เฮเลน เคลเลอร์: สตรีพิการคนแรกที่เรียนจบฮาร์วาร์ด และเรียกร้องสิทธิอันพึงมีของคนพิการให้สังคมหันมาใส่ใจ

เฮเลน เคลเลอร์: สตรีพิการคนแรกที่เรียนจบฮาร์วาร์ด และเรียกร้องสิทธิอันพึงมีของคนพิการให้สังคมหันมาใส่ใจ

‘เฮเลน เคลเลอร์’ (Helen Keller) สูญเสียการมองเห็นและการได้ยินตั้งแต่อายุ 19 เดือน แต่เพราะใจที่แข็งแกร่งและรักในการศึกษาทำให้เธอเรียนจบปริญญาจากมหาวิทยาลัยระดับโลกได้ พร้อมทั้งออกเดินทางพูดให้กำลังใจแก่คนพิการทั่วโลก

  • เฮเลน เคลเลอร์ (Helen Keller) เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง มีพ่อเป็นอดีตทหารและแม่เป็นปัญญาชน เธอสูญเสียการมองเห็นและการได้ยินตั้งแต่อายุ 19 เดือน เนื่องจากป่วยด้วยโรคร้ายแรง
  • จากเด็กอารมณ์ดีเธอเริ่มโมโหทุกอย่าง กระทั่งได้เจอกับครูแอนน์ ซัลลิแวน (Anne Sullivan) คุณครูที่เปลี่ยนชีวิตและอยู่เคียงข้างเคลเลอร์ตลอดชีวิต
  • เรื่องราวของเคลเลอร์ถูกนำไปสร้างภาพยนตร์  The Miracle Worker (1962) และทำให้คนทั้งโลกตระหนักถึงสิทธิคนพิการ

“ลองจินตนาการว่าคุณจะรู้สึกอย่างไร หากวันใดวันหนึ่งโลกที่เคยสดใสกลับมืดมิดลงในชั่วพริบตา”

คงไม่มีอะไรเจ็บปวดไปกว่าการมองเห็นใบหน้าคนที่รักมาทั้งชีวิต แล้ววันหนึ่งภาพเหล่านั้นกลายเป็นเพียง ‘ความทรงจำ’ มองไม่เห็น ไม่ได้ยิน และไม่มีวันที่จะย้อนช่วงเวลาที่ ‘เคย’ มองเห็นพวกเขาได้อีก ‘เฮเลน เคลเลอร์’ (Helen Keller) นักเขียน นักสิทธิสตรี และเป็นหนึ่งในผู้เชื่อมั่นและศรัทธาในอุดมการณ์สังคมนิยมอย่างสุดใจ เธอเองก็เคย ‘มองเห็น’ จนโรคร้ายมาพรากทุกสิ่งไปจากเธอตั้งแต่อายุ 19 เดือน

ชื่อของ เฮเลน เคลเลอร์ เริ่มเป็นที่รู้จักหลังจากเธอได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยเทมเพิล รวมไปถึงมหาวิทยาลัยกลาสโกว์และเบอร์ลิน สตรีพิการคนแรกที่ต่อสู้กับอาการหูหนวกตาบอด จนสามารถคว้าใบปริญญามาครอง แต่ใบปริญญาไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าเธอพิเศษกว่าใคร เพราะการกระทำของเธอยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก

เฮเลน เคลเลอร์: สตรีพิการคนแรกที่เรียนจบฮาร์วาร์ด และเรียกร้องสิทธิอันพึงมีของคนพิการให้สังคมหันมาใส่ใจ

ตั้งแต่ออกมาเรียกร้องให้ผู้พิการมีสิทธิมีเสียงในสังคม รณรงค์ให้คนปกติมองเห็นคนพิการเป็นคนเท่ากัน ไปจนถึงสนับสนุนให้สตรีสามารถมีสิทธิในการเลือกตั้ง สนับสนุนการคุมกำเนิด และทำทุกวิถีทางเพื่อให้กรรมาชีพมีชีวิตรอดในยุคที่ทุนนิยมคุกคามยุโรป

ใช่, เคลเลอร์เป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยม (แต่เธอไม่ใช่คอมมิวนิสต์) ประเทศที่เต็มไปด้วยเสรีภาพอย่างอเมริกากำลังปล้นความฝันของผู้พิการและแรงงานให้ไม่สามารถลืมตาอ้าปาก เพราะเธอเชื่อว่าความร่ำรวยจะกระจุกตัวอยู่ในชนชั้นนำที่มีอยู่เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ขณะที่ผู้ใช้แรงงานจะถูกปล่อยให้ทำงานหนักจนกว่าจะหมดลม

