‘อิหร่าน’ VS. ‘อิสราเอล’ สงครามที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

‘อิหร่าน’ VS. ‘อิสราเอล’ สงครามที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

‘อิหร่าน’ ปล่อยโดรนและขีปนาวุธถล่มอิสราเอล ตอบโต้หลังสถานกงสุลในซีเรียถูกถล่ม ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดสงครามในตะวันออกกลางขึ้นอีก

KEY

POINTS

  • เหตุการณ์นี้นับเป็นครั้งแรกที่อิหร่านเปิดฉากถล่มโดยตรงต่ออิสราเอล การกระทำนี้หมายความว่าอิหร่านได้ทลายเกณฑ์ความขัดแย้งในสงครามอันยาวนานระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ด้วยการกระชากอิสราเอลออกมาจากเงามืด
  • การเปิดฉากถล่มของอิหร่านได้เปลี่ยนความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ จากการ ‘ซ่อนเร้น’ ไปสู่ ‘การเปิดเผย’ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย

เสียงไซเรนโจมตีทางอากาศและเสียงกึกก้องดังกระหึ่มไปทั่วทั้งอิสราเอล เมื่อช่วงเย็นวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น ในขณะที่ทางการอิสราเอลระบุว่า อิหร่านได้ปล่อยโดรนและยิงขีปนาวุธถล่มอิสราเอล 

‘แดเนียล ฮาการี’ โฆษกกองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอล (IDF) รายงานว่า มีขีปนาวุธและโดรนมากกว่า 200 ลูก ที่อิหร่านยิงมาถล่มอิสราเอล แต่ส่วนใหญ่ถูกสกัดไว้ได้ อย่างไรก็ตาม มีขีปนาวุธจำนวนหนึ่งหลุดพ้นจากการสกัด และเข้ามาตกในดินแดนของอิสราเอล 

IDF ระบุในโพสต์โซเชียลมีเดียอีกฉบับว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงที่ฐานทัพทหารทางตอนใต้ของอิสราเอล แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น อิสราเอลได้ปิดน่านฟ้าของประเทศ พร้อมกับเปิดใช้งานระบบป้องกันภัยทางอากาศอย่างเต็มอัตรา  

ในเวลาต่อมา ‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีของอิหร่าน พร้อมประกาศว่าสหรัฐฯได้ช่วยอิสราเอลสกัดโดรนและขีปนาวุธที่ถูกยิงเข้ามาได้เกือบทั้งหมด ขณะที่แถลงการณ์ของ ‘ลอยด์ ออสติน’ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า โดรนและขีปนาวุธที่สหรัฐฯช่วยสกัดจำนวนหลายสิบลูก ถูกยิงมาจากอิหร่าน อิรัก ซีเรีย และเยเมน 

ความเคลื่อนไหวที่รุนแรงของอิหร่านครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากสถานกงสุลอิหร่านในเมืองดามัสกัส ประเทศซีเรีย ถูกถล่ม เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สมาชิกกองกำลังพิทักษณ์การปฏิวัติอิสลาม (IRCG) เสียชีวิตไป 7 ราย 

ภายหลังการถล่มครั้งล่าสุด หลายฝ่ายได้ออกมาประณามอิหร่าน เช่น ‘ริชิ ซูนัก’ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ออกแถลงการณ์ระบุว่า นี่เป็นการถล่มที่รุนแรงที่สุด ขณะที่ ‘โจเซป บอร์เรลล์’ หัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศของสหภาพยุโรป โพสต์ทางโซเชียลมีเดียว่า สหภาพยุโรปขอประณามการถล่มอิสราเอลของอิหร่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่มิอาจยอมรับได้ พร้อมกับกล่าวถึงการกระทำของอิหร่านว่าเป็นการยกระดับความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงในภูมิภาค 

นี่เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนว่าความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะก่อนหน้านั้นหน่วยคอมมานโดจากฝั่งอิหร่านก็ได้ยึดเรือขนส่งสินค้าในเครืออิสราเอล บริเวณใกล้กับช่องแคบฮอร์มุซ

สงครามที่ไม่มีใครต้องการ

‘โจนาธาน พานิคอฟฟ์’ ผู้อำนวยการ Scowcroft Middle East Security Initiative แสดงความเห็นว่า การตอบโต้ด้วยโดรนและขีปนาวุธนับร้อยลูกจากอิหร่าน ทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางตกอยู่ในความเสี่ยงของสงครามที่กำลังจะขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบไม่มีใครต้องการ ไม่เว้นแม้แต่ตัวละครหลักอย่างสหรัฐฯ ประเทศในอาหรับ หรือแม้แต่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ที่ต่างพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 

แต่ความจริงก็คือนี่ไม่ใช่การขยายสงครามในฉนวนกาซา ทว่าเป็นผลจากการที่อิหร่านต้องการตอบโต้อิสราเอล ภายหลังการเสียชีวิตของ ‘โมฮัมหมัด เรซา ซาเฮดี’ และเจ้าหน้าที่ IRCG ซึ่งเป็นกองกำลังทหารชั้นดีที่สุดของอิหร่าน อีก 6 คนในซีเรีย เมื่อเกือบ 2 สัปดาห์ก่อน 

เหตุการณ์นี้นับเป็นครั้งแรกที่อิหร่านเปิดฉากถล่มโดยตรงต่ออิสราเอล การกระทำนี้หมายความว่าอิหร่านได้ทลายเกณฑ์ความขัดแย้งในสงครามอันยาวนานระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ด้วยการกระชากอิสราเอลออกมาจากเงามืด

อย่างดีที่สุด ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล อาจจะตอบโต้และดำเนินการถล่มเป้าหมายในอิหร่าน ในลักษณะที่เฉพาะเจาะจงและจำกัดวง และจะไม่นำไปสู่การตอบโต้ที่เกินความจำเป็นในอิหร่าน อย่างร้ายที่สุดคืออิสราเอลจะตอบโต้ด้วยวิธีที่รุนแรง ซึ่งรวมถึงการทิ้งระเบิดสถานที่สำคัญ ๆ ของอิหร่าน 

เพราะฉะนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอิสราเอลในครั้งนี้ จึงเป็นตัวชี้วัดสำคัญต่อวิธีการที่อิสราเอลจะใช้ตอบโต้อิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายในแง่พลเรือน ซึ่งจะยิ่งยกระดับการตอบโต้ของอิสราเอลอย่างมหาศาล 

‘แดเนียล อี มูตัน’ สมาชิกอาวุโสโครงการ Scowcroft Middle East Security Initiative มองว่า อิสราเอลรู้ดีกว่าตนมีข้อได้เปรียบจากการที่กองกำลังทหารสหรัฐฯ หลั่งไหลเข้ามาในภูมิภาค แต่ผลลัพธ์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการถล่มของอิหร่าน หากอิหร่านรู้สึกว่าตนได้ตอบโต้อย่างเพียงพอแล้ว ภูมิภาคตะวันออกกลางก็จะถอยห่างจากขอบเหวสงครามที่กำลังขยายขอบเขตมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม หากการถล่มของอิหร่านประสบความสำเร็จมากไป อิสราเอลก็จะตอบโต้ หลังจากนั้นก็จะเกิดวงจรการตอบโต้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาค แต่ถึงแม้การถล่มของอิหร่านจะไม่ประสบความสำเร็จมากพอ ก็ไม่เป็นการรับประกันว่าเรื่องจะไม่บานปลาย เพราะอิสราเอลรู้ดีว่าจะต้องดำเนินการในขณะที่มีกองกำลังสหรัฐฯ อยู่ในภูมิภาค ดังนั้นการโจมตีในวันนี้จะไม่ใช่จุดสิ้นสุด

นอกเหนือจากภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องจากอิหร่าน ปัญหาใหญ่อันดับ 2 ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขคือการความโปร่งใส ผู้นำอิสราเอลไม่ได้แจ้งให้สหรัฐฯทราบถึงการโจมตีสถานกงสุลอิหร่านเมื่อต้นเดือนเมษายน ทั้งที่กองกำลังสหรัฐฯถูกส่งเข้าประจำการในภูมิภาคนี้เพื่อเป็นนโยบายประกันสำหรับอิสราเอล อิสราเอลจึงจำเป็นต้องเปิดเผยแผนของตน ในขณะที่ผู้นำสหรัฐฯก็ต้องเห็นความสำคัญของการเดินหน้าหารืออย่างจริงจัง เพื่อจัดวางสถานะที่เหมาะสมของตนเอง 

