All Eyes on Rafah : ‘เราดูคุณอยู่’ เมื่อทุกสายตาต่างจับจ้องไปยังราฟาห์ หลังกองทัพอิสราเอลคร่าชีวิตประชาชนราวกับใบไม้ร่วง

All Eyes on Rafah : ‘เราดูคุณอยู่’ เมื่อทุกสายตาต่างจับจ้องไปยังราฟาห์ หลังกองทัพอิสราเอลคร่าชีวิตประชาชนราวกับใบไม้ร่วง

ราฟาห์ลุกเป็นไฟจากการโจมตีทางอากาศ คร่าชีวิตผู้คนกว่า 45 ราย บาดเจ็บอีกนับร้อย ขณะที่ผู้คนต่างติดแฮชแท็ก #AllEyesonRafah ทั่วทั้งโลกออนไลน์ ถูกแชร์ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านครั้งบนอินสตาแกรม กลายเป็นที่จับตามองของคนทั่วโลกเพียงเวลาไม่กี่ชั่วโมง

“เราต่างรู้ดีว่าสงครามใกล้เข้ามาทุกขณะ และนี่คือหายนะที่ไม่อาจหยั่งถึงได้...
“แต่ใครล่ะ ใครกัน จะปกป้องพวกเขา?”

‘ริชาร์ด พีเพอร์คอร์น’ (Richard Peeperkorn) ตัวแทนขององค์การอนามัยโลกในพื้นที่ฉนวนกาซากล่าว หลังจากกองทัพอิสราเอลปฏิบัติการทางอากาศถล่มใจกลางเมืองราฟาห์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 45 ราย และบาดเจ็บอีกนับร้อยราย ชีวิตที่ถูกพรากภายในชั่วพริบตาไม่ว่าจะเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย (แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก) นับเป็นการโจมตีที่ไม่มีใครคาดคิด เพราะนี่คือสถานที่ที่เต็มไปด้วยประชาชนผู้บริสุทธิ์ หาใช่กลุ่มผู้ก่อการร้ายหรือศัตรูทางการเมืองของรัฐใดรัฐหนึ่ง
 

หลังจากเมืองถูกถล่ม ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอลออกมากล่าวแสดงความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า ‘เป็นอุบัติเหตุที่น่าสลด’ รัฐบาลกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้อย่างใกล้ชิด

ก่อนที่เปลวไฟแห่งสงครามจะลุกลามมากไปกว่านี้ ผู้คนที่อยู่นอกสนามรบเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเขาพยายามแสดงพลังบางอย่างออกมาให้โลกเห็น ว่าดินแดนที่ถูกรุกรานไม่ได้ยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ยังมีคนนับล้านพร้อมยืนเคียงข้างพวกเขา และพร้อมจับจ้องไม่วางตาต่อทุกการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จนเกิดเป็นแฮชแท็ก #AllEyesonRafah ที่กำลังเป็นกระแสร้อนแรง มีผู้กดแชร์ผ่านอินสตาแกรมไปแล้วไม่ต่ำกว่า 40 ล้านครั้ง

โดยมีคนดังมากหน้าหลายตา ต่างกระโดดเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงจุดยืน ไม่ว่าจะเป็น เบลล่า ฮาดิด (Bella Hadid) นางแบบชาวอเมริกัน เชื้อสายปาเลสไตน์, ดูอา ลิปา (Dua Lipa) นักร้องชาวอังกฤษ สัญชาติโคโซโว, อารีอานา กรานเด (Ariana Grande) นักร้องชาวอเมริกัน, นิโคลา โคแลน (Nicola Coughlan) นักแสดงชาวไอริชผู้รับบทนำใน ซีรีส์ Bridgerton ไปจนถึงนักเคลื่อนไหวชาวอังกฤษอย่าง จามีลา จามิล (Jameela Jamil)


ถึงการเลือกข้างในสถานการณ์เช่นนี้อาจกระทบต่อหน้าที่การงาน แต่พวกเขาพร้อมจะเสี่ยง โดยขอใช้พื้นที่ส่วนตัวเผยแพร่ข้อความบางอย่าง ข้อความซึ่งอาจทำให้คนอยู่นอกสนามรบ มองเห็นหายนะที่กำลังเกิดขึ้นอีกในซีกโลกหนึ่ง

แม้แต่ ‘โรเจอร์ วอเทอร์ส’ (Roger Waters) อดีตแกนนำแห่ง Pink Floyd เองก็เคยออกมาแสดงจุดยืนจนถูกตราหน้าว่า ‘เกลียดยิว’ มาแล้ว เพราะทันทีที่เขาขยับตัวออกมาวิพากษ์สงคราม และยืนยันยันอย่างหนักแน่นว่าเขาพร้อมอยู่เคียงข้างปาเลสไตน์ ชายคนนี้ก็ถูกตีตราว่าเป็นพวกมีแนวคิดสุดโต่ง

หากถามว่าวอเทอร์สพร้อมสู้เคียงข้างปาเลสไตน์ขนาดไหน คงต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 2006 เขาเดินทางไปเยือนพื้นที่ปาเลสไตน์ ช่วงรอยต่อระหว่างสองประเทศคู่ขัดแย้ง ก่อนจะละเลงพ่นกราฟิตี้แสดงความคิดเห็นต่อต้านการคงอยู่ของกำแพงแห่งนี้ ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เขายังเดินทางไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่และผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์อีกด้วย (อ่านเรื่องราวของโรเจอร์ วอเทอร์สเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thepeople.co/culture/music/52434)

ส่วนจุดเริ่มต้นของภาพ All Eyes on Rafah เกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น ยังไม่มีแหล่งข้อมูลที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ริเริ่มเผยแพร่ทั้งภาพและข้อความดังกล่าว แต่แฮชแท็กนี้เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (27 พ.ค. 2567) หลังจากผู้ใช้อินสตาแกรมแอคเคาท์ @shahv4012 เผยแพร่ข้อความว่า

“เรารู้ดีว่ามีคนวิพากษ์วิจารณ์การใช้ AI ในการทำภาพ ต้องขออภัยอย่างยิ่ง หากภาพดังกล่าวทำให้หลายคนไม่พอใจ แต่เราขอวิงวอนให้ทุกคนที่เห็นข้อความนี้ กระจายข่าวออกไปให้มากที่สุด เพื่อยุติสิ่งที่เกิดขึ้นในราฟาห์

“ไม่ว่าคุณจะอยู่มุมใดของโลก ได้โปรด อย่าเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในราฟาห์”

‘ซาร่าห์ แจ็คสัน’ (Sarah Jackson) รองศาสตราจารย์ด้านการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ครั้งนี้ว่า การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างในสังคมนั้น เริ่มขึ้นมาในยุค 90 หลังจากมีผู้พยายามปลุกระดมให้กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา (Zapatista) ออกมาเคลื่อนไหว และนั่นทำให้ผู้คนเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการนี้มากยิ่งขึ้น รวมถึงกรณี All Eyes on Rafah เช่นกัน

“สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เราต้องรับรู้ร่วมกันคือ นักข่าวชาวปาเลสไตน์จำนวนไม่น้อยที่ใช้อินสตาแกรมในการสื่อสาร ทั้งแชร์ภาพ ข้อความ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในดินแดนของพวกเขา แต่สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ พวกเขาถูกเซ็นเซอร์อย่างหนัก (เพราะภาพถ่ายที่ในสงครามนั้นโหดร้ายเกินไป) การออกมาเคลื่อนไหวหรือเผยแพร่ข่าวผ่านแพลตฟอร์มอินสตาแกรมจึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่พวกเขาใช้”

ภาพไวรัล All Eyes on Rafah สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกก็จริง แต่ยังมีอีกกลุ่มมองว่า การใช้ AI ทำภาพขึ้นมาใหม่ อาจเป็นการลดทอนความโหดร้ายของสงครามลงไป พวกเขามองว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่ใช้เรียกกระแส หากแต่เป็นสถานการณ์จริง เหตุการณ์จริง และมีผู้เสียชีวิตจากการถูกโจมตีจริง ผู้คนบนโลกออนไลน์จึงควรหันมาตระหนักต่อความจริงข้อนี้มากยิ่งขึ้น

“นี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมอัลกอริธึมของ Meta ถึงยกเว้นให้ภาพ All Eyes on Rafah สามารถเผยแพร่ผ่านทางอินสตาแกรมได้ เพราะมันไม่มีภาพความน่าสยดสยองของสงครามออกมาให้เห็นแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเลือด การใช้ความรุนแรง ภาพความสูญเสีย ซากศพที่กระจายทั่วเมือง

“ผมเลยไม่แปลกใจว่าทำไมข้อความเหล่านี้ถึงกลายเป็นไวรัล เพราะมันช่างแตกต่างจากสมรภูมิรบจริง แตกต่างจากสิ่งที่พวกเขาเผชิญมาตลอดหลายเดือน... บางครั้งผู้คนก็มักแชร์ข้อความหรือภาพที่แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในฉนวนกาซา แต่ภาพส่วนใหญ่ที่ปรากฏออกไป ส่วนใหญ่มีแค่ไม่กี่ด้าน ไม่ภาพรอยยิ้มสดใส ก็เป็นภาพรอยน้ำตาของเหยื่อที่กำลังทุกข์ระทม” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นกล่าว

นอกจากนี้ ผู้ใช้งานอินสนตาแกรมบางส่วนก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อภาพ All Eyes on Rafah เช่นกัน โดยระบุว่า

“ภาพดังกล่าวไม่ต่างจากบ่อนทำลายความจริงอันประจักษ์ที่เกิดขึ้นในสมรภูมิรบอิสราเอล-ปาเลสไตน์ นี่เป็นเพียงแค่ฉากที่ AI สร้างขึ้นมา มันไม่ใช่ความจริง เป็นแค่สิ่งประดิษฐ์ที่ถูกโลกดิจิทัลประกอบสร้างขึ้นมา ซึ่งห่างไกลจากฉนวนกาซาที่เรารู้จักกันไปไกลมากโข”

“ภาพ AI ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาไม่ต่างจากการบิดเบือนความจริงที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา ไม่ต่างจากการลบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาลบข้อเท็จจริงบนโลกออนไลน์”

แต่คำถามใหญ่ต่อจากนี้คือ หลังจากกลายเป็นกระแสไวรัลแล้ว All Eyes on Rafah จะสร้างความเปลี่ยนแปลงของหรือสร้างความชอบธรรม เรียกคืนสิทธิมนุษยชนที่ถูกละเมิดให้กลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติได้เช่นไร สิ่งเหล่านี้ยังเป็นคำถามค้างวนอยู่ในใจของผู้ได้รับผลกระทบทุกคน และอย่าลืมว่านี่คือสงคราม ความสูญเสีย และเพื่อนร่วมโลกที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ เพียงเพราะความขัดแย้งของผู้มีอำนาจ

อย่าลืมว่าพวกเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งไม่ต่างจากเรา ร่วม ‘จับจ้อง’ ทุกการกระทำ ก่อนที่สงครามจะลุกลามจนสร้างความเสียหายต่อมนุษยชาติมากไปกว่านี้

#AllEyesonRafah