อุดมการณ์ของเคลเลอร์แน่วแน่มาโดยตลอด อาจเป็นเพราะเธอเป็นลูกสาวคนโตที่เกิดมาในครอบครัวนักคิด - นักเขียน พ่อเคยเป็นจอมพลแห่งแอละแบมาเหนือ หลังจากปลดประจำการก็ออกมาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ และมีแม่เป็นปัญญาชน

เดิมทีเคลเลอร์ไม่ได้เกิดมาหูหนวกและตาบอด เธอเป็นเด็กแข็งแรง แต่โชคร้ายที่ช่วงเวลาดังกล่าว เด็กหญิงตัวน้อยที่อายุยังไม่ถึง 2 ขวบดีเกิดป่วยอย่างรุนแรง บ้างก็ว่าเป็นโรคอีดำอีแดง บ้างก็ว่าเป็นโรคเยื่อหุ้มในสมองอักเสบ ไม่ก็โรคหัดเยอรมัน แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร มันก็ทำให้โลกของเคลเลอร์น้อยเปลี่ยนไป

เคลเลอร์ต้องใช้ชีวิตด้วยความสับสน เธอไม่เข้าใจว่าทำไมเสียงที่เคยได้ยินถึงเงียบสนิท ไม่เข้าใจว่าทำไมใบหน้าของพ่อกับแม่ถึงไม่มีสีสัน ทุกอย่างมาถึงเธอเร็วเกินไป จนทำให้เด็กหญิงตัวน้อยเริ่มส่งเสียงดังมากขึ้นเรื่อย ๆ ราวกับหวังว่าเธอจะได้ยินเสียงที่เธอกรีดร้องออกมา

เธอไม่ได้เรียนหนังสือเหมือนเด็กทั่วไปจนอายุ 7 ขวบ พ่อกับแม่เริ่มมองเห็นแววความฉลาดของลูกสาว และเริ่มขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงนักประดิษฐ์ชื่อดังอย่าง ‘อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์’ (Alexander Graham Bell) ชายผู้ปฏิวัติวงการสื่อสารทางไกลผ่านโทรศัพท์ ก่อนจะถูกส่งตัวไปอยู่ในความดูแลของ ‘แอนน์ ซัลลิแวน’ (Anne Sullivan) ผู้เป็นทั้งครูและเพื่อนคนสำคัญของเคลเลอร์

เฮเลน เคลเลอร์ และแอนน์ ซัลลิแวน

นาทีแรกที่ซัลลิแวนได้พูดคุยกับเคลเลอร์ เธอรู้ทันทีว่านี่ไม่ใช่เด็กว่านอนสอนง่าย เคลเลอร์เป็นปีศาจตัวน้อยดี ๆ นี่เอง แต่ความเป็นครูก็ทำให้ทั้งคู่เริ่มเชื่อมสายสัมพันธ์กันอย่างช้า ๆ จากเด็กเกรี้ยวกราด เปลี่ยนมาเป็นนางฟ้าของบ้านอีกครั้ง

บทเรียนแรกของเคลเลอร์คือการสะกดคำผ่านมือ D-O-L-L คือคำแรก จากนั้นก็ปรับเปลี่ยนวิธีเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ แม้ช่วงแรกเธอยังสับสนกิริยา ‘ดื่ม’ กับคำว่า ‘แก้ว’ และ ‘นม’ อยู่บ้าง เพื่อแก้ไขความสับสน ครูซัลลิแวนจึงพาเธอไปเรียนรู้ประสบการณ์จริง โดยปล่อยให้น้ำไหลผ่านมือเคลเลอร์ และบอกว่านี่คือ W-A-T-E-R

เหมือนโลกที่มืดมิดกลับมาสดใสอีกครั้ง เคลเลอร์หลุดหัวเราะออกมา และเริ่มถามว่าผนังเรียกว่าอะไร ดอกไม้เป็นแบบไหน แล้วหนังสือมีลักษณะอย่างไร เย็นวันนั้นเธอเรียนรู้คำศัพท์ไปได้มากถึง 30 คำ จากเรียนวิธีการสะกดคำผ่านมือ เธอเริ่มเปลี่ยนมาเรียนผ่านอักษรเบรลล์ และนั่นยิ่งทำให้โลกของเคลเลอร์เปิดกว้างถึงขีดสุด

เมื่ออายุได้ 10 ขวบ เคลเลอร์ขอครูซัลลิแวนให้สอนเธอพูด แต่เพราะหูหนวกมาตั้งแต่เด็ก เธอจึงไม่สามารถออกเสียงได้ถูกวิธี เรื่องราวของเด็กหญิงตัวน้อยไปถึงหูของ ‘มาร์ก ทเวน’ (Mark Twain) จนทำให้เขาถึงกับนั่งไม่ติด เพราะนี่คือว่าที่บุคคลสำคัญแห่งยุคก็ว่าได้ ทเวนถึงกับประกาศออกมาว่า “บุคคลที่น่าสนใจที่สุดในศตวรรษที่ 19 คือนโปเลียนและเฮเลน เคลเลอร์”

เธอตีพิมพ์หนังสือเล่มแรก The Story of My Life (1902) ซึ่งได้รับการตีพิมพ์มากกว่า 50 ภาษาทั่วโลก และ Optimism (1903) ความพิการของเธอไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เธอเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนคนหูหนวกในบอสตันและนิวยอร์กซิตี้ และสำเร็จการศึกษาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากแร็ดคลิฟฟ์ (Radcliffe College) ในปี 1904 โดยมีครูซัลลิแวนคอยอยู่เคียงข้างไม่ห่างกาย

ระหว่างเรียนเคลเลอร์ได้บรรยายถึงชีวิตของเธอเอาไว้ว่า

“อาจจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ที่จะหาเด็กคนใดมีความสุขยิ่งไปกว่าฉัน เพราะแค่ได้นอนอยู่บนเตียงหลังเล็กของฉัน มันก็สุขยิ่งกว่าสิ่งใด และสุขยิ่งกว่าเมื่อคิดถึงวันใหม่ที่จะมาเยือน”

เคลเลอร์ก่อตั้งสหภาพอเมริกันเพื่อสิทธิเสรีภาพ (American Civil Liberties Union - ACLU) ในปี 1920 และอีก 4 ปีต่อมาเธอก็ได้ร่วมงานกับมูลนิธิเพื่อคนตาบอดแห่งอเมริกา จากนั้นเรื่องราวของเธอก็เป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก เคลเลอร์เริ่มออกเดินทางไปรณรงค์และให้กำลังใจแก่ผู้พิการตั้งแต่ปี 1946 จนถึงปี 1957 เธอได้พบบุคคลสำคัญมากหน้าหลายตา ตั้งแต่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นักเคลื่อนไหว นักประดิษฐ์ และนักแสดงระดับตำนานอย่างชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplin)

ชีวิตของเคลเลอร์ถูกนำมาเขียนเป็นบทละครในปี 1960 และได้รับรางวัลพูลิตเซอร์มาครอง ก่อนจะถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Miracle Worker ในอีก 2 ปีให้หลัง และได้รับเหรียญแห่งอิสรภาพของประธานาธิบดีในปี 1964

“เคลเลอร์ได้เปลี่ยนแปลงการรับรู้ของโลก เธอปลดล็อกขีดจำกัดความสามารถของผู้พิการ... ความกล้าหาญ ความเฉลียวฉลาด และการอุทิศชีวิตของเธอ ทำให้ชีวิตต่อจากนี้ของเธอจะถูกจดจำในฐานะสัญลักษณ์ของชัยชนะเหนือจิตวิญญาณ มนุษย์ผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา และเอาชนะความทุกข์ยากในชีวิตได้อย่างภาคภูมิ”

เฮเลน เคลเลอร์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 1968 ขณะอายุ 88 ปี หลงเหลือไว้เพียงเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของสตรีผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ผู้พิการทั่วโลก

“เธอจะมีชีวิตอยู่ต่อไปในหน้าประวัติศาสตร์ วิญญาณของเธอจะยังคงอยู่ตราบเท่าที่มนุษยชาติไม่ดับสิ้น พวกเราจะส่งต่อตำนานของเธอต่อไปจนกว่าโลกจะสูญสลาย แสดงให้ลูกหลานเห็นว่าเธอคือสตรีที่หาญกล้ายิ่งกว่าใคร และไม่เคยหมดศรัทธาต่อโลกจวบจนวาระสุดท้ายมาเยือน”

 

ภาพ : Getty Images

อ้างอิง :

https://www.afb.org/about-afb/history/helen-keller/biography-and-chronology/biography

https://www.womenshistory.org/education-resources/biographies/helen-keller

https://www.history.com/topics/womens-history/helen-keller