‘สมี’ คำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก ประพฤติผิดกามา มีที่มาจากไหน อย่างไร?

‘สมี’ คำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก ประพฤติผิดกามา มีที่มาจากไหน อย่างไร?

ที่มาของคำว่า ‘สมี’ ที่ใช้เรียกพระภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก ประพฤติผิดกามา รวมถึง ‘สมี’ ในวรรณคดีไทย และ ‘สมี’ ในประวัติศาสตร์ไทย

KEY

POINTS

  • ‘สมี’ ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่ไม่ใช่คำไทยแทร่
  • ‘สมี’ ถือเป็นสัญญาณความเสื่อมทรามของบ้านเมือง 
  • ‘สมี’ ในวรรณคดีไทย และ ‘สมี’ ในประวัติศาสตร์ไทย
     

ข่าวใหญ่ที่มักเป็น ‘ทอล์คออฟเดอะทาวน์’ เสมอ คือเรื่องความสัมพันธ์สวาทระหว่างพระภิกษุหนุ่มกับสีกา ซึ่งที่จริงเรื่องแบบนี้มีมาอยู่ตลอด ก่อนนี้ก็มีอย่างกรณียันตระ, เณรคำ, กาโตะ เป็นต้น 

อย่างเมื่อไม่นานที่ผ่านมา เรื่องที่เกิดขึ้นก็พิสดารจนผู้คนไม่อาจผ่านเลยไปได้ เพราะสถานะของบุคคลทั้งสอง ฝ่ายหญิงอายุ 45 ปี เป็นนักการเมือง และยังเป็น ‘แม่บุญธรรม’ ของพระ ในขณะที่ฝ่ายชายอายุ 24 ปี เรียกได้ว่าถ้าเป็นความรักก็เป็นรักข้ามชั้นถึง 3 ชั้น คือ อายุ, ศาสนา, ครอบครัว  

ถ้าใจเย็น ๆ ไม่ละเมิดศีล ฝ่ายหญิงหย่า ฝ่ายชายสึก แล้วมาแต่งงานอยู่กินกันปกติ เรื่องจะกลับตาลปัตรเป็นอีกสตอรี่ เป็นรักโรแมนติกขึ้นสุด แต่อย่างว่าแหล่ะ เรื่องแบบนี้... 

แทนที่ฝ่ายชายจะได้เป็น ‘สามี’ ก็กลับเป็น ‘สมี’ !!! 

‘สมี’ (สะ-หมี) คำเรียกผู้ถูกให้สึกออกจากผ้าเหลือง เพราะละเมิดศีลทำผิดถึงขั้นปราชิก (คือไม่มีสิทธิบวชอีกตลอดชีวิต) สำหรับพุทธศาสนาเป็นความผิดร้ายแรง ถึงจะไม่เหมือนเป็น ‘นักโทษ’ หรือ ‘ผู้ต้องขัง’ เหมือนอย่างความผิดทางโลกย์ แต่ขึ้นชื่อว่า ‘สมี’ แล้ว เชื่อว่าไม่มีใครอยากถูกเรียกด้วยคำนี้ เพราะเข้าใจกันดีว่าหมายถึงบุคคลประเภทไหน  

แม้กระนั้นก็ไม่มีทีท่าว่า ‘สมี’ จะมลายหายไป นับวันจะมี ‘สมี’ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มจะพิลึกพิสดารมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างกรณีล่าสุดนี้ก็ไม่มีใครกล้าบอกว่าจะเป็นกรณีสุดท้าย จนดูเหมือนทุกคนจะเข้าใจไปโดยปริยายว่า อีกไม่นานก็จะมี ‘สมี’ คนอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา และเป็นไปได้ว่าอาจมีอีกหลายตนที่ยังไม่ถูกจับได้  

‘สมี’ คำนี้ไม่ใช่คำเรียกกันตามปกติ ไม่มีใครอยากจะถูกสังคมเรียกด้วยคำนี้ ตรงกันข้ามกับคำว่า ‘ทิด’ ซึ่งเป็นคำเรียกผู้ที่สึกออกมาโดยไม่ได้ประพฤติผิด ‘ทิด’ กร่อนมาจากคำว่า ‘บัณฑิต’ หมายถึงผู้มีความรู้ เพราะระหว่างที่บวชได้เล่าเรียนหรือปฏิบัติพระธรรมวินัย  

