โธมัส เปียเตอร์สสัน: นักข่าวผู้ไขคดีใครฆ่านายกสวีเดน?

โธมัส เปียเตอร์สสัน: นักข่าวผู้ไขคดีใครฆ่านายกสวีเดน?

โธมัส เปียเตอร์สสัน (Thomas Pettersson) นักข่าวผู้เข้ามาไขคดีฆาตกรรม ‘โอลอฟ พาลเมอร์’ (Olof Palme) นายกรัฐมนตรีสวีเดนที่หาคำตอบไม่ได้นานถึง 34 ปี แต่สุดท้ายนักข่าวรายนี้ก็ได้คลี่คลายปมทั้งหมดออก หลังจากตำรวจทำไม่สำเร็จและปิดฉากลงอย่างงดงาม

“มันเป็นความล้มเหลวตั้งแต่เริ่ม... พวกเจ้าหน้าที่ตำรวจไร้ความสามารถแบบไหน ก็ยังคงไร้ความสามารถอยู่แบบนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับคดีนี้เลยไม่ได้ทำให้ผมแปลกใจเท่าไหร่”

‘โธมัส เปียเตอร์สสัน’ (Thomas Pettersson) นักข่าวผู้ไขคดีฆาตกรรม ‘โอลอฟ พาลเมอร์’ (Olof Palme) นายกรัฐมนตรีสวีเดน ผู้เชื่อมั่นในความเท่าเทียมและหวังจะเห็นคนในสังคม รวมถึงประเทศรอบข้าง หลุดพ้นจากการถูกกดขี่ขูดรีดจากระบบทุนนิยมที่นับวันจะยิ่งแบ่งแยกคนในประเทศให้ห่างชั้นกันไปไกลยิ่งกว่าเก่า เขาไม่อยากเห็นภาพเหล่านั้น จึงลุกขึ้นขับเคลื่อนประเทศให้รอดพ้นจากความหายนะในห้วงความคิดของตน

และนั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นายกฝีปากกล้ารายนี้สร้างศัตรูขึ้นมาทั่วสารทิศ ชนิดที่ว่าไม่อาจสืบสาวไปถึงต้นกำเนิดแห่งความเกลียดชังได้ เพราะการกระทำของเขาคือการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมกลุ่มนายทุนและผู้มีอำนาจจะจงเกลียดจงชังเขาอยู่ไม่น้อย

แต่นายกที่ประชาชนเคารพรักกลับด่วนจากไปอย่างกระทันหัน และเป็นการจากลาที่ไม่อาจลบล้างออกจากหัวใจของ ‘ลิสเบธ พาลเมอร์’ (Lisbeth Palme) ได้อีกเลย เพราะทั้งภาพ เสียง จังหวะการเดิน เลือดที่สาดกระเซ็นออกมาจากร่างสามีที่เดินอยู่เคียงข้างเธอมาตลอด ไปจนถึงร่างของชายคนรักที่ล้มตัวลงกระแทกพื้นทุกอย่างยังคงฝังลึกอยู่ในความทรงจำ

ระหว่างที่เหตุการณ์กำลังวุ่นวาย สติที่ยังไม่ทันกลับมาอยู่กับร่องกับรอย กระสุนปืนอีกนัดพุ่งตรงหมายจะปลิดชีพเธอไปพร้อมกัน โชคดีที่มือปืนกะจังหวะพลาดไป และนั่นทำให้ลิสเบธยังคงมีชีวิตรอดมาอีกนานหลายปี แต่กลับไม่นานพอที่ได้รับรู้ความจริงว่าใครฆ่าสามีของเธอกันแน่

ลาก่อนที่รัก

คืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี 1986 เวลา 23.21 น. หลังจากโอลอฟและภรรยา รวมถึงลูกชายและแฟนสาวของลูกเดินกลับบ้านจากโรงภาพยนตร์ในสตอกโฮล์ม ประตูแห่งความตายได้เปิดออกต้อนรับนายกสวีเดนหัวขบถที่รักประชาชนยิ่งกว่าใคร แม้จะไม่ได้จากไปทันที แต่สุดท้ายเขาก็ทนความเจ็บปวดไม่ไหวและขอปล่อยวางทุกอย่างลง ทิ้งไว้เพียงคุณงามความดีที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างให้กับประเทศแห่งนี้

ถึงจะเป็นคนใหญ่คนโตแค่ไหน แต่ตำรวจก็ยังคงเป็นตำรวจอยู่วันยันค่ำ พวกเขาปล่อยปะละเลยพื้นที่เกิดเหตุจนทำให้ประชาชนที่รักนายกผู้นี้เข้าไปวางดอกไม้แสดงความอาลัยถึงโอลอฟกันอย่างล้นหลาม ทำลายสถานที่เกิดเหตุนองเลือดไปอย่างไม่มีชิ้นดี เป็นผลให้แฟ้มคดีของโอลอฟถูกดองไว้นานถึง 34 ปีกว่าจะมีหลักฐานปรากฎชัดว่าใครกันแน่เป็นคนร้ายตัวจริง

แม้ตำรวจจะมีหน้าที่ไขคดี สืบหา และจับกุมผู้กระทำผิด แต่คดีนี้กลับไม่ใช่ตำรวจที่ทำหน้าที่จับคนร้าย กลับเป็นโธมัส เปียเตอร์สสัน นักข่าวอาวุโสเป็นผู้รวบรวมหลักฐานทุกอย่างเพื่อปิดคดีแทนเสียอย่างนั้น

“มันเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากที่ตำรวจปล่อยให้คนร้ายที่โทรเข้ามาสารภาพผิดลอยนวลไปได้นานถึงสามสิบกว่าปี มันคือช่องโหว่ของระบบ ซึ่งผมว่าคนร้ายคนนี้เขาประสบความสำเร็จอย่างมากในการหลบหนีจากอาชญากรรม แม้จะสารภาพต่อตำรวจแล้วก็ตาม”

เดือนมิถุนายน 2020 คือช่วงเวลาที่อัยการสวีเดนประกาศในงานแถลงข่าวว่าการสอบสวนคดีสังหารนายกรัฐมนตรีสวีเดนถึงคราวยุติลงแล้ว เนื่องจากมีหลักฐานที่สามารถระบุตัวคนร้ายได้อย่างชัดเจน และนั่นก็ทำให้สายโทรศัพท์ของนายเปียเตอร์สสันแทบไหม้ เพราะสื่อหลายสำนักต่างต่อสายตรงมาที่เขา

เนื่องจากสองปีก่อนหน้านั้นเปียเตอร์สสันได้ตีพิมพ์บทความลงในนิตยสารและหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานสืบสวนในฐานะนักข่าวของเขาเอง โดยเขาระบุในหนังสือว่าผู้สังหารนายกคือ ‘สติก อิงสตรอม’ (Stig Engstrom) พนักงานบริษัทประกันภัยสกันเดีย (Skandia) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ใกล้กับจุดเกิดเหตุ และประจวบเหมาะพอดีที่ช่วงเกิดเหตุ เขาทำงานอยู่จนดึกดื่นและเลิกงานในเวลาเกือบเที่ยงคืนของวัน

แต่ใช่ว่าตำรวจจะไม่สนใจคดีใหญ่คดีนี้ปล่อยให้มันเละเทะไปหมดเสียทีเดียว ในปี 1989 พวกเขาเข้าจับกุม ‘คริสเตอร์ เปียเตอร์สสัน’ (Christer Pettersson) ชายผู้มีประวัติข้องเกี่ยวกับยาเสพติด และเคยก่ออาชญากรรมรุนแรง อีกทั้งยังมีพยานอ้างว่าเห็นเขาอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ เมื่อทุกอย่างลงล็อกชายผู้นี้จึงถูกตราหน้าว่ามีความผิดโดยที่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเขาคือคนร้ายตัวจริง

และเป็นไปตามคาด แม้เขาจะมีประวัติอาชญากรรมแต่คริสเตอร์ไม่ใช่คนร้าย เขาเป็นเพียงแพะรับบาป หลังจากศาลพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและไม่พบหลักฐานใดชี้ชัดว่าเขาคือคนลงมือ จึงปล่อยตัวให้ออกไปใช้ชีวิตตามปกติ

นี่คือความสะเพร่าขั้นแรกที่ปรากฎ เพราะนอกจากจะไม่มีหลักฐานแล้ว คริสเตอร์ยังไม่มีเหตุจูงใจที่จะลงมือปลิดชีพนายกผู้นี้อีกต่างหาก ถึงลิสเบธภรรยาของเขาจะชี้ตัวว่าคริสเตอร์คือคนร้ายก็ตาม แต่อย่าลืมว่าวันนั้นสถานการณ์วุ่นวายไปหมด จึงไม่แปลกที่เธอจะชี้คนร้ายผิดคน กระทั่งถึงเวลาของนักข่าวมือฉมังที่ได้ออกโรงไขคดีปริศนาการตายครั้งนี้

“เมื่อก่อนไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะขอเข้าไปสืบค้นข้อมูลจากสำนักงานตำรวจ ไม่เหมือนสมัยนี้ที่อยากรู้อะไรก็กดแค่คลิกเดียว ข้อมูลแทบทุกอย่างก็ปรากฎออกมาให้เราอ่าน

“ผมมีเอกสารเยอะมากให้อ่าน ต้องเดินทางจากโกเธนเบิร์กไปสำนักงานตำรวจสตอกโฮล์ม และอ่านเอกสารที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนสูบบุหรี่อยู่ข้างหลัง”

เปียเตอร์สสันใช้เวลา 12 ปีกว่าทุกอย่างจะคลี่คลาย เพราะเขาก็เป็นแค่มนุษย์เงินเดือนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง การจะสละเวลามาทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจเป็นเรื่องที่เกินตัวไปเสียหน่อย แต่เขาก็เลือกที่จะแบ่งเวลาว่างจากการทำงานหนึ่งเดือนของปี ขลุกตัวอ่านทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้

“ผมใช้เวลาทำความเข้าใจภาพรวมของคดีนี้ใหม่ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่อ่านคำไต่สวนของทางการ เอกสาร และรายงานข่าว นี่คือขั้นแรกที่ผมวางแผนในการทำงาน ส่วนขั้นที่สอง ผมเข้าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุอีกครั้ง และนั่นคือตอนที่ผมสะกิดใจกับการมีอยู่ของอิงสตรอม เพราะเขามีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะก่อเหตุในคืนวันนั้น

“ทั้งงานอดิเรกที่ชอบ ที่ตั้งของบริษัท เวลาเลิกงาน และคำสารภาพที่วกไปวนมา ทุกอย่างลงล็อกไปหมด จากนั้นผมก็เริ่มเดินทางไปพูดคุยกับเพื่อนบ้านของเขา บอกตามตรงว่ายากมากกว่าพวกเขาจะยอมเปิดใจเล่าเรื่องของนายคนนี้ให้ฟัง”

แม้บทความของเปียเตอร์สสันจะชี้ชัดว่าอิงสตรอมคือคนร้ายตัวจริงที่ฆ่านายกของชาวสวีเดน แต่มีประชาชนเพียง 20% เท่านั้นที่เชื่อว่าชายคนนี้คือฆาตกร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทสัมภาษณ์ของภรรยาของเขาเองที่บอกว่า

“สามีของฉันเขาขี้ขลาดเกินไป แม้แต่แมลงตัวเดียวยังไม่กล้าตบด้วยซ้ำ”

แต่ใครจะไปรู้ภายในใจของอิงสตรอมได้ดีกว่าตัวเขา เพราะหลังจากหย่าร้างกับภรรยาในปี 1999 หนึ่งปีต่อมาเขาก็ตัดสินในกรอกกระสุนปืนลงปากตัวเอง ทิ้งไว้เพียงปริศนาว่ามูลเหตุอันใดที่ทำให้ชายคนนี้ถึงตัดสินใจ ‘คร่า’ ชีวิตนายกสวีเดน

ส่วนทางด้านลิสเบธภรรยาของอดีตนายกเธอจากไปสองปีก่อนที่คริสเตอร์จะฆ่าตัวตาย และในปี 2020 ศาลได้พิจารณาเห็นแล้วว่าชายคนนี้มีความผิดจริง น่าเสียดายที่ลิสเบธไม่มีวันได้ล่วงรู้ความจริงจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

สำหรับความพยายามของ ‘นักข่าว’ อย่างเปียเตอร์สสัน เขาได้รับรางวัล Guldspaden หรือ Golden Shovel สาขาสื่อสารมวลชนอันทรงเกียรติที่สุดของสวีเดน จาก Gravande Journalister (Grav) สมาคมนักข่าวสืบสวนแห่งสวีเดน รางวัลอันทรงคุณค่าที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอาชีพอย่างนักข่าวก็สามารถเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะเข้ามาช่วยไขคดีที่ตำรวจไม่สามารถปิดจบได้

 

เรื่อง: วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ: Getty Images และรายการ Nyhetsmorgon (TV4)

 

อ้างอิง:

 

How They Did It: Solving the Mystery of Who Killed Sweden’s Prime Minister.

Olof Palme murder: Sweden believes it knows who killed PM in 1986. 

The Murder of Swedish Prime Minister Olof Palme. 

Who killed Sweden’s prime minister? 1986 assassination of Olof Palme is finally solved – maybe. 

After 34 Years, Sweden Says It Knows the Killer of Olof Palme. 

Swedish prosecutors close Olof Palme murder inquiry after 34 years.