28 ก.พ. 2567 | 13:47 น.
- รูธ ก็อตเทสแมน เป็นอดีตอาจารย์หมอ วิทยาลัยแพทย์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
- เธอได้บริจาคเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 35,000 ล้านบาทให้กับนักเรียนแพทย์ในวิทยาลัยแห่งนี้ได้เรียนฟรี
หากคุณได้รับมรดกเป็นเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 35,000 ล้านบาท พร้อมคำสั่งเสียสั้น ๆ ว่า “ทำอะไรก็ได้กับเงินก้อนนี้ถ้าคิดว่าถูกต้อง” คุณจะนำไปทำอะไร?
สำหรับหญิงหม้ายชาวอเมริกัน วัย 93 ปี ที่ชื่อ ‘รูธ ก็อตเทสแมน’ (Ruth Gottesman) เธอเลือกนำเงินก้อนนี้ที่สามีทิ้งไว้ไปบริจาคเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียนแพทย์ในพื้นที่ยากไร้ หวังใช้สร้างคนให้ออกไปช่วยชีวิตคนมากขึ้น
แม้การบริจาคทุนการศึกษาอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการงานกุศล แต่น้อยคนที่จะกล้าแจกแบบคนชื่อ ‘รูธ’ ซึ่งเป็นการให้แบบไม่เลือกหน้าและไม่ต้องสอบชิงทุนใด ๆ ขอแค่คุณสมัครเข้าโรงเรียนนี้ได้ก็ได้เรียนฟรีทุกคน
นอกจากนี้ยังถือเป็นการบริจาคเงินก้อนใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมาให้กับสถาบันการศึกษา รวมถึงวิทยาลัยแพทย์ในสหรัฐฯ
ปลอดหนี้ - ไม่มีค่าเทอม
“ดิฉันรู้สึกยินดีที่จะแจ้งให้พวกคุณทราบว่า วิทยาลัยแพทย์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จะไม่เก็บค่าเทอมตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ (2024) เป็นต้นไป” รูธ ก็อตเทสแมน ประกาศกลางห้องประชุมขนาดใหญ่ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความดีใจของนักศึกษาหลายร้อยคน
การให้ทุนเรียนฟรีที่สถาบันนี้เริ่มมีผลตั้งแต่ภาคฤดูใบไม้ผลิปี 2024 โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่จ่ายค่าเทอมแล้วจะได้รับเงินคืนทั้งหมด จากนั้นตั้งแต่ภาคเรียนใหม่ในฤดูใบไม้ร่วงเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน จะไม่มีการเก็บค่าเทอมนักศึกษาทุกคนอีกต่อไป
รูธบอกเหตุผลในการแจกทุนการศึกษาครั้งนี้ว่า เธออยากให้นักเรียนแพทย์ที่จบใหม่ออกไปประกอบอาชีพโดยไม่มีหนี้ติดตัว ขณะเดียวกันยังเชื่อว่า ทุนการศึกษาที่เธอให้จะดึงดูดคนทั่วไปให้หันมาเลือกเรียนหมอกันมากขึ้น
นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ปกติวิทยาลัยแพทย์ไอน์สไตน์คิดค่าเทอมปีละกว่า 59,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2 ล้านบาท) โดยหลังเรียนจบออกมา จะมีนักศึกษาเกือบครึ่งที่เป็นหนี้มากกว่า 200,000 เหรียญสหรัฐ (7 ล้านบาท) ขึ้นไป
เมื่อเทียบกับนักเรียนแพทย์จากสถาบันอื่นในนครนิวยอร์กซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเดียวกัน นักศึกษาที่เรียนจบหมอที่อื่นแล้วเป็นหนี้ก้อนโตขนาดเดียวกันมีไม่ถึง 25 %
เพิ่มหมอให้พื้นที่ยากจน
วิทยาลัยแพทย์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ตั้งอยู่ในเขตเดอะ บรองซ์ ซึ่งเป็นย่านเสื่อมโทรมและยากจนที่สุดในนครนิวยอร์ก ดังนั้น การให้ทุนเรียนฟรีที่นี่ นอกจากจะช่วยให้คนหัวดีแต่ขัดสนมีโอกาสเรียนหมอมากขึ้น ยังช่วยให้ชุมชนมีบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย
จากข้อมูลของสถาบันการศึกษาแห่งนี้พบว่า ปัจจุบันนักศึกษาแพทย์ปี 1 ที่ไอน์สไตน์เกือบครึ่งเป็นคนในพื้นที่จากนิวยอร์ก และมีผู้หญิงเรียนอยู่ที่นี่เกือบ 60 %
