ปรีชา การสมพจน์: ช่างภาพ 6 ตุลา พยานคนสำคัญเหตุการณ์นองเลือด กับฝันร้ายที่ยังคงหลอกหลอนไม่จบสิ้น

ปรีชา การสมพจน์: ช่างภาพ 6 ตุลา พยานคนสำคัญเหตุการณ์นองเลือด กับฝันร้ายที่ยังคงหลอกหลอนไม่จบสิ้น

‘ปรีชา การสมพจน์’ ช่างภาพผู้อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เจ้าของภาพ ‘ตอกอก’ สะท้อนความอำมหิตของมนุษย์ออกมาได้อย่างน่าสะพรึง จนได้รับรางวัลอิศรา อมันตกุล ประจำปี 2520 และเป็นพยานคนสำคัญที่มีหลักฐานผู้กระทำผิด แต่เจ้าหน้าที่กลับเพิกเฉยไม่ได้รับการสอบสวนแม้แต่ครั้งเดียว

ครบรอบ 47 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา วันที่นักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกล้มล้างสถาบัน และคอมมิวนิสต์ กลุ่มคนที่ครั้งหนึ่งคนไทยเคยเกลียดกลัวสุดหัวใจ ถึงขนาดมีถ้อยคำนึงหลุดออกมาว่า ‘ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป’ ปลุกระดมความเกลียดชังขึ้นมาราวกับไฟลามทุ่ง และนั่นจึงเป็นที่มาของเหตุการณ์ล้อมปราบ เปลี่ยนสถานศึกษาให้กลายเป็นลานประหารวัยหนุ่มสาวอย่างเลือดเย็น

แม้จะผ่านมาเกือบครึ่งศตวรรษ แต่ทุกครั้งที่หน้าปฏิทินเปลี่ยนเป็น 6 ตุลา เชื่อว่าหลายคนที่เคยเผชิญหน้ากับ ‘ปีศาจ’ คงสั่นสะท้านกับเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่น้อย และเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์เป็นแค่เรื่องราวในอดีต เพราะอย่าลืมว่ายังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าวันนั้นใครคือผู้สั่งการ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย กับอีกหลายสิบชีวิตที่ไม่สามารถระบุตัวตน

The People มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘ปรีชา การสมพจน์’ ช่างภาพผู้อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เจ้าของภาพ ‘ตอกอก’ ถ่ายทอดความอำมหิตของมนุษย์ผ่านม้วนฟิล์มได้อย่างคมชัด ราวกับเพิ่งผ่านไปไม่นาน

ปรีชา การสมพจน์: ช่างภาพ 6 ตุลา พยานคนสำคัญเหตุการณ์นองเลือด กับฝันร้ายที่ยังคงหลอกหลอนไม่จบสิ้น

ก่อนความตายจะมาเยือน

“อย่าหิ้วย่ามไปนะ ทิ้งไปให้หมด เดี๋ยวเขารู้ว่าเราเป็นนักศึกษา”

ปรีชา การสมพจน์ ช่างภาพผู้ทำหน้าที่เก็บเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อัดลงม้วนฟิล์ม ตะโกนบอกนักศึกษาชายหญิงคู่หนึ่งให้พวกเขาทิ้งทุกอย่าง ก่อนจะช่วยทั้งสองหนีจากเงื้อมมือปีศาจ แม้ว่าบรรยากาศรอบกายจะทำเอาร่างของช่างภาพหนุ่มสั่นสะท้านเพียงใด แต่สายตาและมือของเขายังคงทำหน้าที่บันทึกทุกเหตุการณ์ตรงหน้าเอาไว้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง

เวลาย่ำรุ่งของวันที่ 6 ตุลาคือช่วงที่เขาก้าวเข้าไปอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาติดตามสถานการณ์จากนอกมหาลัยมาโดยตลอด กระทั่งมีรถเมล์ 2 คันพุ่งชนประตู เปิดทางให้ตำรวจเข้าไประงับความรุนแรง แต่ภาพที่ปรีชาเห็นกลับตรงกันข้าม

