10 มิ.ย. 2567 | 16:04 น.
KEY
POINTS
“ได้เห็นรอยยิ้มจากคนที่นั่งเรือไปกับเรา รอยยิ้มจากแขกที่อยู่ริมคลอง เราก็ภูมิใจในแมวของเรา มันทำให้คนมีความสุข”
‘เปา’ ชวลิต สัทธรรมสกุล เจ้าของร้านสี่แยกหัวตะเข้ คาเฟ่ แอนด์ เกสท์เฮาส์ บรรยายถึง ‘ความสุข’ ที่เกิดจากการทำงานร่วมกับพนักงานแผนกแมว Heal ใจ จำนวน 9 ชีวิต ได้แก่ พี่โทน, ทองหยิบ, ส้มแป้น, มะขาม, มะลิ, เสือเมฆ, โอเลี้ยง, โกโก้ และน้องกะทิ
นอกเหนือจากการนั่งเรือไปเก็บขยะกับนักท่องเที่ยว เดินทักทายลูกค้าในร้านอย่างเป็นกันเอง และแอบอู้ด้วยการนอนอวดพุงบ้างบางครั้ง ในมุมมองของพี่เปา น้องแมวทั้ง 9 ชีวิต ยังช่วยชุบชีวิตให้ ‘หัวตะเข้’ ชุมชนเก่าริมคลองในเขตลาดกระบัง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุไฟไหม้จนแทบกลายเป็นชุมชนร้าง กลับมาคึกคักอีกครั้ง
“ตอนแรกเรามองแค่ร้านเรา แต่พอคนมาเยอะ ๆ เรามองไปถึงภาพรวมทั้งตลาด จะทำอย่างไรให้คนที่มาแล้วรู้สึกประทับใจ มีร้านเยอะ ๆ (ชุมชนหัวตะเข้) จึงเริ่มปรับตัวไปพร้อม ๆ กัน
“ไม่ใช่ว่าทุกคนเปิดร้านเพื่อเป็นธุรกิจอย่างเดียว หลาย ๆ ร้านถ้ามองในแง่ธุรกิจ มันไม่ได้คุ้ม พี่ว่าส่วนหนึ่งเพราะพวกเขารักที่นี่ และภูมิใจที่มีคนมาที่นี่ จึงอยากเป็นเจ้าภาพต้อนรับคนให้มีที่นั่ง มีน้ำ มีอาหารรับประทาน”
ทาสแมวทั้งหลาย ต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของ ‘เปา’ ชวลิต สัทธรรมสกุล เจ้าของแก๊งน้องเหมียว ที่เดิมถูกนำมาเลี้ยงไว้เพียงเพื่อจับหนูในร้าน แต่ท้ายที่สุดกลับมีส่วนช่วยในการรณรงค์ให้ผู้คนช่วยกันรักษาความสะอาดในน้ำ และเป็นเหตุผลสำคัญให้ชุมชนเก่าแก่ริมคลองกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
The People : ก่อนที่จะมาทำร้านสี่แยกหัวตะเข้ คาเฟ่ แอนด์ เกสท์เฮาส์ พี่เปาทำอะไรมาก่อนคะ
เปา ชวลิต : ก่อนจะมาทำที่นี่ก็ทำร้านอาหารอยู่ที่ลาดกระบังครับ ทำมาเกือบ 10 ปี ทีนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้วเกิดไฟไหม้ที่นี่พอดี บ้านต้นเพลิงเป็นบ้านเช่า ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวเช่าอยู่ พอหลังไฟไหม้จึงมีการทำประชาพิจารณ์ ข้อสรุปคือจะไม่ให้ต่างด้าวเช่าอยู่รวมกันเยอะ ๆ แล้ว เพื่อลดความเสี่ยงเหตุไฟไหม้ และบ้านหลังนี้ก็เป็นหนึ่งในหลังที่มีคนต่างด้าวเช่าอยู่ เรามองในแง่ทำเลคิดว่าน่าจะดึงดูดคนได้ เลยไปคุยเพื่อขอเช่ากับเจ้าของบ้าน
The People : พี่เปาไม่ใช่คนละแวกนี้?
