20 ก.พ. 2562 | 10:33 น.
โรคโปลิโอในปัจจุบันเป็นโรคที่พบเจอได้น้อยมาก ตัวเลขจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปี 2018 มีรายงานผู้ติดเชื้อเพียง 29 รายเท่านั้น แต่ในอดีตโปลิโอเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่คนกลัวกันมาก เพราะเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ (ถึงปัจจุบันก็รักษาไม่ได้แต่ป้องกันได้) ใครที่ติดเชื้อมีโอกาสที่จะพิการ แขนขาลีบ หรือเป็นอัมพาตไปเลยก็ได้ ตัวอย่างเช่น แฟลงคลิน ดี. รูสเวลต์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ครองตำแหน่งในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นคนหนึ่งที่ป่วยด้วยโรคโปลิโอจนเป็นอัมพาตไปครึ่งตัว ทำให้โรคนี้เป็นที่หวาดกลัวไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว จนกระทั่ง โจนัส ซอล์ก (Jonas Salk) นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสชาวอเมริกัน สามารถพัฒนาวัคซีนขึ้นมาป้องกันโรคโปลิโอได้สำเร็จ จนทำให้โรคนี้แทบจะหมดไปจากโลก ซอล์กเกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 1914 ในครอบครัวแรงงานชาวยิว อาศัยอยู่ในย่านบรองซ์ของนิวยอร์ก เขาเป็นเด็กเรียนดี สามารถเข้าโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กได้ในปี 1934 เรียนจบในปี 1939 โดยระหว่างเรียนเขาได้ทุนวิจัยด้านเคมีไปทำวิจัยในห้องปฏิบัติการด้านไวรัส ทำให้เขาหันมาสนใจเรื่องไวรัส หลังเรียนจบ เขาได้ทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนให้ศึกษาไวรัสไข้หวัดใหญ่กับ โทมัส ฟรานซิส ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสซึ่งมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ทางมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์กได้ขยายโครงการวิจัยด้านไวรัส ซอล์กจึงย้ายไปอยู่ด้วย ไม่นานก็ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการงานวิจัยไวรัส และที่นี่เองที่เขาหันมาให้ความสนใจกับโรคโปลิโอแทนไข้หวัดใหญ่ โรคโปลิโอ (poliomyelitis) เป็นโรคติดต่อเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส มักเป็นมากในเด็ก ติดต่อจากคนสู่คนผ่านระบบทางเดินอาหาร (ทวาร-ปาก) ซึ่งเชื้อจะไปเติบโตในลำไส้ก่อนกระจายสู่ระบบประสาท อันเป็นต้นเหตุให้เกิดอาการอัมพาต อาการเบื้องต้นของผู้เป็นโรคโปลิโอเริ่มจากการมีไข้ อ่อนล้า ปวดหัว อาเจียน รู้สึกเกร็งที่คอ และปวดตามแขนตามขา และบางกรณีก็อาจเป็นหนักถึงอัมพาต ซึ่งเมื่อเป็นแล้วส่วนใหญ่ก็จะรักษาไม่ได้ หลังซอล์กลงพื้นที่สำรวจการแพร่กระจายของโปลิโอทั่วสหรัฐฯ ในช่วงต้นทศวรรษ 1950s ที่เกิดการระบาดใหญ่ เขาก็หันมาทุ่มเทความสนใจในการคิดค้นวัคซีนที่จะกำราบเชื้อไวรัสชนิดนี้ โดยได้ทุนสนับสนุนสำคัญจาก March of Dimes (เดิมชื่อ National Foundation for Infantile Paralysis) องค์กรการกุศลที่ แฟลงคลิน ดี. รูสเวลต์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโปลิโอ เป็นผู้ตั้งขึ้น (History) วิธีการพัฒนาวัคซีนของซอล์กต่างจากนักวิจัยคู่แข่ง เมื่อเขาเลือกที่จะใช้เชื้อตาย (killed virus) โดยเพาะเชื้อด้วยเซลล์จากไตของลิง แล้วทำให้เชื้อตายหรือหมดสภาพด้วยฟอร์มัลดีไฮด์ (หรือที่มักรู้จักกันในบ้านเราในชื่อ ยาดองศพ) ขณะที่คู่แข่งอย่าง อัลเบิร์ต ซาบิน (Albert Sabin) นักวิจัยชาวอเมริกันที่อพยพจากโปแลนด์ เลือกที่จะพัฒนาวัคซีนจากเชื้อเป็น (live virus) ที่ทำให้ฤทธิ์อ่อนลง ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับในวงการมากกว่า แต่ต้องใช้ระยะเวลาที่นานกว่า แนวทางของซอล์กถูกวิจารณ์อย่างมากจากประชาคมนักวิจัยที่เห็นว่า การเร่งทำการทดลองเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ก็เพียงระยะสั้น และอาจเป็นอันตรายต่อผู้รับวัคซีน ทำให้ซอล์กต้องลอบทำการทดลองอย่างลับๆ เมื่อได้ผลขั้นต้นเป็นที่น่าพอใจ เขาและทีมงานจึงทำการทดลองครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 1954 ซึ่งสุดท้ายมีเด็กๆ เข้าร่วมการทดลองทั้งสิ้นกว่า 1.5 ล้านคน การทดลองในครั้งนั้นได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก เมื่อวัคซีนของเขาสามารถป้องกันโปลิโอที่ทำให้เกิดอาการอัมพาตได้ผลราว 80-90% จึงมีการเร่งผลิตวัคซีนของซอล์กเพื่อแจกจ่ายไปทั่วสหรัฐฯ (Time) ความสำเร็จของซอล์กทำให้เขาได้รับคำชื่นชมและยกย่องเป็นอย่างสูง เพราะด้วยความหวาดกลัว ยิ่งมีข่าวการระบาดของโรคในชั่วเวลานั้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกยิ่งทำให้คนตื่นตระหนก เมื่อซอล์กค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสามารถใช้งานได้จริงสำเร็จเป็นรายแรก จึงทำให้เขาถูกมองว่าเป็นฮีโรขี่ม้าขาว โดยมองข้ามความผิดพลาดที่มีคนได้ทักท้วงไว้ก่อนแล้ว ทั้งนี้ ซาบินนักวิจัยคู่แข่งของซอล์กมองว่า วัคซีนของซอล์กไม่ดีพอ ด้วยเหตุผลสำคัญสามประการคือ ปัญหาเรื่องความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และผลลัพธ์ในเชิงปฏิบัติ อันดับแรก ซาบินบอกว่า เชื้อไวรัสโปลิโอสายพันธุ์หนึ่งที่ชื่อ Mahoney เป็นสายพันธุ์ที่อันตรายและฆ่าได้ยาก อันดับต่อมา เชื้อที่ตายแล้วทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานแค่ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้สร้างขึ้นมาตลอดชีวิต และสุดท้าย แม้วัคซีนของซอล์กจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ แต่ก็ต้องฉีดถึงสามโดส และต้องฉีดกระตุ้นซ้ำอีกครั้งในภายหลัง ขณะที่การใช้วัคซีนแบบเชื้อเป็นของเขาใช้ปริมาณที่น้อย สามารถให้ได้ทางปาก และยังสร้างภูมิคุ้มกันได้ตลอดชีวิต (MIT Technology Review) ในวันที่ 24 เมษายน 1955 เพียงไม่กี่วันหลังจากการนำวัคซีนของซอล์กไปใช้งานจริง (12 เมษายน) ปรากฏว่า วัคซีนชุดหนึ่งซึ่งผลิตโดย Cutter Laboratories ในแคลิฟอร์เนีย ได้ทำให้เด็กที่รับวัคซีนเสียชีวิตถึง 11 ราย เนื่องจากในวัคซีนชุดดังกล่าวซึ่งควรจะเป็นวัคซีนเชื้อตายนั้น กลับมีเชื้อเป็นที่มีฤทธิ์เดชเต็มตัวปนเปื้อนอยู่ด้วย แต่วัคซีนของซอล์กก็ยังถูกแจกจ่ายให้กับเด็กๆ ต่อไป "มันเป็นแค่การทดลองทางเคมีในห้องครัวเท่านั้น ซอล์กไม่ได้ค้นพบอะไรเลย" ซาบินกล่าวถึงงานวิจัยของคู่แข่ง (The New York Times) อย่างไรก็ดี แม้วัคซีนของซอล์กจะมีข้อบกพร่อง แต่มันก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยชะลอการระบาดของเชื้อโปลิโอลงได้อย่างมาก แต่ก็ยังไม่แพร่หลายมากพอ เพราะความที่ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงทำให้คนยากคนจนเข้าถึงได้ยาก จนกระทั่งวัคซีนจากเชื้อเป็นของซาบินออกสู่ตลาดในปี 1962 ด้วยความที่มีราคาที่ถูกกว่า มีประสิทธิภาพสูงกว่า และสามารถแจกจ่ายได้ง่ายกว่า (ให้ทางปาก) เมื่อนั้นการควบคุมโรคโปลิโอจึงได้ประสิทธิผลอย่างแท้จริง