พรเพชร เหมือนศรี : หญิงชาวไร่ผู้ประท้วงโดยการขี่ควายและประกาศเผาตัวเองหน้าทำเนียบ

พรเพชร เหมือนศรี : หญิงชาวไร่ผู้ประท้วงโดยการขี่ควายและประกาศเผาตัวเองหน้าทำเนียบ

‘พรเพชร เหมือนศรี’ หญิงนักประท้วงมาราธอนผู้ออกเรียกร้องสิทธิในที่ดินของตนเป็นเวลากว่าสามสิบปี ใช้วิธีทั้งขี่ควายหน้าทำเนียบ เผาหุ่นนายกฯ ไปจนถึงประกาศเผาตนเองจนถูกจับส่งโรงพยาบาลจิตเวช

KEY

POINTS

  • จุดเริ่มต้นการต่อสู้ของพรเพชร เหมือนศรี
  • สารพัดวิธีการเรียกร้องตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ของพรเพชร เหมือนศรี
  • จุดจบและการถูกลืมของพรเพชร เหมือนศรี

จุดเริ่มต้นของหญิงชาวไร่สู่นักประท้วงมาราธอน

พรเพชร เหมือนศรี (ชื่อเดิม พรพิศ เหมือนศรี) หรือ ‘นิด’ เป็นชาวอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ มีอาชีพเป็นชาวไร่เช่นเดียวกับบิดามารดาและชาวบ้านนับร้อยครัวเรือนในพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยวุฒิการศึกษาเพียงระดับชั้นประถมสี่ กอปรกับเส้นทางสัญจรระหว่างจังหวัดที่ทุรกันดารเป็นอย่างมากในเวลานั้น ชีวิตของเธอและครอบครัวจึงเปรียบเสมือนโดนตัดขาด ไม่เคยออกไปเผชิญโลกภายนอก จุดหมายเพียงหนึ่งคือการทำนาทำไร่เลี้ยงชีพ

ทว่าในปี พ.ศ. 2511 การเข้ามารังวัดที่ดินของทางการกลับทำให้ชีวิตของพรเพชรต้องผกผัน เมื่อเจ้าหน้าที่ประกาศว่า ไร่นาส่วนหนึ่งที่บิดามารดาของเธอใช้ทำมาหากินมาตลอดหลายปีถูกจัดให้เป็น ‘ทุ่งเลี้ยงสัตว์’ หรืออีกนัยหนึ่ง คือทุ่งสาธารณะ ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของครอบครัวอย่างที่เธอเข้าใจ

การต่อสู้ของพรเพชรเริ่มต้นจากการเดินทางไปทักท้วงที่อำเภอ ก่อนจะได้รับคำตอบว่า ประเด็นดังกล่าวต้องไปร้องเรียนที่จังหวัด ทว่าหลังไปแจ้งเรื่องที่จังหวัด ก็ยังคงไร้ซึ่งการดำเนินการใด ๆ อีกทั้งในเวลานั้น ครอบครัวที่ประสบปัญหาเดียวกันไม่ได้มีแค่ครอบครัวเหมือนศรี แต่ยังนับรวมถึงชาวบ้านในละแวกอีก 28 ครัวเรือน นั่นทำให้พรเพชรริเริ่มความคิดที่ว่า เธอต้องกระทำการบางอย่างที่ ‘ใหญ่’ กว่าการแจ้งเรื่องตามขนบของประชาชนตัวเล็ก ๆ

นักประท้วงผู้หยัดยืนต่อสู้นานนับทศวรรษ

พรเพชร เหมือนศรี เดินหน้าเรียกร้องสิทธิที่ดินของตนเป็นระยะเวลาหลายปี แต่เนื่องจากการเข้าไปร้องเรียนกับรัฐบาลในกรุงเทพฯ ต้องใช้ทุนทรัพย์จำนวนมาก ชาวบ้านบางส่วนจึงจำเป็นต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเข้าร่วม หลังเงินหมดจึงกลับไปทำไร่ทำนาสะสมทุน แล้วจึงกลับมาร่วมเรียกร้องอีกครั้ง มีเพียงพรเพชรที่ปักหลักอยู่หน้าทำเนียบ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เสียงเล็ก ๆ ของตนดังไปถึงผู้มีตำแหน่งใหญ่โต ตั้งแต่ยื่นเรื่องกับกระทรวงต่าง ๆ ไปจนถึงมีความตั้งใจจะเข้าพบนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น

