28 พ.ย. 2566 | 09:29 น.
- นางธันวันติ รามาเรา คือสตรีคนแรก ๆ ที่มองเห็นปัญหาหากจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น และบุกเบิกการวางแผนครอบครัวให้อินเดีย
- อินเดียเป็นประเทศแรก ๆ ที่มีวางแผนครอบครัว แต่สถิติในปี 2023 อินเดียกลับมีประชากรมากแซงหน้าจีน ปัญหานี้มีปัจจัยหลายประการเข้ามาเกี่ยวข้อง
หลายคนอาจมีภาพจำว่า ประเทศจีนมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก แต่สถิติปี 2023 ชี้ให้เห็นว่า อินเดีย แซงหน้าจีนไปแล้ว ด้วยจำนวนประชากร 1.428 พันล้านคน* ซึ่งจำนวนประชากรที่มากติดอันดับโลกนี้ สวนทางกับอีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่ว่า อินเดียคือประเทศแรกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีโครงการวางแผนครอบครัวในระดับประเทศ
เนื่องในวันประชากรโลก วันที่ 11 กรกฎาคม เราจะพาคุณไปรู้จักกับ นางธันวันติ รามาเรา (Dhanvanthi Rama Rau) บุคคลผู้มองเห็นปัญหาที่ตามมาจากการเพิ่มของจำนวนประชากรก่อนใคร และบุกเบิกการวางแผนครอบครัวในประเทศอินเดีย
จากคุณครูสู่นักสู้เพื่อสังคม
ธันวันติ เกิดที่เมืองฮุบลิ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ในปี 1893 ซึ่งเป็นช่วงกลางของการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากประเทศอังกฤษ เธอรับการศึกษาขั้นต้นในเมืองบ้านเกิด และย้ายมาเรียนระดับปริญญาที่มหาวิทยาลัยมัทราส ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเมืองเชนไน ที่ซึ่งเธอได้พบกับว่าที่สามีนักการทูต และเริ่มชีวิตการทำงานในวิทยาลัยควีนแมรี โดยนางธันวันติ นับว่าเป็นหนึ่งในผู้หญิงอินเดียรุ่นแรกที่สามารถสอนหนังสือในระดับวิทยาลัย
หลังจากแต่งงาน นางธันวันติ ย้ายตามสามีไปพำนักที่ประเทศอังกฤษ เธอค้นพบว่า คนส่วนใหญ่ในลอนดอนไม่ได้รู้จักอินเดียเลย ครั้งหนึ่งมีสัมมนาในประเด็นความเลวร้ายทางสังคมของอินเดีย ซึ่งงานนี้ไม่มีคนอินเดียได้รับเชิญ แต่นางธันวันติ ก็หาทางไปร่วมงานจนได้ ในงานมีหญิงชาวอังกฤษผู้ไม่เคยไปอินเดียกล่าววิจารณ์ชาวอินเดียอย่างรุนแรง ทำให้นางธันวันติ ทนไม่ไหวและลุกขึ้นกล่าวประณาม
ด้วยสารจากสตรีจากประเทศอาณานิคมนี้เองที่ทำให้ผู้ฟังบางท่านมองเห็นคนที่พวกเขาไม่เคยมอง และทำให้นางธันวันติ ได้รับเชิญเข้าร่วมเสวนาในอีกหลายเวทีทางสังคมร่วมกับนักสังคมสงเคราะห์และนักสตรีนิยม อันเป็นจุดเริ่มต้นก้าวสำคัญของเส้นทางสายสังคมของเธอ
นางธันวันติ ยังเป็นตัวแทนชาวอินเดียบนเวทีสตรีในระดับสากล เธอต่อสู้เพื่อสิทธิในการเลือกตั้ง และการเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมของผู้หญิงอินเดีย รวมถึงก่อตั้งสมาคมที่เชื่อมโยงผู้หญิงอินเดียและอังกฤษเข้าหากันเพื่อส่งเสริมกันและกัน
เมื่ออิสรภาพที่ประเทศถวิลหากำลังใกล้เข้ามา ความปรารถนาที่จะได้มีส่วนร่วมในการสร้างรัฐชาติทำให้นางธันวันติ ตัดสินใจย้ายกลับประเทศ และเป็นช่วงปี 1943 ที่อินเดียกำลังเผชิญกับวิกฤตความอดอยากครั้งใหญ่ในเบงกอลและบอมเบย์
