‘ดมิทรี มูราตอฟ’ นักข่าวรัสเซียเจ้าของรางวัลโนเบล ผู้ต่อสู้เพื่อให้สื่อมีพื้นที่หายใจ

‘ดมิทรี มูราตอฟ’ นักข่าวรัสเซียเจ้าของรางวัลโนเบล ผู้ต่อสู้เพื่อให้สื่อมีพื้นที่หายใจ

‘ดมิทรี มูราตอฟ’ บรรณาธิการบริหารของสำนักข่าว โนวายา กาเซตา (Novaya Gazeta) ผู้ชนะร่วมเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2021 กับความพยายามต่อกรกับอำนาจรัฐตลอด 30 ปี

  • ‘ดมิทรี มูราตอฟ’ บรรณาธิการบริหารของสำนักข่าว โนวายา กาเซตา (Novaya Gazeta) สำนักข่าวที่เป็นกระบอกเสียงคอยตีแผ่ความอยุติธรรมในรัสเซียให้ถึงเจ้าหน้าที่รัฐ
  • ในปี 2021 ดมิทรี มูราตอฟ เป็นผู้ชนะร่วมเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับ 'มาเรีย เรสซา' (Maria Ressa) ผู้ร่วมก่อตั้งสื่ออิสระฟิลิปปินส์ Rappler

“ความหวังเดียวที่ผมอยากฝากไว้กับคนรุ่นใหม่ คือความปรารถนาที่จะเห็นโลกที่ผู้คนอยู่ร่วมกันฉันมิตร โลกที่ปราศจากศัตรู และเป็นโลกใบใหม่ที่พร้อมจะมอบความรักให้กับรัสเซีย เพื่อให้รัสเซียเรียนรู้ที่จะรักโลกใบนี้กลับ...

“ผมก็ได้แต่หวังว่าคนรุ่นต่อไปจะมีชีวิตยืนยาว ก่อนที่ผมและปูตินจะจากโลกใบนี้ไป”

นี่คือความปรารถนาอันเรียบง่ายของ ‘ดมิทรี มูราตอฟ’ (Dmitry Muratov) บรรณาธิการบริหารของสำนักข่าว โนวายา กาเซตา (Novaya Gazeta) ผู้ชนะร่วมเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2021 (นักข่าวอีกคนที่ได้รับรางวัลนี้คือ 'มาเรีย เรสซา' (Maria Ressa) ผู้ร่วมก่อตั้งสื่ออิสระฟิลิปปินส์ Rappler) แต่กลับกลายเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเท่าที่นักข่าววัย 62 ปีคนนี้จะวาดหวังให้เป็นจริง

เพราะการทำข่าวในแผ่นดินรัสเซีย ประเทศที่ขึ้นชื่อว่า เสรีภาพของสื่อนั้นนับวันจะยิ่งถูกจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับการเรืองอำนาจของประธานาธิบดี ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ (Vladimir Putin) ชายผู้ประกาศเปิดศึกสงครามรัสเซีย-ยูเครนในต้นปี 2021 สงครามที่นับวันร่างไร้วิญญาณของเหล่าผู้(จำใจ)เสียสละเพื่อชาติจะยิ่งกองพะเนินสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะหยุดลงง่าย ๆ

แม้ว่าเสรีภาพสื่อในประเทศรัสเซีย จะถูกจำกัดมากเพียงใด แต่ มูราตอฟ กลับเลือกที่จะลุกขึ้นมาเป็นกระบอกเสียง แหวกม่านอำนาจอันดำมืดของภาครัฐที่พยายามปกปิดความจริง แพ้วถางเส้นทางเพื่อให้สำนักข่าวอิสระได้มีพื้นที่หายใจ และเขาก็ทำสำเร็จ เวลากว่าครึ่งค่อนชีวิตที่เขาก่อตั้งสำนักข่าวอิสระแห่งนี้ขึ้นมา โลกได้เห็นแล้วว่า ‘ดมิทรี มูราตอฟ’ คือชายผู้ยิ่งใหญ่ไม่ยอมละทิ้งอุดมการณ์ แม้จะถูกอำนาจรัฐกดทับจนแทบจะหมดลม

 

ชายผู้ไม่หวั่นต่ออำนาจรัฐ

ดมิทรี มูราตอฟ เกิดวันที่ 30 ตุลาคม 1961 สมัยสหภาพโซเวียตยังยิ่งใหญ่ และมีอาณาเขตครอบคลุมครึ่งค่อนโลก จนกระทั่งล่มสลายลงในปี 1991 ม่านเหล็กก็ค่อย ๆ แง้มออกพร้อมเปิดรับวัฒนธรรมและระบอบการปกครองจากชาติตะวันตกมากขึ้น จนกระทั่ง ประชาชนเริ่มมีสิทธิเสรีภาพ มีอิสระทางความคิดและการกระทำ ซึ่งนักศึกษาหนุ่มจากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัย Kuibyshev State University อย่างเขาก็ไม่ปล่อยให้เสรีภาพทางความคิดหลุดลอยไป

หลังจากสำเร็จการศึกษา มูราตอฟ เข้ารับราชการทหาร และเมื่อปลดประจำการ เขาหันมาทำงานด้านสื่ออย่างเต็มตัว เริ่มจากเป็นนักหนังสือพิมพ์ให้กับ Volzhsky Komsomolets ในปี 1980 จากนั้นเริ่มงานใหม่ที่ Komsomolskaya Pravda (KP) ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 หลังจากออกจาก KP แล้ว เขาและเพื่อนร่วมงานที่มั่นคงในอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้ออกมาก่อตั้งหนังสือพิมพ์เป็นของตัวเองในปี 1993 ชื่อว่า โนวายา เนซาวิซีมายา กาเซตา (Novaya Nezavisimaya Gazeta) ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น โนวายา กาเซตา (Novaya Gazeta) ในภายหลัง

โดยความตั้งใจของสำนักข่าว โนวายา กาเซตา คือการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน เปิดเปลือยความล้มเหลวของหน่วยงานรัฐออกมาอย่างช้า ๆ ให้ผู้มีอำนาจรับรู้ว่าชีวิตภายใต้การบริหารของพวกเขามีความเป็นอยู่อย่างไร นี่คือสำนักข่าวที่เที่ยงแท้และยุติธรรมที่สุดเท่าที่สื่อรัสเซียเคยจะมีมา และนับเป็นเรื่องใหม่ของประเทศที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมทุกอย่างจากศูนย์กลางอย่างรัสเซีย

แต่ชื่อเสียงและความดีงามที่ได้รับกลับกลายเป็นหนามแหลมคอยทิ่มแทงชีวิตการทำงานของเขา โดยเฉพาะช่วงหลังจากประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ปกครองสูงสุดของประเทศในปี 2000 ทุกความพยายามที่เขาทำมาตลอด 7 ปีกลับถูกรัฐบาลคุกคาม จนเพื่อนร่วมอุดมการณ์ 6 คนต้องจากโลกนี้ไปอย่างน่าเศร้า

นี่คือควาพยายามควบคุมสื่อในยุคสมัยปูติน เสรีภาพสื่อมวลชนถูกจำกัดจนแทบจะกลายเป็นการทำหน้าที่รายงานข่าวเฉพาะเรื่องที่รัฐบาลอยากเห็นและได้ยิน แต่มูราตอฟ ไม่ใช่ชายที่สิ้นไร้ไม้ตอก เขาเลือกที่จะต่อกรกับอำนาจรัฐต่อไป แม้จะมีช่วงเวลาพักเบรคเยียวยาใจระหว่างปี 2007-2019 เนื่องจากเขาเหนื่อยล้าเต็มทีที่จะต้องทำหน้าที่รายงานความจริง ควบคู่กับหวาดระแวงตลอดเวลาว่าวันพรุ่งนี้ของเขาจะยังมีอีกไหม

 

รางวัลแห่งสันติภาพ

หลังจาก มูราตอฟ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2021 เขาได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Meduza ไว้ว่า รางวัลนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อตัวเขาเอง หากแต่เป็นรางวัลของคนที่ยังคงยืนหยัดต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ แม้จะเหนื่อยล้าจากการต่อสู้จนแทบจะล้มเลิกทุกอย่างเพื่อกลับมาใช้ชีวิตปกติก็ตาม

“รางวัลนี้เป็นของเพื่อนร่วมงานทุกคนที่จากไปของผม พวกเขามอบชีวิตให้แก่ประชาชน ต่อสู้กับระบอบเผด็จการและยืนหยัดเพื่อเสรีภาพมาโดยตลอด”

“รางวัลนี้จึงไม่ใช่รางวัลของผม”

ซึ่งเขาได้แสดงให้โลกเห็นแล้วว่า รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่เขาได้รับมานั้น เป็นเพียง ‘วัตถุ’ หนึ่งชิ้นที่ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นของคนอีกหลายล้านชีวิตที่กำลังตกอยู่ในภาวะสงคราม มูราตอฟ นำเหรียญรางวัลของตนไปประมูล เพื่อช่วยเหลือบรรดาผู้ลี้ภัยสงครามจากยูเครน โดยมีผู้ปิดประมูลไปที่ 103.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.65 พันล้านบาท) ซึ่งขณะประมูลราคากันอยู่นั้น มูราตอฟ ก็นั่งอยู่ในห้องนั่นด้วย

“ข้อความที่สำคัญที่สุดในวันนี้ที่ต้องการจะสื่อสารให้กับผู้คนได้เข้าใจคือ มีสงครามกำลังดำเนินอยู่ และพวกเราจำเป็นต้องช่วยเหลือพวกเขาที่กำลังทุกข์ทรมานอย่างที่สุดอยู่ในขณะนี้”

นอกจากรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแล้ว เขายังได้รับเหรียญรางวัลมากมาย เป็นข้อยืนยันว่าชายคนนี้ไม่เคยหยุดที่จะเดินตามอุดมการณ์ ไม่ว่าจะเป็น Memorial Foundation Award, International Press Freedom Award ประจำปี 2007 และรางวัล Stalker International Film Festival Award for Citizenship 

 

อ้างอิง

https://lenta.ru/lib/14160484/

https://www.bbc.com/thai/international-58843703

https://www.bbc.com/news/world-europe-65119595

https://www.gazeta.ru/tags/person/dmitrii_muratov.shtml

https://tass.ru/encyclopedia/person/muratov-dmitriy-andreevich

https://www.theguardian.com/world/2022/jun/21/nobel-peace-prize-auctioned-by-russian-journalist-dmitry-muratov-fetches-record-1035m