ใน พ.ศ. 2521 การเสียชีวิตของมารดาสร้างความเสียใจให้พรเพชรเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจทำให้เธอละความพยายามในการทวงความเป็นธรรมคืนให้ครอบครัว เธอประกอบกิจกรรมหน้าทำเนียบมากมาย ตั้งแต่ประกาศเผาหุ่นฟางอันเป็นตัวแทนของนายกฯ นุ่งขาวห่มขาวแล้วปักกลดนอนค้าง ปีนขึ้นต้นมะขามแล้วไม่ยอมลงมากว่า 9 วัน เรื่อยไปจนถึงขี่ควายเพื่อเรียกร้องให้เห็นถึงความทุกข์ยากของชาวไร่ที่โดนเอารัดเอาเปรียบ จนอาจพูดได้ว่า หนังสือพิมพ์หลายต่อหลายฉบับในเวลานั้นล้วนเคยปรากฏภาพการต่อสู้ของหญิงนักประท้วงมาราธอนผู้นี้

ทว่าการกระทำที่กลายเป็นเรื่องโจษขานที่สุดของพรเพชร เหมือนศรี ย่อมเป็นการปีนขึ้นไปบนหลังคารถตู้ พร้อมประกาศจุดไฟเผาตนเอง ในครั้งนั้น เธอทำไม่สำเร็จเพราะถูกตำรวจนอกเครื่องแบบจับกุมตัวแล้วส่งเข้าสู่โรงพยาบาลจิตเวชถึง 22 วัน ก่อนจะลงเอยที่ทันฑสถานหญิงบางเขนในท้ายที่สุด

จุดจบของนักประท้วงมาราธอนและการเลือนหาย

พรเพชร เหมือนศรี ต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตนมาเป็นระยะเวลากว่า 36 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 - 2547 โดยในช่วง 16 ปีสุดท้าย เธอยังต้องอุทิศชีวิตไปกับการต่อสู้ในชั้นศาล ชื่อของพรเพชรเริ่มเลือนหายจากการรับรู้ของสังคมไปทุกขณะ ก่อนจะปิดฉากลงเมื่อหญิงนักประท้วงถูกลอบทำร้ายจนเสียชีวิตในปี 2547 ทิ้งไว้เพียงจดหมายหลายร้อยฉบับซึ่งถูกเขียนด้วยลายมือ พร้อมด้วยสมุดบันทึกของเจ้าตัวและบุคคลใกล้ชิด เป็นของต่างหน้าการต่อสู้ระหว่างภาครัฐกับชาวไร่ผู้ปรารถนาเพียงทวงคืนสิทธิในที่ดินทำกินของตนเอง

ในยุคที่เหตุการณ์การต่อสู้ในอดีตถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง เรื่องราวของพรเพชร เหมือนศรีกลับยังคงเลือนราง ทั้งที่ในความเป็นจริง การกระทำของเธอนับเป็นเรื่องกล้าหาญ โดยเฉพาะสำหรับหญิงชาวไร่ผู้ตัดสินใจก้าวออกไปเผชิญโลกที่ไม่รู้จัก เพียงเพราะปรารถนาให้เสียงของตนได้ยินไปถึงผู้มีอำนาจ และอีกนัยหนึ่ง ก็อาจคล้ายเสียงสะท้อนกลาย ๆ ถึงปัญหาด้านความยุติธรรมในสังคมที่รุนแรงถึงขนาดที่คนธรรมดาคนหนึ่งยอมสละเวลาเกือบทั้งชีวิตเพื่อไขว่คว้าเสี้ยวหนึ่งของมันมาครอบครอง

 

อ้างอิง

เว็บไซต์

  • ศิลปวัฒนธรรม / 2024 / “จดหมายเหตุของพรเพชร” หนังสือที่พัฒนาจากวิทยานิพนธ์รางวัลระดับดีมาก / ค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2024 จาก https://www.silpa-mag.com/uncategorized/article_33442
  • พนิดา สงวนเสรีวานิช / 2018 / สินิทธ์ สิทธิรักษ์ เปิดโลกใบใหม่สตรีศึกษา ผ่าน ‘จดหมายเหตุ’ นักประท้วงบนหลังควาย / ค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2024 จาก https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_861439

หนังสือ

  • Sinith Sittirak / 2013 / My ‘W/ri[gh]t/E’ and My Land': A Postcolonial Feminist Study on Grassroots’ Archives and Autobiography (1937-2004) 
  • นิตยสารลลนา เล่มที่ 354 ปีที่ 15 ปักษ์หลัง 25 กันยายน 2531
  • นิตยสารสตรีสาร ปีที่ 41 ฉบับที่ 32 30 ตุลาคม 2531