เปา ชวลิต : ไม่ได้อาศัยที่นี่ แต่ว่าอยู่ใกล้ ๆ ตอนเด็ก ๆ ก็นั่งเรือมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนศึกษาพัฒนา ซึ่งก็อยู่ในชุมชนนี้แหละ
The People : จากอดีตถึงปัจจุบัน พี่เปาเห็นความแตกต่างของที่นี่อย่างไรบ้างคะ
เปา ชวลิต : ตอนเด็กเราก็ไม่ค่อยได้เดินเท่าไร แต่เห็นว่ามันมีความคึกคัก เพราะตอนนั้นมีคนใช้เรือเยอะและมีตลาด ซึ่งต่อมาถูกไฟไหม้ไป เหลือพื้นที่แค่หนึ่งในสี่ พอถึงช่วง 10 ปีที่แล้ว ตรงนี้เรียกว่าตลาดร้างได้เลย เพราะมันไม่มีคน มีแต่หมา และคนขายยา (เสพติด) แรงงานต่างด้าว คนแก่ ถ้าจะมีร้านค้าก็จะเป็นร้านขายของชำของชาวบ้าน
The People : เห็นแบบนี้แล้วยังกล้ามาเปิดร้านอาหารเหรอคะ?
เปา ชวลิต : เมื่อ 10 ปีที่แล้วเริ่มมีโซเชียลมีเดีย เริ่มมีการเช็กอิน พอดี ประกอบกับค่าเช่ามันไม่แพง เราเลยรู้สึกว่าถ้าเช่าที่นี่แล้วไม่เวิร์ก ลูกค้าน้อย อย่างน้อยเราก็เหมือนมีบ้านเอาไว้พักผ่อน เอาไว้ให้เพื่อนมานอนเล่น แล้วตอนเริ่มทำก็ไม่ได้จ้างคนเยอะ เริ่มจากเราคนเดียว เปิดร้านตอนเย็น ๆ ค่าใช้จ่ายเลยไม่สูง อาศัยขายกาแฟบ้าง ขายขนมปังบ้าง จนลูกค้าเริ่มเยอะขึ้น จึงค่อยเพิ่มพนักงาน
ตอนแรกก็ตั้งใจเปิดเป็นร้านอาหารทั่วไป แต่เนื่องจากเมื่อ 8 - 9 ปีที่แล้ว เริ่มมี Airbnb แล้วเรารู้สึกว่ามันเหมาะกับสไตล์บ้านแบบนี้ เลยเปิดที่พักบนชั้นที่สองของบ้าน เหมือนบ้านที่เจ้าของแบ่งพื้นที่บางส่วนให้แขกมาเช่า ไม่ใช่โรงแรม ก็เริ่มได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว มีทั้งหมด 3 ห้อง
ช่วงก่อนโควิด-19 เต็มเกือบทุกวัน แต่ช่วงหลังโควิด-19 ใหม่ ๆ เราไม่ได้รับแขกต่างชาติเลย ทีนี้ก็จะกลายเป็นแขกคนไทยเป็นส่วนใหญ่ เป็นแขกที่อยากมาพายเรือกับแมว
The People : แมวเริ่มมาเป็นกิมมิคของร้านตั้งแต่เมื่อไร
เปา ชวลิต : ปัญหาของบ้านไม้คือหนู เราก็แค่อยากเลี้ยงแมวเพื่อเอามาไล่หนู ก็ไปเอาแมวจรมา 2 ตัว เลี้ยงแบบปล่อย ๆ เลี้ยงตามมีตามเกิดเพราะเราไม่มีประสบการณ์ จนวันหนึ่งเราพายเรือไปซื้อของที่ตลาดตอนเช้า ด้วยความที่เขายังเล็กอยู่ เขาก็จะติดเรา พอเราพายเรือ เขาก็เดินตามเหมือนอยากจะไปด้วย เราก็เลยลองเอาเรือมารับเขาว่าจะไปไหม เพราะคนชอบพูดว่าแมวกลัวน้ำ ปรากฏว่าพอเอาเรือมาจ่อ เขาก็กระโดดลงมา
เราก็แบบ อ้าว ไหนใครบอกแมวกลัวน้ำ ไม่ได้กลัวนี่ ไม่ได้กลัวสักหน่อย อีกวันหนึ่งเราเลยลองพาเขาลงเรือ คอยสังเกตปฏิกิริยาเขาว่าจะเป็นอย่างไร สรุปว่าด้วยความที่แมวเป็นนักสำรวจ เขาก็เดินไปทั่วเรือเลย สุดท้ายไปอยู่ที่หัวเรือ มองนู่นมองนี่ เราเลยรู้สึกว่าเขาน่าจะชอบ หลังจากนั้นเกือบทุกวันเราก็จะพาเขานั่งเรือ
The People : แมวตัวแรกที่มาคือตัวไหนคะ
