09 ก.ค. 2567 | 13:00 น.
KEY
POINTS
เมื่อห้องสมุดปฏิวัติตัวเอง ไม่มีแล้วบรรณารักษ์จอมเฮี้ยบ มีแต่บรรณารักษ์ที่เข้าใจเทรนด์ กับแมวเหมียวยอดนักฮีลใจ
The People สนทนากับเจ้าหน้าที่ ‘หอสมุดปรีดี พนมยงค์ (ท่าพระจันทร์)’ และพยายามอย่างยิ่งที่จะเข้าไปพูดคุยกับ ‘คุณนุ่มนิ่ม’ แมวแอมบาสเดอร์แห่งหอสมุดปรีดีฯ แต่เจ้าตัวยุ่งอยู่กับการให้บริการบรรดาหนอนหนังสือ มีเพียงเดินป้วนเปี้ยนผ่านกล้องบ้างเป็นครั้งคราว
ถึงกระนั้น เราก็ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวันของคุณนุ่มนิ่ม ที่ได้ทำให้บรรยากาศอันแสนเคร่งขรึมของห้องสมุดดูผ่อนคลายและเป็นมิตรกับเหล่านักอ่านมากขึ้น
นอกจากบรรณารักษ์สี่ขาที่ถูกนำมาใช้เป็นกิมมิค ‘ชัยสิทธิ์ อังคะปัญญาเดช’ หัวหน้างานบริการท่าพระจันทร์ และ ‘ผจงรักษ์ ซำเจริญ’ บรรณารักษ์ประจำหอสมุดปรีดีฯ ยังได้เล่าถึง ‘ความเปลี่ยนแปลง’ หลายสิ่งหลายอย่างของห้องสมุดแห่งนี้ เป้าหมายเพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตให้กับนักศึกษา ประชาชน และเจ้าหน้าที่ห้องสมุด ได้อย่างท่วงทันโลกยุคใหม่
ทั้งทาสแมว ทั้งหนอนหนังสือ อ่านบทสนทนาเต็ม ๆ ได้ที่บทความนี้
The People: เราเริ่มกันที่ mission ของ Library of Life ห้องสมุดมีชีวิต สำหรับคนทุกคน แนวคิดนี้เริ่มต้นอย่างไรคะ
ชัยสิทธิ์: ห้องสมุดเพื่อชีวิตเป็นวิสัยทัศน์ของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เล็งเห็นว่า ห้องสมุดไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่มีมิติอื่น ๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะนักศึกษาของเรา ที่เรามองว่า ทุกวันนี้การเรียนการสอน มันไม่ได้จบแค่ในห้องเรียน แต่ว่าเราต้องส่งเสริมทักษะชีวิตให้กับเขา ทักษะที่เขาเรียนจบไปแล้วเนี่ย เขาเอาไปใช้ต่อในด้านอื่น ๆ ได้
ยกตัวอย่างเช่น ที่เรามีคอร์สอบรมเรื่องเกี่ยวกับภาษี เรื่องเกี่ยวกับการแต่งหน้า เรื่องเกี่ยวกับดูดวง ฯลฯ เพราะเรามองว่า มันไม่ใช่แค่เรียนในห้องเรียนแล้วก็จบไป แต่ว่าชีวิตมันมีมิติอื่น ๆ มีมุมมองด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ที่อยากให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ครับ
The People: พอเป็นอย่างนี้ หน้าตาของห้องสมุดก็จะเปลี่ยนไปจากเดิม
ชัยสิทธิ์: ก็เปลี่ยนไปมากครับ เราคิดว่าห้องสมุดปัจจุบันทำตัวเป็นมิตรกับนักศึกษา กับผู้ใช้บริการมากขึ้น เนื่องจากว่าเราอยากเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขา ถ้าเราไม่ปรับตัว ใครจะเข้ามาหาเรา มันก็คงเป็นไปไม่ได้ใช่ไหมครับ เราจึงมีพื้นที่ที่เรียกว่า performative zone ที่ตรงทางเข้าก็จะเห็นเป็นโซนให้เด็กสามารถเข้ามาเล่นเปียโนได้ เข้ามาแสดงดนตรีได้ มีโซนกินข้าว เด็กสามารถเอาอาหารเข้ามากินข้าวในห้องสมุดได้ เพราะเรารู้ว่า ถ้าเด็กอ่านหนังสือนาน ๆ เขาจะต้องหิว เขาจะต้องการอาหาร แล้วเราก็มีพื้นที่ให้เขากินข้าว จะได้ไม่ต้องเอาข้าวเข้ามากินในพื้นที่อื่น ๆ ที่เราไม่อยากให้เอาเข้ามา พอเรามีกฎ มีกติกา มีพื้นที่แบบนี้ให้กับเขา เขาก็สามารถอยู่ร่วมกับเราได้บนพื้นฐานของกติกาที่เราสร้างร่วมกัน
