‘ชาร์ลี มังเกอร์’ ชายผู้มีชีวิตดั่งโศกนาฏกรรม สู่ตำนานนักลงทุนคู่หู ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’

‘ชาร์ลี มังเกอร์’ ชายผู้มีชีวิตดั่งโศกนาฏกรรม สู่ตำนานนักลงทุนคู่หู ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’

‘ชาร์ลี มังเกอร์’ ผู้เผชิญโศกนาฏกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่เคยยอมแพ้ต่อโชคชะตา กลายมาเป็นตำนานนักลงทุนที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของโลก

  • หลังเรียนจบชั้นมัธยมปลาย มังเกอร์ลงทะเบียนเรียนด้านคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน แต่เรียนถึงแค่ปี 2 ดันเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาจึงต้องดรอปเรียนไปเกณฑ์ทหาร
  • ชีวิตในวัย 29 ของมังเกอร์ อยู่ในจุดที่น่าพอใจ กระทั่งปี 1953 เขาต้องหย่าขาดจากภรรยา จบชีวิตแต่งงาน 8 ปี ที่มีพยานรักด้วยกัน 3 คน

จากชีวิตที่ต่ำต้อยและเต็มไปด้วยโศกนาฏกรรม ‘ชาร์ลี มังเกอร์’ กลายมาเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกการเงินในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ 1 มกราคม 1924 ซึ่งเป็นวันที่เขาลืมตาดูโลกครั้งแรก ณ เมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา สหรัฐอเมริกา ในครอบครัวที่มีแม่ชื่อ ‘ฟลอเรนซ์’ พ่อชื่อ ‘อัลเฟรด ซี.’

ตอนเป็นวัยรุ่น ชาร์ลี มังเกอร์ ทำงานที่ร้านขายของชำ ‘Buffet & Son’ ซึ่งเจ้าของก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นปู่ของ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ซึ่งต่อมาเขาทั้งคู่ได้กลายมาเป็น ‘คู่หู’ กัน 

ดรอปเรียนไปเกณฑ์ทหาร

หลังเรียนจบชั้นมัธยมปลาย มังเกอร์ลงทะเบียนเรียนด้านคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน แต่เรียนถึงแค่ปี 2 ดันเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาจึงต้องดรอปเรียนไปเกณฑ์ทหารในช่วงวันเกิดอายุครบ 19 ปี แล้วไปประจำการในกองทัพอากาศสหรัฐฯ ซึ่งได้ส่งเขาไปฝึกเป็น ‘นักอุตุนิยมวิทยา’ ที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย เมืองแพซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย 

ระหว่างเป็นทหารในกองทัพอากาศ เขายังถูกส่งไปประจำการรัฐอะแลสกา จนได้พบกับ ‘แนนซี ฮักกินส์’ ทั้งคู่ออกเดต และแต่งงานกันไม่นานหลังจากนั้น 

หลายปีผ่านไปอย่างเชื่องช้า พร้อมกับความตาย ความเสียหายย่อยยับ และความบ้าคลั่งของสงคราม

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง มังเกอร์ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเขาจะทำอะไรต่อไปในชีวิตดี เพราะถึงแม้ในช่วงที่อยู่ในกองทัพ เขาจะได้เรียนหลักสูตรขั้นสูงต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง แต่เขาก็ไม่เคยได้รับปริญญาตรีสักใบ 

ในที่สุดเขาก็เจอเป้าหมายนั่นคือการเข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) หวังตามรอยพ่อและปู่ที่ประกอบอาชีพ ‘นักกฎหมาย’ 

แต่เนื่องจากการเข้าเรียนที่นี่ ผู้เรียนจะต้องจบปริญญาตรีมาก่อน เขาจึงต้องขอความช่วยเหลือจาก ‘รอสโค พอนด์’ อดีตคณบดีโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นเพื่อนของครอบครัว มังเกอร์จึงได้เข้าเรียนที่นี่สมใจ และสำเร็จการศึกษาพร้อมเกียรตินิยมในปี 1948

โศกนาฏกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า 

หลังเรียนจบเขาก็พาครอบครัวย้ายไปอยู่เมืองแพซาดีนา เพราะได้งานในสำนักงานกฎหมายชื่อ ‘Wright & Garrett’ 

ชีวิตในวัย 29 ของมังเกอร์ อยู่ในจุดที่น่าพอใจ กระทั่งปี 1953 เขาต้องหย่าขาดจากภรรยา จบชีวิตแต่งงาน 8 ปี ที่มีพยานรักด้วยกัน 3 คน

การหย่าร้างในเวลานั้น นอกจากจะถือเป็น ‘ตราบาปทางสังคม’ มังเกอร์เองยังต้องสูญเสียเกือบทุกอย่างให้กับอดีตภรรยา ซึ่งรวมถึงบ้านที่เคยเป็นรังรักอันอบอุ่น และลูก ๆ อีก 3 คน ส่วนตัวเขานั้นต้องย้ายไปอยู่ห้องเช่าที่สภาพไม่น่าอภิรมย์สักเท่าไร แถมยังต้องขับรถพอนทิแอค (ปอนเตี๊ยก) ที่สภาพจวนจะพังมิพังแหล่ 

ระหว่างนี้เองที่เขารุกเข้าสู่โลกธุรกิจเป็นครั้งแรก เนื่องจากบริษัทหม้อแปลงไฟฟ้าของลูกค้ารายหนึ่งเกิดมีปัญหา มังเกอร์จึงตัดสินใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจนี้ 

เขาทำงานอย่างบ้าคลั่งตลอดทั้งสัปดาห์เพื่อหาเงินตั้งตัวใหม่ ความสุขเพียงไม่กี่อย่างของเขาในเวลานั้นคือการได้พาลูก ๆ ไปเที่ยวสวนสัตว์ในวันเสาร์ 

แต่ชีวิตของเขาไม่ได้เจอบททดสอบเพียงเท่านี้ หนึ่งปีหลังการหย่าร้าง ‘เท็ดดี้’ ลูกชายวัย 8 ขวบของเขา เกิดป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีทั้งวิธีรักษาและประกันสุขภาพ มังเกอร์ทุ่มเงินที่มีทั้งหมดเพื่อรักษาชีวิตของลูกชายสุดที่รักเอาไว้ และต้องพาเท็ดดี้ไปโรงพยาบาลทุกวัน

ตลอด 11 เดือน มังเกอร์ต้องเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิต กระทั่งถึงวันที่เท็ดดี้สิ้นใจ มังเกอร์เข้าไปกอดลูกชายที่นอนอยู่บนเตียงโรงพยาบาล จากนั้นก็ออกไปเดินบนถนนด้วยสภาพน้ำตานองหน้า เท็ดดี้จากไปขณะอายุ 9 ขวบ พร้อมหัวใจที่แตกสลายของผู้เป็นพ่อ

ในช่วงที่ชีวิตเจอมรสุมลูกใหญ่ ทั้งการแต่งงานที่ล้มเหลว ฐานะทางการเงินที่ไม่มั่นคง และการสูญเสียลูกชาย มันอาจเป็นเรื่องง่ายที่จะหันไปพึ่งเหล้าหรือยาเสพติดเช่นเดียวกับคนมากมายที่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา ทว่ามังเกอร์ไม่เหมือนกับคนเหล่านั้น

“คุณคงไม่อยากจมอยู่กับความสมเพชตัวเอง ความสมเพชตัวเองไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น” มังเกอร์ให้สัมภาษณ์ถึงช่วงเวลานั้นในภายหลัง 

เมื่อเริ่มตั้งหลักได้ เขาก็เริ่มมองหาภรรยาใหม่ ไม่นานเขาก็ได้พบกับ ‘แนนซี แบร์รี’ แม่ม่ายลูกติด 2 คน ชีวิตที่ซวนเซของมังเกอร์จึงเริ่มกลับมายืนได้อีกครั้ง 

เมื่อ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ เข้ามาในชีวิต 

แต่กลับมามีความสุขได้ไม่นาน ปี 1959 พ่อของเขาก็จากไปก่อนวัยอันควร มังเกอร์จึงต้องเดินทางกลับบ้านที่เมืองโอมาฮา ตอนนั้นเองที่เขาได้พบกับ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ ปรากฏว่าพวกเขาสนิทกันอย่างรวดเร็ว หลังจากคุยกันจนรู้ว่าต่างก็เคยทำงานที่ร้านชำเดียวกัน แต่ตอนนั้นไม่เคยพบกันเลย 

ชาย 2 คนที่เหมือนถูกชะตากำหนดให้ได้พบกัน ติดต่อพูดคุยกันเรื่อยมา แม้ว่ามังเกอร์จะเดินทางกลับแคลิฟอร์เนียแล้ว โดยหัวข้อที่ทั้งคู่ชอบคุยกันคือ ‘ไอเดียการลงทุน’ 

ที่สุดแล้วในปี 1962 บัฟเฟตต์จึงได้โน้มน้าวให้มังเกอร์ออกจากงาน และหันมาเปิดบริษัทด้านการลงทุนเต็มตัว 

“วอร์เรนชักชวนให้ผมออกจากบริษัทกฎหมาย และนั่นมีอิทธิพลสำคัญอย่างมากต่อผม ผมกำลังคิดจะเป็นนักลงทุนเต็มเวลาอยู่แล้ว และวอร์เรนบอกผมว่าผมเหมาะกับสิ่งนี้มากกว่า”

บริษัทด้านการลงทุนของมังเกอร์ก่อตั้งในปี 1962 และทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยระหว่างปี 1962 - 1975 บริษัทสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนโดยเฉลี่ย 24.3% ต่อปี ขณะที่ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ให้ผลตอบแทน 6.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน 

แต่ขณะที่กราฟชีวิตของเขากำลังพุ่งทะยาน พลัน ‘โชคร้าย’ ก็แวะมาทักทายชีวิตเขาอีกครั้ง เมื่อการลงทุนของเขาเริ่มไม่เป็นไปตามที่หวัง ทำให้เขาต้องเผชิญกับความสูญเสียอย่างหนักถึง 2 ปี จนถึงที่สุดต้องปิดกิจการไป 

โชคร้ายยังไม่ยอมหลุดออกจากตัวเขาง่าย ๆ เพราะอีก 2 - 3 ปีต่อมา ขณะที่มังเกอร์อายุ 52 ปี เขาเกิดเป็นโรคต้อกระจก การผ่าตัดที่ผิดพลาดทำให้เขาเสียดวงตาไป 1 ข้าง และทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่คล้ายกับมะเร็ง ทำให้เขาเจ็บปวดจนไม่สามารถทรงตัวยืนได้ 

หลังผ่านพ้นการรักษา มังเกอร์กลับไปฝึกฝนทักษะการลงทุนกับบัฟเฟตต์ ทั้งคู่เริ่มลงทุนด้วยกัน พวกเขาซื้อหุ้นในบริษัทสิ่งทอแห่งหนึ่ง และทุ่มความพยายามเพื่อค้นหาและลงทุนในธุรกิจที่มีแนวโน้มดีอื่น ๆ

ปัจจุบัน มังเกอร์เป็นผู้อำนวยการและรองประธาน ‘เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์’ (Berkshire Hathaway) โดยทำงานให้กับบริษัทมาตั้งแต่ปี 1978 แม้อายุของเขาจะล่วงเลยมาถึง 99 ปีแล้ว แต่เขายังคงช่วยบัฟเฟตต์ในการตัดสินใจจัดสรรเงินทุนก้อนใหญ่ ๆ รวมถึงการจัดการพอร์ตหุ้นมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ของเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ด้วย 

ที่สำคัญมังเกอร์ยังได้รับการกล่าวขานว่าเป็นทั้ง ‘หุ้นส่วนทางปัญญา’ และ ‘หุ้นส่วนทางธุรกิจ’ ของบัฟเฟตต์ในคนคนเดียวกัน

‘ชาร์ลี มังเกอร์’ ชายผู้มีชีวิตดั่งโศกนาฏกรรม สู่ตำนานนักลงทุนคู่หู ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’

ปรัชญาการลงทุนของชาร์ลี มังเกอร์ 

มังเกอร์ไม่ได้บูชา ‘เบนจามิน เกรแฮม’ หรือรูปแบบการลงทุนแบบ ‘ก้นบุหรี่’ (cigar butt) เหมือนกับบัฟเฟตต์ที่เจอกับเกรแฮมตั้งแต่ยังอายุน้อย ๆ และเคยทำงานให้กับเกรแฮม แต่มังเกอร์ก็ยอมรับว่าในฐานะนักลงทุน มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้จากเกรแฮม ผู้เคยผ่านวิกฤตครั้งใหญ่และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาก่อน

“ผมคิดว่าเบน เกรแฮม ไม่ได้เป็นนักลงทุนที่ดีเท่าวอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือแม้แต่ดีเท่าผมด้วยซ้ำ การซื้อหุ้นก้นบุหรี่ หรือหุ้นราคาถูกนั้น เป็นกับดักและภาพลวงตา และมันจะไม่ได้ผลกับเงินจำนวนเท่าที่เรามีอยู่ คุณจะไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ด้วยเงินหลายพันล้านดอลลาร์หรือหลายล้านดอลลาร์

“แต่เขา (เบน เกรแฮม) เป็นนักเขียนที่ดีมาก เป็นครูที่ดีมาก เป็นคนที่ฉลาด และอาจเป็นหนึ่งในปัญญาชนเพียงคนเดียวในธุรกิจการลงทุนในขณะนั้น” มังเกอร์ให้สัมภาษณ์ถึงเกรแฮมเมื่อเดือนกันยายน 2014 

ดังนั้นแทนที่จะมองหาหุ้น Deep Value (หุ้นที่มีราคาถูกมากในเชิงพื้นฐาน) มังเกอร์กลับมองหาหุ้นของธุรกิจที่มีคุณภาพแทน และในปี 1965 เขาก็เริ่มโน้มน้าวให้บัฟเฟตต์ใช้สไตล์เดียวกัน แต่ถึงแม้มังเกอร์จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนของบัฟเฟตต์ในช่วงต้น ๆ แต่บัฟเฟตต์ก็ยังคงบริหารจัดการหุ้นของตัวเองจนถึงปลายยุค 1970s โดยยังคงเน้นที่การแสวงหาโอกาสในการเก็งกำไร และหุ้นก้นบุหรี่

กระทั่งช่วงปลายทศวรรษ 1990s ถึงต้นทศวรรษ 2000s หุ้นที่มังเกอร์ซื้อก็เริ่มผลิดอกออกผล ซึ่งพิสูจน์ว่าเขาสามารถทำเงินได้จำนวนมหาศาลจากธุรกิจที่มีคุณภาพสูง 

“การลงทุนที่ชาญฉลาดทั้งหมดคือการลงทุนที่เน้นคุณค่า การจะได้มาให้มากกว่าที่คุณจ่ายไป คุณต้องให้ความสำคัญกับธุรกิจเพื่อที่จะประเมินมูลค่าหุ้น”

แนวทางการลงทุนของมังเกอร์ส่งผลอย่างมากต่อผลงานของเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเข้าซื้อธุรกิจขายลูกกวาด ‘See’s Candies’ ในช่วงปลายทศวรรษ 1960s จนอาจกล่าวได้ว่าหากไร้ซึ่งแนวทางการซื้อหุ้นในธุรกิจคุณภาพดีของมังเกอร์แล้ว เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ ก็คงไม่กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกาอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ 

บทเรียนชีวิตจากชาร์ลี มังเกอร์

มังเกอร์ในวัย 99 ปี เปิดเผยว่าเคล็ดลับการมีชีวิตยืนยาวและมีความสุขนั้น ‘เรียบง่าย’ แต่มักถูกมองข้าม

เขาให้สัมภาษณ์ CNBC โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปลูกฝังกรอบความคิดที่ปราศจาก ‘ความอิจฉา’ และ ‘ความขุ่นเคือง’ รวมถึงความสำคัญของการดำเนินชีวิตตามรายได้ และรักษานิสัยร่าเริงเอาไว้ แม้จะเผชิญความยากลำบากในชีวิตก็ตาม 

ตามมุมมองของมังเกอร์ หลักการเหล่านี้ไม่เพียงนำไปใช้กับชีวิตส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำธุรกิจด้วย

“คุณอย่าไปอิจฉาใคร อย่าขุ่นเคือง อย่าใช้เงินเกินตัว แต่จงร่าเริงแม้จะเจอปัญหาก็ตาม” 

นี่คือเรื่องราวของ ‘ชาร์ลี มังเกอร์’ ชายผู้ผ่านความรันทดและมีชีวิตไม่ต่างจากโศกนาฏกรรม แต่เลือกที่จะไม่จมไปกับความมืดมิด และใช้โอกาส (ในการลงทุน) เป็นแสงสว่างนำทางให้ชีวิตตัวเอง จนกลายเป็นนักลงทุนระดับตำนานดังเช่นทุกวันนี้ 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2023 เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ออกแถลงการณ์ว่า มังเกอร์ได้จากไปอย่างสงบ ก่อนที่เขาจะมีอายุครบ 100 ปีในวันปีใหม่นี้ 



ภาพ : Getty Images 
อ้างอิง :

theinvestorspodcast

thefamouspeople

valuewalk

finance.yahoo