‘วิม ฮอฟ’ มนุษย์น้ำแข็งที่ริเริ่มทฤษฎี ‘การหายใจ + ความเย็น’ ศาสตร์สุขภาพดี ช่วยให้นอนหลับสบาย

‘วิม ฮอฟ’ มนุษย์น้ำแข็งที่ริเริ่มทฤษฎี ‘การหายใจ + ความเย็น’ ศาสตร์สุขภาพดี ช่วยให้นอนหลับสบาย

‘วิม ฮอฟ’ มนุษย์น้ำแข็ง ผู้คิดค้นริเริ่มทฤษฎี ‘การหายใจ + ความเย็น’ ที่นอกจากจะช่วยให้สุขภาพดี ยังเป็นเคล็ดลับที่ทำให้นอนหลับง่ายขึ้นด้วยสำหรับคนที่มีปัญหา

  • ‘วิม ฮอฟ’ (Wim Hof) ชาวดัตช์ที่ได้รับฉายาว่าเป็น ‘มนุษย์น้ำแข็ง’ เพราะเขาชอบฝึกจิตและสุขภาพด้วยความเย็น
  • ทฤษฎีการหายใจของ วิม ฮอฟ  เป็นคนแรก ๆ ที่มีนักวิทยาศาสตร์ทำการพิสูจน์ และมีกลุ่มผู้ทดสอบทำการวิจัยด้วย

หลายครั้งที่คนเราโหยหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้สุขภาพดีขึ้น ยิ่งในปัจจุบันเคล็ดลับหลายอย่างมีการบอกต่อในโลกโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงเคล็ดลับที่ช่วยให้คนเรานอนหลับสบายขึ้น ซึ่งทฤษฎีจากคนหนึ่งที่ถูกพูดถึงบ่อยมากช่วงเวลานี้หนึ่งในนั้นคือ ‘วิม ฮอฟ’ (Wim Hof) นักกีฬาเอ็กซ์ตรีมชาวดัตช์ ผู้ที่ได้ฉายาว่าเป็น ‘มนุษย์น้ำแข็ง’

เหตุผลที่ได้ฉายานี้เพราะว่าหลายครั้งเขาสามารถทำลายสถิติกิจกรรมสุดโต่งได้หลายอย่าง เช่น เขาเคยปีนขึ้นภูเขาเอเวอเรสต์โดยใส่เพียงกางเกงขาสั้นตัวเดียว ไม่ใช้ถังออกซิเจน และไม่เคยมีประสบการณ์การปีนเขาลูกนี้มาก่อน, วิม ฮอฟ เคยแช่ตัวอยู่ใต้น้ำที่เย็นจนเป็นน้ำแข็งเป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง โดยอุณหภูมิในร่างกายไม่ลดลงแม้แต่นิดเดียว หรือจะเป็นการวิ่งมาราธอนทะเลทรายนามิบ (Namib Desert) โดยที่ไม่ได้ดื่มน้ำแม้แต่นิดเดียว เป็นต้น

แต่วันนี้เราไม่ได้มาเล่าความเป็นตัวเขา หรือตัวตนของวิม ฮอฟ แต่อยากจะหยิบทฤษฎีการหายใจแบบวิม ฮอฟ มาพูดถึง แม้ว่าเขาจะเป็นที่รู้จักตั้งแต่ปี 2016 แต่ทุกวันนี้หลาย ๆ ช่องทางโซเชียลมีเดียได้มีการแนะนำและบอกต่อวิธีการของเขามากขึ้น โดยเฉพาะวิธีการหายใจเพราะมีผลอย่างมากต่อการนอนหลับ คล้าย ๆ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการนอนหลับของคนยุคนี้

คนแรกๆที่ท้าวิทยาศาสตร์พิสูจน์

ถึงแม้ว่าการหายใจแบบวิม ฮอฟ เป็นการหายใจที่มีมานานในศาสตร์ของโยคะที่ชื่อว่า ‘Pranayama’ แต่จุดเด่นของทฤษฎีวิม ฮอฟ คือ ฝึกการหายใจควบคู่กับการใช้ความเย็นหรือน้ำแข็ง อีกทั้งเขายังเป็นคนแรก ๆ ที่ท้าให้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เข้ามาพิสูจน์ตัวเขาอยู่บ่อย ๆ เพื่อทดสอบความแข็งแรงและประสิทธิภาพในการรักษาโรคบางอย่าง

‘วิม ฮอฟ’ มนุษย์น้ำแข็งที่ริเริ่มทฤษฎี ‘การหายใจ + ความเย็น’ ศาสตร์สุขภาพดี ช่วยให้นอนหลับสบาย

