09 มี.ค. 2564 | 11:00 น.
หลังจากการทะยานขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและมุ่งสู่ดาวเคราะห์ลำดับที่สี่ในระบบสุริยะ ยานสำรวจ Mars 2020 Perseverance ของนาซาลงจอดบนพื้นผิวของดาวอังคารได้สำเร็จเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2021 การขับเคลื่อนของรถแลนด์โรเวอร์เพื่อสำรวจหาแหล่งน้ำและร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนพื้นผิวดาวเคราะห์สีแดงกลายเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับชาวโลก โดยเฉพาะสำหรับ ‘ไดอานา ทรูฮิลโย’ (Diana Trujillo) หญิงสาวที่เป็นส่วนหนึ่งแห่งความสำเร็จครั้งดังกล่าว ภายใต้ตำแหน่งหัวหน้าวิศวกรผู้ประดิษฐ์แขนกลของรถแลนด์โรเวอร์ เบื้องหลังชีวิตของเธอคือเด็กสาวจากประเทศที่ฉาบทาด้วยสีแดงไม่ต่างจากดาวเคราะห์ดวงนั้น ภายใต้สภาวะกึ่งสงครามที่ขณะนั้นยังไม่ยุติในโคลอมเบีย – บ้านเกิดของเธอ ไดอานาหลีกหนีจากความรุนแรง หยดเลือด และเสียงปืนด้วยการเก็บกระเป๋าและย้ายถิ่นฐานด้วยเงินตั้งต้นเพียง 300 ดอลลาร์ บ่ายหน้าเข้าสู่สหรัฐอเมริกา เธอเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยอาชีพพนักงานทำความสะอาดเพื่อทำงานล่วงเวลาจนค่ำ และเก็บหอมรอมริบเงินทุกบาททุกสตางค์ไว้ส่งตัวเองเรียน เด็กยากไร้ในโลกใต้ฟ้า ความยากไร้ทาบทับเงาลงบนชีวิตหนูน้อยไดอานาตั้งแต่วันที่เธอลืมตาดูโลก 4 มกราคม 1983 ไดอานาถือกำเนิดขึ้นจากคุณแม่ยังสาวที่ลาออกจากโรงเรียนแพทย์เพราะพบรักกับพ่อของไดอานาและตั้งท้อง พวกเขาหย่ากันเมื่อเด็กสาวอายุ 12 ปี พ่อของเธอได้มีชีวิตใหม่เฉกเช่นผู้ชายที่ยังหนุ่มแน่น ส่วนผู้เป็นแม่กลับต้องสู้ทนเลี้ยงลูกน้อยให้เติบใหญ่โดยไร้ซึ่งเงิน ความรู้ และใบปริญญาบัตร “เราไม่มีอาหารดี ๆ กินด้วยซ้ำ ฉันกับแม่ต้มไข่หนึ่งฟองและหั่นครึ่งแบ่งกัน นั่นคือมื้อเที่ยงของเรา” ไดอานาเล่าย้อนถึงเรื่องราวในวัยเด็กของตน ท่ามกลางฝุ่นดินและเขม่าปืนจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย เด็กหญิงมักจะใช้เวลาว่างไปกับการนอนหงายบนพื้นหญ้า แล้วมองขึ้นไปยังท้องฟ้าด้วยหวังให้ความกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาของมันเป็นพื้นที่ปลอดภัย ในวันและวัยที่ผืนแผ่นดินมีแต่ความรุนแรง “ฉันเฝ้าฝันถึงวันที่ดีกว่าด้วยการมองขึ้นไปบนฟ้า แล้วคิดว่ามันต้องมีอะไรสักอย่างรออยู่ข้างนอกนั่น” ด้วยความคิดและฝันอย่างนั้นเองที่ทำให้ไดอานาตัดสินใจครั้งใหญ่ ในวัย 17 ปีที่เธอจองตั๋วบินเที่ยวเดียวจากโคลอมเบียสู่รัฐไมอามี ด้วยหวังว่าที่นี่จะเป็นแผ่นดินที่เธอทำฝันให้เป็นจริงได้ แม้ขณะนั้นเธอจะไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้แม้เพียงคำเดียว และไม่มีต้นทุนอะไรมากไปกว่าเงิน 300 ดอลลาร์ก็ตาม สู่ฝุ่นสีแดงและแสงดาว “ฉันมองเห็นทุกอย่างเป็นโอกาส ฉันไม่ได้คิดว่า ‘ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าฉันต้องมาทำงานกะดึก’ หรือ ‘ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าฉันต้องมาล้างห้องน้ำตอนนี้’ แต่ฉันคิดว่า ‘ฉันดีใจที่มีงานทำ สามารถซื้ออาหารและมีบ้านให้ซุกหัวนอนได้’” ด้วยการทำงานล่วงเวลาจากเช้าจรดค่ำ ในที่สุดไดอานาก็สามารถเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฟลอริดาในเอกวิศวกรรมการบินและอวกาศได้สำเร็จ พ่วงด้วยการสมัครเข้าเรียนที่ the NASA Academy ในปีสุดท้ายของการเรียน ทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงอพยพเชื้อสายสเปนคนแรกที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว นาซาจ้างเธอให้ทำงานทันทีที่เรียนจบ ในปี 2009 ไดอานาได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจดาวอังคารในฐานะวิศวกรระบบโทรคมนาคมของ Mars Curiosity Rover ซึ่งลงจอดบนดาวสีแดงได้สำเร็จในปี 2012 เธอก็ต่อยอดมันด้วยการเข้าร่วมปฏิบัติการแห่งยาน Mars 2020 Perseverance โดยไดอานาเป็นหัวหน้าวิศวกรประดิษฐ์แขนสำหรับเก็บตัวอย่างหินและดินบนดาวอังคาร เพื่อให้เหล่านักวิจัยในนาซาได้คลำทางสู่คำตอบของคำถามที่ว่า “บนดาวอังคารมี (หรือเคยมี) สิ่งมีชีวิตอาศัยหรือไม่” ได้โดยไม่ต้องสวมชุดอวกาศและขึ้นกระสวยไปทำการวิจัยถึงต่างดาวด้วยตนเอง ความสำเร็จของเธอเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ตั้งแต่ปี 2014 ที่ไดอานากลายเป็นหนึ่งในยี่สิบชาวละตินที่มีอิทธิพลที่สุดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เธอรับรู้ถึงความสำคัญและหน้าที่ของตนในการเป็นตัวแทนของ ‘ชาวละติน’ และ ‘ผู้หญิง’ เป็นอย่างดี “ตั้งแต่วันแรกที่ฉันก้าวเท้าเข้านาซา ฉันรู้ว่าทุกสิ่งที่ฉันจะทำต่อไปจะถูกมองในฐานะตัวแทนของประเทศที่ฉันจากมา การเผยแพร่ซึ่งวัฒนธรรมของฉัน มรดกของฉัน และผู้คนของฉันคือสิ่งที่ฉันตั้งใจว่าจะทำให้ดีที่สุด” แด่ชาติพันธุ์ เพศ และช่วงวัย “ตั้งแต่เล็ก ๆ ที่ฉันเห็นการยอมแพ้ของผู้หญิงในบ้าน” ไดอานากล่าว “มันทำให้ฉันดื้อรั้นในความฝันของตัวเองมากขึ้น ฉันบอกตัวเองว่าไม่ ฉันจะไม่ยอมแพ้ ฉันจะไปให้ไกลเพื่อที่จะได้แสดงให้ครอบครัวของฉันเห็นว่าผู้หญิงก็มีคุณค่าและความสำคัญ” ตลอดชีวิตของไดอานา – โดยเฉพาะประสบการณ์ตรงในวัยเด็กทำให้เธอรู้ว่าที่โคลอมเบีย บ้านของเธอ เป็นเรื่องยากมากเพียงใดที่ฝันและใฝ่ของเด็ก ๆ จะกลายเป็นความจริง ไม่ว่าจะด้วยความยากไร้ซึ่งเงินทอง ด้วยทัศนคติแห่งสังคม ด้วยสายตาของผู้ใหญ่ หรือด้วย ‘เพศ’ และ ‘วัย’ ที่ทำให้เด็ก ๆ ชาวละตินถูกหัวร่อเมื่อพวกเขาและเธอกล่าวว่าอยากเป็นอะไรสักอย่างในอนาคต เธอจึงตั้งใจว่าจะใช้ตำแหน่งของเธอให้มากกว่าคำบอกหน้าที่ ‘วิศวกร’ แต่ใช้เพื่อบอกกับคนอื่น ๆ ว่าพวกเขาเหล่านั้นก็สามารถเป็น ‘วิศวกร’ ได้ไม่ต่างกัน “ยิ่งมี ‘เธอ’ มากเท่าไร ยิ่งมีผู้หญิงและคนเชื้อสายละตินที่เป็นวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์มากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เด็ก ๆ มีแรงใจและความกล้าในการจะพูดว่า ‘หนูอยากเป็นอย่างนั้น’ มากขึ้น ฉันอยู่ตรงนี้เพื่อให้พวกเขา – คุณปู่ คุณตา พ่อ แม่ และลุงป้าของเด็ก ๆ เห็นว่ามีผู้หญิงอยู่ที่นี่ด้วย พวกเขาจะได้หันไปหาลูกหลานในบ้านของตนและบอกว่า ‘เธอทำได้ หนูก็ทำได้’” เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ ที่มา: https://www.kcet.org/shows/blue-sky-metropolis/worth-the-struggle-diana-trujillos-journey-from-colombia-to-nasa https://belatina.com/diana-trujillo-nasa-2020-mars/ https://people.com/human-interest/meet-nasas-flight-director-mars-perseverance-who-came-to-u-s-with-300/ https://www.wearelatinlive.com//article/13700/from-cleaning-lady-to-director-for-nasa-this-latina-immigrant-just-put-a-rover-on-mars https://www.cbsnews.com/news/diana-trujillo-nasa-mars-rover-perseverance/ https://www.youtube.com/watch?v=bV5Lci1HlDI