‘ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ : “องค์กรเอ็นจีโอทุกแห่งควรมีขึ้นเพื่อเตรียมยุบไป”

‘ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ : “องค์กรเอ็นจีโอทุกแห่งควรมีขึ้นเพื่อเตรียมยุบไป”

“องค์กรเอ็นจีโอทุกแห่งควรมีขึ้นเพื่อเตรียมยุบไป” ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กับงานภาคประชาชนรณรงค์การเมือง

KEY

POINTS

  • ไม่ใช่คนเสื้อแดง แต่รับรู้ถึงความไม่เป็นธรรม 
  • คำกล่าวหาทั้ง ‘นายแบก’ และ ‘แดกส้ม’
  • เอ็นจีโอกับผลประโยชน์ทับซ้อน
  • นักกฎหมายกับการทำผิดกฎหมาย

The People สัมภาษณ์ เป๋า - ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw คนรุ่นใหม่วัย 38 ปี กับภารกิจการทำงาน 2 ธง คือ 1) ยกเลิกการดำเนินคดีการเมืองทั้งหมด นิรโทษกรรมประชาชนทุกคนไม่เฉพาะบางคน และ 2) มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เขียนใหม่ได้ทั้งฉบับ 

ในขณะเลือกเส้นทางเป็นเอ็นจีโอตั้งแต่เรียนจบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เลือกรับราชการไม่เลือกทำงานบริษัทเอกชน แต่ยิ่งชีพก็มองว่าองค์กรเอ็นจีโอควรมีขึ้นเพื่อเตรียมยุบไป ไม่ควรปักหลักถาวร ถึงแม้จะสวนทางกับประเด็นสิทธิแรงงาน และในแวดวงนี้มีหลายองค์กรที่เกิดมาแล้วไม่พร้อมตาย

ในฐานะผู้จัดการ iLaw ยิ่งชีพเล่าว่า ช่วง 6 - 7 ปีที่ผ่านมา เขาถูกท้าทายด้วยค่านิยมของคนรุ่นใหม่เรื่องสิทธิแรงงานต้องไม่ขูดรีดตัวเอง ซึ่งยอมรับว่า iLaw รับค่านิยมแบบใหม่เข้ามาบ้าง แต่ยืนยันจะไม่มีใครรวยจากงานนี้

‘ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ : “องค์กรเอ็นจีโอทุกแห่งควรมีขึ้นเพื่อเตรียมยุบไป”

เด็กเรียบร้อยโรงเรียนสวนกุหลาบ 

ผมเริ่มทำกิจกรรมครั้งแรกคือ อยู่โรงเรียนสวนกุหลาบ (OSK รุ่น 122) ที่ทำให้ชีวิตเดินมาถึงตรงนี้ได้เพราะเดินไปเข้าทำกิจกรรม ไม่รู้ผีอะไรเข้าสิง จริงๆ  ม.3 ผมเป็นเด็กเรียบร้อย นั่งเรียนหน้าห้อง 

ที่ผมวัดตัวเองว่าเรียบร้อยก็คือว่า โรงเรียนให้ตัดผมเกรียนสามด้าน ผมตัดเกรียนสามด้านตลอด ผมไม่เคยดื้อเลย ดึงถุงเท้าตึง เอาเสื้อเข้าในกางเกง เพื่อนก็จะพยายามหย่อน ๆ หน่อยนะ พยายามทำอะไรให้มันไม่ถูกต้อง ผมตึงเปรี๊ยะ ผมเรียบร้อย ม.3 นะ

ทำกิจกรรมโรงเรียน

ทำกิจกรรมตอน ม.4 เดินไปเข้าชุมนุมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยความที่เป็นเด็กเรียนจริง ๆ นะ พอเป็นเด็กเรียน แต่งตัวเรียบร้อย อาจารย์ชอบ อาจารย์ที่ปรึกษาก็เลยโปรโมทว่า เป็นแคนดิเดตประธานรุ่นต่อไป ตั้งแต่วันแรก ๆ เลย อาจารย์โปรโมทอย่างนี้ เหลิงเลยทำงานก็ไม่เป็น ไม่มีความรู้อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แต่เขาโปรโมทแล้ว พอเขาโปรโมทปุ๊บ ตัวใหญ่ ทำอะไรได้ทำหมด แล้วก็โตมากับการทำค่ายอนุรักษ์ โตมากับการเข้าป่ากางเต็นท์ก่อไฟหุงข้าว แล้วก็พอทำอนุรักษ์ก็มีตัวมีตนขึ้นมา อาจจะเป็นเพราะเพื่อนเก่งไม่ใช่เพราะผมเก่ง คือในรุ่นมีคนเก่งเยอะ เป็นรุ่นที่มี staff เก่งเยอะ ก็ทำค่ายทำกิจกรรมมีพื้นที่ ได้รับการยอมรับ 

เอาเป็นว่า คือหัวกะทิโรงเรียนสวนกุหลาบ อยู่สายวิทย์อยู่แล้ว ถ้าผมเรียนสายวิทย์ ผมไม่ได้อยู่ห้องคิงด้วยซ้ำ คะแนนไม่ถึง แต่พอมาเรียนสายศิลป์ ผมได้ที่ 1 ในห้อง พอได้ที่ 1 ทำอะไรก็ดี คือมีตัวตน พอขึ้น ม.6 ‘ภูริ ฟูวงศ์เจริญ’ คณบดีรัฐศาสตร์ มธ. ปัจจุบัน ตอนนั้นเขาสมัครประธานนักเรียน มันก็มาชวน ผมก็ทำเก๋าอีก กูไม่ไปเว้ย ทำตัวเก๋า เล่นตัว มันมาชวนให้อยู่ทีม ไม่ไปด้วย ทำเก๋า พอมันชนะ มันก็มาชวนอีกที ให้เป็นรองประธานนักเรียน โอ๊ย ทำเก๋า เล่นตัว แต่สุดท้ายก็รับ (หัวเราะ) 

‘ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ : “องค์กรเอ็นจีโอทุกแห่งควรมีขึ้นเพื่อเตรียมยุบไป”

หลังจากนั้นก็ทำงานโรงเรียน ทำกิจกรรมโรงเรียน ก็คือ ม.5 ม. 6 ทำกิจกรรมที่อาจจะเรียกว่าแก่เกินเพื่อนอายุเท่า ๆ กัน 16 - 17 ปี ผมทำค่าย ผมพาคนไปเข้าป่า ขึ้นรถบัสไปทำกิจกรรม ผมไม่ทำการเมือง ผมเข้าป่าก่อกองไฟ ร้องเพลง อนุรักษ์ธรรมชาติ อย่างนี้ นี่งานผม 

เห็น ‘กรวีร์ ปริศนานันทกุล’ ตั้งแต่เป็นนักเรียน

เรื่องตลกเป็นอย่างนี้ ตอนผมเป็นรองประธานนักเรียน เป็นกรรมการนักเรียน ก็จะมีกิจกรรมที่เราจะต้องไปเชิญรุ่นพี่มาพูด คนหนึ่งที่ได้รับเชิญบ่อย ๆ ก็คือ ‘กรวีร์ ปริศนานันทกุล’ เขาเรียก ‘พี่กอ’ เป็นประธานนักเรียนรุ่น 118 เขาชื่อแชมป์ แต่ว่า ไม่รู้ทำไมที่โรงเรียนเรียกพี่กอ เป็นน้องชาย ‘ภราดร ปริศนานันทกุล’ แต่ผมไม่รู้จักภราดร สมัยนั้นกรวีร์ แกเท่มาก แกเป็นลูก ‘สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล’ 

แล้วสมัยนั้น ‘ชุมพล ศิลปอาชา’ เป็นรัฐมนตรีศึกษา แล้วกรวีร์เป็นประธานนักเรียน แกลุกขึ้นถามคำถามชุมพล แล้วชุมพลไม่ตอบ แล้วกรวีร์บอกว่า ผมต้องขอโทษรัฐมนตรีด้วยครับ ที่ผมถามไม่ตรงคำตอบ นี่ ตอนนั้นผมอยู่ม.ต้น ๆ ส่วนกรวีร์ เป็นประธานนักเรียน โคตรเท่ เป็นตำนาน พอเข้ามหาวิทยาลัย แกเป็นนายก อมธ. ตั้งแต่ปี 3 คือปกตินายก อมธ. เป็นปี 4 ลงสมัครตอนจะจบปี 3 แล้วเป็นนายก อมธ. ปี 4 แต่แกเป็นนายก อมธ.ตั้งแต่ตอนปี 3 แล้วพอเป็นนายก อมธ. ก็ได้รับเชิญไปเป็นประธานเชียร์อีก นี่คือตำนานกรวีร์ ซึ่งผมเข้าไม่ทันที่ธรรมศาสตร์นะ แต่ก่อนแม่งแกโคตรเท่ เขาเรียกกันพี่แชมป์ อยู่ธรรมศาสตร์เรียกพี่แชมป์ อยู่สวนกุหลาบเรียกพี่กอ เข้าธรรมศาสตร์เหลื่อมกัน ผมไม่ทันแล้ว แกเรียนจบธรรมศาสตร์ ปุ๊บ ผมเข้าธรรมศาสตร์ ตอนอยู่ที่สวนกุหลาบผมทัน ผมอยู่ม.ต้น แกเป็นประธานนักเรียน ทันตอนเป็นนักเรียนอ่ะ 

แต่ช่างมันเถอะ อย่าไปชมเขามากเลย หลัง ๆ ก็... ตอนนี้ไม่รู้จักกันแล้ว จริงๆ เรียกว่าไม่เคยรู้จักอะไรกันดีกว่า ส่วนตัวไม่เคยรู้จักเลย เพราะตอนเขาเป็นประธานนักเรียน ผมก็เด็กมาก พอเข้าธรรมศาสตร์ ก็เหลื่อมกัน ไม่เจอกัน แต่ตอนผมไปทำชมรมเชียร์ ธรรมศาสตร์ เขาก็คือพี่แชมป์ในตำนาน แล้วก็แบบเวลามีงานใหญ่ก็ต้องมีพี่แชมป์มา แต่ว่าไม่ได้คุยอะไรกัน

ตอนผมเข้าม.1 กรวีร์เป็นประธานนักเรียน ผมเลือกกรวีร์เป็นประธานนักเรียนด้วย ตอนผมเป็นเด็กอยู่สวนกุหลาบ ก็มีการเชิญพี่กอกลับมาพูด คนนี้พูดดีมาก คนนี้เก่งมาก ตอนนั้นเขาเก่งจริงๆ 

คือ 4 - 5 ปีหลัง ตั้งแต่เขาเป็น สส.ภูมิใจไทย ผมว่าเขาดร็อปไปเยอะ เพราะว่า เขาแบกอะไรอยู่ข้างหลังเยอะ คือการอยู่พรรคนี้ และการอยู่ในสภานี้ มันคงมีเรื่องราวอะไรเยอะ แต่ว่าพี่กรวีร์ตอนนั้นเก่งจริง ๆ แล้วก็พูดสร้างแรงบันดาลใจ 

กรวีร์ ปริศนานันทกุล สอนว่า “เสียใจที่ทำไม่ได้ ดีกว่าเสียดายที่ไม่ได้ทำ” โอ๊ย ตอนนั้นเด็กอายุ 14 - 15 ปี ฟังแล้วคมมาก โคตรชอบ 

สิ่งนี้เข้ามาในตัวผมมากเลยนะ คือตอนฟัง ผมอายุน้อย มันเข้ามาแล้วมันเป็นผมวันนี้ ที่แบบว่าทำไปก่อน ทุก ๆ แคมเปญเลย ที่เดินมาเนี่ย, ไม่มีตังค์แล้ว ตังค์หมดแล้ว ทำไงดี ไม่รู้ลุยไปก่อน เดี๋ยวกูหา ก็มีกรวีร์อยู่ในนั้น แต่ผมไม่เคยสอนใครเรื่องนี้เลยนะ ผมไม่เคยสอนต่อ ผมแค่กินมันเข้าไปแล้ว

คือ ถ้าคิดว่าจะทำหรือจะไม่ทำ ? ให้ทำไปก่อน ถ้าทำไม่ได้ “เสียใจที่ทำไม่ได้ ดีกว่าเสียดายที่ไม่ได้ทำ” ไม่รู้แกจำได้หรือเปล่า อยากถามแกมากเลยว่าแกจำได้หรือเปล่า หรือแกพูดไปเรื่อยเปื่อย 

ไม่ใช่คนเสื้อแดง แต่รับรู้ถึงความไม่เป็นธรรม 

ตอนปี 2553 สลายเสื้อแดง ผมไม่อินกับเสื้อแดงนะ ผมไม่เคยเคลมว่าตัวเองเป็นคนเสื้อแดง แต่ผมรับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมและความไม่ถูกต้องที่เสื้อแดงโดนกระทำ เพื่อนรอบข้างผมไม่เข้าใจเลย ถ้าเราพูดว่า เราไม่เห็นด้วยกับการยิงคน เพื่อนก็จะด่าว่า ทักษิณเป็นพ่อมึงเหรอ ประมาณนี้ เคยทะเลาะกับเพื่อนด้วย แล้วก็เติบโตมาจนวันมีรัฐประหาร 2557 

รัฐประหาร 2557 คนก็ไม่เห็นด้วยเยอะแยะ แต่ก็ยังมีเพื่อนบางคนตั้งคำถามว่า เผด็จการก็อาจจะไม่ได้แย่นะ ในอดีตที่ผ่านมา หลายครั้งในรัฐบาลเผด็จการเราก็พัฒนาประเทศได้นะ ผมรู้สึก กูขี้เกียจคุยกับมึงมากเลย กูเหนื่อยมาก ก็โอเค ชีวิตก็เดินมา 

เพื่อนเก่า เพิ่งดึงเข้าไลน์กลุ่ม เมื่อปี 2563 

ในปี 2557 เราปักหลักชีวิตใหม่ว่า เราจะทำงานข้อมูล ทำงานความรู้ ทำงานสื่อสาร เพื่อให้คนเห็นว่า ความคิดแบบนั้นไม่ถูก รัฐประหารไม่ดี รัฐประหารมีข้อเสียเยอะมาก เยอะกว่ารัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งแล้วเฮงซวย ตั้งใจจะทำอย่างนี้ 

ทำ ๆ มาแม่งสำเร็จว่ะ ปี 2563 ไอ้เพื่อนคนนั้นผมเจอที่ม็อบ เดินเข้ามาสนิทกันเหมือนแม่งเห็นด้วยกันมาตั้งแต่ต้น แล้วแบบเพื่อนที่จบนิติ มธ. มาด้วยกัน สมัยปี 2553 ไม่มีใครเห็นด้วยกับกูเลยนะ พอปี 2563 อยู่ดี ๆ เพื่อนแม่งแอดผมเข้าไลน์รุ่นเว้ย กูไม่เคยอยู่ไลน์รุ่นแม่งมีตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ พอเข้าไปปุ๊บ เพื่อนสนิทก็บอก “ทุกคน เป๋ามาแล้ว” หลังจากนั้นก็เด้งมา เพื่อนแม่งรักกูมากทั้งรุ่น เดิมไม่เคยอยู่ไลน์กลุ่มนี้เลย 

รอบตัวผมมันเปลี่ยนมาก 2563 - 2566 คือเราแม่งเหมือนเป็นฮีโร่เลย เพื่อนสวนกุหลาบส่วนใหญ่เด็กเกเรหลังห้อง อยู่โรงเรียนไม่สนิทกันหรอก กูเด็กเรียน โหแม่งรักกู แม่งแอดเฟซบุ๊กมาเต็มเลย คราวนี้กูแม่งฮีโร่ของรุ่น ไปงานเลี้ยงรุ่น ได้ไปพูดด้วย เพื่อนจัดงานเลี้ยงรุ่น คืองานเลี้ยงรุ่นสวนกุหลาบมันจะเถื่อน ๆ หน่อย ปกติผมไป ผมกลับก่อน 

แต่ปี 2565 เพื่อนให้กูไปพูดด้วย คือแนวคิดแบบนี้เติบโตและได้รับการยอมรับมากขึ้นมาก เรียกว่าโลกรอบตัวเรามันเปลี่ยนไปเยอะมาก 

พอหลังปี 2566 เลือกตั้งเสร็จปุ๊บ อ้าวไม่ใช่ละ เพราะกลิ่นแบบแถว ๆ ปี 2557 ที่พูดอะไรต้องระวังเดี๋ยวมีคนเกลียด กลิ่นแบบทวิตแล้วโดนรุม ทั้งที่ทวิตเรื่องธรรมดา ทำไมรุมด่ากูได้วะ กลิ่นแบบที่จะมีแอคเคาท์ทวิตเตอร์จำนวนหนึ่งที่พูดอะไรดูไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผล แบบกูว่ากูไม่ได้พูดเรื่องนั้น ทำไมมึงโจมตีกูขนาดนั้น ทำไมมึงลากกูไปได้ขนาดนี้ กลิ่นแบบนี้ กลับมา 

มันหายไปสักพักหนึ่งอยู่นะ สักปี 2565 - 2566 ใครโปรรัฐบาล ใครโปรรัฐประหาร จะไม่มีที่ยืน จะไม่ค่อยกล้าพูดอะไรเยอะ จะเหลือน้อย เหลือเบา ๆ แต่เวลาเราพูด “เราต้องมีเลือกตั้ง เราต้องมีประชาธิปไตยเลือกตั้งต้องเสรี” พูดอย่างไรก็ถูก กูว่ากูก็อยู่ที่เดิมนะ แต่กูกลับต้องระวังมากขึ้น กลายเป็นว่า พูดอันนี้จะมีคนเกลียดไหม พูดอันนี้จะเสียเพื่อนไหม พูดอันนี้โดนเอาไปแขวนไหม โดนเอาไปด่า พูดแล้วโดนแคปไปด่ากลางรายการ ก็ไม่เป็นไร ทุกคนทำได้เป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ว่า บรรยากาศมันกลับไปอึดอัดเหมือนช่วง ปี 2557 - 2558 ที่เรารู้สึกว่า คนครึ่งหนึ่งพร้อมจะไม่เห็นด้วยกับเราตลอด 

‘ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ : “องค์กรเอ็นจีโอทุกแห่งควรมีขึ้นเพื่อเตรียมยุบไป”

ความขัดแย้งวนกลับไปเหมือนอดีต แต่รับมือได้

ปี 2563 ม็อบสามนิ้ว ผมขึ้นเวทีบ่อย แล้วตอนนั้นม็อบขาขึ้น แล้วเพื่อนแม่งมาเต็มม็อบเลย ส่วนปี 2557 ไม่มีใครเห็นด้วยกับผม ไปกินข้าวกับเพื่อนต้องระวังอย่าพูดเยอะ 

ปี 2557 เวลาผมโพสต์นะ ผมอธิบายความคิดตัวเอง ผมต้องเริ่มอารัมภบทว่า ผมไม่เอาทักษิณนะ เมื่อก่อนนะ ตอนเสื้อเหลืองผมเคยไปชุมนุมนะ ผมรู้ว่ารัฐบาลมีปัญหาอย่างไร มีการกล่าวหา ผมเข้าใจเรื่องพวกนี้ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเพราะอะไร 

จริง ๆ ผมลืมไปแล้วว่าตอนนั้นต้องโพสต์อย่างนั้น พอมาปี 2567 มีคนไปแคปมาเฉพาะตรงที่ผมบอกว่าผมเป็นเสื้อเหลือง ผมไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอย่างไร ส่วนตรงที่ผมไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แม่งไม่แคปมาเว้ย ไปแคปเฉพาะข้างบนเอามาโพสต์ด่าว่าผมเป็นสลิ่มเฟส 1 

ผมจำไม่ได้ว่าตอนนั้นมันเรื่องอะไรวะ ผมต้องกลับไปหาตัวเอง กลับไปก็จำได้แล้วว่า สมัยนั้นเวลาโพสต์ต้องอารัมภบทต้องร่ายก่อน ต้องค่อย ๆ ซื้อใจคน ค่อย ๆ ปูเรื่องมา แล้วค่อยบอกว่า กูไม่เห็นด้วยรัฐประหารนะ บรรยากาศสมัยนั้นเป็นอย่างนั้น สมัยนี้ก็เกือบเหมือนละ 

ถ้าหากเราจะด่ารัฐบาลก็ต้องเกริ่นก่อน เดี๋ยวนี้คนจะด่ารัฐบาลก็ต้องบอกว่า “ผมเคยเป็นคนเสื้อแดงนะ ผมเคยเลือกเพื่อไทยนะ ผมเคยเป็นโหวตเตอร์มาก่อน ผมจึงด่า” คือต้องเกริ่นอะไรแบบนี้ก่อน ซึ่งจริง ๆ ไม่ต้องเลย สามารถว่าด้วยเหตุผลเลย แต่เนื่องจากเป็นบรรยากาศความเห็นต่าง ที่แขยงซึ่งกันและกัน แบบเดี๋ยวจะถูกโจมตีเร็วเกินไป มึงฟังกูก่อน ใจเย็น ๆ นะ

ตอนนี้ปี 2567 กับปี 2557 คล้าย ๆ กัน แต่ปี 2557 ผมอาจจะเด็ก ต้องอารัมภบทเยอะ ส่วนปี 2567 ผมแก่แล้ว ผมไม่สนใจ ด่ามาเลย ด่ามากูด่ากลับ แก่พรรษาละ รับพวกถล่มเป็นละ 

พวกแอคเคาท์แปลก ๆ ที่เดิมด่าประยุทธ์ด้วยกัน แต่ตอนนี้มันด่ากูเนี่ย ไม่รู้สึกอะไร แต่จะรู้สึกกับคนที่รู้จักกัน คนที่เมื่อปี 2563 ก็ชูสามนิ้วอยู่บนถนนด้วยกัน ถ้าคุณจะด่าก้าวไกลคุณด่าไปเถอะ แต่คุณอย่าออกจากเส้นทาง 2 ธงนี้ รัฐธรรมนูญประชาชน ต้องเขียนใหม่ได้ทั้งฉบับ นิรโทษกรรมประชาชนต้องนิรโทษทุกคน ไม่ใช่เอาบางคนไว้ในคุกแล้วนิรโทษบางคน ธงพวกนี้คุณอย่าหวั่นไหว 

‘ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ : “องค์กรเอ็นจีโอทุกแห่งควรมีขึ้นเพื่อเตรียมยุบไป”

แล้วถ้าคุณจะเกลียดก้าวไกล จะด่าก้าวไกล จะรักเศรษฐา ทวีสิน จะรักอุ๊งอิ๊งค์ จะรักเพื่อไทย ไม่เป็นไร ทำอะไรทำไปเลย แต่ว่าบางทีคนก็เป๋ ก็จะเสียใจกับคนที่เป๋ 

คำกล่าวหาทั้ง ‘นายแบก’ และ ‘แดกส้ม’

เคยถูกด่าว่าเป็นนายแบกพรรคเพื่อไทยด้วย คือมีคนบอกว่าผมแบกเพื่อไทยมากเกินไป ก็มี ก็โดนบ่อย ๆ ก็ไม่เป็นไร เวลาโดนว่าแดกส้ม จริง ๆ ก็ความรู้สึกทำนองเดียวกันกับเวลาโดนหาว่าเป็นนายแบก ก็รู้สึกว่า เออ มึงพูดไปเถอะ อยากพูดก็พูดไปเลย คือเราแบรนด์กันเร็วเกินไป 

บางครั้งผมพูดอะไรบางอย่าง คนไม่เห็นด้วยคุณควรจะเถียงในเนื้อหาว่าสิ่งที่ผมพูดมันไม่ถูกต้องอย่างไร โดยข้อมูล โดยเหตุโดยผล ใช่ไหม 

ทีนี้พอเขารู้สึกว่าไม่พอใจแล้ว เขาก็ไม่รู้ว่าจะตอบโต้สิ่งที่เขาไม่พอใจอย่างไร เขาก็แบรนด์อะไรบางอย่าง ต้องหาหมวกอะไรมาสวมว่า ที่มึงพูดอย่างนี้เพราะมึงเป็นนายแบกพรรคเพื่อไทย แบกรัฐบาล เพราะมึงรับจ้างเขามาใช่ไหม รับจ้างพรรคเพื่อไทยทักษิณ ผมก็โดนว่าแบบนั้นตลอด 

พอผมพูดอีกข้างหนึ่ง เขาก็จะบอกว่า เพราะมึงแดกส้มใช่ไหม เขามองว่า “iLaw กับก้าวไกล มันก็เหมือนกันนั่นแหละ” อะไรแบบนี้ ซึ่งก็พูดไปเถอะ ไม่เป็นไร 

iLaw เกิดก่อนพรรคอนาคตใหม่ 

iLaw ตั้งปี 2552 ก่อนพรรคอนาคตใหม่ประมาณ 9 ปี ใน 10 ปีแรกในการทำงานของผม ผมไม่รู้จักคนชื่อ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ไม่รู้จักคนชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ส่วน ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ นี่รู้จักอยู่ห่าง ๆ แกทำ ‘สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน’ ชัยธวัชกับ ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’ แกก็ด่าผมตลอด 

