‘ประทีป คงสิบ’ สื่อมวลชนบนถนนการเมือง กับภารกิจผู้สมัคร สว. ปี 2567

‘ประทีป คงสิบ’ สื่อมวลชนบนถนนการเมือง กับภารกิจผู้สมัคร สว. ปี 2567

‘ประทีป คงสิบ’ สื่อมวลชนบนถนนการเมือง กับภารกิจผู้สมัคร สว. ปี 2567 วิเคราะห์บทเรียนวอยซ์ทีวี เริ่มต้นปลุกความคิด จุดจบปลุกความเกลียดชัง

KEY

POINTS

  • ประทีป คงสิบ กับการเตรียมสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในกติกาที่ซับซ้อนที่สุดในโลก
  • เขาตัดสิใจลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ที่อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นบ้านเกิด และเป็นจังหวัดที่มี ‘บ้านใหญ่’
  • มุมมองที่มีต่อ ‘วอยซ์ทีวี’ หนึ่งในอดีตที่ทำงาน ที่ล่าสุดประกาศปิดไปแล้ว 

The People สัมภาษณ์ ประทีป คงสิบ ผู้ประสงค์ลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปี 2567 อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ปี 2551 - 2562

‘ประทีป’ หรือ ‘เอี่ยว’ สื่อมวลชนวัย 58 ปี มีประสบการณ์การทำงานสื่อเป็นเวลา 30 กว่าปี ตั้งแต่สมัย ‘สื่อเก่า’ เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ จนมาถึงยุค ‘สื่อใหม่’ เป็นคอลัมน์นิสต์ในสื่อออนไลน์ นอกจากนั้นเคยร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่วันแรกที่จดทะเบียนจัดตั้งพรรค 14 ก.ค. 2541 โดยประทีปเป็นหัวหน้ากองโฆษกของพรรค ก่อนจะกลับมาเดินเส้นทางสื่อมวลชนอีกครั้งที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวี กระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 และไอทีวีถูกปิดหลังจากนั้น 

ประทีป เป็นผู้บริหารวอยซ์ทีวีรุ่นบุกเบิกตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปีที่บริษัทเลิกกิจการทีวีดิจิทัลในปี 2562 ปัจจุบันเขาเป็นสื่อมวลชนอิสระ ไม่ใช่พนักงานประจำบริษัทใด มีผลงานจากการเป็นคอลัมน์นิสต์และคอมเมนเตเตอร์ เผยแพร่ความเห็นผ่านทางสำนักข่าว The 101.world

เตรียมสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในกติกาที่ซับซ้อนที่สุดในโลก 

ยิ่งกติกาแบบนี้ ยิ่งทำให้ตัดสินใจต้องเข้ามาสมัคร เพราะกติกาที่ใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อจำกัดที่ตัดสิทธิคนอีกจำนวนมาก เช่น คนอายุไม่ถึง 40 ปี คนที่ไม่มีเงินมาสมัคร 2,500 บาท 

ถ้ากฎหมายไม่กำหนดเงื่อนไขว่า ต้องเป็นคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปและค่าสมัคร 2,500 บาท อาจจะมีคนรุ่นใหม่สามารถไปสมัครกันได้เยอะกว่านี้ กติกาปัจจุบันเป็นการตัดโอกาสคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดความอ่านก้าวหน้า ทำให้เขาไม่สามารถลงสมัครรับเลือกเป็นสว. ได้ และอาจมีการบล็อกโหวตจากกลุ่มการเมืองบางกลุ่มง่ายขึ้น

ความจริงแล้วผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกี่ยวกับเรื่องอายุหรือระดับการศึกษา เพราะหัวใจสำคัญคือเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย มีความยึดโยงกับประชาชน ทั้งสภาสูง (สว.) และสภาล่าง (สส.) ก็คือนักการเมือง เข้ามาทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติแทนประชาชน

ถ้าไม่ได้เข้ารัฐสภาในรอบนี้ จะถือว่าการตัดสินใจจ่ายเงิน 2,500 บาทไปสมัคร สว. เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดหรือไม่ 

ถ้าไม่ได้เป็น สว. ก็ไม่มีอะไรเสียหาย เราไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอับอายหรือพ่ายแพ้เพราะถือว่าได้ร่วมทำหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตย 

การได้หรือไม่ได้เป็น สว. เป็นเรื่องของเสียงโหวตของผู้มีสิทธิโหวต แล้วด้วยกติกาแบบนี้ ถ้าจำนวนคนลงสมัครมีจำนวนน้อย อาจจะมีการบล็อกโหวต ซึ่งไม่ตอบโจทย์เรื่องความโปร่งใสของที่มา สว. 

ดังนั้น ถึงสมัครไปแล้วถ้าไม่ได้เป็น สว. ก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ผิดหวัง เราแค่กลับมาทำหน้าที่อื่น ๆ ตามปกติของเรา และถือว่าได้เข้าไปร่วมโหวตแล้วในครั้งนี้

ความเป็นกลางและปัญหาผู้สมัครสว.กลุ่มหนึ่งถูกจับตาเพราะถูกมองว่าเป็น ‘สว.สีส้ม’

หลักการเรื่อง สว. ต้องมีความเป็นกลางมีความเป็นอิสระ เป็นหลักการที่ถูกต้อง เพราะสว. แตกต่างจาก สส. ที่ สส. มีสังกัดพรรคการเมือง แต่การพิสูจน์ว่า สว. มีความเป็นกลางหรือไม่ ควรจะจบตรงที่ สว. ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคไหนตามกฎหมายเท่านั้น

ไม่ใช่ต้องมาพิสูจน์ความคิดเห็นทางการเมืองว่ามีความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ สอดคล้องกับพรรคใดหรือไม่ เพราะ สว. ต้องมีความเห็นเป็นอิสระ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าอาจมีความเห็นแตกต่างหรือมีความเห็นพ้องตรงกับพรรคใดพรรคหนึ่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ และอาจจะไม่ได้เห็นสอดคล้องกันในทุกเรื่อง

อย่าไปกล่าวหากันว่า ถ้า สว. คนไหนมีความเห็นสอดคล้องกับพรรคก้าวไกล แสดงว่าเป็น ‘สว.สีส้ม’ ถ้าเห็นสอดคล้องกับพรรคเพื่อไทย แสดงว่าเป็น ‘สว.สีแดง’ ถ้าเห็นสอดคล้องกับพรรครวมไทยสร้างชาติ แสดงว่าเป็น ‘สว.สีน้ำเงิน’ มันไม่ใช่ นี่คือการกล่าวหากัน ขณะที่สว. โดยหน้าที่ก็ต้องให้ความเห็นเรื่องต่าง ๆ ไม่ใช่เข้าไปนั่งในสภาเฉย ๆ 

ไม่ได้สมัคร สว. เพื่อเข้าสภาไปงดออกเสียง พิสูจน์ความเป็นกลาง 

ที่จริงการงดออกเสียง ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นกลางในทุกเรื่อง เพราะการงดออกเสียงอาจเป็นการแสดงจุดยืนบางอย่างในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง

เมื่ออยู่ในรัฐสภาก็ต้องออกเสียงในการโหวตกฎหมายแต่ละเรื่อง เป็นการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ เข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชน

หากถูกมองว่า ‘เข้าทาง’ พรรคใดพรรคหนึ่งเพราะแนวคิดไปตรงกับพรรคการเมืองที่เขากำลังผลักดันเรื่องนั้นอยู่ ก็เป็นเรื่องอาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า สว. ไม่มีความเป็นกลางหรือขาดความเป็นอิสระ ไม่ได้หมายความว่า สว. คนนี้ไปฝักใฝ่พรรคการเมืองนั้น เพราะในประเด็นอื่น เขาอาจจะเห็นไม่ตรงกับพรรคนั้นก็ได้ 

สว. ทุกคนมีจุดยืนทางการเมืองในแต่ละประเด็นแตกต่างกันได้ การเข้าสภาไปเป็น สว. ก็เพื่อแสดงความเห็นทางการเมืองกลั่นกรองเรื่องต่าง ๆ ไม่ใช่เข้าไปงดออกเสียงเพื่อแสดงความเป็นกลาง และการงดออกเสียง ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นกลางด้วย

ลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ที่อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์

ส่วนตัวสามารถเลือกลงสมัครได้หลายจังหวัด ทั้งกรุงเทพฯ ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน หรือจังหวัดเชียงใหม่ ที่เราเรียนจบมหาวิทยาลัย และที่จังหวัดเพชรบูรณ์ บ้านเกิด
ครั้งนี้เลือกลงสมัคร สว. ที่อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาที่เราเกิดและเรียนจบมัธยม 

เจ้าของพื้นที่ทางการเมืองในเพชรบูรณ์ จังหวัดที่มี ‘บ้านใหญ่’

ในจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่ของกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลุ่มนี้ย้ายพรรคมาหลายรอบ แต่ปัจจุบันเขาสังกัดพรรคการเมืองหนึ่งด้วยกัน ถ้าดูจาก สส. เขตในเพชรบูรณ์ กลุ่มการเมืองกลุ่มนี้ก็ได้ สส. เขตยกจังหวัด ฉะนั้นพื้นฐานของกลุ่มการเมืองกลุ่มนี้ก็มีความเหนียวแน่น

ถ้ากลุ่มการเมืองนี้ต้องการจะส่งเครือข่าย ส่งคนในกลุ่มของเขาลงสมัคร สว. เขาก็มีโอกาสทำได้ แต่ไม่ได้บอกว่าเขาจัดตั้งหรือทำผิดกฎหมาย เพราะจะเป็นการกล่าวหาเกินไป และกกต. ก็บอกอยู่แล้วไม่ให้จัดตั้ง

อย่างที่บอกไป สุดท้ายถ้าไม่ได้เป็น สว. ก็ถือว่าได้เข้าไปร่วมโหวต

ทำอาชีพสื่อมวลชน โดยไม่ได้คิดมาก่อนล่วงหน้าว่าจะลงสมัคร สว.

การทำอาชีพสื่อตลอดมา ทำอาชีพนี้เพื่อมีโอกาสได้พูด ได้เขียน บอกกล่าวความคิดของเราต่อสังคม เป้าหมายเดิมไม่ได้ทำอาชีพนี้เพื่อจะมาสมัครสว. 

เมื่อตัดสินใจลงสมัคร สว. การได้ทำอาชีพสื่อก็เป็นประโยชน์ส่วนหนึ่ง แต่คนในอำเภอที่เราลงสมัคร ผู้สมัครรายอื่นจะรู้จักเรามากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าใครลงสมัครในอำเภอเดียวกับเราบ้าง และระเบียบของกกต. ก็มีข้อจำกัดจำนวนมาก

เห็นด้วยกลุ่มผู้ยื่นศาลปกครอง ฟ้องให้เพิกถอนระเบียบกกต. 

เห็นด้วยกับทั้ง 2 กลุ่มคืออาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ ผู้ประสงค์ลงสมัคร สว. และ เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ที่ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 เนื่องจากระเบียบกกต. ขัดกับเสรีภาพการแสดงความเห็นและการมีส่วนร่วมตามหลักการประชาธิปไตย

และรอฟังว่าศาลปกครองจะคุ้มครองหรือไม่ แต่ในที่สุดถ้าต้องใช้กติกาตามที่ กกต. กำหนด ก็ไม่มีทางเลือก ต้องทำตามกติกานี้ไปก่อน แม้เห็นว่าควรต้องมีการแก้ไขกติกา ถ้ามีโอกาสในอนาคต

มองอย่างไร ‘วอยซ์ทีวี’ หนึ่งในอดีตที่ทำงาน ล่าสุดประกาศปิดไปแล้ว 

วอยซ์ทีวีเป็นกรณีศึกษาสำหรับคนที่เรียนนิเทศศาสตร์ สื่อสารมวลชน วารสารศาสตร์ เอาไปศึกษาทำวิทยานิพนธ์ศึกษาได้เลยว่า สื่อไทยส่วนหนึ่งมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร 

มาตรฐานความเป็นสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ก่อนตัดสินใจปิดตัวเองไป

ในสิบกว่าปีแรก วอยซ์เป็นสถานีปลุกความคิดได้ตามเป้าหมายหรือสิ่งที่พยายามทำได้จริง แต่ 1 ปีสุดท้าย ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง 2566 โดยเฉพาะหลังการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วของพรรคเพื่อไทย ภาพวอยซ์ทีวีกลายเป็นสถานีปลุกความเกลียดชังระหว่างคนเห็นต่างทางการเมือง

จุดยืนทางการเมืองที่วอยซ์ทีวีแสดงออกผ่านพิธีกร รวมทั้งทิศทางข่าว เป็นสิ่งที่ยังพอถกเถียงกันได้ เพราะเป็นเรื่องเสรีภาพทางความคิด ที่ต้องถกเถียงกันไปว่าเห็นด้วยหรือไม่