ในช่วงแรก ๆ ก่อนที่ทฤษฎีวิม ฮอฟ จะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางอย่างทุกวันนี้ เขาพยายามเรียกร้องให้นักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองกับร่างกายของเขา โดยเขาบอกว่าวิธีฝึกการหายใจแบบของเขาสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ดีขึ้นได้

โดยงานวิจัยทางการแพทย์ในปี 2014 ของวิม ฮอฟ แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ได้ลองฉีดสารพิษ หรือที่เรียกว่า Endotoxin เข้าไปในร่างกายของวิม ฮอฟ โดยปฏิกิริยาของอาการป่วยที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นจะมีอาการหนาวสั่น มีไข้ขึ้นสูง หรือบางคนก็เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เพราะสารพิษตัวนี้จะไปกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวทำงานเยอะกว่าปกติเพื่อตอบสนองและทำลายสารพิษ

อาการของวิม ฮอฟ เริ่มปรากฏขึ้นหลังที่แพทย์ฉีดยา เขาพยายามคุมการหายใจจนไข้เริ่มลดลง และผลสุดท้ายคือ สภาพร่างกายคืนสู่ปกติปราศจากอาการต่าง ๆ จากสารพิษดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง

งานวิจัยดังกล่าวระบุด้วยว่า วิม ฮอฟ กระตุ้นให้สาร Adrenaline ในร่างกายหลั่งออกมาในปริมาณที่มากกว่าปกติ ซึ่งพบว่า Adrenaline ช่วยป้องกันระบบการต่อสู้กับเชื้อโรคได้ นั่นจึงอธิบายได้ว่า ทำไมร่างกายของวิม ฮอฟ ถึงตอบสนองสารพิษอยู่แค่พักเดียวก่อนหายเป็นปกติ

วิม ฮอฟ เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่กลัวความตาย แต่กลัวที่จะไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่มากกว่า”

ซึ่งประโยคนี้เองทำให้หลายคนในโซเชียลฯ ย้อนไปดูประวัติและความบ้าบิ่นของเขา จนทุกวันนี้ศาสตร์การหายใจแบบวิม ฮอฟ ได้รับการยอมรับอย่างมาก และเริ่มมีการเปิดสอนวิธีการหายใจแบบทฤษฎีวิม ฮอฟ แทบจะทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย แม้แต่ตัววิม ฮอฟ เองก็เปิดช่องส่วนตัวเพื่อสอนโดยเฉพาะ

เว็บไซต์ของ wim hof method ยังพูดไปถึงประโยชน์อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องกระตุ้นภูมิร่างกาย การฝึกหายใจแบบวิม ฮอฟ ยังช่วยเรื่องอื่นด้วย เช่น การนอนหลับ, ลดความเครียด, ลดการซึมเศร้า, ช่วยเพิ่มพลังงาน ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า, ลดการอักเสบของร่างกาย เป็นต้น

ยกตัวอย่างการฝึกหายใจแบบวิม ฮอฟ ทำไมถึงลดอาการซึมเศร้าหรือเครียดได้ งานวิจัยอธิบายว่า เทคนิคของ วิม ฮอฟ พยายามเน้นที่ความบาลานซ์สารเคมีในร่างกายด้วยการฝึกหายใจ ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มออกซิเจนในเลือดได้ด้วย จึงช่วยปรับค่าความเป็นด่างในเลือด เกิดสมรรถภาพของร่างกายและลดการเกิดโรคซึมเศร้าได้นั่นเอง

ทั้งนี้ ในปี 2021 มีผลการศึกษาจากกลุ่มอาสาสมัครที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับและภูมิร่างกาย โดยใช้เวลาฝึกหายใจแบบวิม ฮอฟ ประมาณ 2 เดือน และทำการทดสอบผลลัพธ์หลังจากนั้น ผลก็คือกลุ่มที่ทำการศึกษาส่วนใหญ่สามารถกระตุ้นภูมิในร่างกายได้ดีขึ้น (ในระดับที่แตกต่างกัน) แต่ 100% เรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพการนอน คือช่วยให้นอนหลับสนิทและนอนหลับง่ายขึ้นหลังจากที่ฝึกหายใจ

‘วิม ฮอฟ’ มนุษย์น้ำแข็งที่ริเริ่มทฤษฎี ‘การหายใจ + ความเย็น’ ศาสตร์สุขภาพดี ช่วยให้นอนหลับสบาย

ทำไมต้องคู่กับความเย็น?

ส่วนเหตุผลที่ทฤษฎีของวิม ฮอฟ เชื่อในความหนาวเย็นว่าจะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่าอากาศอบอุ่นหรือร้อน เพราะว่าโดยปกติแล้วสภาวะร่างกายของมนุษย์จะตอบสนองได้ดีขึ้นเมื่อเราเผชิญหน้ากับ 3 อย่างด้วยกัน ก็คือ รู้สึกหนาวแบบสุด ๆ, หิวแบบสุด ๆ และมีการใช้ออกซิเจนมากที่สุด (จะเกิดขึ้นระหว่างการฝึกหายใจแบบวิม ฮอฟ)

ซึ่งก็ส่งผลต่อเนื่องมาถึงการลดการอักเสบของร่างกายได้ดีขึ้น หลังจากที่ร่างกายเจอกับความหนาวแบบขีดสุด ซึ่ง วิม ฮอฟ เคยพูดในแอคเคาท์ TikTok ของเขาเองโดยอธิบายง่าย ๆ ว่า “ความหนาวเย็นที่เกินร่างกายจะรับไหวนั้นจะกระตุ้นสารบางอย่างที่ซ่อนในร่างกายทุกคนให้ออกมาสู้ และสารตัวนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพที่น่าทึ่งหากเราฝึกเป็นประจำ”

อย่างไรก็ตาม Jonathan Carson ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เขาค้นพบว่ามีด้านมืดของวิธีการหายใจแบบวิม ฮอฟ ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ซึ่งมันก็คือ ‘ความเสี่ยง’ บางอย่างที่เกิดจากการหายใจ เขาพูดว่า “การหายใจแบบวิม ฮอฟ คือ หายใจเร็ว ๆ และกลั้นลมหายใจเอาไว้ บางทีก็อาจไม่เหมาะกับคนที่กำลังวิตก หรือเครียดจนเกินไป”

ความเสี่ยงที่(อาจ)เกิดขึ้นก็คือ คนที่กำลังวิตกกังวลอย่างรุนแรง อาจไม่สามารถแยกวิธีการหายใจได้ถูกต้องตามวิม ฮอฟ นั่นหมายความว่า การหายใจที่เร็วและแรงเกินไปสำหรับบางคนอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะบางอย่างได้เฉียบพลัน เช่น เป็นลมหมดสติ

อีกทั้งเขาได้แชร์ประสบการณ์ของเขาช่วงที่พยายามฝึกการหายใจแบบวิม ฮอฟ เขาบอกว่า “3 ครั้งแรกที่ทำค่อนข้างท้าทายมากและจับจุดการหายใจไม่ถูก ทำให้เกิดอาการแพนิคจนหายใจไม่ออก จึงต้องรีบนอนหงายบนเสื่อโยคะ จากนั้นก็ลองใหม่อีกครั้งและอีกครั้ง จนรู้สึกว่าเริ่มมีพลัง สดชื่น แต่ก็หลังจากที่ฝึกค่อนข้างนาน”

ส่วนคนที่สนใจอยากลองฝึกการหายใจแบบวิม ฮอฟ เรามีมาฝากเผื่ออยากทำตามกันง่าย ๆ โดยจุดเริ่มขั้นตอนแรกก็คือ สร้างบรรยากาศด้วยความเย็น หรือจะเป็นอากาศธรรมชาติที่ปลอดโปร่ง 2) เริ่มเข้าสู่กระบวนการหายใจ เริ่มด้วยการหายใจเข้าให้ลึกที่สุด(แบบเร็ว) และหายใจออก ทำแบบนี้ติดกัน 30 ครั้ง จากนั้นกลั้นหายใจ 1 นาที และ 3) หายใจเข้าให้ลึกที่สุดอีกครั้งและกลั้นหายใจต่ออีก 15 วินาที

หากรู้สึกว่าทั้ง 3 ขั้นตอนทำให้เราผ่อนคลาย และหายใจได้สบาย ๆ สามารถทำซ้ำอีกครั้งได้ สูงสุด 3 ครั้งต่อวัน ซึ่งต้องบอกว่า วิธีการหายใจแบบวิม ฮอฟ ไม่ใช่แค่ในยุโรปที่ได้รับความนิยม เพราะหลายประเทศในเอเชีย เช่น อินเดีย, อินโดนีเซีย, ไทย และญี่ปุ่น ก็เริ่มมีกลุ่มคนที่นิยมฝึกหายใจแบบนี้มากขึ้นในปัจจุบัน

สะท้อนได้หลายเหตุผลคือ คนส่วนใหญ่ทั่วโลกให้ความสนใจกับเรื่องสุขภาพ และแน่นอนว่าปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ ไม่เพียงพอจากภาวะต่าง ๆ ที่เข้ามารบกวน กำลังสร้างผลกระทบต่อคนทั้งโลก จนทำให้วันนี้ ‘วิม ฮอฟ’ ถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการหายใจจากหลายสื่อทั่วโลกไปแล้ว

 

ภาพ : TikTok/ Wim Hof Method

อ้างอิง :

Wimhofmethod [1]

Wimhofmethod [2]

Ncbi

Newscientist

Medicalnewstoday

Moveadaptedfitness

Thenow