15 ก.พ. 2567 | 11:50 น.
- บาแดงแตร์เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยปารีส คณะนิติศาสตร์ หนึ่งในเหตุผลที่เป็นแรงขับให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนกฎหมายคือประสบการณ์ชีวิตของเขาเอง
- บาแดงแตร์ไม่เชื่อว่ากิโยตีนที่มีหน้าที่ (ในเชิงสังคม) สร้างความหวาดกลัวแก่สาธารณชนให้ไม่กล้าเลียนแบบผู้กระทำความผิด จะเป็นวิธีที่สมเหตุสมผลสำหรับการลงโทษผ่านกระบวนการยุติธรรม
- บาแดงแตร์ต่อสู้คดีให้แก่เหยื่อผู้ที่เข้าข่ายจะถูกตัดสินประหารชีวิตกว่า 9 ปี ก่อนที่เขาจะทำความต้องการนั้นสำเร็จลุล่วงในปี 1981 ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม
‘โรแบรต์ บาแดงแตร์’ (Robert Badinter) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมฝรั่งเศส ผู้ต่อสู้เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต และอีกหลายประเด็นสิทธิมนุษยชน เสียชีวิตด้วยวัย 95 ปี ในคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของบุคคลสำคัญที่ได้อุทิศเกือบทั้งชีวิตแด่ตุลาการฝรั่งเศสและในระดับสากลโลก
บทความนี้จะนำพาผู้อ่านไปรู้จักกับชีวประวัติ เส้นทางสู่การต่อสู้ และแนวความคิดของบาแดงแตร์ บุคคลผู้ที่ควรถูกจดจำและจารึกชื่อไว้ในหน้าประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย
‘โรแบรต์’ นามฝรั่งเศสอันสามัญและเจ็บปวด
ทุกครั้งที่บาแดงแตร์ถูกถามถึงที่มาของครอบครัว เขาจะรู้สึกอึดอัดเพราะบรรพบุรุษชาวยิวของเขาล้วนแล้วแต่ผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายในช่วงสงครามโลกมา พ่อของเขา ‘ซีมง บาแดงแตร์’ (Simon Badinter) ถูกจับที่เมืองลียงในปี 1943 ส่วนแม่ของเขา ‘ชาร์ลอตต์ โรเซนเบิร์ก’ (Charlotte Rosenberg) ลี้ภัยจากสงครามในรัสเซียช่วงก่อนจะเข้าสงครามโลก ทิ้งชื่อเก่า ‘ชีฟรา’ (Shifra) เปลี่ยนเป็น ‘ชาร์ลอตต์’ และตั้งชื่อลูกชายทั้งสองของเธอให้เป็นชื่อฝรั่งเศสอันสุดแสนสามัญว่า ‘โกลด’ (Claude) และ ‘โรแบรต์’
บาแดงแตร์เกิดวันที่ 19 มีนาคม 1928 ที่กรุงปารีส การลี้ภัยเป็นข้อจำกัดในการมีชีวิตที่ดีในเมืองใหญ่ เขาเล่าว่า “ตอนเด็ก ๆ พี่ชายและผมเข็นรถเข็นขายผ้าขี้ริ้วตามถนน”
เมื่ออายุ 14 ปี พ่อของเขาถูกทหารนาซีจับที่ลียง ถูกส่งไปที่ค่ายกักกันโซบิบอร์ (Sobibor) บาแดงแตร์เล่าว่าทันทีที่แม่รู้ ทั้งครอบครัวก็รีบเก็บกระเป๋าและพากันหนีออกจากบ้านให้ไวที่สุด เพราะพวกนาซีอาจสืบรู้ได้ว่าพวกเขาอาศัยอยู่ที่ไหนจากเอกสารที่พ่อพกติดตัวเสมอ
หลังจากซ่อนตัวที่แคว้นซาวัว (Savoie) ช่วงปี 1943 - 1945 บาแดงแตร์และครอบครัวกลับมาที่ปารีสอีกครั้งในช่วงที่ฝรั่งเศสเป็นอิสระ
บาแดงแตร์เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยปารีส คณะนิติศาสตร์ หนึ่งในเหตุผลที่เป็นแรงขับให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนกฎหมายคือประสบการณ์ชีวิตของเขาเอง “หากคุณผ่านประสบการณ์ที่พวกเราพบเจอมา คุณจะยิ่งผูกพันแน่นแฟ้นกับความถูกต้องทางกฎหมายแบบสาธารณรัฐ” จากนั้น เขาศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลับมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ปารีส จนถึงปี 1954
จุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต
บาแดงแตร์เริ่มอาชีพทนายตอนอายุ 22 ปี เขามีความสนใจด้านกฎหมายอาญาเป็นพิเศษ
คดีหนึ่งที่ทำให้เขาเดินหน้าต่อต้านโทษประหารชีวิตอย่างเต็มตัว คือ กรณีของ ‘โกลด บุฟเฟต์’ (Claude Buffet) และ ‘โรแชร์ บงตองส์’ (Roger Bontems) ในปี 1792
สองนักโทษจับผู้คุมขังและพยาบาลเป็นตัวประกันที่คุกแกรล์โวซ์ (Clairvaux) หลังจากที่ตำรวจพยายามบุกเข้าไปในอาคาร บุฟเฟต์ได้ตัดสินใจปาดคอตัวประกันทั้งสอง ขณะที่บงตองส์ไม่ได้เป็นผู้ลงมือ แต่ทั้งคู่ก็ถูกจับกุมในท้ายที่สุด
บาแดงแตร์เป็นทนายให้ฝ่ายบงตองส์เพื่อช่วยให้เขาพ้นโทษประหารชีวิต เนื่องจากบงตองส์ไม่ได้เป็นผู้ลงมือกระทำ แต่ความพยายามของเขาก็ไม่เป็นผล เพราะท้ายที่สุด ศาลตัดสินว่าบงตองส์มีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการฆาตกรรม
บาแดงแตร์เห็นภาพบงตองส์ถูกประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยตีนต่อหน้าต่อตาเขา สำหรับเขา นั่นถือเป็นภาพเหตุการณ์ที่โหดร้ายที่เกินจะยอมรับไหว โดยเฉพาะในสังคมที่อ้างประชาธิปไตยเป็นหลัก เชิดชูสิทธิมนุษยชน แต่กระบวนการยุติธรรมกลับยังคงไว้ซึ่งบทลงโทษอันป่าเถื่อน ล้าหลัง
บาแดงแตร์ไม่เชื่อว่ากิโยตีนที่มีหน้าที่ (ในเชิงสังคม) สร้างความหวาดกลัวแก่สาธารณชนให้ไม่กล้าเลียนแบบผู้กระทำความผิด จะเป็นวิธีที่สมเหตุสมผลสำหรับการลงโทษผ่านกระบวนการยุติธรรม อีกทั้ง เขายังยืนยันเสมอว่าความหวาดกลัวต่อความตายไม่เคยหยุดยั้งมนุษย์จากความต้องการก่ออาชญากรรมใด ๆ ได้จริง บาแดงแตร์ได้บอกเล่าเรื่องราวและจุดยืนของเขาต่อคดีนี้ในหนังสือของเขา ‘L'Exécution’ ที่เผยแพร่ในปี 1973
หลังจากคดีของบงตองส์ บาแดงแตร์ต่อสู้คดีให้แก่เหยื่อผู้ที่เข้าข่ายจะถูกตัดสินประหารชีวิตอีกประมาณ 6 ราย ซึ่งก็มีทั้งทำสำเร็จและไม่สำเร็จ ทั้งหมดนั้นกินเวลากว่า 9 ปี ซึ่งถือเป็นห้วงเวลาแห่งการต่อสู้ที่เข้มข้นและยาวนาน ก่อนที่เขาจะทำความต้องการนั้นสำเร็จลุล่วงในปี 1981 ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม
ก้าวสู่การเมืองและการยกเลิกโทษประหารชีวิตและสิทธิมนุษยชนที่เป็นจริง
บาแดงแตร์เข้าสู่การเมืองในนามสมาชิกสหพันธ์ของพรรคและสโมสรฝ่ายซ้ายขนาดเล็กซึ่งมีผู้นำคือ ‘ฟรองซัวส์ มิแตรองด์’ (François Mitterrand)
บาแดงแตร์เริ่มคุ้นชินกับมิแตรองด์ ช่วงปี 1958 นอกจากทั้งคู่จะมีภูมิในเชิงนิติศาสตร์เหมือนกันแล้ว พวกเขายังมีความปรารถนาที่จะปฏิรูปกฎหมายของฝรั่งเศสในเชิงลึก บาแดงแตร์จึงได้ตำแหน่ง ‘รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม’ ในปี 1981 ในสมัยที่มิแตรองด์ได้รับเลือกตั้งให้เป็น ‘ประธานาธิบดี’ ในนามของหัวหน้าพรรค ‘Parti Socialiste’ (พรรคฝ่ายซ้าย)
หนึ่งในเรื่องแรก ๆ ที่บาแดงแตร์ผลักดัน คือการยกเลิกโทษประหารชีวิต ในช่วงนั้น เหล่าประเทศในยุโรปยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่ แต่ก็แทบจะไม่มีการบังคับใช้แล้ว กลับกัน ศาลฝรั่งเศสมีแนวโน้มที่จะยิ่งตัดสินโทษประหารชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ
อีกประการหนึ่ง ในแง่บริบททางสังคม ผู้คนส่วนมากในสังคมฝรั่งเศสยังคงเห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต (จากผลสำรวจของ Ipsos ปี 1980 ซึ่งคิดเป็น 61% จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด) จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับบาแดงแตร์ที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้
17 กันยายน1981 บาแดงแตร์ใช้เวลากล่าวปราศรัยอันทรงพลังกว่า 2 ชั่วโมงในสภา โน้มน้าวให้ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับเขา “พรุ่งนี้ ด้วยมือคุณ ตุลาการของฝรั่งเศสจะไม่ใช่ตุลาการที่เข่นฆ่า พรุ่งนี้ ด้วยมือคุณ การประหารชีวิตแบบปิดบังซ่อนเร้น ยามฟ้าสาง ใต้เงามืด ในเรือนจำฝรั่งเศส ที่ถือเป็นความอับอายของสังคม จะไม่มีอีกต่อไปแล้ว พรุ่งนี้หน้ากระดาษอันโชกเลือดของตุลาการของพวกเราจะถูกพลิกผ่าน”
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโหวตรับ 369 เสียงต่อ 113 เสียง บาแดงแตร์ทำสำเร็จอีกครั้งในการโน้มน้าววุฒิสภาซึ่งส่วนมากเป็นฝ่ายขวา จนท้ายที่สุด การยกเลิกโทษประหารชีวิตมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายในวันที่ 10 ตุลาคม 1981
สร้างแรงขับทางสังคมเรื่องความหลากหลายทางเพศ
อย่างที่ได้กล่าวไว้ ไม่ใช่เพียงเรื่องโทษประหารชีวิตแต่เพียงเท่านั้นที่บาแดงแตร์ต่อสู้เพื่อสังคมฝรั่งเศส แต่ยังรวมถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งความเสมอภาคทางเพศก็เป็นหนึ่งในหลายประเด็นที่บาแดงแตร์ขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กันกับการยกเลิกโทษประหารชีวิต
บาแดงแตร์ยื่นแก้ไขกฎหมายการลงโทษ ‘การปราบปรามรักร่วมเพศ’ โดยมีเนื้อหาให้ยกเลิกการลงโทษความสัมพันธ์แบบรักเพศเดียว หากผู้เยาว์ผู้มีอายุมากกว่า 15 ปี มีความยินยอม แน่นอนว่าเขาถูกโจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพวกนักการเมืองฝ่ายขวา คำกล่าวหาที่ร้ายแรงที่สุดคือ เขาถูกแปะป้ายว่าสนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์ทางทวาร แต่ท้ายที่สุด ข้อถกเถียงของบาแดงแตร์ก็โน้มน้าวสภาได้อีกครั้ง การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จึงเกิดขึ้นต่อมาในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 1982
หมุดหมายนี้ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เพราะกฎหมายนี้เป็นจุดเริ่มต้นแรก ๆ ที่ปรับฐานความเข้าใจทางสังคมต่อความรักเพศเดียวกันให้มีมาตรฐานเฉกเช่นเดียวกับความรักต่างเพศ
ด้วยผลงานที่โดดเด่นในหลายเรื่อง บาแดงแตร์จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น ‘ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ’ ในปี 1986 และดำรงตำแหน่งถึงปี 1995
ว่างจากงานบ้านงานเมือง บาแดงแตร์ใช้เวลาอยู่กับการเขียนหนังสือ หนังสือของเขาได้รับการเผยแพร่กว่า 20 เรื่อง มีตั้งแต่เรื่องราวชีวิตส่วนตัว เรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ในด้านกฎหมาย บทละคร โอเปร่า ฯลฯ
จวบจนกระทั่งช่วงสุดท้ายของชีวิต บาแดงแตร์ยังคงต่อสู้รณรงค์เพื่อหยุดยั้งโทษประหารชีวิตในระดับสากล และยังคงยืนยันจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิตว่า ความกลัวต่อความตายไม่ได้ช่วยยับยั้งอาชญากรรม และคำสั่งประหารชีวิตในนามของตุลาการคือความน่าอับอายของมนุษยชาติ
อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส ‘เอมมานูแอล มาครง’ (Emmanuel Macron) กล่าวเชิดชูบาแดงแตร์ไว้ว่าเป็น “บุคคลแห่งศตวรรษ จิตสำนึกแห่งสาธารณรัฐ จิตวิญญาณฝรั่งเศส”
กลับไปที่คำถามที่คาใจบาแตงแดร์เสมอมาว่า “พ่อแม่ของผมเขารักฝรั่งเศสมาก แต่ผมไม่รู้ว่าฝรั่งเศสรักพวกเขา(ผู้อพยพ)ไหม” ทั้งที่ในทางปฏิบัติ เขาได้สร้างคุณูปการให้แก่รัฐฝรั่งเศสไว้มากมายเหลือเกิน
คงไม่แปลกหากจะรู้สึกชื่นชม โรแบรต์ บาแดงแตร์ กับเส้นทางการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ของเขาและการพลิกโฉมโลกแห่งตุลาการ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกหดหู่เมื่อหันกลับมามองรอบตัวที่อะไร ๆ ผิดฝาผิดตัวไปเสียหมด ยังไม่ต้องคิดถึงว่า เมื่อไหร่กันที่เราจะหลุดพ้นจากการพูดเรื่องย้ายขั้วแบ่งเค้ก ไปพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้นในสภา เพราะก่อนอื่นใด แค่ว่าทุกวันนี้ เราในฐานะ ‘พลเมือง’ จะพูดแบบที่เราคิดเห็น/ตั้งคำถามอย่างปลอดภัย ยังดูเป็นเรื่องยากเลย
เรื่อง : ณัฐ วิไลลักษณ์
ภาพ : Getty Images
อ้างอิง :
Mort de Robert Badinter : 1981, l’année où le ministre de la Justice entre dans l’Histoire
Robert Badinter est mort, l’ancien ministre de la Justice avait 95 ans
Mort de Robert Badinter : L’histoire d’un couple iconique avec Elisabeth
Robert Badinter, ancien garde des Sceaux, est mort
Les mots de Badinter contre la peine de mort