นอกจากนี้ สถาบันยังมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ โดยมีนักศึกษาเป็นคนผิวขาว 48 % รองลงมา 29 %เป็นคนเอเชีย ส่วนชาวฮิสแปนิกที่พูดภาษาสเปน และคนผิวดำ มีจำนวน 11 % และ 5 %ตามลำดับ
“เรามีนักเรียนแพทย์ที่น่าทึ่งจำนวนมาก แต่สิ่งนี้จะทำให้นักเรียนคนอื่น ๆ อีกหลายคน ซึ่งมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ทำให้เขาไม่เคยคิดแม้แต่จะเข้าเรียนหมอได้มีโอกาสมากขึ้น” รูธเผยถึงเหตุผลที่เลือกบริจาคให้โรงเรียนหมอในเดอะ บรองซ์
จากอาจารย์หมอสู่ผู้บริจาครายใหญ่
รูธ ก็อตเทสแมนคุ้นเคยกับวิทยาลัยแพทย์ไอน์สไตน์เป็นอย่างดี หลังเรียนจบปริญญาตรีที่ ‘บาร์นาร์ด คอลเลจ’ (Barnard College) และปริญญาโทกับปริญญาเอกจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก เธอเริ่มทำงานเป็นอาจารย์ที่นี่ตั้งแต่ปี 1968 โดยเริ่มจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานจิตศึกษาของสถาบัน
ระหว่างทำงานที่วิทยาลัยแพทย์ไอน์สไตน์ รูธศึกษาเกี่ยวกับโรคบกพร่องด้านการเรียนรู้ และเป็นผู้จัดโปรแกรมสอนหนังสือให้กับผู้ใหญ่ที่มีปัญหา นอกจากนี้เธอยังพัฒนาระบบตรวจวัดและประเมินผลผู้ป่วยโรคนี้ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย
เธอไต่เต้าจากอาจารย์หมอด้านกุมารเวชจนกลายเป็นประธานคณะกรรมการจัดการของวิทยาลัย และขณะประกาศข่าวดีเรื่องการให้ทุนเรียนฟรีแบบถ้วนหน้าโดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุดนี้ เธอยังคงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการของสถาบันดังกล่าว
“ดิฉันรู้สึกซาบซึ้งใจมากที่แซนดี้ สามีผู้ล่วงลับทิ้งเงินทุนเหล่านี้ไว้ให้ดูแล และฉันก็รู้สึกโชคดีที่ได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ในการมอบของขวัญชิ้นนี้เพื่อใช้ในสิ่งที่มีคุณค่า” รูธขอบคุณสามีผู้เป็นที่มาของเงินบริจาคก้อนโต
ภรรยาเพื่อนสนิทบัฟเฟตต์
รูธ ก็อตเทสแมน เกิดในปี 1930 เป็นชาวเมืองบัลติมอร์จากรัฐแมริแลนด์ เธอแต่งงานกับ ‘เดวิด ก็อตเทสแมน’ หรือ ‘แซนดี้’ มหาเศรษฐีนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อปี 1950
ทั้งคู่ครองรักด้วยกันมายาวนาน 72 ปี มีลูกด้วยกัน 3 คนก่อนที่สามีจะลาจากโลกนี้ไปในวัย 96 ปี เมื่อปี 2022 แซนดี้เป็นนักเล่นหุ้นผู้ก่อตั้งบริษัท ‘เฟิร์ส แมนฮัตตัน’ ในปี 1964 และเป็นเพื่อนซี้กับ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ มหาเศรษฐีนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) ผู้ก่อตั้งบริษัทการลงทุนชื่อดังอย่าง ‘เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์’
นิตยสารฟอร์บส ประเมินว่า ตอนแซนดี้เสียชีวิต เขามีทรัพย์สินสุทธิมากถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่มาจากการถือครองหุ้น ‘คลาสเอ’ จำนวน 6,402 หุ้นของเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ในฐานะนักลงทุนรุ่นบุกเบิกของบริษัท
“(แซนดี้) ทิ้งหุ้นเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ในพอร์ตโฟลิโอทั้งหมดไว้ให้ฉันโดยที่ฉันไม่รู้ตัว” รูธกล่าวถึงที่มาของความมั่งคั่งของเธอ ซึ่งมาพร้อมคำสั่งเสียสั้น ๆ ว่า จงทำอะไรก็ได้ที่คิดว่าใช่กับมรดกที่ทิ้งไว้ก้อนนี้
