THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 ‘เราอยู่ในยุคที่เพลงไทยดีพอและกำลังจะเป็นคลื่นลูกใหม่ในตลาดโลก’

THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 ‘เราอยู่ในยุคที่เพลงไทยดีพอและกำลังจะเป็นคลื่นลูกใหม่ในตลาดโลก’

เบื้องหลัง 4 เรื่องราวจากคนในวงการเพลงในยุคที่เพลงไทยดีพอจะสู้เพลงชาติอื่นบนโลกและถูกจับตามองเป็นคลื่นลูกใหม่ที่กำลังจะตีตลาดโลกจากเวที THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024

KEY

POINTS

  • T-Pop กำลังเป็นที่นิยมและครองใจคนรุ่นใหม่
  • วงการเพลงไทยกำลังถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นคลื่นลูกใหม่ในวงการเพลงโลก
  • และเรากำลังอยู่ในยุคที่วงการเพลงไทยดีพอที่จะสู้คลื่นเพลงอื่น ๆ ในต่างประเทศได้

ปัจจุบัน กระแส T-Pop ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ 

มีศิลปินหน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวัน และพวกเขาก็เป็นคนที่เก่ง มีความสามารถครบด้าน ทั้งแต่งเพลง ร้องเพลง และเต้นได้

หากจะบอกว่า วงการเพลงไทยกำลังเป็นที่จับตามองก็คงไม่ใช่คำพูดที่ยิ่งใหญ่หรือสวยหรูเกินไปนัก เพราะข้อมูลปี 2566 บอกเราว่า อุตสาหกรรมเพลงไทยกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง มีมูลค่าถึง 5,000 ล้านบาท

ในวงเสวนา ‘กลยุทธ์สำหรับการขยายอุตสาหกรรมดนตรีของไทยสู่ตลาดโลก’ ส่วนหนึ่งของงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 คำสำคัญที่เกิดขึ้น คือ  ‘วันนี้เพลงไทยดีพอ’

ดีพอที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่ดีและได้มาตรฐาน

ดีพอที่จะเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการเพลงโลก

และดีพอที่จะประกาศให้รู้ว่า เพลงแบบไทย ๆ เป็นอย่างไร

ชวนดู 4 เรื่องราวของวงการเพลงไทยจาก 4 คนในวงการอย่าง  ‘จ๋อง’พงศ์นรินทร์ อุลิศ จาก Cat Radio, ‘กร’ ชลากรณ์ ปัญญาโฉม จาก T-Pop Incorporation, คาล คงขำ จาก Warner Music Thailand และ ‘ฟลุ๊ค’ พลกฤต ศรีสมุทร จาก YUPP! ดำเนินรายการโดย อนันต์ ลือประดิษฐ์ บรรณาธิการอำนวยการ The People ที่แม้จะมีวิธีการที่แตกต่าง แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ อยากให้วงการเพลงไทยเดินหน้าต่อ รักษาคนที่อยู่ และเปิดต้อนรับคนใหม่ ๆ มาร่วมเดินทางพาเพลงไทยไปสู่เวทีโลกให้สำเร็จ

Cat Radio : เราอยู่ในยุคที่เพลงไทยดีพอ

คีย์สำคัญของจ๋อง พงศ์นรินทร์ อุลิศ จาก Cat Radio ของวงเสวนาครั้งนี้ คือ การย้ำจุดยืนว่า วันนี้ เรากำลังอยู่ในยุคที่เพลงไทยดีพอในการจะไปสู้กับชาติอื่นได้

จ๋องบอกว่า ประเทศไทยมีศิลปินเก่ง ๆ ที่เรียนจบสายดนตรีมาโดยตรง มีแพสชันพร้อมกับทักษะมากมาย ทำเพลงได้ง่ายขึ้น จนมีศิลปินที่เก่ง ผลงานอยู่ในระดับมาตรฐานสากล แต่คนฟังตามไม่ทัน 

ในอดีตตามไม่ทัน เพราะเพลงจากคลื่นวิทยุมักเปิดเพลงป๊อป เพลงที่ได้รับความนิยม และปัจจุบันตามไม่ทันเพราะอัลกอริธึมจัดสรร

“วันนี้เรามีศิลปินมาตรฐานสูง แต่ว่าคนฟังยังไปไม่ถึง ไม่ใช่เรื่องความรู้ แต่เป็นเรื่องของการชี้นำหรือโอกาสในการเข้าถึงดนตรี มันอาจจะน้อยไป

“พูดถึง 20 ปีที่แล้ว วิทยุเล่นแต่เพลง pop อย่างเดียว เล่นแต่เพลงที่ดังมาก ๆ เท่านั้น แต่ทุกคนต้องเคยไม่ดัง แล้วพอมันมี social media มันก็แนะนำด้วยวิธีเดียวกัน คือมันจะดูเล่นก็ต่อเมื่อมันได้รับความนิยมมากพอ ต่อให้เรามีศิลปินระดับโลกมากมาย แต่ถ้าคนในระดับโลกไม่รู้ว่าเขาเจ๋ง มันน่าเสียดาย” 

ถึงแม้ว่าศิลปินจะตั้งใจทำงานหนักมาก สร้างสรรค์ผลงานออกมาในรูปแบบที่หลากหลาย แทนที่พื้นที่มากขึ้น แสงสปอตไลท์จะสาดส่องได้กว้างขึ้น แต่ในสายตาของจ๋องจะไม่เป็นแบบนั้น

นักร้อง นักดนตรี ยังคงต้องสู้ชีวิต รอจังหวะดัง ซึ่งสวนทางกับยุคที่วงการเพลงไทยกลับมาเฟื่องฟูและ ‘ดีพอ’

“สมัยก่อน ถ้าไม่ได้ฟังคลื่นวิทยุ  ผมไม่มีวันได้ฟังเพลงเหล่านี้หรอก แต่พอมันมี social media เขาเริ่มปล่อยเพลงกันเองได้ ผมว่ามันควรจะต้องแพร่หลายมากขึ้น ต้องง่ายกว่าเดิม แต่มันกลับยากกว่าเดิม ทุกคนต้องรอจังหวะลงล็อกพอดี ซึ่งมันสวนทางกัน”

ถึงเวลาจะผ่านไป อัลกอริธึมจะคัดเลือกเพลงมาให้เรามากแค่ไหน แต่จ๋องก็ยังมองว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมี ‘ดีเจ’ ที่คอยคัดเลือกเพลงและแนะนำเพลงหลากหลายรูปแบบให้กับผู้ฟัง

“ผมว่า มีใครแนะเราสักนิดนึงมันน่าจะดีกว่า มันอาจจะต้องการคนที่ชักจูง โน้มน้าว ให้ความรู้เพิ่มเติม ผมว่าดีเจแม่งโคตรจำเป็นเลย เอาแค่ introduce ก่อนเลย ทุกวันนี้ต้องเอศิลปินไปเล่น TikTok แล้วคือมันมีคนเก่งอีกมากมายที่เต้น TikTok ไม่ได้” 

แต่การที่เพลงในรูปแบบต่าง ๆ จะไปประสบความสำเร็จระดับโลก ก็ควรเริ่มต้นจากคนในประเทศก่อน เพื่อให้ศิลปินไทยไปยืนอยู่บนเวทีต่างประเทศด้วยความภาคภูมิใจ รู้ว่ามีคนเชียร์พวกเขาจากข้างหลัง

“เราเคยพูดเรื่องนี้กันนานแล้ว นี่เป็นยุคที่ดีพอแล้ว ผมว่าคนฟังในบ้านเราต้องโตกว่านี้ ตลาดต้องโตกว่านี้ มืองนอกควรจะเป็นแค่โบนัส  ผมทำ media มา ที่เห็นคือหลายคนทำเพลงเป็นแค่งานอดิเรก ทั้ง ๆ ที่เก่งเหลือเกิน แต่เขาอยู่ไม่ได้” 

“ผมคิดว่าจำเป็นต้องมีฐานที่แข็งแรงในประเทศ อยากให้เปิดใจและเปิดรับศิลปินไทย นี่เป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในต่างประเทศ เขาไม่ควรจะไปอย่างเหงา ๆ  แต่กลายเป็นว่าเขารู้สึกว่ามันไม่ relate กับเมืองไทย เพราะเมืองไทยไม่รู้จักฉัน แทนที่มันจะต้องไปต่อ หรือหน้าปากซอยคนรู้จักเพลงฉันหรือเปล่า น่าเศร้ามากเลย” 

ถ้ามองตลาดเพลงไทย 2-3 ปีข้างหน้า คำตอบของจ๋องจึงบอกว่า มันจะเฟื่องฟู อาจมีศิลปินที่ได้รับโอกาสมากขึ้น  แต่จะทำอย่างไรให้ความสามารถของศิลปินทุกคนเปล่งประกาย และร่วมกันสร้างระบบนิเวศของวงการเพลงให้ศิลปินรุ่นต่อไปมีไฟและอยากทำงานที่เขารักต่อไป 

“ถ้าอุตสาหกรรมเองไม่แข็งแรง คนจะอยากอยู่ในอุตสาหกรรมหรอ เด็กใหม่ ๆ จะอยากเป็นศิลปินเหรอ คนลงทุนทำค่ายเพลงจะอยากทำเหรอ คือไปหวังแบบได้มงกุฏมา 1 อันที่เมืองนอกแล้ว คนจะเป็นนางงามทุกคนเหรอ ผมว่าไม่” 

“ผมว่าเราทิ้งอุตสาหกรรมเพลงไทยไม่ได้เลย ปล่อยตามมีตามเกิดเหมือนปัจจุบัน น่าห่วงจังเลย ถ้ามีคนเข้ามาสนับสนุน มองเรื่องคนซื้อฟัง คนฟัง มองตลาดด้วย วงการเพลงไทยมั่นคงและแข็งแรง”

 

T-Pop Incorporation : เพลงบ้านเราดี แต่ไม่ได้แปลว่าคนรอบข้างไม่ได้ขยับตัว

กร ชลากรณ์ ปัญญาโฉม จาก T-Pop Incorporation คือ คนที่อยู่เบื้องหลังรายการ The Mask Singer, The Rapper และความสำเร็จของ 7 สาว 4EVE

ณ วันนั้นที่เขาอยู่ในวงการของ ‘รายการเพลง’ แม้จะได้รับความนิยมมาก แต่ก็ต้องพับโปรเจกต์ไป เพราะเงินไม่พอ ไม่มีสปอนเซอร์ และขายไม่ได้

“ผมทำรายการเกี่ยวกับเพลง น่าจะเป็นคนเดียวที่ทำอยู่ตลอดเวลา บางคนเลิกทำ มันก็มีผลต่ออุตสาหกรรม เพราะรายการที่เกี่ยวกับเพลง ไม่มีสปอนเซอร์ ไม่มีใครสนับสนุน  แต่อย่างเกาหลีญี่ปุ่น ทุกสถานีโทรทัศน์มีรายการเพลง อย่างน้อยทุกสถานีมีรายการเพลง มันเลยมีพื้นที่ให้ศิลปิน”

หลังจากไปเดินสายในต่างประเทศ สิ่งที่กรสังเกตเห็น คือ ต่างประเทศสนใจเพลงไทย (Thai Music) มาก และมองว่าอาจเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการเพลง

“เกือบทั้งโลกเขาสนใจ T-pop อาจจะไม่ได้เข้าใจตรงกันแต่อย่างน้อยมันพุ่งมาที่ Thai music และดูเป็นตลาดที่มีความหวังสำหรับคนต่างชาติมากเลย เขามองเราแบบว่าจะเป็น new wave หรือเปล่า”

วันนี้ 4EVE ที่เขาปลุกปั้นมีโอกาสไปแสดงที่ต่างประเทศ ทั้งบนเวทีจีนและญี่ปุ่น แต่ฉากหลัง คือ การทำงานอย่างหนักกับข้อมูลและสถิติหลังบ้านต่าง ๆ 

“เราส่งศิลปินไปต่างประเทศ โดยมากจะเอาข้อมูลไปด้วย คนประเทศไหนฟังเราเยอะ ได้รับความนิยมขนาดไหน ต่างประเทศตลาดใหญ่กว่า คนเยอะกว่า แต่เวลาเขาจะเอาเราไปเล่น เขาจะ recheck ดูอยู่ดีว่าศิลปินเราได้รับการยอมรับมากแค่ไหน”

แต่อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่กรพูดถึง คือ ความชื่นชอบของคนไทยและต่างประเทศต่างกัน สิ่งที่คนทำงานต้องคิดต่อ ก็คือ ทำอย่างไรให้เพลงที่สนุกสนาน กินใจ และนิยมในร้านเหล้าแบบไทย ๆ จะไปครองใจชาวต่างชาติได้

“เนื้อเพลงมันต้องเข้าถึงอารมณ์ แต่ว่ามันไม่ใช่เพลงทุกเพลงที่เหมาะกับฟังก์ชั่นนั้น เนื้อเพลงที่แหกปากฟูมฟายได้ หรือเต้นสนุกสนาน มักจะได้รับความนิยมในบ้านเรา แต่ที่ยุโรปหรือเกาหลี เขาเต้นกันเป็นฟลอร์  ความแตกต่างระหว่างเพลงของแต่ละประเทศมันคนละขั้วเลย พอจะไป มันต้องคิดนิดนึงว่า ถ้าเราไปแล้วอยากได้ใจเขา ต้องทำอย่างไร”

ขณะเดียวกัน ไม่ใช่แค่เพลงไทยที่เริ่มปรับตัวให้ยุคสมัย แต่ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในเอเชียก็ปรับตัวด้วยเช่นกัน คำถามต่อไป คือ ประเทศไทยจะรักษาสถานะความหวังของต่างชาติ ไม่ให้ต่างชาติแซงไปได้อย่างไร 

“หลายประเทศสนใจเรามาก ขณะเดียวกัน ฟิลิปปินส์ก็เริ่มโปรโมต P-pop ญี่ปุ่นเริ่มส่งศิลปินมาไทยไม่หยุด เหมือนจะเริ่ม rebrand ปล่อยด้วยเพลง anime มาก่อน แต่ที่นี่ เขาออกแรกกันเต็มเหนี่ยว  ใครมีโอกาสก็คว้าโอกาสนั้น มันยังไม่ได้มี roadmap ว่าเราจะทำอย่างไร”

“ซึ่งผมเลยกังวลใจเยอะหน่อย มันเหมือนเราเชียร์บอลไทย แล้วอยู่ดี ๆ ข้างบ้านแซงเรา ไม่รู้ทำไม ตอนนี้ momentum เป็นแบบนั้นเลย เพลงบ้านเรามันดีมาก แต่มันไม่ได้แปลว่าคนรอบข้างเราเขาไม่ได้ขยับตัว”

ในฐานะคนในวงการและคนไทยคนหนึ่ง กรจึงทิ้งท้ายว่า อยากให้ทุกคนช่วยดันเพลงไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนเงินทุน เปิดโอกาสให้ศิลปินไทยมากขึ้น

“คนทำสื่อเกี่ยวเกี่ยวกับเพลงและหนัง ถ้าช่วยได้ อยากให้ช่วย เพราะครั้งแรกที่ผมทำ แล้วก็เลิกไปแป๊บหนึ่งนะ เพราะไม่ไหว พอมีเงินก็กลับมาทำใหม่ แต่มันน่าเสียดายมากเลย สื่อต้องสนับสนุนและดันพวกเรา ด้วย ไม่ใช่แค่ตัวศิลปิน”

 

Warner Music : การไปต่างประเทศไม่ใช่การเก็บเกี่ยว แต่เป็นการปลูกสร้าง

“เอกลักษณ์ของศิลปินไทย มีเสน่ห์ มีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก และมีหลายแนว”  คือ จุดเด่นของศิลปินไทย ในสายตาของ ‘คาล’ จาก Warner Music Thailand 

แต่อย่างที่รู้ ศิลปินไทยมีมากขึ้น เรามีเพลงในฉบับตัวเอง แต่โลกที่หมุนเร็ว คนชอบเร็วและเบื่อง่าย 

“เรามี choice เยอะ แต่เดี๋ยวนี้คน move on เร็ว ขี้เบื่อ อยากได้อะไรใหม่ ๆ คืออย่าง 2 ปีที่แล้วอาจจะดีง แต่ปีนี้ out แล้ว”

ถึงอย่างนั้น การจะส่งออกศิลปินคนหนึ่งไปยังตลาดต่างประเทศได้ เขาก็จำเป็นต้องมีฐานแฟนคลับในประเทศ มีแฟนด้อมที่จะสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่และสนับสนุนงานเพลงอย่างต่อเนื่อง

หน้าที่ของศิลปินยุคนี้ แค่ร้องเพลงหรือมีทักษะดนตรีอาจไม่พอ แต่ต้องรู้จักวิธีรักษาแฟนคลับและออกไปหาเพื่อนคู่คิดให้มากขึ้น

“จริง ๆ ที่สำคัญคือ มีแฟนด้อม จะสร้างแฟนคลับอย่างไร อย่างที่สองคือตัวศิลปิน อยู่ในระบบนิเวศน์ที่เหมาะ ศิลปินต้องทำงานหนักขึ้น ต้องหา partner ไม่ว่าจะเป็นค่ายเพลง เป็นสื่อ แล้วทำงานในทิศทางเดียวกัน

“ศิลปินต้องเป็น engage กับแฟน คุณอาจจะดังมากในไทย แต่ถ้าออกนอกประเทศ คุณยังไม่ได้ดังขนาดนั้นนะ เขาต้องไปทำงาน แล้วต้องหาทางทำงานด้วยกัน มี partner มีสื่อ  เขาต้องเลี้ยงแฟมด้อม ไม่ใช่แฟนด้อมต้องเลี้ยงเขา”

ในบทบาทของผู้ดูแลศิลปิน การจะพาศิลปินไปตลาดนอกประเทศ ก็จำเป็นต้องคิดอย่างมีกลยุทธ์ มันไม่ใช่การเก็บเกี่ยว แต่เป็นการสร้างรากฐาน

“ผมมีศิลปินวงหนึ่ง เคยดังในไทย แต่เราจะสร้างชื่อเสียงของเขาในต่างประเทศอย่างไร ค่อย ๆ build เพราะเขาไม่ได้เล่น series หรือบางวงเอาเพลงของเขาไปอยู่ใน soundtrack ก่อน เพราะต่อให้เราจะเป็น Warner Music คนไม่สนใจหรอก ถ้าไม่มีตัวเลขเพียงพอ”

มุมมองของคาล แม้จะคลุกคลีอยู่ในวงการเพลง แต่หากพูดถึงนิยามความหมายของ T-Pop เขาเองก็ยังไม่รู้คำตอบที่ชัดเจน แต่ผู้มีหน้าที่กำหนดความหมาย คือ คนไทยและผู้ฟังทุกคน 

“จริง ๆ แล้ว ผมก็ไม่รู้ว่า T-pop คืออะไร แต่ผมเชื่อว่า คนที่จะช่วยกำหนดตรงนี้คือคนไทย ตอนนี้เราโชคดีว่าคนสนใจไทย ผมว่าน่าสนใจ สุดท้ายเขาจะตีความว่าไทยคืออะไร ถ้ามีแกนนำ 4 - 5 เบอร์ที่พอมีศักยภาพ แล้วค่อยขยายมันดีกว่าที่เราจะส่งเป็นร้อย ๆ เบอร์ออกไป”

เพราะสุดท้าย ไม่ว่าอย่างไร การไปต่างประเทศไม่ใช่การเก็บเกี่ยว แต่เป็นการปลูกสร้างจริง ๆ 

 

YUPP! : ภาษาไหนก็ได้ ถ้า vibe มันถูกต้องคนก็เอาหมด

YUPP! คือ ค่ายเพลงที่เติบโตขึ้นมาในยุคอินเทอร์เน็ต ดูแลเด็กหนุ่มผู้มีความฝันให้กลายเป็นศิลปิน

กลยุทธ์และวิธีต่าง ๆ ของค่ายจึงต้องปรับให้ทันยุคสมัย นอกจากทักษะดนตรีและการร้อง พวกเขาอาจจะต้องเข้าใจสื่อใหม่ ลองเล่น Tiktok และสื่อสารกับแฟน ๆ ทางหนึ่งถือเป็นการสร้างรายได้ให้ค่ายและศิลปินนอกจากยอดฟังเพลง

“วันนี้ศิลปินต้องทำงานหนักมากขึ้น เราเลยไป force ว่า เล่น TikTok ทุกวันสิ เพราะมันต้องสร้างแฟนด้อม ปีหนึ่งเขาอาจจะออกเพลง 3 เพลง อีก 300 กว่าวัน เธอต้อง participate กับคนนะ ตอนนี้มันต้องเป็นธุรกิจจริง ๆ ต้องทำ social media ให้เติบโต เพื่อมีตัวเลขให้ลูกค้ามาซื้อ เพราะยอดฟังเราไม่พอ”

วันนี้ YUPP! มี ‘มิลลิ’ เป็นตัวแทนประเทศไทยไปกินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที ‘Coachella’ แต่เบื้องหลัง คือ การวางแผนทุกอย่างมานานกว่า 2 ปี 

“อย่างมิลลิ วันนั้นจริง ๆ มันถูกปูมาแล้ว 2 ปี ไปทำ remix กับต่างประเทศมา เล่นคอนเสิร์ตต่างประเทศเป็น digital online concert แล้วพอมันปูมา งานที่เราทำกับเขา ยอดวิวดี งาน performance ดี เขาเลยเอาเราไปขึ้นเวที” 

การทำงานที่ต้องปรับตัวตลอดเวลา ทำให้ค่ายก็ต้องไม่หยุดเรียนรู้ มองหาองค์ประกอบที่สมบูรณ์แบบเพื่อเป็นส่วนผสมของเพลงที่สมบูรณ์

เพราะเพลงคือภาษาสากล เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจความหมาย แต่ถ้าดนตรีได้ จังหวะได้ บรรยากาศได้ ต่อให้ขึ้นเล่นเวทีไหนบนโลกใบนี้ ผู้ชมก็ยังสนุกกับสิ่งนี้ได้ 

“ไม่ต้องภาษาอังกฤษ 100% หรือไม่ต้องญี่ปุ่น 100% ถ้า vibe มันถูกต้อง คนเอาหมด”

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหลาย ๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในวงการเพลงไทย วงการที่ต่างประเทศต่างมองว่าอาจเป็นคลื่นลูกใหม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า T-Pop ยุคนี้กำลังดี ดีพอ และกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่เราจะเป็นคลื่นลูกใหม่ได้ตามที่หลาย ๆ ประเทศหวังไว้ได้ไหม

คงต้องติดตามต่อไป…

 

เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์