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์จะถูกฝึกฝนในการอ่านหลักฐานแบบหนึ่ง คือถ้าสิ่งใดห้าม สิ่งนั้นมีอยู่ เช่น ในกฎหมายตราสามดวงมีตัวบทห้ามการทำร้ายทุบตีหรือฟันแทงสัตว์เลี้ยง อย่างช้าง ม้า วัว ควาย หมา แมว ผู้ละเมิดจะต้องเสียสินไหม หรืออย่างกรณีที่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระมีออกประกาศกฎหมายห้ามไม่ให้กินปลาตะเพียน สมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ก็มีประกาศห้ามเก็บผักบุ้งริมวัง นั่นก็หมายความในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีคนกินปลาตะเพียนแน่ ๆ หรือในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ก็มีคนมาเที่ยวเก็บผักบุ้งริมวัง เป็นต้น   

ก็ธรรมดาของมนุษย์ขี้เหม็น ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ อะไรที่เป็นการ ‘แอบกิน’ หรือ ‘แอบแซ่บ’ มันอาจจะตื่นเต้น อร่อยกว่าปกติ ต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่ากรณีพระล่อสีกานี้ก็มีในประวัติศาสตร์ เป็นมาหลายกรณีด้วยกัน ในที่นี้ผู้เขียนจะชวนกันมาสืบหาความหมายและที่มาของคำว่า ‘สมี’ แถมท้ายด้วยการหยิบยกกรณีสมีคนสำคัญในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มาพิจารณาเพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้ในมิติที่กว้างออกไปกว่าเรื่องของยุคสมัยปัจจุบัน ทุกครั้งที่เกิดปัญหาวิธีหนึ่งที่สังคมทำกันอย่างปกติก็คือการเรียนรู้จากอดีต  

‘สมี’ คำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก ประพฤติผิดกามา มีที่มาจากไหน อย่างไร?

‘สมี’ ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่ไม่ใช่คำไทยแทร่

‘สมี’ คำนี้ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่ก็อย่าเพิ่งเหมาเป็นคำไทยแท้ (ตามปกติถ้าคำไหนไม่มีในบาลีสันสกฤต ไม่มีในภาษาจีน พรี่ไทยเราก็จะยกให้เป็นคำไทยแท้ไป)  

เหตุที่ไม่มีคำนี้ในพระไตรปิฎก นำมาสู่ข้อสันนิษฐานหนึ่งว่า ในสมัยพุทธกาลไม่น่าจะมีการทำผิดประเภทนี้ แต่อย่างที่บอก ‘สิ่งใดห้าม สิ่งนั้นมีอยู่’ เรื่อง ‘กาเม’ นี่คือศีลข้อแรก ๆ นั่นอาจจะเพราะพระไตรปิฎกเกิดจากการสังคายนาโดยฝ่ายพระภิกษุ (ผู้ชาย) และต้องการจะยกพุทธกาลขึ้นเป็นแบบอย่างสังคมอุดมคติ จึงงดเว้นเรื่องบัดสีบัดเถลิง ไม่กล่าวถึง 

‘ไม่กล่าวถึง’ ไม่ได้หมายความว่าไม่มี ผิดกับเรื่องของภิกษุณีที่มีการกล่าวถึง 2 นาง คือ นางเขมากับนางสุภา ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แล้วมีผู้กราบทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสตอบว่า ภิกษุณีที่ปฏิบัติจนบรรลุแล้วย่อมไม่ยินดีในกามคุณ เปรียบเหมือนน้ำที่หยดลงตกต้องใบบัว  

ในแง่คำเรียก ‘สมี’ เคยปรากฏอยู่ในหลักศาสนาพราหมณ์ เช่นเดียวกับหลายเรื่องที่พุทธสืบรับและดัดแปลงมาจากพราหมณ์ ตัวอย่างไม่ใช่อื่นไกล เพราะแม้แต่คอนเซ็ปต์เรื่องเวียนว่ายตายเกิด พราหมณ์ก็มีความเชื่อนี้เป็นรากฐานมาก่อนแล้ว เข้าใจว่า ‘สมี’ ก็เป็นคำยืมมาจากพราหมณ์เช่นกัน  

ในภาษาบาลี คำว่า ‘สมี’ และภาษาสันสกฤตก็ตรงกับคำว่า ‘ศมี’ ออกเสียงเหมือนกัน เขียนต่างกัน แต่ความหมายเหมือนกันคือแปลว่า ‘เจ้าของ’ ซึ่งก็ความหมายเดียวกับ ‘สามี’ ในปัจจุบัน ‘สามี’ หมายถึงผู้ชายที่มีเมียแล้ว คือเป็นเจ้าของสตรีที่เป็นภรรยา นักสตรีศึกษาอาจจะมองว่าความหมายนี้เป็นเรื่องเหยียดเพศและสะท้อนระบบชายเป็นใหญ่  

นั่นก็ถูกของนักสตรีศึกษาแหล่ะนะ ในอดีตมีกฎหมายที่ระบุว่า หญิงเมื่อแต่งงานแล้วถือว่าเป็นทรัพย์สินของชายผู้ที่ตนแต่งงานด้วย ลูก (ทั้งชาย-หญิง) ก็ถือเป็นทรัพย์สินของชายผู้เป็นบิดาด้วยเหมือนกัน วันดีคืนดีชายผู้เป็นสามีและบิดาตกอับ ไม่มีจะกินขึ้นมา ก็มีสิทธิจะเอาเมียและลูกไปขายเป็นทาสได้ (แบบนี้แล้วออเจ้าที่คิดอยากย้อนเวลากลับไปสมัยกรุงศรี คิดให้ดีก่อนนะ)    

ลำพังคำว่า ‘สามี’ ไม่ใช่คำที่บ่งชี้ถึงบุคคลที่ประพฤติชั่ว เพราะตามวัฒนธรรมเถรวาทลังกา จะนิยมเรียกพระภิกษุรูปสำคัญลงท้ายว่า ‘สามี’ อยู่ด้วย ในจารึกวัดศรีชุม สุโขทัย ก็ได้กล่าวนามถึงพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นเชื้อวงศ์กษัตริย์สุโขทัย ได้เดินทางไปบวชและจำพรรษาอยู่ที่ศรีลังกา ก่อนจะเดินทางกลับแคว้นสุโขทัย ท่านมีนามเต็มว่า ‘พระเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลงกาทีปมหาสามีเป็นเจ้า’ นักประวัติศาสตร์นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า ‘มหาเถรศรีศรัทธา’ 

ทว่า ‘สามี’ กับ ‘สมี’ แม้จะแปลตรงตัวเหมือนกันว่า ‘เจ้าของ’ แต่เจ้าของอะไรล่ะ? ‘มหาสามี’ ในแบบที่ท่านมหาเถรศรีศรัทธาเป็นนั้น คือเป็นเจ้าของ ‘รัตนลังกาทีป’ (รัตนลังกาทวีป) เพราะได้นำเอาสิ่งสำคัญจากลังกาเข้ามา เช่น พระบรมสารีริกธาตุ กับต้นพระศรีมหาโพธิ์ (เข้าใจว่านำมาแบบเป็นหน่ออ่อน) รวมความก็คือท่านมหาเถรศรีศรัทธาได้เป็นเจ้าของบุญกุศลใหญ่หลวง 

ในขณะที่ ‘สมี’ เป็นคำย่อ คำเต็มคือ ‘กมฺมสฺสามี’ หรือ ‘กมฺมสามี’ แปลว่า ‘เจ้าของกรรม’ นั่นคืออดีตพระภิกษุผู้ทำผิดศีลข้อนี้เมื่อสึกออกไปแล้วคือ ‘ผู้มีกรรม’ ที่ต้องชดใช้นั่นเอง  

นอกจากนี้ในพจนานุกรมฉบับมาตรฐานที่รวบรวมขึ้นในปีเดียวกับที่มีงานฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี อย่าง ‘พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525’ ยังได้ระบุไว้ว่า ‘สมี’ เป็นชื่อไม้ล้มลุกชนิด Sesbania sesban (L.) Merr. ในวงศ์ Leguminosae ดอกสีเหลืองมีประสีน้ำตาล ใบคล้ายใบโสนใช้ทำยา (มีสรรพคุณแก้ไข้) และใช้ในพิธีพลีกูณฑ์ของพราหมณ์  

พืชสมีเป็นพืชโบราณอย่างแน่นอน เพราะพิธีพลีกูณฑ์ของพราหมณ์ก็มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว ดังจะเห็นได้จากเรื่องนี้มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ยชุรเวท แต่การกำหนดนิยามเรียกพืชชนิดนี้ว่า ‘ต้นสมี’ หรือ ‘ดอกสมี’ ก็เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดจากการจัดประเภทพืชแบบความรู้พฤกษศาสตร์สมัยใหม่หลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้ว ดังนั้นการเรียกพืชชนิดนี้เป็นคำเรียกที่อธิบายจากลักษณะที่คล้ายคลึงกับ ‘สมี’ ที่หมายถึงคน ไปใช้อธิบายพืช เพราะดอกสีเหลืองปนสีน้ำตาลนั้น ก็เหมือนผ้าเหลืองที่ไม่บริสุทธิ์อีกต่อไปนั่นเอง    

‘สมี’ คำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก ประพฤติผิดกามา มีที่มาจากไหน อย่างไร?

‘พลีกูณฑ์’ ไฟราคะ และการบูชายัญ

‘พิธีพลีกูณฑ์’ คืออะไร? ‘พลี’ แปลว่า บูชา, บวงสรวง ส่วน ‘กูณฑ์’ แปลว่า ไฟ, หลุมไฟ, หม้อไฟ รวมความก็หมายถึง ‘พิธีบูชาไฟ’ หรือ ‘บูชายัญ’ จากการนำเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งโยนเข้ากองไฟ ไฟที่ว่านี้เดิมพราหมณ์มีทั้งที่หมายถึงพระอัคนี บ้างก็เป็นบวงสรวงถวายแด่พระศิวะ แต่พุทธใช้คำนี้ในความหมายของ ‘ไฟราคะ’ 

พุทธรับคำว่า ‘พลี’ เอามาใช้ด้วยเหมือนกัน แต่แปลว่า ‘สละให้’ และมีการจำแนกออกเป็น ‘พลี 5’ หมายถึงการสละที่ยิ่งใหญ่ 5 ประการที่ปุถุชนควรประพฤติดังนี้     

           (1) ‘ญาติพลี’ หมายถึงการสงเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลญาติพี่น้อง
           (2) ‘อติถิพลี’ หมายถึงการสงเคราะห์แขกผู้มาเยือน 
           (3) ‘ปุพพเปตพลี’ หมายถึงการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ 
           (4) ‘ราชพลี’ หมายถึงการทำบุญถวายให้แก่หลวง เช่น ‘เสียภาษีอากร’ 
           (5) ‘เทวตาพลี’ หมายถึงทำบุญอุทิศให้เทพยดา   

ในยุครัฐชาติสมัยใหม่ มีคำว่า ‘ชาติพลี’ ที่หมายถึงการเสียสละให้แก่ชาติบ้านเมือง (คนละความหมายกับ ‘ราชพลี’)  อย่างในเนื้อร้องเพลงชาติไทย แต่งโดยหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ที่มีท่อนหนึ่งระบุว่า ‘สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี’ ก็ความหมายเดียวกันกับข้างต้นนี้  

การบูชายัญตามคติพราหมณ์เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดคุณแก่ผู้ทำ และเทพเจ้าจะบันดาลให้ผู้ทำสมความมุ่งมาดปรารถนา แต่พุทธเป็นพวกปฏิรูป เห็นต่างจากพราหมณ์ การบูชายัญใด ๆ โดยเฉพาะการบูชายัญด้วยสิ่งมีชีวิต เป็นบาปกรรม ไม่พึงกระทำ ไม่แต่เพียงเท่านั้นยังถือว่านักบวชที่พ่ายแพ้ต่อไฟราคะเป็นผู้ก่อบาปกรรมด้วยตนเองอีกด้วย ทำนองโยนตัวเองเข้าไปสู่กองเพลิง ทำให้ตนเองมอดไหม้ไปกับไฟ  

ไม่ใช่ว่าพุทธไม่รับรู้ว่าเรื่องกาเม เป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ แต่เมื่อบวชเป็นพระ ก็ต้องแบกรับความคาดหวังให้บุคคลเปลี่ยนสถานภาพไปสู่บุคคลที่ต้องเสียสละหรืออุทิศตนเพื่อสิ่งอื่นที่สูงไปกว่าโลกิยวิสัย พูดง่าย ๆ คือต้องการยกให้พระภิกษุประพฤติตัวเป็นแบบอย่างในอุดมคติ   

‘สมี’ ถือเป็นสัญญาณความเสื่อมทรามของบ้านเมือง 

ถึงไม่มีคำว่า ‘สมี’ แต่เรื่องความประพฤตินอกลู่นอกทางของพระภิกษุก็มีกล่าวไว้ในหลักปัญจอันตรธาน คือหลักว่าด้วยความเสื่อมทรามของพุทธศาสนา หลังจากพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ทุกสิ่งอย่างจะค่อย ๆ เสื่อมลงจนเมื่อถึง 5,000 ปี ศาสนาของพระพุทธเจ้าสมณโคดมจะดับสูญไปอย่างสิ้นเชิง จนกว่าจะมีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่มาจุติคือ ‘พระศรีอาริยเมตรไตรย’ พุทธศาสนาถึงจะค่อยกลับมาตั้งมั่นหลักฐานใหม่ บ้านเมืองก็จะเกิดเป็นดินแดนแห่งความสุขบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร ผู้คนไม่ทุกข์ยาก 

หลักปัญจอัตรธานนี้ คนลาวเรียกว่า ‘กาละนับมื้อส่วย’ หมายถึงกาลเวลาที่นับวันมีแต่จะเสื่อมทรามลง (‘กาละ’ แปลว่า กาล, เวลา ‘นับมื้อ’ แปลว่า นับวัน ‘ส่วย’ แปลว่า เสื่อมลง) ในระหว่างก่อนจะครบ 5,000 ปี ที่ว่านี้ ความเสื่อมอันหนึ่งที่เป็นสัญญาณบ่งบอก ก็คือการที่พระภิกษุเสพสังวาสหรือมีเมีย ซึ่งทำให้ผู้คนพากันหมดศรัทธา นี่ก็ผ่านมาเพียง 2567 ปี คือเลยครึ่งหนึ่งเพียง 67 ปี   

ในหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ที่ผู้คนเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยหรือประสบความทุกข์ยากมากเข้า หลักปัญจอันตรธานนี้จะถูกนำเอาไป ‘ปรูฟ’ ยืนยันถึงความเสื่อมทรามของบ้านเมือง ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นสัญญาณการมาของพระศรีอาริย์ อย่างในช่วงที่รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาล ในภาคอีสานได้เกิด ‘กบฏผู้มีบุญ’ (ไม่ใช่ ‘ผีบุญ’) ที่อ้างตัวเป็นพระศรีอาริย์มาเกิด รวบรวมคนเข้าด้วยเป็นอันมาก ทำการต่อต้านอำนาจรัฐส่วนกลาง    

‘สมี’ ในวรรณคดีไทย   

‘สมี’ มีอยู่ตลอดทุกยุคสมัยนั่นแหล่ะ เพียงแต่ไม่มีบันทึกเป็นหลักฐานเอาไว้ ในสมัยอยุธยา ไม่พบคำว่า ‘สมี’ แต่มีเรื่องราวของบุคคลที่ประพฤติผิดเช่นนี้ปรากฏในวรรณคดีที่มีต้นเค้าเป็นเรื่องเล่าสมัยอยุธยาที่ถูกนำมาขยายดัดแปลงเป็นวรรณคดี คือในเรื่อง ‘ขุนช้างขุนแผน’ และผู้ประพฤติผิดในเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น เป็นพระเอกเจ้าเสน่ห์ของเรานั่นเอง 

‘ขุนแผนแสนสะท้าน’ เป็นเรื่องตำแหน่ง ไม่ใช่ชื่อบุคคล เป็นตำแหน่งหมอผีทำพิธีไสยศาสตร์ให้แก่ราชสำนัก เช่น พิธีตัดไม้ข่มนามก่อนยกทัพออกศึก และเรื่องขุนแผนยังมีในเอกสาร ‘คำให้การชาวกรุงเก่า’ ทำให้ทราบว่ามีเค้าเรื่องมาจากเรื่องเล่าบุคคลอันเป็นตำนานหรือ ‘วีรบุรุษทางวัฒนธรรม’ 

ขุนแผนผู้เป็นตำนานนี้มีชื่อตัวว่า ‘พลายแก้ว’ เมื่อครั้งยังบวชเป็นพระอยู่แล้วได้พบกับนางพิม เป็นที่ต้องตาต้องใจ ครั้นแล้วคืนหนึ่งขุนแผนก็ปวารณาอธิษฐานขอลาผนวชเพียงข้ามคืน สลัดผ้าเหลืองออกแล้วไปปีนเรือนเข้าหานางพิม (คงไม่ต้องบอกนะขอรับว่า เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น เด็กเยาวชนที่อายุยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ โปรดใช้จักรยานเอ้ยวิจารณญาณ ในการอ่าน)  

นอกจากนางพิม อีกคนที่ตกเป็นเมียของพระพลายแก้ว (ขุนแผน) ในช่วงนั้น ยังมีนางสายทองอีกคน  นางสายทองเป็นบ่าวใช้ของนางพิม และทำหน้าที่เป็นแม่สื่อให้แก่นางพิมกับพระพลายแก้ว เรียกได้ว่าฟาดทั้งนายและบ่าว  

อย่างไรก็ตาม เหมือนวรรณคดีเรื่องนี้จะถ่ายทอดแนวคิดเรื่องบาปบุญคุณโทษเอาไว้อยู่ด้วย เพราะขุนแผนกับนางพิมและนางสายทอง ประพฤติผิดเช่นนี้ จึงทำให้เรื่องราวพัวพันอิรุงตุงนัง คือชีวิตไม่มีความสุขอีกเลยหลังจากนั้นเป็นต้นมา เพราะเป็นเจ้าของกรรม (กรรมสมี) นั่นเอง  

เช่นเดียวกับชีวิตของศรีธนญชัย (ลาวเรียก ‘เซียงเหมี้ยง’) ก็ไม่เคยราบรื่นเป็นปกติอีกเลย หลังจากที่อ้ายศรีท่านนี้ ‘แอบแซ่บ’ กับนางชีรูปงาม ที่เจ้าอาวาสฝากให้มาเรียนอ่านเขียนบาลีด้วย ศรีธนญชัยเวลานั้นบวชเป็นเณรอยู่ นางชีก็มีอายุมากกว่าศรีธนญชัย เนื่องจากนางชีเป็นศิษย์ เป็นนางชี และแถมอายุมากกว่าศรีธนญชัย ศรีธนญชัยกับนางชีก็เป็นรักข้ามพรมแดนหลายชั้นเช่นกัน  

ไม่รู้ว่ามุขของศรีธนญชัยจะมีอ้างว่านางชีเป็นเนื้อคู่หรือไม่ ไม่อาจทราบได้ ที่แน่ ๆ ในฐานะเป็นอาจารย์สอนบาลี ศรีธนญชัยก็คงใช้มุขประเภท ‘ไปอ่านพระธรรมที่กุฏิเราไหม?’ เพราะเหตุการณ์ที่ทำให้ถูกจับได้คาหนังคาเขา ก็คือเมื่อนางชีไปเรียนบาลี - อ่านพระธรรมที่กุฏิเณรศรีธนญชัยนั้นเอง    

ในทางตรงข้าม ก็มีวรรณคดีที่กล่าวถึงชีวิตแบบ ‘แฮปปี้เอ็นดิ้ง’ เมื่อบุคคลที่บวชเป็นพระอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมจะตกลงไปในหลุมไฟราคะ แต่ไม่ยอมตนพ่ายแพ้หรือตกลงไป อย่างในเรื่อง ‘ปาจิตต์กุมารกลอนอ่าน’ วรรณคดีสมัยธนบุรี ที่เล่าเรื่องชีวิตรักอันขมขื่นของท้าวปาจิตต์กับนางอรพิม ที่เนื้อเรื่องตลอดกว่า 3 ส่วน 4 เป็นเรื่องราวการผจญภัย คู่พระ - นางต่างประสบความทุกข์ยากนานากว่าจะได้ครองคู่อยู่กินด้วยกันอย่างปกติสุข 

จุดหักมุมของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อ นางอรพิมต้องแปลงกายเป็นพระเพื่อเอาชีวิตรอด นางก็ประพฤติธรรมจนได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆราช แล้วมีองค์หญิงธิดาเจ้าเมืองมาชอบ มาเข้าหา แต่นางก็ไม่ได้ทำผิดอย่างใด บางท่านก็อาจจะบอกว่า “ก็แหง๋ล่ะ เพราะสังฆราชนี้ที่จริงมีใจเป็นหญิงนี่” แต่เมื่อเนื้อคู่คือท้าวปาจิตต์ ติดตามค้นหาจนมาพบกันในที่สุด สังฆราชอรพิมก็ไม่ได้ละเมิดศีล คือไม่ได้ลอบเสพเมถุน นางได้สึกออกแล้วแปลงกายกลับเป็นหญิงก่อนถึงเดินทางกลับบ้านเมืองของตนตามท้าวปาจิตต์  

ที่บอกว่าท้าวปาจิตต์กับนางอรพิม เป็นเนื้อคู่กันนั้น ตามเนื้อเรื่องก็เป็นเช่นนั้น เพราะท้าวปาจิตต์ เจ้าชายหนุ่ม ได้รับคำทำนายว่า เนื้อคู่ยังไม่เกิด ยังอยู่ในครรภ์หญิงที่เดินไปไหนทำอะไรก็มีร่มบังแดดบังฝน แล้วท้าวเธอก็ออกเดินทางไปจนพบตายายคู่หนึ่ง ยายตั้งครรภ์ มีลักษณะประหลาดอย่างที่โหรทำนาย ท้าวปาจิตต์ซึ่งเป็นถึงเจ้าชายได้อาสาทำไร่ไถนาให้ตายายคู่นี้ โดยมีการทำสัญญากันไว้ว่า หากแม้นยายคลอดลูกออกมาเป็นหญิง ตนขอนำไปอภิเษกสมรสเป็นพระมเหสี นั่นคือท้าวปาจิตต์เป็นพระเอกที่อายุเยอะกว่านางเอกมากขนาดที่ว่าพระเอกโตเป็นหนุ่มแล้ว นางเอกยังอยู่ในครรภ์มารดาอยู่เลย (ท้าวปาจิตต์เป็นพวกชอบ ‘โลลิคอน’ มีเมียเด็กนั่นเอง)  

แล้วยายก็คลอดลูกสาวออกมาเป็นนางอรพิม และยายก็ยกนางให้แก่ท้าวปาจิตต์ตามสัญญา แต่ระหว่างทางที่ท้าวปาจิตต์กับนางอรพิมเดินทางจะไปแต่งงานกันที่เมืองของท้าวปาจิตต์นั้นได้เกิดพลัดพรากจากกันไปนาน จนกระทั่งได้พบกันในขณะที่นางอรพิมแปลงกายเป็นชายและบวชเป็นพระจนได้เป็นสังฆราช การรู้จักหักห้ามจิตใจตนเอง ถึงแม้จะเป็นเนื้อคู่ที่พลัดพรากจากกันไปจริง ๆ ทำให้ชีวิตทั้งสองประสบความโชคดีแล้วเรื่องก็จบแบบ ‘แฮปปี้เอ็นดิ้ง’ ไม่เหมือนกรณีขุนแผนกับศรีธนญชัย    

‘สมี’ คำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก ประพฤติผิดกามา มีที่มาจากไหน อย่างไร?

‘สมี’ ในประวัติศาสตร์ไทย 

ที่กล่าวมาเป็นเรื่องแต่งเรื่องในวรรณคดี แล้วทีนี้ก็มาถึงเรื่องราวที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ้าง  แอ่น แอน แอ๊น...  

การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ตามหลักฐานก่อนชำระ ดูเหมือนจะมีอะไรแปลก ๆ เพราะสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม ได้มีการติดต่อกับสตรีฝ่ายใน จนกระทั่งคืนหนึ่งได้ปวารณาตัวออกจากพระภิกษุ แล้วยกกำลังเข้าบุกยึดพระราชวัง ตั้งตนเป็นกษัตริย์ เป็นการรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย (ก็ว่าได้) 

นอกจากนี้ในสมัยอยุธยายังมีเรื่องปรากฏในบันทึกต่างชาติอย่างของ ‘หมอแกมป์เฟอร์’  (Engelbert Keampfer) ได้เล่าถึงเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อมีพระภิกษุกับนางชีลอบได้เสียเป็นผัวเมียกัน ได้มีการจับสึกและลงโทษทั้งสองคนอย่างเฉียบขาดตามกฎหมายสมัยนั้น เป็นเหตุให้ในเวลาต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ต้องทรงสั่งห้ามไม่ให้ตำหนักที่อยู่ของนางชีอยู่ใกล้ชิดติดกับกุฏิที่พำนักของสงฆ์ เป็นเหตุให้สำนักชีหลายแห่งที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงหลังจากนั้นต้องตั้งอยู่ห่างจากวัดออกไปอีก เช่น สำนักชีวัดพุทไธสวรรย์ อยู่ในพื้นที่วัดตะเว็ด (ภายหลังเลิกยุบสำนักชีนี้ตั้งเป็นวัดใหม่), ตำหนักวัดช้าง ฝั่งอโยธยา, ตำหนักคำหยาด อ่างทอง เป็นต้น  

ในสมัยธนบุรี มีเรื่องเจ้าพระฝาง สวางคบุรี ซึ่งเป็นสังฆราชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 ได้รวบรวมผู้คนตั้งเป็น ‘ก๊กเจ้าพระฝาง’ ขึ้นมา เจ้าพระฝางจึงอยู่ในลิสต์รายชื่อบุคคลที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จะต้องยกทัพจากธนบุรี ไปปราบปราม เมื่อชนะศึกแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้ทรงให้ชำระวินัยสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือ การณ์นี้ ‘พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)’ ได้ให้เหตุผลไว้ว่า:  

“พระสงฆ์อันบันดาอยู่ฝ่ายเหนือนี้ เป็นพรรคพวกเพื่อนอ้ายเรือนฝาง ย่อมคิดถือปืนรบศึก ฆ่าคนปล้นเอาทรัพย์สิ่งของ แลกินสุราส้องเพสด้วยสีกา ให้ขาดจากสิกขาบทจัตุปาราชิก เป็นลามกอยู่ในพระศาสนานี้จะไว้มิได้”

ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นที่กรุงธนบุรีเอง ก็ได้เกิดกรณี ‘พระฉันบวบ’ (ในแง่มีเซ็กซ์กับเพศเดียวกัน) ตามความใน ‘พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับหมอบรัดเลย์’ ได้ระบุไว้ดังนี้: 

“อนึ่งสามเณรศิษย์พระพนรัตน์ก็มาฟ้องกล่าวโทษว่า พระพนรัตส้องเสพเมถุนธรรมทางเว็จมัคแห่งตน (เว็จมัค-หมายถึงทวาร, ตูด หรือ ก้น - ผู้อ้าง) จึงโปรดให้พิจารณารับเป็นสัตย์ให้สึกเสียแล้วเอามาตั้งเป็นหลวงธรรมรักษาเจ้ากรมสังฆการี”

เหตุที่สมเด็จพระพนรัตน์ เมื่อถูกจับสึกแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ กลับตั้งให้เป็น ‘หลวงธรรมรักษา’ ทำหน้าที่บังคับบัญชากรมสังฆการีอีก ก็อาจเป็นเพราะสมัยนั้นยังไม่มีมุมมองว่า ‘พระฉันบวบ’ เป็นความผิดร้ายแรงดุจเดียวกับการส้องเสพเมถุนกับสีกา อีกทั้งเป็นช่วงฟื้นฟูบ้านเมืองจากความเสียหายหลังสงครามเสียกรุง พ.ศ.2310 กรุงธนบุรียังต้องการคนมีความรู้ความสามารถมาปฏิบัติหน้าที่เป็นอันมาก จึงได้แต่งตั้ง ‘สมี’ ให้เป็นขุนนาง แต่นั่นก็เป็นเรื่องเฉพาะมาก  

อย่างไรก็ตาม ทั้งกรณีเจ้าพระฝางและสมเด็จพระพนรัตน์ ตามความในพระราชพงศาวดารต่างก็กล่าวถึงในลักษณะเป็นภาพสะท้อนความเสื่อมทรามของบ้านเมือง  ‘สมี’ นั้นย่อมาจาก ‘กรรมสมี’ หมายถึงผู้เป็นเจ้าของกรรม ‘บาปกรรม’ ที่ว่านี้จะมีอยู่จริงหรือไม่ ‘นรก’ คืออะไร หรือแค่ชื่อน้ำพริก อาจไม่สำคัญเท่า ‘สังคม’ นั้นมีอยู่จริง แม้ว่าเรื่องเซ็กซ์จะเป็นเรื่องปกติธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ และที่จริง ‘ความรัก’ ก็เป็นสิ่งสวยงาม แต่เมื่อบวชครองผ้าเหลืองแล้ว ก็ต้องรู้จักข่มจิตใจและประพฤติปฏิบัติตัวให้สอดคล้องตามความคาดหวังของสังคม  

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

ภาพ: Pixabay

อ้างอิง:
      การศาสนา, กรม. ศาสนาในอาเซียน. กรุงเทพฯ: กระทรวงวัฒนธรรม, 2559. 
     กำพล จำปาพันธ์. ‘การกำหนดอายุและศึกษารูปแบบศิลปกรรมของ ‘วัดตะเว็ด’ ในเขตป่าดงตาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา’ วารสารไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 (เมษายน-ธันวาคม 2558): 51-90.  
     กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา: ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex. กรุงเทพฯ: มติชน, 2563. 
     แกมป์เฟอร์, เอ็นเยลเบิร์ต. ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. แปลโดย อัมพร สายสุวรรณ, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2545. 
     จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา. ‘ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์’ ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 13 ฉบับที่ 9 (กรกฎาคม 2535): 96-117. 
      ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ, 2558. 
      พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับพ.ศ.2525. กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์, 2539. 
     พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2551. 
     พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับหมอบรัดเลย์. กรุงเทพฯ: โฆสิต, 2549.  
     พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2553. 
     ไรท์, ไมเคิล, ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2: วิธีอ่านใหม่. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.  
     เวลส์, เฮช. จี. ควอริทซ์. พระราชพิธีแห่งกรุงสยาม: ตั้งแต่โบราณกาลถึง พ.ศ. 2475 (Siamese State Ceremonies). แปลโดย สุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ และไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์. กรุงเทพฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์, 2562. 
      ศรีทะนนไชย (สำนวนกาพย์). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2501.  
     ศิลปากร, กรม. วรรณกรรมสมัยธนบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2532. 
      ส. สีมา. ‘สมัยพุทธกาล ภิกษุณี 2 รูป ถูกชายชั่วชวน ‘สังวาส’’ ศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com/history/article_37693 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565). 
      เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2544.  
      อนุมานราชธน, พระยา. ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาพราหมณ์ พุทธ และชินในแง่ประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: สมาคมฮินดูสมาช, 2511.