หลังจากเธอปรึกษากับลูก ๆ และทุกคนเห็นพ้องให้นำไปบริจาคเพื่อการกุศลตามความตั้งใจของแม่ รูธจึงประกาศมอบเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้วิทยาลัยแพทย์ไอน์สไตน์ พร้อมเงื่อนไขใช้เป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนทุกคน
แรงบันดาลใจจากนิทานอีสป
จุดเริ่มต้นความตั้งใจในการบริจาคเงินก้อนโตครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2020 ช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดหนักโดยทั้งรูธและสามีในวัย 90 กว่าปี ล้วนติดเชื้อโควิด-19
ทันทีที่นายแพทย์ฟิลิป โอซูอาห์ (Dr.Philip Ozuah) ผู้บริหารวิทยาลัยแพทย์ไอน์สไตน์คนปัจจุบันทราบข่าว เขารีบส่งรถพยาบาลไปรับทั้งคู่มารักษาตัวที่ศูนย์การแพทย์มอนติฟิออเร (Montefiore Medical Center) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือ และเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดในเขตเดอะ บรองซ์
จากนั้นเมื่อทั้งคู่อาการดีขึ้นและกลับไปพักฟื้นที่บ้าน หมอฟิลิปยังเดินทางไปบ้านของทั้งคู่ด้วยตัวเองทุกวัน เพื่อตรวจดูอาการให้แน่ใจจนกระทั่งพวกเขาหายดี
ความเอาใจใส่ของหมอฟิลิป รวมถึงการชักชวนให้รูธกลับไปนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการจัดการวิทยาลัยแพทย์ไอน์สไตน์อีกครั้งในวัยกว่า 90 ปี ทำให้เธอซาบซึ้งใจ และนึกถึงนิทานอีสปเรื่อง ‘ราชสีห์กับหนู’ พร้อมตั้งใจว่า สักวันเธอจะเป็น ‘หนู’ ที่ตอบแทนบุญคุณให้ ‘ราชสีห์’ อย่างหมอฟิลิป
ด้วยเหตุนี้เมื่อเธอได้มรดกก้อนโตจากสามี เธอจึงตอบแทนบุญคุณนี้ด้วยการบริจาคให้หมอฟิลิป และสถาบันที่เคยช่วยชีวิตเธอ
ปฏิวัติวงการนักเรียนหมอ
“การบริจาคครั้งนี้ถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ให้กับการดึงดูดนักศึกษาที่ยึดมั่นตามพันธกิจของสถาบัน ไม่ใช่แค่ผู้ที่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนไหวเท่านั้น” วิทยาลัยแพทย์ไอน์สไตน์ ซึ่งรับนักศึกษาใหม่ปีละกว่า 100 คน ระบุในแถลงการณ์
ขณะที่ผู้บริจาคอย่างรูธ ก็อตเทสแมน หวังว่า การให้ของเธอจะเป็นประตูบานใหญ่ที่เปิดให้นักศึกษาทั้งในสาขาแพทยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่จบไปจากสถาบันแห่งนี้คลายความกังวลเรื่องใช้หนี้ และมีพลังในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับสังคมมากขึ้น
อีกเหตุผลที่คนล้วนพูดถึงการบริจาคของรูธ คือ การให้โดยไม่หวังผลตอบแทนส่วนตัว เนื่องจากก่อนหน้านี้เศรษฐีหลายคนมักให้โดยหวังได้หน้า หรืออยากมีชื่อเป็นเกียรติอยู่ในสถาบันเหล่านั้นที่ตนเองให้เงิน
แต่กับรูธ ก็อตเทสแมน ซึ่งบริจาคมากกว่าเศรษฐีเหล่านั้นหลายเท่า เธอไม่เคยคิดใช้เงินบริจาคต่อรองเพื่อเปลี่ยนชื่อสถาบันเป็นชื่อตัวเอง โดยกล่าวติดตลกว่า ชื่อ‘วิทยาลัยแพทย์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ ตามชื่อนักฟิสิกส์อัจฉริยะเจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพแบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว
เรียกว่านอกจากจะปฏิวัติวงการนักเรียนแพทย์ ยังปฏิวัติวงการนักบริจาคด้วย เพราะนอกจากเงินของเธอจะช่วยพัฒนาคนให้เป็นหมอเพื่อออกไปรักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์แล้ว ยังเป็นการทำบุญแบบไม่เอาหน้า และไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตัวแต่อย่างใด
.
ภาพ : Getty Images
.
อ้างอิง
.