รศ. รอ. พญ.ณัฏฐา สายเสวย ปริญญาโท คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ - การเรียนรู้คือหัวใจสำคัญ แม้จะยังไม่รู้ว่าตนเองชอบหรือถนัดสิ่งใด แต่การได้ทดลองเรียนรู้ไปก่อน ก็เกิดความรู้ระหว่างทาง และแม้บางครั้งการเรียนในสิ่งใหม่อาจจะเป็นเรื่องยากหรือท้าทาย แต่ถ้าการเรียนรู้นั้น ๆ ส่งผลดีต่อชีวิตตนเองหรือดีต่อประเทศชาติก็ไม่ยากที่จะตัดสินใจ

ผศ. ดร.จิรนนท์ พุทธา ปริญญาเอก คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม - การเรียนรู้เรื่องของเทคโนโลยีแล้วใช้ให้เกิดประโยชน์ และทักษะการสื่อสารเป็นทักษะที่จําเป็น รวมถึงการต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต การรู้จักสังเกต และตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ พร้อมค้นหาคำตอบ เพราะองค์ความรู้สอดแทรกอยู่ในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา

มาร่วมเปิดประสบการณ์โลกแห่งการเรียนรู้ ‘ไม่หยุดเรียนรู้ เพื่อให้ทันโลกเปลี่ยน’ ด้วยหลักสูตรการเรียนต่อระดับปริญญาโท - เอก และหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต กับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ซึ่งมีหลากหลายคณะที่ตอบสนองต่อองค์ความรู้เพื่อการพัฒนา สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://nida.ac.th/