‘โจเซฟ ไนย์’ ผู้บุกเบิกศัพท์ Soft Power ศิลปะ-กลยุทธ์ ‘ซื้อใจ’ โดยไม่ใช้เงินและกำลัง

‘โจเซฟ ไนย์’ ผู้บุกเบิกศัพท์ Soft Power ศิลปะ-กลยุทธ์ ‘ซื้อใจ’ โดยไม่ใช้เงินและกำลัง

‘อำนาจแข็ง - อำนาจอ่อน - อำนาจอัจฉริยะ’ รู้จักศิลปะการใช้อำนาจผ่าน ‘โจเซฟ ไนย์’ ผู้บุกเบิกศัพท์ Soft Power ศิลปะและกลยุทธ์เพื่อ ‘ซื้อใจ’ โดยไม่ใช้เงินและกำลัง

  • โจเซฟ ไนย์ นักวิชาการอเมริกันบุกเบิกศัพท์ Soft Power ยุคหลังสงครามเย็น ‘อำนาจอ่อน’ ที่เป็นศิลปะและกลยุทธ์ซึ่งกลับมาได้รับความสนใจแพร่หลาย
  • โจเซฟ ไนย์ เสนอว่า คนเรายอมทำตามผู้อื่นเพียงเพราะอำนาจที่จับต้องไม่ได้ อย่างความชอบ เห็นดีเห็นงาม หรือหลงใหลในแนวคิดและภาพลักษณ์ที่น่าดึงดูดใจได้
  • แนวคิดนี้นำมาสู่คำว่า Soft Power โดย Soft Power หลักของสหรัฐอเมริกาว่า ไม่ได้มาจากทำเนียบขาว หรือนโยบายต่างประเทศ แต่มาจากภาพยนตร์ฮอลลีวูด ดารา นักร้อง แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ เรื่อยไปจนถึงสถาบันการศึกษาชั้นนำ

Soft Power คืออะไร? อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย หรือถกเถียงกันไม่จบ คำนี้ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกในยุคสงครามเย็น เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกากำลังถูกมองว่ามีอำนาจลดลง จากนั้นจึงมีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นข้อถกเถียงว่า แล้วอะไรกันแน่คือ Soft Power?

โจเซฟ ไนย์ (Joseph Nye) นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชาวอเมริกัน คือผู้อ้างว่าบัญญัติศัพท์ Soft Power ขึ้นมา เขาเล่าถึงที่มาและพัฒนาการของคำนี้ไว้ในบทความชื่อ Soft Power: the origins and political progress of a concept ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 ว่า

“ผมบัญญัติคำว่า ‘soft power’ ขึ้นมาใช้ในหนังสือ Bound to Lead เมื่อปี 1990 เพื่อท้าทายมุมมองของคนส่วนใหญ่ในเวลานั้นเรื่องอำนาจของชาวอเมริกันที่ลดลง”

เขายกตัวอย่างหนังสือขายดีของนิวยอร์กไทมส์ ชื่อว่า The Rise and Fall of the Great Powers เขียนโดย ‘พอล เคนเนดี้’ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1987 มีเนื้อหาบรรยายว่า สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญภาวะ ‘การขยายจักรวรรดิมากเกินไป’ และใกล้พบจุดจบเหมือนอดีตชาติมหาอำนาจของโลกในศตวรรษที่ 17 อย่างสเปน รวมถึงอังกฤษในต้นศตวรรษที่ 20

นักวิชาการหลายคนเห็นด้วยกับพอล เคนเนดี้ และเชื่อว่า อำนาจทางทหารของสหภาพโซเวียตกำลังแซงหน้าสหรัฐฯ เช่นเดียวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ชาติที่แพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งกำลังฟื้นตัวและมาแรงจนใกล้แซงอเมริกาเช่นกัน

“ผมตั้งคำถามกับความเชื่อนี้ของคนส่วนใหญ่ และมักเป็นคนเห็นต่างเพียงคนเดียวในงานสัมมนาหรือการประชุมมากมายที่มีโอกาสได้ไปเข้าร่วม โจเซฟ ไนย์ เล่าถึงความเป็นมาก่อนบัญญัติคำว่า soft power

เขาบอกว่า ทั้งนักวิชาการและคนในอาชีพด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ณ เวลานั้นมักมองที่มาของ ‘อำนาจ’ (power) เป็นแค่สิ่งที่จับต้องได้ เช่น จำนวนทหาร รถถัง ขีปนาวุธ หรือเงินช่วยเหลือบริจาค ทำให้ทุกอย่างถ้าไม่ได้มาด้วยการใช้กำลังบีบบังคับก็ต้องใช้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแลกมา ซึ่งในความเป็นจริงเขามองว่า บางทีคนเราก็ยอมทำตามผู้อื่นเพียงเพราะอำนาจที่จับต้องไม่ได้อย่างความชอบ เห็นดีเห็นงาม หรือหลงใหลในแนวคิดและภาพลักษณ์ที่น่าดึงดูดใจได้เช่นกัน และนั่นคือที่มาของคำว่า soft power

 

ความแตกต่างระหว่างอำนาจแข็งกับอำนาจอ่อน

“ความสามารถในการใช้อำนาจเพื่อให้ได้สิ่งที่คุณต้องการจากผู้อื่นมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี คือ คุณสามารถทำได้ด้วยการใช้กำลังขู่บังคับ (coercion) สามารถทำได้ด้วยการใช้เงินแลกซื้อมา (payment) หรือด้วยการชักจูงเพราะความน่าดึงดูดใจ (persuasion และ attraction)

“การใช้กำลังขู่บังคับ และใช้เงินแลกมา ผมเรียกมันว่า ‘อำนาจแข็ง’ (hard power) ส่วนความสามารถในการได้มาซึ่งสิ่งที่คุณต้องการผ่านการชักชวนหรือดึงดูดใจก็คือ ‘อำนาจอ่อน’ (soft power) นั่นเอง” โจเซฟ ไนย์ อธิบายระหว่างให้สัมภาษณ์สมาคมนโยบายต่างประเทศ (Foreign Policy Association) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร (NGO) ในสหรัฐฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016

เขายกตัวอย่างการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสงครามเย็นว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการใช้ทั้ง ‘ไม้นวม’ (ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ) และ ‘ไม้แข็ง’ (กำลังทหาร) หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘carrots and sticks’ แต่มาจาก ‘อำนาจอ่อน’ อย่างอุดมการณ์ประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออก และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของชาวตะวันตกที่น่าดึงดูดใจ จนสามารถ ‘ซื้อใจ’ คนฝั่งตะวันออกให้หันมาร่วมกันต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ และทลายกำแพงดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ ‘อำนาจอ่อน’ หรือ soft power ในความหมายของโจเซฟ ไนย์ จึงเป็นอะไรก็ได้ตั้งแต่วัฒนธรรม ค่านิยม อุดมการณ์ ตลอดจนวิถีชีวิตที่น่าดึงดูดใจ และมีอิทธิพลเพียงพอที่จะทำให้ผู้อื่นคล้อยตาม จนยอมทำตามในสิ่งที่เราต้องการด้วยความสมัครใจ ไม่ต้องใช้กำลังข่มขู่ หรือเสียทรัพย์สินเงินทองเพื่อให้ได้มา

 

อำนาจที่ใช้ได้ในหลายบริบท

“แม้ผมจะบัญญัติศัพท์ soft power ขึ้นมาใช้ในบริบทของงานด้านอำนาจของอเมริกา แต่มันก็ไม่ได้จำกัดแค่พฤติกรรมระหว่างประเทศ หรือประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เมื่อผมหันไปสนใจศึกษาเรื่องภาวะผู้นำ ผมก็นำแนวคิดนี้ไปปรับใช้กับผู้คนและองค์กรต่าง ๆ ในหนังสือ The Powers to Lead (2008) ของผมด้วยเช่นกัน”

โจเซฟ ไนย์ เป็นนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและนโยบายต่างประเทศคนสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เขาเป็นลูกชายของนักธุรกิจในตลาดหุ้นวอลล์ สตรีท เกิดในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1937

ความชื่นชอบเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ห่างไกล และเติบโตมาในครอบครัวที่ชอบถกเถียงกันในเรื่องต่าง ๆ บนโต๊ะอาหาร ทำให้ไนย์ สนใจศึกษาทั้งด้านการเมืองและการต่างประเทศ เขาเรียนจบปริญญาตรีด้านการเมือง เศรษฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันในรัฐบ้านเกิดตั้งแต่ปี 1958

จากนั้นไนย์ ได้ทุนไปศึกษาต่อปริญญาโทสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และกลับมาทำปริญญาเอกต่อที่คณะรัฐศาสตร์ (Kennedy School of Government) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในอเมริกา ก่อนจบออกมาทำงานเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ฮาร์วาร์ด จนมีชื่อเสียงโด่งดัง และไต่เต้าไปจนถึงตำแหน่งคณบดี โดยดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่ปี 1995 - 2004

นอกจากตำแหน่งทางวิชาการ ไนย์ ยังเคยทำงานให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ในตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศยุคประธานาธิบดี ‘จิมมี่ คาร์เตอร์’ และผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดี ‘บิล คลินตัน’

เขาร่วมกับ ‘โรเบิร์ต โคเฮน’ (Robert Keohane) เขียนหนังสือชื่อ Power and Interdependence (1977) ซึ่งได้รับการขนานนามให้เป็นต้นกำเนิดทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) แนวคิดที่สนับสนุนให้มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มการค้าเสรี ลดกำแพงภาษี ลดการควบคุมดูแลของรัฐบาล และเพิ่มอำนาจให้ภาคเอกชน

อย่างไรก็ดี ไนย์ เคยให้สัมภาษณ์ The Harvard Gazette สื่อทางการของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อปี 2017 ว่า เขาไม่อยากจำกัดตัวเองไว้ในแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง เพราะการทำเช่นนั้นเท่ากับเป็นการ “หยุดคิด” มากกว่าจะทำให้ความคิดของเราก้าวหน้าและมีพัฒนาการต่อไป

นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาไม่เคยหยุดพัฒนาความคิดเรื่องอำนาจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

อำนาจอ่อนหรือโฆษณาชวนเชื่อ

ไนย์ อธิบายรายละเอียดเรื่อง soft power ต่อไปว่า อำนาจอ่อนนี้ไม่ได้มีแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ใช้ ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ ผู้นำรัฐบาลเผด็จการเยอรมนียุคนาซี ก็เชี่ยวชาญการใช้ soft power เช่นเดียวกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนก็สนับสนุนให้มีการใช้ soft power กันอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ไนย์ บอกว่า ในสังคมที่มีการปฏิวัติการสื่อสาร และข้อมูลข่าวสารเปิดกว้าง การใช้ soft power ที่มาจากนโยบายรัฐเพียงอย่างเดียว อาจมีช่องทางการสื่อสารจำกัด และเข้าข่ายโฆษณาชวนเชื่อ หรือ propaganda ดังนั้น ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และได้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม จะสามารถใช้ soft power ได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

เขายกตัวอย่าง soft power หลักของอเมริกาว่า ไม่ได้มาจากทำเนียบขาว หรือนโยบายต่างประเทศ แต่มาจากภาพยนตร์ฮอลลีวูด ดารา นักร้อง แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ เรื่อยไปจนถึงสถาบันการศึกษาชั้นนำ หรือหากพูดกว้าง ๆ อาจเรียกว่า soft power ของอเมริกามีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมป็อป (pop culture) นั่นเอง

เมื่อพูดถึงการสร้าง soft power ไนย์ บอกว่า ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานเสมอไป

“soft power คือ ความสามารถในการดึงดูดใจ คุณสามารถพยายามทำตัวให้น่าหลงใหล แต่โดยพื้นฐานแล้วหากพูดถึงวัฒนธรรม ค่านิยม และนโยบายของชาติ วัฒนธรรมกับค่านิยมเป็นแผนระยะยาว ส่วนนโยบายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามรัฐบาล หรือผู้นำที่ขึ้นมามีอำนาจ ดังนั้น วัฒนธรรมกับค่านิยมมีแนวโน้มต้องใช้เวลานานกว่า”

 

ขนาดไม่สำคัญและการรวมกันเป็น ‘อำนาจอัจฉริยะ’

ในบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไนย์ บอกด้วยว่า ไม่ใช่แค่ประเทศใหญ่เท่านั้นที่มี soft power ได้ เขายกตัวอย่างประเทศเล็ก ๆ อย่างนอร์เวย์ ซึ่งมีประชากรประมาณ 5 ล้านคน และไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่มีนโยบายต่างประเทศที่น่าดึงดูดใจ

“พวกเขาดำเนินนโยบายที่ถูกมองว่าเป็นผู้สร้างสันติภาพ นโยบายบริจาครายได้ 1 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาในต่างแดน ซึ่งเป็นที่ดึงดูดใจชาติอื่น

“นอร์เวย์เป็นตัวอย่างของการใช้นโยบายเพิ่ม soft power ภายใต้ความน่าดึงดูดใจที่นอร์เวย์มีอยู่แล้วในฐานะสังคมซึ่งมีการบริหารจัดการที่ดี เป็นวิธีที่ใช้ส่งเสริมค่านิยมภายในบ้านของตัวเอง และสิ่งนั้นก็ช่วยเพิ่ม soft power ให้นอร์เวย์ด้วย” ไนย์ ให้สัมภาษณ์กับสมาคมนโยบายต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ไนย์ยอมรับว่า soft power อาจใช้งานไม่ได้กับบางประเทศ หรือบางสังคมที่มีวัฒนธรรมและมุมมองต่างกันสุดขั้ว หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เช่น แนวคิดเสรีนิยมและวิถีชีวิตแบบอเมริกัน อาจไม่เป็นที่ยอมรับในดินแดนมุสลิมเคร่งศาสนา และความนิยมบริโภคสินค้าอเมริกันก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะชื่นชอบสหรัฐอเมริกาเสมอไป

เรื่องนี้สะท้อนออกมาได้อย่างชัดเจนในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะโลกโซเชียลมีเดีย เมื่อเราสามารถเห็นคนใช้สมาร์ตโฟนของ Apple หรือเล่น Facebook และ Instagram โพสต์ข้อความต่อต้านอเมริกา ทั้งที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้หลายคนมองว่า เป็น soft power ของอเมริกาเช่นกัน

ถึงกระนั้น ไนย์ ชี้ว่า soft power ไม่ใช่เกมที่มีผู้ชนะแล้วต้องมีผู้แพ้เสมอไป เขายกตัวอย่างโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสหรัฐฯ - จีน ที่เคยให้ผลลัพธ์เป็นชัยชนะของทั้งคู่ หรือ win - win situation เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น

นอกจากนี้ เขายังเสนอว่า การใช้แค่ ‘อำนาจแข็ง’ หรือ ‘อำนาจอ่อน’ อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงลำพังอาจไม่มีประสิทธิภาพพอในการทำให้ผู้อื่นยอมทำตามสิ่งที่เราต้องการ ดังนั้น การนำอำนาจทั้งสองมาใช้ร่วมกันให้กลายเป็น ‘อำนาจอัจฉริยะ’ (smart power) จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด

“หากชาวอเมริกันฉลาดพอในการตามหาอำนาจ เราควรตระหนักว่า ยุทธศาสตร์ smart power (อำนาจอัจฉริยะ) คือการรวม hard และ soft power เข้าด้วยกัน 

“คุณไม่สามารถทำทุกอย่างสำเร็จด้วย soft power เพียงอย่างเดียว การใช้ hard power เพียงอย่างเดียวก็ไม่ช่วย ดังนั้น นโยบายที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การรวม hard และ soft power มาใช้ร่วมกันให้สำเร็จ”

นั่นคือศิลปะการใช้อำนาจตามคำแนะนำของโจเซฟ ไนย์ บิดา soft power ผู้ไม่หยุดพัฒนาความคิด และไม่ยึดติดกับอำนาจใดอำนาจหนึ่งเท่านั้น

 

เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล

ภาพ: Getty Images

 

อ้างอิง:

Nature

Foreign Policy Association/YouTube

Foreign Policy

BBC

Harvard