ฟังกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น - มาเข้าถึงใจชาว Gen-Z กัน

ฟังกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น - มาเข้าถึงใจชาว Gen-Z กัน

ทำความเข้าใจหัวอก Gen-Z ผู้เติบโตมาในยุคที่ ‘ตัวฉัน’ มีอำนาจสูงสุดในการเลือกเสพสิ่งที่ฉันต้องการ

KEY

POINTS

  • เมื่อประชากร Gen-Z เติบโตขึ้น เข้าสู่ตลาดแรงงาน และกลายเป็นประชากรหลักของทุกประเทศ จึงมีหลายสำนักพยายามวิเคราะห์และทำความเข้าใจ Gen-Z กันมากขึ้น
  • Gen-Z มีจุดต่างจาก Gen-Y ตรงที่ Gen-Y รู้จัก Internet และ Digital แล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าสู่ยุคแห่งการเชื่อมต่อตลอดเวลา ส่วนคน Gen-Z นั้นเข้าถึงสภาพแห่งการเชื่อมต่อตลอดเวลาที่โลกเชื่อมถึงกันหมดแล้ว
  • คน Gen-Z เมื่อเรียนจบจากสถาบันการศึกษาแล้ว จะมีโอกาสได้สื่อสารกับมนุษย์จริง ๆ น้อยมาก

ช่วงนี้คำว่า Gen-Z ค่อนข้างเป็นกระแสมาก ทั้งสำหรับคนในตลาดแรงงานและคนในสื่อ เพราะประชากร Gen-Z นั้น หมายถึงประชากรที่เกิดระหว่าง ค. ศ. 1997 - 2012 ซึ่งหมายถึงประชากรกลุ่มที่มีช่วงอายุ 12 - 27 ปี ในปีปัจจุบันคือ ค. ศ. 2024 มีจำนวนประมาณ 7,600,000 คน (คิดเป็นประมาณ 8.6% ของประชากรไทยทั้งหมด) 

คน Gen-Z จัดเป็นวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้นอันจะเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก่อนจะไปเข้าใจ Gen-Z เรามาดูลักษณะเด่นของแต่ละ Generation กัน และอย่าลืมว่าการแบ่งแบบนี้เป็นวิธีของโลกตะวันตก แบ่งโดยปรากฏการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นที่ตะวันตกเป็นหลัก เมื่อนำมาใช้กับประเทศไทยจึงต้องพึงระลึกไว้ว่าคนในแต่ละ Gen ก็อาจไม่ได้มีลักษณะเด่นตามนี้เสมอไปก็ได้ อีกทั้งการแบ่ง Gen นั้นไม่ได้มีเส้นขีดไว้ว่าพอเกิดปีนี้เป็นต้นไปแล้วคุณจะต้องนิสัยเปลี่ยนไปหมดราวพลิกฟ้าหงายแผ่นดินก็ไม่ใช่ เป็นเพียงการแบ่งทางประชากรศาสตร์เพื่อง่ายต่อการอธิบายปรากฏการณ์เท่านั้น

1.Baby Boomers (เกิด ค. ศ. 1946 - 1964) เป็นช่วงอายุสุดท้ายที่คนยังมีชีวิตอยู่ เพราะคน Gen เก่ากว่านี้ส่วนใหญ่เสียชีวิตไปเกือบหมดแล้ว แนวโน้มคน Gen นี้มักเป็นอนุรักษ์นิยม, อดทนสู้งาน, เปลี่ยนงานน้อยครั้ง, ไม่ค่อยมี Work-Life Balance, อุทิศชีวิตตัวเองเพื่อครอบครัวและงาน, ทำงานแบบ Multitask ไม่ค่อยได้ สื่อต่างชาติที่มีอิทธิพลคือสื่อจากอเมริกาเป็นหลัก ส่วนในไทยเองยังมีฟรีทีวีไม่ครบ 5 ช่องเลยในยุคนั้น ๆ

2.Gen-X (เกิด ค. ศ. 1965 - 1979) มีแนวโน้มเปลี่ยนงานบ่อยขึ้นกว่า Boomers และเริ่มรู้จัก Work - Life Balance มีหัวก้าวหน้ามากขึ้น เริ่มเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ จากต่างประเทศ มีความสามารถในการปรับตัวหาสิ่งใหม่มากขึ้น สื่อต่างชาติที่มีอิทธิพลในยุคนี้คือสื่อจากฮ่องกง (ที่ยังไม่ได้กลับคืนเป็นของจีน แต่เป็นฮ่องกงภายใต้การปกครองของอังกฤษ) ส่วนในไทย เมื่อคน Gen-X โตขึ้นคือมีฟรีทีวีครบ 5 ช่องแล้วเรียบร้อย

3.Gen-Y (เกิด ค. ศ. 1980 - 1997) เรียกอีกอย่างว่า Millennials เป็นคนกลุ่มแรกที่ได้สัมผัสการเปลี่ยนผ่านจาก Analog ไปสู่ Digital พร้อม ๆ กับคน Gen-X ตอนปลาย ๆ ที่อายุใกล้ ๆ กัน โดยคน Gen-Y มักตั้งคำถามกับการทำงานหนักโดยไม่จำเป็น และมองหาหนทาง Smart Work แทนที่จะเป็น Hard Work และค่อนข้างไม่พอใจระบอบอุปถัมภ์ในหลาย ๆ องค์กร ค่อนข้างใช้เทคโนโลยีเก่งและปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี เริ่มไม่เข้าใจคำว่าเวียดนามเหนือ - เวียดนามใต้ หรือ เยอรมันตะวันออก - เยอรมันตะวันตก เพราะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เหล่านี้เปลี่ยนไป ณ เวลาที่คน Gen-Y เกิด รวมทั้งหลายคนไม่รู้ว่าเกาหลีเหนือ - เกาหลีใต้รบกันทำไม และไม่เข้าใจว่าทำไมจีนและเกาหลีถึงเกลียดญี่ปุ่น และสื่อต่างชาติกระแสหลักของคน Gen นี้คือ สื่อจากญี่ปุ่น

ส่วนคนประชากร Gen-Z ที่เป็นประเด็นหลักในวันนี้นั้นมีจุดต่างจาก Gen-Y ตรงที่ Gen-Y รู้จัก Internet และ Digital แล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าสู่ยุคแห่งการเชื่อมต่อตลอดเวลา ส่วนคน Gen-Z นั้นเข้าถึงสภาพแห่งการเชื่อมต่อตลอดเวลาที่โลกเชื่อมถึงกันหมดแล้ว บางครั้งเรียก คน Gen-Z ว่าเป็นพวก Digital Native ก็มี เพราะเติบโตมาพร้อมสารพัดเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกมากมาย และปรับตัวเข้ากับความหลากหลายได้เร็ว ทำงานแบบ Multitask ได้ดีมาก (แต่บางคนกลายเป็นสภาวะสมาธิสั้นก็มี ถ้าบางคนที่ไม่ได้ฝึกการใช้สมาธิจดจ่อกับสิ่งใดเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็เกิดสมาธิสั้นได้บ้าง) 

จุดเด่นมากของ Gen-Z ที่เป็นเคล็ดลับในการทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้

1.ผู้บริโภคมีอำนาจสูงสุด: สมัยก่อน เวลาอยากดูทีวี หรืออยากฟังวิทยุ ต้องรอให้ทีวีหรือสถานีวิทยุนำเสนอรายการตามผังเวลา ไม่ว่าจะเป็นฟรีทีวีหรือเคเบิ้ลทีวีหรือสถานีวิทยุก็ตาม ผู้บริโภคต้องเป็นฝ่ายต้องนั่งรอเวลาเพื่อรับชมรับฟังรายการ แต่ยุคปัจจุบันคือผู้บริโภคสามารถเลือกเสพรายการใด ๆ ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงบนผังรายการที่อยู่บน Internet ดังนั้นคน Gen-Z จึงเติบโตมาในยุคที่ ‘ตัวฉัน’ มีอำนาจสูงสุดในการเลือกเสพสิ่งที่ฉันต้องการ รวมทั้งข่าวสารบ้านเมืองก็ไม่ต้องง้อสื่ออย่างฟรีทีวีหรือหนังสือพิมพ์อีกแล้วเพราะมีสื่อจำนวนมหาศาลใน Internet ให้เลือกเสพได้ไม่อั้น

2. ‘เวลา’ และ ‘สถานที่’ อาจไม่มีอยู่จริง: หลายครั้งที่มักได้ยินหัวหน้างานหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยบ่นว่า ทำไมวัยรุ่นทัก LINE มาตอนดึกแบบตี 1 ตี 2 ซึ่งจริง ๆ สาเหตุก็คือ คน Gen-Z มีการรับรู้เวลาที่ต่างออกไปกว่าคน Gen อื่น คือคน Gen นี้ชินกับการเชื่อมต่อตลอดเวลา เมื่อส่งข้อความคือจะส่งตอนกี่โมงก็ได้ แล้วอีกฝ่ายก็เลือกตอบเองในเวลาที่อีกฝ่ายสะดวกใจ เรื่องของสถานที่ก็เช่นกันที่หลายครั้งพบว่านัดคุยงานหรือนัดประชุมแล้วพบว่าเข้าใจไม่ตรงกัน คือทีมงานคิดว่ามาเจอตัว แต่คน Gen-Z คิดว่าเป็นประชุมออนไลน์ โดยเฉพาะหลังยุค Covid เวลาจะนัดประชุมหรือนัดสอนหรือนัดอบรม ต้องยืนยันทุกครั้งว่าเป็น Onsite หรือ Online เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด

3.สื่อต่างชาติที่มีอิทธิพล: ต้องเป็นสื่อที่ตอบโจทย์ว่าผู้บริโภคเลือกเวลาได้เองไม่ต้องรอผังรายการ ไม่ต้องรอซื้อ CD หรือ DVD และไม่ต้องแคร์สถานที่ ดังนั้นสื่อที่ตอบโจทย์วัยรุ่น Gen-Z ในปัจจุบันจึงหนีไม่พ้นสื่อเกาหลีที่ทำการบ้านมาดีมากในการปรับตัวให้เข้ากับยุคแห่งการเชื่อมต่อตลอดเวลานี้

4.สื่อสารกับเทคโนโลยีมากกว่าสื่อสารกับมนุษย์จริง ๆ: คน Gen-Z เมื่อเรียนจบจากสถาบันการศึกษาแล้ว จะมีโอกาสได้สื่อสารกับมนุษย์จริง ๆ น้อยมาก เมื่อสิ่งแวดล้อมต้องทำให้สื่อสารผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ตลอด แม้จะสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานก็เป็นลักษณะของการติดต่องานมากกว่าเป็นการสื่อสารที่มนุษย์พึงมีให้มนุษย์อย่างมีมิตรภาพ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากที่มนุษย์ถูกทำให้เข้าใกล้ความเป็นเครื่องจักรมากขึ้น ในขณะที่เครื่องจักรถูกพัฒนาให้ใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อประชากร Gen-Z เติบโตขึ้น เข้าสู่ตลาดแรงงาน และกลายเป็นประชากรหลักของทุกประเทศ จึงมีหลายสำนักพยายามวิเคราะห์และทำความเข้าใจ Gen-Z กันมากขึ้น เป็นที่น่าจับตามองว่าโลกจะหมุนไปทางใดภายใต้การกุมบังเหียนของ Gen-Z ที่ต้องร่วมมือกับ Gen-Y เพื่อขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต (และอย่าลืมว่ามีประชากรกลุ่มใหม่คือ Gen-Alpha คือเด็กที่เกิด ค. ศ. 2012 - 2024 ว่าจะมีบุคลิกใดเมื่อเติบโตเต็มที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว)

 

เรื่อง : วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล