รู้จักพันธบัตร ‘Stablecoin’ หมื่นล้าน ในวันที่ไทยก้าวสู่ยุคเงิน Digital

รู้จักพันธบัตร ‘Stablecoin’ หมื่นล้าน ในวันที่ไทยก้าวสู่ยุคเงิน Digital

รู้จักพันธบัตร ‘Stablecoin’ นวัตกรรมการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ของไทย ที่ผสานการลงทุนและการใช้จ่ายเข้าด้วยกัน พร้อมเปลี่ยนโฉมตลาดการเงินไทยสู่ยุคดิจิทัล

KEY

POINTS

  • รัฐบาลไทยออก Stablecoin อิงพันธบัตร มูลค่า 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้พันธบัตรรัฐบาล และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น
  • แบงก์ชาติแสดงความกังวลต่อความมั่นคงของสกุลเงินดิจิทัล โดยเฉพาะด้านเสถียรภาพของระบบและข้อจำกัดทางเทคโนโลยี
  • รัฐบาลยืนยันเดินหน้าโครงการต่อ พร้อมวางแผนขยายสู่เฟส 2 ที่จะเชื่อมโยงกับร้านค้า และส่งเสริมให้บริษัทหลักทรัพย์เข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
     

เป็นข่าวฮือฮาในแวดวงเศรษฐศาสตร์ไทยเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2025 เมื่อกระทรวงการคลังประกาศนโยบายออก ‘Stablecoin’ อิงพันธบัตรรัฐบาล มูลค่า 10,000 ล้านบาท

ถือเป็นเป็นการนำเทคโนโลยีการบริหารจัดการ ‘สินทรัพย์ Digital’ มาประยุกต์ใช้กับพันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบ Investment Token ที่ประชาชนเข้าถึงได้ เพราะสามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถือเป็นการเพิ่มสภาพคล่องของพันธบัตรรัฐบาล จากเดิมที่ส่วนใหญ่อยู่ในมือนักลงทุนประเภทสถาบัน 

ส่วนเฟส 2 จะมีการพัฒนาให้เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ และ อย่างไรก็ตาม อาจต้องปรึกษาหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเรื่องของแนวทางการใช้งานต่าง ๆ อีกครั้ง

ถือเป็นการผลักดันสถานะ Finance Hub เพื่อดึงดูดบริษัทชั้นนำระดับโลกให้เข้ามาลงทุนในบ้านเรา

Stablecoin คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรในแวดวงเศรษฐศาสตร์โลก มีประเทศไหนบ้างที่ใช้ Stablecoin และจะส่งผลกระทบด้านบวกต่อประชาชนอย่างเรา ๆ อย่างไร The People มีคำตอบ

รู้จัก ‘พันธบัตรรัฐบาล’ กันก่อน

พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) คือตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล โดยอยู่ในรูปแบบของสกุลเงินของประเทศตนเอง เช่น เงินบาท ภายใต้สัญญาการจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด (Coupon Payment) ที่มีกำหนดการชำระคืนที่แน่นอน

เป้าหมายของพันธบัตรรัฐบาล คือการนำไปเป็นการใช้จ่ายของรัฐบาล เงื่อนไขที่รัฐบาลสามารถขายพันธบัตรได้ ขึ้นอยู่กับอันดับเครดิตระหว่างประเทศ หรือความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในช่วงเวลานั้น
 

เช่น มีผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 2 ล้านบาท อายุพันธบัตร 10 ปี รัฐบาลกำหนดจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายปี สมมุติ 10% รัฐบาลก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ย 10% ของจำนวนเงิน 2 ล้านนั้นทุก ๆ 1 ปีจนครบ 10 ปี และในวันที่พันธบัตรครบกำหนดคือ 10 ปี รัฐบาลจะคืนเงินจำนวน 2 ล้านบาทให้แก่ผู้ถือพันธบัตรฉบับนั้น

รู้จัก Stablecoin ก่อนตัดสินใจซื้อพันธบัตรหมื่นล้าน

จากตัวอย่างเมื่อสักครู่ ที่มีผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาล 2 ล้านบาท ผู้ซื้อก็ได้พันธบัตรไปถือแทนเงิน 2 ล้าน โดยรัฐบาลจะนำเงิน 2 ล้านบาทดังกล่าว ไปใช้จ่าย เมื่อครบแต่ละปีผู้ถือพันธบัตรจะได้ดอกเบี้ยตามที่รัฐบาลกำหนด โดยผู้ถือพันธบัตรจะต้องรอจนกว่าจะหมดอายุพันธบัตร หรือหากร้อนเงินก็สามารถนำไปขายในตลาดรอง