ผมพูดตรง ๆ นะ พวกฟ้าเดียวกันก็จะรู้สึกว่า iLaw แม่งกระจอก เออ ไม่เป็นไรก็ยอมรับเรากระจอกจริง ก็คือ ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองอะไรอย่างนี้เขาแม่นกว่า ก็ต้องยอมรับว่าฟ้าเดียวกันแม่นกว่า iLaw เยอะ แข็งกว่า แน่นหนากว่า แล้วก็หลักคิด หลักเหตุผล ความกล้าวิพากษ์วิจารณ์เนี่ย เราก็กล้าน้อยกว่า เราก็โดนฟ้าเดียวกันด่าตลอด แล้วก็หมั่นไส้ ก็ไม่เป็นไร เราก็โดนด่าได้

ทีนี้ข้อเสนอเรื่องรัฐธรรมนูญประชาชน ต้องเขียนใหม่ทั้งฉบับ ใครก็คิดได้ รัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน ถามไปก็คิดได้ทุกคน ใช่ไหมครับ ต้องนิรโทษกรรม เราเสนอนิรโทษกรรมคดีการเมืองประชาชนที่แสดงออกโดยสงบต่อต้านรัฐบาล ต้องได้รับการยกเลิกคดีทั้งหมดไม่ได้แยกแยะว่าข้อหาอะไรบ้าง เนี่ยไปถามใครทุกคนก็เข้าใจ ง่ายจะตาย 

เราก็แค่หยิบสิ่งที่มันเป็นพื้นฐาน เบสิคง่าย ๆ บนพื้นถนนบนทุกที่ แล้วเราก็ทำเป็นข้อเสนอแล้วก็เสนอ ทีนี้ก้าวไกลมันก็เสนอสิ่งเดียวกัน แล้วจะบอกว่ากูเป็นส้มเหรอ มันง่ายไปหน่อย ใครก็คิดได้เรื่องแค่นี้

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเสนอ มันเป็นเหตุผลเบสิคพื้นฐานมาก ทีนี้ พอคนจะเข้าสู่อำนาจรัฐที่มัน... รัฐบ้านเมืองเรามันไม่ปกติ บางทีมันทำอะไรที่มันพื้นฐานตรงไปตรงมาแบบที่มันควรจะเป็น สู่สังคมไทย มันทำไม่ได้ เพราะคนมีอำนาจเขาไม่ยอม 

ดังนั้น คนที่เข้าสู่อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย อะไรก็แล้วแต่ ก็เลยต้องยอมโอนอ่อนเหตุผลพื้นฐานของตัวเอง ยอมบิดเบี้ยวไปพูดอะไรที่มันไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่เป็นหลักการไปบ้าง เพื่อให้ตัวเองเข้าสู่อำนาจได้ ใช่ไหม 

ทีนี้ส่วนก้าวไกล มันเข้าสู่อำนาจไม่ได้ มันก็พูดตามที่ควรจะเป็น ทีนี้พอมันพูดตามที่ควรจะเป็น มันก็ตรงกับ iLaw แค่นี้เอง 

ก็ไม่แน่ วันหนึ่งถ้าเขาเข้าสู่อำนาจ เขาก็อาจจะบิดเบี้ยว ถ้าบิดเบี้ยวเราก็ด่าเขา แค่นั้นเอง แต่มันยังไม่ถึงวันนั้น ก็ไม่รู้ถ้าวันหนึ่งก้าวไกลเขาเข้าสู่อำนาจเขาอาจจะบอกว่า “เออพอดีว่าในทางการเมือง เรื่องนี้มันก็ได้ประมาณนี้” อ่ะ สมมติไอ้โรมพูดอย่างนี้นะ กูก็ได้ด่ามัน ได้เต็มที่ 

จุดร่วม - จุดต่างกับนักการเมือง 

The People : เผื่อใจเอาไว้แล้วใช่ไหมว่า ความสัมพันธ์ของตัวเองกับพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคใดก็ตาม อาจจะมีวันที่มีจุดร่วมกันและมีความแตกต่างกัน 

ครับ คิดตลอดนะ แล้วก็เตรียมเสียใจไว้ล่วงหน้า เอาจริง ๆ คนที่เคยรู้จักกันมาก่อนที่เข้าไปอยู่พรรคอื่นที่ไม่ใช่ก้าวไกลก็มี พอเข้าไปก็มีระยะห่างตลอดนะครับ คนที่เป็นเพื่อนทำงานบนถนนด้วยกันมา ที่เข้าไปก้าวไกลตอนนี้ทุกคนก็ไม่ได้เหมือนเดิม ไม่ได้เหมือนเดิม 100% เพียงแต่ว่าหลักการเหตุผลคุณอย่าผิด ถ้าผิดก็ด่าเลย แต่โอเค หลักการเหตุผลหลายคนก็ยังอยู่นิ่ง เพียงแต่ว่า วิธีวางตัว วิธีปฏิบัติตัวนะครับ 
ยกตัวอย่าง กูไปหน้าสภา กูก็เป็นอย่างนี้แหละ กูก็ใส่เสื้อยืดรองเท้าผ้าใบไป รปภ.แม่งก็ไม่ให้เข้า มึงก็นั่งใส่สูทอยู่ตรงนั้น มึงก็ไม่เดินมาหากู เดินมาที มึงก็มาแม่งผู้ช่วยมาเต็ม ใส่สูทกันมาเต็ม มึงเป็นอะไรวะ เออ ก็มันไม่ได้เหมือนเดิมทุกคนหรอก แต่คนที่ดีก็มี อย่างหมออ๋อง ก่อนแกเป็นรองประธานนะ ผมไม่ได้รู้จักแกมาก่อนเลยนะ แต่จำได้ ตอนนั้นผมไปยื่นหนังสือ แล้วผมเข้าไม่ได้ ผมก็ยืนอยู่ข้างหน้า ผมก็โทรหาเพื่อน ๆ สส. ให้มารับหน่อย เขาไม่มา แต่หมออ๋องมา ไม่ได้รู้จักกันเลย แกเดินผ่าน ผมโบกมือ แกเดินวิ่งมา แล้วแกถามว่ามายื่นเรื่องอะไร แกมารับให้ แกพาเข้าไปในสภา อย่างนี้ดี 

แต่บางทีเพื่อนก็คงไม่ว่างแหละ ก็เลยไม่ได้มารับ การวางตัวไม่เหมือนเดิม บางคนก็มีระยะกับเรา แล้วการใช้ชีวิตของเขาก็เปลี่ยน รวยขึ้นทุกคน อย่างน้อย มันก็เงินเดือนแสนป่าววะ เงินเดือนแสน ซื้อบ้านซื้อรถกัน แต่โอเค ไม่ถึงขนาดอัลพาร์ด ซื้อรถตามฐานานุรูป ชีวิตก็เปลี่ยนใช่ไหม 

เมื่อก่อนก็ลำบากลำบนด้วยกัน เวลาจะกินอะไรก็ระวังนิดนึง อย่าแพงมาก พอเงินเดือนแสนกันก็โอเค ชีวิตดีก็ยินดีด้วย 

‘ยิ่งชีพ อัชฌานนท์’ : “องค์กรเอ็นจีโอทุกแห่งควรมีขึ้นเพื่อเตรียมยุบไป”

The People : แล้วเป๋าไม่อยากได้ชีวิตแบบนั้นหรือคะ

ไม่อยากได้ครับ ก็พูดตรง ๆ ก็คือว่า ที่ผมทำงานนี้ได้นาน เพราะว่าบ้านผมไม่ได้จน ไม่ได้รวยแต่ไม่ได้จน ไม่รู้รวยไหม แล้วแต่เส้นวัดเนอะ 

The People : ไม่ได้รวยระดับหมื่นล้านแบบคุณธนาธร

แน่นอน (หัวเราะ) ไม่ลำบาก พ่อแม่พูดตรงกันว่า เขาอยู่ได้ ไม่ต้องเอาเงินมาให้เขา แม่เป็นข้าราชการเกษียณยังไงเขามีบำนาญ เขามีสวัสดิการอยู่แล้ว

The People : ครอบครัวนักกฎหมาย ผู้พิพากษา ทนายความ

จำได้เลย เงินเดือนเดือนแรก ทำเป็นพิธี ก็เอาเงินเดือนเดือนแรกไปให้พ่อ พ่อก็ด่า “เอามาทำไม เอาไปให้แม่โน้น" พอเดินเอาไปให้แม่ แม่ก็บอกว่า “เอามาทำไม เอาไปให้พ่อ” แล้วกูจะเอาไปให้ใคร (หัวเราะ) ก็เดินกลับไปกลับมา แม่อยู่ชั้น 4 พ่ออยู่ชั้น 3 เดินขึ้นลง ไม่มีใครเอาเว้ย ทุกคนรู้ว่าลูกลำบากกว่า ให้เก็บเงินเดือนตัวเองไป 

The People : ทำไมทั้ง 2 ท่านไม่รับพอเป็นพิธีตามความเชื่อที่มีกันมาว่าเงินเดือนเดือนแรกให้คุณพ่อให้คุณแม่ 

ผมคิดว่าเป็นสไตล์บ้านผมเลย คือพ่อแม่ก็รู้สึกว่า ไม่ต้องมาดูแลกู คือไม่ได้ปลูกฝังค่านิยมว่า ถ้ากูแก่เมื่อไหร่มึงต้องมาเข็นรถให้กู ไม่ได้ปลูกฝังค่านิยมว่า ต้องเอาเงินมาให้พ่อแม่ คือค่านิยมนี้ไม่ได้รุนแรงมากในบ้านผม ทีนี้พอพ่อบอกว่าอยู่ได้ แม่บอกว่าอยู่ได้ ผมไม่มีภาระทางครอบครัว เราก็ไม่ได้ซีเรียสเรื่องเงินเดือนมาก ก็ได้ที่มันพอกินข้าวแล้วจบแต่ละเดือนก็อยู่ได้แล้ว แต่ก็ยังเข้าใจ เคารพคนที่ทำงานภาคประชาชนด้วยกัน พออายุ 30 - 33 ปี ถ้ายังเงินเดือนน้อยอยู่และไม่รู้ว่าจะตอบโจทย์ชีวิตในระยะยาวอย่างไร ก็ต้องไปที่อื่น ก็อาจจะทั้งไปเอกชน หรือถ้ายังอยากอยู่ในเส้นทางการเคลื่อนไหวก็เข้าพรรคการเมือง 

The People : ทำงานตั้งแต่ปี 2552 เงินเดือนเดือนแรก คือจาก ilaw เลยหรือเปล่า

ตอนปิดเทอมปี 3 เคยฝึกงาน law firm นั่นคือเงินเดือนเดือนแรก ไปยื่นให้พ่อคุณแม่แล้วท่านไม่รับ อันนั้นคือฝึกงานที่ law firm ครับ เพราะว่า ตอนนั้นได้ 10,000 บาท ปี 2551 ฝึกงานเขาก็ให้เป็นพิธี ความรู้ไม่มีอะไรหรอก เขาให้ 10,000 บาทก็ดีใจมาก แต่ว่าพอเริ่มทำงานเดือนแรกที่ iLaw ได้ 7,000 นะ

เข้าโครงการ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) เป็นอาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิ เขาก็จะให้เงินเดือนน้อย ตอนนั้นก็ได้ 7,000 บาท เป้าหมายคือการเลือกการใช้ชีวิต 

ที่มาชื่อ ‘ยิ่งชีพ’

The People : ยิ่งชีพ ชื่อนี้ใครตั้งให้ มีที่มาอย่างไร 

แม่ตั้งให้ครับ ด้วยความอนุมัติของพ่อ ตามคำบอกเล่านะ ผมจำความไม่ได้ แปลว่า ยิ่งกว่าชีวิต หมายถึงว่ารักมาก พี่สาวชื่อ ‘ยิ่งรัก’ น้องชื่อ ‘ยิ่งชีพ’ หมายถึงพ่อแม่รักมาก ไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องรักชาติเท่าไหร่ พ่อเป็นทนาย แม่เป็นผู้พิพากษา ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับทหาร แต่ก็รักชาตินะ แค่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชื่อเลย 

พอเราเข้าโรงเรียนแล้วมีคำว่ารักชาติยิ่งชีพ มีม็อตโตเหล่านี้ก็รู้สึกว่าเกี่ยวอะไรกับกูหรือเปล่าวะ เพื่อนก็ล้อบ้างอะไรบ้าง ตอนเรียน รด. ก็ต้องติดตรงนี้ว่ารักชาติยิ่งชีพ มีชื่อตัวเองอยู่ที่ไหล่ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับมอตโต้ของทหาร

