คาม กมลาตัล: หญิงชราอินเดียที่ช่วยต่อชีวิตผู้ยากไร้ด้วยอาหารราคา 1 รูปี

คาม กมลาตัล: หญิงชราอินเดียที่ช่วยต่อชีวิตผู้ยากไร้ด้วยอาหารราคา 1 รูปี

หญิงชราอินเดียที่ช่วยต่อชีวิตผู้ยากไร้ด้วยอาหารราคา 1 รูปี

“เราไม่ให้ความสำคัญกับกำไร แต่เราสนใจว่าคนกินรู้สึกอย่างไร”

เมื่ออินเดียประกาศใช้เคอร์ฟิวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แรงงานที่มาทำงานต่างเมืองต้องพากันกลับบ้านเพราะไม่มีงานทำ มีหลายคนกลับบ้านทัน แต่ก็ยังมีแรงงานตกค้างจำนวนมากที่กลับภูมิลำเนาไม่ทัน ตอนนี้พวกเขาไม่มีงาน ไม่มีเงิน ต้องระวังเรื่องไวรัสพร้อมกับกังวลว่าเงินติดตัวเริ่มร่อยหรอลงทุกวัน ไม่รู้ว่าไวรัสจะยังอยู่อีกนานแค่ไหน แต่บางทีอาจอยู่นานกว่าชีวิตคนยากไร้ที่ไม่เหลือเงินสักรูปีเพื่อซื้อข้าวแล้วก็ได้ ตอนนี้แรงงานตกค้างจำนวนมากในเมืองโคอิมบาโตร์ รัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของอินเดีย สามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้ยาวขึ้นจากการซื้อ อิดลี (Idli) เมนูยอดนิยมของชาวอินเดียตอนใต้ ในราคาแสนถูกเพียง 1 รูปี (ไม่ถึง 50 สตางค์) จากร้านของ คาม กมลาตัล (Kam Kamalathal) หญิงชราวัย 81 ปี แม้ค่าครองชีพจะพุ่งทะยานขึ้นทุกวัน แต่เธอก็ไม่เคยขึ้นราคาอาหารนานกว่า 15 ปี ภาพลูกค้าจำนวนมากยืนต่อแถวอยู่หน้าร้านกมลาตัลคือสิ่งที่คนในเมืองเห็นจนชินตา พวกเขารอลิ้มรสชาติอาหารเช้าตั้งแต่ร้านยังไม่เปิด เมื่อถึงเวลากมลาตัลจะต้อนรับทุกคนด้วยรอยยิ้มขณะที่มือวุ่นอยู่กับการทำอาหาร ลูกค้าส่วนใหญ่ล้วนเป็นลูกจ้างแรงงานทั้งชาวอินเดียและแรงงานต่างด้าว พวกเขาไม่มีเงินมากพอซื้ออาหารเช้าราคาแพง อิดลีของกมลาตัลราคาถูกแถมรสชาติดี ถ้ามีเงิน 20 รูปี ไปซื้อร้านอื่นจะได้อิดลีชิ้นเดียว แต่ถ้าซื้อที่ร้านกมลาตัลจะได้อิดลีมากถึง 20 ชิ้น ย้อนกลับไปประมาณ 15 ปีก่อน อิดลีของกมลาตัลมีราคาเพียง 50 เปซ่า (ประมาณ 20 สตางค์) แต่ด้วยต้นทุนของวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้เธอไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายไหวหากยังขายราคาเดิม เลยต้องขึ้นราคาเป็น 1 รูปี อย่างเลี่ยงไม่ได้ ถึงจะขึ้นราคาแต่คนส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าอิดลีของเธอราคาถูกเกินไป เพราะร้านอื่นมักขายด้วยราคา 15-20 รูปีต่อชิ้น (7-9 บาท) คาม กมลาตัล: หญิงชราอินเดียที่ช่วยต่อชีวิตผู้ยากไร้ด้วยอาหารราคา 1 รูปี ร้านอาหารของกมลาตัลเปิดมานานกว่า 30 ปี มีเมนูเดียวคือ ‘อาหารเช้าอิดลี’ ก้อนแป้งกลม ๆ หน้าตาคล้ายขนมถ้วยฟูของไทย เสิร์ฟคู่กับแกงซัมบาร์ (Sambhar) รสชาติจัดจ้านเผ็ดร้อน ถึงอิดลีจะไม่ใช่เมนูทำยาก แต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบกลับใช้เวลานาน กมลาตัลใช้ข้าววันละ 8 กิโลกรัม นั่งบดข้าวเป็นแป้งด้วยครกหินนานกว่า 4 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่าบดข้าวละเอียดแล้ว ก่อนใส่ส่วนผสมต่าง ๆ เพิ่มรสชาติให้เข้าเนื้อ แล้วหมักทิ้งไว้หนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นรีบตื่นตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น อาบน้ำ สวดมนต์ ออกไปเก็บผัก เตรียมแป้ง มะพร้าวสด ทำเครื่องปรุงรสชัทนีย์ (Chutney) ก่อไฟเตาถ่าน จากนั้นสับผักลงหม้อต้มซัมบาร์ ตรวจทุกอย่างให้เรียบร้อยแล้วรอเปิดร้านต้อนรับลูกค้าที่แห่แหนเข้ามาตอนหกโมงเช้า กมลาตัลขายอิดลีราคาถูกนานหลายสิบปีโดยไม่โดนสื่อจับจ้อง จนกระทั่งปี 2019 เรื่องราวของเธอไปถึงหูของ อานันท์ มหินทรา (Anand Mahindra) ประธานกลุ่มธุรกิจข้ามชาติ Mahindra ที่มีอิทธิพลในวงการอุตสาหกรรมของอินเดีย ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องมืออุตสาหกรรม ให้บริการทางการเงินและที่พัก แถมตัวของอานันท์ก็เคยติด 1 ใน 30 ผู้บริหารชั้นนำของโลกประจำปี 2016 ของนิตยสาร Barron อานันท์ประทับใจการขายไม่หวังผลกำไรมากมายของกมลาตัล เขาแบ่งปันเรื่องราวคนขายอิดลีราคา 1 รูปี ลงในทวิตเตอร์ส่วนตัว กล่าวยกย่องเธอว่าเป็นคนที่เต็มไปด้วยความถ่อมตน จิตใจดี นึกถึงความลำบากของผู้อื่น ชั่วข้ามคืนกมลาตัลถูกพูดถึงเต็มโลกโซเชียล และอานันท์ไม่ทำแค่ทวีตเรื่องจนเกิดเป็นกระแสเฉย ๆ แต่เขายังมอบเตาแก๊สให้ร้านเพื่อช่วยลดขั้นตอนการทำงานในครัว ให้ผู้หญิงวัย 81 ปี มีความสุขกับการทำอาหารโดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องออกไปตัดไม้ทำฟืนอีกต่อไป   คาม กมลาตัล: หญิงชราอินเดียที่ช่วยต่อชีวิตผู้ยากไร้ด้วยอาหารราคา 1 รูปี ตอนนี้กมลาตัลกลายเป็นหญิงชราที่ใคร ๆ ก็ให้ความสนใจ การค้าขายของเธอสามารถสร้างแรงบันดาลใจไปทั่วโลก เรื่องราวถูกส่งต่อเรื่อย ๆ จน ธรรเมนทรา ประธาน (Dharmendra Pradhan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ทราบข่าว เขาอนุมัติให้ร้านอาหารสามารถเติมแก๊สหุงต้มหรือแก๊สปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อแสดงความเคารพต่อจิตวิญญาณอันน่ายกย่องของกมลาตัล ในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องเผชิญกับความยากลำบาก การช่วยกันคนละไม้คนละมือคือสิ่งที่ดีที่สุด และเขายินดีอย่างยิ่งที่จะลดภาระของหญิงใจบุญ  นักธุรกิจหมื่นล้านให้เตาแก๊ส ส่วนรัฐมนตรีปิโตรเลียมให้เชื้อเพลิง ทั้งหมดเป็นเพราะกมลาตัลไม่อยากรับเงินบริจาคจากใคร เงินที่เธอพึงพอใจคือค่าหารจากการขายอิดลี กมลาตัลไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์หรือนักบุญ แต่เป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่งที่เชื่อว่าการขายอาหารราคาถูกเป็นไปตามคำสอนศาสนา เธอรักการทำอาหาร รักการพบปะพูดคุยกับลูกค้าเจ้าประจำ การทำอิดลีสร้างความสุขและความกระตือรือร้นให้ตัวเอง ตอนนี้อินเดียกำลังเจอศึกหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บางวันมีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงทะลุ 5,600 ราย ทั่วโลกต่างคาดเดาว่าอินเดียอาจกลายเป็นจุดระบาดระลอกใหม่ ประชากรกว่าหนึ่งพันล้านคนต้องรับผลกระทบหนักหลายเรื่องทั้งไวรัส ปากท้อง สุขอนามัย หลายธุรกิจถูกสั่งปิดชั่วคราว ข้าวของเครื่องใช้หาซื้อยากขึ้น ส่งผลให้วัตถุดิบทำอาหารมีราคาสูง คาม กมลาตัล: หญิงชราอินเดียที่ช่วยต่อชีวิตผู้ยากไร้ด้วยอาหารราคา 1 รูปี ลูกค้าหลายคนเต็มใจให้กมลาตัลขึ้นราคาอิดลี แต่เธอยืนยันว่าจะยังคงราคาไว้เท่าเดิม อยากช่วยให้ทุกคนได้อิ่มท้องและมีเงินเก็บเพิ่มขึ้น แรงงานจำนวนมากในเมืองโคอิมบาโตร์กลับบ้านที่อยู่ต่างรัฐไม่ทัน ต้องติดอยู่ที่เมืองโดยไม่มีเงินเช่าห้องพักเพราะตกงาน เงินเก็บเริ่มน้อยลงทุกวัน ทำได้เพียงเฝ้ารอรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการ และร้านอิดลีของกมลาตัลก็คึกคักไปด้วยแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในแต่ละวันเธอสามารถต่อชีวิตคนยากไร้นับร้อยด้วยอิดลีกว่า 1,000 ชิ้น ที่มีคนซื้อจนหมดเกลี้ยง หากเหตุการณ์ทั่วโลกสงบลงเหมือนดั่งวันเก่าก่อนเจอกับไวรัส ผู้คนสามารถเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ได้อย่างอิสระอีกครั้ง ใครที่มีโอกาสได้ไปเยือนเมืองโคอิมบาโตร์ แล้วบังเอิญเดินผ่านเพิงขายอาหารเล็ก ๆ ที่ส่งกลิ่นหอมออกมานอกร้านชวนให้รู้สึกหิว ลองตบเท้าเข้าไปในร้านของหญิงชราใจดี สร้างประสบการณ์น่าจดจำร่วมกับเธอด้วยการสั่งอิดลีนุ่มลิ้นราคา 1 รูปี ที่เสิร์ฟร้อน ๆ บนใบบันยัน ทานคู่กับแกงมังสวิรัติรสชาติกลมกล่อม ถือเป็นความทรงจำที่น่าประทับใจไม่น้อย   ที่มา https://www.shethepeople.tv/news/tamil-nadu-idli-pati-refuses-raise-prices-loss-business https://food.ndtv.com/news/80-year-old-woman-selling-idli-at-just-one-rupee-gets-a-huge-reward-from-the-govt-2100283 https://timesofindia.indiatimes.com/life-style/food-news/eating-habits-that-can-fight-back-pain/articleshow/71113090.cms https://yourstory.com/socialstory/2019/09/coimbatore-one-rupee-idli-old-woman-anand-mahindra https://www.newindianexpress.com/good-news/2019/aug/28/idli-along-with-care-from-this-80-year-old-for-just-1-rupee-2025660.html   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์