แต่หากเป็น Stablecoin ผู้ที่ซื้อพันธบัตรพันธบัตร Token หรือ Stablecoin สมมุติวงเงิน 2 ล้านบาท นอกจากพันธบัตร จะได้เหรียญ THB_Stablecoin ไปถือด้วย โดยสามารถเลือกที่จะถือไว้เฉย ๆ เพื่อได้รับดอกเบี้ยพันธบัตร หรือสามารถนำ Stablecoin ไปจับจ่ายใช้สอยได้ ถือเป็นการเพิ่ม Liquidity ให้กับผู้ซื้อพันธบัตร

Stablecoin ถือเป็น Crypto Currency ประเภทหนึ่งซึ่งใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการหรือสิทธิอื่น ๆ โดย Stablecoin จะมีลักษณะเด่นตรงที่มีการตรึงมูลค่าไว้กับสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง เช่น ทองคำ

ตัวอย่างของ Stablecoin ที่ได้รับความนิยมในโลก ส่วนใหญ่คือ Stablecoin ที่มีการตรึงมูลค่าไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ เช่น Tether (USDT) USD Coin (USDC) Dai (DAI) Terra USD (UST) เป็นต้น
 

Stablecoin จึงมีความผันผวนน้อยกว่า Crypto Currency ประเภทอื่น Stablecoin จึงมักถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสื่อกลางในการโอนเงิน หรือใช้ประโยชน์ในการเก็บรักษามูลค่า หรือ ‘พักเงิน’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่ Crypto Currency ทั่วไปมีความผันผวนสูง

แม้บางช่วง Stablecoin บางตัวอาจมีราคาสูงขึ้นมาก เช่น เมื่อ Bitcoin ตกมาก ผู้ซื้อขายก็มักจะนำเงินมา ‘พัก’ ใน Stablecoin ส่งผลให้ Stablecoin มีราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น ผู้ซื้อขาย Stablecoin จึงควรมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับกลไกและราคาที่เหมาะสมของ Stablecoin นั้น ๆ นั่นเอง

การระดมทุนผ่าน Blockchain คือกระแสโลกที่น่าจับตามอง

ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า การระดมทุนโดยใช้ Blockchain และหลักทรัพย์ Token ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียของเรา

โดย ‘ฮ่องกง’ ประสบความสำเร็จในการออกพันธบัตร Green Token มูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 หลักทรัพย์เหล่านี้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบัญชีแยกประเภทแบบกระจาย (DLT: Distributed Ledger Technology) ซึ่งช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และความโปร่งใสภายในตลาดตราสารหนี้

ขณะที่ HSBC Holdings ได้ประกาศเมื่อปลายปีเดียวกัน ว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบการฝาก Token ธุรกรรมการเงินภายในกลุ่ม โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain

‘สิงคโปร์’ เป็นอีกประเทศที่เปิดตัวสินทรัพย์ Digital ชุด Token นําร่องร่วมกับ Token สินทรัพย์ Real-world โดยร่วมมือกับ JPMorgan DBS Bank BNY Mellon และ Apollo

ส่วน ‘สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์’ ได้ร่วมมือกับ HSBC เพื่อทดสอบพันธบัตรแบบ Token แล้วเช่นกัน

ตามไปดูพันธบัตร Token ของ ‘ฟิลิปปินส์’

ช่วงที่ผ่านมา ‘ฟิลิปปินส์’ ได้มีการออกพันธบัตรรัฐบาลแบบ Token เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อระดมทุนผ่าน Blockchain

โดยเป็น Stablecoin อายุ 1 ปี มูลค่า 10 พันล้านเปโซ (ประมาณ 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ขายให้กับผู้ซื้อกลุ่มสถาบันในราคาขั้นต่ำ 10 ล้านเปโซ

ถือเป็นการนำร่องระดมทุนผ่าน Blockchain ที่กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก

เมื่อปีกลาย สำนักงานการคลังของฟิลิปปินส์ ประกาศเสนอพันธบัตรรัฐบาลกลางแบบ Token อายุ 1 ปี มูลค่า 10 พันล้านเปโซ เป็นครั้งแรก โดยเสนอพันธบัตร Token ผู้ซื้อกลุ่มสถาบันในราคาขั้นต่ำ 10 ล้านเปโซ โดยจะเพิ่มขึ้นทีละ 1 ล้านเปโซ

ซึ่งหุ้นกู้ดังกล่าวจะมีอายุ 1 ปี (ครบกำหนดไปแล้วในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา) พันธบัตร Token ดังกล่าว ออกโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศฟิลิปปินส์ (Development Bank of the Philippines) ร่วมกับธนาคารที่ดินแห่งประเทศฟิลิปปินส์ (Land Bank of the Philippines) 

รัฐบาลฟิลิปินส์ ระบุว่า ฟิลิปินส์มีการสํารวจการใช้สินทรัพย์ Digital และพันธบัตรเพื่อใช้งานในโลกแห่งความเป็นจริงด้วย Token มาหลายปีแล้ว และเพิ่งมีการออกพันธบัตร Token เป็นครั้งแรก

ด้าน ‘แบงก์ชาติ’ ออกโรงเตือน ความมั่นคงของ ‘สกุลเงิน Digital’

‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ‘แบงก์ชาติ’ ได้ออกมาเตือนว่า สกุลเงิน Digital อาจไม่มีมูลค่าที่มั่นคง เนื่องจากสกุลเงิน Digital มีความผันผวน และมีมูลค่าไม่มั่นคง

การออกโรงมาเตือนดังกล่าว ได้สะท้อนถึงความลังเลของ ‘แบงก์ชาติ’ เกี่ยวกับโครงการ Stablecoin ที่ ‘รัฐบาลแพทองธาร’ กำลังผลักดัน และเสนอให้ทำการทดลองใช้ในพื้นที่ท่องเที่ยวบนเกาะภูเก็ตก่อน

โดย ‘ผู้ว่าฯ ธปท.’ กล่าวว่า ‘สกุลเงิน Digital ไม่มีมูลค่าที่มั่นคง’ ซึ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีพื้นฐานที่มี ยังไม่สามารถ Scale ปริมาณเพิ่มได้มากนัก และอาจนำไปสู่ปัญหาในระบบการชำระเงินได้ในอนาคต

‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ ได้ทิ้งท้าย ด้วยการชี้ให้เห็นว่า ในปัจจุบัน Platform การชำระเงินแบบ Digital ไม่ว่าจะเป็น Promptpay หรือการ Scan จ่ายจากบัญชีเงินฝากที่ประชาชนจำนวนมากมีอยู่นั้นยังทำงานได้ดี

ด้านรัฐบาลยันเดินหน้า Stablecoin เฟส 2 หากเฟสแรกประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ‘รัฐบาลแพทองธาร’ ได้มองข้ามช็อตด้วยการเล็งต่อยอด Stablecoin สู่เฟส 2 โดยจะเชื่อมไปสู่การซื้อของจากร้านค้าต่าง ๆ

เหตุผลหลักก็คือ การออก Stablecoin อยู่ภายใต้กำกับของ ‘กระทรวงการคลัง’ อยู่แล้ว โดยไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ‘แบงก์ชาติ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลเชื่อว่า Stablecoin จะไม่กระทบเงินบาทที่อยู่ในระบบ เพราะไม่ใช่เงินใหม่ แต่เป็นเม็ดเงินที่มีอยู่ในระบบอยู่แล้ว

สุดท้ายนี้ รัฐบาลมีแนวคิดอยากเห็นบริษัทหลักทรัพย์เข้ามามีส่วนร่วม และมีบทบาทในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ Digital ในอนาคต เนื่องจากบริษัทหลักทรัพย์มีจุดแข็งตรงที่เป็นที่รู้จักกับผู้ลงทุนเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ยังมีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน และอยู่ภายใต้การกำกับจาก ‘สำนักงาน ก.ล.ต.’ อยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ธุรกิจสินทรัพย์ Digital ของไทยเกิดขึ้นได้รวดเร็วขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลอยากเห็นการใช้สินทรัพย์ Digital นี้ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการเงิน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในอนาคตอันใกล้นี้

 

เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน