17 ก.ค. 2567 | 17:55 น.
KEY
POINTS
“นี่มันบ้ามาก! เหมือนฝัน แต่ไม่ใช่ฝัน ฉันชนะมาสเตอร์เชฟ ออสเตรเลีย!”
ชื่อของ ‘แนท ไทยพัน’ บาริสต้าชาวไทย จากรัฐวิกตอเรีย ในวัย 28 ปี ถูกพูดถึงอย่างถล่มทลาย หลังจากสามารถเอาชนะเชฟชาวออสเตรเลียไปได้อย่างเฉียดฉิว โดยส่งเมนูอาหารไทยอย่างลาบ ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม จนได้แชมป์มาสเตอร์เชฟ ออสเตรเลีย 2024 มาครอง แต่กว่าเธอจะพาตัวเองมายืนอยู่บนเวทีนี้ได้ เธอต้องผ่านประสบการณ์ที่หนักหน่วง ทั้งต่อสู้กับสภาพจิตใจที่ไม่รู้ว่าจะพังทลายลงตอนไหน มาจนถึงวันที่ถูกเส้นแบ่งทางวัฒนธรรมบอกว่าเธอไม่ใช่ทั้งคนไทยและออสเตรเลีย
ถึงเธอจะเติบโตมาในครอบครัวคนไทย ถูกเลี้ยงดูโดยแม่ผู้เคร่งครัดในมารยาทไทย เรียนรู้วัฒนธรรมไทยทุกอย่าง เจอญาติผู้ใหญ่ต้องยกมือไหว้ ต้องพูดภาษาไทยกับคนในครอบครัว แต่การเกิดและโตที่ออสเตรเลียในฐานะคนไทย ทำให้เธอเองสับสนไม่น้อย เพราะคนไทยเองก็ไม่ได้ยอมรับว่าเธอเป็นคนในชาติเดียวกันเท่าไรนัก ครั้นจะบอกว่าตัวเองเป็นชาวออสเตรเลีย เธอก็ไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปาก
“เราถูกเลี้ยงดูมาแบบคนไทย เดินผ่านผู้ใหญ่จะต้องโค้งตัวลง คือเราถูกเลี้ยงมาแบบ ‘โคตรไทย’ เพราะพ่อแม่เคร่งมากในเรื่องมารยาท ต้องพูดไทย ต้องทำทุกอย่างแบบคนไทย”
แนทเติบโตท่ามกลางพหุวัฒนธรรม ใช้ชีวิตอยู่บนเส้นแบ่งเหล่านี้มาโดยตลอด ตอนที่เธออายุ 12 ขวบ แนทถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนประจำ และนั่นทำให้ความเป็นไทยของเธอเริ่มลดลง เธอห่างบ้าน ต้องใช้ชีวิตอยู่กับชาวออสซี่จ๋า ๆ ทุกอย่างกำลังหล่อหลอมให้เธอกลายเป็นชาวออสเตรเลียอย่างเต็มตัว
และนั่นทำให้เธอเริ่มคิดกับตัวเองอีกครั้งว่า ตกลงเธอคือใคร...
“เราคิดในฐานะมนุษย์ง่าย ๆ เลยนะ ว่าเราถูกเลี้ยงมาในลักษณะที่คนอื่นอยากจะเห็นว่าเราปรับตัวได้ และเราควรจะอยู่ในจุดไหน ตอนนี้เราก็ยังคิดแบบนั้นอยู่”
แม้จะรู้สึกไม่เข้ากับสังคมใดสังคมหนึ่งเลย แต่โชคดีที่เธอมีสิ่งที่คอยเติมเต็มช่วงชีวิตมาโดยตลอด นั่นคือ อาหาร เธอมีแม่ที่ทำอาหารเก่งชนิดจับตัวได้ยาก แม่มักจะถ่ายทอดสูตรอาหารไทยให้เธอเรียนรู้อยู่เสมอ และเพราะอาหารนี่เองที่ทำให้เธอกลับมาเชื่อมต่อกับโลกใบนี้อีกครั้ง
“ตอนเรียนอยู่ที่นิวซีแลนด์ เราพยายามทำอาหารเองทุกอย่าง เพราะเราคิดถึงบ้านมาก ๆ แล้วก็ตอนที่พ่อแม่ทำร้านอาหาร เราก็ต้องทำอาหารเองด้วยนะ ทำเองทุกขั้นตอน เหมือนกับว่าการทำอาหารมันอยู่ในชีวิตเราอยู่ตลอด แต่เราก็ไม่รู้หรอกนะว่ามันซึมเข้าไปอยู่ใต้จิตสำนึกมากน้อยแค่ไหน
“บอกตรง ๆ ว่ามันค่อนข้างเลี่ยนน่าดูที่จะพูดว่า ทุกครั้งที่เราทำอาหาร เรารู้สึกเหมือนกับว่านี่แหละคือตัวตนของฉัน นี่แหละคือเรา”
เมื่ออาหารกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต แนทจึงไม่ลังเลที่พาตัวเองก้าวข้ามกรอบเดิม ๆ เริ่มจากลงชื่อเข้าแข่งขันในรายการทำอาหารระดับประเทศ เพื่อแหวกขนบทุกอย่าง โดยการพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้เธอจะไม่ใช่คนที่เกิดและโตในประเทศไทย แต่เธอจะทำให้คนไทยทั้งประเทศเห็นเองว่า การเกิดต่างแดนไม่ได้ทำให้ความเป็นไทยลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด
และเธอก็ทำสำเร็จ เมนูที่ชวนฮือฮาที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘ลาบจิงโจ้’ เสิร์ฟคู่กับไข่แดงดอง มีข้าวแผ่นอบกรอบเป็นเครื่องเคียง ส่วนเมนูสลัดส้มโอ แจ่วส้ม ข้าวจี่ ก็ทำให้เธอเข้ารอบ 5 คนสุดท้ายได้สำเร็จ ซึ่งเมนูลาบจิงโจ้นั้น ทำเอากรรมการตาลุกวาว ทั้งเนื้อสัมผัส รสชาติที่กลมกล่อมกำลังดี เมื่อส่วนผสมทุกอย่างคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน ก็ทำให้ลาบเนื้อจิงโจ้เป็นที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นไวรัลดังไกลมาถึงเมืองไทย
นี่คือก้าวแรกที่ทำให้คนไทยรู้จักเธอ ในฐานะคนไทย ผู้เข้าแข่งขันมาสเตอร์เชฟ ออสเตรเลีย
ส่วนก้าวที่สองเริ่มขึ้นในรอบตัดสิน หลังจากเธอนำไส้อั่วขึ้นมาเป็นตัวชูโรง ก่อนจะสอดไส้ไข่สกอตช์เข้าไป ทำให้เห็นแล้วว่า อาหารไทยที่เกิดจากคนไทยผู้ใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนมาตั้งแต่เด็ก ไม่ได้ทำให้เสน่ห์ของความเป็นไทยเลือนหาย
และเพราะก้าวที่สองของเธอนี่เอง ทำให้คนไทยทั้งประเทศร่วมกันแสดงความยินดีกันถ้วนหน้า
“มันเกือบจะเหมือนว่าคุณไม่เคารพขนบธรรมเนียมดั้งเดิมด้วยการนำทุกอย่างมาผสมผสานเข้าด้วยกัน แต่เราคิดว่าโลกมันกำลังเปลี่ยนไปแล้ว และมันก็ทำให้เราเห็นว่า เราต้องการทำสิ่งนี้ เราอยากให้คนตระหนักว่ามันสำคัญมาก ๆ กับเราที่จะทำให้คนดูรายการเห็น โดยไม่ลืมที่จะรับผิดชอบต่อทุกการกระทำของตัวเอง และไม่ลืมที่จะทำให้พวกเขาเห็นว่าอาหารนั้นมีความหลากหลายเพียงใด”
นอกจากแม่ที่เป็นแรงผลักดันในการทำอาหารของเธอแล้ว อีกหนึ่งคนที่แนทยกย่องสุดหัวใจคงหนีไม่พ้น ‘เชฟแอนโธนี บอร์เดน’ (Anthony Bourdain) เชฟ นักเขียน และนักเล่าเรื่องชาวอเมริกัน
“เขามีความสัตย์ซื่อ ชนิดที่หาที่ไหนไม่ได้”
เธอยกให้เชฟบอร์เดนเป็นต้นแบบในการทำครัวและการใช้ชีวิต เพราะการอยู่หลังเตา ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในครัวนั้น ทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ไม่น้อย
“เขามักยกเรื่องสุขภาพจิตขึ้นมาพูดจนกลายเป็นเรื่องปกติ เราว่ามันสำคัญนะที่จะพูดเรื่องนี้กัน เพราะเมื่อก่อน คนอาจจะแบบ ‘โอ้ นายพูดเรื่องนี้ไม่ได้นะ’ แต่เชฟบอร์เดนไม่ใช่ เขาจะเอาเรื่องพวกนี้ขึ้นมาพูด เพราะมันคือเรื่องจริง มันไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองเท่านั้น มันคือชีวิต”
แม้ว่าเชฟบอร์เดนจะจากไปแล้วในปี 2018 แต่แนทยังชื่นชมเขาอยู่เสมอ “เราคิดว่าสิ่งที่เขาทำ มันทำให้เราสามารถยอมรับชีวิตของตัวเองได้ เราสามารถมีวันแย่ ๆ ได้ และควรจะพูดถึงมันได้อย่างธรรมชาติ แทนที่จะแสร้งว่าทุกอย่างปกติดี
“เราว่าเราทำแบบนั้นค่อนข้างบ่อย เราบอกทุกคนว่ารู้สึกยังไง เราคิดว่าการพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตควรจะกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม เลยพยายามเปิดกว้างกับเรื่องนี้มาก ๆ เพราะมันทำให้คนอื่นกล้าที่จะเปิดใจ พูดคุยถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น”
เมื่อพิจารณาถึงสภาวะสุขภาพจิตของคนทำงานบริการ โดยเฉพาะผู้เข้าแข่งขันมาสเตอร์เชฟ ออสเตรเลีย หลายคนต้องต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิตอย่างหนักหน่วง ซึ่งแนทเองก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะวงการอาหารค่อนข้างมีความกดดันสูง จากงานวิจัยมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ปี 2023 พบว่า ภาคธุรกิจการบริการมีอัตราการเจ็บป่วยทางจิตสูงที่สุด โดย 1 ใน 4 ของผู้เข้าร่วมทำแบบทดสอบมีภาวะซึมเศร้า
“เราคิดว่าโลกอาหารต้องคำนึงถึงสิ่งนี้มาก ๆ และการที่เราชื่นชมเชฟบอร์เดนอยู่เสมอ เพราะว่าเขาเป็นคนซื่อตรงต่อความรู้สึกตัวเอง... เราฝันอยากจะเป็นคนแบบเขาให้ได้”
นอกจากนี้ แนทยังเขียนจดหมายขอบคุณไว้ในเว็บบล็อกส่วนตัว โดยระบุว่า ชัยชนะที่ได้รับมานั้น ต้องขอบคุณบรรพบุรุษที่มอบสิ่งดีงามเหล่านี้ไว้ให้ ทำให้เธอค้นพบความมหัศจรรย์ของอาหาร ค้นพบความยิ่งใหญ่ของรากเหง้าที่แท้จริง
แม้ว่าการได้รับชัยชนะในมาสเตอร์เชฟ ซีซั่น 16 จะทำให้รู้สึกราวกับอยู่ในความฝัน เป็นจุดสูงสุดของการเดินทางที่บ้าคลั่ง ผ่านการต่อสู้ทางอารมณ์ ต้องค้นหาตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิตที่ทรุดโทรมลง กระทั่งได้เจอกับสิ่งที่เยียวยาตัวเองได้ นั่นคือการทำอาหาร
ซึ่งการทำอาหารเปรียบดั่งดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เป็นเขตแดนที่ทำให้จิตใจที่เกือบพังทลายของเธอ ได้สัมผัสกับความสงบสุขอย่างแท้จริง
“ก่อนอื่นฉันต้องขอบคุณบรรพบุรุรษทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ในออสเตรเลียหรือไทยเท่านั้น แต่ทั่วทุกมุมโลก ภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของคุณ เป็นรากเหง้าที่ยึดโยงตัวฉันเอาไว้อยู่เสมอ เรื่องราว ประเพณี และความลื่นไหลของคุณเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้ฉันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะผ่านอาหาร เพื่อเฉลิมฉลองให้แก่มวลมนุษยชาติ ในทุกจานที่ฉันเสิร์ฟออกไป แต่ละส่วนผสมที่ฉันเลือกใส่ แต่ละสูตรอาหารที่ฉันเลือกทำ แต่ละมื้ออาหารคือเส้นใยที่ถักทอประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นผืนเดียวกัน
“...ขอบคุณทุกคนที่คอยช่วยเหลือฉันอยู่เสมอ ขอบคุณเชฟผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ฉัน คุณคือทุกสิ่งทุกอย่าง คุณคือคนที่ทำให้ฉันสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้สำเร็จ คุณแสดงให้ฉันเห็นถึงความเป็นไปได้ในโลกแห่งอาหาร ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันให้ฉันก้าวไปข้างหน้ามาโดยตลอด ความเป็นคุณผลักดันให้ฉันมาอยู่ในจุดนี้ อิทธิพลของคุณแทรกซึมเข้ามาอยู่ในตัวฉันทุกอณู และความหลงใหลของคุณเติมพลังใจให้ฉันอยู่เสมอ
“...การได้รับชัยชนะในครั้งนี้ไม่ใช่แค่ชัยชนะส่วนตัว แต่เป็นชัยชนะของทุกคน เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน มิตรภาพ และความผูกพันที่ไม่มีวันแตกสลาย ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากได้ร่วมทานอาหารมื้อเดียวกัน ชัยชนะนี้มีไว้สำหรับทุกคนที่ได้รับการปลอบใจ ความสุข และการเชื่อมถึงกันผ่านมื้ออาหาร เป็นเครื่องเตือนใจว่าอาหารไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัจจัยในการดำรงชีพเท่านั้น หากแต่มันเป็นภาษารัก เป็นสะพานที่ทอดเชื่อมโยงจากวัฒนธรรมหนึ่งไปสู่วัฒนธรรมหนึ่งได้อย่างงดงาม”
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ : MasterChef Australia
อ้างอิง: