04 พ.ย. 2566 | 19:04 น.
- แม้เราจะเห็นเศรษฐีบางคนทุ่มเงินมหาศาลไปกับเรื่องไร้สาระ แต่คนรวยที่ฉลาดจะประหยัดจนน่าประหลาดใจ ไม่ว่าจะเป็น ‘บิล เกตส์’ ที่สวมนาฬิการาคา 10 ดอลลาร์ หรือ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ที่กินมื้อเช้าของ ‘แมคโดนัลด์’ ทุกวัน ตกมื้อละไม่เกิน 3.17 ดอลลาร์ ส่วน ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิรก์’ ก็เลือกขับรถโฟล์คสวาเกน เกียร์กระปุก
- ทั้งเพื่อน เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมงานของเรา อาจมีอุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัยไว้ใช้ ด้วยแนวคิดที่ว่า ‘ของมันต้องมี’ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องมีเหมือนกันกับเขา หากเราให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากกว่าการรับรู้ของคนอื่น
“ใครอยากเป็นเศรษฐี ฉันน่ะสิ ฉันน่ะสิ...”
หากอยากจะรวยเป็น ‘เศรษฐี’ แบบไม่ต้องร้องเพลงด้วยความหวังลม ๆ แล้ง ๆ สิ่งสำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียวที่เราสามารถทำได้คือ ‘เรียนรู้’ จากบุคคลที่ร่ำรวยมหาศาล เช่น ‘บิล เกตส์’ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์, ‘เอริก ชมิดต์’ อดีตซีอีโอกูเกิล และ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ซีอีโอเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์
ซึ่งการเรียนรู้จากบุคคลที่ประสบความสำเร็จนั้น มีทั้งการเรียนรู้ในสิ่งที่ ‘ควรทำ’ และ ‘ไม่ควรทำ’
ต่อไปนี้คือ 7 เรื่องที่เหล่ามหาเศรษฐีระดับโลกคอยระมัดระวังเพื่อไม่ให้เงินลอยออกนอกกระเป๋า แต่คนทั่วไปอย่างเรา ๆ มักจะทำผิดพลาด และไม่ค่อยสนใจสักเท่าไร รวบรวมขึ้นโดย ‘แอลล์ แคปแลน’ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ LexION Capital บริษัทบริหารจัดการความมั่งคั่งในนิวยอร์กซิตี้
1. เสียค่าธรรมเนียม - ค่าปรับ
เหล่ามหาเศรษฐีรู้ดีว่าการเสีย ‘ค่าธรรมเนียม’ หรือ ‘ค่าปรับ’ เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ และเสียเงินโดยใช่เหตุ พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับการชำระเงินตรงเวลา โดยใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น การชำระเงินอัตโนมัติ เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระเงินล่าช้าสำหรับสินค้าและบริการทุกอย่าง ตั้งแต่ค่าสาธารณูปโภค ค่าจำนอง ไปจนถึงค่าบัตรเครดิต
พวกเขายังระมัดระวังค่าธรรมเนียมของธนาคารต่าง ๆ ด้วย เพราะธนาคารหลายแห่งอาจมีการเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมในบางบริการ ซึ่งบางคนก็ถูกเก็บเงินไปโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ดังนั้นเราจึงควรหมั่นตรวจสอบใบแจ้งยอดรายเดือนจากธนาคารให้เป็นนิสัย
2. คะแนนเครดิตต่ำ
‘คะแนนเครดิต’ (Credit Score) คือหนึ่งในสิ่งที่สถาบันการเงินใช้ประเมินเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยของเรา คนที่มีคะแนนเครดิตสูงอาจจะได้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยได้มากกว่าตลอดการกู้ ส่วนคนที่คะแนนเครดิตต่ำอาจจะทำให้ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ในยามจำเป็น
คนรวยรู้เรื่องนี้ดี และพวกเขาไม่เคยละเลยเรื่องคะแนนเครดิต พวกเขามักจะตรวจสอบคะแนนของตนเองอยู่ตลอดเวลา และพยายามอย่างเต็มที่เพื่อรักษาคะแนนให้คงเดิม ด้วยการรักษาระดับหนี้ให้ต่ำ และชำระค่าใช้จ่ายให้ตรงเวลา
3. ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
แม้เราจะเห็นเศรษฐีบางคนทุ่มเงินมหาศาลไปกับเรื่องไร้สาระ แต่คนรวยที่ฉลาดจะประหยัดจนน่าประหลาดใจ ไม่ว่าจะเป็น ‘บิล เกตส์’ ที่สวมนาฬิการาคา 10 ดอลลาร์ หรือ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ที่กินมื้อเช้าของ ‘แมคโดนัลด์’ ทุกวัน ตกมื้อละไม่เกิน 3.17 ดอลลาร์ ส่วน ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิรก์’ ก็เลือกขับรถโฟล์คสวาเกน เกียร์กระปุก
“คนรวยไม่ได้รวยจากการซื้อทุกสิ่งทุกอย่าง พวกเขาเป็นนักช้อปที่ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง” แพม แดนซิเกอร์ นักวิจัยด้านการตลาด กล่าว พร้อมกับเสริมว่า “การใช้จ่ายด้วยอารมณ์ชั่ววูบนำไปสู่การสิ้นเปลือง การใช้จ่ายเกินตัว และหนี้สิน ซึ่งเป็น 3 สิ่งที่ผู้ประสบความสำเร็จหลีกเลี่ยง”
4. เป็นเหยื่อการตลาด
แผนการตลาดมีอยู่ทุกหนทุกแห่งบนโลก แต่คนรวยมักจะไม่ตกหลุมนักการตลาด และไม่ตาลุกวาวเมื่อเห็นโปรโมชั่นหรือแคมเปญ ตรงกันข้าม พวกเขาจะใช้วิธีการเปรียบเทียบจนแน่ใจว่าสินค้าหรือบริการที่จะซื้อมีความ ‘คุ้มค่า’ ควบคู่กับ ‘คุณค่า’ เสมอ
หากเราอยากจะฝึกนิสัยนี้ ไม่ว่าจะซื้อของชิ้นเล็กหรือใหญ่ ให้เลือกจากการซื้อสินค้าที่มีคุณภาพดี ที่ถึงแม้จะมีราคาแพงกว่า แต่สามารถใช้งานได้หลายปี ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม
5. พยายามเอาชนะตลาด
‘เอริก ชมิดต์’ มหาเศรษฐี และอดีตซีอีโอของกูเกิล กล่าวว่า การเทรดระยะสั้น (short-term trading) หรือการเทรดทำกำไรจากความเคลื่อนไหวของราคาในระยะเวลาสั้น ๆ จะไม่ทำให้เรารวย เขามักจะคิดถึงระยะยาว และไม่เคยพยายามเอาชนะตลาดเลย เช่นเดียวกับ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ที่เห็นด้วยกับการใช้กลยุทธ์ระยะยาว
6. มีรายได้ช่องทางเดียว
การมีรายได้หลายช่องทางจะช่วยให้เรามีรายได้มากขึ้น และคนรวยไม่เคยหวังพึ่งรายได้เพียงช่องทางเดียว ลองเริ่มจากงานเสริมจากทรัพยากรหรือความสามารถที่เรามี เช่น ถ้ามีรถหลายคันอาจเริ่มจากการให้เช่ารถ การทำงานเสริมนอกเวลางาน ถ้าชอบเด็กก็ลองไปเป็นครูสอนพิเศษ หรือรับงานเขียนในสิ่งที่เราเชี่ยวชาญดู
7. เน้นหน้าตาทางสังคม
คนรวยตระหนักดีว่า การมีชีวิตที่ดีนั้นเป็นเรื่อง ‘ส่วนตัว’ ยกตัวอย่าง บัฟเฟตต์ ที่ไม่เคยซื้อไอโฟนใช้เลย กระทั่งมีคนนำมามอบให้เขาเป็นของขวัญ แต่เขาก็ไม่เคยนำมันมาใช้
ทั้งเพื่อน เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมงานของเรา อาจมีอุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัยไว้ใช้ ด้วยแนวคิดที่ว่า ‘ของมันต้องมี’ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องมีเหมือนกันกับเขา หากเราให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากกว่าการรับรู้ของคนอื่น
ถึงตรงนี้เราจึงต้องตัดสินใจให้ได้ว่า เราต้องการใช้ชีวิตของตัวเองอย่างไรทั้งในปัจจุบันและอนาคต จงอย่าให้ใครมาตัดสินใจแทนเรา