แนน โกลดิน: ช่างภาพผู้แก้วิกฤตโอปิออยด์ด้วยการเปิดโปงบริษัทยาสหรัฐฯ ที่หากินกับชีวิตคน

แนน โกลดิน: ช่างภาพผู้แก้วิกฤตโอปิออยด์ด้วยการเปิดโปงบริษัทยาสหรัฐฯ ที่หากินกับชีวิตคน

‘แนน โกลดิน’ (Nan Goldin) ช่างภาพชาวอเมริกันอดีตเซ็กส์เวิร์กเกอร์ผู้ผันตัวไปเป็นนักเคลื่อนไหว ออกมาเปิดโปงความชั่วร้ายของตระกูลแซกเลอร์ เจ้าของบริษัทยา เพอร์ดู ฟาร์มา หนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดวิกฤตยาแก้ปวดโอปิออยด์ในสหรัฐฯ ที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 500,000 ราย

  • ‘แนน โกลดิน’ (Nan Goldin) คือช่างภาพชาวอเมริกัน ผู้เกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่แตกร้าว โชคดีที่มีพี่สาวคอยดูแล แต่โชคร้ายพี่สาวของเธอตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงตอน แนน โกลดิน อายุเพียง 11 ปีเท่านั้น
  • ความตายของพี่สาวทำให้เธอเริ่มทำตัวเหลวแหลก โดนไล่ออกจากโรงเรียน พออายุ 14 ปีก็ถูกส่งไปเรียนโรงเรียนประจำที่นั่นทำให้เธอเห็นความงดงามของภาพถ่ายจน ‘ตกหลุมรัก’ การถ่ายภาพเข้าอย่างจัง
  • เหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของเธอครั้งใหญ่คือ การออกมาต่อสู้ร่วมกับกลุ่ม P.A.I.N. เพื่อเปิดโปงตระกูลแซกเลอร์ (Sackler family) เจ้าของบริษัท เพอร์ดู ฟาร์มา (Purdue Pharma) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยาออกซิคอนติน (oxycontin) จนทำให้เกิดวิกฤตเสพติดยาแก้ปวดโอปิออยด์แพร่ระบาดไปทั่วสหรัฐอเมริกา มีผู้เสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 500,000 ราย

“...มันแน่อยู่แล้วที่พวกคนรวยไม่มีภาระรับผิดชอบอะไรมากนัก พวกเขาได้รับการคุ้มครองโดยทีมกฎหมายที่ดีที่สุด ทุกความผิดสามารถหายไปได้ในพริบตาเพียงแค่มีเงิน และยิ่งตระกูลใหญ่ ๆ ที่อัดฉีดเงินเข้าสู่รัฐ แอบมอบเงินสนับสนุนให้รัฐบาลเพื่อให้กฎหมายโน้มเอียงมาทางพวกเขาแก้จากผิดเป็นถูก... ไม่ช้าอเมริกาพังแน่และมันเป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวที่สุด”

‘แนน โกลดิน’ (Nan Goldin) คือช่างภาพชาวอเมริกันวัย 69 ปี เธอเกิดมาในครอบครัวชาวยิวย่านชานเมืองบอสตัน พ่อเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ได้ร่ำรวยมากนัก ต้องทำงานเลี้ยงดูลูก ๆ ทั้ง 4 เพียงลำพัง ขณะที่แม่เป็นเพียงแม่บ้านไม่ได้มีรายได้มาช่วยครอบครัว เมื่อความจนกระแทกหน้าเข้าอย่างจัง บาร์บารา โกลดิน (Barbara Goldin) พี่สาวคนโตที่เป็นเหมือนแม่แท้ ๆ ของ แนน จึงต้องทำงานเป็นหญิงขายบริการ นำเงินมาดูแลน้อง ๆ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี แต่ก็ไม่อาจทนความโหดร้ายของโลกใบนี้ได้มากนัก เธอตัดสินใจจบชีวิตตัวเองขณะอายุ 19 ปี ทิ้งน้องสาวคนสุดท้องในวัย 11 ปีให้เผชิญหน้ากับความเจ็บปวดเพียงลำพัง

เมื่อพี่สาวจากไป แนน เริ่มทำตัวแหลกเหลว เธอกร้าวร้าวใส่เพื่อนที่โรงเรียน ทำทุกอย่างที่ถูกห้ามปรามจนโดนไล่ออกจากโรงเรียน ใช่ว่าชีวิตของเธอจะจบลง แนนในวัย 14 ปีถูกส่งเข้าไปเรียนในโรงเรียนประจำ ที่นั่นทำให้เธอค้นพบกับโลกอีกใบ โลกที่ภาพถ่ายคือสิ่งที่สวยงามที่สุดเท่าที่เด็กมัธยมต้นจะได้สัมผัส

ซึ่งต้องขอบคุณคุณครูคนหนึ่งที่มอบกล้องโพราลอยด์เป็นของขวัญให้ ‘ว่าที่’ ช่างภาพระดับโลกคนนี้ ในตอนนั้นเธอจำได้ขึ้นใจว่ากล้องตัวนี้คือสิ่งที่เปลี่ยนชีวิต กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอลองศึกษาวิธีการถ่ายภาพ และการจัดวางองค์ประกอบด้วยตัวเอง ความรู้ส่วนใหญ่ที่ได้จะมาจากการยืนอ่านนิตยสาร Vogue ที่วางแผงอยู่ในร้านขายของชำแถวบ้าน เธอค่อย ๆ ไล่อ่าน (แต่ไม่ยอมเสียเงิน) วันละไม่ต่ำกว่าชั่วโมง เพื่อซึมซับทุกรายละเอียดจากหน้าหนังสือให้ได้มากที่สุด

นานวันเข้าความหลงใหลในการถ่ายภาพของเธอยิ่งทวีความรุนแรง เธออยากระบายผลงานอันภาคภูมิใจนี้ไปสู่สาธารณะ จนกระทั่งในปี 1973 งานของเธอก็ถูกจัดแสดงเป็นครั้งแรก โดยใช้ชุดภาพถ่ายจากแดร็กควีนที่เธอรู้จักเป็นส่วนหนึ่งของงาน เธอมุ่งเดินทางมาสายถ่ายภาพอย่างเต็มตัว โดยเข้าเรียนที่ School of the Museum of Fine Arts และจบการศึกษาในปี 1978 จากนั้นเธอก็มุ่งหน้าสู่นิวยอร์กซิตี้ แหวกว่ายไปในเมืองที่เป็นแหล่งรวมตัวของช่างภาพจากทั่วทุกมุมโลก

แต่เส้นทางการเป็นช่างภาพของเธอไม่ได้ราบรื่นนัก เธอต้องทำงานหลายอย่างตั้งแต่ นักเต้นอะโกโก้ บาร์เทนเดอร์ และเซ็กส์เวิร์กเกอร์ หลงมัวเมาไปในโลกมายาที่อัดแน่นไปด้วยเหล้ายาและของมึนเมา (เธอเสพติดเฮโรอีนและโคเคนอย่างหนัก) อีกทั้งยังต้องตกอยู่ในความสัมพันธ์อาบยาพิษ โดนทำร้ายร่างกายนับครั้งไม่ถ้วน เนื้อตัวและเบ้าตาเชียวช้ำเป็นเรื่องปกติ แต่จิตวิญญาณการเป็นช่างภาพของเธอยังไม่หลุดลอยไปไหน เธอเก็บภาพทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตไว้ราวกับ ‘กักขัง’ ความทรงจำเอาไว้ไม่ให้หล่นหายไปไหน

“คนที่อยู่ในภาพถ่ายของฉันหลาย ๆ ใบ หลายคนตายไปแล้ว ภาพของฉันจึงเต็มไปด้วยคนตาย เหมือนกับว่าฉันกำลัง ‘กักขัง’ พวกเขาเอาไว้เพื่อตัวเองโดยการเก็บพวกเขาเอาไว้ใกล้ตัวที่สุดผ่านภาพถ่าย ซึ่งภาพเหล่านี้ทำให้พวกเขางดงามและเยาว์วัยอยู่เสมอเหมือนครั้งแรกที่เราเจอกัน คนรอบตัวฉันส่วนใหญ่พวกเขามีอายุน้อยกว่าฉันเยอะ ไม่ค่อยมีคนแก่หรอก ถ้าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ ฉันคงจำพวกเขาไม่ได้แล้วแหละ แต่ภาพถ่ายเป็นสิ่งที่ชัดเจนในความทรงจำเสมอ”

ภาพถ่ายประสบการณ์ชีวิตของเธอถูกนำไปจัดแสดงและกลายเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงยุค 1980s มีทั้งภาพตัวเธอเอง คนรัก และสังคมของคนรักร่วมเพศที่ต่างใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยง โดยผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ The Ballad of Sexual Dependency (1985)

ทุกอย่างที่ปรากฏผ่านภาพถ่าย เธอพยายามทำเรื่องที่ควรเก็บไว้ในที่ลับอย่าง ‘การร่วมเพศ’ นำมาแสดงในที่แจ้งเพื่อให้ทุกคนเข้าใจแก่นของมนุษย์ว่านี่คือเรื่องธรรมชาติ แถมทุกภาพยังเป็นภารถ่ายแบบไม่มีการโพสต์ท่า ไม่ต้องจัดไฟ เพื่อให้ทุกอริยาบถออกมามีความเป็นมนุษย์มากที่สุด

ผลงานของ โกลดิน ได้รับการยอมรับไปทุกหนแห่ง พิพิธภัณฑ์ระดับโลกหลายแห่งต่างเปิดประตูต้อนรับผลงานของเธอ เมื่อชื่อเสียงของเธอเริ่มเป็นที่รู้จัก โกลดินไม่รอช้าออกมาเคลื่อนไหวโดยการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนที่เสียชีวิตจากการเสพติดยาแก้ปวดโอปิออยด์ เพราะเธอเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับความเจ็บปวดจากการ ‘ติดยา’ ตัวนี้เช่นกัน

“อันที่จริงฉันเองก็อยากจะลองพี้ยามาตั้งแต่เด็กแล้ว” โกลดินให้สัมภาษณ์กับ Aperture ซึ่งเธอได้เผยออกมาอีกว่า ความต้องการนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการสูญเสียพี่สาวไป แต่คิดว่า ‘น่าจะ’ เป็นเพราะความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีกับแม่มากกว่า

“ฉันอยากแตกต่างจากแม่ให้ได้มากที่สุด อยากจะกำหนดทางเดินชีวิตด้วยตัวเอง ให้หลุดจากวงจรอุบาทว์แถบชานเมืองที่ฉันโตมานี้เสียที ซึ่งการหันไปพึ่งยามันช่วยเรียกความมั่นใจของฉันออกมา เพราะฉันเป็นคนขี้อายมาก ยาเสพติดช่วยทำให้ความอายมันหายไป ทำให้ฉันกล้าเข้าสังคมมากขึ้น”

ในปี 1988 โกลดินเข้ารับการบำบัดจนหายเป็นปกติ บวกกับการได้เยียวยาตัวเองผ่านการถ่ายภาพก็ยิ่งช่วยให้เธอหลุดพ้นจากความทรมานได้เร็วขึ้น “ฉันออกจากสถานบำบัดโยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะขึ้นรถเมล์ยังไง ฉันไม่รู้จริง ๆ ว่าตัวเองเป็นใครหรือเป็นอะไรหลังจากบำบัดจบแล้ว”

“ทุกครั้งที่ฉันบอกว่า ‘กล้องถ่ายรูป’ คือสิ่งที่ทำให้ฉันมีชีวิตอยู่ ฉันหมายความว่าอย่างนั้นจริง ๆ ภาพทุกใบที่ปรากฎออกมาคือสิ่งที่สื่อถึงตัวฉันทั้งหมด”

แต่เหมือนโชคชะตาจะใจเล่นตลกกับโกลดินอีกครั้ง เพราะหลังจากหลุดพ้นจากโลกของคนขี้ยา ในปี 2014 เธอได้รับบาดเจ็บที่มืออย่างรุนแรง ต้องเข้ารับการผ่าตัดเอ็นอักเสบที่ข้อมือข้างซ้าย แพทย์จึงสั่งจ่ายยาแก้ปวดออกซิคอนติน (oxycontin) ในตระกูลโอปิออยด์ซึ่งยาตัวนี้ทำให้เธอเสพติดรุนแรงชนิดที่ไม่ยอมลุกออกจากเตียงขึ้นมาทำงานทำการ นี่จึงเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เธอเกรี้ยวกราดและโกรธทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้เธอกลับเข้าสู่วังวนเดิมอีกครั้ง

“ฉันถูกขับเคลื่อนด้วยความโกรธเป็นเวลาหลายปี ต้องเสียเพื่อนไปหลายคนเพราะมัน (หลายคนเสียชีวิตจากการใช้ยาโอปิออยด์) และฉันก็กลายเป็นพวกนอกคอกมากขึ้นเรื่อย ๆ”

ในปี 2017 โกลดิน ตัดสินใจเปิดหน้าต่อสู้กับตระกูลแซกเลอร์ (Sackler family) เจ้าของบริษัท เพอร์ดู ฟาร์มา (Purdue Pharma) ที่มีฉากหน้าเป็นครอบครัวที่มักบริจาคเงินจำนวนมากเพื่อการกุศลและสนับสนุนงานศิลปะ แต่ฉากหลังพวกเขาคือกลุ่มคนที่กำลังทำลายชีวิตชาวอเมริกันนับล้านรายให้พินาศ โดยการผลิตและจำหน่ายยาแก้ปวดออกซิคอนติน (oxycontin) ที่มีฤทธิ์รุนแรงทำให้คนที่ได้รับยาเกิดการเสพติดชริดถอนตัวไม่ขึ้น

จากช่างภาพเปลี่ยนเป็นนักเคลื่อนไหวผู้ใช้ภาพถ่ายมาเปิดโปงความชั่วร้ายของบริษัทยาเจ้าใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างเต็มตัว โกลดิน ก่อตั้งสมาคม P.A.I.N. ซึ่งย่อมาจาก Prescription Addiction Intervention Now เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาโอปิออยด์ (opioid)

ถึงแม้ว่ายาตัวนี้ถูกจ่ายโดยแพทย์และโรงพยาบาล อีกทั้งยังมีสรรพคุณช่วยลดอาการปวดได้ชะงัด แต่เมื่อพลิกดูส่วนประกอบสำคัญคือสารโอปิออยด์ สารตัวนี้ออกฤทธิ์ต่อสมองโดยตรง ทำให้ผู้ใช้ยารู้สึกเคลิบเคลิ้ม ความเจ็บปวดทั้งหมดจึงหายเป็นปลิดทิ้ง ทำให้พวกมันถูกนำมาใช้ทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย แม้จะมีผลดีหลายประการ แต่ผลเสียก็ตามมาอีกเป็นกระบุง ตระกูลแซกเลอร์บิดเบือนความจริงที่ว่า ยาออกซิคอนตินไม่ทำให้เกิดการเสพติด

จากคำพูดบิดเบือนนี้เองทำให้ออกซิคอนตินแพร่ระบาดไปทั่วสหรัฐเมริกา จนเกิดเป็นวิกฤตเสพติดยาแก้ปวดโอปิออยด์ เพราะแพทย์ผู้จ่ายยาหลายรายไว้วางใจและเชื่อในคำกล่าวอ้างดังกล่าว แม้จะมีบางส่วนที่รู้เห็นว่ายาตัวนี้ไม่ได้เป็นไปตามคำกล่าวอ้างก็ตาม

สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการที่ผู้คนล้มตายเพราะใช้ยาเกินขนาดไม่เว้นวัน เพราะหลังจากเปิดตัวยาออกซิคอนตินในปี 1995 นับตั้งแต่ปี 1999 – 2017 มีผู้เสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 200,000 รายจากการใช้ยาออกซิคอนติน หรือราว 145 คนต่อวัน โกลดินและกลุ่ม P.A.I.N. ออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะนำชื่อตระกูลแซกเลอร์ออกจากรายชื่อผู้อุปถัมภ์ (หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ ลอนดอน, หอศิลป์เทต, และพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ถอนรายชื่อของตระกูลแซกเลอร์ออกตามข้อเรียกร้อง) พร้อมทั้งยื่นฟ้องตระกูลแซกเลอร์ในข้อหาสร้างความเสียหายต่อชีวิตประชาชน

แม้ว่าตระกูลแซกเลอร์จะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยืนยันว่าจะไม่ร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะยาที่เขาผลิตไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวของคนใช้เองมากกว่า ตระกูลแซกเลอร์สร้างรายได้จากการขายยาแก้ปวดออกซิคอนตินมหาศาลจนสามารถซื้อคฤหาสน์ทั่วสหรัฐอเมริกาได้ราวกับซื้อของใช้เข้าบ้าน

แม้จะโดนฟ้องมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2007 แต่พวกเขามีทีมทนายมือดีอยู่ในมือทำให้การจ่ายค่าปรับกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย เมื่อเทียบกับรายได้และความต้องการของตลาดที่นับวันจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ถึงจะรอดจากข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาหลายต่อหลายครั้ง แต่พวกเขาก็ยังขายยาได้ตามปกติ จนกระทั่ง โกลดิน ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับประชาชน หลักฐานต่าง ๆ เริ่มมัดตัวตระกูลแซกเลอร์แน่นมากขึ้นทุกวัน ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาจึงต้องใช้กลอุบายโยกเงินไปไปยังบัญชีธนาคารสวิสและบัญชีอื่น ๆ ที่แอบปกปิดไว้ในกรณีต้องโอนเงินสดมูลค่าไม่ต่ำว่า 1 พันล้านดอลลาร์เข้าบัญชีตัวเอง จากนั้นจึงยื่นฟ้องล้มละลาย เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Knoa Pharma ซึ่งจะบริหารงานอย่างอิสระไม่เกี่ยวข้องกับตระกูลแซกเลอร์โดยตรง ผลกำไรทั้งหมดที่ได้จากการขายยาจะนำไปบริจาคให้กับกลุ่มคนที่ติดยาเสพติด

ตระกูลแซกเลอร์ถูกสั่งห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาในตระกูลโอปิออยด์ และต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินราว 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปช่วยครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ ส่วนสมาชิกที่เหลือรอดจากข้อกล่าวหาทั้งหมดที่เกี่ยวกับวิกฤตเสพติดยาโอปิออยด์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะรอดจากการดำเนินคดีอาญา และบริษัทจะต้องถูกยุบหรือเปลี่ยนไปอยู่ในมือผู้บริหารคนใหม่ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับตระกูลแซกเลอร์ภายในปี 2024 

 

อ้างอิง

https://www.matichonweekly.com/column/article_602345

https://www.bbc.com/news/world-us-canada-60610707

https://www.theguardian.com/artanddesign/2022/dec/04/artist-nan-goldin-addiction-all-beauty-and-bloodshed-sackler-opioid

https://www.dailymail.co.uk/femail/article-11676621/The-fascinating-history-photographer-Nan-Goldin-WAR-against-Sacklers.html#comments

https://www.dailymail.co.uk/news/article-10574797/How-billionaire-pharma-family-Sacklers-fell-grace-amid-opioid-crisis.html

https://www.huckmag.com/art-and-culture/the-story-of-nan-goldins-fight-against-the-sackler-dynasty