ประเด็นสำคัญคือ เมื่ออยู่ในแพลตฟอร์มของสื่อมวลชน ความหยาบคายของพิธีกรบางคน ทำให้การถกเถียงเรื่องความเห็นต่าง ไม่ได้รับการยอมรับ และมีความต่ำกว่ามาตรฐานความเป็นสื่อมวลชน 

ไม่ใช่พิธีกรทุกคนหรือทุกรายการที่หยาบคาย วอยซ์ยังมีคอนเทนต์บางส่วนบางรายการโดยเฉพาะส่วนวอยซ์ออนไลน์ ถือว่ามีคุณภาพดี

ส่วนท่าทีหยาบคายกราดเกรี้ยวมีเฉพาะพิธีกรบางคน แล้วไม่มีปฏิกิริยาห้ามปรามจากเจ้าของหรือผู้บริหาร หรืออาจจะมีการห้ามปรามแล้วเราอาจจะไม่รู้ก็ได้

อย่างไรก็ตาม คนที่ควรรับผิดชอบมากที่สุดคือ เจ้าของกับผู้บริหารสถานี เพราะไม่มีพิธีกรหรือลูกจ้างคนไหน ที่จะใหญ่กว่าเจ้าของและผู้บริหาร

ไม่มีลูกจ้างคนไหนที่จะไปกำหนดทิศทางแล้วทำให้บริษัทเป็นแบบนั้นได้ ถ้าเจ้าของและผู้บริหารไม่ไฟเขียว ไม่เห็นพ้องด้วย

ถ้าเจ้าของและผู้บริหาร บอกลูกจ้างว่า ทำแบบนี้ไม่ได้ จะไปพูดด่าคนดูหรือหยาบคายใส่คนดูผ่านรายการ ผ่านช่องวอยซ์ไม่ได้ 

พิธีกรก็ต้องหยุด เพราะเขาคือลูกจ้าง 

ผู้บริหารมีมาตรการอยู่แล้ว ถ้าไม่หยุดก็พักหน้าจอ ไม่ให้ออกรายการเท่านั้นเอง ลูกจ้างจะไปทำอะไรได้ ถ้าเขาสั่งห้าม 

บทเรียนความผิดพลาดครั้งนี้ในวงการสื่อ เจ้าของกับผู้บริหารสูงสุดที่ดูแลสถานี ต้องสั่งห้ามไปนานแล้ว ไม่ใช่ปล่อยเตลิดเปิดเปิงขนาดนี้ พิธีกรรับผิดชอบส่วนหนึ่งแน่นอน แต่จะไปกล่าวหาพิธีกรบางคนที่หยาบคาย ว่าเป็นความผิดของคนนี้ทั้งหมดก็ไม่แฟร์ 

หลายเดือนที่ผ่านมา สะท้อนว่าในตอนแรกก็ปล่อยกันมา ดังนั้น จะไปโยนความผิดให้พิธีกรที่เป็นเป้ารับไปเต็ม ๆ คนเดียวว่าทำให้ช่องพัง ทำให้คนดูลดลง แม้จะมีส่วนจริง แต่เจ้าของและผู้บริหารก็ยังเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบอยู่ดี

ครอบครัวชินวัตร มีสื่อเป็นของตัวเอง รับบท ‘อวยนาย’ แต่กลับกลายเป็นผลเสียต่อพรรคเพื่อไทย

ช่วงแรกเขาอาจจะเชื่อแบบนั้นว่าปล่อยให้พิธีกรหยาบคายแล้วอาจจะสามารถรักษาฐานเสียงเดิมหรือทำประโยชน์อะไรได้ จึงยอมปล่อยให้ทำ แต่พอถึงจุดหนึ่งก็ลงเหวกันไปเรื่อย ๆ 

เห็น ๆ กันอยู่ นอกจากไม่ได้เรียกคะแนนนิยมเพิ่มแล้ว คะแนนที่มีอยู่ก็ลดลงอีก ผลโพลก็เห็นอยู่ เป็นข้อเท็จจริงที่มาสอดคล้องกันในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่การกล่าวหา 

มันเป็นเรื่องที่วัดผลได้ ถ้าพิธีกรด่าคนอื่นพร้อมกับอวยนายตัวเอง แล้วทำให้คะแนนนิยมพรรคดีขึ้น เขาก็อาจจะแฮปปี้ อันนี้เป็นเรื่องปกติมาก 

การปล่อยให้เป็นอย่างนี้มานานหลายเดือนก็บ่งบอกว่าเขาคิดอย่างไร เมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อเขาเลิกลงทุนกับสื่อนี้ ความคิดเขาก็อาจจะเปลี่ยนเป็นอีกแบบหนึ่งไปแล้วก็ได้ 

สื่อมวลชนต้องไม่แสดงความหยาบคาย เป็นมาตรฐานขั้นต่ำสุด

มาตรฐานขั้นพื้นฐานต้องมีความน่าเชื่อถือ ต้องให้เกียรติคนดู ไม่ใช้ความหยาบคายด่าคนอื่นผ่านช่องสื่อ แม้จะไม่ได้ทำทีวีดิจิทัลแล้ว แต่วอยซ์ทีวียังมีแพลตฟอร์มของความเป็นสื่อมวลชน การจะโน้มน้าวหรือชี้นำความคิดคนให้เห็นด้วยกับสิ่งที่นำเสนอ ถ้าเริ่มต้นด้วยความหยาบคาย แล้วจะมีใครอยากมานั่งฟัง หรือใครอยากจะมาเชื่อถือ ซึ่งเมื่อกระทบความน่าเชื่อถือแล้วก็กระทบหัวใจหลักของความเป็นสื่อมวลชน 

วอยซ์ทีวี 15 ปีที่จบไม่สวยใน 1 ปีสุดท้าย

จบไม่สวยเท่าไหร่ วอยซ์ทีวีออกอากาศวันแรก 29 มิ.ย. 2552 กำลังจะปิด 17 พ.ค. 2567 รวมเวลาเกือบ 15 ปี 

เริ่มต้นเป็นสถานีข่าวปลุกความคิด นั่นคือจุดเริ่มและเป้าหมายที่เขาเคยทำได้ แต่ปิดด้วยความเป็นสถานีปลุกความเกลียดชังระหว่างคนเห็นต่างทางการเมือง

ในเมื่อไม่คุ้มค่าทั้งทางธุรกิจและทางการเมือง โดยเฉพาะทางการเมืองยิ่งเสียหายหนัก ก็ไม่มีความจำเป็นที่เจ้าของหรือนายทุนต้องลงทุนอีกต่อไป 

เกือบ 15 ปี ของวอยซ์ทีวี สำหรับบางคนที่ติดตามมาตลอดอาจมีความรู้สึกเสียดาย ซึ่งโดยรวม ชั่งน้ำหนักบวกลบคูณหารแล้ว ยังเชื่อว่าวอยซ์ทีวีมีคุณูปการต่อการส่งเสริมประชาธิปไตยและการให้ความสำคัญกับคำว่าเสรีภาพสื่อ

ส่วนใครจะเลือกเก็บความทรงจำสถานีปลุกความคิด หรือสถานีปลุกความเกลียดชัง  เป็นเรื่องของแต่ละคน

ข้อมูล ประทีป คงสิบ

ชื่อ : ประทีป คงสิบ
เกิด : 19 พ.ค. 2509
ภูมิลำเนา : เพชรบูรณ์
การศึกษา : ปริญญาตรี สื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การทำงาน
2531-2533 : ผู้สื่อข่าวนสพ.ฐานเศรษฐกิจ
2533-2541 : หัวหน้าข่าว+หัวหน้ากองบรรณาธิการ นสพ.คู่แข่งธุรกิจ
2541-2544 : หัวหน้ากองโฆษก พรรคไทยรักไทย
2544-2547 : คณะทำงานรมช.สธ.+รมว.ดีอี(นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) / คณะทำงานผู้แทนการค้าไทย(ดร.กันตธีร์ ศุภมงคล)
2547-2551 : บก.ข่าวสังคม+บก.ข่าวประจำวัน ไอทีวี
2551 : บก.ข่าวค่ำ เอ็นบีที(ช่อง 11)
2551-2562 : ผอ.ฝ่ายข่าว+ผอ.สถานีฯวอยซ์ทีวี
2562-2563 : ที่ปรึกษาฝ่ายข่าว วอยซ์ทีวี
2566-ปัจจุบัน : คอลัมน์นิสต์+คอมเมนเตเตอร์ สำนักข่าว The 101.world

 

เรื่องและภาพ : ฟ้ารุ่ง ศรีขาว