นอกจากพื้นที่ที่เราเปิดให้แสดงความสามารถ ยังมีพื้นที่ให้ refresh ตัวเองเวลาอ่านหนังสือสอบ มีพื้นที่ที่ให้มาขายของ มาทดลองการเป็นผู้ประกอบการได้ แล้วก็เก็บค่าเช่าเขา 100 บาท แลกกับการที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการ
ไม่ใช่แค่นักศึกษาเท่านั้น ที่เราส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ บุคลากรของเราเองก็มาขายของได้ ทำให้เขามีอาชีพที่สอง มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น อย่างแม่บ้านของเรา เป็นกลุ่มที่มีรายได้วันละ 300 บาท ตามมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งมันไม่พอที่จะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี เราก็ช่วยเขาให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น บริการผ้าห่ม ซึ่งเราชาร์จค่าบริการ 15 บาท เป็นค่าซักผ้าห่ม แต่เรามีผ้าห่มจำนวนหนึ่ง ซึ่งถ้าเด็กจ่ายเงินเพิ่มขึ้น มันเป็นส่วนที่มากกว่าค่าซัก รายได้ตรงนี้ เราจะ return กลับไปที่แม่บ้าน แม่บ้านก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน เมื่อมีคนใช้บริการผ้าห่มของเรา
หรืออย่างห้องน้ำ ห้องน้ำเราอาจจะไม่ได้ใหม่ แต่ว่าห้องน้ำเราสะอาด เพราะว่าแม่บ้านเราดูแลค่อนข้างดี เราก็อยากให้กำลังใจแม่บ้าน โดยการติด QR code เอาไว้ในห้องน้ำ ให้ทุกคนสามารถ donate ได้ ถ้าคุณมาใช้บริการห้องน้ำเรา แล้วมันสะอาด คุณพอใจ คุณ donate ให้แม่บ้านได้ แม่บ้านก็มีแรงจูงใจที่จะทำงานให้มันดีขึ้น ให้มันสะอาดยิ่งขึ้นอีก เพื่อที่เขาจะได้รับ donate จากคนที่มาใช้บริการ ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่เราพยายามทำให้เห็นว่ามันไม่ใช่แค่ชีวิตของนักศึกษา ชีวิตของบุคลากร แต่ว่าคนที่เกี่ยวข้องกับเรา สังคมที่อยู่รอบตัวเรา เราทำอย่างไรเพื่อให้เขาดีขึ้นไปพร้อม ๆ กับเราได้ด้วย
The People: เหมือนเป็นการสร้าง ecosystem ที่ทุกคนต้องได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
ชัยสิทธิ์: ใช่ครับ เรามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าตัวบุคลากรที่ให้บริการหรือคนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานกับเราก็ตาม เขามีความสุข ความสุขเหล่านั้นจะถูกถ่ายทอดไปที่ตัวของผู้มารับบริการ สังเกตว่าเมื่อก่อน ห้องสมุดธรรมศาสตร์โดนร้องเรียนบ่อยมาก เจ้าหน้าที่ให้บริการไม่ดี อะไรก็แย่ เดี๋ยวนี้ไม่มีเลย ส่วนใหญ่ที่กลับมาเป็นคำชื่นชมทั้งนั้น แทบจะไม่มีข้อร้องเรียนเข้ามาเลย มีบ้าง แต่เรามองว่าเป็นการเสนอแนะ แล้วเราก็พยายามดูว่า อะไรบ้างที่เราทำให้กับเขาได้
The People: ยากไหมกับการปรับเจ้าหน้าที่ที่เป็นภาพจำบรรณารักษ์สมัยก่อน ให้มาเป็นอย่างปัจจุบันนี้
ชัยสิทธิ์: จริง ๆ มี 2 เรื่อง หนึ่งคือเจ้าหน้าที่รุ่นเดิมก็เกษียณออกไปพอสมควรนะครับ ประกอบกับเรามีเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่เข้ามา ซึ่งก็จะมี mindset อีกแบบหนึ่ง และมีอายุใกล้เคียงกับผู้ที่มาเข้ารับบริการ เขาก็จะคุยกันด้วยอีกภาษาหนึ่ง เขาก็จะรู้แล้วว่า จริง ๆ แล้วคนที่มารับบริการต้องการอะไร เขาจะเข้าใจกันมากกว่า
อีกกลุ่มเป็นเรื่องของการสื่อสาร เจ้าหน้าที่รุ่นเดิม ๆ ไม่ใช่ว่าเขาทำงานไม่ดีนะครับ เขาตั้งใจทำงาน แต่วิธีคิด มุมมองเขาต่อนักศึกษา เป็นในรูปแบบเก่า ๆ เช่น มองนักศึกษาเป็นคนที่มาขอรับบริการ แต่จริง ๆ ต้องพยายามเปลี่ยน mindset ว่าคนที่เข้ามาติดต่อ คือลูกค้า คือคนที่เราควรจะต้องดูแลเขา แบบนี้วิธีการปฏิบัติต่อกันมันก็จะเปลี่ยนแปลงไป
เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ ขอยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง เรามีเจ้าหน้าที่โดนร้องเรียนบ่อย ๆ เหมือนกัน เป็นพี่ที่หูไม่ดี ตาไม่ดี มีบัตรผู้พิการ ต้องใช้เครื่องช่วยฟังที่ได้จากรัฐบาล ซึ่งคุณภาพไม่ค่อยดี เวลานักศึกษามาติดต่อ พี่เขาก็จะคุยด้วยเสียงดังกว่าปกติ เด็กก็จะไม่ค่อยพอใจแล้วไม่เข้าใจ ทำไมเจ้าหน้าที่ต้องเสียงดังกับเขา พูดเบา ๆ ไม่ได้เหรอ อยู่กันแค่นี้เอง จึงเกิดการร้องเรียน พี่เขาก็ไม่สบายใจที่เด็กร้องเรียนบ่อย คือฉันก็พยายามทำเท่าที่ฉันทำได้แล้ว
เราก็เปลี่ยนเรื่องของการสื่อสาร แค่ติดป้ายบอกนักศึกษาว่า คนที่ให้บริการคุณอยู่ตรงนี้ เป็นคนที่บกพร่องทางการได้ยิน ดังนั้น ถ้าเขาจะพูดเสียงดังหน่อยก็เป็นเรื่องปกติ เพราะเขาไม่ได้ยินเสียงตัวเอง นักศึกษาจะคุยกับเขาก็ต้องเสียงดังขึ้นอีกนิดหนึ่ง แบบนี้ครับ พอเราปรับเรื่องการสื่อสาร ปรับเรื่องความเข้าใจกันระหว่างคนให้บริการกับคนรับบริการ มันก็ดีขึ้น
The People: เห็นว่ามีอีกหนึ่งชีวิตที่เข้ามาช่วยเรื่องการสื่อสารให้ห้องสมุด คือ ‘คุณนุ่มนิ่ม’
ชัยสิทธิ์: นุ่มนิ่มเป็นแมวที่ตกมาจากบนฝ้า ไม่ใช่บนฟ้านะ คือมีแมวจรมาออกลูกแถวนี้ แล้วก็หลุดเข้ามาในห้องสมุด เราเก็บเขาได้ ก็คุยกันในที่ทำงานว่าจะเลี้ยงเขาไว้ไหม ที่ทำงานก็บอกว่า เลี้ยง ฉะนั้นถ้าเลี้ยงก็ต้องแบ่งกันดูแล พาเขาไปเดิน ดูแลเรื่องอาหาร เรื่องสุขภาพ เราไม่ได้มองว่าเราเลี้ยงเขาเอาไว้เพื่อความบันเทิงหรือความสุข ความสบายของเจ้าหน้าที่ แต่เรามองว่า เราเอาเขามาให้บริการนักศึกษาในส่วนที่เป็น emotional support
เราก็จะมีห้องที่ให้นักศึกษาเข้าไปอ่านหนังสือกับนุ่มนิ่มได้ ซึ่งห้องนี้จะจำกัดเวลาในการเข้าไปใช้บริการ เช่น สี่โมงเย็นเป็นต้นไป เพราะว่านุ่มนิ่มตื่นแล้ว เด็กก็ไปนั่งอ่านหนังสือในห้องนี้ได้ คนที่อยากเจอแมว คนที่อยากอ่านหนังสือกับแมว คนที่รู้สึกว่าวันนี้เครียดจัง อยากกอดแมวหน่อย อยากดมแมวนิดหนึ่ง ก็เข้าไปใช้บริการที่ห้องนี้ จะมีนุ่มนิ่มคอยให้บริการอยู่
The People: หลังจากมีคุณนุ่มนิ่มเข้ามา บรรยากาศของห้องสมุดแตกต่างจากเดิมอย่างไร
ผจงรักษ์: เด็กรู้จักห้องสมุดเรามากขึ้น ผ่านแมวเลยค่ะ แล้วแมวก็ช่วยให้นักศึกษาเห็นว่าห้องสมุดไม่ได้มีแค่ตัวหนังสือ ไม่ได้มีเรื่องราวเก่า ๆ ยังมีสัตว์ชื่อนุ่มนิ่มคอยให้บริการด้วย และยัง support อารมณ์ของนักศึกษาและเจ้าหน้าที่หลายคนด้วยค่ะ เพราะบางครั้ง เจ้าหน้าที่กับนักศึกษาอาจจะต้องการใครสักคนที่รับฟัง ก็มีนุ่มนิ่มคอยฟังและคอยให้บริการ
The People: นุ่มนิ่มช่วยทวง iPad ทวงหนังสือได้ด้วยใช่ไหมคะ
ผจงรักษ์: นุ่มนิ่มเรียกได้ว่า ปฏิบัติงานเหมือนบุคลากรคนหนึ่งของห้องสมุดเลยค่ะ มีการช่วยทวง iPad ด้วย ทางห้องสมุดใช้ภาพนุ่มนิ่มไปสร้างเป็นมีมเพื่อประชาสัมพันธ์ เพราะว่าคนรู้จักนุ่มนิ่มแล้ว แล้วก็มีคนชอบแมว ดังนั้นคนก็จะชอบแชร์ภาพประชาสัมพันธ์นี้ ทำให้คนรู้ว่าตอนนี้ห้องสมุดเรามีประกาศอะไรบ้าง นอกจากนุ่มนิ่มก็ยังมีแมวตัวอื่น ๆ อีก เป็นการสร้างการรับรู้ของห้องสมุดอีกอย่างด้วย
The People: ห้องสมุดของธรรมศาสตร์มีที่ไหนที่มีแมวประจำการอยู่บ้าง เห็นว่ามีเป็นผังโครงสร้างเลย
ชัยสิทธิ์: มีหลายตัวครับ อย่างท่าพระจันทร์ก็จะมีห้องสมุดสังเวียน ที่คณะพณิชยศาสตร์และการบัญชีก็มีน้ำตาลครับ ที่คณะนิติฯ ก็มีสุดหล่อ ลำไย ส้ม ที่หอป๋วยก็มี
ผจงรักษ์: มีกลอยใจ เฟรนด์ลี่ จอห์นนี่ เรียกได้ว่า เกือบทุกห้องสมุดใน มธ. มีแมว
ชัยสิทธิ์: แต่ตัวแรกน่าจะเป็นนุ่มนิ่ม แล้วพอที่ท่าพระจันทร์มีแมว นักศึกษาบอกว่าทุกอย่างต้องเท่าเทียมกัน ท่าพระจันทร์มี รังสิตต้องมีบ้าง นักศึกษาก็เรียกร้องว่าเมื่อไหร่รังสิตจะมีแมวสักที สุดท้ายรังสิตก็ทนการรุกเร้าของนักศึกษาไม่ได้ ก็มีแมวเพิ่มมาทีเดียว 3 ตัว
The People: ทางห้องสมุดดูแลคุณนุ่มนิ่มอย่างไรบ้างคะ
ชัยสิทธิ์: เรามองว่า การใช้งานของเราเป็นไปตามธรรมชาติ ที่ห้องที่ให้บริการนุ่มนิ่ม เราจะติดป้ายบอกเลยว่านุ่มนิ่มจะออกมาให้บริการช่วงกี่โมงถึงกี่โมง เราบอกเลยว่าวันหนึ่งเขาควรนอนเท่าไร เขาสามารถให้บริการได้แค่ช่วงเวลาไหนบ้าง เพื่อให้มันสอดคล้องกับพฤติกรรมของเขา ไม่ได้ใช้เขาเกินกว่าธรรมชาติของเขา
ตอนเช้า จะมีเจ้าหน้าที่พาเขาไปเดินทุกเช้า วันหยุด เช่น ช่วงสงกรานต์ ช่วงปีใหม่ เราก็สลับกันเข้ามาดูแลเขา ไม่ต้องห่วงว่าจะอยู่โดยไม่มีคนดูแล แทบเป็นไปไม่ได้เลย น้อยมากที่จะไม่มีคนเข้ามาดูแลเขา ก็จะสลับกันเข้ามาครับ
ผจงรักษ์: เราให้อาหาร เปลี่ยนน้ำ ดูแลเรื่องสุขภาพ ดูแลเรื่องร่างกาย ประกันก็ทำให้
The People: เหมือนตอนนี้หน้าตาของห้องสมุดเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง จากที่ทื่อ ๆ ไม่ต้อนรับใคร
ชัยสิทธิ์: ใช่ เรามองว่าห้องสมุดมันไม่ใช่ห้องสมุดเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ห้องสมุดควรเป็นหนึ่งในชีวิตของคนที่มาใช้บริการ
The People: ที่สำคัญคือภาพลักษณ์บรรณารักษ์ก็เปลี่ยนไปจากเดิมมาก จากที่ต้องใส่แว่นหนา เสียงดัง ดุ ทุกวันนี้เป็นอย่างไร
ผจงรักษ์: บรรณารักษ์ทำเลสิก (หัวเราะ)
ชัยสิทธิ์: บรรณารักษ์ทำเลสิกแล้ว ไม่ใส่แว่นแล้ว ไม่ใช่ (หัวเราะ) ผมว่าก็เปลี่ยนไปเยอะครับ เมื่อก่อนถ้าพูดถึงห้องสมุด ผมคิดว่าเราทำตัวเป็น regulator เป็นคนคอยควบคุมกฎระเบียบต่าง ๆ แต่จริง ๆ เราไม่ใช่ เราเป็นเหมือน provider เป็นผู้ที่ให้อะไรกลับไปมากกว่า เพราะฉะนั้นบทบาทหน้าที่มันก็จะเปลี่ยนไปครับ เราไม่มานั่งดูหรอกว่า วันนี้คนใช้บริการเราใส่รองเท้า กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะเข้ามาห้องสมุดหรือเปล่า เราไม่มาสนใจเรื่องแบบนี้หรอกครับ เพราะเรามองว่ามันเป็นเรื่องของคนที่เข้ามาใช้บริการ
หน้าที่ของห้องสมุดคืออะไร ถ้าหน้าที่ของเราคือ provide ในเรื่องของพื้นที่ ในการที่เขาแสวงหาความรู้ได้ provide ในเรื่องของ resource ที่ทำให้เขาสามารถทำงานวิจัย พัฒนาเรื่องของการศึกษาได้ สิ่งเหล่านี้ต่างหากคือหน้าที่ของเรา ไม่ใช่มีหน้าที่ในการควบคุมหรือว่ากำหนดกฎเกณฑ์อะไรต่าง ๆ มากมาย เราต้องทำให้เขาสามารถมาใช้บริการเราได้อย่างสะดวก
The People: เห็นว่าเรามีบุคลากรจากหลากหลายสาขาเลย
ชัยสิทธิ์: ใช่ครับ ส่วนนี้เรามีมุมมองว่า การทำงานปัจจุบันกับห้องสมุด เราไม่ได้มีแค่วิชาชีพบรรณารักษ์อย่างเดียวที่สามารถจะทำให้ห้องสมุดเกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ เรามองว่าการทำงานร่วมกันระหว่างสาขาอื่น ๆ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานมากขึ้น ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ เราก็เลยมีการ recruit คนที่ไม่ได้จบบรรณารักษ์เข้ามาทำงานในห้องสมุด ซึ่งปัจจุบันเราก็มีหลายสิบคนเหมือนกันที่ไม่ได้จบบรรณารักษ์ แล้วก็มาทำงานตำแหน่งบรรณารักษ์อยู่ อย่างเช่นคนนี้ เป็นต้น จบอะไรมานะ
ผจงรักษ์: จบศิลปศาสตร์ ประวัติศาสตร์
The People: การเปิดกว้างให้คนเข้ามาใช้บริการห้องสมุดเยอะ ๆ ไม่กลัวหรือว่าจะทำให้หนังสือเสียหาย เสียงดัง พื้นสกปรก
ชัยสิทธิ์: ไม่หวงครับ เพราะเราคิดว่า ของที่มันวางเอาไว้แล้วมันไม่ถูกใช้ต่างหากที่มันน่าห่วง เพราะแปลว่ามันไม่มีประโยชน์
ผจงรักษ์: ไม่มีคนเข้ามาใช้บริการเลย
ชัยสิทธิ์: แต่ถ้ามีคนใช้ แล้วมันเก่าไปบ้าง มันพังไปบ้าง มันก็คือของที่ถูกใช้ มันก็คือธรรมชาติของมัน พังเราก็ซื้อใหม่ พังเราก็เปลี่ยนใหม่ แต่ถ้าของวางเอาไว้ ใหม่ทั้งปี ไม่มีคนมาใช้เลย น่าห่วงครับ แปลว่ามันไม่มีคนใช้
The People: ช่วงหลังคนสามารถหาข้อมูลจากมือถือได้ ปริมาณการใช้งานห้องสมุดของ Gen Y หรือ Gen Z ลดลงบ้างไหมคะ
ชัยสิทธิ์: ผมขอยกตัวอย่างเรื่องของการยืมหนังสือของนักศึกษาธรรมศาสตร์แล้วกันครับ แต่ละปี เรามีหนังสือใหม่เข้าห้องสมุดประมาณ 15,000 - 20,000 เล่ม หนังสือใหม่ที่เข้ามาเหล่านี้ เมื่อระยะเวลาผ่านไป 1 ปี เราพบว่ามีอัตราการยืมมากกว่าร้อยละ 80 แปลว่าหนังสือ 100 เล่มที่ซื้อเข้ามา มีคนมายืมมากถึง 80 เล่ม เราไม่ได้รู้สึกว่านักศึกษาอ่านหนังสือน้อยลง หรือใช้ทรัพยากรที่เป็น printed น้อยลงเลย กลับกัน ผมคิดว่ามันมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยซ้ำ
เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่า นโยบายในการจัดหาหนังสือหรือทรัพยากรเข้าห้องสมุดมีความสำคัญมาก เมื่อก่อน เราซื้อแต่หนังสือวิชาการ ต้องเป็น text book เท่านั้นนะ ที่เข้ามาในห้องสมุด แต่ปัจจุบัน เรามองว่า หนังสือการ์ตูนมังงะก็ตอบโจทย์ในเรื่องการเรียนรู้ของเด็กได้เหมือนกัน อะไรก็ตามที่เขาอ่านได้ มันก็ตอบโจทย์ในเรื่องการเรียนรู้ของเขาทั้งนั้นแหละ
ห้องสมุดไม่ได้มีหน้าที่บอกว่า ใครควรจะต้องอ่านอะไร แต่มีหน้าที่หาสิ่งที่เขาอยากอ่านเข้ามาในห้องสมุดต่างหาก สิ่งนี้ผมว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนยังยืมหนังสือในห้องสมุดมากอยู่ อาจจะไม่เหมือน trend ในห้องสมุดอื่นที่คนยืมหนังสือน้อยลง แต่ธรรมศาสตร์มากขึ้น แล้วก็มากขึ้นเรื่อย ๆ ผมคิดว่า นโยบายเรื่องการจัดหาหนังสือเข้ามาเนี่ย มีส่วนสำคัญ
ผมยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง นวนิยายวาย เมื่อก่อนซื้อเข้าห้องสมุดไม่ได้เลย มันผิดศีลธรรมมาก ผู้ชาย-ผู้ชาย ผู้หญิง-ผู้หญิง จะมารักกันได้ยังไง ซื้อเข้าห้องสมุดไม่ได้ ปัจจุบันเราก็เปิดกว้าง เด็ก request มา เราก็ซื้อเข้ามาให้อ่าน กลับเป็นนวนิยายวายต่างหากที่คนยืมมากกว่านวนิยายที่เป็น traditional อีก เพราะ trend มันเปลี่ยน แล้วเรามองว่า มันก็คือวรรณกรรมร่วมสมัยรูปแบบหนึ่ง มันไม่ควรไปจำกัดว่า เอากรอบศีลธรรมของคนคนหนึ่งมาจำกัดว่า อะไรบ้างที่ใครควรอ่าน
The People: ที่พยายามจะบอกก็คือ คนไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลง เพียงแต่ว่าหนังสือที่เขาอยากอ่าน มีหรือเปล่า?
ชัยสิทธิ์: ใช่ ผมคิดว่าเป็นเรื่องนี้มากกว่า
The People: เพราะฉะนั้นเราไม่ได้มีปัญหาที่ว่าเด็กเข้าน้อยลง เด็กอ่านหนังสือน้อยลง ห้องสมุดที่นี่ไม่มีปัญหาตรงนี้เลย
ชัยสิทธิ์: ไม่มีเลยครับ ยกตัวอย่าง workshop คนจองเต็มแทบทุกอย่าง ไม่มี workshop ที่ห้องสมุดจัดแล้วคนลงทะเบียนเข้ามาน้อยจนน่ากังวล ไม่มีเลย เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่เราจัดขึ้น มันตอบสนองกับความต้องการผู้ใช้บริการ เรามีทำ survey ก่อน มีบอร์ดติดเอาไว้เลย หัวข้อนี้ 10 หัวข้อ หัวข้อไหนสนใจมากที่สุด มาติดสติกเกอร์ไว้ เราก็จะรู้ trend แล้วว่า เด็กสนใจเรื่องอะไร แล้วเราก็จัดกิจกรรมของเราให้มันสอดคล้องกับความสนใจของเด็ก ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่เขาต้องการ ในเมื่อเราทำการบ้านเรื่องพวกนี้ดี เราไม่ค่อยกังวลเลยว่า คนจะมาใช้บริการห้องสมุดน้อยลง
กลับกัน เราต้องมานั่งดูแลว่า ทำอย่างไรกับคนที่เข้ามาเยอะขนาดนี้ ให้เขาพึงพอใจ ยกตัวอย่าง ช่วงสอบ ที่ห้องสมุดจะมีปัญหาเรื่องการวางของจองที่นั่งเต็มไปหมด เราก็คิดระบบขึ้นมา ให้ booking ที่นั่งบาง zone ล่วงหน้าได้ เหมือนจองตั๋วหนัง คุณจะมานั่งอ่านหนังสือ zone นี้ กี่โมง พอมาถึง คุณก็ได้สิทธิในการใช้เก้าอี้มาวาง
The People: อีกเรื่องที่โดดเด่นของหอสมุดปรีดีฯ คือการทำ content ในโซเชียลมีเดีย ทำไมบรรณารักษ์ต้องทำเรื่องเหล่านี้ด้วย
ชัยสิทธิ์: เราอยากให้คนมา engage กับ content ที่ห้องสมุดนี้ เพราะถ้าเขาสนใจ มันอาจจะต่อยอดไปสู่การศึกษาเพิ่มเติม เราก็พยายามใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดรามาต่าง ๆ มาเชื่อมโยงกับสัตว์ กับ content ที่ห้องสมุดนี้ อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เราทำ แล้วเราก็คิดว่า ธรรมศาสตร์ก็ทำได้ดีพอสมควร
ผจงรักษ์: ต้องบอกก่อนว่า แอดมินมีหลายคนนะคะ
ชัยสิทธิ์: ใช่ แอดมินมีเป็นสิบคนเลยที่ช่วยกันคิด
The People: อยากให้แนะนำห้องสมุดอื่น ๆ ที่ใกล้จะล้มหายตายจาก เพราะว่าไม่มีใครเข้าไปใช้บริการ
ชัยสิทธิ์: หนึ่งคือเขาต้องปรับตัว ถ้าไม่ปรับตัวให้เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนได้ แน่นอน มันเป็นธรรมชาติครับ คือถ้าเราไม่ได้เป็นที่ต้องการ ไม่ได้อยู่ในชีวิตของใครสักคน วันหนึ่งเราก็ต้องล้มหายตายจากไป แต่ถ้าเราปรับตัว เข้าใจเรื่องของผู้ใช้บริการ โอบรับความต้องการของเขาเข้ามา แล้วก็ปรับบริการของเราให้มันสอดคล้อง ผมคิดว่ายังไงมันก็ยังเป็นที่ต้องการของผู้ใช้บริการอยู่ครับ
The People: เหมือนชีวิตคู่ที่เราต้องปรับเข้าหากัน
ชัยสิทธิ์: อะ ใช่ ถ้าเราไม่ปรับ ก็ต้องแยกไป