ตอนเด็ก ๆ ภูมิใจมาก ไม่มีคนชื่อซ้ำ ตอนประถม บางทีก็รู้สึกเขินเวลาแนะนำตัว คือเพื่อนชื่อซ้ำ ๆ ชื่อเรียกง่าย ๆ แล้วเราพอพูดชื่อไป คนก็จะแบบ โห อะไรแบบนี้ พอมีเทคโนโลยีแล้ว ก็เริ่มเห็นว่ามีคนชื่อเรา ตอน ม.5 สมัครอีเมลครั้งแรก [email protected] สมัครไม่ได้ มีคนใช้แล้ว ตื่นเต้นมาก ก็อีเมลไปหาเขาว่าใครวะ อยากรู้จัก (หัวเราะ) พอโลกมีเฟซบุ๊กก็เสิร์จชื่อ มี 3 คนรวมผมด้วย 

ส่วนชื่อเล่นเป๋า คือ กระเป๋า ตอนเด็ก ๆ ตัวเล็กเอาใส่กระเป๋าได้ ‘เป๋า’ จึงมาจากกระเป๋าครับ

เรียนธรรมศาสตร์ยุคผู้บริหารมหาวิทยาลัยไล่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’

The People : ตอนที่เรียนธรรมศาสตร์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วางบทบาทอย่างไรในการเมืองตอนนั้น

ผมเข้าธรรมศาสตร์ 2547 ผมอยู่ในธรรมศาสตร์ ‘ยุคไล่ทักษิณ’ บรรยากาศบ้านเมืองตอนนั้นก็คือ คุณทักษิณเป็นนายกฯ แล้วก็อยู่ ๆ ไปก็มีม็อบเสื้อเหลืองไล่ทักษิณ ธรรมศาสตร์ก็โอนไปทางนั้นนะ สัมผัสได้ว่า vibes มีอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เพิ่งมา หนุ่ม ๆ ไฟแรง มีอาจารย์บรรเจิด สิงคะเนติ พวกนี้ก็จะขึ้นเวทีพันธมิตรเสื้อเหลือง ใช้ธรรมศาสตร์ในการชุมนุมบ้าง

อมธ. ตอนนั้นล่ารายชื่อถอดถอนนายกฯ ทักษิณ แต่ผมไม่ได้ทำการเมืองมหาวิทยาลัย มีนิดหน่อย คือผมทำค่าย อยู่ชมรมเชียร์ด้วย ทำงานบอลฟุตประเพณีด้วย ทำแต่แบบ Freshy Games แบบนี้ จริง ๆ ไม่ได้ทำการเมืองเลย แต่อมธ. เขาก็มีนิดหน่อย เพราะมีคนสนใจการเมือง

ในงานเชียร์ต้องใช้คนเยอะมาก แล้วมันงานยกของ ยกเพลท แปรอักษร เกณฑ์คนขึ้นสแตนเชียร์ จริง ๆ งานนี้ก็ทำตั้งแต่มัธยมแล้ว ดังนั้นผมจะมีนิสัยติดตัวคือแบบ เรียกอาสาเมื่อไหร่กูต้องไป เพราะว่ากูเป็นคนเรียก แบบวันนี้ต้องการเพื่อน 30 คนมาช่วยกันขนเพลท 500 อัน ผมเป็นคนเรียกตลอด ดังนั้นเวลาเพื่อนเรียก ผมไปตลอด พอเขาเรียกขออาสาไปช่วย ก็ไป เป็นพวกชอบออกแรง 

เจอ ‘เดียร์ วทันยา’ สมัยเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ก่อนพบอีกครั้งงานนิรโทษกรรม

ผมทำเชียร์เป็นหลัก คือทำงานบอล ทำงานแปรอักษร รู้จักมาดามเดียร์ (วทันยา บุนนาค) เป็นเชียร์ลีดเดอร์ ตอนผมปี 1 ผมจัดเวทีที่คัดเชียร์ลีดเดอร์ มาดามเดียร์มาคัด ผมเป็นออแกไนซ์ข้างเวที แต่แกจำผมไม่ได้หรอก สิบกว่าปีที่ผ่านมา ไม่ได้คุยอะไรกัน มาเจอแกอีกทีปีนี้ ปี 2567 ผมจัดงานนิรโทษกรรม แล้วเชิญมาเป็นวิทยากร 

มาดามเดียร์ ภาพก็คือ ไม่ใช่เพื่อนแถวนี้ แกมาแกก็นั่งเขิน ๆ ผมก็เลยไปคุย พอนั่ง ๆ คุยไปก็รำลึกความหลัง เขาแก่กว่าผมนิดนึง ผมเรียกพี่เดียร์ “ตอนพี่เดียร์เป็นเชียร์ลีดเดอร์ ผมทำเชียร์นะ” แต่แกไม่รู้จักผมหรอก

ก็สัมผัสได้ว่า จิตใจแกอยู่แถวนี้แหละ แต่ว่า แกก็ไม่ได้พูดตรง ๆ ด้วยสถานะบทบาท แต่แกมาไง คือเราจัดเรื่องนิรโทษกรรมประชาชน แค่แกตอบว่ามา ก็มีความหมายแล้ว เขาพูดเลยว่า วันนี้ไม่ได้มาในนามพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเขาไม่ได้ทำกิจกรรมกับพรรคแล้ว

ภาคประชาชนกับพรรคการเมือง 

The People : มาทำงานในการเมืองภาคประชาชน เป๋ามองตัวเองมีความสัมพันธ์กับพรรคก้าวไกล เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และภูมิใจไทยอย่างไร 

เฉย ๆ มีพรรคที่ผมรู้สึกหมั่นไส้เป็นการส่วนตัวอยู่บ้าง แต่ไม่ได้เกลียด ถ้าตามรายชื่อที่พูดมา ไม่มีพรรคไหนที่ผมรู้สึกเป็นศัตรู แต่มีพรรคที่รู้สึกหมั่นไส้ ไม่ค่อยชอบ
พูดได้ทุกพรรคเลย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนาและอื่น ๆ ผมเฉย ๆ คือผมมีส่วนที่หมั่นไส้เขาบ้างเวลาที่เขาอยู่ในอำนาจ แล้วเคยดีลงานกัน แล้วก็รู้สึกว่า ใส่สูท เจ้ายศเจ้าอย่างนิดนึงนะ ปากไม่ตรงกับใจนิดหน่อย ข้างหน้าพูดอย่างข้างหลังพูดอย่างหลายคน แต่ไม่ได้รังเกียจ ก็เข้าใจว่า บทบาทหน้าที่ของเขา อยู่อย่างนั้นก็ทำไป ถ้าประชาชนเลือกคุณก็เข้าไป ถ้าประชาชนไม่ได้เลือกคุณก็ไม่ได้เข้า ก็แค่นั้นแหละ

ผมไม่ชอบพลังประชารัฐ ผมยืนยันว่าผมอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพรรคพลังประชารัฐ ผมไม่เห็นว่าพรรคพลังประชารัฐมีอุดมการณ์อะไรและไม่เคยเห็นว่านำเสนอนโยบายอะไร ก่อนเลือกตั้ง 2562 เสนอเป็นตับเลย แต่ไม่ทำสักอย่าง 

เป้าหมายเดียวของพรรคพลังประชารัฐ คือเอา ‘คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เป็นนายกฯ ในปี 2562 ต่อมาเปลี่ยนเป็นอยู่ข้าง ‘คุณประวิตร วงษ์สุวรรณ’ ไม่เอาคุณประยุทธ์แล้ว ส่วนคุณประวิตร มีนโยบายอะไรไม่รู้ แล้วคนในพรรคเชื่อมั่นในอะไร กำลังทำงานการเมืองเพื่ออะไร ไม่รู้เลย ผมไม่ชอบพรรคนี้ อยู่ตรงข้ามกัน 

เอาจริงๆ นะ ผมเคารพพรรคอย่างไทยภักดี ‘หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม’ เนี่ย คืออันนี้อุดมการณ์ชัด เรารู้ว่าเขาต้องการอะไร เรารู้ว่าเขาคิดอะไร แม้เราจะไม่เห็นด้วย แต่คุณก็ดำเนินตามระบอบก็คือว่า คุณเชื่ออย่างนี้ คุณไม่เห็นว่ามีพรรคการเมืองตอบโจทย์คุณ คุณก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง ถ้าได้คุณก็ไปผลักดัน ได้เสียงเดียวคุณก็ไปผลักดันคุณก็แพ้ คุณไม่ได้ที่นั่งคุณก็ยังพูดเรื่องเดิมต่อไป ผมเคารพพรรคนี้มาก

แต่อย่างพรรคพลังประชารัฐเนี่ย ไม่มีอุดมการณ์อะไร ผมไม่เคารพ ไม่อยากทำงานด้วย

จุดยืน iLaw ต่อทุกพรรคการเมือง 

จุดยืนของ iLaw ได้ผ่านการถกเถียงในการทำงานกับพรรคการเมืองมาตลอด ว่าจะทำงานกับพรรคไหนเมื่อไหร่อย่างไร ข้อสรุปเป็นอย่างนี้ ก็คือว่า ปฏิบัติต่อทุกพรรคเหมือนกันทำเหมือนกันทุกพรรค ทีนี้ ถ้าสมมติว่าพรรคก้าวไกลเชิญไปร่วม เราก็จะคิดว่า แล้วถ้าคำเชิญนี้ เนื้อหานี้ บทบาทนี้เพื่อไทยเชิญ ประชาธิปัตย์เชิญ ภูมิใจไทยเชิญ เราจะไปไหม ถ้าไปได้ก็ไป เช่น หลายๆ งานก็จะเป็นงานเสวนาสาธารณะ พรรคก้าวไกลจัด หรือคณะก้าวหน้าจัด หรืออะไรที่มันส้ม ๆ อย่าง Sol Bar เป็นของพรรคไหม ส้ม ๆ จัดงาน เราก็ต้องคิดว่า อ้าว ถ้าร้านกาแฟ Think Lab เชิญ ไปไหม ไป 

ถ้าร้านกาแฟชาติไทยพัฒนา เขาจัดงานแล้วเขาเชิญ เราไปไหม ก็ไปนะ เพราะฉะนั้น ถ้า Sol Bar เชิญ เราไปได้ แค่นี้เอง เพียงแต่ว่า พรรคอื่นเขาไม่เชิญ

ทีนี้ พรรคที่เชิญก็มีนะ เช่น พรรคไทยสร้างไทยก็จะเชิญไปร่วมงานเสวนาอะไรแบบนี้ ก็ไป แต่เพื่อไทยเขาไม่ได้เชิญ ถ้าเชิญก็ไปนะ

ในหัวข้อที่เราทำงาน ในประเด็นที่เรารู้เรื่องแล้วเราสามารถพูดได้ ถ้าใครเชิญก็จะไป พูดตรง ๆ ก็คือว่า ถ้าพลังประชารัฐเชิญ ไม่อยากไป แต่โดยหลักการแล้วก็จะต้องไป คือโดยหลักคิดว่า ทำงานกับทุกพรรคเหมือนกันก็คือจะไป แต่พูดตรง ๆ ว่าไม่ชอบพรรคนี้

มองพรรครวมไทยสร้างชาติ

จัดไว้ตรงกลางระหว่างพลังประชารัฐกับไทยภักดี คือไม่ชอบ แต่อย่างน้อยก็ยังคิดว่าเขามีอุดมการณ์ มีแนวทางของตัวเองที่ชัดเจนกว่าพรรคอย่างพลังประชารัฐ 

เขาพูดชัดว่าเขาจะเอาอะไร อุดมการณ์เขาชัดกว่าพลังประชารัฐ จะเอาประยุทธ์เป็นนายกฯ ชัดเจน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์, ไม่ร่วมงานกับก้าวไกล ยังไงกูเกลียดก้าวไกล กูไม่เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จะปกป้องรัฐธรรมนูญ 2560 อะไรก็ว่าไปเนี่ย มันชัดเจน อันนี้ดูจากเวลาฟังการอภิปรายนะ

‘ยิ่งชีพ’ กับ พรรคก้าวไกล

ระดับนำ เอก ป๊อก ช่อ ทิม เนี่ย ไม่รู้จักกันมาก่อน รู้จักกันในงานเท่านั้น ถ้าเราต้องติดต่อพวกเขาในฐานะที่เขาเป็นนักการเมืองแล้ว แต่ว่าหลายคนรู้จักกันมาก่อนในฐานะเพื่อน อย่างโรม แจม ลูกเกด โตโต้ รู้จักกันมาก่อน ก็เลยทำงานด้วยเยอะ เวลาเขามีอะไรเขาก็จะถามความเห็นปรึกษากัน ใกล้ชิดพรรคก้าวไกลเพราะหลายคนรู้จักกันมาก่อนที่เขาจะเป็น สส. รู้จักกันมาหลายบทบาท ผ่านอะไรมาเยอะ 

ผมทำงาน iLaw โรมโดนจับก็ไปเยี่ยมที่เรือนจำ ลูกเกดก็จะไปตามม็อบ เวลาลูกเกดไปจัดม็อบผมก็จะไปถามว่า วันนี้ยังชุมนุมหรือเปล่า ตำรวจว่าอย่างไรบ้าง ส่วนแจมเป็นทนาย ตอนนั้นผมก็เป็นทนาย แจมเป็นทนาย ก็รู้จักกัน ก็ไปเรือนจำด้วยกัน ไปทำคดีด้วยกัน เป็นทนายในคดีเดียวกันหลายคดี 

ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ มารู้จักหลังเขาลง สส. ประชาธิปัตย์ แล้วไม่ได้รับเลือก หลังจากนั้นเขาก็ตั้งกลุ่มทำรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นเขาทำกลุ่มชื่อรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ผมก็ทำ iLaw ก็รู้จักกันในฐานะทำงานภาคประชาชนด้วยกัน แล้วตอนหลังเขาก็ไปเป็น สส.ก้าวไกล 

เพราะฉะนั้นคนกลุ่มนี้ ก็จะคุยกันในฐานะเราผ่านอะไรมาด้วยกัน เวลาเขาเป็น สส. แล้วเขาเห็นประเด็น หรือเขาอยากรู้อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม เขาก็จะถาม นี่คือความสัมพันธ์กับก้าวไกล

‘ยิ่งชีพ’ กับ พรรคเพื่อไทย

เพื่อไทย ไม่มีความสัมพันธ์อะไรเลย (หัวเราะ) ไม่มีความสัมพันธ์ในทางส่วนตัว ไม่ได้รังเกียจ ไม่ได้ทะเลาะกัน ไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นศัตรู ผมไม่เคยรู้สึกว่าเขาเป็นศัตรูเลย คือตั้งแต่ผมเริ่มทำงาน ก็เป็นยุค ‘คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ เป็นนายกฯ การทำงานภาคประชาชน คือเราอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอยู่แล้ว ดังนั้น common sense แรกตั้งแต่เริ่มทำงานก็คือ เป็นเพื่อนกับเพื่อไทย 

ตอนนั้นไปคัดค้าน พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะปี 2553 พรรคเพื่อไทยก็เดินออกมารับหนังสือ ‘คุณสมคิด เชื้อคง’ พรรคเพื่อไทยเดินออกมารับหนังสือ ผมจำได้ ก็ยังรู้สึกเป็นเพื่อนกัน รู้สึกว่าเราทำงานกับฝ่ายค้าน แต่ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว 

พอพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เราก็ห่างออกไป ไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไร พอรัฐประหาร (2557) เพื่อไทยเป็นฝ่ายถูกกระทำ ถูกรังแก คนของเพื่อไทยถูกจับ ถูกเอาไปปรับทัศนคติ ถูกดำเนินคดี ถูกเอาขึ้นศาลทหาร เราก็ไปทำงานเรื่องพวกนี้ ผมยังรู้สึกว่ามีความเป็นเพื่อนกับเพื่อไทยมากกว่าพรรคอย่าง ประชาธิปัตย์หรือภูมิใจไทย แต่หลัง ๆ ตั้งแต่เขาเป็นรัฐบาลคุณเศรษฐา รู้สึกเขาไม่ค่อยมองผมเป็นเพื่อนเท่าไหร่ รู้สึกเขามองผมเป็นศัตรูอย่างไรไม่รู้ 

ตอนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ถ้าเราติดต่อ ‘หมอชลน่าน ศรีแก้ว’ ติดต่อ ‘คุณสุทิน คลังแสง’ จะคุยเหมือนเป็นเพื่อนเลย จะคุยเหมือนเขาอยากคุยกับเรามาก พอคุณเศรษฐาเป็นนายกฯ เนี่ย เราไปยื่นหนังสือ เขาก็มารับ ใส่สูทผูกไท มายืนรับ แต่เขาเกร็งเขาทำหน้าไม่มีความสุข แล้วก็ข้อเสนอของเรา เขาไม่เคยเห็นด้วยนะ

ทีนี้ ถ้าไม่เห็นด้วยไม่เป็นไร ผมคิดว่าเราคุยกันดี ๆ ได้ เราคุยกันข้างหลังได้ เราเข้าใจเขา แต่ว่า เขาไม่อยากคุยกับเราข้างหลังเลย

แล้วก็ สมมติว่าเราไปที่พรรคเพื่อไทย เราไปยื่นหนังสือ ก่อนกล้องเดิน เราไปทักทายสวัสดี เขาก็จะต้อนรับเราแค่เป็นทางการ “สวัสดีครับคุณยิ่งชีพ” แล้วก็คุยเรื่องอื่น “เป็นอย่างไรทำงานหนักไหม สบายดีไหม” แต่ไม่พูดประเด็น เสร็จแล้วพอกล้องเดิน เราก็พูดประเด็น เขาก็พูดประเด็นพูดแบบอ้อม ๆ พอกล้องตัด เราก็เดินเข้าไปหาเขา คือเราอยากจะคุยกับเขา เขาก็จะคุยกับเรากว้าง ๆ แบบไม่เข้าประเด็น 

รู้สึกเหมือนเขาไว้ระยะห่างกับเรา เพราะประเด็นที่เรามายื่นแต่ละครั้ง เขาไม่เอาด้วย ไม่ว่าจะเป็นนิรโทษกรรมประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แล้วก็เวลาไปเจอนอกรอบ เวลาไปเจอตามวงประชุม ตามงานประชุม เขาจะไม่ทักทายเราแล้ว

ถ้าเทียบกับตอนที่คุยแบบเพื่อน เขาจะคุยแบบชื่นชม อย่าง ‘อาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล’ จะพูดชื่นชม ถามความเห็นผมว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้เอาอย่างไร ตอนเจออาจารย์ชูศักดิ์ กับสส.เพื่อไทยหลายท่านด้วยนะครับ ช่วงคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ถ้าผมไปเสนอเรื่องรัฐธรรมนูญ เขาจะเข้ามาจับไม้จับมือ ขอถ่ายรูปด้วยอะไรแบบนี้นะ

อาจารย์ชูศักดิ์ เจอล่าสุดใน กมธ. แกเป็นประธาน กมธ. ผมเดินเข้าไปไหว้ก่อนเลย แกก็รับไหว้ ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่แกไม่คุยแล้ว

เพื่อไทย - ก้าวไกล เคยชวนเข้าพรรคหรือไม่

ก้าวไกลเคยชวนโดยสส.ของพรรคที่ไม่ได้มีตำแหน่งอะไร ถามสนใจไหม ถ้าผมอยาก ผมก็คงบอกว่าสนใจ มีอะไรว่ามาเลย ก็คงเดินเข้าไปแล้ว

ส่วนเพื่อไทยไม่เคยยุ่งกับผมเลย เพราะเขาก็รู้ว่าผมคิดแบบนี้ ถ้าผมอยู่ในพรรคก็คงทำให้พรรคสงบยาก ถ้าเขาจะให้เกียรติกันหน่อยก็คือ เขาอาจจะรู้ว่าผมซื้อไม่ได้ เช่น สมมติว่า คุณเอาตำแหน่งนี้แล้วกัน แทนที่จะทำแบบนั้นแบบนี้ มาซื้อผมไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าเขาคิดแบบนี้นะ ผมถือว่าเป็นการให้เกียรติ เขาก็ไม่ชวนดีกว่า 

ผมคิดว่าเพื่อไทยมีวัฒนธรรมในการเอาอะไรแลกเปลี่ยนกัน เช่น ชลน่าน ลาออกจากหัวหน้าพรรคไปเป็นรัฐมนตรี อะไรแบบนี้ ถ้าคุณหลุดจากรัฐมนตรีแล้วคุณมาเป็นอันนี้ไหม อะไรแบบนี้ คนที่ทำงานมา ก็จะได้อะไรบางอย่างบ้าง อะไรอย่างนี้ ซึ่งอย่ามาทำแบบนี้กับผม ผมไม่ชอบ

ต้องซื้อ ‘ยิ่งชีพ’ ด้วยอะไร

ความฝัน เพราะผมอยากทำงานกับคนที่มีความเชื่อว่า เราอยากเห็นอะไรบางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งอันนี้พรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล ก็ยังไม่ได้ขายสิ่งนั้นกับผม เขาไม่ได้เข้าถูก approach 

ถ้าเขามาขายฝันว่า เขากำลังอยากเห็นอะไรในประเทศนี้ แล้วในเส้นทางเดินนั้น มีผมยืนอยู่ตรงไหน แล้วถ้าไม่มีผม มันจะไปไม่ถึง แบบนี้ไม่แน่ ทุกพรรคเลย ไม่ใช่ว่าต้องเป็นสีส้มหรือสีไหน พลังประชารัฐก็ได้คุณมาขายสิ ถ้าใครมาขายแล้วเป็นสิ่งที่ผมเห็นด้วย ก็ไม่แน่ก็อาจจะซื้อผมได้ ก็ได้ 

ผมกับแกนนำพรรคสีส้ม ไม่มีความสัมพันธ์อะไรส่วนตัวกัน แต่ก็เคยทำงานด้วยกันหลายบทบาท ทีนี้มันก็คงไม่ได้ง่าย ถ้าเขาจะชวน ถ้าคนใหญ่ ๆ จะชวนก็แปลว่ามีความหมายเนอะ เขาก็คงไม่ได้คิดอะไร เอาเป็นว่า เขาไม่ชวน ดีแล้ว อย่ามายุ่งกับผม ผมเหนื่อยแล้ว

ไม่ได้อยากเป็นฮีโร่ 

ผมเหนื่อยแล้ว บทบาทผมที่จะเดินขึ้นไปข้างหน้า ผมไม่รู้สึกว่าผมอยากไปไกลกว่านี้ ผมไม่รู้สึกว่า ผมอยากจะทำงานประมาณนี้ให้มี impact กว่านี้ ด้วยทรัพยากรมากกว่านี้ 

ถ้ามีคนบอกว่า ไปเป็น สส.สิ ไปทำพรรคการเมืองสิ คุณจะได้ผลักดันสิ่งที่คุณเชื่อได้ด้วยอำนาจที่มากกว่า ผมคิดว่ามันไม่ใช่ ส่วนธงยังเหมือนเดิม ไม่เคยเปลี่ยน พร้อมจะทำงานเพื่อสิ่งนี้อย่างดีที่สุดเหมือนเดิม ไม่เคยเปลี่ยน แต่ถ้าเลือกระหว่าง ระดมทรัพยากรจากทุกที่ ระดมผู้คนมา แล้วเดี๋ยวจะนำ กับ ใจเย็น ๆ กูขอทำเท่าที่ทำได้ ผมขอเลือกอย่างหลังนะครับ

สองปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าผมใช้ร่ายกายและจิตใจไปเยอะมาก ในการทำงานทั้งตอนจับตาเลือกตั้ง 2566, Con for All 66 แล้วก็มานิรโทษกรรมประชาชนต้นปี 2567 แล้วก็มารณรงค์สมัคร สว. กลางปี 2567 

ในระยะ 2 ปีนี้มี 4 แคมเปญใหญ่ มันเอาชีวิตผมไปแล้ว มันใช้จ่ายจิตใจเยอะมาก มันใช้จ่ายพลังภายในไปเยอะมาก มันเอาชีวิตเราไป สี่อันหลัก จับตาเลือกตั้ง Con for All 66 นิรโทษกรรมประชาชน และ สว. 4 โบรชัวร์ตรงนี้ ผมนั่งหัวโต๊ะทุกแคมเปญ เวลา 20 องค์กรประชุม ผมนำประชุมทั้งวัน 

เราเป็นเรานะ คือเรามีเรื่องชีวิตที่ผมเล่ามาเป็นชั่วโมง เรามีครอบครัว เราไม่ได้เป็น ‘ยิ่งชีพ iLaw’ ตลอดเวลา เราเป็นอย่างอื่นก็ได้ ไม่ได้อยากที่จะเดินไปแล้วทุกคนต้องรู้ว่า ไอ้นี่มาแล้ว นี่สู้เพื่อประชาธิปไตย “น้องเก่งมาก น้องสุดยอด พี่เชียร์นะ” ไม่อยากเป็นฮีโร่ อยากเป็นคนธรรมดา อยากทำอย่างอื่นด้วย อยากมีชีวิตอย่างอื่นด้วย อยากมีลมหายใจหลายรูปแบบที่ไม่ใช่หายใจเข้าหายใจออก กูต้องรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองตลอดเวลา แต่ธงที่ปักไว้ยังไม่ได้เสื่อมคลาย ก็ยังจะทำเท่าที่ทำได้ แต่จะลังเลมากขึ้นในครั้งหน้า ถ้าคิดแคมเปญใหญ่ ๆ จะคิดทบทวนมากขึ้นว่า ถ้าทำงานนี้มันจะเอาชีวิตเราไปอีกนะ 

ตอนแรกสุดที่ผมเลือกมาทำงานที่นี่ เลือกมาทำงานสายนี้ไม่เลือกไปเป็นข้าราชการ ไม่เลือกเป็นเอกชนเพื่อหาเงิน เป้าหมายของเราคือ เราอยากทำสิ่งที่เราอยากทำ เราอยากไปเจอ เหมือนตอนที่เราทำกิจกรรม เหมือนตอนที่เราได้ไปค่าย เหมือนตอนที่เราได้ไปเข้าป่า เราอยากมีชีวิตแบบนั้น ซึ่งมันก็พอใช้ได้นะ 15 ปีที่ผ่านมา

ต้องยืนยันให้คนผิดหวัง ถ้าใครจะผิดหวังก็ผิดหวังก็ผิดหวังไปเลยนะครับ ผมมาทำงานที่นี่ ผมไม่ได้มีอุดมการณ์ตั้งแต่แรกจนถึงนาทีนี้ ที่จะต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หรือเพื่อจะผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญประชาชน ไม่ใช่ธงในชีวิตนะ ใครมันจะเกิดมาแล้วปักธงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในชีวิต ไม่ใช่นะครับ 

ผมเรียนนิติศาสตร์ แล้วก็เห็นเพื่อน ๆ เรียนจบแล้วไม่รู้จะทำอะไร เขาก็ไปสอบข้าราชการ ถามมันมันก็บอกว่า มันไม่ได้อยากเป็น แต่มันไม่รู้จะทำอะไร แล้วก็เห็นเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งที่บอกว่า ฉันไม่อยากเป็นข้าราชการแน่นอน ก็ต้องไปเข้าเอกชน ไปเข้า law firm เพื่อนก็บ่นว่า ก็งานหนัก ก็ทำสิ่งที่ทำอยู่ไม่ได้ตอบคุณค่าในชีวิตเขา อันนี้คือ 10 กว่าปีก่อนนะ

แล้วมึงทำทำไมวะ เอ่อ ก็ต้องการเงิน เป็นข้าราชการเพราะต้องการความมั่นคง ไปทำเอกชนเพราะต้องการเงิน กูไม่ต้องการเท่าไหร่ ก็ถามเพื่อนว่ามีทางเลือกไหม เราเลือกทางอื่นได้ไหม ค่านิยม 10 กว่าปีก่อน ทุกคนปฏิเสธ ไม่มีใครมองเห็นทางเลือกอะไรในชีวิตเลย อาจจะมีอยู่ 2 - 3 คนที่เขาไม่ชอบกฎหมายเลย ไม่ชอบนิติศาสตร์จริง ๆ แล้วเขาก็หนี เพื่อไปทำอย่างอื่น ไปค้าขายไปอะไรก็ว่าไป แต่ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเนี่ย ไม่มีใครพยายามตั้งคำถามว่า เราทำอย่างอื่นไม่ได้เหรอ เราเรียนจบมาแล้ว เราเลือกทำสิ่งที่เราอยากทำได้ไหม แล้วพยายามอยู่ให้ได้ ไม่ต้องรวยมาก ได้ไหม ผมตั้งคำถามนี้ตอนผมเรียนใกล้จบ แต่ไม่มีใครตั้งคำถามนี้กับผมเลยนะครับ ก็สลดหดหู่กับสังคมว่า คนเรียนจบปริญญาตรี มันไม่ได้มีทางเลือกในชีวิต มันทำได้แค่ต้องเลือกทางที่มั่นคง และมีเงินมากเท่านั้นเอง 

ทีนี้ด้วยความที่หันกลับไปมองพ่อแม่ปุ๊บ เงินเดือนเดือนแรก 10,000 บาทของเรา เขาก็ไม่เอา คุณไม่ซีเรียสแล้วนี่ว่าเราต้องหาเงินมากขนาดไหน เพราะฉะนั้น ลองดีกว่า ผมก็คิดว่าลองไปทำอะไรที่อยากทำได้ไหม แล้วก็ลองดู มีความเชื่อบ้าบออะไรก็ไม่รู้ตอนนั้น เชื่อมาเองด้วย ไม่มีใครพิสูจน์ให้ว่า ถ้าเราได้ทำสิ่งที่เราชอบ เราจะทำแบบเราอินกับมัน เราจะใส่ตัวเองลงไป เราจะทำอย่างเต็มที่ “ถ้าเราได้ทำสิ่งที่เราชอบ เราจะอยากทำ และเราจะทำได้ดี” คิดเอง แล้วเมื่อเราทำได้ดีแล้ว มันจะต้องมีเงินแหละ ส่วนมันจะมากน้อยไม่รู้ นี่คิดเองนะตอนปี 2551 - 2552 เรียนจบมา แล้วก็ไม่มีใครเห็นด้วยเลย

ก็เลยถามตัวเองว่าชอบอะไร เอ่อ ไม่ได้ชอบการเมืองนะครับ ไม่ชอบรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบกฎหมายมหาชน ไม่ชอบประชาธิปไตย ไม่ชอบเลย แต่ว่าชอบทำกิจกรรม ตอนอยู่มหาวิทยาลัยทำกิจกรรมเยอะ ทำค่าย ทำงานอาสาสมัคร ทำงานสังคม ทำงานสิ่งแวดล้อม อยู่ทุกชุมนุมตั้งแต่ชุมนุมอนุรักษ์ อยู่ตั้งแต่มัธยม อยู่มหาวิทยาลัยก็อยู่ ไปค่ายอาสา ก็ไปค่ายอาสาบ่อย 

เขาชวนไปอยู่ชมรมค่ายอาสาก็เล่นตัว ไม่ยอมไป แต่ว่าไปเป็นคนทำหนังสือ ของชมรมค่ายอาสา ชื่อว่า ‘ไม้ขีดไฟ’ แล้วก็ตั้งกลุ่มเองชื่อว่า ‘กลุ่มเพาะรัก’ เพาะปลูก ทำกิจกรรมอาสา เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม Growing Love ทำแบบนี้ก็รู้สึกสนุกกับการทำงานแบบนี้ ก็คิดแค่ว่าจะทำงานอะไรให้ได้ใช้ชีวิตแบบเดิม ได้ทำกิจกรรมแบบเดิม ไปเรื่อย ๆ เงินไม่ต้องเยอะก็ได้

ไม่เคยมีความคิดจะปฏิวัติและไม่เชื่อด้วยว่าทำได้ หมายถึงไม่เชื่อว่าใครจะทำได้ ไม่ใช่แค่ตัวเอง ไม่ได้คิดจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ไม่เข้าใจและไม่สนใจ สมัยนั้นก็จะมีแต่แบบฝ่ายซ้าย Marxism ก็เห็นเขาทำหนังสือมาแจก ก็อ่านอยู่ ก็ชอบอยู่ ชอบหมายถึงชอบที่เขาคิด แต่ชอบไปทำแบบนี้ไหม ไม่ชอบเลย ไม่อยากทำ ชอบทำงานสังคม ชอบทำงานกับผู้คน ชอบเข้าป่าเข้าดอย ขึ้นเขา สอนหนังสือเด็กชาวเขา ชอบ โรแมนติกสวยงาม อากาศเย็น อาหารอร่อย ผงชูรสทั้งนั้น 

แต่ถ้าโลกมันเปลี่ยนแล้ว (ไม่มีคนจนแล้ว) ไม่ได้ต้องการให้เราทำอะไรแล้ว ก็ดีนะ แต่มันไม่มีวันนั้นหรอก เพราะก็มีอะไรให้เราทำเรื่อย ๆ

เอ็นจีโอกับผลประโยชน์ทับซ้อน

The People : มองอย่างนี้ไหมคะ เอ็นจีโอ มีความผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะว่าเงินและรายได้มาจากสถานะความลำบากยากจนของคนด้วย อธิบายอย่างไร 

ผมคิดว่าองค์กรเอ็นจีโอทุกแห่งควรจะมีขึ้นเพื่อเตรียมยุบไป ไม่มีใครควรจะคิดว่าตัวเองต้องปักหลักทำงานนั้นถาวร ซึ่งมันสวนทางกับประเด็นสิทธิแรงงาน เพราะถ้าคุณมาทำงานแล้วคุณควรจะคิดว่า จะสามารถมีชีวิตอยู่ด้วยงานนี้จนตายได้ใช่ไหม แต่ว่ามันก็สวนทางแหละ เพราะงานภาคสังคมมันต้องมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง แล้วมันควรจะสำเร็จได้ในช่วงชีวิตหนึ่ง

คือย่าไปตั้งเป้าแบบ “เราอยากจะให้ทุกคนเท่าเทียมกัน” เออทำจนตายก็ไม่เกิดหรอก แต่ถ้าเรามีธงเช่น รัฐธรรมนูญประชน มีธงว่าอยากให้มีกฎหมายรัฐสวัสดิการ มีธงอย่างที่ผมเห็นในช่วงชีวิตผม สมรสเท่าเทียม กฎหมายต่อต้านการอุ้มหาย ถ้าใครมีธงแบบนี้คุณทำสัก 10 - 20 ปีมันต้องเห็นอะไร 

แล้วก็ควรจะจากไป หรือ ถ้าปรับตัวไปจับประเด็นใหม่ได้แล้วมันยังสำคัญอยู่ ก็โอเคมีชีวิตอยู่ต่อ แต่ถ้าเป้าหมายบรรลุแล้วก็ต้องตายจากไป 

กรณีถ้าหากว่า ทำงานตลอดชีวิต ตั้งแต่เรียนจบ อายุ 22 ปีจน 60 ปี แม่งไม่บรรลุเลย ก็ควรจะตายจากไปเหมือนกัน ก็คือควรจะพิจารณาตัวเองได้แล้วว่าสิ่งที่ทำอยู่มันไม่ถูก ตายทาง entity คือ องค์กรนั้นก็ไม่ควรมีอยู่ ไม่ใช่คนตายนะ แต่องค์กรควรจะหายไปได้ แต่ในแวดวงนี้มีหลายองค์กรที่เกิดมาแล้วไม่พร้อมตาย คือไม่รู้แล้วว่าจะทำอะไร แต่ว่ายังอยากจะมีชีวิตอยู่ เยอะแยะไปหมด น่ารำคาญ เราไม่ได้ได้จะคุยประเด็นนี้เนอะ (หัวเราะ)

มันเป็น dilemmaในชีวิตมาก ผมเคยเชื่อว่า และก็อาจจะยังเชื่ออยู่ว่า ทำงานนี้ไม่ควรได้เงินเยอะ มันควรได้เงินเพียงแค่กินให้หมดไปวัน ๆ เพื่อให้วันรุ่งขึ้นตื่นมาแล้ว carry on สานต่อสิ่งที่ทำไว้เมื่อวานได้ แล้วก็ถึงวันหนึ่งพอมันสำเร็จก็เลิก ก็แยกย้ายไปทำอย่างอื่น เคยมีความเชื่อแบบนี้ เงินไม่เยอะนี่คือเดือนละ 7,000 บาทเลยนะ ผมเริ่ม 7,000 บาท ผมคิดว่าแฟร์ ไม่มีปัญหา มันลำบาก แต่ผมคิดว่า การทำงานนี้ไม่ควรได้เงินเยอะกว่านั้น 

ทีนี้ตอนหลังสัก 6 - 7 ปีที่ผ่านมา ก็ถูกท้าทายด้วยค่านิยมของคนรุ่นใหม่ เรื่องสิทธิแรงงาน เรื่องว่าคนต้องกินดีอยู่ดี ต้องไม่ขูดรีดตัวเอง ทำงานก็ควรได้รับค่าตอบแทนตามสมควร ก็ยังเป็นคุณค่าที่ crash กันอยู่ เพราะฉะนั้นในฐานะที่มีอำนาจบริหารใน iLaw แล้ว ก็ต้องเรียนว่า iLaw ก็จะได้เงินไม่มาก แต่ไม่น้อย ก็ยอมรับ absorb ดูดซึม ค่านิยมแบบใหม่เข้ามาบ้างว่า โอเคต้องไม่ลำบากนะ ถ้าเลิกงานอยากไปกินบุฟเฟต์ อยากไปกินเบียร์ก็ต้องไปได้ ถ้าทำงานสัก 1 - 2 ปี จะเก็บเงินไปเที่ยวญี่ปุ่นก็ต้องได้ แต่ว่า ถ้าคุณจะรวยจากงานนี้ คุณจะใช้หนี้หลายล้านให้ที่บ้าน คุณจะซื้อรถหรู ทำขนาดนั้นไม่ได้ ผมก็จะกดไว้ ซึ่งพอกดไว้ก็โดนน้องรุ่นใหม่ด่าอีกว่าขูดรีด แต่ถ้าให้เยอะ ผมก็ว่าก็ไม่ควร 

บทบาทรณรงค์ #สว67 

ผมกระโดดจับสถานการณ์เท่าที่ผมอ่านออกแล้วผมคิดว่ามันควรทำ และถ้าไม่ทำจะรู้สึกผิดกับตัวเอง เป็นการทำหน้าที่ต่อตัวเอง ทุกวันนี้เรามองเห็นแล้วว่าการเลือก สว. จะมา เรามองเห็นแล้วว่า กติกาแม่งยาก แล้วคนก็จะมีส่วนร่วมไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจ แล้วถ้าเราไม่พยายามศึกษาแล้วมาเล่าต่อ ประโยคประจำตัวของผมที่น้อง ๆ มันล้อก็คือว่า ถ้าเราไม่ทำแล้วเราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม คือมองเห็นทุกอย่างแล้ว มองเห็นหมดเลย เข้าใจแล้ว ทรัพยากรก็มี หมายความว่า เราสามารถหาเงินเดือนให้ตัวเองและให้น้อง ๆ ได้ องค์ความรู้ ประสบการณ์มี โซเชียลมีเดียมี มีเฟซบุ๊ก มีทวิตเตอร์ มีคนติดตาม 

แล้วถ้านอนอยู่เฉย ๆ เพราะรู้สึกว่า แม่งเหนื่อย เรื่องแม่งใหญ่ไป แม่งยาก เราจะตอบตัวเองได้อย่างไร เราจะตื่นมาตอนเช้าแล้วเห็นคนอื่นเขาพูดเรื่อง สว. กันผิด ๆ หลงทาง แล้วเราก็ขี้เกียจไปหาคำตอบมาอธิบาย แล้วเราจะเอาหน้าไปสู้ตัวเองได้อย่างไร อันนี้คือคุณค่าในปัจจุบันนะครับ แล้วคุณค่านี้แม่งไหลชีวิตผมมาหลายปีแล้ว

ธงสำคัญงานรณรงค์

จริง ๆ แล้วธงมี 2 ธง คือ ยกเลิกการดำเนินคดีการเมืองทั้งหมด กับ มีรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน ธงเป็นแบบนี้ ส่วน สว. เป็นแค่ทางแวะ การเดินหน้าไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ มี 5 คูหาที่ต้องเข้า คือ ประชามติ 3 ครั้ง เลือกตั้ง สสร. และ เลือกสว. มาทำหน้าที่ในการเดินหน้ารัฐธรรมนูญประชาชน ดังนั้นเรื่อง สว. เป็น 1 ใน 5 คูหา 

ธงมี 2 ธงนี้ แล้วระหว่างทางคืออ่านสถานการณ์แล้วเดินไปตามเรื่องตามราว การเลือกตั้ง 2566 ก็เป็นแค่ 1 ในบันไดสู่สิ่งนี้นะ ผมไม่ได้อินและไม่สนใจว่าใครจะเป็นนายกฯ จะเป็นพิธา หรือเศรษฐา หรือประยุทธ์ แต่ผมสนใจว่า ธงเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นประยุทธ์น่ะ ไปไม่ได้ ไม่มีทาง เขาขวางแน่นอน ถ้าเป็นเศรษฐา ก็เป็นไปได้บางส่วน ใช่ไหมครับ ถ้าเป็นพิธา จะได้ทั้งหมดไหม ก็ไม่รู้ 

การเลือกตั้งผมไม่ได้อินในฐานะใครจะเป็นนายกฯ แต่อินในฐานะว่า 2 ธงนี้จะไปอย่างไร

รณรงค์ #สว67 ในวัยที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์สมัคร สว.

จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่ทำให้ผมสบายใจมาก แล้วก็ทำให้ทำงานได้สะดวกมาก คนที่อายุมากที่สุดใน iLaw อายุ 39 ปี แล้วก็ที่เหลือไล่ลงมา ผมอายุ 38 ปี ไม่มีใครสมัคร สว. ได้เลย เราทำกิจกรรมรณรงค์ให้คนไปสมัครสว. ให้มาก ๆ สมัครเข้าไปก่อน สมัครอำเภอไหน อาชีพอะไรจะไปทำอะไรเดี๋ยวค่อยไปว่ากัน สมัครเข้าไปก่อน ถ้าเราพูดอย่างนี้ทุกครั้งแล้วเราไม่สมัคร เราก็คงต้องดูถูกตัวเอง คนก็จะตั้งคำถามได้ว่า มึงมาบอกให้กูสมัคร แล้วทำไมมึงไม่สมัครวะ 

แต่ถ้าเราสมัคร เราก็จะโดนกล่าวหาได้ง่ายมากว่า เรากำลังระดมคน ไปเลือกตัวเอง หรือเราอยากจะเข้าสู่อำนาจ อยากจะเป็น สว. อยากจะมีเงินเดือนแสน จึงมาทำเรื่องนี้ ทีนี้คุณสมบัติอื่นมันแก้ได้ ถือหุ้นสื่อมันขายได้ เป็นสมาชิกพรรคก็ลาออกได้ แต่อายุนี่แหละแก้ไม่ได้ คือต่อให้เราพยายามอย่างดีที่สุดอย่างไร เราก็แก่ไม่พอที่จะสมัคร 

ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่สบายใจ โอเคอายุไม่ถึง อย่างไรผมเข้าสนามนี้ไม่ได้แน่นอน ดังนั้นใครจะมาครหาว่า ผมรณรงค์เรื่องนี้เพราะตัวเองอยากเป็น สว. เป็นไปไม่ได้
แล้วเวลา ผู้สมัครสว.ถูกตั้งคำถามว่า อันนี้พูดได้ไหม พูดได้แค่ไหน หลังมีพระราชกฤษฎีกาแล้วให้สัมภาษณ์สื่อไม่ได้เลย ไม่เป็นไรผมพูดได้ พูดได้เต็มที่ ผมสมัครไม่ได้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น การที่อายุไม่ถึง เป็นข้อดี ทำให้ทำแคมเปญสะดวก ขณะเดียวกันก็กลายเป็นว่า กลุ่มเป้าหมายที่เราคุยด้วย แก่กว่าเราหมดเลย คือ ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา กลุ่มเป้าหมายจะเป็นน้อง ๆ ทำงานกับคนรุ่นใหม่ เขาก็เรียกพี่ พี่เป๋า ๆ 
รอบนี้คนอื่นแก่กว่าเราหมดเลยเว้ย ไปทุกงานต้องไหว้ ๆ นำไปก่อน เดินเข้าไปใครไม่รู้เราไหว้ ๆ ไปก่อน เวลาคนโทรมาเรื่องสมัครสว. ผมตอบ “ครับพี่ครับ” กลายเป็นเราซึ่งทำงานให้ความรู้ เราต้องนอบน้อม 

จริง ๆ หลาย ๆ คนรู้ดีกว่าเรา แต่บางคน เราก็มั่นใจว่า เรารู้ดีกว่า แต่เขาอายุเยอะกว่า เราก็ต้อง ครับ ๆๆ ก็เป็นการฝึกทำงานแบบหนึ่ง เป็นการเรียนรู้ครับ การทำงานกับพี่ ๆ ทุกคนก็จะผ่านอะไรมาเยอะกว่าเรา ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว เขาผ่านอะไรมาเยอะกว่าเรา เขาก็จะเล่าเยอะ (หัวเราะ) สั่งสอนเยอะ

ถ้าทำงานกับเด็ก ๆ อายุ 20 เขาจะฟังเยอะ เพราะเขาอยากรู้ว่า ต้องทำอะไร  แต่พอทำงานกับคนอายุ 60 เราต้องฟังเยอะ กว่าเราจะได้พูดคำหนึ่งว่า “พี่ครับมาลงทะเบียนที่นี่นะครับ” โห เราต้องฟังเรื่อง 14 ตุลา พี่เขาต่อสู้มาอย่างไร

ร่วมสมัยนักกฎหมายคนดัง ‘มีชัย – วิษณุ’

The People : ได้ยิน 2 ชื่อนี้แล้ว คิดอย่างไร ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ กับ ‘วิษณุ เครืองาม’ 

เก่ง ทั้งคู่เก่งมาก คนละแบบ เท่าที่เราอ่านงานเขา งานเขาก็คือ กฎหมายนั่นแหละ ไม่เคยอ่านตำราเขาหรอก ผมไม่เคยเรียนกับคนพวกนี้เลย คุณวิษณุเนี่ย หน้าที่เขาคือแก้ปัญหา คือรัฐบาลสร้างปัญหา แล้วในทางกฎหมายจะอธิบายอย่างไรให้ไม่ผิด เอาตัวบทเท่าที่มีอยู่ เอาความรู้เท่าที่ทุกคนมี เราเรียนมาเท่ากัน เขาจะตอบให้ได้ว่า ทำแบบนี้รัฐบาลไม่ผิด เพราะมันมีมาตรานั้นด้วยเว้ย ซึ่งแบบบางครั้งแม่งเซอร์ไพรส์จริง ๆ เว้ย 

คือตอนเราอ่านกฎหมายด้วยสมองของเรา ด้วยสายตา เราก็คิดว่าแค่นี้แหละ มึงผิดแน่นอน ประยุทธ์มึงเสร็จแน่นอน พอวิษณุอธิบายแล้วแบบ เราไม่ได้เห็นด้วยนะ ยังเห็นว่าผิดอยู่ แต่ว่า เฮ้ย มันพอไปได้ ฟังแล้วมันพอไปได้เฉยเลย

กฎหมายเป็นเรื่องเทา ๆ อยู่แล้ว หลักการที่เขาสอนกันก็คือว่า ไม่มีการเขียนกฎหมายที่จะเขียนเพื่อแก้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลก เพราะคิดไม่ออกหรอกว่าโลกจะมีปัญหาอะไรบ้าง ต้องเขียนอะไรไว้ก้อนหนึ่ง แล้วที่เหลือต้องไปตีความเอา นี่หลักเรียนปี 1 ซึ่งคุณวิษณุแม่งทำได้ ทำได้ไงไม่รู้ 

คุณวิษณุ อยู่ติดตัวนายกฯ และแก้ปัญหาอะไรที่นายกฯ ทำพังไว้ 

ส่วนคุณมีชัยเนี่ย เป็นนักจินตนาการ เขามี imagination เช่น ระบบเลือก สว. คุณมีชัย ได้รับมอบหมายงาน แล้วไปออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็หลายอย่างเป็นดีไซน์ของแก คือโจทย์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มันง่ายมาก ก็คือว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ แล้วทำอย่างไรก็ได้ให้ฝ่ายที่เกลียดเขาไม่ขึ้นมามีอำนาจ และน่าเกลียดไม่มาก คือมันไม่น่าเกลียดไม่ได้ แต่น่าเกลียดน้อยสุด คุณมีชัยก็ออกแบบระบบเอง เช่น สว.แต่งตั้ง ซึ่งไม่ถึงกับแต่งตั้งโดยตรง แต่มีกระบวนการตามมาตรา 269 ยาวหลายข้อ ได้ สว. แบบนี้ ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดูเหมือนว่า ไม่ได้แต่งตั้งโดยตรง มีกรรมการ มีการพิจารณา มีสว.มาอนุมัติ 

เนี่ยซับซ้อนฉิบหายเลย แต่ว่าก็คือ คนของตัวเองอยู่ในอำนาจทั้งหมดเพื่อปกป้องประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯ ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มันต้องใช้อะไรในการทำสิ่งนี้ได้

ผมเข้าใจว่าไม่มีโรงเรียนกฎหมายที่ไหนเขาสอน โรงเรียนกฎหมายไทยไม่สอนแน่ ๆ ไม่มีใครสอนได้ ผมไม่รู้ว่าต่างประเทศเขาสอนได้ไหม แต่คิดว่าไม่ได้ 

นักกฎหมายส่วนใหญ่ไม่มีจินตนาการ คือเวลาเรียน จะเรียนตัวบท จะเรียน case study รู้ว่าอดีตที่ผ่านมา ความขัดแย้งแบบนี้ ตัดสินอย่างไร เพื่อเอาไปรับใช้ลูกความ ว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้น กฎหมายเป็นแบบนี้และผลจะเป็นแบบนี้ นี่คือนักกฎหมายเรียนกันแบบนี้

แต่คุณมีชัยเป็นนักกฎหมาย ที่คิดออกว่า เพื่อที่จะให้ได้ผลอย่างนี้ ฉันจะเขียนกฎหมายอย่างไร แล้วก็ดีไซน์ละเอียดชิบหายเลย นี่ชม (หัวเราะ) 

The People : ถ้าให้วิจารณ์ว่าจะเป็นปัญหากับปัจจุบันและอนาคตอย่างไร 

เราไม่เห็นด้วยกับเขา สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับเขาก็จะเกลียดเขา แต่เวลาเกลียดก็คือกลัว คือแบบเขาทำได้ไงวะ กลายเป็นเราชมเยอะ ก็ด่ากันมาเยอะแล้ว “เนติบริกร รับใช้ได้ ต้องการเป้าหมายอย่างนี้ ในทางกฎหมายจะต้องทำอย่างไร” ซึ่งไม่ใช่ทุกคนทำได้ ไม่ใช่ทุกคนที่เรียนกฎหมายมาทำสิ่งนี้ได้ 

ทีนี้พอมีพวกเขาอยู่ พอมีระบอบแบบนี้อยู่ ก็เลยทำให้ทุกอย่างที่ผิดกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย คือมันผิดแหละ ผิด common sense สามัญสำนึกคิดได้ว่า ไม่ควรจะเป็นแบบนี้ แต่มันถูกกฎหมายนะ มันมีคำอธิบายด้วยนะ แล้วพอขึ้นศาล เขาชนะด้วยนะ มันก็เลยกลายเป็น เอาสิ่งที่ไม่ควรจะเป็น ไว้ในกฎหมายซะ ให้มันแนบเนียน แล้วคนก็ไม่เข้าใจนะครับ

รุ่นต่อไปของนักกฎหมายสายนี้

ผมคิดว่าคนพวกนี้จะมีเรื่อย ๆ แต่มันเก่งหรือเปล่า คือ ทั้งคุณวิษณุและคุณมีชัย ก็แก่มากแล้ว โดยวิทยาศาสตร์แล้วสุขภาพเขาก็ต้องมีข้อจำกัด เขาก็อาจจะกินซุปไก่สกัด แต่ก็คงเหนื่อยลง และไม่ได้คิดออกค้นคว้าทุกอย่างได้ตลอดเวลา วันหนึ่งเขาต้องไป ซึ่งตอนแรกคิดว่าไปแล้วนะ ก็คิดว่าด้วยอายุก็คงหมดแล้ว 

แต่ว่า งานนี้ต้องการคนเสมอ งานที่จะเป็นมือกฎหมายทำให้รัฐบาลถูกเสมอ แม้ว่าจะทำสิ่งที่ไม่สมควรทำก็ตาม มันต้องการคนเสมอ 

ทีนี้ถ้ามีคนที่ไม่เก่ง มันก็ไม่เนียน รัฐบาลก็อาจจะไม่รอด แล้วคนนั้นก็อาจจะไม่ดัง คือโอเครัฐบาลก็อาจจะมีคำอธิบายอะไรบางอย่าง ฟังแล้ว ทุเรศฉิบหาย แล้วก็ไม่รู้ว่าใครเป็นมือกฎหมายของมึง เพราะพูดไม่รู้เรื่องเลย แต่ว่ามันจะมีมาเสมอ 

ทีนี้ถ้าวันหนึ่งมีคนที่เก่งพอ แล้วหาทางออกได้ตลอดเลย พอเขาเก่งสักพักหนึ่งเขาได้รับการยอมรับ เขาก็จะเป็นคนออกมาพูดแทน รัฐบาลก็คงขอว่า เอ้า คุณไปอธิบายให้หน่อย พอเขาออกมาพูดแทนสักพัก สังคมก็จะรู้จักแล้วว่า มึงนี่เองที่เป็นเนติบริกร มันจะมีอยู่แล้ว

นักกฎหมาย สมัย 2475 ‘ปรีดี พนมยงค์’

The People : เมื่อได้ยินชื่อ ‘ปรีดี พนมยงค์’ นึกถึงอะไร รู้สึกอย่างไร 

เอาจริง ๆ ลืมไปแล้วว่าต้องคิดถึงอาจารย์ปรีดี ในฐานะนักกฎหมาย เพราะนึกถึงว่าเป็นคณะราษฎร ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้อยู่ประเทศไทยไม่ได้ไปเสียชีวิตต่างประเทศ จำภาพนี้มากกว่า ไม่เคยอ่านตำราอาจารย์ปรีดีเลย ในทางกฎหมาย รู้ว่าเขียนรัฐธรรมนูญฉบับแรก เคยอ่าน แต่ว่ารู้แค่นั้นครับ

วันที่เข้าธรรมศาสตร์ เขาจะใช้วันที่ 11 พฤษภาคม วันปรีดีพนมยงค์ เป็นวันแรกพบ ก็เลยทำให้รู้จัก ก่อนหน้านั้นไม่รู้จักปรีดี พนมยงค์ คือใคร ไปธรรมศาสตร์วันนั้น ก็รู้จักวันนั้น แล้วก็มีการแจกหนังสือรับเพื่อนใหม่ ในนั้นเปิดไปก็จะมีปรีดี พนมยงค์ มีป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีสัญญา ธรรมศักดิ์ รู้จักตอนนั้น เอาหนังสือกลับบ้าน แล้วก็จำได้ไปนั่งเหงา ๆ ในห้อง LT1 ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไม่มีเพื่อน แล้วก็ห้องชื่อจิ๊ด เศรษฐบุตร ตอนนั้นก็ไม่รู้จัก ใครก็ไม่รู้ เปิดอ่านปรีดี พนมยงค์จบเลย แล้วก็วันไปรับน้องที่ธรรมศาสตร์ รังสิต นี่ที่ธรรมศาสตร์เรียกว่าวันรับเพื่อนใหม่ ก็ไปอยู่หน้ารูปปั้น อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อาจารย์ปรีดี 

พอขึ้นปี 2,3,4 สามปี ผมทำหนังสือรับเพื่อนใหม่ ที่ผมอ่านตอนเข้าปี 1 ไม่รู้ทำไมคนมาชวนไปทำ แต่เราอ่านเพราะได้รับแจกแล้วเหงา ๆ ก็อ่าน พอขึ้นปี 2 ภูริ ฟูวงศ์เจริญ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มาชวนทำ, ปี 3 พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ มาชวนทำ, ปี 4 นพพล อาชามาส ที่ศูนย์ทนายฯ มาชวนทำ ผมทำหนังสือรับเพื่อนใหม่ 3 ปีที่ผมเรียน ผมเขียนปรีดี ป๋วย สัญญา ผมมีส่วนร่วมในการเขียน ไม่ได้รู้ลึก แต่น้อง ๆ รุ่นที่ทัน ๆ ผม ผมเขียนเองนะหนังสือรับเพื่อนใหม่

นักกฎหมายกับการทำผิดกฎหมาย

ในชีวิตประจำวันคนเรา มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเราเยอะมาก แล้วจริง ๆ คนเราทำผิดอยู่ตลอดเวลา เพราะว่ากฎหมายประมาณสัก 70 - 80% เป็นกฎหมายที่เรียกว่ากฎหมายเทคนิค คือกฎหมายที่ออกมาเพราะว่าคนมีอำนาจต้องการสร้างระบบอะไรบางอย่าง แต่สิ่งนั้นไม่ได้สัมพันธ์กับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในใจคน เป็นระบบบังคับบัญชา ระบบของรัฐที่ทำออกมา 

ดังนั้น เราฝ่าฝืนมันตลอดเวลา เช่น พ.ร.บ. ควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียง ห้ามใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ใช้กันเต็มเลย แล้ว พ.ร.บ.นี้ มีมาตราหนึ่งที่เขียนว่า การใช้เครื่องขยายเสียง ต้องใช้เป็นภาษาไทยเท่านั้น ขณะที่ไหนเขาก็พูดภาษาอังกฤษ “please mind the gap between train and platform” คือสังคม กับ กฎหมายมันไม่ได้สอดคล้องกัน แล้วความรู้สึกนึกคิดในใจคนกับกฎหมายมันไม่ได้สอดคล้องกัน แล้วก็ผมมีอะไรหลายอย่างเลย กฎหมายคนเข้าเมือง บอกว่า ถ้าใครเอาชาวต่างชาติมาพัก ต้องแจ้งรัฐ ใครจะไปแจ้ง ถ้ามีเพื่อนต่างชาติมานอนบ้านเรา ต้องไปแจ้งรัฐด้วยเหรอ บ้าป่าววะ อะไรแบบนี้ไม่มีใครทำหรอก 

เรื่องพวกนี้มีเยอะแยะ ยุบยับไปหมด แล้วเราก็ละเมิดกฎหมายตลอดเวลา พอเราทำงานเราก็ไปอ่านคานธี Civil Disobedience เยอะ เราก็อธิบายได้ อธิบายในใจ ว่า เราไม่เห็นด้วย นึกในใจว่า จะปรับก็ปรับมาเลย แต่จ่ายนะ สมมติ เขาจะปรับเรา ฐานเอาเพื่อนฝรั่งมานอนบ้านแล้วไม่แจ้ง ก็จ่าย 

ถ้าเขาจะปรับเราฐานพูดภาษาอังกฤษใส่ไมโครโฟน ก็จ่าย นี่หลัก Civil Disobedience คืออะไรที่เราเห็นว่ากฎหมายไม่ถูกต้องเราจะไม่ทำตาม แต่เราต้องยอมรับโทษ ก็พร้อม

เพราะฉะนั้น ฝ่าฝืนกฎหมายอยู่ตลอดเวลา ส่วนกฎหมายอาญายังไม่พร้อมติดคุก อะไรที่จะทำให้เราติดคุกยังไม่ทำ เพราะเรายังไม่พร้อมรับผลอันนั้น แม้ว่า มันจะเป็นกฎหมายที่เราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ขอเพดานต่ำไว้ก่อน

เบื้องหลังวันใส่สูทผูกไทเข้ารัฐสภา ในอนาคตจะได้เห็นเป๋าเป็น สส.หรือ สว. ไหม 

เป็นไปได้ยากมากที่จะเป็นสส.หรือ สว. ผมไม่สนใจจริง ๆ อันดับแรกก็คือว่า ผมไม่ชอบงานใส่สูทแล้วประชุม อันนี้เป็นจริต คือผมโตมาแบบ ผมชอบเข้าป่า ผมชอบขึ้นดอย ผมชอบไปก่อไฟกางเต็นท์ ผมไม่ชอบใส่สูท มันอึดอัด

แต่วันนั้นใส่สูทเข้าสภา ก็มันจำเป็น คือวันงานจริงใส่สูท แต่มันจะมีวันซ้อมก่อน มันจะมีวันที่เขาเรียกไปนัดแนะ เพราะเราเป็นประชาชน เราไม่รู้ระเบียบข้อบังคับ เขาเรียกไปนัดแนะ เจ้าหน้าที่ก็จะมาบรีฟ ไม่นานหรอก 15 นาที แล้วคุณชวน หลีกภัย ก็มา ตอนนั้นคุณชวนเป็นประธานสภา 

คุณชวนก็เดินมา ก็บรีฟว่าจะเกิดอะไรขึ้น กระบวนการเป็นอย่างนี้ วันนั้น อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ ไปด้วย ใส่สูท ไม่ผูกไท ใส่เสื้อเชิร์ต ใส่สูทไปฟังบรีฟ ผมใส่เสื้อเชิร์ตเฉย ๆ ไม่ใส่สูท คุณชวนพูดกับผม 3 ครั้ง คุณยิ่งชีพแต่งตัวให้เรียบร้อยนะครับ, คุณยิ่งชีพแต่งตัวให้เรียบร้อยนะครับ ผมไม่อยากให้มีปัญหา, คุณยิ่งชีพแต่งตัวให้เรียบร้อยนะครับ

เอ้อ ได้ยินแล้ว จริง ๆ ตอนนั้นก็คิดในใจอยู่ว่า ยืดหยุ่นหน่อยได้ไหม ไม่ผูกไทได้ไหม หรือแบบโหด ๆ เลย ใส่เสื้อยืดแคมเปญแล้วใส่สูทได้ไหม คิดในใจนะ ยังไม่กล้าถาม ว่าจะถามอยู่ 

แต่คุณชวนย้ำ 3 รอบ ผมใส่สูทผูกไทก็ได้ แล้วผูกไม่เป็นนะเชื่อไหม ไทผมมันผูกไว้แล้วเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แล้วมันไม่เคยแกะเลย ถึงเวลาก็เอามาดึง ๆ ผมไม่ชอบการใส่สูทผูกไท แล้วไปนั่งประชุม เท่าที่เคยฟังประชุมสภาเราก็รู้มันน่าเบื่อขนาดไหน 

วันนั้นไปเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนเข้าชื่อกันมาหนึ่งแสนชื่อ แล้วเสนอเสร็จเขาก็ไม่รับ 

คนจำผมภาพนั้นเยอะ จริง ๆ ไทเส้นนั้นก็ไม่ได้ใช้อีกแล้ว (หัวเราะ)