เปา ชวลิต : ทองดำกับทองแดง เป็นแมวจรที่เอามาจากบ้าน ทองดำเป็นตัวเมีย ออกลูกมาหลายคอก แต่ทองแดงเสียไปหลายปีแล้ว แต่ก่อนผมเลี้ยงแต่หมา ก็ไม่คิดว่าจะรักแมว คิดแค่ว่าเอามาไล่หนู แค่นั้นเอง
ตอนนี้ก็มีทั้งหมด 9 ตัว เป็นลูกแม่ทองดำ 3 ตัว มีพี่โทนเป็นพี่ใหญ่ คลอดออกมาตัวเดียวก็เลยชื่อพี่โทน คอกที่สองคือทองหยอดกับทองหยิบ แต่ทองหยอดหายไปแล้ว เหลือแต่ทองหยิบ คอกที่สามคือส้มแป้น นอกนั้นก็มีมะขาม, มะลิ, เสือเมฆ, โอเลี้ยง, โกโก้ และน้องกะทิ ซึ่งเป็นแมวหลงอยู่ใต้สะพาน ไม่คิดจะเอามาเพิ่มแล้ว ความจริงคิดจะหยุดตั้งแต่ตัวที่ 6 แล้ว (หัวเราะ)
The People : มีข้อห้ามอะไรเป็นพิเศษสำหรับแขกที่มาเล่นกับแมวไหม
เปา ชวลิต : จริง ๆ แขกจะไม่ค่อยได้เจอกับแมวสักเท่าไร เพราะตอนกลางวันเราจะเก็บเขาไว้ในห้อง จะมาแค่ช่วงลงเรือตอนเย็น หรือถ้าแขกไม่ค่อยมี เราก็จะพาออกมาทีละตัวสองตัว
The People : จุดเริ่มต้นการนำแมวไปช่วยเก็บขยะคืออะไร
เปา ชวลิต : อันนั้นอาจจะเป็นแค่ภาพ แต่จริง ๆ แล้ว ชีวิตปกติของแมว เขาเป็นสัตว์ที่นอนเยอะมาก เพราะฉะนั้นตอนกลางวันเราก็จะไม่ค่อยเอาออกมา จะเก็บเขาไว้ในห้อง ที่มาพายเรือเนี่ย ต้องเริ่มตอนที่แดดร่ม ๆ เพราะแมวเป็นสัตว์ขี้ร้อน ถ้าร้อนมาก ๆ จะเป็นฮีทสโตรก
เราเริ่มจากพายเรือพาแมวเที่ยวก่อน ทีนี้เมื่อหลายปีก่อนมันมีข่าวที่ปลาวาฬตาย แล้วผ่าท้องออกมาเจอถุงพลาสติกเยอะมาก พอมีข่าวนั้นมันทัชใจเรามาก จากแต่ก่อนเราพายเรือเที่ยว ไม่ได้สนใจขยะ เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเรา หลังจากนั้นพอเจอขยะเราก็จะช่วยเก็บ
ส่วนเรื่องการพายเรือพาแมวเก็บขยะ เราคิดว่ากิจกรรมนี้ถ้าทำไปเฉย ๆ ทำคนเดียว มันก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าไร แต่ถ้าเราทำให้คนเห็น ให้คนสัมผัสได้ ให้คนรู้ มันอาจจะไปกระตุ้นให้เขามีสำนึกเรื่องการไม่ทิ้งขยะลงน้ำ เราเลยคิดว่าแมวเป็นกิมมิคที่จะทำให้คนสนใจกิจกรรมของเรา เราก็อยากจะทำให้คนเห็น คนที่อาจจะไม่ได้ไปกับเรา อาจจะอยู่บนฝั่ง จะบอกว่าสร้างภาพ มันก็ใช่ แต่มันก็เป็นการทำด้วยความที่เราอยากทำ
The People : พี่เปาคิดว่ากิจกรรมนี้ได้ผลหรือไม่
เปา ชวลิต : ได้ผล เพราะที่ตอนนี้ทุกคนมาหัวตะเข้ เพราะอยากมาพายเรือกับน้อง เราก็จะใช้คำว่า พายเรือเก็บขยะกับน้องแมว คือพยายามใส่อะไรให้คนรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ ให้เขาทำได้โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ
The People : ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแมวช่วยฮีลใจคนได้ด้วยหรือเปล่าคะ
เปา ชวลิต : ก็คิดว่านะ แมวมันช่วยฮีลจิตใจของเขา ไม่รู้เป็นเพราะแมวเรามันไม่เหมือนแมวที่อื่นหรือเปล่านะ คนส่วนใหญ่ที่มาที่นี่จะบอกว่า แมวที่นี่ไม่เหมือนแมวที่บ้านเลย เพราะวิธีการเลี้ยงแตกต่างกัน เราเลี้ยงให้เขาเจอคนเยอะ ๆ แมวก็จะใกล้ชิดกับคน แต่หลาย ๆ บ้านคือเขาเลี้ยงปิด อยู่แต่ในบ้าน แมวไม่ได้เจอใคร แมวก็อาจจะกลัวการได้เจอคน อาจจะไม่เล่นเยอะ
The People : พี่เปาได้สังเกตไหมว่า บางคนที่เครียด ๆ มา พอมาเล่นกับแมวเรา เขาเป็นอย่างไรบ้าง
เปา ชวลิต : ไม่ต้องสังเกต เห็นชัดมากเลย ง่าย ๆ เวลาที่เราพายเรือผ่านตรงไหน คนที่อยู่ริมฝั่ง หรือนักท่องเที่ยวก็จะมอง ถ่ายรูป และยิ้ม เราก็รู้สึกว่า เออ เราทำให้คนมีความสุข
The People : พี่เปาไม่ได้หวงแมวเหรอคะ เจ้าของแมวบางคนจะหวงแมวมาก
เปา ชวลิต : มันเริ่มจากการที่เราพาเขาเที่ยวทุกวัน และเราอยากให้เขามีความสุข เราเลยไม่คิดถึงเรื่องหวงแมว พอเขามาลงเรือแล้วมันทำให้คนเห็น คนรู้สึกอยากถ่ายรูป เราก็รู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของเราเหมือนกันที่จะต้องพาเขามาทุกวัน เพราะบางคนมาหัวตะเข้ เพราะเขาอยากเห็นแมวเรา มันก็เลยกลายเป็นว่า ทุกวันเราต้องพาเขามาลงเรือ
นอกจากเก็บขยะแล้ว แมวเรายังช่วยรณรงค์อีกหลายเรื่องมาก อย่างที่บอกไปว่าตอนนี้หลาย ๆ คนมาหัวตะเข้เพราะอยากมาเจอแมว หลายคนรู้จักหัวตะเข้ก็เพราะแมว
The People : พูดได้ไหมคะว่าแมวชุบชีวิตหัวตะเข้
เปา ชวลิต : ได้ แล้วก็ชุบชีวิตเราด้วย หลังโควิด-19
The People : แมวทำให้ภาพของหัวตะเข้แตกต่างจากเดิมอย่างไร
เปา ชวลิต : ช่วงหลัง ๆ เราชอบเรื่องการพัฒนาพื้นที่ ตอนแรกเรามองแค่ตัวเรา ว่าเราทำร้านแล้วอยากให้คนมาที่ร้านใช่ไหม แต่พอคนมาเยอะ กลายเป็นว่าเราไม่ได้มองแค่ร้านเรา คือเรามองภาพรวมทั้งตลาด เราจะทำอย่างไรให้คนที่มารู้สึกประทับใจ มีร้านเยอะ ไม่ใช่มาแล้วมีร้านอยู่สองร้าน
ในชุมชนจึงเริ่มปรับตัวไปพร้อม ๆ กัน แต่ละร้านก็มานั่งคิดว่าจะต้องขายอะไร จะต้องทำอะไร จะทำอย่างไรให้คนที่มาที่นี่เข้าร้าน แล้วร้านสามารถอยู่ได้ คือมันไม่ใช่ว่าทุกคนเปิดร้านมาเพื่อจะเป็นธุรกิจอย่างเดียว คือทุกคนเขารักพื้นที่ หลาย ๆ ร้าน ถ้ามองในแง่ธุรกิจ มันไม่ได้คุ้ม มันไม่ได้ขายได้เยอะแยะ แต่เป็นเพราะเขามีใจส่วนหนึ่งที่รักที่นี่ แล้วก็ภูมิใจที่มีส่วนทำให้คนมาที่นี่ เหมือนเป็นเจ้าภาพมาช่วยกันรองรับคน มาแล้วมีที่นั่ง มีน้ำ มีอาหารให้รับประทาน
The People : การเลี้ยงแมวและได้ใกล้ชิดกับแมว มันให้อะไรกับพี่เปาบ้างคะ
เปา ชวลิต : ให้ความสุขแน่ ๆ อยู่แล้ว ทีนี้ความสุขเรามันไม่ได้มาจากเขาอย่างเดียว ความสุขเรามันมาจากการที่เราได้เห็นคนอื่นมีความสุข ได้เห็นรอยยิ้มจากคนที่นั่งเรือไปกับเรา รอยยิ้มจากแขกที่อยู่ตามริมคลอง ที่คอยถ่ายรูป คือเราชอบมอง เรามองแล้วเรารู้สึก เราก็ภูมิใจในแมวเราด้วย มันทำให้คนมีความสุข
สัมภาษณ์ : พาฝัน ศรีเริงหล้า
ถ่ายภาพ : ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม