22 ธ.ค. 2566 | 12:50 น.
- บูม - ธริศร ธรณวิกรัย เจ้าของช่อง BoomTharis ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2017
- อินฟลูเอนเซอร์ นักรีวิว หรือ ยูทูบเบอร์ ไม่ว่าจะเรียกว่าอย่างไรก็ตาม แต่ภาพลักษณ์ของเจ้าของช่อง ก็กลายเป็นผู้ที่รีวิวสินค้าลักชัวรีได้น่าติดตามมาก โดยมีผู้ติดตามสูงถึง 1.46 ล้านคนในปัจจุบัน
ทุกวันนี้ ใครที่เป็นบุคคลระดับ ‘ไอคอน’ ของการรีวิวสายลักซ์ชัวรีในเมืองไทย? เชื่อเลยว่าคำตอบที่เด้งขึ้นมาในใจของใครหลายคน น่าจะต้องมีชื่อของ ‘บูม - ธริศร ธรณวิกรัย’ ขึ้นหิ้งอยู่ ผ่านช่อง YouTube ‘BoomTharis’ ที่มีแฟนคลับผู้ติดตามเหนียวแน่นกว่า 1.46 ล้านคน และถ้ารวมผู้ติดตามทุกช่องทาง ทั้งช่องหลัก - ช่องรองในทุกแพลตฟอร์ม จะขึ้นไปถึง 2.6 ล้านคนเลยทีเดียว เรียกว่านี่คืออินฟลูเอนเซอร์ชั้นนำระดับประเทศ
สายวิชาการมาก่อน
ภาพลักษณ์นักรีวิวที่มีเสน่ห์ เราอาจนึกว่าแบคกราวนด์ของธริศรน่าจะเป็นสายอาร์ติสท์ตัวพ่อตั้งแต่เด็กแน่เลย แต่ความจริงแล้วเขาถูกเทรนด์มาสายวิชาการต่างหาก
สมัยเรียน ธริศรเคยเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญแถวย่านบางรัก ก่อนไปต่อสายวิทย์-คณิต ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นี่คือแหล่งรวมหัวกะทิของประเทศ ส่วนใหญ่จบไปเป็นหมอ อีกกลุ่มไม่น้อยเป็นวิศวกร
แต่สำหรับธริศร เขาชอบอะไรที่แตกต่าง ไม่ได้อยากใช้ระบบตรรกะเหตุผลจ๋าขนาดนั้น เขาเริ่มสัมผัสได้ว่าตัวเองมีความเป็นอาร์ต มากกว่า ไซแอนซ์แฝงอยู่ในตัว
ก่อนต่อปริญญาตรี ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรอินเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชีวิตในรั้วมหา’ลัยของธริศร จัดว่าเป็นเด็กกิจกรรมคนหนึ่ง เขาชอบทำกิจกรรม เพื่อต้องการค้นหาตัวเอง รู้ว่าตัวเองชอบและเก่งอะไร รู้ว่าไม่อินและไม่ถนัดเรื่องไหน พร้อม ๆ กับเข้าใจมุมมองที่หลากหลายของคนอื่น
จะว่าไปแล้ว เส้นทางชีวิตในวัยเรียนของเขาค่อนข้างราบรื่น จุดที่น่าสนใจคือการลองท้าทายทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อเปิดประสบการณ์หลากหลายด้าน และต้องศึกษาลงลึกเพื่อให้รู้จริง ไลฟ์สไตล์แบบนี้เองที่ได้หล่อหลอมออกมาเป็นคนที่สนใจเชิงลึกรอบด้านดังที่เราเห็นกันในช่อง
งานแรกในชีวิต
งานแรกในชีวิตของเขาแตกต่างจากคนรุ่นใหม่สมัยนี้ที่มักเปิดช่องของตัวเองเพื่อลองผิด - ลองถูกไปเลย แต่ธริศรเข้าทำงานเป็นพนักงานประจำในบริษัทของพี่ชายที่เกี่ยวกับ ‘เว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์’ แห่งหนึ่ง ชื่อว่า ThinkOfLiving.com
และก็เป็นงานแรกที่ได้ปูพื้นฐานความรู้ในอุตสาหกรรมนี้ด้วย เขาได้ทำงานตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ ได้เรียนรู้ระบบการทำงาน จนไปถึงได้สวมบทบาทการออกกล้อง ‘รีวิว’ ผลิตภัณฑ์กับพี่ ๆ มากประสบการณ์ในออฟฟิศด้วย
โดยสิ่งที่ ธริศร ทำตอนอยู่ที่ Think of Living อย่างเช่น
ช่างภาพ - เขาจึงรู้มุมกล้อง การเลือกใช้กล้อง เลนส์กล้อง หรือทิศทางแสงแดดธรรมชาติ, เขียนบทความคอนเทนต์ - ปูพื้นฐานด้านการรีเสิร์ชค้นคว้าข้อมูลเชิงลึก ก่อนเปลี่ยนมาถ่ายวิดีโอ - ทำให้เข้าใจเรื่องงานภาพเคลื่อนไหว เสียงรบกวน การจัดแสงและอื่น ๆ
เรียกว่าทั้งหมดนี้ปูทางให้เขาเป็น คอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) แม้เป็นงานที่หนัก แต่ก็เป็นการเชื่อมโยงจุดทักษะแต่ละจุดสู่อนาคต ซึ่งในอีกไม่กี่ปีต่อมา ผลลัพธ์ของมันจะผลิดอกออกผลอย่างสวยงาม
แต่ด้วยสไตล์การทำงานที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกรอบองค์กร ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ เพราะไม่ใช่ช่องของตัวเอง รวมถึงเนื้อหาคอนเทนต์ที่เน้นการให้ความรู้แบบผู้เชี่ยวชาญ มีความทางการ สาระรอบด้าน ซึ่งอาจไม่ใช่จริตที่ใช่และตรงใจกับสไตล์ของธริศร
กำเนิดช่อง BoomTharis
ธริศรทำอยู่ที่ Think of Living ได้ประมาณ 5 ปีก็ตัดสินใจลาออกมาเปิดช่องใน YouTube และใช้ชื่อว่า ‘BoomTharis’ เปิดตัวเมื่อปี 2017
Day1อาจยังไม่เป็นที่รู้จักนัก คุณภาพเนื้อหาและงานโปรดักชั่นยังมีจุดตำหนิอยู่บ้าง แต่ธริศรก็รักษาวินัยในการถ่ายทำและลงอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
และแล้วจุดเปลี่ยนสำคัญได้เกิดขึ้น ซึ่งกลายมาเป็นความสำเร็จบันไดขั้นแรก ก่อนจะทะยานขึ้นลิฟต์อย่างก้าวกระโดด คือ ‘คลิปรีวิวตึกมหานคร’ ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ในยุคสมัยนั้น (“พาชมห้อง 191 ล้าน! ของตึกมหานคร Ritz-Carlton Residences Bangkok)
เหมือนโชคชะตาเข้าข้าง เพราะมีอีกคลิปหนึ่งที่กลายเป็นไวรัลเช่นกันก็คือ ‘คลิปซูชิหัวละ 12,000!’ (“ซูชิหัวละหมื่นสอง! อยากรู้เป็นยังไงต้องไปโดน! | Ginza Sushi Ichi”) เรียกว่าเป็นตัวจุดชนวนที่ทำให้คำว่าโอมากาเสะออกสู่มวลชนกระแสหลัก และทำให้ชื่อเสียงของเขาเริ่มเป็นที่รู้จัก
ในมุมการตลาด ด้วยความที่คลิปไวรัลทะลุล้านแตก! ด้วยเนื้อหาสินค้าหรูหรา ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของธริศร (Personal brand image) กลายเป็นนักรีวิวหรือ YouTuber สายลักซ์ชัวรีที่มีระดับ รีวิวสินค้าหรู พาไปโชว์แต่ของแพงไปโดยปริยาย
A Man of Taste
เมื่อปลดล็อกจากคราบข้อจำกัดในองค์กร ธริศรก็สามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่
ช่องนี้คือการสะท้อน ‘ตัวตน’ ว่าธริศรสนใจในเรื่องอะไรบ้าง โฟกัสที่จุดไหน ชอบหรือไม่ชอบผลิตภัณฑ์ตัวไหนบ้าง อย่างไร
ซึ่งวิธีคิดจึงตรงกันข้ามกับตอนทำคอนเทนต์ในองค์กรที่ต้องเริ่มคิดจากความต้องการของลูกค้า ก่อนย้อนกลับมาที่องค์กร แต่ BoomTharis เหมือนเป็นพื้นที่ที่เขาสามารถทำออกมาโดยเริ่มต้นจาก ‘ความต้องการของตัวเอง’ ได้เต็มที่ ก่อนคราฟต์ปรับแต่งรายละเอียดให้ถูกใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
ดังนั้น เราจึงเห็นคอนเทนต์ที่ไม่ได้จำกัดแค่การรีวิวบ้าน คอนโดฯ หรือที่อยู่อาศัย แต่ตีความขยายกว้างขึ้นถึงไลฟ์สไตล์ที่ธริศรสนใจ เช่น อาหารการกิน โลกของยานยนต์ ท่องเที่ยวต่างประเทศ ฯลฯ
เขายังนำพื้นฐานที่ถูกเทรนด์มาจาก Think of Living มาผสมผสานกับช่องตัวเองอย่างลงตัว จนเกิดเป็นสุนทรียะในการเสพคอนเทนต์ เช่น การให้คุณค่ากับนักออกแบบ เช่น ‘โทมัส ยูล-ฮันเซน’ (Thomas Juul-Hansen) จากคอนโดฯ Scope Langsuan ที่ใส่ใจวัสดุ มีการพรีเซนต์เคาน์เตอร์บาร์ห้องครัวที่ใช้หินอ่อนนำเข้าจากอิตาลี โดยเส้นลายหินอ่อนทั่วบริเวณถูกเลือกหินที่ลายเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ
รวมไปถึงขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ - เช่น การเมนชั่นถึงงานสถาปัตยกรรมของโครงการ Baan Sansiri Pattanakarn ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอัตลักษณ์ของยุครีเจนซี่ (Regency Era) จากอังกฤษ
ธริศร ได้ใส่ตัวตนคาแรกเตอร์ (Brand character) ความเป็นตัวเองลงไป เพื่อลดความทางการลง ให้รู้สึกเข้าถึงได้ แต่ยังรักษาความเนี้ยบมีระดับ เป็นการรีวิวของหรูที่ไม่อึดอัดคนดู แต่กลับรู้สึกเพลิดเพลินตามได้ง่าย ใส่ใจเบื้องหลังที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ว่าทำไมมันถึงมีราคาสูง และทำไมกลุ่มคนซื้อถึงตัดสินใจซื้อ
มืออาชีพในวงการ
ฉากหน้าที่รีวิวอะไรแล้วดูเพลินน่าติดตาม แต่ถ้าวิเคราะห์ให้ดี เบื้องหลังเต็มไปด้วยการทำงานแบบมืออาชีพที่น่าสนใจ
เขาทำคลิปแบบมีหลักการ มาพร้อมกลยุทธ์คอนเทนต์ การคิดคำโฆษณา (Copywriting) จั่วหัวให้น่าสนใจ การเรียบเรียงลำดับการเล่าเรื่อง เช่น ดึงจุดเด่นที่สุดออกมาไม่กี่อย่าง หรือใช้วิธีโฟกัสชื่อของนักออกแบบระดับโลกที่มาดีไซน์ตัวโครงการหรู แทนที่จะพูดถึงรายละเอียดส่วนกลางทั้งหมด
จั่วหัวด้วยตัวเลขชวนว้าว เช่น “คอนโดฯ 250,000,000 ล้านบาท! ใจกลางทองหล่อ งานโปรดักชั่นสุดเนี้ยบ เช่น มุมฉากที่เห็นไฮไลต์ตัวโครงการ มุมแสงที่ตกกระทบ ใส่เอฟเฟกต์ช่วยให้คนอยากดูตลอดทั้งคลิปจนจบ
ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ ‘ศิลปะการเล่าเรื่อง’ (Storytelling) ที่ได้รับคำชื่นชมจากผู้ติดตามไม่น้อย ธริศรมีการปูเรื่องด้วยไฮไลต์น่าสนใจฉุดให้คนหยุดดู ก่อนสร้างปมขัดแย้งที่ดูไม่เข้าพวกหรือมาขัดจังหวะ ก่อนเฉลยทางแก้ปัญหาหรือการคลี่คลายปมนั้น ๆ ทีหลัง
นอกจากนี้ ยังรวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ความถี่ในการทำคอนเทนต์และปล่อยลงโพสต์อย่างสม่ำเสมอ การรีเสิร์ชความลึกของเนื้อหาและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน มาตรฐานงานโปรดักชั่นที่สูงเสมอแม้ทีมงานจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนแค่ไหน หรือแม้แต่การรักษาความกระชับและเป็นธรรมชาติของคลิปเมื่อมีโฆษณาสปอนเซอร์คั่นกลางคันเพื่อไม่ให้ผู้ชมเบื่อหน่ายไปก่อน
ในช่วงเวลา 6 - 7 ปีมานี้ หลายคนเติบโตมากับช่อง BoomTharis หลายคนเปิดมุมมองโลกของที่อยู่อาศัยและไลฟ์สไตล์มีระดับผ่านช่องนี้ หรือบางคนก็ใช้ช่องนี้เป็นต้นแบบในการพัฒนาทักษะงานโปรดักชั่นของวิชาชีพตัวเอง
ถึงขั้นที่ว่า ช่องนี้และตัวของธริศรเองมีส่วนในการ ‘ยกระดับมาตรฐาน’ ของวงการนี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้
ที่สำคัญในมุมมวลชนผู้ติดตาม สิ่งที่ได้รับมากที่สุดคงเป็นการ ‘เปิดประสบการณ์สุดพิเศษ’ ผ่านหน้าจอ บ้างไม่มีโอกาสได้ใช้ บ้างราคาเกินเอื้อม ผ่านการรีวิวอันมีเสน่ห์ ซึ่งทำให้ผู้ชมได้สัมผัสสิ่งของที่หรูหรามีระดับได้ง่ายขึ้น
ภาพ : BoomTharis
อ้างอิง :