“พอตำรวจเข้าไป ช่างภาพส่วนหนึ่งก็เข้าไปด้วย แต่มีช่างภาพถูกยิงก็คือคุณอ๊อด (ไกรทิพย์ พันธุ์วุฒิ) เขาคลานอยู่ข้างหน้าผม ถูกยิงแถวหน้าประตู แต่ว่าไม่ได้ยิงจากข้างในออกมา มันยิงจากข้างนอกเข้าไป ไม่ใช่ปืนจากนักศึกษา เพราะอ๊อดโดนยิงจากข้างหลัง”

ปรีชาเล่าถึงเหตุการณ์เพื่อนช่างภาพถูกยิงต่อหน้า ก่อนความวุ่นวายจะถาโถมเข้ามา เขาถูกคลื่นความโกลาหลสาดกระแทกให้เข้าไปอยู่หน้าหอประชุม และเห็นทุกอย่างที่ไม่เคยคิดฝันว่าจะได้เห็น ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูเหมือนจะไม่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ ฝูงชนคลั่ง นักศึกษา และประชาชนกำลังหนีตาย

“ก่อนประตูจะพัง ผมเห็นเขาปลุกระดมกัน ปลุกเร้าให้ขว้างระเบิด เดินไปขว้างระเบิดไป วนไปวนมาอย่างนี้ตลอดตั้งแต่บ่ายวันที่ 5 ตุลา

“ผมดูอยู่ตลอด คิดว่ามันน่าจะรุนแรงมากขึ้น เพราะว่ามีคนทยอยเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วตำรวจก็เริ่มทยอยเข้ามาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะรุนแรงขนาดนั้น ไม่คิดว่าถึงขนาดฆ่ากัน

“ทำไมต้องฆ่ากันด้วย ทำเหมือนนักศึกษาไม่ใช่คน”

เขานิ่งเงียบพยายามกลั้นเสียงสะอื้น แต่ภายในดวงตาของเขากลับเต็มไปด้วยความเจ็บปวด

“ฝั่งนั้นพยายามปลุกระดมให้มาจับนักศึกษา หน้าตาเขาสนุกสนานมาก เหมือนไม่ใช่การกระทำของมนุษย์ เขาเข้ามาลากตัวนักศึกษาถึงหน้าประตู แล้วข้างนอกก็ทุบตีกัน มันทุบตีกันไม่หยุด

“ตำรวจที่เข้าไปก่อนเขาก็เข้าไปจับออกมา ดึงเด็กออกมา 3-4 คน เอามาอยู่หน้าหอประชุมแล้วทุบตี คนข้างนอกก็เอาเก้าอี้มาตีซ้ำ บางคนก็เอาขวดมาทุบ ตำรวจอีกชุดก็เข้ามาหิ้วกันสองคน ลากหายไปในสนามหลวง”

ปรีชา การสมพจน์: ช่างภาพ 6 ตุลา พยานคนสำคัญเหตุการณ์นองเลือด กับฝันร้ายที่ยังคงหลอกหลอนไม่จบสิ้น ปรีชา การสมพจน์: ช่างภาพ 6 ตุลา พยานคนสำคัญเหตุการณ์นองเลือด กับฝันร้ายที่ยังคงหลอกหลอนไม่จบสิ้น ฝันร้ายที่ยังตามหลอกหลอน

ตั้งแต่ทำข่าวมา ลงพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน คุณคิดว่าเหตุการณ์ไหนที่ทำให้คุณยังคงฝันร้ายอยู่จนถึงทุกวันนี้ – เราถาม “6 ตุลานี่แหละ สะเทือนใจที่สุด” เขาตอบแทบไม่ต้องคิด

“ผ่านมาสี่สิบกว่าปีแล้ว แต่พูดถึงทีไรน้ำตามันจะไหลออกมาทุกที ทุกอย่างยังชัดเจน ยังเห็นสีหน้าของเด็ก ๆ อยู่เลย”

ถึงจะมีประจักษ์พยานทยอยออกมาเล่าความทรงจำอันเจ็บปวดให้สังคมรับรู้มากเพียงใด แต่ดูเหมือนว่ารัฐก็ยังคงเลือกนิ่งเฉย ปล่อยให้หน้าประวัติศาสตร์อันดำมืดถูกบดขยี้ซ้ำไปซ้ำมา ไม่ได้ช่วยไขปริศนาให้กระจ่างชัดแต่อย่างใด

นอกจาก 6 ตุลาในความทรงจำของปรีชาแล้ว อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้เขารู้สึกเข้าใกล้ความตาย เกิดหลังหลังจากตกอยู่ในวงล้อมการก่อจลาจลที่พลับพลาไชย 2517 ช่วงเวลาที่คนในสังคมหวาดระแวงรัฐ ไม่วางใจเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งยังมีข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่ว จนก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรง เปลี่ยนบ้านเมืองให้ลุกเป็นไฟในชั่วข้ามคืน

“ทุกครั้งที่ผมจะไปถ่ายภาพ ผมทำการบ้านก่อนตลอด ว่าใครจะไปรายงานอะไรงานไหน ถ้าเป็นงานชุมนุม เราก็ต้องไปหาจุดยืนให้มันถูกต้องว่าควรจะอยู่ตรงไหน อยู่ท่ามกลางห่ากระสุนมันก็ไม่ได้ ต้องปลอดภัยก่อน เพราะถ้าเราไม่ปลอดภัย รูปที่ได้มันจะไปมีประโยชน์อะไร

“อย่างพลับพลาไชย ผมไม่ได้อะไรเลยนะ ผมถ่ายรูปปั๊บถูกกระชากกล้องไปหมดเลย คือตอนนั้นกำลังยืนถ่ายรูปคนกำลังเผาโรงพัก พอขึ้นไปถ่ายรูปแฟลชวาบเข้า เขาก็มองมาหาเราตาเดียวเลย กระชากเราออกมา พังหมด ไม่ได้อะไรเลย แต่ยังดีที่ไม่ทำร้ายเรา ฉะนั้นทำงานทุกครั้งเราต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่งั้นไม่ได้อะไรเลย เสียเปล่า

“แต่ผมไม่เคยรู้สึกว่าอยากเลิกถ่ายภาพเลยนะ ผมมีเพื่อนช่างภาพที่เขาถ่ายกันเก่งมาก ๆ มีวิโรจน์ เอ็ม 16, อ๊อด - ไกรทิพย์ พันธุ์วุฒิ แล้วก็อิ๊ว - สมบัติ ที่อยู่ Bangkok Post แต่เขาไปงานใหญ่ ๆ นี่คือมือหนึ่งของ Bangkok Post เลย อิ๊วเก่ง ยอมรับว่าเก่ง ก็จะมีวิโรจน์กับผมที่แข่งกันอยู่ วิโรจน์เขามาจากไทยรัฐ ผมเดลินิวส์ แต่วิโรจน์เสียชีวิตไปแล้ว”

เหมือนว่าบรรยากาศที่หม่นเศร้าเริ่มคลายตัว ทุกครั้งที่ปรีชาเล่าถึงเพื่อนร่วมอาชีพ สายตาของเขาเปล่งประกายระยับ ขณะที่มุมปากก็มีรอยยิ้มน้อย ๆ ผุดขึ้นมา ราวกับเรื่องราวเลวร้ายที่เผชิญมา ค่อย ๆ ถูกชะล้างด้วยความทรงจำคึกคะนองในวัยหนุ่ม

“จริง ๆ ตอนนั้นก็สนุกนะ...

“แต่เวลามีงานประท้วง เมื่อก่อนมีชาวนามาตลอด ตกเย็นทีไรใจหวิว เขาจะมาประท้วงกันที่สนามหลวง มากันเยอะมาก ชาวนามาเกือบทุกวัน นั่งร้องเพลงคนกับควาย” เขาเล่าพลางหัวเราะก่อนจะฮัมเพลงขึ้นมา ‘คนก็คนทำนาประสาคน คนกับควายทำนาประสาควาย’ แล้วเสียงร้องก็เงียบไป เขาบอกว่าขอร้องเท่านี้แล้วกัน เป็นการผ่อนคลายเล็ก ๆ ก่อนที่บทสนทนาของเราทั้งคู่จะจบลง

ปรีชา การสมพจน์: ช่างภาพ 6 ตุลา พยานคนสำคัญเหตุการณ์นองเลือด กับฝันร้ายที่ยังคงหลอกหลอนไม่จบสิ้น ปรีชา การสมพจน์: ช่างภาพ 6 ตุลา พยานคนสำคัญเหตุการณ์นองเลือด กับฝันร้ายที่ยังคงหลอกหลอนไม่จบสิ้น ภาพถ่ายท่ามกลางวงล้อมแห่งความตาย

“ทำไมฆ่ากันทำร้ายกันได้โหดร้ายขนาดนี้ ไม่เหมือนมนุษย์เลย เขาทุบตีเด็ก ๆ ไม่มีโอกาสได้ร้องออกมาสักคำ”

ไม่เหมือนมนุษย์เลย คือ คำพูดที่ปรีชาบอกกับเราไม่หยุด เขาเล่าซ้ำ ๆ ว่าวันนั้นเหมือนเห็นปีศาจก็ไม่ปาน เพราะนี่ไม่ใช่การกระทำของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ทำต่อกัน ใบหน้าของคนเหล่านั้นยังตามหลอกหลอนปรีชาไม่หยุด หลับตาทีไรเขายังเห็นสีหน้าเย้ยหยันของพวกคนคลั่ง ที่เข้าไปทำร้ายทุบตีเด็ก ๆ จนเสื้อชุ่มเลือด

“เราเห็นการฆ่ากันต่อหน้าหลายคนมาก เป็นเด็ก ๆ ทั้งนั้น คนที่โดนลากผ่านไปไม่มีโอกาสได้พูดเลยสักคำ ไม่มี พอโดนจับมาอีกฝ่ายก็มาแย่งตัวเอามาทุบตีไม่ยั้ง ลากขา ลากแขน เอาเก้าอี้ฟาด ฟาด ฟาด

“รอบ ๆ ก็มีแต่คนตะโกนว่า ‘คอมมิวนิวต์’ เป็นคอมมิวนิสต์ มันไม่ใช่คนไทย มันเป็นเวียดนาม พยายามปลุกระดมว่าเด็ก ๆ ไม่ใช่คนไทย เขาเป็นคนของอีกฝ่าย

“เหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์มันโหดร้ายมาก บางคนถูกยิง ไม่รู้สึกตัวแล้ว คอพับอ่อนคออ่อนโดนหิ้วปีกมาแล้วทุบซ้ำ ตีซ้ำ มันไม่ใช่คน มันโหดร้ายเกินไป”

ปรีชากระชับกล่องในมือแน่น ก่อนจะเล่าถึงที่มาของภาพ ‘ตอกอก’ ชายคนหนึ่งกำลังใช้ไม้แหลมปักตรงไปที่อกของศพหนึ่ง แล้วใช้ขวดน้ำอัดลมที่ถืออยู่ในมือกระหน่ำทุบลงไปบนอกของศพซ้ำ ๆ ขณะที่เบื้องหลังก็มีคนรายล้อมมุงดูราวกับกำลังชมการแสดง ส่งเสียงเชียร์การทารุณศพตรงหน้าโดยไม่รู้สึกสลด

“ดูสีหน้าสิ เขาโห่ร้องอย่างสนุกสนาน เขาสนุกสนานกันมาก

“ตอนนั้นผมไม่รู้คิดอะไรเหมือนกัน คือถ่ายรูปเสร็จก็รีบออกมาเลย เพราะกลัว เรากลัวว่าคนอื่นเข้าเปลี่ยนใจขึ้นมา แล้วเห็นเรา เราอาจจะไม่อยู่ตรงจุดนั้นแทนก็ได้ ไม่รู้เขาคิดอะไรกัน”

หลังจากปรีชาปลีกตัวออกมาจากขุมนรก เขาเดินย้อนกลับไปที่หน้าหอประชุม พบเด็กนักศึกษาชายหญิงคู่หนึ่งพยายามหนีออกจากรั้วมหาลัย ปรีชาไม่รอช้าเขารีบเข้าไปช่วยเด็กทั้งสอง บอกให้ทิ้งทุกอย่างที่เป็นสัญลักษณ์นักศึกษา โยนมันไป และกำชับให้ทั้งคู่หนีออกไปให้ไกลที่สุด

ปรีชา การสมพจน์: ช่างภาพ 6 ตุลา พยานคนสำคัญเหตุการณ์นองเลือด กับฝันร้ายที่ยังคงหลอกหลอนไม่จบสิ้น นั่นคือสองชีวิตที่เขาในฐานะช่างภาพช่วยเอาไว้ได้ และยังช่วยอีกหลายชีวิตให้ได้รับความยุติธรรม ช่วยให้ครอบครัวเหยื่อรับรู้ถึงการจากไป แม้จะทรมาน แต่ภาพถ่ายของเขา คือ เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ช่วยชี้ตัวผู้กระทำผิดได้อย่างชัดเจน

“แปลกไหม ตลอดสี่สิบปีมานี้ไม่มีการสอบสวน ไม่มีการพูดถึง ไม่มีอะไรเลย” ปรีชายิงคำถาม ก่อนจะบอกว่า หลังจากส่งภาพ 6 ตุลาเสร็จเรียบร้อย หนังสือถูกเก็บลงกล่อง ไม่อนุญาตให้นำออกมาจำหน่าย เพราะมีรัฐประหาร มีเพียงความเงียบงันตอกย้ำว่ารัฐกำลังปิดบังอะไรบางอย่าง

“นักศึกษาตายนะ ทำไมมันเงียบมาก การสืบสวนคดีเราสามารถเป็นประจักษ์พยานสำคัญได้ รูปชัดเจนมาก รูปคนที่เขาเข้ามาทำร้ายนักศึกษา แต่แปลก ไม่มีใครมาสอบสวนเลย ไม่มีเลย ทุกอย่างเหมือนกับว่าเขาทำภารกิจเสร็จสิ้นแล้วก็จบลงแค่วันนั้น

“ก็ได้แต่หวังว่าถ้าคนรุ่นผมตายไป (หัวเราะ) แล้วคนรุ่นใหม่ยังไม่ละทิ้งอุดมการณ์ในการเรียกร้องความเป็นธรรม มันก็น่าจะดี ผมยังมีความหวังเสมอตราบเท่าที่ยังหายใจ”

ปัจจุบัน ปรีชายังคงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา และหวังว่าความโหดร้ายที่สลักอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์จะไม่เกิดขึ้นเป็นซ้ำสอง เพียงเพราะ ‘คำพูด’ กล่าวหานักศึกษาและประชาชนว่าเป็นพวกคิดล้มล้างสถาบันฯ ปรีชา การสมพจน์: ช่างภาพ 6 ตุลา พยานคนสำคัญเหตุการณ์นองเลือด กับฝันร้ายที่ยังคงหลอกหลอนไม่จบสิ้น