จากวิกฤตนี้ นางธันวันติมองเห็นถึงปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่เท่าเทียม ความยากจนอย่างหนัก และการเจริญพันธุ์ในอัตราสูงในกลุ่มคนจน เธอมองว่า การเพิ่มจำนวนของประชากรนี้เองที่นำไปสู่ปัญหาความขาดแคลนทรัพยากร ผลเสียต่อการพัฒนาศักยภาพสตรี ไปจนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ และการคุมกำเนิดคือหนทางจัดการปัญหาเหล่านี้ ซึ่งนับว่า เธอมองการณ์ไกลมาก เพราะขณะนั้นอินเดียมีประชากรเพียง 389 ล้านคน
การต่อต้านงานที่พระเจ้ามอบหมาย
แต่ในสังคมอินเดีย การให้กำเนิดคือบทบาทที่พระเจ้ามอบหมายให้ เป็นสิ่งที่ฝังรากอยู่ในความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรม การจะเปลี่ยนให้ผู้คนหันมาสนใจการคุมกำเนิดถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างหนัก แม้แต่มุมมองของท่านมหาตมะ คานธี บิดาแห่งชาติที่เล็งเห็นถึงความจำเป็นของการควบคุมจำนวนประชากรที่มากล้นก็ยังสนับสนุนวิธีที่ไม่ต่อต้านพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างการระงับความต้องการทางเพศ แทนการใช้ตัวช่วยอย่างยาคุมหรือถุงยางซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ธรรมชาติสร้าง
อย่างไรก็ตาม การควบคุมอารมณ์ทางเพศไม่ได้ทำให้เกิดผลในเชิงบวกต่อการควบคุมจำนวนประชากร นางธันวันติ จึงเดินหน้าสนับสนุนมาตรการคุมกำเนิด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นนโยบายการวางแผนครอบครัวเพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคม
ประเทศแรกในโลกที่มีการวางแผนครอบครัว
ในยุคการรณรงค์ของนางธันวันติ ผู้ชายก็เป็นเป้าหมายหลักในการให้ความรู้เพื่อวางแผนครอบครัว เธอเชื่อว่า แม้ว่าผู้หญิงควรเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องจำนวนและเวลาที่จะมีบุตร แต่หากผู้ชายเห็นความสำคัญของครอบครัวขนาดเล็กแล้ว จะตัดสินใจทำหมันหรือส่งเสริมให้คู่ครองทำหมันได้ไม่ยาก ซึ่งการผ่าตัดในผู้ชายนั้นง่ายกว่าในผู้หญิง และด้วยความพยายามของเธอ ทำให้ชายชาวอินเดียกว่า 5 แสนคนในยุคนั้นตัดสินใจทำหมัน
ในที่สุด ผลจากการผลักดันอย่างหนักของนางธันวันติ ทำให้สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งอินเดีย (Family Planning Association of India) เกิดขึ้นในปี 1949 หลังรับเอกราชจากอังกฤษได้ 2 ปี และนับว่าเป็น NGOs ที่ทำงานด้านการวางแผนครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น
อีก 4 ปีต่อมา อินเดียเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการวางแผนครอบครัวบรรจุเป็นโครงการระดับประเทศในปี 1952 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมมารดาและบุตร โภชนาการ สวัสดิการครอบครัว และการยกเลิกการแต่งงานในเด็ก มุ่งเน้นกลุ่มคนในพื้นที่ห่างไกล โดยสนับสนุนให้มีลูกไม่เกิน 2 คนต่อครอบครัว และเว้นระยะในการมีบุตรเพิ่มมากกว่าสองปี จ่ายเงินอุดหนุนสำหรับครอบครัวที่วางแผนครอบครัว และสร้างความตระหนักรู้ผ่านช่องทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นไม่ได้ปรากฏอยู่แค่ในประเทศ แต่ยังสะเทือนไปทั่วโลก หลายประเทศนำการวางแผนครอบครัวมาใส่ลงในวาระแห่งชาติหลังจากนั้น
ประชากร 1,000 ล้านคน ที่เพิ่มขึ้นใน 70 ปี
ต้องยกความดีความชอบในการบุกเบิกการวางแผนครอบครัวในอินเดียให้แก่นางธันวันติ แต่น่าแปลกใจที่ตัวเลขประชากรของประเทศที่ตื่นรู้เรื่องการควบคุมจำนวนคนก่อนใครหลังจากนั้นกลับตรงข้าม และประชากรยังเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ล้านคนหลังการริเริ่มนโยบายวางแผนครอบครัวจนถึงปัจจุบัน จนทำสถิติประเทศที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งในโลกแซงประเทศจีนได้ในปี 2023
เมื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ จะเห็นว่าความเชื่อผิด ๆ ของการคุมกำเนิดยังคงฝังรากอยู่ในความคิดของคนอินเดียโดยเฉพาะผู้ชาย เช่น ความคิดที่ว่าการทำหมันจะทำให้น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย ลดทอนความต้องการทางเพศ ไปจนถึงทัศนคติที่นิยามความเป็นชายจากความสามารถในการสืบพันธุ์ และมุมมองต่อผู้หญิงที่ต้องการคุมกำเนิดว่าทำไปเพราะต้องการไปหาความบันเทิงจากการมีเพศสัมพันธ์ มากกว่าปัญหาที่ตามมาจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้การคุมกำเนิดยังคงเป็นเรื่องด่างพร้อยในสังคมอินเดีย
ชาวอินเดียยังเคยเผชิญกับความทรงจำที่เจ็บปวดในสมัยยุคมืดของประวัติศาสตร์การวางแผนครอบครัวช่วงปี 1975 ที่รัฐบาลของนางอินธิรา คานธี แก้ปัญหาข้าวยากหมากแพงด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งรวมถึงการลดจำนวนประชากรด้วยการเกณฑ์กลุ่มคนผู้ยากไร้มาบังคับทำหมันหมู่อย่างบ้าคลั่งและเร่งด่วน ในปีเดียวมีชายชาวอินเดียโดนจับทำหมันไปกว่า 6.2 ล้านคน และ 2,000 ราย เสียชีวิตจากการผ่าตัดที่ผิดพลาด
แม้หลังจากนั้น นางอินทิรา จะยกเลิกภาวะฉุกเฉิน แต่ก็ทำให้เสียสัดส่วนคะแนนในพื้นที่ที่มีการบังคับทำหมัน และเสียเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไป หลังจากนั้นอีกหลายทศวรรษก็ไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าแตะเรื่องการทำหมันอีกเลย แม้ว่าจะเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ มีเพียงการสนับสนุนการวางแผนครอบครัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยอุปกรณ์เช่นถุงยางอนามัย หรือห่วงคุมกำเนิด
จากวันที่นางธันวันติ เห็นความเชื่อมโยงจากปัญหาจำนวนประชากร สู่ปัญหาทรัพยากร เศรษฐกิจ และสังคม ทุกวันนี้ ประชากรอินเดียและประชากรโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณทรัพยากรกลับลดลง ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ประชาชนคนธรรมดาอย่างเราจะริเริ่มทำอะไรได้บ้างเพื่อรักษาสมดุลให้โลกใบนี้ โดยไม่ต้องรอนโยบายจากใคร เพราะการรอคอยอาจสายเกินไป
หมายเหตุ: *สถิติประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2023
เรื่อง: นิธิตา เขมรังสฤษฏ์
ภาพ: แฟ้มภาพจาก Getty Images
อ้างอิง: