22 ต.ค. 2567 | 19:17 น.
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อรองรับทั้งทางด้านธุรกิจควบคู่ไปกับด้านสังคม บ้านปูไม่เพียงแต่ต้องการปลดล็อกศักยภาพและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดของพนักงานกว่า 6,000 คนใน 9 ประเทศทั่วโลก ให้สามารถส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนให้กับโลกนี้เท่านั้น แต่ยังเห็นความสำคัญของการส่งเสริมศักยภาพคนในสังคมให้เก่งขึ้นในด้านต่างๆ ผ่านกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) หลากหลายโครงการที่ดำเนินการมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
และในปีนี้ บ้านปูยังยกระดับการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมสู่การเป็น Purpose-Driven CSR ที่เชื่อมระหว่างสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญกับคุณค่าที่จะเกิดต่อสังคมภายใต้แนวคิด “Embracing Potential, Energizing People - เสริมศักยภาพ สร้างพลังแห่งอนาคต” โดย CSR ของบ้านปูมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพคนครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) สนับสนุนพลังความรู้ (Intellectual Enhancement) 2) ส่งเสริมคุณภาพชีวิต (Wealth & Wellbeing) 3) สร้างสรรค์โลกให้น่าอยู่ (Earth Betterment) และ 4) ส่งต่อพลังงานที่ยั่งยืน (Energy Sustainability) โดยบ้านปูมุ่งส่งเสริมศักยภาพคนให้เก่งขึ้นในด้านต่างๆ เพื่อต่อยอดศักยภาพสู่การสร้างสรรค์ประโยชน์ ทั้งต่อตนเอง ชุมชน และสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสในการดำเนินชีวิต
บ้านปูเชื่อว่าการพัฒนาคนจะยั่งยืน ก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นลุกขึ้นมาส่งต่อศักยภาพที่มีเพื่อช่วยสร้าง แรงกระเพื่อม สร้างพลังขับเคลื่อนต่อไปไม่รู้จบ และบทความนี้อยากนำเสนอ 4 เรื่องราว และ 4 มิติแห่งการสร้างสรรค์พลังแห่งการส่งต่อ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก ค้นพบศักยภาพในตัวเองผ่านการพัฒนาสู่ตัวตนที่เราวาดหวังไว้ ภายใต้แนวคิด “เสริมศักยภาพ สร้างพลังแห่งอนาคต” (Embracing Potential, Energizing People)
เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา บ้านปูได้ร่วมกับ Vin Buddy จัดนิทรรศการ “Portrait of Passion” เพื่อนำเสนอภาพถ่ายของ “บุคคล” ที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพผ่านกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของบ้านปู สู่การส่งต่อแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อคนรอบข้าง ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ณ RCB Galleria 3 ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
ภาพทุกภาพล้วนถ่ายทอดเรื่องราว ความเชื่อ และแพสชันเฉพาะบุคคล เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าศักยภาพคนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ในหลายมิติ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ตัวอย่างภาพถ่ายที่หยิบยกมานำเสนอผ่านบทความนี้ จะช่วยจุดประกายให้คุณลุกขึ้นมาช่วยทำให้สังคมนี้ยังมีความหวังและความฝันให้ได้ไขว่คว้าด้วยแรงแห่งการพัฒนาเพื่อตัวเอง
การเข้าถึงความรู้กุญแจแห่งความสำเร็จ (สนับสนุนความรู้)
กว่าที่ ชลสิทธิ์ บุญสิริวัชรกุล (เจฟฟี่) จะบรรลุเป้าหมายในการเป็นตัวแทนนักกีฬาเทเบิลเทนนิสเยาวชนทีมชาติไทย ปี 2566 ในวัย 17 ปี ได้สำเร็จ เขาในวัย 10 ขวบมีคุณพ่อ โค้ชเก่ง - นพรัตน์ บุญสิริวัชรกุล ผู้ฝึกสอนและนักกีฬา ศูนย์ฝึกอุบลราชธานี เป็นต้นแบบและคอยผลักดันให้มุ่งมั่นฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ
โค้ชเก่งได้รับโอกาสพัฒนาตัวเองด้วยการเป็นนักกีฬาในสโมสรฯ รุ่น 1 ตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปูก่อตั้งขึ้นในปี 2551 ระเบียบวินัยและทักษะที่เขาได้รับมานั้นถ่ายทอดให้กับนักกีฬาภายใต้การดูแลของเขา รวมไปถึงลูกชายของตัวเอง ที่มีความสนใจในกีฬาชนิดนี้เช่นกัน
แต่การเป็นลูกชายโค้ชของสโมสรฯ ก็ไม่ได้ทำให้เส้นทางการเป็นนักกีฬาของ ชลสิทธิ์ ง่ายกว่าคนอื่น กลับต้องรักษามาตรฐานและฝึกซ้อมอย่างหนักเหมือนเพื่อนๆ เช่นเดียวกัน ถึงแม้เด็กๆ จะอยู่ในสโมสรเดียวกัน แต่พวกเขาไม่ได้มองกันเป็นคู่แข่ง กลับสอนบทเรียนให้ ชลสิทธิ์ รู้จักกับ ‘มิตรภาพ’ และ ‘น้ำใจนักกีฬา’ ซึ่งช่วยพัฒนาฝีมือให้กันและกัน
ทักษะและความรู้ที่ ชลสิทธิ์ ได้รับภายในสโมสรฯ ทำให้เขาค้นพบศักยภาพของตัวเอง โดยมีเป้าหมายในการเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิสเยาวชนทีมชาติ ด้วยการยึดมั่นว่า “ต้องเป็นทั้งคนเก่งและคนดี” จึงทำให้เขาส่งมอบโอกาสที่ได้รับนี้ให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลผ่านกิจกรรม ‘ค่ายสโมสรเทเบิลเทนนิสบ้านปูสร้างแรงบันดาลใจ และพัฒนาเยาวชนไทย’
เราเชื่อว่าการถ่ายทอดความรู้และทักษะกีฬาปิงปองของ ชลสิทธิ์ จะทำให้น้องๆ ในค่ายได้เกิดแรงบันดาลใจและตั้งเป้าหมายของตัวเองในอนาคตต่อไปเช่นเดียวกับที่เขาเคยได้รับเช่นกัน
ผู้สูงวัยแฮปปี้ลูกหลานก็ใจฟู (ส่งเสริมคุณภาพชีวิต)
“ยัง Happy”
จาก Pain Point ของตัวเองที่ไม่ค่อยมีเวลาให้คุณพ่อคุณแม่ ชาคิต พรหมยศ (แก๊ป) ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม ผู้เข้าร่วมโครงการ Banpu Champions for Change รุ่นที่ 9 จึงได้ปลุกปั้น “YoungHappy” คอมมูนิตี้ของผู้สูงวัย ขึ้นมาเพื่อหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบันของไทย ที่ต้องรับมือกับสุขภาพร่างกายและจิตใจที่อาจไม่คล่องตัวเช่นแต่ก่อน
เป้าหมายที่ ชาคิต วางไว้ให้กับ คอมมูนิตี้ของผู้สูงวัยของเขาก็เพื่อต้องการให้เป็นพื้นที่ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในวัยเดียวกัน Upskill ด้านเทคโนโลยีและช่องทางการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ช่วยสร้างช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างกันและกัน รวมไปถึงสร้างคุณค่าและความหมายใหม่ให้กับชีวิตหลังเกษียณ ด้วยหลักสูตรพัฒนาทักษะและจุดนัดพบที่ช่วยสร้างมิตรภาพที่จะเป็นพลังใจให้แก่กัน เพื่อให้ผู้สูงอายุ “ยัง Happy” ต่อไป
เมื่อไอเดียพัฒนาคอมมูนิตี้สำหรับผู้สูงวัยริเริ่มขึ้น ชาคิตได้เข้าร่วมโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change: BC4C) เพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นนักธุรกิจที่มองขาดทั้งด้านการสร้างรายได้ และสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม เพื่อเรียนรู้แนวทางการดำเนินธุรกิจภาพรวมให้ตรงกับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) ในประเทศไทย และมีตัวชี้วัดที่เหมาะสม เพื่อให้ YoungHappy เป็นคอมมูนิตี้ที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อย่างตรงจุด ตอบโจทย์การใช้งานของผู้สูงวัยมากที่สุด
“YoungHappy” จึงเป็นมากกว่าคอมมูนิตี้รวมตัวกัน แต่คือพื้นที่ที่เข้าใจและสร้างความสุขให้กับผู้สูงวัย ได้กลับมามีชีวิตชีวา รวมถึงคลายเหงาให้แก่กัน โดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน แค่คนวัยเดียวกันก็มันส์และยังเก๋าเสมอ
ตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยการลงมือทำ (สร้างสรรค์โลกให้น่าอยู่)
“Trash Santa”
เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ขยะ’ เราอาจคิดถึงกลิ่นไม่น่าอภิรมย์ และกองของเหลือทิ้งที่ไม่น่ามอง แต่สำหรับ วุฒิภัทร จันทมาศ (มาเฟีย) เยาวชน Power Green Camp รุ่นที่ 18 กลับมองเห็นมูลค่าจาก ‘ขยะ’ ของคนอื่น
ความช่างสังเกตของเขาที่พบเห็นขยะจำนวนมากหลังงานเลี้ยงภายในชุมชนที่คนปกติทั่วไปมองผ่านไปโดยไม่เอะใจ กลับสะกิดให้เขาเกิดไอเดียที่จะสร้างมูลค่าให้กับของที่คนอื่นทิ้งไว้ ให้กลายเป็นเงิน ซึ่งไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่เพื่อเด็กๆ ในชุมชนได้มีขนมและของเล่นไว้แบ่งปันกัน ช่วยสร้างความสุขและรอยยิ้มให้เด็กๆ เป็นผู้ส่งมอบความสุขจากขยะ เป็น “Trash Santa” ของน้องๆ ในพื้นที่
แพสชันด้านสิ่งแวดล้อมที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ วุฒิภัทร ไม่หยุดแค่การคัดแยกขยะออกขายเท่านั้น เขามองเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้นและนำเสนอไอเดียเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชน ทำให้ได้กลายเป็นตัวแทนชุมชนได้ไปร่วมกิจกรรมต่างๆ
จนเมื่อได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของค่าย ‘เพาเวอร์กรีน’ ครั้งที่ 18 ค่ายวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมของบ้านปู ทำให้ วุฒิภัทร ได้เห็นเส้นทาง ‘ขยะ’ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง รวมถึงเรียนรู้ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาจัดการปัญหานี้ จนได้กลับไปพัฒนาชุมชนด้วยองค์ความรู้ใหม่ๆ ถ่ายทอดต่อไปให้คนในชุมชนช่วยกันปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม
ด้วยอุดมการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอันแรงกล้านี้ ทำให้เขาตัดสินใจเลือกศึกษาต่อในคณะเกษตร สาขาเคมีการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเป็นการต่อยอดสร้างสรรค์โลกให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน
เขากลับเข้าร่วมในค่ายกับบ้านปูอีกครั้ง ในครั้งนี้เปลี่ยนบทบาทผันตัวมาเป็นพี่เลี้ยงค่ายเยาวชนที่ได้จุดประกายให้เขามุ่งมั่นจริงจังในด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมนี้เพื่อต่อยอดสู่การเกษตรในชุมชนยกระดับด้วยความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อสร้างต้นแบบ การเกษตรในชุมชนให้กับคนใกล้ตัว
แสงไฟส่องอนาคตและความฝันของเด็กที่ห่างไกลให้สว่างสดใส
(ส่งต่อพลังงานที่ยั่งยืน)
“First Light”
คนเมืองอย่างเราๆ ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ตื่นจนนอนหลับตลอด 24 ชั่วโมงที่สามารถเข้าถึงแสงและไฟได้อย่างสะดวก ถ้าจะให้ลองอยู่ในที่ที่มีกำหนดเวลาการใช้ไฟเฉพาะบางช่วงเท่านั้น เราอาจจินตนาการถึงชีวิตแบบนั้นไม่ออก
แต่เด็กๆ นักเรียนในศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านห้วยมะโนกคี ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ที่อยู่ห่างไกลและขาดแคลนไฟฟ้า การมีไฟฟ้าใช้ในยามค่ำคืนไม่ได้เพียงเป็นแค่แสงที่สว่างหน้าบ้านพวกเขา แต่เสมือนการส่องให้พวกเขาได้เห็นอนาคตของตัวเองเช่นกัน
แสงที่มากับช่วงเวลาทำการบ้านหรืออ่านหนังสือหลังเลิกเรียน
แสงที่ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยกับเส้นทางที่เดินกลับบ้าน
ความห่างไกลที่สามารถเชื่อมต่อกับโลก ด้วยโปรเจกต์การมอบโซลาร์ให้โรงเรียนในพื้นที่ขาดแคลนไฟฟ้า จากบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด บริษัทลูกของบ้านปู ในโรงเรียนบริเวณชุมชนพื้นที่ที่ห่างไกล 73 แห่งนั้น ช่วยให้ความเป็นไปได้ของเส้นทางอาชีพในอนาคตเด็กๆ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกมุมของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาด้วยสื่อการเรียนการสอนที่สามารถเปิดดูได้ทุกเวลา การเรียนรู้ด้านวิชาการไม่ถูกจำกัดโดยเส้นแบ่งของพื้นที่
First Light ที่บ้านปูจุดขึ้นมานั้นจึงเป็นโอกาสที่ทำให้ทรัพยากรคนของประเทศได้มีศักยภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยแสงจากไฟฟ้าจะเป็นต้นทางแห่งพลังที่ดีในอนาคต หวังว่า ‘คนในภาพ’ จะช่วยจุดประกาย และส่งต่อแรงบันดาลใจให้ทุกคนลุกขึ้นมาค้นหาศักยภาพในตัวเอง พร้อมส่งต่อให้คนรอบข้าง เพื่อสร้างพลังคนในการขับเคลื่อนสังคม และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต