‘พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล’ ผบ.ตร. คนที่ 14 เซลส์แมนที่ก้าวสู่บิ๊กตำรวจสายติดสปีด

‘พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล’ ผบ.ตร. คนที่ 14 เซลส์แมนที่ก้าวสู่บิ๊กตำรวจสายติดสปีด

‘พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล’ ก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 14 ของไทย เขามาจากการงานแบบ เซลส์แมน ก่อนก้าวสู่บิ๊กตำรวจสายติดสปีด

  • พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 14 ของไทย 
  • ก่อนมาสายตำรวจ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เคยทำงานสายเซลส์แมน 
  • แม้จะเริ่มงานสายตำรวจขณะอายุไม่น้อยแล้ว เส้นทางการเลื่อนขั้นถูกมองว่า รวดเร็วจนเป็นที่จับตา

หลายคนที่ติดตามข่าวในแวดวงการเมืองคงทราบกันว่าเมื่อเย็นวันที่ 27 กันยายน 2566 ที่ประชุมการคัดเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ มีมติให้ ‘พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล’ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับตำแหน่ง ‘ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ’ คนที่ 14 ต่อจาก ‘พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์’ ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการภายในสิ้นเดือนกันยายน 2566

อย่างไรก็ตาม ชื่อของ ‘พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล’ เป็นที่คาดหมายกันมายาวนานก่อนหน้านี้แล้วว่า น่าจะเป็นผู้ได้รับคัดเลือกเป็น ‘ผบ.ตร.’ ที่จะเข้ามากุมอนาคตของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)

หากย้อนประวัติ และเส้นการเติบโตสู่การเป็น ‘ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ’ ของ ‘บิ๊กต่อ’ อาจกล่าวได้ว่า นับเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง โดย ‘พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล’ เกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2507 พื้นเพเป็นชาวเพชรบุรีแต่กำเนิด เป็นบุตรคนสุดท้องของครอบครัว ‘สุขวิมล’ อีกทั้งยังเป็นน้องชายของ ‘พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล’ ราชเลขานุการในพระองค์และเลขาธิการพระราชวังด้วย

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้จบการศึกษา ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนโยธินบูรณะ เป็นนักกีฬายิงปืนเยาวชนทีมชาติ ก่อนที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นปริญญาตรี สาขาการเมืองการปกครองเอกบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับเป็นสิงห์แดงรุ่นที่ 38 นับเป็นบุคคล ‘ไร้รุ่น’ ในวงการพี่น้องตำรวจ

โดยในหนังสือครบรอบ 70 ปี รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มีบทสัมภาษณ์พิเศษของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล กับรุ่นน้องเกี่ยวกับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า เป็นนักศึกษารุ่นแรกที่ได้ไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งตอนนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังอยู่ในช่วงกรณีการจะย้ายหรือไม่ย้ายมหาวิทยาลัยจากท่าพระจันทร์ไปรังสิต

ทั้งนี้ ‘พี่ต่อ’(ในคำสัมภาษณ์) ยังเป็นคนสำคัญที่ทำให้เพื่อนพ้องน้องพี่ระหว่างคณะรัฐศาสตร์ กับคณะนิติศาสตร์ต่อติดกันได้ เพราะทั้งสองคณะนี้นับอริกันกลาย ๆ ในด้านการศึกษา และสังคม

โดยบิ๊กต่อระบุว่า “พี่เป็นพี่ใหญ่ น้อง ๆ ให้ความเคารพ มีปัญหาอะไรก็พี่ต่อทั้งนั้น เลยได้เพื่อนได้ฝูง 4 ปีครบ” ทั้งยังเรียนต่อปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุมด้วย

เมื่อจบการศึกษา พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ลงเอยทำงานที่บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ ดำรงตำแหน่งงานเป็น ‘Sale Representative’ หรือตัวแทนขายของบริษัทนั้นเอง จากนั้นก็ได้ย้ายมาดูงาน Marketing ดูเรื่องของ Work Permit Officer เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตจากหน่วยราชการในการตั้งสถานีบริการน้ำมัน โดยต้องติดต่อกับหน่วยราชการหลายหน่วย ซึ่งในคำให้สัมภาษณ์ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล กล่าวว่า

“แล้วก็ต้องติดต่ออำเภอ ส่วนราชการ มันก็เป็นข้อดีของเราที่มีรุ่นพี่เป็นนายอำเภอ เป็นผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ ที่เขาดูงานในเรื่องที่เราประสานงานอยู่”

ในช่วง 8 ปี ตลอดการทำงานที่บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ ด้วยเงินเดือนที่มากกว่าการทำงานในระบบราชการเวลานั้น ทำให้พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ทำงานเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง แต่ต่อมาเมื่อผลประกอบการของบริษัทไม่เป็นไปคาด จุดพลิกผันของชีวิตก็มาถึง

ในช่วงนั้นมีเปิดสอบตำรวจสายสอบสวน รุ่นที่ 4 พอดี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล จึงตัดสินใจเข้าอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอต.) รุ่นที่ 4 และสอบเข้าบรรจุ เรียกได้ว่า ‘ครั้งเดียวติด’ ทั้งยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกับ นายวัน อยู่บำรุง อดีต สส.บางบอน พรรคเพื่อไทย จากนั้นเส้นทางสายตำรวจของเขาก็ได้เริ่มต้นขึ้น

การรับราชการครั้งแรกของชีวิตในปี พ.ศ. 2540 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ดำรงตำแหน่งเป็นรองสารวัตร กองกำกับสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 ด้วยอายุ 33 ปีเศษ ถือว่าเป็นตำรวจที่มีอายุมากพอสมควร ถัดมาเพียง 2 ปี ก็ได้ติดยศ ‘ร้อยตำรวจโท’ เข้าเรียนที่โรงเรียนสืบสวนวิทยาลัยการตำรวจ รุ่นที่ 71 และได้ดำรงตำแหน่งรองสารวัตร สังกัดกองปราบปราม เป็นหัวหน้าชุดสืบสวน อยู่งานแผนก 3 กอง 2 รถวิทยุ แล้วขึ้นเป็น ‘สารวัตร’ ตำรวจท่องเที่ยว ก่อนจะกลับมาเป็นสารวัตรกองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองปราบฯ และได้ขึ้นเป็นรองผู้กำกับ-ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ และรองผู้บังคับการปราบปรามตามลำดับไป

อย่างไรก็ตาม ชื่อของ ‘ต่อศักดิ์ สุขวิมล’ ได้รับความสนใจในช่วงไม่กี่ช่วงปีที่ผ่านมา จากกรณีการขึ้นสู่ตำแหน่งอย่างรวดเร็วระหว่างปี พ.ศ.2561 – 2562 ตั้งแต่ตำแหน่งรองผู้บังคับการกองปราบปราม โดยเมื่อหน่วยคอมมานโด ได้รับการยกฐานะเป็น ‘กองบังคับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ’ มีต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บังคับการคนแรก

ซึ่งในเวลาไม่นาน หน่วยนี้ก็ได้ยกเครื่องใหม่เป็น ‘กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904’ และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ‘กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ’ ภายใต้หน่วยงานของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยหน่วยดังกล่าวมีพันธกิจสำคัญคือการดูแลถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ไปจนถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และผู้แทนพระองค์ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และยังมีภารกิจอย่างต่อต้านก่อการร้าย ป้องกันและปราบปรามการจลาจล และควบคุมฝูงชน

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล นับเป็นบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งกองบังคับการนี้ โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ผู้จัดการว่า หน่วยดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นภายหลังจากที่รัชกาลที่ 9 สวรรคต และรัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์ เขาจึงมีหน้าที่ถวายความปลอดภัยและมีดำริว่าจำเป็นต้องตั้งกองบังคับการขึ้น ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานชื่อใหม่ให้เป็นกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล มีบทบาทสำคัญในการตั้งหน่วยงานนี้ และฟื้นคืนชื่อเสียงให้กับหน่วยคอมมานโด โดยการส่งลูกน้องเข้าไปฝึกหลักสูตรต่าง ๆ เช่น หลักสูตรนเรศวร 261 หลักสูตรสไนเปอร์ หลักสูตร VIP Protection หลักสูตรโดดร่ม ฯลฯ เขาเปรียบลูกน้องในหน่วยคอมมานโดว่า ‘เป็นดินที่มีคุณภาพ’ เพียงแต่ไม่มีใครปลุกปั้น ซึ่งพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล กล่าวต่อว่า “นั่นคือก้อนดินที่คนไม่เห็นค่า เอาก้อนดินนี้ไปให้ค่ายนเรศวรปั้นออกมาเป็นภาชนะที่สวยงาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ภาชนะชิ้นนี้ นั่นคือความภาคภูมิใจของหน่วย”

โดยระหว่างนี้ เขาได้เลื่อนขั้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจและผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตามลำดับ ก่อนจะเข้าสู่ส่วนกลางในปี 2564 เป็น ‘ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ’ และในปีถัดมาได้สวมบทบาทเป็น ‘รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ’ การขึ้นสู่ตำแหน่งต่าง ๆ อย่างรวดเร็วฉับไวนั้น ย่อมสร้างความตกตะลึงต่อสังคม

ต่อมา วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ในรัฐสภาขณะที่เปิดเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ชื่อของพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล เอ่ยถึงกรณี ‘ตั๋วช้าง’ ซึ่งหมายถึงเอกสารขอสนับสนุนการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งนายตำรวจ 20 นาย ที่ลงนามโดยบุคคลภายนอก

ก่อนมติให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล มีผลงานโดดเด่นหลายกรณี ทั้งการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล เปิดปฏิบัติการ ‘วาฬเกยตื้น’ ทลายเครือข่ายเว็บไซต์พนันออนไลน์ รวมถึงปฏิบัติการจัดการเหตุการณ์กราดยิงโคราชด้วย

ทั้งนี้ อีกคนหนึ่งที่นับว่ามีผลงานไม่แพ้กัน และยังมีโอกาสขึ้นสู่ตำแหน่งผบ.ตร.อีกคน คือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. นับเป็นหนึ่งในแคนดิเดตสำคัญ เป็นเงาตามตัวของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่ก่อนหน้ามติแต่งตั้งผบ.ตร. ไม่กี่วัน ปฏิบัติการ ‘ตัดโจ๊ก’ ก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อกองตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมหน่วยคอมมานโด นำหมายค้นเข้าตรวจสอบบ้านของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และบ้านที่ให้ลูกน้องพักรวม 5 หลัง ในหมู่บ้านซอยวิภาวดี 60 หลังสโมสรตำรวจ เมื่อ 25 ก.ย. 2566 ทำให้ชื่อของบิ๊กโจ๊ก หนึ่งในแคนดิเดต ผบ.ตร. ชะงักไปในที่สุด พร้อมกับคำถามมากมายว่า “ใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้”

ต่อมา วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2566 การประชุมการคัดเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทนที่ ‘พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์’ ที่จะเกษียณอายุราชการภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ก็เริ่มต้นขึ้นด้วยความตึงเครียด กระทั่งยังมีข่าวว่ามีการเลื่อนการคัดเลือกดังกล่าว โดยจะให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ปฏิบัติหน้าที่แทน ผบ.ตร. แต่ในที่สุด หวยออกมาเป็นชื่อของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ด้วยมติของที่ประชุม ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในที่สุด

ไม่ว่าการคัดเลือกครั้งนี้จะมีเกมตัดเกมอย่างไร แต่สำหรับประชาชนที่เฝ้ามองเหตุการณ์ก็ได้แต่เพียงขอให้ ‘ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ’ คนใหม่ นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กรตำรวจ เพราะก่อนหน้านี้ เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับตำรวจมีให้เห็นถี่ยิบ โดยเฉพาะกรณีของ ‘กำนันนก’ ผู้ทรงอิทธิพลแห่งเมืองนครปฐม นับเป็นข่าวสั่นสะเทือนวงการชุดสีกากีเป็นอย่างยิ่ง นำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาของประชาชนต่อผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

ทั้งนี้ นับตั้งแต่การยึดอำนาจของ คสช. เมื่อปี 2557 แนวทางปฏิรูปองค์กรตำรวจดูเหมือนจะไม่มีผลสำเร็จแต่ประการใด

เราคงหวังเพียงให้ตำรวจไทยเป็นอย่างเพลงมาร์ชตำรวจ ที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ของประชาชนชาวไทย โดยจะไม่ยอมเป็นมิตรกับผู้กระทำผิด ดังที่ร้องว่า

“ไม่ยอมเป็นมิตร ผู้ผิดกฎหมาย ปราบโจรผู้ร้าย กล้าตายเรื่อยมา เนื้อของเราเราเชือด พร้อมทั้งเลือดเราพลี เอาชีวีของเราเข้าแลกมา เพื่อให้ประชาดำรงสุขสถาพรชัย”

 

เรื่อง: จงเจริญ ขันทอง

ภาพ: แฟ้มภาพจาก NATION PHOTO

อ้างอิง:

Spacebar

Thai PBS

BBC

BBC(2)

Dailynews

MGR Online

PPTV

posatu.com

Prachatai