‘เลดี้พาเมลา ฮิกส์’ สหายควีนเอลิซาเบธและชาววังผู้ถูกลืม จากปมแค้น ‘ชาร์ลส์ - คามิลลา’

‘เลดี้พาเมลา ฮิกส์’ สหายควีนเอลิซาเบธและชาววังผู้ถูกลืม จากปมแค้น ‘ชาร์ลส์ - คามิลลา’

‘เลดี้พาเมลา ฮิกส์’ เป็นหนึ่งในบุคคลที่สมควรได้รับเชิญเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร แต่กลับไม่ได้รับเชิญ ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า อาจเกิดจากปมแค้น ‘ชาร์ลส์ - คามิลลา’

  • พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นพิธีประวัติศาสตร์
  • แต่ด้วยการจัดขึ้นแบบกระชับและร่วมสมัย จึงเชิญแขกราว 2,000 คน ลดลงจากสมัยควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่มีคนเข้าร่วม 8,000 คน
  • ด้วยเหตุนี้ทำให้มีหลายคนที่สมควรได้รับเชิญ แต่ไม่ได้รับเชิญ หนึ่งในนั้น คือ ‘เลดี้พาเมลา ฮิกส์’ ซึ่งหลายคนตั้งประเด็นว่า อาจเกิดจากปมแค้น ‘ชาร์ลส์ - คามิลลา’

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา จัดขึ้นอย่างกระชับร่วมสมัย และเชิญแขกราว 2,000 คน ซึ่งลดลงมากเมื่อเทียบกับสมัยพระราชมารดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อ 70 ปีก่อน ที่มีคนเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกราว 8,000 คน

ด้วยเหตุนี้คนที่สมควรได้รับเชิญหลายคนจึง ‘ไม่ได้รับเชิญ’

แต่ที่สังคมอังกฤษประหลาดใจมากที่สุดคือ ‘เลดี้พาเมลา ฮิกส์’ ผู้เป็นทั้งพระสหายวัยเยาว์ เพื่อนเจ้าสาว และนางสนองพระโอษฐ์ของควีนเอลิซาเบธ ซึ่งเธอควรจะได้สิทธิไปร่วมพิธีสำคัญในประวัติศาสตร์ครั้งนี้

เลดี้พาเมลา ฮิกส์ เป็นธิดาของเอิร์ลเมานท์แบตเทนที่ 1 แห่งพม่าหรือที่คนไทยคุ้นเคยในชื่อ ‘ลอร์ดหลุยส์ เมาน์ทแบตเทน’ ผู้บัญชาการกองเรือสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงปี ค.ศ. 1943 - 1946 น้าชายของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามีควีนเอลิซาเบธ และเลดี้พาเมลาเป็นหนึ่งในสองเพื่อนเจ้าสาวที่ยังมีชีวิตอยู่ (จากทั้งหมด 8 คน) ซึ่งการเป็นธิดาของขุนนางผู้ยิ่งยศยิ่งศักดิ์ ทำให้ชีวิตของเธอน่าสนใจไม่น้อย

ในวัย 94 เลดี้พาเมลาผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชน แม้มีสิทธิพิเศษล้นเหลือ แต่ก็มีโศกนาฏกรรมเช่นกัน รวมถึงการที่บิดาลอร์ดหลุยส์ เมาน์ทแบตเทนถูกลอบสังหาร

ชีวิตหวือหวาตั้งแต่เกิด

เลดี้พาเมลาเกิดในปี ค.ศ. 1929  โดยเป็นการคลอดก่อนกำหนดในช่วงที่เมื่อบิดามารดาของเธอ คือ ลอร์ดหลุยส์ เมาน์ทแบตเทน และเอ็ดวินา แอชลีย์ ไปพักผ่อนที่อัลเจซิราสและโมร็อกโก ซึ่งเอ็ดวินาได้ขี่ลาขณะท้องแก่ส่งผลให้พาเมลาคลอดก่อนกำหนด 5 สัปดาห์ ณ โรงแรมริตซ์ในบาร์เซโลนา ที่นั่นกษัตริย์อัลฟอนโซที่ 13 รายล้อมไปด้วยราชองครักษ์ต้องจับแพทย์รายหนึ่งที่เข้าโรงแรมมาพร้อมเครื่องมือแพทย์ให้มาช่วยทำคลอด

พ่อแม่ของเลดี้พาเมลา “ตกตะลึงไปชั่วขณะ” และคิดว่าจะตั้งชื่อลูกว่า ริตซี่ตามชื่อโรงแรม

ด้วยการที่ลอร์ดเมาน์ทแบตเทนบิดาของเธอเป็นพระอนุชาของเจ้าหญิงอลิซแห่งแบตเทนเบิร์ก พระมารดาของเจ้าชายฟิลิป เลดี้พาเมลาจึงเป็นลูกพี่ลูกน้องกับเจ้าชายฟิลิป โดยเลดี้พาเมลาเป็นลูกสาวคนสุดท้อง มีพี่สาวหนึ่งคนคือ แพตทริเซีย แนตช์บูล ที่ต่อมาสืบบรรดาศักดิ์เป็นเคาน์เตสเมาน์ทแบตเทนที่ 2 แห่งพม่า

ทั้งพาเมลาและพี่สาวเติบโตมากับควีนเอลิซาเบธและเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐา เนื่องจากลอร์ดเมาน์ทแบตเทนเป็นพระญาติลำดับสองกับสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระบิดาควีนเอลิซาเบธ

เมื่อสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 สละราชบัลลังก์ กษัตริย์จอร์จที่ 6 ขึ้นครองราชย์ พาเมลาเขียนในบันทึก “สงสารลิลิเบธกับมาร์กาเร็ต พวกเธอต้องไป แล้วใช้ชีวิตในวังบักกิงแฮม”

ผจญภัยวัยสาว

เลดี้พาเมลาเข้าโรงเรียนประจำในซัสเซกซ์ แต่เมื่อฝรั่งเศสตกเป็นของเยอรมนีในปี ค.ศ. 1940 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เลดี้พาเมลาและพี่สาวไปอยู่สหรัฐอเมริกาน่าจะปลอดภัยกว่า พวกเธออาศัยอยู่กับ ‘เกรส แวนเดอร์บิลต์’ คนเด่นคนดังในสังคม

ส่วนบิดาหลังจากเป็นผู้บัญชาการกองทัพเรือช่วงสงครามก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปราชอินเดียคนสุดท้ายในปี ค.ศ. 1947 รับผิดชอบดูแลการที่อังกฤษถอนตัวจากอินเดีย จากนั้นทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการคนแรกของอินเดียจนกระทั่งเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1948

เลดี้พาเมลาย้ายไปอินเดียกับพ่อแม่ตอนอายุ 17 ปี ได้ใช้ชีวิตหรูหราในฐานะธิดาอุปราช จากตำหนักอุปราชเธอร่วมงานดินเนอร์ งานปาร์ตี้ และเดินทางไปทั่วประเทศ

พระราชวังแห่งนี้ที่ปัจจุบันเป็นทำเนียบประธานาธิบดีอินเดีย ใช้เวลาก่อสร้าง 17 ปี มี 340 ห้องกระจายกันอยู่ใน 4 ชั้น ทางเดินในตึกยาว 2.5 กิโลเมตร พื้นที่สวน 480.7 ไร่ เธอเขียนไว้ในหนังสือ Daughter of Empire ว่า นี่เป็นสถานที่สำหรับงานค็อกเทลและพูดคุยกันอย่างสุภาพ, ปาร์ตี้ในสวน, งานเลี้ยงรับรองและงานเลี้ยงอาหารค่ำ

ระหว่างนั้นมีข่าวลือว่าเอ็ดวินา มารดาของเลดี้พาเมลามีสัมพันธ์กับชวาหะร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดียในขณะนั้น

เลดี้พาเมลายอมรับในหนังสือว่า ทั้งคู่ “รักและให้เกียรติซึ่งกันและกัน” แต่ “ทั้งคู่ไม่มีเวลาเผลอมีสัมพันธ์ทางกาย อย่างไรก็ตาม พวกเขาแทบไม่มีเวลาอยู่ลำพัง มักมีเจ้าหน้าที่ ตำรวจ หรือคนอื่น ๆ ห้อมล้อมตลอด”

เพื่อนเจ้าสาวเจ้าหญิงเอลิซาเบธ

เลดี้พาเมลาเป็นเพื่อนเจ้าสาว 1 ใน 8 คนของเจ้าหญิงเอลิซาเบธอภิเษกสมรสกับเจ้าชายฟิลิปในปี ค.ศ. 1947 เธอบินกลับจากอินเดียเพื่องานนี้โดยเฉพาะ และได้เห็นเบื้องหลังงานใหญ่รวมถึงตอนที่เทียราเจ้าสาวหักต้องส่งซ่อมในวันนั้น

“ฉันเป็นคนหนึ่งที่ตัวสูงที่สุดจึงเป็นเพื่อนเจ้าสาวคู่สุดท้ายในขบวน เจ้าหญิงมาร์กาเร็ตและเจ้าหญิงอเล็กซานดรายืนคู่หน้าเพื่อดูว่าผ้าคลุมเจ้าหญิงเอลิซาเบธเข้าที่ ชายชุดเจ้าสาวคลี่เป็นทางเรียบร้อย ก่อนซ้อมเดินเราทุกคนถูกเตือนไม่ให้เดินเอียงไปทางด้านขวา จะได้ไม่เหยียบหลุมศพ ‘นักรบนิรนาม’ แต่เจ้าชายไมเคิลแห่งเคนท์ดันเหยียบเข้าไปเต็มๆ” พาเมลาหวนรำลึกอดีต

นางสนองพระโอษฐ์

หลังกลับจากอินเดียมาใช้ชีวิตที่สหราชอาณาจักรอีกครั้ง เลดี้พาเมลาได้รับมอบหมายให้ตามเสด็จเจ้าหญิงเอลิซาเบธในฐานะนางสนองพระโอษฐ์เยือนเครือจักรภพในปี ค.ศ. 1952 ทั้งคู่เติบโตมาด้วยกันถึงบัดนั้นก็ยังสนิทสนมกันมากแต่บทบาทกำลังจะเปลี่ยนไป เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงแจ้งกับเลดี้พาเมลาอย่างชัดเจนก่อนวันเดินทางว่า อย่าเรียกเพื่อนว่า ‘ลิลิเบธ’ แต่ให้เรียกว่า ‘มาดาม’

และระหว่างทริปนี้นี่เองที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ผู้ประทับ ณ โรงแรมยอดไม้ในเคนยาทรงทราบข่าวว่า กษัตริย์จอร์จที่ 6 พระบิดาสิ้นพระชนม์ และเจ้าหญิงต้องเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ด้วยพระชนมายุ 25 พรรษา เลดี้พาเมลาเล่าถึงช่วงเวลาที่ควีนทรงทราบข่าวร้าย

“(เจ้าชายฟิลิป) เดินเข้ามาในห้องนั่งเล่นแล้วขอให้ภรรยาออกไปในสวนด้วยกัน พระองค์กำลังนั่งเขียนจดหมายถึงพระบิดาที่โต๊ะเล็ก ๆ ฉันเห็นพวกเขาที่สนามหญ้า เดินไปมาด้วยกันช้า ๆ ฉันรู้ว่าเจ้าหญิงรักพระบิดามากขนาดไหน และพระบิดาก็รักพระองค์มาก

“เมื่อพวกเขากลับมา ฉันกอดพระองค์โดยสัญชาตญาณ แต่ก็นึกขึ้นได้ว่าตอนนี้พระองค์เป็นราชินีแล้ว ฉันจึงบรรจงถอนสายบัว” เลดี้พาเมลาเล่าพร้อมเสริมว่า ควีนทรงขอโทษเธอที่ทำให้คณะต้องกลับบ้านก่อนกำหนด

ปีถัดมาเลดี้พาเมลาและพ่อแม่ได้เข้าร่วมพิธีบรมราชาภิเษกควีนเอลิซาเบธ เธอเล่าว่า ขณะพระองค์ดำเนินเข้ามาในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ในฉลองพระองค์ของ Norman Hartnell พร้อมด้วยนางกำนัล 6 คนช่างดูมีมนตร์ขลัง แต่เมื่อทรงถอดฉลองพระองค์คลุมออกเพื่อรอรับการเจิมน้ำมันในฉลองพระองค์ลินินขาวเรียบๆ 

เลดี้พาเมลาถึงกับตัวสั่นเมื่อตระหนักว่า เพื่อนวัยเยาว์ของเธอช่างดู ‘เยาว์วัย เปราะบาง และโดดเดี่ยว’

5 เดือนหลังราชาภิเษก เลดี้พาเมลายังคงเป็นนางสนองพระโอษฐ์รับใช้ใกล้ชิดที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการตามเสด็จฯ เยือนหมู่เกาะเวสต์อินดีส, ออสตราเลเซีย, เอเชีย และแอฟริกา

หน้าที่ของเลดี้พาเมลามีทั้งช่วยถือกระเป๋าขณะควีนปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ถือช่อดอกไม้มากมายเหลือคณานับ และตอบคำถามไม่เป็นทางการของผู้สื่อข่าว แม้การเสด็จฯ จะเต็มไปด้วยภาระความรับผิดชอบ แต่เลดี้พาเมลายังเห็นความร่าเริงของควีน เธอนึกถึงตอนที่ควีนแกล้งเรือนักท่องเที่ยวที่พยายามมองหาพระองค์

เลดี้พาเมลาเผยผ่านสารคดี My Years With the Queen ทางช่องไอทีวี

“ฉันนั่งใต้ต้นไม้กับลิลิเบธ ฟังพระองค์พูดเรื่องถูกทิ้งไว้บนเกาะทะเลทราย แต่พระองค์ก็ร่าเริง ตอนที่เรือนักท่องเที่ยวตะโกนถาม เราว่า ‘เราเห็นควีนนะ พระองค์อยู่ไหน’ ลิลิเบธในกางเกงสแล็คถลันไปที่ชายหาด ชี้ไปอีกฟากหนึ่งของเกาะแล้วตะโกน ‘พระองค์ไปทางนู้น’ พระองค์กระโดดขึ้นลงอย่างมีความสุขเมื่อเรือลับโค้ง”

สร้างครอบครัวของตัวเอง

เลดี้พาเมลาสมรสกับมัณฑนากรและดีไซเนอร์นาม ‘เดวิด ฮิกส์’ เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1960 ณ วิหารรอมซีย์ในแฮมป์เชียร์ ตอนที่แพตทริเซียพี่สาวแต่งงาน ควีนเอลิซาเบธทรงเป็นเพื่อนเจ้าสาว แต่รอบนี้ทำไม่ได้เพราะพระองค์ทรงครรภ์เจ้าชายแอนดรูว์ แต่ได้เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ พระชนมายุ 9 พรรษา มาเป็นเพื่อนเจ้าสาว

ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 3 คน ได้แก่ เอ็ดวินา (เกิดปี 1961) ได้เป็นลูกสาวทูนหัวของควีน, แอชลีย์ (เกิดปี 1963) เป็นลูกชายทูนหัวของเจ้าชายฟิลิป และอินเดีย (เกิดปี 1967) เป็นลูกสาวทูนหัวของกษัตริย์ชาร์ลส์ ซึ่งอินเดียเดินตามรอยแม่ได้เป็นเพื่อนเจ้าสาวในงานอภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์กับไดอานาในปี ค.ศ. 1981

ลอบสังหารลอร์ดเมาน์ทแบตเทน

ควีนเอลิซาเบธทรงพร้อมที่จะให้กำลังใจพระสหายในช่วงเวลายากลำบากที่สุดของเธอหลายครั้ง รวมถึงตอนที่บิดาของเลดี้พาเมลาถูกกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (IRA) ลอบสังหาร

ปี ค.ศ. 1979 ลอร์ดเมาน์ทแบตเทนพักผ่อนวันหยุดที่ปราสาทแคลสซีบาวน์ใกล้หมู่บ้านคลิฟโฟนีในสลิโกเคาน์ตี สาธารณรัฐไอร์แลนด์ IRA ลอบติดตั้งระเบิดในเรือส่งผลให้ลอร์ดเมาน์ทแบตเทน, นิโคลัส บราเบิร์น หลานชาย และพอล แม็กซ์เวลล์ เพื่อนของครอบครัวเสียชีวิตทันที เลดี้ บราเบิร์น แม่ของลูกเขยเสียชีวิตในวันต่อมา คนอื่น ๆ บนเรือบาดเจ็บสาหัส

ด้านควีนเอลิซาเบธเมื่อทรงทราบว่าบิดาของเลดี้พาเมลาเสียชีวิต ทรงส่งเฮลิคอปเตอร์ส่วนพระองค์มารับเด็ก ๆ กลับ เท่านี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าพระองค์ใส่ใจพระสหายคนนี้มาก

อินเดีย ลูกสาวของเลดี้พาเมลาเล่าให้ฟังว่าแม่ของเธอและคุณป้าแพตทริเซีย ผู้บาดเจ็บสาหัส เข้มแข็งแค่ไหนในการรักษาขวัญกำลังใจครอบครัวหลังเหตุการณ์ลอบสังหารครั้งนั้น

“ทั้งแม่และป้าของฉันเป็นตัวอย่างสุดพิเศษสำหรับคนอื่น ๆ ในครอบครัว โดยเฉพาะป้าที่โศกเศร้ามากเพราะต้องสูญเสียลูกชาย (นิโคลัส บราเบิร์น) เธอบอกว่า เราจะไม่ใช้ชีวิตด้วยความขมขื่น เราจะไม่ใช้ชีวิตด้วยความโศกเศร้า เราต้องเดินหน้าต่อ แม่ฉันก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน มูฟออนด้วยความเห็นอกเห็นใจคนอื่นและมีอารมณ์ขัน

“คุณได้ยินเสมอว่า ขวัญกำลังใจอันแข็งแกร่งของมนุษย์สำคัญแค่ไหน และฉันคิดว่าคุณได้เห็นชัดแล้วทั้งจากแม่ฉันและจากควีน พวกเขาเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดเรื่องขวัญกำลังใจอันแข็งแกร่งของมนุษย์” อินเดียย้ำ

ก่อนควีนเอลิซาเบธจะสวรรคตเมื่อปีก่อน เลดี้พาเมลาพูดกับลูกสาวถึงความเคารพที่เธอมีต่อพระองค์ “ความจงรักภักดีของแม่ต่อสมเด็จพระราชินีนาถเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่สุด การได้รู้จักกับพระองค์เป็นเรื่องน่าชื่นชมเหนือสิ่งอื่นใด” 

หลังพระราชพิธีบรมศพควีน อินเดียเล่าว่า แม่ของเธอหวังว่าจะได้เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้ร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกถึง 3 ครั้งด้วยการเข้าร่วมพระราชพิธีของคิงชาร์ลส์

นับตั้งแต่ควีนสิ้นพระชนม์ เลดี้พาเมลากลายเป็นเชื้อสายควีนวิกตอเรียผู้อาวุโสสุดที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เธอได้รับแจ้งในวันเกิดปีที่ 94 ว่า ไม่ได้รับเชิญร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เนื่องจากจำนวนแขกลดลงจากพระราชพิธีของควีนในปี 1953 มาก การเชิญแขกพิจารณาจาก ‘ผู้ประสบความสำเร็จด้วยตนเอง ไม่ได้เชิญเพราะชนชั้น’

กูรูคาดไม่ได้รับเชิญเพราะความแค้นหนหลัง

ผู้เชี่ยวชาญด้านราชวงศ์รายหนึ่งอ้างว่า เหตุผลที่แท้จริงที่เลดี้พาเมลาไม่ได้รับเชิญไปงานราชาภิเษกเพราะพ่อของเธอนั้นกีดกันไม่ให้คิงชาร์ลส์ได้แต่งงานกับควีนคามิลลา คนที่เผยเรื่องนี้คือ ‘ซาราห์ ไวน์’ คอลัมนิสต์ของเดลิเมล กล่าวในรายการวิเคราะห์ข่าวเจ้า Palace Confidential ว่า เมาน์ทแบตเทน “โน้มน้าวควีนเอลิซาเบธอย่าให้ชาร์ลส์แต่งงานกับคามิลลา”

“ฉันไม่คิดว่าชาร์ลส์ลืมเรื่องนี้” คอลัมนิสต์คนดังกล่าวย้ำ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ลอร์ดเมาน์ทแบตเทนถูกกล่าวหาว่าวุ่นวายกับชีวิตรักของกษัตริย์ชาร์ลส์

รายการ The Real Crown: Inside the House of Windsor ทางช่อง ITVX ออกอากาศเมื่อเดือนเมษายน พูดถึงความผูกพันระหว่างกษัตริย์ชาร์ลส์กับปู่ที่รู้จักกันในนาม ‘ดิกกี้ เมาน์ทแบตเทน’ โดยดิกกี้ต้องการให้เจ้าชายแห่งเวลส์ในขณะนั้นตกร่องปล่องชิ้นกับ ‘อแมนดา แนตช์บูลล์’ หลานสาวของตนเอง (บุตรแพตทริเซีย ลูกสาวคนโต)

ลอร์ดหลุยส์รู้สึกว่า ผู้ชายในสถานะอย่างชาร์ลส์ควรสำเริงสำราญ ‘กับชีวิตวัยหนุ่ม’ ก่อนลงหลักปักฐาน ดังนั้นการหาชายาที่เหมาะสมให้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งอแมนดาหลานสาวของตนคือผู้หญิงที่เหมาะสมที่สุด

หลังจากรัชทายาทหนุ่มเกี่ยวข้องกับผู้หญิงมากหน้าหลายตาตามที่มีข่าวในหน้าสื่อ ปู่ดิกกี้เชิญเจ้าชายไปยังบาฮามาส พร้อมพาอแมนดาหลานสาววัยรุ่นไปด้วย ว่ากันว่าหนุ่มสาวทั้งคู่เข้ากันได้ดี

แต่คนที่กังวลกับแผนการของลอร์ดเมาน์ทแบตเทนคือเจ้าชายฟิลิป

คลิปสัมภาษณ์ ‘วิลเลียม อีแวนส์’ คนรับใช้ของลอร์ดที่เผยแพร่ในรายการระบุ “เจ้าชายฟิลิปมองว่า อย่าไปยุ่ง เขาจะเลือกภรรยาเองเมื่อเขาพร้อม มีความขัดแย้งกันเล็ก ๆ ระหว่างเจ้าชายฟิลิปกับลอร์ดหลุยส์ แต่ท่านลอร์ดมุ่งมั่นมาก” 

ในเวลานั้นผู้หญิงที่ชาร์ลส์รักจริงคือคามิลลา ปาร์กเกอร์ โบว์ลส์ ที่แต่งงานไปแล้วกับทหารม้ายศสูง

เมื่อข่าวซุบซิบว่าทั้งคู่ยังคบกันอยู่ไปถึงควีนเอลิซาเบธ ว่ากันว่าพระองค์ทรงห้ามไม่ให้คามิลลาร่วมงานของราชวงศ์ และลอร์ดหลุยส์ยังคงตั้งใจแน่วแน่ว่า ชาร์ลส์จะเจอคู่ที่เหมาะสม เขาเขียนจดหมายเตือนหลานชายอย่างตรงไปตรงมาว่า ให้ระวังชีวิตอาจจบลงด้วยเส้นทางเดียวกันกับ ‘ตาเดวิดผู้น่าอดสู’ (สละราชสมบัติไปแต่งงานกับวอลลิซ ซิมป์สัน)

รายการทีวีกล่าวต่อว่า ชาร์ลส์ ‘ขยาดกับผลลัพธ์ดังกล่าว’ และพยายามหลีกเลี่ยงด้วยการขออแมนดาแต่งงาน จากปากคำของวิลเลียม อีแวนส์ ทั้งคู่ชอบพอกันก็จริง แต่อแมนดาไม่ได้รักชาร์ลส์ เธออยากแต่งงานกับคนที่เธอรัก อีกทั้งอแมนดาไม่อยากใช้ชีวิตเจ้าด้วย

คำปฏิเสธของอแมนดาเท่ากับว่าความพยายามจับคู่ของลอร์ดหลุยส์ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นไม่นานลอร์ดหลุยส์เสียชีวิตจากเหตุระเบิดที่กองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (IRA) มาติดตั้งไว้ในเรือของเขาที่เมืองสลิโก ประเทศไอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1979 ไม่กี่ปีถัดมาก็ถึงคราวที่ชาร์ลส์ต้องอภิเษกและหย่าร้างกับไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ก่อนจะอภิเษกกับคามิลลาที่บัดนี้เป็นสมเด็จพระราชินีโดยสมบูรณ์

ด้วยพฤติกรรมในอดีตของบิดา ไวน์จึงเชื่อว่าเป็นเหตุให้เลดี้พาเมลลาไม่ได้รับเชิญไปร่วมงานราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

เหตุผลที่แท้จริง

การครองราชย์ของกษัตริย์ชาร์ลส์เป็นความยากลำบากอย่างหนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงสืบราชบัลลังก์จากสมเด็จพระราชมารดาที่ครองราชย์ยาวนานถึง 70 ปี และประชาชนอังกฤษรักมาก กษัตริย์ชาร์ลส์จำเป็นต้องเริ่มรัชสมัยด้วยการปรับสถาบันกษัตริย์ให้เข้ากับโลกยุคใหม่ งานราชาภิเษกเชิญแขกราว 2,000 คน ประกอบด้วย ราชวงศ์ต่างประเทศ ผู้นำโลก นักการเมือง และที่สำคัญคือ เหล่าอาสาสมัคร ทหาร และคนทำงานการกุศล กษัตริย์ชาร์ลส์และราชินีคามิลลาทรงเชิญตัวแทน 850 ประชาคมร่วมพิธีเพื่อแสดงถึงการยอมรับในงานที่พวกเขาทำ 

อินเดีย เล่าช่วงเวลาที่เลดี้พาเมลา มารดาได้รับแจ้งข่าวไม่ได้รับเชิญไปงานใหญ่ 

“ตลกดี ลูกสาววัย 15 ปีใช้โทรศัพท์เก่าของฉัน ลูกบอกว่า ‘ลูกได้รับโทรศัพท์จากพวกมิจฉาชีพบอกว่าโทรฯ มาจากวังบักกิงแฮม ลูกก็เลยวางสายไป’ ลูกจ๋า แม่ว่าเป็นวังบักกิงแฮมจริง ๆ นะ” อินเดียเล่า 

คนที่โทรฯ มาคือราชเลขานุการคนหนึ่งของกษัตริย์ชาร์ลส์ เพื่ออธิบายเหตุผลที่ต้องลดจำนวนแขกลงในงานราชาภิเษก เขาบอกว่า พระองค์ส่งความรักอย่างลึกซึ้งและขอโทษที่ทรงทำให้เพื่อนและหลาย ๆ ครอบครัวโกรธ 

เมื่ออินเดียแจ้งข่าวกับเลดี้พาเมลา เธอเล่าว่า แม่เป็นคนหัวก้าวหน้าสุด ๆ “ตอนที่ฉันบอกแม่ แม่ว่า ‘ถูกแล้วละ สมเหตุสมผลที่สุด’ แม่เข้าใจดี และยอมรับว่ากษัตริย์ต้องการสร้างความแตกต่าง” 

อินเดียก็คิดเช่นเดียวกับพาเมลา

“ฉันคิดว่าเป็นเรื่องดีสำหรับพระองค์ การเชิญแขกพิจารณาจากตัวบุคคลไม่ใช่ระบบขุนน้ำขุนนาง สมัยควีนเชิญแขก 8,000 คน งานนี้ลดเหลือ 2,000 คน แต่แม่ไม่ได้โกรธเคืองอะไรเลย แม่บอกว่าจะเฝ้าติดตามชมงานแห่งรัชสมัยใหม่ด้วยความตื่นเต้น”

.

ภาพ : Getty Images

.

อ้างอิง

.

dailymail

tatler

dailymail

bbc