12 มี.ค. 2567 | 18:00 น.
ในวาระครบรอบ 20 ปีของการบังคับให้สูญหายกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทางการไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการอำนวยให้เกิดความยุติธรรม ความจริง หรือการเยียวยาต่อทนายสมชายและครอบครัวของเขา กรณีนี้และอีกหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใหสูญหายเน้นย้ำให้เห็นวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่หยั่งรากลึกในประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยพยายามที่จะเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
“20 ปีผ่านไป ตั้งแต่ทนายสมชายหายตัวไปที่กรุงเทพฯ เรายังได้รับคำตอบไม่มากนัก และมีความหวังที่เลือนลาง ในขณะยังมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะปิดปาก จูงใจหรือข่มขู่สมาชิกในครอบครัวของเขา ไม่ให้เรียกร้องความยุติธรรม
“จากความล้มเหลวที่จะนำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการรับผิดทางอาญา และจากการเพิกเฉยสิทธิในการเยียวยาอย่างเต็มที่ของครอบครัวของเขา อีกทั้งการยกเลิกโครงการคุ้มครองพยาน เป็นที่ชัดเจนว่าเหยื่อของการบังคับให้สูญหายนั้น ไม่สามารถพึ่งพาทางการไทยได้อย่างเต็มที่ และผู้กระทำความผิดอาจไม่ต้องรับโทษตามความผิดที่ก่อขึ้น
“เป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีแล้วที่รัฐบาลไทยประกาศใช้กฎหมายในประเทศ เพื่อเอาผิดทางอาญากับการบังคับให้สูญหาย แต่เนื่องจากยังไม่มีการฟ้องคดีเกี่ยวกับการบังคับให้สูญหายในชั้นศาล ทำให้กฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้น
“หากประเทศไทยประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอย่างมีเกียรติ ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีอีกหลายประการที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แม้การมีกฎหมายในเรื่องนี้เป็นก้าวย่างแรกที่ดี แต่ต้องมีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป เพื่อประกันให้เกิดความรับผิดรับชอบและการเยียวยาต่อผู้เสียหายทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย อีกทั้งประเทศไทยต้องให้สัตยาบันรับรองโดยไม่ประกาศข้อสงวนใดๆ ต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (ICPPED) และยอมรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยการบังคับให้หายสาบสูญ ที่จะรับฟังและพิจารณาข้อมูลจากผู้เสียหายและคู่กรณีที่เป็นรัฐอื่นๆ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นอย่างจริงใจที่จะต่อต้านอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศนี้”