การถล่มของอิหร่านอาจไม่นำไปสู่สงครามในภูมิภาค

ภายหลังการสังหารโมฮัมหมัด เรซา ซาเฮดี ในเมืองดามัสกัส อิหร่านได้เปิดฉากถล่มอิสราเอลด้วยโดรนและขีปนาวุธ ‘แดนนี ซิทริโนวิค’ สมาชิกคณะทำงานโครงการยุทธศาสตร์อิหร่านของสภาแอตแลนติก คาดว่าอิหร่านต้องประเมินแล้วว่าราคาของการนิ่งเฉยนั้นมีสูงกว่าการตอบโต้ เพราะอย่าลืมว่าทางอิหร่านเองก็ต้องกลับมาฟื้นระบบป้องกันของตนเองเช่นกัน และหากอิสราเอลยังคงให้ความสำคัญกับการกำจัดกลุ่มฮามาส และการปล่อยตัวประกัน การขยายความขัดแย้งกับอิหร่านจะไม่เป็นผลดีต่อเป้าหมายเหล่านี้ ไม่ว่าในกรณีใด 

แต่ไม่ว่าอิสราเอลจะใช้โอกาสนี้เพื่อตอบโต้หรือปิดจบความขัดแย้งในปัจจุบัน นี่คือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ซึ่งทำให้หลังจากนี้อิสราเอลต้องทำงานร่วมกับพันธมิตรที่ต่อต้านอิหร่านอย่างใกล้ชิดขึ้น ไม่เพียงแต่พึ่งพาตัวเองเพื่อป้องกันเท่านั้น นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงกิจกรรมเชิงรุกอื่น ๆ ร่วมกับพันธมิตรด้วย

จะเกิดอะไรต่อไปขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ

‘คาร์มิเอล อาร์บิต’ สมาชิกอาวุโสในโครงการ Middle East และ Scowcorft Middle East Security Initiativve ที่สภาแอตแลนติก มองว่า การเปิดฉากถล่มของอิหร่านได้เปลี่ยนความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ จากการ ‘ซ่อนเร้น’ ไปสู่ ‘การเปิดเผย’ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ได้แก่ พันธมิตรของอิหร่าน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มฮูติ และฮิซบอลเลาะห์ ว่าจะเข้าร่วมในความขัดแย้งนี้หรือไม่, มีผู้เสียชีวิตในอิสราเอลหรือไม่ หรือระบบการป้องกันที่รวมกับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ จะป้องกันความเสียหายที่สำคัญได้หรือไม่ และท้ายที่สุดคือวิธีที่อิสราเอลจะเลือกใช้เพื่อตอบสนอง 

การถล่มของอิหร่าน เกิดขึ้นในช่วงที่อิสราเอลได้รับความเห็นใจจากทั่วโลกลดลง และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างไบเดนกับเนทันยาฮู สำหรับไบเดน เขาพยายามแสดงให้เห็นว่าความเย็นชาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผู้นำทั้งสองเป็นเพียงวาทกรรม กล่าวคือ ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯกับอิสราเอลยังคงแข็งแกร่ง ความมุ่งมั่นร่วมกันในการจัดการกับภัยคุกคามที่เกิดจากอิหร่านนั้นลึกซึ้งยิ่งกว่าความไม่ลงรอยใด ๆ ที่ทั้งสองประเทศอาจมีเกี่ยวกับอนาคตของดินแดนปาเลสไตน์ 

ถึงกระนั้น สหรัฐฯอาจสนับสนุนให้อิสราเอลใช้ความยับยั้งชั่งใจเพื่อป้องกันไม่ให้สงครามในภูมิภาคทวีความรุนแรงขึ้น แน่นอนว่าสิ่งนี้อาจขัดแย้งกับความปรารถนาของอิสราเอล ที่มองว่านี่เป็นสงครามก่อการร้ายที่ละเมิดพรมแดนอธิปไตยของตนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ล่าสุด อิหร่านประกาศการโจมตีอิสราเอลสิ้นสุดลงแล้ว ทั้งยังระบุด้วยว่าหากอิสราเอลทำผิดอีกจะถูกตอบโต้รุนแรงกว่านี้ พร้อมออกมาย้ำว่าสหรัฐฯไม่ควรเข้ามายุ่ง อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกยังคงจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่า อิสราเอลจะยอมจบด้วยหรือไม่?

 

เรียบเรียง : พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ : Getty Images

อ้างอิง :
Israel says Iran's missile and drone attack largely thwarted, with "very little damage" caused
Experts react: Iran just unleashed a major attack on Israel. What’s next?
‘อิหร่าน’ ประกาศยุติโจมตี ‘อิสราเอล’ เตือน อาจโดนหนักกว่านี้ถ้าทำอีก