20 ก.พ. 2562 | 17:55 น.
วันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2004 เป็นวันแห่งความสูญเสียครั้งใหญ่ของสเปน เมื่อเกิดเหตุก่อการร้ายวางระเบิดขบวนรถไฟกลางสถานีในกรุงมาดริด ระเบิด 10 ลูกทำให้ขบวนรถแหลกเป็นชิ้นๆ และทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 191 ราย บาดเจ็บอีกเกือบสองพันคน นับเป็นการก่อการร้ายที่สร้างความเสียหายที่รุนแรงที่สุดในยุโรปนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เบื้องต้น ทางการสเปนเชื่อว่าผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นพวกกบฏแบ่งแยกดินแดนแคว้นบาสก์ แต่เมื่อมีการพบรถตู้ที่เชื่อว่าเป็นพาหนะที่ถูกใช้ในการก่อเหตุ เจ้าหน้าที่จึงขยายขอบเขตของผู้ต้องสงสัยไปถึงกลุ่มผู้ก่อการร้ายอิสลาม เพราะในรถคันดังกล่าว นอกจากจะเจอเครื่องจุดชนวนระเบิดแล้วยังพบเทปบันทึกคำสอนในอัลกุระอานอยู่ด้วย หลังสแกนไม่พบตัวผู้ต้องสงสัยในฐานข้อมูลของตัวเอง สเปนจึงส่งสำเนา "ลายนิ้วมือ" ดิจิทัลของผู้ต้องสงสัยที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุไปให้กับชาติพันธมิตร ต่อมาในวันที่ 6 พฤษภาคมปีเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ได้ตัวผู้ต้องสงสัยที่พวกเขาเชื่อว่ามีลายนิ้วมือตรงกับรอยนิ้วมือที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุ เป็นทนายความอดีตทหารผ่านศึกจากโอเรกอนที่ชื่อ แบรนดอน เมย์ฟิลด์ (Brandon Mayfield) ลายนิ้วมือถือเป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความเชื่อถือมานานนับร้อยปี เมื่อผู้เชี่ยวชาญสามรายให้ความเห็นตรงกันว่า ลายนิ้วมือที่พบบนถุงในที่เกิดเหตุตรงกับลายนิ้วมือของเมย์ฟิลด์ และเมย์ฟิลด์ยังมีสัมพันธ์กับชุมชนมุสลิมอย่างใกลชิด เจ้าหน้าที่เอฟบีไอจึงมั่นใจว่าพวกเขาจับผู้ต้องสงสัยไม่ผิดตัว ทั้งนี้ เมย์ฟิลด์เป็นพลเมืองสหรัฐฯ ที่หันไปนับถือศาสนาอิสลาม แต่งงานกับหญิงอพยพเชื้อสายอียิปต์ และยังเคยเป็นทนายความให้กับจำเลยในคดีให้ความช่วยเหลือผู้ก่อการร้าย แต่เขาไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม เหตุที่ทางการสหรัฐฯ ตรวจพบลายนิ้วมือผู้ต้องสงสัยตรงกับของเขาได้ก็เพราะเขาเคยรับใช้ชาติเป็นทหารมาก่อน ด้วยความมั่นใจในสิ่งที่เรียกว่าเป็นการพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่เอฟบีไอจึงรีบจับกุมเขาโดยไม่ได้ตรวจทานหลักฐานอื่นเทียบเคียง ไม่มีการตรวจบันทึกการใช้โทรศัพท์ และไม่ได้ตรวจสอบการเดินทางเข้าออกประเทศ (ทั้งๆ ที่เมย์ฟิลด์ไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศนานนับสิบปี) เพราะกลัวว่า เมย์ฟิลด์จะไหวตัวทันและหลบหนีไปเสียก่อน เมย์ฟิลด์และครอบครัวตกอยู่ภายใต้ความตระหนก เมื่อข้อกล่าวหาดังกล่าวอาจทำให้เขาต้องโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต เมย์ฟิลด์พยายามหาความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการพิสูจน์ลายนิ้วจากภายนอกด้วยหวังว่าจะช่วยให้ความเห็นแย้งได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญที่เขาหาได้กลับให้ความเห็นอย่างเดียวกันกับผู้เชี่ยวชาญของเอฟบีไอ คดีมาพลิกเมื่อสเปนซึ่งไม่เชื่อมาแต่แรกว่าเมย์ฟิลด์เป็นผู้ต้องสงสัย สามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยตัวจริงที่มี "ลายนิ้วมือ" ตรงกับหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นชายชาวอัลจีเรีย ไม่ใช่ชาวอเมริกันที่ชื่อเมย์ฟิลด์แต่อย่างใด เมื่อพบว่าการระบุตัวด้วยลายนิ้วมือของตัวเองผิดพลาด (ทั้งๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญถึงสามรายของเอฟบีไอยืนยันว่าตรง "100%") ทางเอฟบีไอจึงออกมาแก้เกี้ยวโดยบอกว่า ความผิดพลาดเกิดมาจากภาพสแกนดิจิทัลคุณภาพต่ำที่ส่งมาจากสเปนนั่นเองที่เป็นต้นเหตุ ขณะเดียวกัน ทางเอฟบีไอก็บอกว่า การใช้ภาพดิจิทัลเป็นเรื่องปกติอยู่ในแนวปฏิบัติไม่มีการละเมิดเงื่อนไขกระบวนการใดๆ แต่เอฟบีไอก็ยังทิ้งท้ายขอโทษขอโพยเมย์ฟิลด์ในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น พร้อมยอมจ่ายเงินค่าเสียหายชดเชยให้อีก 2 ล้านดอลลาร์ "เอฟบีไอต้องขอโทษคุณเมย์ฟิลด์และครอบครัวสำหรับความยากลำบากที่เกิดขึ้นจากปัญหานี้" แถลงการณ์ของเอฟบีไอระบุ หลังปล่อยตัวเมย์ฟิลด์ให้เป็นอิสระ (The New York Times) ขณะที่เมย์ฟิลด์กล่าวว่าการกระทำของเอฟบีไอละเมิดสิทธิพลเมืองอย่างร้ายแรง ความหวาดกลัวต่อภัยก่อการร้ายทำให้ประชาชนที่บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อจากการใช้อำนาจอย่างก้าวร้าว เขาอ้างว่า ก่อนถูกจับกุมเขารู้สึกตัวได้ว่ากำลังถูกจับตาทุกฝีก้าว บ้านของเขาก็น่าจะถูกบุกรุกเนื่องจากมีการลงกลอนประตูในจุดที่ไม่เคยมีการใช้มาก่อน มูลี่ก็ถูกยกสูงขึ้นผิดปกติ และยังพบรอยเท้าบนพรมซึ่งใหญ่กว่าเท้าของใครๆ ในครอบครัว พร้อมกล่าวหาเจ้าหน้าที่ว่าพยายามเอาผิดกับเขาเพียงเพราะเขาเป็นมุสลิม เหตุครั้งนี้ทำให้เอฟบีไอเสียหน้าเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า การพิสูจน์ลายนิ้วมือเป็นวิทยาศาสตร์จริงหรือไม่? มีความน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน แล้วที่ผ่านมาเคยมีเหยื่อจากการพิสูจน์ที่ผิดพลาดบ้างหรือเปล่า? "ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดเนื่องจากระเบียบวิธีหรือเทคโนโลยี" รายงานคณะกรรมการตรวจสอบกรณีการจับกุมเมย์ฟิลด์ระบุ "เมื่อผู้พิสูจน์เบื้องต้นมีใจคิดไว้อย่างหนึ่งแต่ต้นแล้ว ผลที่ได้จากการตรวจสอบก็อาจที่จะแปดเปื้อน" (The New York Times) จากข้อความข้างต้นอาจถือเป็นการยอมรับอย่างกลายๆ ว่า "อคติ" ของผู้พิสูจน์หลักฐานมีผลอย่างสำคัญต่อการพิสูจน์ลายนิ้วมือ ความแม่นยำของการตรวจสอบจึงมิได้มีอยู่อย่างภววิสัย (objective) หากยังขึ้นกับประสบการณ์ ความนึกคิดและอุดมการณ์ของผู้ตรวจสอบเป็นสำคัญ การพิสูจน์ลายนิ้วมือจึงน่าจะเรียกว่าเป็นนิติศิลปะ มากกว่าที่จะเป็นนิติวิทยาศาสตร์